AI Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order (2018)
by Kai-Fu Lee
“In stark contrast, China’s startup culture is the yin to Silicon Valley’s yang.”
A.I. หรือ artificial intelligence ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์” น่าจะเป็นสิ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกต่างให้ความสนใจและหวาดระแวงเป็นอันดับต้นๆของโลกในยุคปัจจุบัน พวกเราเริ่มกังวลว่า AI ที่มีปัญญาที่หลักแหลมมากขึ้นเรื่อยๆจะมีความสามารถในการทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้และหลังจากนั้นอีกไม่นาน AI เหล่านั้นก็อาจมีปัญญาที่เหนือกว่าพวกเราจนทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ถูกแปลงสภาพกลายมาเป็น “ชนชั้นที่ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ตามแนวคิดของหนังสือ Homo Deus ของสุดยอดนักประวัติศาสตร์ Yuval Noah Harari
ว่าแต่ความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อ AI ในยุคปัจจุบันนั้นถูกต้องมากน้อยแค่ไหนและพวกเรานั้นสามารถพยากรณ์โลกในอนาคตที่ AI ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำหรือไม่ ?!?
หนังสือ AI Superpowers ของผู้เขียน Kai-Fu Lee ปรมาจารย์แห่งวงการ AI อดีตประธานบริษัท Google China และผู้ก่อตั้งกองทุน Sinovation Ventures คือ หนึ่งในหนังสือที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกสำหรับการทำความเข้าใจ AI ทั้งในแง่มุมของผลกระทบของพวกมันต่ออนาคตของมนุษย์และสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่สองประเทศมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “จีน” ต่างกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่งของโลกที่จะนำพามาซึ่งพลังอำนาจแห่งโลกสมัยใหม่อย่างที่มนุษย์ไม่เคยแม้แต่จะฝันถึงมาก่อน
ขอเชิญทุกท่านติดตามสรุปหนังสือ AI Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order เล่มนี้ได้เลยครับ
ผู้เขียน Kai-Fu Lee ในงาน Ted Talks (ขอบคุณภาพจาก Ted.com)
<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>
Chapter 1 : China’s Sputnik Moment
เมื่อ 62 ปีก่อน เหตุการณ์ที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องตื่นตระหนกได้เกิดขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกชื่อ Sputnik ขึ้นไปโคจรบนชั้นบรรยากาศของโลกได้สำเร็จท่ามกลางความตรึงเครียดในภาวะสงครามเย็น ซึ่งเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า “Sputnik moment” นี้ได้ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างมหาศาลจนพวกเขาสามารถพานักบินอวกาศขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จในอีก 12 ปีถัดมา
5 ทศวรรษต่อมา เหตุการณ์ “Sputnik moment” ก็ได้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวจีนเมื่อ Ke Jie เซียนหมากกระดาน “โกะ” อันดับหนึ่งของโลกได้พ่ายแพ้อย่างหมดสภาพต่อ AlphaGo โปรแกรม AI ของบริษัท Deepmind ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Google แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความประหลาดใจของบรรดาวิศวกรที่มองไม่เห็นเลยว่าทำไมคอมพิวเตอร์ถึงมีความสามารถในการเล่นเกมที่ต้องอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อวางหมากที่มีจำนวนตัวเลือกมากกว่าจำนวนอะตอมที่มีทั้งหมดในจักรวาลแห่งนี้ได้ จนนำมาสู่การตระหนักถึงความสามารถของ AI ที่มีอย่างมหาศาลของประชาชนทั้งประเทศจีนที่รัฐบาลจีนโดยการนำของ Xi Jinping ได้ตั้งเป้าให้ประเทศจีนต้องเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม AI โลกภายในปี 2030 [“เวลาที่นักลงทุน ผู้ประกอบการและรัฐบาลจีนรวมตัวกันเพื่อโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ พวกเขาเหล่านั้นสามารถที่จะเขย่าโลกได้” และโฟกัสของประเทศจีนในปัจจุบันนี้ก็คือ “AI”]
