How Music Got Free: The End of an Industry, The Turn of the Century and The Patient Zero of Piracy (2015)
by Stephen Witt
“What Happens When an Entire Generation Commits The Same Crime?”
เคยสงสัยกันไหมว่า “disruption” ของอุตสาหกรรมเพลงที่เคยรุ่งเรืองในยุคของเทปคาสเซ็ทและซีดีจนเข้าสู่ภาวะตกต่ำทั้งทั่วทุกมุมโลกนั้น บุคคลกลุ่มใดเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่นี้ที่ทำให้พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงเพลงแบบฟรีๆในโลกอินเตอร์เน็ตได้ด้วยเพียงแค่การคลิกไม่กี่ครั้งเท่านั้น
Stephen Witt นักข่าวชาวอเมริกันได้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการแกะรอย 3 บุคคลสำคัญที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของการฟังเพลงของมนุษย์ไปตลอดกาล ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันผู้คิดค้นการบีบอัดไฟล์แบบ mp3 ซึ่งต่อมากลายมาเป็นจุดกำเนิดของวงการปล่อยเพลงผิดลิขสิทธิ์ ผู้บริหารค่ายเพลงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการเพลงและ “โจรสลัด” ในคราบของพนักงานโรงงานที่เป็นผู้ปล่อยไฟล์เพลงกว่า 2000 อัลบั้มในระยะเพียง 10 ปี
How Music Got Free เป็นหนังสือที่นอกจากจะมีสาระเต็มๆแล้ว ยังสนุกมากๆไม่แพ้กันนิยายทริลเลอร์เลยครับ !!
Stephen Witt (ขอบคุณภาพจาก Irish Times)
Chapter I:
ในปี 1982 เทคโนโลยี Compact Disk หรือ CD ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้ในการจัดเก็บเพลงในรูปแบบดิจิตอลได้สำเร็จ แต่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่มองว่าไฟล์เพลงใน CD นั้นมีขนาดที่ใหญ่เกินไปเนื่องจากไฟล์เพลงนั้นจัดเก็บ “เสียง” ในรูปแบบและคลื่นความถี่ที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถสัมผัสได้
Karlheinz Brandenburg นักวิทยาศาสตร์สัญชาติเยอรมนีได้คิดค้น compression algorithm สำหรับบีบอัดไฟล์เพลงจาก CD ให้มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 1 ใน 12 เท่าของขนาดเดิม ด้วยกระบวนการทาง Psychoacoustic ที่ว่าด้วยศาสตร์ของการได้ยินเสียงของมนุษย์ซึ่งเขาได้ทำการตัดเสียงทับซ้อนที่มนุษย์ไม่สามารถสัมผัสได้พร้อมๆกับกรรมวิธีการจับ pattern ของเสียงเพื่อลดขนาดไฟล์ลง โดยเขามีจุดประสงค์เริ่มต้นคือการ stream เพลงผ่านสายโทรศัพท์
ในปี 1987 Karlheinz Brandenburg และทีมนักวิทยาศาสตร์อีก 5 คนได้รับทุนการสนับสนุนจากองค์กร Fraunhofer ซึ่งเป็นองค์กรรัฐสำหรับสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของเยอรมนี (เปรียบเหมือน Bell’s Lab ของอเมริกา) พวกเขาเริ่มต้นพัฒนา compression algorithm ให้มีคุณภาพดีมากขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับพยายามหาทางสร้างธุรกิจที่ทำกำไรได้จากเทคโนโลยีนี้ นั่นคือ เครื่องบีบอัดไฟล์เสียงเพื่อส่งผ่านสัญญาณวิทยุ
ในปี 1990 องค์กร Moving Picture Expert Group (MPEG) ผู้ทำหน้าที่พัฒนาและสนับสนุนมาตรฐานการใช้ไฟล์เสียงและวิดิโอสกุลต่างๆได้จัดตั้งการแข่งขันการบีบอัดไฟล์เสียงขึ้น ซึ่งทีม Fraunhofer ก็ได้คะแนนสูงสุดเคียงคู่กับทีม MUSICAM ตัวเต็งผู้ได้รับการสนับสนุนจาก Philips (ผู้ถือครองสิทธิบัตร CD) และมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป โดยไฟล์ของ Fraunhofer นั้นได้รับการยอมรับว่าคุณภาพของเสียงนั้นดีกว่าพร้อมกับขนาดที่เล็กกว่า แต่การเปิดไฟล์นั้นต้องใช้ computing power ปริมาณที่มากกว่า
ซึ่ง MPEG ได้ปล่อยรูปแบบไฟล์เสียงออกมาทั้งหมด 3 สกุลได้แก่ Moving Picture Expert Group Audio Layer 1 ที่ไม่ได้รับความสนใจในการใช้งานไปอย่างรวดเร็ว Moving Picture Expert Group Audio Layer 2 (MP2) ซึ่งใช้ algorithm ของ MUSICAM และ Moving Picture Expert Group Audio Layer 3 (MP3) ของ Fraunhofer และในปี 1995 ทาง MPEG ได้ประกาศใช้สกุลไฟล์ mp2 เป็นมาตรฐานหลักในการพัฒนาไฟล์เสียงและเครื่องเล่นดนตรีที่เกี่ยวข้อง และได้ประกาศยกเลิกการสนับสนุนไฟล์ mp3 ซึ่งถูกมองว่ากิน computing power มากเกินไปจนอาจทำให้เครือข่ายมีปัญหา
Karlheinz Brandenburg และทีมงานมองว่า Philips ได้ทำการล็อบบี้ MPEG ให้ใช้ไฟล์ที่ทีมของตัวเองพัฒนา พวกเขามองว่า computing power จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเล่นเพลงไฟล์ mp3 ได้อย่างสบายๆในที่สุด
Karlheinz Brandenburg (ขอบคุณภาพจาก Academia Europeae)
Chapter II:
ตัวละครที่สำคัญอีกตัวในกระบวนการปฏิวัติวงการเพลง ได้แก่ Bernie Lydell Glover หรือ Dell พนักงานชั่วคราวของโรงงาน PolyGram ผู้ผลิต CD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Philips
กระบวนการผลิต CD ของ PolyGram นั้นเริ่มจากการนำ Digital Master Type ที่ได้รับการป้องกันอย่างดีมาทำการคัดลอกรูปแบบก่อนที่จะนำเอาแบบนั้นมาคัดลอกด้วยการพิมพ์รอยหยักลงไปใน CD เปล่าและทำการเคลือบแล็กเกอร์ ก่อนที่จะทำการแพ็คและจัดส่ง ซึ่งเมื่อ CD เหล่านั้นถูกนำมาเล่นในเครื่องเล่น อุปกรณ์ยิงลำแสงเลเซอร์จะทำการอ่านรอยหยักในแผ่น CD เหล่านั้นและแปลงกลับมาเป็นข้อมูลดิจิตอลป้อนกับให้หน้าจอและลำโพงอีกทอดหนึ่ง
