Trump: The Art of the Deal (1987)
by Donald J. Trump & Tony Schwartz
“I don’t do it for money. I’ve got enough, much more than I’ll ever need. I do it to do it. Deals are my art form”
ก่อนที่เขาจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่สร้างความเกลียดชังได้มากที่สุดในโลก Donald J. Trump คือ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคนหนึ่งของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
Trump: The Art of the Deal คือ หนังสือคลาสสิคที่เขียนขึ้นโดยนาย Donald J. Trump เองที่เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชีวิตนักธุรกิจตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงช่วงที่เขาเริ่มประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในวัย 42 ปี พร้อมๆกับการสอดแทรกเทคนิคและข้อคิดในการทำธุรกิจผ่านประสบการณ์การทำข้อตกลงทางธุรกิจแบบมืออาชีพและศาสตร์การเจรจาต่อรองซึ่งถือเป็นหนึ่งในพรสวรรค์ของนักธุรกิจพลังงานสูงและนักการเมืองสายบู๊คนนี้
วางความเกลียดชังไว้ แล้วลองเปิดใจอ่านกันดูนะครับ
Donald J. Trump ในช่วงอายุ 40 ปี (ขอบคุณภาพจาก CNN)
Chapter 1 – Dealing : A Week in Life
พฤติกรรมประจำวันของ Donald J. Trump ในวัย 42 ปี (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) เริ่มต้นด้วยการตื่นนอนประมาณ 6 โมงเช้าเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเริ่มทำงานจริงเวลา 9 โมงเช้า โดยปกติเขาจะต้องโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 50 สายต่อวัน (ทั้งเรื่องโครงการพัฒนาโปรเจ็คใหม่ ติดตามการขายลูกค้ารายใหญ่ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิม งานสังคม ติดตามคดีความ ซื้อขายหุ้นและอีกหลากหลายหัวข้อสนทนา) นัดประชุมแบบกระชับประมาณ 10 ครั้ง (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 15 นาที) พยายามไม่ออกไปกินข้าวเที่ยงนอกออฟฟิซ และกลับบ้านประมาณ 6 โมงครึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็ทำงานต่อเรื่อยๆจนถึงเที่ยงคืน จะเห็นได้ไม่ยากว่า “การทำงาน” และ “การดีล” คือสิ่งที่ Donald J. Trump รัก
Chapter 2 – Trump Cards : The Elements of the Deal
- Think big (อุตส่าห์คิดทั้งที คิดให้ใหญ่ไปเลย)
- Protect the Downside and the Upside Will Take Care of Itself (กำจัดความเสี่ยงก่อน ผลประโยชน์เชิงที่ดีจะตามมาเอง ex. ตอนสร้างคาสิโนใหม่ Trump สั่งระงับการก่อสร้างจนกว่าจะได้ใบอนุญาติประกอบกิจการ ซึ่งต่อมาอีกโรงแรมอีกแห่งที่เริ่มก่อสร้างไปแล้วแต่ไม่ได้ใบอนุญาติก็จำใจต้องขายโรงแรมแห่งนั้นให้เขาในราคาถูก)
- Maximize Your Options (เปิดกว้างต่อทางเลือกและมีแผนสำรองเสมอ ex. ตอนที่ Trump จะสร้างอาคารที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ต่ำโดยมีรัฐบาลสนับสนุน พอรัฐแจ้งยกเลิกโครงการ เขาก็เปลี่ยนไปสร้างศูนย์ประชุมแทนได้)
- Know Your Market (เข้าใจตลาดและลูกค้า Trump แนะนำให้ลงพื้นที่จริงด้วยตัวเอง)
- Use Your Leverage (พยายามใช้จุดแข็งที่เหนือกว่าคู่เจรจา ถ้าไม่มีก็สร้างเอาเองซะเลย ex. Trump ตั้งชื่อโครงการว่า Television City เพื่อดึงดูดให้สถานีโทรทัศน์ NBC เลือกมาตั้งสำนักงาน)
