Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] Coined : The Rich Life of Money and How Its History Has Shaped Us

 

 

Coined : The Rich Life of Money and How Its History Has Shaped Us (2015)

by Kabir Sehgal

 

“Gold gets dug out of the ground in Africa, or someplace. Then we melt it down, dig another hole, bury it again and pay people to stand around guarding it. It has no utility. Anyone watching from Mars would be scratching their head.”

 

ในปี 1974 นาย Mohammad Yunus ค้นพบว่าชาวบ้านผู้ยากจนในประเทศบังคลาเทศนั้นต้องทนทุกข์ทรมานอดข้าวอดน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งธนาคาร Grameen Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่เปิดให้ชาวบ้านกู้เงินแบบ micro finance ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จนทำให้ชาวบ้านหลายคนลืมตาอ้าปากได้สำเร็จ

การใช้ “เงิน” นั้นทำได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าแค่หน้าที่ของเงิน 3 ประการ (สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน, หน่วยนับ และหน่วยรักษาคุณค่า) … เงินสามารถยกระดับชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ เงินสามารถสร้างแรงกระตุ้นในความคิดของสมองมนุษย์ได้ไม่แพ้กับเฮโรอีน เงินสามารถเป็นแหล่งกำเนิดของวิกฤติทางเศรษฐกิจและสงครามได้ และเงินนั้นส่งอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์ในหลายๆด้านของชีวิต … เงินยังมีการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดหลายพันปีของประวัติศาสตร์มนุษย์ … เงินมีชีวิต

Kabir Sehgal อดีต VP ของธนาคารยักษ์ใหญ่ JP Morgan ได้เลือกให้คำจำกัดความของเงินว่าเป็น “Symbol of Value” หรือ “สัญลักษณ์ของคุณค่า” ที่แสดงถึงสิ่งที่มีมูลค่าและมีความสำคัญ เขาได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อตอบคำถามที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่เงินทำให้โลกหมุนเวียนได้อย่างทุกวันนี้” ผ่านการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของเงินในหลากหลายมุมมอง รวมไปถึงการพยากรณ์อนาคตของ “สิ่งไร้ค่าที่ถูกเพิ่มมูลค่าอย่างมหาศาลโดยฝีมือของมนุษย์”

 

Kabir Sehgal (ขอบคุณภาพจาก Grand Central Publishing)

 


 

Part I MIND: The Roots of an Idea

 

Chapter One: It’s a Jungle Out There – The Biology of Exchange

3,800 ล้านปีก่อน Prokaryotes สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเริ่มที่จะกลืนกิน Mitochondria ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอีกประเภทหนึ่งเข้าไปอยู่ภายในเซลล์ของมัน … ต่อมา สิ่งมีชีวิตทั้งสองได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์กัน (Symbiosis) แบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Mutuality) โดย Prokaryotes ทำหน้าที่ปกป้อง Mitochondria ผู้ทำหน้าที่สร้างพลังงานให้กับสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวทั้งสองชนิด … จนในที่สุด วิวัฒนาการก็ได้ให้กำเนิด Eukaryotes เซลล์ซึ่งเป็นพื้นฐานเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 100 ล้านปี พืชกับแมลงได้แสดงความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผึ้งที่คอยตอมเกสรดอกไม้เพื่อดูดน้ำหวานที่ดอกไม้ต่างๆได้สร้างขึ้น โดยดอกไม้ได้รับผลตอบแทนด้วยการที่ผึ้งช่วยนำพาเกษรดอกไม้ไปผสมพันธุ์กับดอกไม้ดอกอื่นๆให้

จากตัวอย่างเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า “การแลกเปลี่ยน” นั้นสามารถเกิดขึ้นระหว่างสิ่งมีชีวิตได้ทุกที่ทุกเวลา … และการแลกเปลี่ยนนี้เอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์

สัตว์นานาชนิดมักจะแลกเปลี่ยน “พลังงาน” ซึ่งกันและกัน อาทิ เหาฉลามที่คอยกินสัตว์ตัวเล็กๆภายในปากของฉลาม … ส่วนสัตว์บางชนิดก็สามารถเรียนรู้ที่จะกักเก็บพลังงานนั้นๆได้ เช่น กระรอกที่เก็บถั่ววอลนัทภายในรังเป็นจำนวนมาก

แต่มนุษย์นั้นมีสมองที่ขนาดใหญ่กว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ … ตั้งแต่สมัยอดีต มนุษย์รู้จักที่จะทำการแลกเปลี่ยนอย่างมีชั้นเชิง โดยเริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของ (Barter Trade) ที่ตัวเองผลิตไว้มากเกินไป เช่น เกลือ หรือ ข้าวสาร … มนุษย์ในยุคแรกเริ่มยังเรียนรู้ที่จะอาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอด โดยมนุษย์ได้ริเริ่มที่จะแบ่งภาระงานระหว่างกันอย่างชัดเจนมากขึ้น อาทิ ผู้ชายล่าสัตว์ ผู้หญิงเลี้ยงลูก (เหมือนกับนก Finch ในเกาะกาลาปากอสที่ Charles Darwin ค้นพบว่ามีมากกว่า 14 สายพันธุ์ที่วิวัฒนาการแตกต่างกันตามแหล่งที่อยู่และวิธีการออกล่าหาอาหาร เพื่อให้แต่ละสายพันธุ์ไม่แย่งพื้นที่กันและกัน) … ด้วยระดับสมองที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มนุษย์เริ่มที่จะมีความคิดในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ อาวุธเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ ไปจนถึงการสร้างงานศิลปะ … ภาพวาดในถ้ำยุคหินนั้นมีอายุมากกว่า 10,000 ปี

ความสามารถในการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มประกอบกับทักษะการใช้ความคิดเชิงสัญลักษณ์ ถือเป็นจุดกำเนิดของการคิดค้น “เงิน” ขึ้นมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (C-M-C)

 

ความสัมพันธ์แบบ “พึ่งพาอาศัย” ระหว่างจระเข้กับนกที่คอยกินเศษอาหารในปากของมัน (ขอบคุณภาพจาก Warren Photographic)

 

Chapter Two: A Piece of My Mind – The Psyochology of Money

“เงิน” ถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ แล้วมนุษย์ใช้ความคิดในการตัดสินใจทางการเงินอย่างไร

ท่ามกลางสภาวะฟองสบู่ของตลาดบ้านก่อนช่วงวิกฤติ subprime crisis เหล่านายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดในโลกมองไม่ออกเลยว่าหายนะทางการเงินครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง … แนวทางการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขาตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล” … การที่คนอเมริกันจำนวนมากจำนองซื้อบ้านทั้งๆที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินได้ และการที่ธนาคารต่างๆเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่อิงกับมูลค่าของตราสารหนี้จำนองบ้านเหล่านั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามนุษย์ไม่ได้ทำตัวมีเหตุผลตลอดเวลา

การศึกษาด้าน Behavioral Economics หรือเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่เริ่มต้นโดย Daniel Kahneman กับ Amos Tversky ได้แบ่งความคิดของมนุษย์ออกเป็น 2 ระบบได้แก่ ระบบความคิดอัติโนมัติ (System 1) และระบบความคิดแบบรับรู้ (System 2) … ซึ่งพวกเขาพบว่าในหลายๆครั้งมนุษย์ได้ตัดสินใจให้ System 1 ที่เป็นเหมือนการใช้สัญชาตญาณดำเนินการทางความคิดแทน System 2 ที่ต้องอาศัยพลังในการคิดวิเคราะห์มากกว่า

System 1 สามารถสร้าง bias ทางด้านการตัดสินใจทางการเงินของมนุษย์มากมาย อาทิ … Availability Heuristic เช่น กรณีที่คนที่ตัดสินใจซื้อลอตเตอรี่โดยคิดว่าพวกเขามีโอกาสถูกรางวัลค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริงเนื่องจากพวกเขาได้รับรู้ข่าวสารของคนที่ถูกรางวัลอยู่เป็นประจำ … the money illusion ที่ส่งผลให้มนุษย์มองมูลค่าของเงินเป็นจำนวนตัวเลขโดยไม่คิดถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ คนที่ได้รับเงินเดือนขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ มักจะยินดีมากกว่าคนที่ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในภาวะเงินฝืด

Bias ที่สำคัญอีกข้อของมนุษย์คือ loss aversion หรือความกลัวต่อการสูญเสีย … ในการทดลองให้ผู้ร่วมทดลองเลือกที่จะเสี่ยงดวงว่าจะได้รับเงิน 22 ดอลลาร์ หรือเสียเงิน 20 ดอลลาร์ในอัตราส่วนเท่าๆกัน ผู้ร่วมทดลองส่วนใหญ่มักกลับเลือกที่จะไม่เสี่ยงดวง ทั้งๆที่โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะได้กำไรจากการเสี่ยงครั้งนี้

Richard Thaler นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมได้คิดค้น bias ของมนุษย์อีกข้อที่สำคัญคือ Mental Accounting หรือการที่มนุษย์แบ่งเงินออกเป็นก้อนๆเพื่อแยกในการใช้จ่าย ทั้งๆที่เงินในแต่ละก้อนก็เป็นเงินเหมือนกันทั้งหมด

ศาสตร์แขนงใหม่ที่กำลังเริ่มมีบทบาทในวงการนักเศรษฐศาสตร์ คือ Neuroeconomics หรือการศึกษาการตอบสนองของสมองส่วนต่างๆเพื่อทำความเข้าใจถึงการตัดสินใจของมนุษย์ให้มากขึ้น … เบื้องต้น Brian Knutson ศาสตราจารย์ Neuroeconomics คนสำคัญได้ค้นพบว่า “อารมณ์” ของมนุษย์มีผลต่อการกระตุ้นสมองในส่วนที่แตกต่างกันซึ่งส่งผลต่อไปถึงการตัดสินใจอีกทอดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น อารมณ์ “มีความสุข” ของมนุษย์เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจแบบกล้าเสี่ยงมากยิ่งขึ้น การรับรู้ราคาสินค้าที่แพงเกินไปกระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนที่แสดงอารมณ์ “รังเกียจ” หรือ “ช็อค” และการมองเห็นโอกาสในการได้เงินปริมาณมากของมนุษย์จะสร้างอารมณ์ที่ไม่ต่างจากการเสพกัญชาเลยทีเดียว