ณ วันธรรมดาๆวันหนึ่งในปี 1995 Dell Glover และผองเพื่อนได้เข้าร่วมงานปาร์ตี้ที่จัดโดยเพื่อนพนักงานบริษัท ซึ่งปาร์ตี้ในค่ำคืนนี้ไม่ใช่เพียงงานธรรมดา แต่เป็นปาร์ตี้ที่เปิดแต่เพียงเพลงที่ถูกลักลอบออกมาจากโรงงานก่อนวันจำหน่ายจริง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของ “โจรสลัด” แห่งยุคดิจิตอลนามว่า Dell Glover
Dell Glover (ขอบคุณภาพจาก The New Yorker)
Chapter III:
Doug Morris เริ่มต้นอาชีพของเขาในวงการเพลงด้วยอาชีพนักดนตรีและนักแต่งเพลง ก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นโปรดิวเซอร์และจัดตั้งค่ายเพลงของตัวเองซึ่งในที่สุดก็ได้ถูกซื้อไปโดยอีกค่ายซึ่งต่อมาก็ได้ถูกขายให้กับ Warner Music Group
Doug เริ่มไต่บันไดตำแหน่งผู้บริหารใน Warner Music Group ด้วยความสามารถของเขาในการมองหาเพลงฮิตจากการตอบสนองของตลาดซึ่งแตกต่างจากผู้บริหารค่ายเพลงส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นในหูของตัวเอง เขาเป็นผู้ปลุกปั้นนักร้องและเพลงฮิตมากมาย จนในที่สุดเขาก็ได้รับตำแหน่งเป็น North American President ของบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆของอเมริกา
Doug เริ่มมองหาแนวเพลงใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครนำออกมาทำตลาดเป็นวงกว้างจนได้มาเจอกับวงการ Gangsta Rap ที่เน้นเนื้อหาต่อต้านสังคมและล่อแหลม เขาได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงที่มีศิลปินแร็ปยอดนิยม อย่าง Dr. Dre และ Snoop Dogg และได้ออกเพลงเนื้อหาหยาบคายมากมายจนเริ่มถูกสังคมต่อต้าน และในปี 1995 Doug ก็ได้ถูกไล่ออกจาก Warner Music
Doug Morris (ขอบคุณภาพจาก Variety)
Chapter IV:
Karlheinz Brandenburg และสมาชิกทีม Fraunhofer ยังคงไม่ยอมแพ้ที่จะโปรโมต mp3 ต่อไป ในที่สุดพวกเขาก็เริ่มได้ลูกค้ารายแรกที่รับซื้อ Zephyr เครื่องบีบอัดไฟล์ mp3 เพื่อใช้กระจายเสียงในสนามแข่งขันฮ็อกกี้
พวกเขาได้ออกโปรโมตตาม trade show ต่างๆ พร้อมกับแจกโปรแกรมบีบอัดไฟล์เพลง mp3 แบบฟรีๆแถมยังได้ผลิตเครื่องเล่นเพลง mp3 เครื่องแรกของโลกขึ้นด้วย แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จซักที Brandenburg เชื่อว่า หากพวกเขาไม่สามารถดึงให้ค่ายเพลงหันมาสนับสนุน mp3 ได้ การใช้งานไฟล์เสียงสกุลนี้ก็จะไม่มีวันแพร่หลาย ซึ่ง Brandenburg ก็ได้นำแนวคิดนี้มาสร้างไฟล์เพลงสกุลใหม่ในชื่อ Advanced Audio Coding (AAC) ซึ่งเขาได้ร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำอย่าง Sony, AT&T และ Dolby
Chapter V:
ในปี 1996 ขณะที่อินเตอร์เน็ตเริ่มกระจายแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไป Dell Glover ได้ค้นพบ Internet Relay Chat (IRC) ซึ่งเป็น community ที่เปิดให้สมาชิกแชร์สิ่งผิดกฎหมายนานาชนิด และหนึ่งในนั้นคือเพลงในรูปแบบไฟล์ mp3 ซึ่งมีขนาดไฟล์เล็กกว่า CD ประมาณ 12 เท่าด้วยคุณภาพของเสียงที่ทัดเทียมกัน
วงการปล่อยเพลงเถื่อนนั้นเริ่มต้นขึ้นโดยผู้ใช้งานชื่อ NetFraCk และกลุ่มของเขาที่ชื่อ Compress ‘Da Audio (CDA) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตกลุ่มแรกที่ทำการแชร์เพลงให้ดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมาย และในวงการนี้ ผู้ใช้งานที่สามารถแชร์เพลงใหม่ๆก่อนวันออกจำหน่ายได้นั้นจะถูกยกย่องให้เป็น “elite” หรือ “ชนชั้นนำ” ของกลุ่ม
Chapter VI:
หลังจากโดนไล่ออก Doug Morris ได้รับการเซ็นต์สัญญาเป็นผู้บริหารในทันทีให้กับค่ายเพลง MCA ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจของเครือ Seagram ซึ่งต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อค่ายเป็น Universal Music Group
Doug สามารถโน้มน้าวผู้บริหารค่าย Interscope ให้ถอนตัวออกจาก Warner เพื่อย้ายมาสังกัด Universal Music ได้สำเร็จพร้อมด้วยศิลปินแนว Gangsta Rap อย่าง Dr. Dre และ Tupac Shakir (ซึ่งต่อมาเสียชีวิตในคดีทะเลาะวิวาทและทำให้ยอดขายอัลบั้มของเขาพุ่งอย่างรวดเร็ว) รวมถึงศิลปินแนวอื่นๆอีกหลายคน อาทิ Gwen Stefani และวง No Doubt พร้อมด้วยการปั้นศิลปินใหม่ๆที่สร้างยอดขายเพลงได้อย่างถล่มทลายอย่าง Limp Bizkit
เขายังคงใช้วิธีการมองหาเพลงจากผลตอบรับของตลาด โดยเขาได้ส่งพนักงานกระจายตัวไปยังเมืองต่างๆเพื่อตามหา Local Talent ซึ่งทำให้เขาได้พบกับค่ายเพลงแนว Gangsta Rap ที่มีศิลปินมากมาย อาทิ Lil Wayne และยอมให้เขาร่วมทุนด้วย
Seagram บริษัทแม่ของ Universal Music Group ตัดสินใจทิ้งธุรกิจน้ำอัดลมและซื้อกิจการ PolyGram ที่มีทั้งค่ายเพลงและโรงงานผลิต CD โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในอนาคตของวงการเพลงที่กำลังจะถูกจู่โจมโดยการมาถึงของอินเตอร์เน็ตและการแชร์เพลงเถื่อนแบบผิดกฎหมายเลย
Snoop Dogg และ Tupac Shakir ศิลปินชั้นนำของวงการ Gangsta Rap (ขอบคุณภาพจาก Inya Rwanda)
Chapter VII:
กล่องกระจายเสียง Zephyr Box ทำรายได้ได้อย่างมหาศาลจนทำให้คำว่า Zephyr มีความหมายถึงการ stream เพลงแบบดิจิตอล และทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับ mp3 มากขึ้น ซึ่งรวมถึง Microsoft และ Flash ที่เริ่มซื้อ license และทำโปรแกรมเพื่อรองรับสกุล mp3
ในปลายปี 1996 Karlheinz Brandenburg และสมาชิกทีม Fraunhofer ได้สำเร็จในการสร้างสกุลไฟล์ AAC ที่มีคุณภาพสูงกว่า mp3 ในทุกๆด้านและสามารถขอให้สกุลไฟล์นี้เป็นสกุลไฟล์มาตรฐานได้สำเร็จ พวกเขาได้เลิกทำการพัฒนา mp3 ต่อและหันมาโฟกัสที่ AAC แทน