- Enhance Your Location (เคล็บลับของวงการอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่การได้ location ที่ดีที่สุด แต่เป็นการได้ดีลที่ดีที่สุดต่างหาก สถานที่แย่ๆถ้าพัฒนาและโปรโมตดีๆก็ปังได้)
- Get the Word Out (ของดีจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีคนเห็น Trump ชอบสร้างสิ่งที่น่าตื่นเต้นและแตกต่างมากพอจนสามารถนำมาลงเป็นข่าวแบบฟรีๆได้ เขายังแนะนำการพูดจาเกินจริงแบบมีเหตุผลด้วย… )
- Fight Back (ใครสู้มาเราสู้กลับ Trump มองการต่อสู้คดีความเป็นเรื่องที่ควรทำหากเราเชื่อในสิ่งที่เราทำ)
- Deliver the Goods (สุดท้ายในระยะยาว คุณภาพของผลิตภัณฑ์คือสิ่งสำคัญที่สุด)
- Contain the Costs (กำหนดต้นทุนที่เหมาะสม)
- Have Fun (ทำในสิ่งที่รัก)
Chapter 3 – Growing Up
Fred Trump คุณพ่อของ Donald J. Trump ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการสร้างบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยให้เช่าในย่าน Queens และ Brooklyn
Donald J. Trump คือลูกชายคนที่ 2 จากบรรดาพี่น้อง 5 คน โดยตัวเขาคือผู้ที่ได้รับอิทธิพลสูงสุดทางด้านการบริหารธุรกิจจากพ่อของเขา เขายังมีนิสัยดุดันและพร้อมที่จะสู้เพื่อยืนหยัดความคิดของตัวเองตั้งแต่เด็ก (เคยต่อยครูสอนดนตรี) เขายังชอบติดตามพ่อไปทำงานอยู่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก
Trump ถูกพ่อส่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนทหารสมัยมัธยมเพื่อฝึกวินัย ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายอสังหาริมทรัพย์ในมหาวิทยาลัยใกล้บ้านและลาออกเข้าไปเรียนที่ Wharton School of Finance
หลังเรียนจบ เขาได้เข้ามาช่วยพ่อบริหารกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่ขณะนั้นมุ่งเน้นไปที่การสร้างอาคารที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยที่เต็มไปด้วยปัญหายิบย่อยของกลุ่มคนชั้นล่างของสังคม New York ซึ่งในที่สุด Trump ก็ตัดสินใจออกมาสร้างธุรกิจของตัวเองด้วยความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่าพ่อของตนนั่นคือการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ไม่ใช่แฟลตหน้าตาทึมๆเหมือนๆกันเป็นร้อยเป็นพันห้อง
Donald J. Trump ในวัยเด็กและครอบครัว (ขอบคุณภาพจาก The Atlantic)
Chapter 4 – Cincinnati Kid : Prudence Pays
ดีลใหญ่ครั้งแรกของ Donald J. Trump สมัยยังหนุ่มเริ่มต้นจากกิจวัตรประจำวันในหารการไล่หาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังจะถูกยึดโดยรัฐบาลจนทำให้เขาได้มาพบกับ Swifton Village โครงการที่อยู่อาศัย 1,200 ห้องพักที่กำลังทรุดโทรมใน Cincinnati
Trump และพ่อของเขาเป็นกลุ่มเดียวที่เข้ามาประมูลอาคารแห่งนี้ ทำให้พวกเขาได้ราคาดีเพียงไม่ถึงครึ่งของต้นทุนการก่อสร้างด้วยซ้ำ หลังจากนั้น Trump ก็ได้จัดการไล่ผู้เช่าชั้นเลวออกและทำการปรับปรุงสภาพอาคารใหม่ทั้งหมดจนอัตราเข้าพักที่จากเดิมมีเพียง 1 ใน 3 กลับมายืนที่ 100% เต็มได้สำเร็จ