ในอนาคต เราจะเห็นการนำศาสตร์ของ Neuroeconomics มาใช้งานด้านการพยากรณ์ทางเศรษฐศาสตร์มากยิ่งขึ้น และไม่แน่ว่าในที่สุดมนุษย์จะสามารถพยากรณ์การตัดสินใจของมนุษย์ได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำก็เป็นได้

 

Chapter Three: So in Debt – The Anthropology of Debt

เครื่องมือในการแลกเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งนอกจาก Barter trade ที่เกิดขึ้นมานานก่อนการกำเนิดของ “เงิน” ก็คือ “หนี้” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหนี้หรือผู้ให้กับลูกหนี้หรือผู้รับที่เชื่อมโยงกันโดยพันธะซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ Familial Debt หรือการให้ของรางวัลระหว่างคนที่รู้จักกัน กับ Commercial Debt หรือการกู้ยืมทางธุรกิจโดยมีสัญญาระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้อย่างชัดเจน

Familial Debt หรือ Gift Economy นั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่การพัฒนาทางความคิดของมนุษย์ โดยมนุษย์มีจุดประสงค์ในการให้ “ของขวัญ” ที่แตกต่างกันไปทางการให้ด้วยความรัก ให้เพื่อสร้างบุญคุณไปจนถึงการให้เพื่อแสดงถึงอำนาจหรือการดูหมิ่น !!

ชาวพื้นเมืองในเกาะ Trobriand มีธรรมเนียมในการหมุนเวียนของขวัญระหว่างเพื่อนบ้านเพื่อแสดงถึงการดำรงอยู่ในเผ่าเดียวกัน … ชาว Kwakiuti ในแคนาดาแสดงบารมีด้วยการจัดงาน Potluck เพื่อเลี้ยงและมอบของรางวัลให้กับผู้ร่วมงานโดยยิ่งของรางวัลมีมูลค่ามาก เจ้าของงานก็จะได้รับสถานะทางสังคมที่สูงมากตามไป … ในโลกของอินเตอร์เน็ตก็มีกลุ่มคนจำนวนมากที่แจกไฟล์เพลงหรือหนังเถื่อนแบบฟรีๆเพื่อแลกกับความรู้สึกที่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มต่อต้านระบอบทุนนิยมแบบดั้งเดิม … ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะให้เงินเหล่าศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ไอเดียเพื่อนำไปใช้ริเริ่มทำธุรกิจผ่านเว็ปไซต์ Kickstarter

การได้รับหนี้ทางสังคมในลักษณะของ Gift Economy เป็นสิ่งที่ยากต่อการรับมือของมนุษย์กว่าการติดหนี้ธนาคารที่เรารู้แน่นอนว่าต้องใช้คืนเท่าไหร่เมื่อไหร่ (ลองคิดแค่ว่าจะซื้อของตอบแทนแฟนที่พึ่งคบกันใหม่ๆก็รู้สึกได้แล้วว่ายากแค่ไหน) … มนุษย์หลายๆคนมักเริ่มที่จะหลีกเลี่ยงในการติดหนี้บุญคุณของคนอื่นและหันไปใช้งาน Commercial Debt แทน เช่น คนที่ต้องการย้ายบ้านก็ใช้บริการบริษัทย้ายบ้านแทนการขอร้องให้ญาติๆช่วย

Commercial Debt นั้นมีมานานเกือบหมื่นปีแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตั้งแต่การกู้ยืมเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตรต่างๆเพื่อแลกกับผลผลิตที่เพาะได้ในเวลาต่อมา ไปจนถึงการทำธุรกิจแบบเครดิตในปัจจุบัน … ข้อดีของหนี้แบบธุรกิจก็คือการมีกำหนดระยะเวลาและดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ก็มีข้อเสียที่สำคัญคือหากไม่สามารถชดใช้คืนได้ในเวลาที่กำหนด ลูกหนี้ก็จะต้องได้รับผลตามมาตั้งแต่การโดนปรับ การติดคุก ไปจนถึงการถูกกดขี่ อาทิ แรงงานพม่าที่ลักลอบเข้าเมืองไทยอย่างผิดกฎหมายต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อชดใช้ค่านายหน้าในการลักลอบเข้าประเทศ

 


 

Part II BODY: The Material Forms of Money

 

Chapter Four: Hard and Heavy – A Brief History of Hard Money

“เงิน” สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

1. Hard Money (Metallism) หรือเงินที่มีมูลค่าในตัวของมันเอง เช่น ทองคำ หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเงินกระดาษที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นของที่มีมูลค่าได้ เหมือนกับเงินดอลลาร์ในยุค Gold Standard

2. Soft Money (Chartalism) หรือเงินที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเงินสกุลต่างๆที่มนุษย์ใช้กันในปัจจุบัน