แต่แล้ว วงการเพลงเถื่อนก็ได้เติบโตขึ้นจนกลายมาเป็นกระแสสังคมพร้อมกับไฟล์ mp3 ที่เป็นไฟล์มาตรฐานของวงการ ทีม Fraunhofer ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาได้คิดค้นไฟล์ mp3 รูปแบบใหม่ที่เล็กและไม่สามารถทำการก็อปปี้ได้ แต่พอพวกเขาเอาไฟล์สกุลนี้ไปเสนอให้กับสมาคมวงการเพลง สมาคมกับปฏิเสธการใช้งานไฟล์นี้แทนไฟล์ฟอร์แมทเดิมใน CD เนื่องจากพวกเขามองว่าคุณภาพเสียงของไฟล์ mp3 นั้นต่ำกว่ามาก ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่แทบจะแยกคุณภาพของเสียง 2 สกุลนี้ไม่ออกด้วยซ้ำ
ในปี 1997 นักศึกษาปี 1 ของ University of Utah ชื่อ Justin Frankel ได้สร้างโปรแกรม Winamp ซึ่งเป็นโปรแกรมเล่นเพลง mp3 ที่เพิ่มฟังค์ชั้นการจัดการ play list เข้าไปจากโปรแกรมดั้งเดิมของทีม Fraunhofer (ต่อมา Winamp ได้รับการซื้อไปด้วยเงินกว่า 60 ล้านดอลลาร์) และแพร่กระจายไปในโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว โปรแกรมเล่นไฟล์และบีบอัดไฟล์ mp3 ใหม่ๆก็ได้เกิดตามมามากมาย
Karlheinz Brandenburg ได้วางกลยุทธ์แบ่งการใชงานสกุลไฟล์เสียงของเขาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ไฟล์ AAC ที่มีคุณภาพสูงสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคต่างๆ เช่น ทีวีและโทรศัพท์มือถือ กับไฟล์ mp3 สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป และเขาเองเป็นคนที่ได้รับรายได้สูงสุดจาก license ของทั้ง 2 สกุลไฟล์นี้ อำนาจของ Brandenburg ในวงการไฟล์เพลงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจน MPEG ต้องยอมรับฟังและทำตามเขา
สงคราม Format War ของสกุลไฟล์เพลงสิ้นสุดลง โดยมี Karlheinz Brandenburg เป็นผู้ชนะ
โปรแกรม Winamp สำหรับเล่นไฟล์ MP3 ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี (ขอบคุณภาพจาก Fire Sword Blog)
Chapter VIII:
ในปี 1998 Dell Glover ได้สร้างธุรกิจไรท์แผ่นซีดีเถื่อนขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเขามีเครื่องไรท์ซีดีขนาดใหญ่ที่สามารถไรท์ซีดีได้ 30 แผ่นต่อชั่วโมง แต่ถึงกระนั้น content ที่เขามีนั้นยังขาด content แบบ zero-hour หรือ content ที่หลุดออกมาก่อนกำหนด ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนสนิทของเขาที่มีข้อมูลเหล่านั้นแต่ไม่ยอมบอกแหล่งที่มา
หลังจาก PolyGram ได้ถูกเทคโอเวอร์ไปโดย Universal Music Group ระบบรักษาความปลอดภัยของโรงงานนั้นถูกทำให้แน่นหนามากขึ้น จนเพื่อนของเขาไม่สามารถลักลอบเอาซีดีอัลบั้มก่อนวางจำหน่ายออกมาได้ ซึ่งแตกต่างจาก Dell ที่รู้จักกับคนที่ยังมีวิธีการขโมยเอาไฟล์เพลงออกมาจากโรงงานได้
Dell จึงได้รับเชิญจากเพื่อนของเขาให้เข้าไปอยู่ในสมาคม The Scene ซึ่งเป็นกลุ่มลักลอบแชร์ไฟล์เถื่อนที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น โดย Dell จะต้องนำไฟล์เพลงใหม่ก่อนกำหนดวันจัดจำหน่ายมาแปลงเป็นไฟล์ mp3 เพื่อแลกกับการที่เขาสามารถเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ในวงการอื่นๆ เช่น เกมส์ หนังและโปรแกรมได้
Chapter IX:
ปี 1999 ชายหนุ่มวัย 18 ปีนามว่า Shawn Fanning ได้ก่อตั้ง Napster เว็ปไซต์ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถแชร์ไฟล์ระหว่างกันได้ซึ่งเป็นการยกวงการเพลงเถื่อนใต้ดินให้เข้ามาใกล้ชิดกับผู้คนทั่วไป ภายในเวลาไม่ถึงปี ยอดผู้ใช้งานดาวน์โหลดและสตรีมไฟล์เพลง mp3 นั้นพุ่งสูงกว่า 20 ล้านคน
อุตสาหกรรมเพลงได้ทำการตอบโต้ Napster และเหล่าผู้สนับสนุนไฟล์ mp3 ด้วยการเข้าล็อบบี้กับนักการเมืองแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ นักการเมืองกลัวสูญเสียฐานคะแนนเสียงเนื่องจากจำนวนคนดาวน์โหลดเพลงมีจำนวนมากกว่าคนขายเพลงแน่นอน พวกเขาจึงได้ทำการฟ้องร้อง Napster และบริษัทผู้ผลิตเครื่องเล่น mp3
ขณะเดียวกัน Seagram บริษัทแม่ของ Universal Music ได้ทำการขายกิจการต่อให้กับ Vivendi เครือบริษัทยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส และดีลครั้งนี้ทำให้ Doug Morris กลายเป็นผู้บริหารที่มีค่าจ้างสูงที่สุดในวงการเพลง พร้อมกับยอดขาย CD ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Doug มองว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเข้าถึงเพลงที่มากขึ้นของผู้คนทั่วไปผ่านไฟล์เพลงเถื่อน
ณ เวลานั้น ผู้ดาวน์โหลดไฟล์ mp3 ยังคงต้องเล่นเพลงผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น บริษัทอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ยักษ์ใหญ่ยังคงยับยั้งการผลิตเครื่องเล่น mp3 เพื่อรอดูสถานการณ์เสียก่อน และแล้ว ผลการฟ้องศาลก็ได้รับการตัดสินทั้ง 2 คดี วงการเพลงสามารถเอาชนะและสั่งปิด Napster หลังจากเปิดให้บริการมาเพียง 2 ปีได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ได้แพ้คดีให้กับบริษัทผลิตเครื่องเล่นเพลง mp3
เหตุการณ์นี้นำพามาสู่ยุคทองของธุรกิจเครื่องเล่นไฟล์เพลง mp3 พร้อมกับเป็นการปูทางให้บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งกลายมาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก….. (Apple กับ iPod ไง !!)