หลังจากว่าจ้างทีมบริหารและเก็บค่าเช่าอยู่ได้ระยะหนึ่ง Trump ได้ค้นพบว่าสภาพแวดล้อมและสังคมรอบๆโครงการนั้นเสื่อมโทรมลง เขาจึงตัดสินใจขายอย่างรวดเร็วโดยมีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ตรวจตรารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบเป็นผู้รับซื้อไปในราคา 2 เท่าของต้นทุนของ Trump (กำไรยังไม่รวมรายได้จากค่าเช่าอีก)
ทีเด็ดของดีลนี้อยู่ตรงที่ Trump กำหนดให้ผู้ซื้อตกลงเรื่องค่าปรับจำนวนมหาศาลหากดีลไม่สัมฤทธิ์ผล และแน่นอนว่าไม่นานหลังจากดีลสำเร็จ จำนวนผู้เช่าพักก็ลดลงเรื่อยๆโดยที่ Trump ยังคงสามารถขายอาคารหลังนี้ได้เต็มราคาเหมือนเดิม
Donald J. Trump ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจาก Puaro)
Chapter 5 – The Move to Manhattan
Donald J. Trump ก้าวเข้ามาสู่ดินแดนแห่งความฝันครั้งแรกในเกาะ Manhattan ด้วยการล็อบบี้จนสามารถเข้าเป็นสมาชิกของ Le Club คลับที่รวบรวมมหาเศรษฐีแห่งมหานคร New York City ซึ่งต่อมาหลายคนก็กลายมาเป็นลูกค้าชั้นดีของเขา
โครงการแรกในเกาะ Manhattan ของ Trump เริ่มต้นเมื่อเชามีอายุแค่ 27 ปีเท่านั้นในปี 1974 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกา Trump ได้เข้าไปตีสนิทกับบริษัทนายหน้าขายที่ดินขององค์กรรัฐจนทำให้เขาได้สิทธิ์ option ในการซื้อที่ดิน 2 แปลงมูลค่า 62 ล้านดอลลาร์โดยไม่ต้องมัดจำ
ในตอนแรกเขาตั้งใจจะใช้สร้างเป็นอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ต่ำโดยมีเงินรัฐคอยสนับสนุน แต่สุดท้ายเทศบาล New York ที่กำลังเจอวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่ก็ได้ตัดสินใจยกเลิกการสนับสนุนทำให้ Trump เปลี่ยนมาโปรโมตการสร้าง “ศูนย์ประชุม” แทน ซึ่งในขณะนั้น มีคู่แข่งอยู่ 2 ราย
Trump ใช้เวลากว่า 4 ปีในการโปรโมตและล็อบบี้ทุกวิถีทาง ทั้งการลงทุนทำแคมเปญว่าโครงการของเขาถูกกว่า สะดวกกว่าและสร้างได้รวดเร็วกว่า ไปจนถึงการด่านักการเมืองที่เห็นต่างออกสื่อจนชื่อเสียงของเขาเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดนายกเทศมนตรีของ New York ก็ได้ตัดสินใจให้ไฟเขียวแก่ที่ดินของ Trump แต่ปฏิเสธไม่ให้ Trump เป็นคนสร้างโครงการเอง
Trump ได้รับเงินตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นประมาณ 800,000 ดอลลาร์ (Trump ขอไม่รับเงินแต่ให้ตั้งชื่อศูนย์ประชุมว่า Trump แต่เทศบาลไม่ยอม) สุดท้ายโครงการศูนย์ประชุมที่บริษัทรับเหมารายอื่นสร้างก็เสร็จช้ากว่ากำหนดและเกินงบไปกว่า 3 เท่า
Chapter 6 – Grand Hotel : Reviving 42nd Street
Donald J. Trump ใช้ความสัมพันธุ์กับนายหน้าคนเดิมเพื่อไล่หาซื้อทรัพย์สินของรัฐจนได้มาพบกับโรงแรม The Commodore สภาพเก่าคร่ำครึที่กำลังจะล้มละลาย สิ่งแรกที่ Trump เห็นก็คือ location อันโดดเด่นท่ามกลางคนพลุกพล่านใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้เขาตัดสินใจอยากซื้อโรงแรมแห่งนี้ทันทีท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายสุดๆในปี 1974 ซึ่งเขาก็ได้รับสิทธิ์ option ในการซื้อโรงแรมตามเงื่อนไขที่เขาต้องการนั่นคือ เมื่อเขาได้รับเงินกู้จากธนาคารและได้รับสิทธิผ่อนผันภาษีแล้วเท่านั้น