Hard Money เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการถือกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ โดยในช่วงแรกๆ มนุษย์มักจะใช้สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ธัญพืช หรือ เกลือเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน … คำศัพท์ทางการเงินในปัจจุบันมากมายก็สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในด้านนี้ อาทิ Capital (ทุน) ที่มาจากคำว่าหัวสัตว์ซึ่งสมัยก่อนการมีสัตว์จำนวนมากแสดงถึงความร่ำรวยของเจ้าของ Salary (เงินเดือน) มาจากการจ่ายค่าแรงของทหารโรมันเป็นเกลือ และ Buck (ดอลลาร์) ที่มีความหมายมาจากหนังของกวางซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญในยุคล่าอาณานิคมอเมริกัน

แร่เงิน (silver) เป็น Hard Money ชนิดแรกของโลกที่ทำหน้าที่ของเงินได้ครบทุกประการ ตั้งแต่การเป็นหน่วยนับในการตั้งราคาซื้อขายสินค้ารวมไปถึงค่าปรับต่างๆ การเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและการเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่ไม่เน่าเปื่อยเหมือนธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอาหารต่างๆ

ในช่วง 1600 BC อาณาจักรอียิปต์ได้เริ่มใช้โลหะที่มีมูลค่า อาทิ ทองคำและเงิน เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยพวกเขาใช้วิธีการหลอมโลหะเหล่านั้นเป็นชิ้นเล็กและวัดมูลค่าตามน้ำหนัก

ในช่วง 700 BC อาณาจักร Lydia (ที่ปัจจุบันคือประเทศตุรกี) กลายเป็นอารยธรรมแรกของโลกที่ผลิตเหรียญขึ้นมาใช้เป็นเงิน โดยพวกเขาทำการขึ้นรูปเหรียญที่มีขนาดและน้ำหนักที่เป็นมาตรฐานจากแร่ Electrum ซึ่งเป็นแร่เงินผสมกับทองคำ พร้อมตีตราประทับเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สิงโต และใช้มูลค่าของแร่นั้นแทนมูลค่าของเหรียญ (intrinsic value) … กลุ่มผู้ผลิตเหรียญมักจะทำการดึงแร่ทองคำออกมาจากแร่ Electrum ให้มากที่สุดเพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้กับตัวเอง

 

Ancient Coinage of Lydia (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)

 

ในช่วง 500 BC อาณาจักรกรีกที่กำลังทำสงครามกับชาวสปาร์ตาอย่างหนักซึ่งส่งผลให้แร่ทองคำและเงินขาดแคลน พวกเขาจึงริเริ่มการผลิตเหรียญจากแร่บรอนซ์เคลือบเงินขึ้นโดยยังคงอิงมูลค่าของเหรียญนั้นให้เท่าเทียมกับเหรียญรูปแบบเดิมๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ “มูลค่าที่แท้จริงของเงินต่ำกว่ามูลค่าที่เงินนั้นถูกใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยมีรัฐเป็นผู้รับประกันมูลค่าที่แท้จริง” … การเพิ่มขึ้นของเงินจำนวนมากทำให้อาณาจักรกรีกมีการค้าขายและการกู้ยืมโดยธนาคารที่เติบโตขึ้น และเป็นเหตุจุดประกายความเป็นประชาธิปไตยหลังจากที่อำนาจและความร่ำรวยเริ่มเปลี่ยนมือไปอยู่กับเหล่าพ่อค้าที่กลายเป็นเศรษฐีรายใหม่แทนที่เหล่าราชวงศ์กษัตริย์และขุนนางชั้นสูง

ในช่วง 200 BC อาณาจักรโรมันเริ่มที่จะใช้เงินเป็นเครื่องมือในการควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยการควบคุมมูลค่าของเงินและการควบคุมปริมาณการผลิตเงิน … ซึ่งในยุคนั้นจักรพรรดิ์เลือกที่จะลดค่าเงินด้วยการลดสัดส่วนแร่เงินในเงินเหรียญเพื่อให้สามารถผลิตเหรียญได้มากขึ้นเอามาใช้จ่ายเงินเดือนให้กับทหาร ซึ่งต่อมาผู้คนเริ่มที่จะเก็บเงินที่มีสัดส่วนของแร่โลหะที่มีมูลค่าสูงไว้ไม่ยอมใช้จ่ายจนเกิดภาวะเงินฝืดขึ้น … ในปี 49 BC จักรพรรดิ Julius Caesar ใช้แร่ทองคำที่ยึดได้มาทำเป็นเงินเพื่อกระตุ้นให้คนเลิกกักเก็บเงินมูลค่าสูงและเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอย … ในปี AD 64 หลังจากวิกฤติไฟไหม้ครั้งใหญ่ จักรพรรดิ Nero ได้ทำการลดค่าเงินและผลิตเงินขึ้นมาใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น คลอง ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ … แต่สุดท้ายในช่วงปี AD 200 อาณาจักรโรมต้องมาพบเจอกับภาวะเงินเฟ้อครั้งรุนแรงที่ถึงแม้จักรพรรดิ์ในช่วงเวลานั้นจะทำการเพิ่มเงินที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่ เงินเฟ้อก็ยังคงรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ทองคำ” ไม่ใช่แร่หายากชนิดเดียวในโลก แต่ทองคำกลับกลายเป็นแร่โลหะที่มนุษย์หลงใหลและต้องการครอบครองมากที่สุด … นักประวัติศาสตร์เชื่อมโยงความคลั่งใคล้ของทองคำเข้ากับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ชื่นชอบวัตถุที่มีความแวววาวและส่องประกายไม่แพ้รังสีทองอร่ามจากดวงอาทิตย์ … ซึ่งแร่ทองคำนั้นก็ถือเป็น Hard Money ที่มีบทบาทอย่างมากในยุค Gold Standard หรือมาตรฐานทองคำที่กำหนดให้เงินสัญชาติต่างๆต้องผูกมูลค่ากับทองคำ … ปัจจุบันแร่ทองคำทั้งหมดที่ขุดขึ้นมาจากพื้นดินนั้นมีปริมาณรวมกันไม่ถึง 200,000 ตัน (เทียบกับกำลังการผลิตแร่เหล็กกล้าที่ผลิตได้ปีละ 1.5 พันล้านตัน) … Warren Buffett เคยตั้งข้อสงสัยไว้ว่าทำไมมนุษย์ถึงต้องขุดทองคำออกมาจากหลุมใต้ดิน เพื่อสร้างหลุมใต้ดินอีกแห่งเพื่อเก็บรักษาทองคำเหล่านั้นไว้