Napster โปรแกรมแชร์ไฟล์เพลงเถื่อน (ขอบคุณภาพจาก Research Gate)
Chapter X:
หลังการพิจารณาคดีฟ้องร้องบริษัทผลิตเครื่องเล่นเพลงไฟล์ mp3 ได้สิ้นสุดลง บริษัทอิเล็คโทรนิคส์ยักษ์ใหญ่หลายรายก็ได้ฤกษ์จัดจำหน่ายเครื่องเล่นเพลงกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งทำให้ยอดผู้ใช้สิทธิบัตรไฟล์ mp3 ของ Fraunhofer พุ่งสูงขึ้นถึง 600 รายภายใน 4 ปี จากเดิมมีเพียงแค่ 40 ราย และนำพามาซึ่งรายได้กว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี (Brandenburg ได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ที่เขาไม่ได้จดสิทธิบัตรเครื่องเล่นเพลง mp3 ขึ้นและต้องสูญเสียโอกาสสร้างรายได้กว่าอีกเท่าตัว)
Microsoft ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของ mp3 แต่ถึงกระนั้น Karlheinz Brandenburg ก็ยังคงกังวลว่า Microsoft จะคิดค้นไฟล์เสียงมาแข่งกับ mp3 ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงคือไฟล์ wma แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะว่า mp3 ได้แพร่หลายไปยังคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่องในสหรัฐและทั่วโลกแล้ว และ “mp3” ก็กลายเป็น keyword ที่มีผู้ใช้งาน search มากที่สุดในโลกอินเตอร์เน็ตด้วย
Karlheinz Brandenburg ประกาศตนว่าเขาต่อต้านการใช้งานไฟล์เพลง mp3 แบบผิดลิขสิทธ์มาตลอด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจาก Napster และวงการเพลงเถื่อนก็คือตัวของเขาเอง
ถึงแม้ความสำเร็จของ mp3 นั้นดูเหมือนจะไม่มีใครฉุดรั้งได้อยู่ แต่กระนั้นก็ยังมีกระแสของคู่แข่งที่เกิดขึ้นมาได้แก่ ไฟล์ OGG ที่เป็นไฟล์เสียงแบบ open-source ที่ได้รับการยอมรับว่าเสียงดีกว่า mp3 แต่สุดท้ายไฟล์ OGG ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตอุปกรณ์เพลง (ซึ่ง Brandenburg มีส่วนในการล็อบบี้)
คู่แข่งอีกคนที่สำคัญคือ Apple ที่ ณ ขณะนั้นยังเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์เล็กๆที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3-4% เท่านั้น โดย Steve Jobs ได้ประกาศไว้ว่าเขาไม่สนับสนุนการดาวน์โหลดเพลงเถื่อนและกำลังวางแผนสร้างโปรแกรมชื่อ iTune ขึ้นมาพร้อมกับการใช้งานไฟล์สกุล AAC
ซึ่ง Brandenburg ไม่แม้แต่จะคิดมาสนใจกับบริษัทเล็กๆแห่งนี้เลย…
Chapter XI:
ภายในปี 2000 Dell Glover ได้กลายมาเป็นมือปล่อยไฟล์เพลงเถื่อนอันดับต้นๆของโลก เขาได้ทำการอัพเพลงเถื่อนมาแล้วมากกว่า 500 อัลบั้มในเพียงเวลา 2 ปี ความพิเศษของ Dell คือเขาสามารถลักลอบเอาเพลงออกมาได้ก่อนวันวางจำหน่ายหลายวันมากๆ ครั้งหนึ่ง เขาได้ปล่อยอัลบั้มของ Eminem ก่อนวันวางจำหน่ายถึง 25 วันจนทำให้ Eminem ต้องปรับแผนทัวร์คอนเสิร์ตใหม่ทั้งหมด และความสามารถนี้ทำให้ Dell Glover กลายเป็นแหล่งไฟล์เถื่อนที่สำคัญของ The Scene
กิจวัตรประจำวันของเขาเริ่มต้นด้วยการรับคำสั่งจาก The Scene มาว่ามีอัลบั้มเพลงในค่าย Universal Music ไหนบ้างที่กำลังมีแผนวางจำหน่าย ซึ่ง Dell ก็จะไปซื้อมาจากคนขโมยซีดีและนำมาแปลงเป็นไฟล์ mp3 เพื่อส่งต่อให้หัวหน้าของเขาใน The Scene เพื่อแลกกับการเข้าถึงไฟล์หนังใหม่ๆที่ได้มาก่อนวางแผงเช่นเดียวกัน และเขาก็จะทำการไรท์หนังลงแผ่น DVD ก่อนออกไปเร่ขายในราคาแผ่นละ 5 ดอลลาร์ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์สามารถสร้างเงินให้เขาได้มากกว่า 1000 เหรียญ
Dell ค้นพบวิธีการลักลอบนำซีดีออกจากโรงงานด้วยการขโมยซีดีเพลงที่กำลังจะเตรียมเอาไปทำลายและสอดซีดีเหล่านั้นไว้ใต้รองเท้าหรือหลังหัวเข็มขัดที่เป็นเหล็ก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยถือเครื่องตรวจจับโลหะเท่านั้น และพวกเขาก็มักขี้เกียจที่จะตรวจอย่างละเอียดเมื่อมีสัญญาณเตือน
แต่ขณะเดียวกัน FBI ก็ทำหน้าที่ในการตรวจจับผู้ปล่อยไฟล์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง การจับกุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่ FBI ได้สร้างเว็ปไซต์ปลอมที่เลียนแบบ The Scene เพื่อชักชวนให้คนนำไฟล์มาปล่อยและตรวจจับ IP ของผู้ใช้งานเหล่านั้นมาเป็นหลักฐานต่อไป
และเหตุการณ์ที่ Dell Glover ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อ The Scene ได้ทำการปล่อยอัลบั้มหนึ่งเร็วเกินไปจน Universal Music ตรวจจับได้ว่าโรงงาน PolyGram ที่ Dell ทำงานอยู่เท่านั้นที่จะมีโอกาสปล่อยเพลงเถื่อนออกไปได้ ไม่นานนักแหล่งปล่อยเพลงของ Dell ก็ถูกจับกุมไป ทำให้ Dell ต้องทิ้งไฟล์เพลงและวิดิโอเถื่อนของเขาทั้งหมดและประกาศลาออกจาก The Scene
Chapter XII:
ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา เพลงแนวแร็ปก็ได้กลายมาเป็นเพลงที่ครองตลาดในอเมริกันอย่างคึกคักทั้งตำแหน่งอัลบั้มขายดีที่สุดแห่งปีของ Eminem และศิลปินแร็ปเปอร์ชั้นนำอีกมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่จะเป็นศิลปินในสังกัด Universal Music อาทิ Eminem, Dr. Dre และ 50 Cent และศิลปินค่ายพันธมิตรอย่าง Jay-Z และ Ludacris ทั้งหมดนี้ทำให้ Universal Music กลายเป็นค่ายเพลงอันดับหนึ่งของโลกหลังการก่อตั้งเพียง 8 ปี
แต่ถึงกระนั้น ยอดขายของ Universal Music กลับอยู่ในระดับคงที่ ขณะที่ค่ายเพลงอื่นๆมียอดขายตกลงอย่างฮวบฮาบ อุตสาหกรรมเพลงลดขนาดลงถึง 30% ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ถึงแม้ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากฟองสบู่ดอทคอมแตก แต่ปัญหาส่วนใหญ่นั้นแน่นอนว่าคือ mp3 และเพลงเถื่อน