Trump เริ่มต้นด้วยการจ้างสถาปนิกมือดีมาช่วยออกแบบอาคารโรงแรมใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับดีลครั้งนี้ (สถาปนิกคนนั้นถูกไล่ออกจากงานระหว่างโปรเจ็คทำให้ Trump ไล่บี้ลดค่าจ้างของเขาลงได้อีก)
จากนั้น Trump ก็ได้เริ่มมองหาบริษัทจัดการโรงแรมที่เขาเชื่อว่าจะช่วยให้โครงการของเขาน่าเชื่อถือมากขึ้นและน่าจะเหมาะกว่าการที่เขาซึ่งไม่มีประสบการณ์มาก่อนเป็นผู้บริหารโรงแรมเอง (แถมประโยชน์จากระบบการจองและการขายของเครือ) โดยเขาได้เลือก Hyatt ซึ่งเป็นเครือใหญ่ที่เขาถูกใจที่สุดแถม Hyatt เองก็ยังไม่มีโรงแรมใน Manhattan มาก่อน ซึ่งสุดท้าย Hyatt ก็ตกลงเป็นพาร์ทเนอร์กับ Trump ในสัดส่วน 50:50 หลังจากการเจรจาหลายรอบที่ปิดท้ายด้วยการดีลโดยตรงกับผู้บริหารสูงสุด
ขั้นตอนสุดท้ายของโครงการคือการได้รับเงินกู้จากธนาคารและสิทธิผ่อนผันภาษีจากเทศบาลเมือง New York ซึ่ง Trump เองใช้เวลาล็อบบี้เทศบาลมาเกือบ 2 ปี ผ่านการกดดันถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นถ้าโรงแรมปิดตัวลงจนเทศบาลเมืองยอมให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีถึง 40 ปี (ท่ามกลางข้อโต้แย้งจากเครือโรงแรมแห่งอื่นๆ) จากนั้น Trump ก็เอาข้อมูลทั้งหมดไปกดดันธนาคารต่อโดยเฉพาะด้านสังคม Manhattan ที่จะย่ำแย่ลงเรื่อยๆหากโรงแรมต้องปิดตัวลง จนสุดท้ายเขาก็ได้รับเงินกู้จากธนาคาร 2 แห่ง (แห่งหนึ่งอยู่ตรงข้ามโรงแรม)
ดีลนี้ยังมีทีเด็ดอีกตรงที่ Trump ได้ทำการล็อบบี้ธนาคารให้กดดันผู้บริหารของ Hyatt ให้ตกลงเซ็นสัญญาห้ามจัดตั้งโรงแรมในเครือ Hyatt เพิ่มเติมใน New York City ได้สำเร็จ
โรงแรม Grand Hyatt เปิดตัวในปี 1980 อย่างประสบความสำเร็จด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัยสะดุดตาพร้อมกับจำนวนผู้เข้าพักที่พุ่งสูงขึ้นจากเดิมมาก
Chapter 7 – Trump Tower : The Tiffany Location
ที่ดินในเกาะ Manhattan ที่ Donald J. Trump หลงรักมากที่สุดคือที่ตั้งของอาคาร Bonwit Teller ในย่าน Fifth Avenue ที่เขาใช้เวลากว่า 3 ปีในการเจรจากับเจ้าของอาคารจนในที่สุดก็ยอมทำสัญญาขายในปี 1978 ในราคา 25 ล้านดอลลาร์พร้อมสัญญาเช่าที่ดิน 29 ปี (Trump ใช้โอกาสตอนที่บริษัทนั้นกำลังขาดทุนอย่างหนักและเปลี่ยน CEO ใหม่ ทำดีลอย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีคู่แข่งคนอื่น ซึ่งต่อมาก็มีคู่แข่งมาขอเสนอซื้อจำนวนมากแต่ Trump ก็บีบให้บริษัทเจ้าของอาคารทำตามสัญญาได้สำเร็จด้วยการให้สัมภาษณ์เรื่องดีลนี้กับนักข่าวจนพนักงานของอาคารเก่าแห่ลาออกไปหางานใหม่กันจำนวนมาก)
ต่อมา Trump ก็ลุยทำสัญญากับเจ้าของที่ดินต่อด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์กันเพื่อให้ Trump สามารถสร้างตึกสูงที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวได้ (ต่อมา Trump ได้ซื้อหุ้นของเจ้าของที่ดินจนหมด) จากนั้นเขาก็ได้ทำการปิดดีลซื้อสิทธิ์ Air Right (พื้นที่เหนือพื้นดิน) ของ Tiffany ร้านอัญมณีชื่อดังได้สำเร็จและต่อสัญญาเช่าพื้นที่อาคารบริเวณใกล้เคียงให้เป็นพื้นที่ว่างตามกฎหมายผังเมืองเพื่อให้ Trump สามารถสร้างตึกที่สูงที่สุดเท่าที่ที่ดินของเขาจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อทุกอย่างพร้อม Trump ก็รีบจ้างนักออกแบบคนเดิมมาช่วยรังสรรค์ Trump Tower ด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายผังเมืองทุกประการในการสร้างให้ตึกของเขาสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อาทิ โบนัสความสูงจากการสร้างพื้นที่ค้าปลีกและสวนในอาคาร) ซึ่งต่อมาเขาก็ได้นำแบบให้เทศบาลเมือง New York City อนุมัติได้ในเวลาต่อมา (ผ่านเทคนิคให้หนังสือพิมพ์ New York Times ช่วยกดดัน)