ความต้องการเงินของมนุษย์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จน Hard Money เริ่มเข้าสู่สภาวะขาดแคลน และในที่สุดมนุษย์ก็เลือกที่จะยอมเสีย “คุณภาพ” หรือมูลค่าที่แท้จริงของเงิน เพื่อแลกกับ “ปริมาณ” ที่มีอย่างไม่จำกัดของเงินแบบ Soft Money

 

Chapter Five: Some Like It Soft – A Brief History of Soft Money

Soft Money ในโลกยุคปัจจุบันนั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด … ปริมาณการแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั่วโลกรวมกันนั้นมีมูลค่าสูงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวัน

สกุลเงิน USD (ดอลลาร์สหรัฐ) ได้กลายมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 … ปริมาณการซื้อขายระหว่างประเทศทั้งหมด 85% นั้นมีเงิน USD เกี่ยวข้อง และนำพามาซึ่งความได้เปรียบอย่างสุดขีดของประเทศสหรัฐอเมริกา … หลายประเทศทั่วโลกต้องนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนเป็น USD เพื่อนำมาเก็บไว้เป็นเงินสำรอง ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่มีต้นทุนแค่ไม่กี่เซ็นต์เท่านั้นในการพิมพ์ธนบัตรเงิน USD ออกมา

เหตุใดผู้คนในโลกยุคปัจจุบันถึงนิยม Soft Money มากกว่า Hard Money และยอมแลก “คุณภาพ” กับ “ปริมาณ” … เหตุผลที่มีความเป็นไปได้นั้น ประกอบด้วย ความสะดวกที่ผู้ใช้ไม่ต้องพกเงินหนักชนิดต่างๆมาใช้ในการแลกเปลี่ยน ความสามารถในการมองเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์ที่ทำให้เห็นคุณค่าของกระดาษแผ่นบางๆที่เรียกว่าธนบัตรเหล่านี้  มาตรฐานการใช้เงินกระดาษที่ทั่วโลกยอมรับและพลังอำนาจที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ครอบครองเงินที่ริเริ่มตั้งแต่ยุคสมัยโรมัน รัฐบาลทั่วโลกสามารถควบคุมปริมาณเงินได้มากขึ้นซึ่งทำให้พวกเขาสามารถแทรกแซงสภาวะเศรษฐกิจได้ … Mayer Amschel Rothschild เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเขาได้รับอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินทั้งหมดของชาติ เขาไม่จำเป็นเลยที่จะต้องสนใจว่าใครเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย”

ช่วงการปกครองของราชวงศ์ถัง (ศตวรรษที่ 7 ถึง 9) ถือเป็นช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นอย่างมาก การค้าขายระหว่างเมืองเฟื่องฟูจนธนาคารหลายแห่งเริ่มคิดค้น “ตัวแลกเงิน” (draft) ขึ้นโดยให้เหล่าพ่อค้าฝากสิ่งของมีค่าสำคัญเพื่อแลกเป็นเอกสารที่สามารถใช้แทนมูลค่าของสิ่งของเหล่านั้นได้

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ศตวรรษที่ 9 ถึง 12) เงินกระดาษสกุลแรกชื่อ Jiaozi ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในการทำเหรียญเงิน ซึ่งสกุลเงิน Jiaozi นี้สามารถนำมาแปลงเป็นแร่เงินได้ แต่ด้วยการพิมพ์เงินสกุลนี้อย่างมากเกินไป ทำให้ Jiaozi สูญเสียความเชื่อมั่นไปในที่สุด … ต่อมาราชวงศ์ซ่งก็ได้สร้างสกุลเงินใหม่ชื่อ Huizi ขึ้นซึ่งถึงแม้เงินกระดาษสกุลนี้จะได้รับความนิยมในหมู่พ่อค้า เงินกระดาษก็ยังไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย

 

Jiaozi เงินกระดาษชนิดแรกของโลก (ขอบคุณภาพจาก ThoughtCo)

 