ตรงกันข้ามกับ Apple ที่ประสบความสำเร็จในการเอา iPod เข้ามาอยู่ในกระเป๋าของคนทั้งโลกได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเปิดขายเพลงในราคาเพียง 99 เซ็นต์ใน iTune ซึ่ง Steve Jobs สามารถเจรจากับ Doug Morris ได้อย่างสำเร็จและสร้างยอดขายได้มากกว่าที่คิดไว้มาก (แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยของยอดขายทั้งหมดของ Universal Music) ถึงแม้ Steve Jobs จะสนับสนุนให้ผู้ฟังดาวน์โหลดเพลงอย่างถูกกฎหมายผ่าน iTune แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงไม่ใช่ผู้ใช้งาน iPod ที่สามารถจุเพลงได้ 10,000 เพลงทุกคนจะเสียเงิน 9,900 เหรียญเพื่อเพลงเหล่านั้น (ส่วนใหญ่ก็คงเป็นเพลงผิดกฎหมายอยู่ดี)
Universal Music และค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อีก 3 ค่ายได้รวมตัวกันก่อตั้ง Project Hubcap เพื่อฟ้องร้องผู้ดาวน์โหลดเพลงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งพวกเขาได้สุ่ม IP ของผู้ใช้งานที่ดาวน์โหลดเพลงเถื่อนมาฟ้องร้องโดยไม่สนว่าคนเหล่านั้นจะเป็นเพียงเด็กมัธยมหรือคนชรา การฟ้องร้องครั้งนี้สร้างภาพลักษณ์ที่เสียหายอย่างรุนแรงให้กับค่ายเพลงเหล่านี้และ Doug Morris ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด
นอกจากนั้น กลุ่มของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ยังได้จับตามอง The Scene อย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับได้ว่ามีใครบ้างเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
Steve Jobs และ iPod อุปกรณ์ที่เข้ามาปฏิวัติวงการเพลงในยุค mp3 (ขอบคุณภาพจาก Technology News World)
Chapter XIII:
Brandenburg และทีมงาน Fraunhofer ได้แยกย้ายไปเริ่มงานใหม่ของตนเอง ซึ่งตัว Brandenburg นั้นได้หันไปสร้างแล็บเพื่อวิจัยในเทคโนโลยี surround sound
MPEG ได้พัฒนาฟอร์แมทไฟล์วิดิโอของตัวเองจนสามารถสร้างไฟล์คุณภาพดีและขนาดไฟล์เล็กได้สำเร็จ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา วงการปล่อยหนังเถื่อนก็บูมขึ้นมาติดๆกับวงการเพลงเถื่อน !!
ถึงกระนั้น หลังจากการปิดตัวไปของ Napster ก็ยังไม่มีเว็ปไซต์ peer-to-peer file sharing แห่งไหนสามารถขึ้นมาทัดเทียมกับ Napster ได้อีก ทั้งจากปัญหาไฟล์คุณภาพต่ำ ไร้การคัดกรอง การโฆษณาที่มากเกินไป ระยะเวลารอที่ยาวนาน ขนาดเซิฟเวอร์ไม่เพียงพอและความเร็วในการดาวน์โหลดที่ต่ำ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ได้ผลักดันให้โปรแกรมเมอร์วัย 25 ปีคนหนึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมการแชร์ไฟล์ในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโลกอินเตอร์เน็ตครั้งใหญ่
Bram Cohen คิดค้น BitTorrent ขึ้นในปี 2001 ด้วยการแก้ปัญหาจากวิธีการดาวน์โหลดไฟล์รูปแบบเดิมที่ให้ผู้ใช้งานต่อคิวเพื่อดาวน์โหลดไฟล์แบบหนึ่งต่อหนึ่งกับเซิฟเวอร์หรือผู้อัพโหลด BitTorrent เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การดาวน์โหลดไฟล์หนึ่งไฟล์สามารถทำได้จากการดาวน์โหลดผ่านผู้อัพโหลดหลายร้อยคนได้ในพร้อมกันและผู้ดาวน์โหลดก็กลายเป็นผู้อัพโหลดภายในตัว (peer-to-peer) ซึ่งทำให้ความเร็วในการดาวน์โหลดเพิ่มสูงขึ้นและไม่เกิดปัญหาด้านเซิฟเวอร์อีกต่อไป ที่สำคัญคือเทคโนโลยีเป็นแบบสามารถนำมาใช้บริการได้ฟรีๆ
BitTorrent ยังคงเป็นเทคโนโลยีเฉพาะที่ไม่มีคนสนใจจนกระทั่งกลุ่มวัยรุ่นหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งก่อตั้ง The Pirate Bay ขึ้นมาในปี 2003 ซึ่งเว็ปไซต์อ่าวโจรสลัดแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นแหล่งรวมขุมทรัพย์เถื่อน ทั้งเพลง ภาพยนตร์ โปรแกรม หนังโป๊และอีกมากมาย จนการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
และในอีก 1 ปี ถัดมา Alan Ellis ได้ก่อตั้ง Oink’s Pink Palace ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเว็ปไซต์ BitTorrent ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเพลงเถื่อน ด้วยวิธีการควบคุมจำนวนผู้ใช้งานและคุณภาพของไฟล์อย่างเข้มงวด และกฎการอัพโหลดไฟล์ก่อนถึงจะดาวน์โหลดเพลงได้ ทำให้ Oink’s Pink Palace กลายเป็นแหล่งรวบรวมเพลงเถื่อนคุณภาพดีที่สุดได้อย่างครบถ้วนที่สุดในโลก
Oink เว็ปไซต์แชรไพ์เพลงในรูปแบบ BitTorrent ที่ปัจจุบันปิดตัวลงไปแล้ว (ขอบคุณภาพจาก Reddit)
Chapter XIV:
Dell Glover ยังคงลอยนวลต่อไป ในปี 2004 เขาได้เลื่อนตำแหน่งกลายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่มีหน้าที่ควบคุมการแอบลักลอบขโมยซีดีด้วยตัวเอง และนั่นทำให้เขาทราบว่าเขาไม่ได้เข้าข่ายของผู้ต้องสงสัยเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเหล่าผู้จัดการต่างคิดกันว่าคนขโมยต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่มากพอ
Dell ย้อนกลับไปเป็นสมาชิกของ The Scene อีกครั้งและเขาได้ทวงคืนตำแหน่งนักปล่อยเพลงแร็ปอันดับหนึ่งคืนสู่วงการ โดยเขาได้ตั้งกฎกับ The Scene ไว้ว่าจะต้องปล่อยไฟล์เพลงก่อนการวางจัดจำหน่าย 2 สัปดาห์เท่านั้นเพื่อป้องกันการสืบหาที่มาของ Universal Music
นอกจากนั้น ธุรกิจการขายดีวีดีเถื่อนของเขาก็ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มวางขายดีวีดีเถื่อนทั้งหนัง เกมส์และโปรแกรม ผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายต่างๆแถมยังสร้างเว็ปไซต์สำหรับสมาชิกให้เข้ามาดาวน์โหลดหนังได้แบบไม่จำกัดไม่ต่างกับ NetFlix เลยด้วยซ้ำ !!