Trump Tower คือโปรเจคที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในขณะนั้นด้วยเงินลงทุนทั้งหมดร่วม 200 ล้านดอลลาร์ในปี 1979 ซึ่งคราวนี้ Trump สามารถเรียกเงินกู้จากธนาคารได้อย่างไม่ยากเย็นและทำการเริ่มก่อสร้างทันที ซึ่งในระหว่างขั้นตอนการทุบอาคารเดิม Trump ได้สั่งทุบโครงสร้างแกะสลักโบราณลงจนกลายเป็นข่าวดราม่าพาดหัวใหญ่ แต่สิ่งที่ได้ตามมากลับเป็นยอดขายของ Trump Tower ที่เพิ่มขึ้นทันทีจนทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า “ข่าวดีคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การมีข่าวร้ายก็ยังดีกว่าการไม่มีข่าวอะไรเลย”
Trump Tower ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วทั้งจากการโปรโมตถึงความเป็นสุดยอดของที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ ราคาพรีเมี่ยมที่แพงกว่าคู่แข่งที่บอกเป็นนัยว่าที่นี่ดีที่สุด การออกแบบอาคารที่สวยสะดุดตา วิวตระการตาจากบนห้องพักและพื้นที่ห้องโถงใหญ่ความสูง 6 ชั้นที่กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของอาคาร (Trump จ่ายเงินบำรุงรักษาอาคารปีละล้านดอลลาร์) แถมยังได้ผลดีจากข่าวลือถึงการขอซื้อห้องพักจากเจ้าฟ้าชาย Charles และเจ้าหญิง Diana อีกด้วยที่ทำให้ Trump สามารถเพิ่มราคาขายห้องพักได้เป็น 2 เท่าจากราคาตั้งต้น
Trump Tower สร้างแล้วเสร็จในปี 1983 พร้อมกับยอดขายห้องพักกว่า 240 ล้านดอลลาร์ที่สร้างผลกำไรแบบเน้นๆให้ Trump โดยยังไม่รวมค่าเช่าของร้านค้าพรีเมี่ยมอีกมากมาย แถม Trump ยังเก็บพื้นที่ชั้นบนสุดของอาคารสำหรับเป็นบ้านพักสุดหรูของเขาและครอบครัวด้วยอีกต่างหาก
Trump Tower (ขอบคุณภาพจาก New York Times)
Chapter 8 – Gaming : The Building on the Boardwalk
Donald J. Trump ค้นพบความสนใจในธุรกิจ “คาสิโน” ครั้งแรกหลังการประท้วงของพนักงานโรงแรมคาสิโน 2 แห่งของเครือ Hilton ที่ส่งผลให้ราคาหุ้นของเครือตกอย่างรุนแรงทั้งๆที่ Hilton มีโรงแรมกว่า 150 แห่ง จนในที่สุด Trump ก็พบว่ากำไรของเครือ Hilton ในขณะนั้นกว่า 40% มาจากธุรกิจคาสิโนแค่ 2 แห่งนี้เอง
หลังจากนั้น Trump ก็รีบเดินทางไปยังเมือง Atlantic City ที่ขณะนั้น เทศบาลกำลังมีแผนที่จะอนุญาตการประกอบการธุรกิจคาสิโนในเมืองพอดีในปี 1977 จนทำให้ราคาที่ดินถูกเก็งกำไรกันเป็นว่าเล่น พร้อมกับการเปิดตัวคาสิโนขนาดใหญ่หลายแห่ง
Trump รอเวลากว่า 3 ปี จนกระทั่งเขาได้โอกาสซื้อที่ดินผืนใหญ่ในย่าน Broadwalk ที่ขณะนั้น ราคาได้ตกลงมาจากยอดฟองสบู่แล้ว ความยากของที่ดินผืนนี้คือการซื้อที่ผืนนี้คือการดีลกับเจ้าของที่หลายคนโดย Trump ใช้วิธีทำสัญญาโดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะซื้อที่เมื่อเจ้าของทุกคนตัดสินใจขายที่ผืนของตัวเองเท่านั้น