จนกระทั่งสมัยราชวงศ์หยวน จักรพรรดิ Kublai Khan ได้วางกลยุทธุ์ในการใช้เงินกระดาษเป็นเครื่องมือในการควบคุมอำนาจของราชวงศ์ โดยเขาได้ออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนใช้เงินกระดาษสกุล Chao ของเขาที่ได้รับการประกันมูลค่าด้วยแร่เงิน และในที่สุดเงิน Chao ก็สามารถแพร่กระจายไปทั่วประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและพม่า แต่สุดท้ายปัญหาการขาดแคลนแร่เงินก็ทำให้เงิน Chao สูญเสียมูลค่าไป ทำให้ Kublai Khan ต้องออกสกุลเงิน Chao แบบใหม่ที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นแร่โลหะมูลค่าสูงใดๆได้เลยซึ่งถือเป็น Soft Money สกุลแรกของโลกที่อิงมูลค่าตามความเชื่อมั่นของรัฐเท่านั้น การออกเงิน Chao แบบใหม่ทำให้เกิดการกักเก็บเงิน Chao แบบเก่าและทำให้มูลค่าของเงิน Chao แบบใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนในที่สุด ราชวงศ์หยวนก็ได้ประกาศใช้ระบบเงินแบบ 2 สกุลที่มีทั้งเงินแบบ Soft และแบบที่สามารถแลกเป็นแร่เงินได้

ช่วงศตวรรษที่ 14 ข่าวคราวการใช้เงินในรูปแบบกระดาษของดินแดนในแถบตะวันออกก็ได้เดินทางมาถึงประเทศในทวีปยุโรปโดยมีนักเดินทางชื่อดังอย่าง Marco Polo เป็นผู้กระจายเรื่องราว แต่เงินกระดาษก็ไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายจนกระทั่งหลายร้อยปีถัดมา

หลังจากการสิ้นพระชนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประเทศฝรั่งเศสตกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากการขาดแคลนเงินเหรียญโลหะ … John Law นักการเงินชาวสกอตแลนด์ได้นำเสนอแนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างธนาคารกลาง Banque Royale เพื่อทำหน้าที่พิมพ์เงินกระดาษที่ได้รับการประกันมูลค่าโดยโลหะมูลค่าสูง ซึ่งนโยบายนี้สามารถเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสได้ถึง 4 เท่าภายใน 4 ปี … John Law ยังได้ก่อตั้ง Mississippi Company ขึ้นมาเพื่อซื้อหนี้สาธารณะของฝรั่งเศสโดยแลกกับสิทธิในการเก็บภาษีของอาณานิคมฝรั่งเศสในอเมริกาและอินเดีย เขาได้เปิดขายหุ้นของ Mississippi Company อย่างต่อเนื่องจนทำให้มูลค่าหุ้นพุ่งสูงเกือบ 100 เท่าและเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า millionaire … แต่สุดท้ายฟองสบู่หุ้นก็แตกออก ผู้คนเริ่มกลับไปใช้เงิน Hard Money อีกครั้ง และเศรษฐกิจฝรั่งเศสก็กลับมาย่ำแย่อีกครั้ง

เงินดอลลาร์สหรัฐถูกกำหนดเป็นสกุลเงินมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาในปี 1785 ซึ่งขณะนั้นเงินส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของเหรียญโลหะชนิดต่างๆ การใช้เงินกระดาษยังไม่ได้รับความนิยมมากนักแถมยังถูกประเทศอังกฤษแบนอีกด้วย … ต่อมาธนาคารต่างๆก็ได้ออกเงินกระดาษของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายได้อย่างสะดวกโดยเงินกระดาษของธนาคารเหล่านี้ยึดมูลค่าไว้ด้วยความน่าเชื่อถือของธนาคารเท่านั้น … ในปี 1862 ประธานธิบดี Abraham Lincoln ได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินกระดาษของธนาคารต่างๆในการแลกเปลี่ยนเป็นโลหะมูลค่าสูงหรือที่ดิน เพื่อผลิตธนบัตรดอลลาร์สหรัฐมาใช้ในการจ่ายค่าแรงทหารในสงคราม The Civil Wars … ในปี 1875 เงินกระดาษก็ได้กลับเข้าสู่ระบบที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นโลหะได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ประชาชนมากมายเริ่มที่จะมีความเชื่อมั่นในเงินกระดาษเหล่านี้และไม่ต้องการแลกเงินกระดาษเป็นโลหะมูลค่าสูง … ในปี 1900 รัฐสภาสหรัฐออกนโยบาย Gold Standard หรือมาตรฐานทองคำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยึดมูลค่าและสามารถแลกเปลี่ยนกับทองคำได้ตามมูลค่าที่แท้จริงโดยมีรัฐเป็นคนคอยประกันให้

 

ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐชนิดแรกที่ถูกผลิตขึ้นในปี 1862 (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)

 

The Great Depression หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1926 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง … ประเทศยุโรปหลากหลายชาติได้ถอนตัวออกจากระบบ Gold Standard เพื่อพิมพ์เงินไปใช้ในสงครามอย่างเมามัน พอสงครามจบลง อังกฤษได้กลับเข้าสู่ระบบ Gold-Exchange Standard ที่ตัดสิทธิ์การแลกเงินเป็นทองของประชาชนทั่วไป พร้อมๆกับการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์กับทองในระดับเดียวกับช่วงก่อนสงคราม ทั้งๆที่ประเทศอังกฤษได้พิมพ์เงินอย่างหนักจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินของอังกฤษได้อยู่ในสภาวะ over-valued (ให้ค่ามากเกินความจริง) จนทำให้การส่งออกย่ำแย่ ราคาสินค้าตกต่ำจนเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซารุนแรงที่รุกลามไปยังทั่วโลก