Dell Glover สร้างรายได้ทั้งหมดกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปีจากการขายดีวีดีเถื่อน
Chapter XV:
ปี 2004 ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่อุตสาหกรรมเพลงดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ ค่ายเพลง Sony และ BMG ต้องทำการควบรวมกิจการกัน ถึงแม้ Universal Music จะสร้างยอดขายได้กว่า 1 ใน 3 ของตลาดเพลงในอเมริกา ยอดขายก็ยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นด้วยการบริหารของ Doug Morris ค่ายเพลงแห่งนี้ก็ยังรักษากำไรเอาไว้ได้อย่างแข็งแกร่งด้วยนโยบายการแยกธุรกิจผลิตซีดีออกและการปลดพนักงานออกกว่า 2000 ตำแหน่ง
Doug Morris เริ่มตระหนักแล้วว่าการมาถึงของยุคดิจิตอลนั้นทำให้กลุ่มคนฟังเพลงหันไปเลือกที่จะดาวน์โหลดเพลงทีละ single ทั้งแบบไฟล์เถื่อนและแบบถูกกฎหมายผ่าน iTune ซึ่งแตกต่างกับสมัยก่อนที่ศิลปินสามารถยัดเพลงคุณภาพแย่ๆหลายๆเพลงเพื่อขายให้เต็มอัลบั้มในราคาที่สูง
อุตสาหกรรมเพลงยังต้องเจอกับการฟ้องร้องครั้งใหญ่เกี่ยวกับการให้สินบนดีเจวิทยุเพื่อให้ดีเจเหล่านั้นเปิดเพลงของค่ายให้และการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่โทรไปขอเพลงในรายการทีวีและวิทยุต่างๆเพื่อสร้างกระแสของเพลงของตัวเองให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง
อีกด้านหนึ่ง การสืบสวนเพื่อไล่ล่า The Scene ก็เริ่มสัมฤทธิ์ผลเพื่อ FBI สามารถจับสมาชิก The Scene กลุ่มล่างๆได้และเริ่มที่จะซักทอดไปถึงกลุ่ม elite ที่ใช้ชื่อว่า Rabid Neurosis หรือ RNS พร้อมกับผู้นำชื่อ Kali ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับคนที่คอยติดต่อประสานงานกับ Dell Glover
Chapter XVI:
ในปี 2006 Oink’s Pink Palace ได้กลายเป็นศูนย์รวมเพลงเถื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (มีเพลงเยอะกว่า iTune ถึง 4 เท่า) เรียกได้ว่ามีครบทุกเพลงและทุกฟอร์แมทรวมๆกว่า 1 ล้านอัลบั้ม และเว็ปไซต์นี้ก็ได้สร้างยอดเงินบริจาคให้กับ Alan Ellis ถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อเดือน
ความน่าสนใจของความสำเร็จของ Oink’s Pink Palace คือการมีผู้ใช้งานจำนวนมากเลือกที่จะยอมจ่ายเงินบริจาค เสาะหารหัสคำเชิญเข้าเป็นสมาชิกที่มีอย่างจำกัด รวมถึงยอมที่จะจ่ายเงินเช่าเซิฟเวอร์เพื่ออัพโหลดไฟล์เพลงเพื่อรักษาสัดส่วนอัพโหลดดาวน์โหลดตามที่ Alan กำหนด แทนที่จะยอมจ่ายเงินซื้อเพลงอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า Oink’s Pink Palace ได้สร้างความรู้สึกเหมือนกลุ่มสังคมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากต่อต้านระบบเดิมๆ
ในปีเดียวกัน ตำรวจสวีเดนได้บุกปิดเซอเวอร์และจับกุมผู้ก่อตั้ง Pirate Bay ได้สำเร็จ แต่ไม่กี่วันต่อมาเว็ปไซต์ของ Pirate Bay ก็ได้กลับมาออนไลน์อีกครั้งด้วยกลยุทธ์การเก็บดาต้าเบสไว้หลายๆแห่ง
ต่อมา Alan Ellis ได้เริ่มขยายไลน์ของไฟล์ไปยังกลุ่ม audio book เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาร่วมอัพโหลดไฟล์เพื่อรักษาสัดส่วนอัพโหลดดาวน์โหลดได้ เหตุการณ์ครั้งนี้เข้าถึงหูของ J.K. Rowling อย่างรวดเร็ว และเธอก็ได้สั่งให้ทนายตามสืบเพื่อฟ้องร้อง Oink’s Pink Palace ให้ได้ และในเดือนตุลาคมปี 2007 ทีม FBI ก็ได้บุกเข้าจับกุม Alan Ellis ได้ที่บ้านพักของเขาหลังจากที่ FBI ค้นพบชื่อของ Alan Ellis เป็นชื่อของผู้สมัครโดเมน
อาณาจักร Oink’s Pink Palace ได้ปิดตัวลงไปตลอดกาล (ราวกับเป็นเพราะพลังเวทมนต์ของ Harry Potter !!)