สิ่งที่ Trump ต้องทำต่อมาก็คือการขอใบอนุญาตประกอบกิจการคาสิโนและเงินกู้จากธนาคาร (แผนสำรองคือขายที่ที่เขารวบรวมมาได้แบบมีกำไร) เขาเลือกที่จะยังไม่ลงทุนก่อสร้างด้วยเหตุผลคือความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับใบอนุญาตกับการเพิ่ม leverage ให้ตัวเอง (ถ้าสร้างแล้ว เทศบาลเมืองจะมีอำนาจสั่งปรับเปลี่ยนโครงการได้ง่ายขึ้น) เขายังใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่เมืองไม่มีการลงทุนใหม่ๆมาหลายปีแล้วมากดดันเทศบาลเมืองจนสุดท้ายก็ได้รับอนุมัติภายในเวลาเพียงครึ่งปีที่ถือว่าเร็วมากๆ (ส่วนหนึ่งเพราะ Trump ทำงานแบบเถ้าแก่ตัดสินใจคนเดียว) หลังจากนั้นการหาเงินกู้ก็ไม่ยากนักจากชื่อเสียงของ Trump ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างตรงเวลาและไม่เกินงบต้นทุน
ต่อมาสิ่งที่ Trump คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นเมื่อ Holiday Inn ตัดสินใจขอร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับโครงการคาสิโนของเขาผ่านการเสนอทีมบริหารจัดการคาสิโนและเงินลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ (ที่เหลือกู้ธนาคาร 170 ล้านดอลลาร์) ซึ่ง Trump ก็ตอบตกลง (ต่อมา Trump ก็ได้ซื้อหุ้นคืนทั้งหมดแถมเขายังเข้าซื้อหุ้นของ Holiday Inn ต่อจนราคาหุ้นพุ่งสูงจนเขาตัดสินใจขายทิ้งในเวลาแค่ 2 เดือน กำไรของการเทรดครั้งนี้เยอะกว่าเงินที่เขาจ่ายคืน Holiday Inn ซะอีก)
Trump Plaza Hotel and Casino เปิดตัวในปี 1984 อย่างประสบความสำเร็จ (อีกแล้ว) คราวนี้ Trump ใช้กลวิธีซื้อตัวทีมบริหารของคู่แข่งที่ดีที่สุดมาบริหารคาสิโนของเขาเองซะเลย
Chapter 9 – Wynn-Fall : The Battle for Hilton
ส้มหล่นลูกใหญ่เกิดขึ้นใน Atlantic City เมื่อคาสิโนแห่งใหม่ของเครือโรงแรม Hilton ที่ก่อสร้างเกือบสมบูรณ์ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจนทำให้ Donald J. Trump รีบติดต่อเข้าขอซื้อกิจการต่อทันที ซึ่งในช่วงแรกๆ Barron Hilton ทายาทรุ่นที่สองของเครือก็ยังชั่งใจอยู่ว่าจะขายดีหรือจะเสี่ยงขอใบอนุญาตอีกรอบ แต่สุดท้ายเมื่อเครือ Hilton ถูกกดดันจากการขอเสนอซื้อหุ้นโดยเครือ Golden Nugget ของ Steve Wynn สุดท้าย Hilton ก็ตัดสินใจขายคาสิโนแห่งใหม่ให้กับ Trump ในราคา 320 ล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงที่สุดของ Trump ในขณะนั้น (Trump กู้เงินมาจ่ายเองก่อนแล้วค่อยร่วมมือกับธนาคารออกพันธบัตรหุ้นกู้ตามมาทีหลัง)
ระหว่างดีลก็มีการเจรจาเรื่องความสมบูรณ์ของการก่อสร้างซึ่ง Trump ขอเก็บเงิน 5 ล้านดอลลาร์ไว้ก่อนจนกว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ (ซึ่งต่อมา Trump และ Hilton ก็ได้ฟ้องร้องกันเรื่องการทวงคืนเงินส่วนนี้)
ถึงกระนั้น Trump’s Castle ก็ได้เปิดให้บริการในปี 1985 ตามเป้าหมายโดยมี Ivana ภรรยาของ Trump เป็นผู้บริหารและแน่นอนว่าคาสิโนแห่งนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและยิ่งกว่า Trump Plaza ซะอีก
Chapter 10 – Low Rent, High Stakes : The Showdown on Central Park South