ในปี 1933 ประธานธิบดีสหรัฐ Franklin D. Roosevelt มองเห็นจุดอ่อนของระบบ Gold Standard ที่ไม่ยืดหยุ่นในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เขาประกาศเรียกซื้อทองคำทั้งหมดคืนในราคาตามมาตรฐานทองคำและสั่งห้ามให้ประชาชนลักลอบกักเก็บทองคำ จากนั้นเขาได้ประกาศลดค่าเงินของดอลลาร์ลงจาก 20.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็น 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพื่อกระตุ้นการส่งออกและเศรษฐกิจสหรัฐจนหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติครั้งใหญ่ได้ในที่สุด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจแทนประเทศอังกฤษ อเมริกาและนานาชาติได้ร่วมกันจัดตั้งระบบ Bretton Woods ที่ผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำและผูกค่าเงินของชาติอื่นๆไว้กับดอลลาร์สหรัฐ … ดอลลาร์ได้กลายมาเป็นทองคำอันใหม่ของโลก

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกามีนโยบายการใช้จ่ายเงินอย่างหนักทั้งการทำสงครามเวียดนามและโครงการช่วยเหลือคนจนทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นในปี 1965 … ประเทศต่างๆเริ่มที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบ Bretton Woods เริ่มจากฝรั่งเศสและสเปนที่แลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำอย่างหนักจนทำให้ทองคำสำรองของสหรัญลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งในระยะเวลาแค่ 10 ปี ประเทศอังกฤษประกาศออกจากระบบ Bretton Woods และทำการลดค่าเงินของตัวเองทันที ซึ่งยิ่งสร้างความน่ากังวลให้กับนานาประเทศที่เห็นว่าสหรัฐอาจจะลดค่าเงินของตัวเองตามบ้าง

ในปี 1971 ประธานธิบดี Richard Nixon ได้ออกมาประกาศทางทีวีถึงนโยบายการเงินใหม่ที่ถูกเรียกกันว่า Nixon Shock นั่นคือการประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นทองคำและการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าซึ่งถือเป็นการลดค่าเงินของสหรัฐอย่างฉับพลัน … การประกาศครั้งนี้ถือเป็นบทสุดท้ายของยุค Gold-backed currency และเป็นบทเริ่มต้นของยุคแห่ง Soft Money อย่างสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบันเงินส่วนใหญ่ได้อยู่ในรูปแบบ Digital ที่มีการหมุนเวียนสร้างมูลค่ามหาศาลในแต่ละวัน การฝากเงินในธนาคารสามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้มากถึง 10 เท่าของเงินตั้งต้น … เงินกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจยากมากขึ้นเรื่อยๆ … ถึงแม้ว่าปัจจุบันมนุษย์จะเชื่อมั่นใน Soft Money แต่ก็ไม่สามารถการันตีว่าในอนาคตนั้น ความเชื่อมั่นของมนุษย์นั้นจะยังเหมือนเดิมหรือไม่

 

Chapter Six: Back to the Future – The Future of Money

ในอนาคต “เงิน” และ “วิธีการจ่ายเงิน” ต้องมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันแน่นอน

  1. The Bear Case: ถ้าอนาคตข้างหน้านั้นหมองหม่น (Dystopian) ไม่ว่าจะเกิดจากสงครามนิวเคลียร์ ภัยธรรมชาติอันร้ายแรงหรือแม้แต่อุกกาบาตถล่มโลก ความเชื่อมั่นของเงินกระดาษที่มนุษย์ใช้อยู่ปัจจุบันต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน … มนุษย์อาจจะหันกลับไปพึ่งพา Hard Money อย่างทองหรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น อาหารและหนังสัตว์ การแลกเปลี่ยนแบบ Barter Trade อาจจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง (สมัยโซเวียตล่มสลายชาวรัสเซียก็นิยมแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ยังมีธุรกิจมากมายที่คอยรวบรวมเครือข่ายของผู้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันด้วย อาทิ BizX ที่มีสมาชิกหลายพันคน) … มนุษย์ยังมีโอกาสที่จะหันไปพึ่งสกุลเงินทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แต้มสะสมของบริษัทต่างๆ (ลองคิดดูว่าถ้าแต้ม Starbucks สามารถแลกกับแต้มสะสมไมล์สายการบินได้ดูสิ) ไปจนถึงสกุลเงินที่ปฏิวัติวงการเงินทั่วโลกอย่าง BitCoin ที่มาพร้อมกับนวัตกรรม Blockchain ที่เป็นระบบบริหารการซื้อขายแลกเปลี่ยนแบบ decentralized หรือระบบที่ไร้ซึ่งศูนย์กลาง ทำให้เงิน BitCoin ไม่ต้องพึ่งพิงกับธนาคารหรือรัฐบาลอีกต่อไป