Chapter XVII:
ขณะที่ความนิยมของไฟล์ torrent พุ่งสูงขึ้น ไฟของ Dell Glover และ Kali หัวหน้าทีม RNS ซึ่งเป็นทีมปล่อยไฟล์เพลงเถื่อนอันดับหนึ่งของ The Scene ได้เริ่มมอดดับลง Dell Glover ได้ทำการปล่อยไฟล์อัลบั้มกว่า 2,000 อัลบั้มในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เขาอายุ 25 ปีจนถึง 33 ปี และในที่สุด RNS ก็ได้ยุติการปล่อยไฟล์เถื่อนลงหลังจากเริ่มทำการมากว่า 11 ปี
แต่แล้วในอีกไม่ถึง 3 เดือนต่อมา Dell Glover ก็เริ่มอยากที่จะกลับมาปล่อยไฟล์เถื่อนอีกครั้ง และเขาได้เลือกที่จะปล่อยอัลบั้มใหม่ล่าสุดของ 50 Cent และ Kanye West ซึ่งเตรียมปล่อยตัวออกมาพร้อมกัน วันถัดมาหลังจากที่เขาได้ทำการปล่อยเพลงให้กับกลุ่มผู้ปล่อยไฟล์กลุ่มใหม่ Dell Glover ก็ได้ถูก FBI จับกุมตัวได้ในที่สุดหลังจากการตามสืบคดีนี้มานานกว่า 5 ปี
Chapter XVIII:
ยอดขายอัลบั้มเพลงของปี 2007 นั้นตกต่ำลงจนเหลือเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของยอดขายในปี 2000
Doug Morris ที่ได้กลายเป็นหน้าตาของผู้บริหารวงการเพลงที่ใหญ่ที่สุดก็ได้ถูกวิจารณ์และตำหนิอย่างหนักว่าเขาไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิตอลได้ ถึงแม้ว่าผลการทำงานของ Doug Morris นั้นยังคงยอดเยี่ยมเหมือนเดิม ในช่วงเวลานี้เขาได้ทำการปั้นศิลปินคนใหม่ที่กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในเวลาอันสั้นทั้ง Taylor Swift, Rihanna, Lady Gaga และ Justin Bieber
วันหนึ่ง ขณะที่ Doug Morris ได้นั่งดูหลานชายฟังเพลงผ่าน Youtube เขาก็พบว่าพื้นที่ด้านข้างของวิดิโอนั้นเต็มไปด้วยโฆษณาซึ่งเขามองว่าจะกลายเป็นขุมทองแห่งใหม่
เขาเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรองกับ Youtube และเว็ปไซต์สตรีมมิ่งวิดิโออื่นๆ ในช่วงเริ่มต้นการเจรจายังไม่สัมฤทธิ์ผล Doug Morris จึงได้สั่งถอนวิดิโอทั้งหมดทั้ง mv และ fan cover ของค่าย Universal Music ซึ่งในที่สุด Youtube ก็ได้เข้ามาเจรจาแบ่งปันเงินค่าโฆษณาก้อนใหญ่ให้กับ Universal Music เรียกว่า Doug Morris สามารถเสกเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ขึ้นมาจากอากาศได้เลยทีเดียว
ต่อมาในปี 2009 Doug Morris ได้ทำการจัดตั้ง Vevo ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวม music video ทั้งหมดของค่าย Universal Music กว่า 30 ปีย้อนหลังเพื่อนำมาใช้หารายได้ด้วยการขายโฆษณาทั้งในเว็ปไซต์ทางการของ Vevo และแชนแนลใน Youtube ซึ่งได้กลายเป็นแชลแนลยอดนิยมได้ในเวลาอันรวดเร็ว
Vevo สามารถสร้างยอดรายได้จากโฆษณาอย่างเป็นกอบเป็นกำ อาทิ mv เพลง Baby ของ Justin Bieber ที่มียอดวิวกว่า 1 พันล้านครั้งสามารถสร้างรายได้กว่า 30 ล้านเหรียญดอลลาร์
นอกจากการหารายได้ผ่านโฆษณาแล้ว อุตสาหกรรมเพลงก็ได้เริ่มเปลี่ยนโมเดลการสร้างยอดขายจากการขายเพลงเป็นการขายคอนเสิร์ตแทน ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์ของคนฟังเพลงที่มีความต้องการฟังดนตรีสดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ค่ายเพลงต่างๆยังได้เปลี่ยนรูปแบบการทำสัญญากับศิลปินเป็นการให้เงินก้อนกับศิลปินเพื่อแรกกับการถือกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ของรายได้และแบ่งเงินให้กับศิลปินเพียงแค่ 10-20% เท่านั้น ถึงแม้โมเดลนี้จะทำเงินให้กับค่ายเพลงอย่างมากมาย แต่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหลายรายนั้นต่างก็รู้สึกว่าตนโดนค่ายเพลงเอาเปรียบ และเริ่มมีศิลปินบางรายเลือกที่จะขอซื้อสิทธิ์ของรายได้คืนจากค่ายเพลง อาทิ Jay-Z
ในช่วงวาระสุดท้าย Steve Jobs ก็ยังได้คิดที่จะทำค่ายเพลงโมเดลใหม่ที่จะทำการแบ่งรายได้ทุกอย่างกับศิลปินที่ 50% โดยไม่มีเงินก้อนให้ในช่วงเริ่มต้น แต่แนวคิดของเขาก็ทำได้ไม่สำเร็จ เนื่องจาก Doug Morris ไม่เชื่อว่าหาก Steve Jobs เสียชีวิตไปแล้ว การทำค่ายเพลงของ Apple จะยังคงได้รับการสนับสนุนอยู่
VEVO ที่ทุกคนน่าจะเห็นกันจนชินตาใน Youtube (ขอบคุณภาพจากแชนแนล Taylor Swift Vevo)
Chapter XIX:
หลังจาก Alan Ellis ถูกจับกุมตัว เว็ปไซต์อีก 2 แห่งโดยทีมงานแอดมินเดิมก็เข้ามาแทนที่ Oink’s Pink Palace อย่างรวดเร็ว และครั้งนี้ โดเมนทั้งหมดของเว็ปไซต์ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
การไต่สวนคดีของ Alan Ellis เริ่มต้นในปี 2010 ด้วยข้อหาฉ้อโกงซึ่งมีที่มาจากเงินบริจาคของสมาชิกที่ Alan เก็บไว้ในบัญชีส่วนตัว (โดยไม่ได้นำออกมาใช้) ข้อหาของเขาไม่เกี่ยวข้องกับคดีละเมิดลิขสิทธ์ใดๆเลย และสุดท้าย ศาลก็ตัดสินให้ Alan Ellis ไม่มีความผิด
แตกต่างจากผู้ก่อตั้ง Pirate Bay ที่ถูกสั่งตัดสินจำคุก (หนึ่งในนั้นหนีไปหลบซ่อนตัวในกัมพูชาและเพิ่งถูกจับได้ในปี 2012) ถึงกระนั้น เว็ปไซต์ Pirate Bay ก็ยังคงดำเนินการได้ตามปกติและยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำเว็ปไซต์ BitTorrent ของโลกไว้ได้
ในประเทศสวีเดน พรรค Pirate Party ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายการลดผลของลิขสิทธิ์และสนับสนุนการเผยแพร่สิทธิบัตรทั้งหมดในโลกอินเตอร์เน็ตแบบฟรีๆเพื่อกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พรรค Pirate Party ได้รับการเลือกตั้งถึง 7% และสามารถส่งตัวแทนพรรคได้ถึง 2 คนเข้าร่วมในคณะกรรมการ EU