Donald J. Trump มีโอกาสได้พบกับสุดยอดที่ดินอีกผืนหนึ่งบริเวณ Central Park South ที่เขาตัดสินใจซื้ออย่างไม่ลังเลในปี 1981 แต่ปัญหาของที่ดินผืนนี้ก็ตามมาอย่างรวดเร็วเพราะครึ่งหนึ่งของที่แห่งนี้คือที่ตั้งของอาคารผู้อยู่อาศัยระดับล่างที่รัฐบาลคุมค่าเช่าให้อยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดมากซึ่งตอนแรก Trump ก็คิดที่จะทุบอาคารทิ้ง แต่แน่นอนว่าผู้อยู่อาศัยเดิมนับร้อยไม่มีทางยอมและได้ทำการรวมตัวกันฟ้องร้อง Trump ข้อหาคุกคาม (Trump พยายามไล่ผู้อยู่อาศัยอย่างนุ่มนวลที่สุดด้วยการช่วยหาที่อยู่ใหม่ แต่เขาก็ทำพลาดหลายครั้ง เช่น ตัดงบประมาณบริการต่างๆและกรณีที่เขาเสนอให้คนไร้บ้านเข้ามาพักที่ห้องว่างได้)
การต่อสู้คดีไม่คืบหน้าอยู่กว่า 3 ปี จนขณะนั้นที่ดินของ Manhattan ได้กลับมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า Trump ได้ตัดสินใจปรับปรุงอาคารโรงแรมที่เป็นอีกครึ่งหนึ่งของที่ผืนนี้เป็นอพาร์ตเมนต์หรูชื่อ Trump Parc ที่ขายได้เกือบหมดตั้งแต่ยังไม่เปิดให้เข้าพัก (เทคนิคหลักคือการขยายขนาดหน้าต่างให้ดูพรีเมี่ยมมากขึ้น) พร้อมกับการเข้าซื้อกิจการโรงแรมฝั่งตรงข้ามถนนที่เขาได้ยกผู้จัดการฝีมือดีไปบริหารซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าของโรงแรมเดิมก็ตามมาด้วยจนโรงแรมใหม่ที่เขาซื้อไปนั้นทำกำไรได้มากขึ้น 4 เท่า
ปิดท้าย Trump ตัดสินใจยกเลิกการทุบอาคารที่อยู่อาศัยแต่ใช้วิธีเพิ่มค่าเช่าของผู้อยู่อาศัยเดิมและคิดค่าเช่าตามราคาตลาดของผู้อยู่อาศัยใหม่แทน ดีลนี้ทำกำไรให้ Trump หลัก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Chapter 11 – Long Shot : The Spring and Fall of the USFL
ปกติ Donald J. Trump มักจะเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ดีที่สุดเสมอ ยกเว้นกรณีการเข้าซื้อสโมสรฟุตบอล New Jersey Generals ในลีกส์ USFL ซึ่งเป็นคู่แข่งที่กำลังขาดทุนอย่างหนักของลีกส์ NFL ผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ซึ่งดีลครั้งนี้ Trump ใช้เงินซื้อทีม Generals ที่อยู่ใน New Jersey เพียงแค่ 6 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับทีมในลีกส์ NFL ที่ต้องเสียขั้นต่ำ 70 ล้านดอลลาร์ โดย Trump มองว่าหากเขาสามารถสร้างความนิยมให้กับลีกส์ USFL ได้ เขาจะได้ผลตอบแทนที่สูงมากทีเดียว
กลยุทธ์แรกของ Trump คือการสร้างทีม Generals ให้แข็งแกร่ง (ทีมชนะแค่ 4 ตาในฤดูกาลที่แล้ว) ด้วยการไล่ซื้อนักกีฬาฝีมือดีจากลีกส์ NFL หลายคนซึ่งยังได้โบนัสเป็นการประโคมข่าวจากสื่อเพิ่มเติมอีกและการไล่ซื้อของสโมสรอื่นๆใน USFL ด้วย ต่อมา Trump และคณะก็ได้ตัดสินใจยุบสโมสรกว่าครึ่งเพื่อรวมตัวกันคัดแต่ทีมแกร่งๆไว้
กลยุทธ์ถัดมาคือการย้ายฤดูกาลแข่งขันจากฤดูใบไม้ผลิที่แฟนกีฬาไม่ชอบมาเป็นฤดูใบไม้ร่วงชนกับ NFL เต็มๆ (คณะกรรมการจ้าง McKinsey มาวิเคราะห์ได้ผลว่าให้อยู่ฤดูกาลเดิมแต่ Trump ไม่เชื่อ) ตามด้วยการขอให้ช่องโทรทัศน์เจ้าดัง 2 รายถ่ายทอดสดการแข่งขันซึ่งแต่ละช่องก็ไม่ยอมตกลงเนื่องจากการกดดันของ NFL จนทำให้ในที่สุด Trump ก็ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องการผูกขาดตลาดของ NFL ที่สุดท้าย USFL ก็สามารถชนะคดีได้แต่คณะลูกขุนกลับให้ NFL ชดใช้ค่าเสียหายเพียง 1 ดอลลาร์