 

  1. The Bull Case: หากอนาคตยังคงสดใส นวัตกรรมทางการเงินที่จะเข้ามาช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยของเราสะดวกขึ้นจะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ … บัตรเครดิตเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ช่วยให้มนุษย์สามารถจ่ายเงินโดยไม่ต้องถือเงินสดได้ โดยบัตรเครดิตนั้นถูกคิดค้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1920 แต่กลับมาเริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี 1960 หลังจาก Bank of America ได้เปิดให้บริการบัตรเครดิต VISA ซึ่งต่อมาธนาคารอื่นๆก็ได้ร่วมมือกันเปิด MasterCard มาแข่งขัน จนปัจจุบันมีผู้ที่ใช้จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา แต่ในทางกลับกันบางประเทศที่มีวัฒนธรรมการหลีกเลี่ยงหนี้อย่างจีนและเยอรมัน บัตรเครดิตก็ไม่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย นอกจากความสะดวกแล้ว งานวิจัยยังพบว่าบัตรเครดิตยังกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้นอีกด้วย … นวัตกรรมทางการเงินที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ Mobile Payment หรือการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องพกเงินสดอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Square, PayPal, Google Wallet และ Apple Pay ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้อาศัยระบบการประมวลข้อมูลการแลกเปลี่ยนของบริษัทบัตรเครดิตอยู่ บางบริการเริ่มใช้เทคโนโลยี NFC (Near-field communication) มาใช้โดยเพียงแค่ผู้ใช้งานหยิบมือถือออกมาสแกนก็สามารถซื้อกาแฟเย็นกลิ่นหอมกรุ่นได้ทันที … เงินจะกลายร่างเป็นรูปแบบดิจิตอลมากขึ้นและจับต้องไม่ได้มากขึ้น

 


 

Part III SOUL: A Symbol of Values

 

Chapter Seven: Angel Investors – Religion and Money

ตั้งแต่จุดเริ่มต้น “เงิน” ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงฐานะความร่ำรวยของมนุษย์เท่านั้น เงินยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงคุณค่าและคุณธรรมของมนุษย์เราด้วย

มนุษย์ในโลกทุนนิยมส่วนใหญ่มักยึดคติ “more is better” ด้วยการทำงานหนัก แก่งแย่ง ชิงผลประโยชน์กันเพื่อสร้างความร่ำรวยและสถานภาพทางสังคมให้กับตัวเอง … ความโลภเหล่านี้อาจนำพามาสู่การไม่มีความสุข … ขณะเดียวกันมนุษย์บางส่วนกลับเลือกยึดถือคติ “less is more” ด้วยการละทิ้งความโลภและอยู่อย่างพอเพียงพร้อมกับการแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ในช่วงที่เงินและตลาดเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ (ประมาณยุค 800 BC ถึง AD 600) ศาสนาต่างๆก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์หรือขงจื๊อ … คัมภีร์ไบเบิ้ลได้มีการกล่าวถึงความสำคัญของเงินต่อความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์พร้อมกับสอดแทรกแนวคิดของพระเยซูเรื่องการละทิ้งสมบัติส่วนตัวมาใช้เพื่อการกุศลเพื่อแลกกับชีวิตที่สมบูรณ์สุขในโลกหน้า ถึงกระนั้น จากงานวิจัยเกี่ยวกับบาปทั้ง 7 ประการพบว่า มนุษย์ไม่ได้มอง “ความโลภ” ของตัวเองเป็นบาปแต่อย่างใด

 

Chapter Eight: Gilt Complex – The Art of Money

“เงิน” ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของคุณค่าเพียงเท่านั้น เงินยังเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตั้งแต่เงินเหรียญพิมพ์ลายโบราณไปจนถึงเงินธนบัตรของแต่ละประเทศที่ใช้ในปัจจุบัน … ตัวอย่างเช่น เงินโลหะก้อนรูปคล้ายกับเปลือกหอยชื่อ “พดด้วง” เป็นสกุลเงินแรกของประเทศสยามซึ่งถูกใช้มายาวนานกว่า 600 ปี โดยที่บริเวณด้านหน้าของเงินพดด้วงนั้นจะมีสัญลักษณ์ของราชวงศ์แห่งประเทศสยามสลักไว้ด้วย ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความสนใจในอารยธรรมตะวันตกมากขึ้นและทรงริเริ่มเอาเหรียญเงินชื่อ “เหรียญทองคำกรุงเทพ” มาใช้อย่างแพร่หลาย

“เงิน” นั้นทำหน้าที่อีกหลายอย่างให้กับมนุษย์มากกว่าการเป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หน่วยวัดและแหล่งสะสมมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น กรณีการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศอิหร่านเมื่อปี 2009 กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผยแพร่ข่าวสายของคณะด้วยการเขียนข้อความลงในธนบัตรซึ่งได้รับการส่งต่อผ่านมือต่อมือเป็นทอดๆ และในอนาคต “เงิน” ก็อาจจะมีการวิวัฒนาการใหม่ที่มนุษย์ยังคาดไม่ถึงก็เป็นได้

 

เหรียญพดด้วง (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

punksood

Recent Posts