ถึงแม้การถือกำเนิดของอุตสาหกรรมเพลงเถื่อนนั้นจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับโลกอย่างมากมาย อาทิ iPod และเครื่องเล่น mp3 อีกมากมาย แต่หากนักนวัตกรรมไม่สามารถถือครองลิขสิทธิ์ของตัวเองได้ Karlheinz Brandenburg คงไม่ทุ่มเทผลักดัน mp3 มาถึงขนาดนี้
พรรค Pirate Party (ขอบคุณภาพจาก World Policy Institute)
Chapter XX:
การสืบสวนตามล่ากลุ่ม RNS ของ FBI เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นหลังจากทีมสืบสวนได้รับเบาะแสของสมาชิกทีม RNS หนึ่งคนจากนักปล่อยไฟล์เพลงเถื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้ สมาชิก RNS ที่ถูกตามจับได้สัญญาว่าจะให้ความร่วมมือกับ FBI เพื่อลดโทษคดี และประจวบเหมาะกับจังหวะที่ Dell Glover ต้องการจะกลับคืนสู่วงการปล่อยเพลงเถื่อนอีกครั้ง Dell ได้ทำการติดต่อกับสมาชิกคนนี้ก็ได้ให้ข้อมูลของเขาแก่ FBI จนนำมาสู่การจับกุม Dell Glover ในเวลาต่อมา
Dell Glover ยอมรับผิดในทุกข้อกล่าวหาและพร้อมให้ความร่วมมือกับ FBI อย่างเต็มที่ ต่อมา FBI ก็สามารถตรวจจับ IP ของ Kali ได้ผ่านคอมพิวเตอร์ของ Dell ซึ่งนำไปสู่การจับกุม Adil R. Cassim พนักงานไอทีชาวอินเดียนอเมริกันวัย 29 ปี
สมาชิกของ RNS ถูกจับกุมรวมทั้งหมด 6 คนซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสมาชิกทีมปล่อยเพลงเถื่อนกลุ่มอื่นๆใน The Scene เนื่องจากนโยบายการไม่เปิดเผยตัวตนของ Kali
RNS ถูกประกาศเป็นองค์กรอาชญากรรมที่สร้างความสูญเสียให้กับวงการเพลงกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับสมาชิกของทีม
Dell Glover ได้ยอมร่วมมือกับ FBI เพื่อให้การเป็นจำเลยในคดีฟ้องร้อง Adil Cassim ซึ่งเขาไม่เห็นหน้าตาและชื่อจริงมาก่อน Dell ติดต่อกับ Kali ผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น และตลอดการพิจารณาคดี Cassim เลือกที่จะไม่พูดแม้แต่คำเดียว
สุดท้าย Adil R. Cassim ก็ถูกตัดสินให้พ้นโทษจากข้อโต้แย้งของเขา ที่เลือกปรับ router ให้เป็นแบบไม่ปลอดภัยซึ่งหมายความว่า IP ของเขาสามารถถูกแฮ็คเอาไปใช้งานโดยแฮคเกอร์คนอื่นๆได้ อีกเหตุผลหนึ่งของการปล่อยตัว Cassim นั้นน่าจะเกิดจากการที่คณะลูกขุนเข้าใจว่า Cassim คือคนผิดจริง แต่โทษทางกฎหมายนั้นรุนแรงเกินกว่าโทษที่เขาสมควรได้รับ
Dell Glover ยอมสารภาพผิดและติดคุก ขณะที่บุคคลที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นผู้นำกลุ่ม RNS กลับเลือกที่จะสู้และชนะคดีด้วยเหตุผลที่ว่าคณะลูกขุนมองว่ากฎหมายที่ตัดสินว่าเขาทำผิดกฎหมายนั้นไม่ยุติธรรมและไม่จำเป็นต้องเคารพกฎหมายนั้น
Epilogue:
Karlheinz Brandenburg ยังคงรับหน้าที่ดูแลสถาบันวิจัย Fraunhofer อยู่ ไฟล์ mp3 ที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของเขานั้นกำลังเริ่มลดบทบาทลงหลังจากการเปิดตัวบริการ streaming เพลง อย่าง Spotify ที่เลือกใช้ฟอร์แมทของไฟล์เพลงสกุล OGG แทน
Doug Morris เกษียณจาก Universal Music พร้อมกับผลงานชิ้นเอกอย่าง Vevo และเป็นอีกครั้งที่เขาได้รับการทาบทามให้เข้ารับตำแหน่ง CEO ให้กับค่ายเพลง Sony Music Entertainment ในวัย 72 ปี ค่าย Universal ได้ทำการซื้อกิจการ EMI ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร ทำให้ Big Four แห่งอุตสาหกรรมเพลงเหลือเพียง Big Three ซึ่งได้แก่ Universal Music Group, Warner Music Group และ Sony Music Entertainment ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนั้นเคยได้รับการบริหารโดย Doug Morris มาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ปี 2011 เป็นปีแรกที่ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินให้กับดนตรีสดมากกว่าเพลงในรูปแบบซีดีและดิจิตอล
ปี 2012 เป็นปีแรกที่ยอดขายของไฟล์เพลงดิจิตอลพุ่งสูงกว่ายอดขายซีดีในทวีปอเมริกาเหนือ
ปี 2013 เป็นปีแรกที่รายได้จากการโฆษณาผ่านการ streaming เพลงและ mv ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์
การเกิดขึ้นเทคโนโลยี streaming นั้นนำมาสู่ยอดขายที่ลดลงของวงการเพลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้คนไม่หันไปดาวน์โหลดเพลงผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ไม่คิดที่จะซื้อเพลงอย่างถูกกฎหมายเช่นกัน
ศิลปินเริ่มที่จะทดลองหารายได้ด้วยวิธีการใหม่ๆ อาทิ Lady Gaga ประกาศขายอัลบั้ม Born This Way ใน iTune ด้วยราคาเพียง 99 เซ็นต์ วง Radiohead ได้ปล่อยอัลบั้มล่าสุดลงในเว็ป BitTorrent แบบฟรีๆ และ Kanye West สามารถป้องกันการปล่อยเพลงเถื่อนก่อนวันจำหน่ายด้วยการล็อกซีดีต้นตำรับของเขาในกระเป๋าล็อกที่ต้องใช้ลายนิ้วมือในการเปิดเท่านั้น
Adil R. Cassim กับ Alan Ellis ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวและไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆหลังจากการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นลง
Dell Glover เข้ารับโทษจำคุกเป็นเวลา 3 เดือนในปั 2010 ปัจจุบันเขาทำงานเป็นพนักงานในโรงงานผลิตรถบรรทุกพร้อมๆกับรับจ็อบเสริมเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิค
Daniel Ek ผู้ปฏิวัติวงการเพลงในยุคปัจจุบันด้วย Spotify บริการ music streaming อันดับหนึ่งของโลก (ขอบคุณภาพจาก Forbes)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]