สุดท้าย Trump และเจ้าของทีมที่เหลือก็ตัดสินใจยุบ USFL และขายนักฟุตบอลฝีมือดีทั้งหมดให้ NFL
Chapter 12 – Ice Capades : Rebuilding Wollman Rink
วันหนึ่งในปี 1986 ขณะที่เขากำลังอ่านหนังสือพิมพ์ Donald J. Trump ได้เห็นข่าวโครงการปรับปรุงลานสเก็ตน้ำแข็ง Wollman Rink ใน Central Park ที่ล่าช้ามาแล้ว 6 ปีใหม่โดยใช้เวลาเพิ่มเติมอีก 2 ปี
Trump ทนอ่านข่าวไม่ได้หลังจากที่เขาสามารถสร้าง Trump Tower ให้แล้วเสร็จใน 2 ปีครึ่งได้ ทำไมเขาจะสร้างลานน้ำแข็งให้เสร็จเพียงแค่ภายใน 4 เดือนไม่ได้ เขาจึงรีบติดต่อกับเทศบาล New York ทันทีซึ่งในช่วงแรกเขาก็โดนปฏิเสธมาตลอดจนกระทั่งสำนักข่าวได้ออกมาเชียร์ Trump และกดดันเทศบาลจนในที่สุดทำก็ได้ดีลการควบคุมการสร้าง Wollman Rink แบบไม่มีกำไรได้สำเร็จด้วยงบประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ที่เขาต้องออกเองก่อน
การก่อสร้าง Wollman Rink ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่า Trump สามารถสร้างโครงการแล้วเสร็จได้ภายใน 4 เดือนโดยใช้เงินต่ำกว่างบถึง 750,000 ดอลลาร์ และลานสเก็ตน้ำแข็งแห่งนี้ก็ทำกำไรได้ทันที (เงินทั้งหมดเข้าการกุศล)
สิ่งที่ Trump ได้รับจากโครงการนี้นอกจากชื่อเสียงแล้วก็คือ “วิว” ของลานสเก็ตจากยอดตึก Trump Tower ที่เขารอคอยมานาน
Donald J. Trump โปรโมตโครงการ Wollman Rink (ขอบคุณภาพจาก New York Post)
Chapter 13 – Comeback : A West Side Story
Donald J. Trump ได้โอกาศคว้าที่ดินขนาด 78 เอเคอร์ในย่าน West Side ติดริมแม่น้ำ Hudson อีกรอบในปี 1985 หลังจากที่เขายอมทิ้งสิทธิ์การซื้อที่ผืนนี้ไปในปี 1979
ความท้าทายสูงสุดของการพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ก็คือการได้รับอนุญาติก่อสร้างจากเทศบาลเมือง New York City ซึ่ง Trump ก็ได้ค้นพบว่าสถานีโทรทัศน์ NBC กำลังมีแผนโยกย้ายออฟฟิซไปยังเมือง New Jersey ที่มีค่าเช่าถูกกว่า ซึ่งเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้เทศบาลเมืองต้องเสียตำแหน่งงานกับรายได้ไปจำนวนมากแถมยังเสียสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองมีเดียไปอีกด้วย
Trump ตั้งชื่อโครงการใหม่ว่า Television City ที่ภายในประกอบไปด้วยสำนักงานสำหรับธุรกิจสื่อและตึกสูงอีก 8 ตึกที่หนึ่งในนั้นคือตึกที่สูงที่สุดในโลก (สร้างเพื่อโปรโมชั่นล้วนๆ Trump บอกว่าขณะนั้นตึกที่คุ้มค่าที่สุดควรสูงประมาณ 50 ชั้นตามต้นทุนการก่อสร้าง)
แต่แล้วโครงการของเขาก็สะดุดอย่างจังเมื่อนายกเทศบาลเมือง New York City ไม่เห็นด้วยกับเขาอย่างแรก (Trump อ้างว่านายกคนนี้แค่โมโหที่ Trump สามารถสร้างโครงการ Wollman Rink ได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว) และสุดท้าย Trump ก็ได้คิดหาแผนสร้างโครงการในรูปแบบอื่นขึ้นมาสำรองหากสุดท้ายโครงการของเขาไม่ได้ไปต่อ
(ซึ่งสุดท้าย NBC ก็เลือกที่จะอยู่ที่เดิมในตึก Rockefeller Center และ Trump ก็เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น Trump City ที่ต่อมาก็ได้ทำการพาร์ทเนอร์กับองค์กรของรัฐและสร้างเป็นโครงการ Riverside South)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
Leave a Reply