ศาสตร์แห่ง AI หรือ “artificial intelligence” นั้นถูกจำแนกออกได้เป็น 2 แขนงใหญ่ ได้แก่
- โมเดลแบบ rule-based ที่ว่าด้วยการป้อนกฎเกณฑ์การตัดสินใจต่างๆอย่างชัดเจนให้กับ AI โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมักจะใช้ได้ผลดีในระบบการคำนวณที่มีกฎระเบียบอย่างสมบูรณ์ เช่น เกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ
- โมเดลแบบ neural networks ที่เป็นแนวทางในการจำลอง “ระบบประสาท” ในสมองของมนุษย์ที่สามารถคำนวณปัญหาต่างๆได้โดยอาศัยขีดความสามารถทางการประมวนผลของคอมพิวเตอร์ (computing power) และข้อมูล input จำนวนมหาศาล [โดยมนุษย์ไม่ต้องป้อนกฎเกณฑ์การตัดสินใจให้กับโมเดล]
ตัวอย่างของวิธีคิดที่ต่างกันของ 2 โมเดลนี้ ได้แก่ โจทย์แยกภาพแมว ที่โมเดลแบบ rule-based นั้นต้องอาศัยการป้อนคำสั่งต่าง เช่น “ถ้าภาพมีลูกตาสองดวงและมีขนและมีหูตั้งและมีสีส้ม ภาพนี้จะเป็นภาพแมว” ส่วนโมเดลแบบ neural networks จะใช้วิธีการป้อนรูปเป็นล้านๆรูปที่ระบุอย่างชัดเจนว่ารูปไหน “มีแมว” และรูปไหน “ไม่มีแมว” ให้โปรแกรมนำข้อมูลไปกำหนดกฎเกณฑ์การแยกรูปแมวต่อด้วยตัวของมันเอง
ซึ่งในอดีตนั้น โมเดลแบบ rule-based มักจะได้รับความนิยมมากกว่าทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือที่มีสูงกว่า neural networks แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาให้คอมพิวเตอร์มี computing power ที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก [โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนั้นมี computing power ที่สูงกว่าคอมพิวเตอร์ในยาน Apollo 11 เป็นล้านๆเท่า] ประกอบกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและ social network ก็ได้ทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับเทคโนโลยีการสร้างโมเดล neural networks รูปแบบใหม่ชื่อ “deep learning” ที่สามารถเสริมขีดความสามารถในการเรียนรู้ของระบบเครือข่ายประสาทเดิมได้อีกหลายเท่าตัว จนทำให้โมเดล neural networks มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงอันแสนซับซ้อนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การจับภาพใบหน้าของคน (facial recognition), การเข้าใจภาษาพูด (speech recognition), การตรวจจับการทุจริต (fraud detection) ไปจนถึงการขับรถยนต์แบบไร้คนขับ (driverless car) และอีกมากมาย [ชัยชนะของ AlphaGo นั้นถือเป็นการพิสูจน์ถึงศักยภาพของโมเดล AI แบบ deep learning ที่ทดลองเล่นเกมโกะกับตัวเองเป็นล้านๆครั้งจนเซียน ซึ่งแตกต่างจากชัยชนะของ Garry Kasparov นักหมากรุกอันดับหนึ่งของโลกของโปรแกรม IBM Deep Blue ที่เป็นเพียงโมเดลแบบ rule-based ที่อาศัยการเขียนโมเดลของวิศวกรเพียงและความเร็วในการคำนวณเพียงเท่านั้น]
ผู้เขียนให้ความเห็นว่าโลกในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านจาก “ยุคแห่งการค้นพบ” ที่จบลงด้วยการคิดค้นโมเดล deep learning ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกา แคนดาและสหราชอาณาจักร เข้ามาสู่ “ยุคแห่งการลงมือทำ” ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับการค้นพบแล้วของโมเดล deep learning ที่มีความโดดเด่นในการพยากรณ์หรือวิเคราะห์หาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจาก “การมองหารูปแบบเฉพาะ (pattern recognition)” ภายในชุดข้อมูล input จำนวนมหาศาล [เช่น จุดกลมๆสามสีบนพื้นหลังสี่เหลี่ยมสีดำ เท่ากับ สัญญานไฟจราจร] มาใช้สร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายที่ไม่ต่างกับช่วงเวลาหลังจากที่ Thomas Edison คิดค้นการใช้งานหลอดไฟและกระแสไฟฟ้าเลย
ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในยุคของ deep learning นั้นประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลมหาศาลและวิศวกร AI ซึ่งผู้เขียนให้ความเห็นว่าปัจจัยที่สามารถสร้างความได้เปรียบในระยะสั้นนี้ก็คือ “ข้อมูลมหาศาล” ที่ส่งเสริมให้โมเดล deep learning สามารถมองหา pattern ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นที่สามารถพัฒนาได้โดยวิศวกร AI ฝีมือดีทั่วไปโดยไม่ต้องอาศัยฝีมือของสุดยอดวิศวกร AI แห่ง Silicon Valley เหมือนอย่างแต่ก่อน ซึ่งนั่นก็ทำให้ประเทศจีนถือไพ่ที่เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก
แนวคิดที่ว่าประเทศจีนนั้นคือ “นักก็อปปี้” ตัวยงนั้นใช้ไม่ได้ผลแล้วในปัจจุบันนี้ที่โลกดิจิตอลของจีนนั้นได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนกลายมาเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี การแข่งขันอย่างรุนแรงของบรรดาบริษัท tech startup ที่เชือดเฉือนกันแบบเอาเป็นเอาตาย [บริษัทใหญ่สามารถก็อปปี้โมเดลและแย่งตัวพนักงานเก่งๆไปจากบริษัทเล็กๆได้อย่างเลือดเย็น] วัฒนธรรมการทำงานสุดทรหดแบบ 996 [เก้าโมงเช้าถึงสามทุ่มเป็นเวลาหกวันต่อสัปดาห์] การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและการถือกำเนิดของ super app อย่าง WeChat ที่สามารถใช้งานได้ทั้งแชต ซื้อของออนไลน์ จ่ายเงิน นัดพบแพทย์ เช่าจักรยาน ซื้อตั๋วเครื่องบินและอีกหลายฟังค์ชั่นภายใน app เดียวจนนำมาสู่ปริมาณข้อมูลอันมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โลกในยุคของ AI ในอนาคตจึงเป็นโลกที่ถูกครอบครองและแก่งแย่งชิงดีกันโดย 2 มหาอำนาจแห่ง AI ที่จะนำพามาซึ่งการว่างงานครั้งใหญ่ ช่องว่างระหว่างประเทศที่กว้างขึ้นเรื่อยๆและความหมายของชีวิตมนุษย์ที่ค่อยๆเลือนลางลงของมนุษย์ว่างงานจำนวนมหาศาล รายละเอียดทั้งหมดตามต่อได้ในบทถัดๆไปเลยครับ
การแข่งขันระหว่าง Ke Jie กับ AlphaGo (ขอบคุณภาพจาก Asia Society)
Chapter 2 : Copycats in the Coliseum
Wang Xing คือ ชายผู้ถูกขนานนามว่าเป็น “นักก็อปปี้ในตำนาน” แห่งวงการเทคโนโลยีหลังจากที่เขานำเอาโมเดลธุรกิจและการออกแบบ user interface ของ Facebook และ Twitter มาใช้อย่างหน้าไม่อาย แต่สิ่งที่น่าสนใจของนักก็อปปี้คนนี้ก็คือ บริษัท Meituan ที่เขาก็อปปี้โมเดลการซื้อดีลเป็นกลุ่มของ Groupon นั้นมีมูลค่าบริษัทในปัจจุบันถึงกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่บริษัทต้นแบบนั้นมีมูลค่าเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 2 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
เรื่องราวความสำเร็จของ Wang Xing คือ ตัวอย่างของสถานการณ์ของอุตสาหกรรม tech startup ในปัจจุบันของจีนที่ผู้ชนะนั้นไม่ใช่เพียงแค่ “นักก็อปปี้” ธรรมดาๆเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่กลับเป็น “นักรบกลาดิเอเตอร์” สุดแกร่งที่สามารถนำองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากยุคแห่งการก็อปปี้มาพัฒนาและปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของคนท้องถิ่นเพื่อเอาชนะศัตรูผู้เป็นนักก็อปปี้เหมือนๆกันนับร้อยนับพันคนและผู้บุกรุกจากต่างแดนอีกมากมายในสนามกีฬาโคลีเซียมที่การแข่งขันอย่างโชกเลือดนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ [startup จีนแข่งขันกันแบบเอาให้ถึงตายเสมอด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้งการก็อปปี้กันไปมาอย่างรวดเร็ว การทุ่มเงินทุนอันมหาศาล การทำแคมเปญสาดสีกันแบบตรงๆ การทำงานอย่างหนัก ไปจนถึง การบังคับลบโปรแกรมและการแจ้งตำรวจจับ CEO ของคู่แข่ง จนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมกลาดิเอเตอร์ผู้อยู่รอดถึงแข็งแกร่งได้ขนาดนี้]
ตัวอย่างสงครามระหว่าง startup สัญชาติจีนแบบ “โคตรเดือด” คือ สงครามระหว่างบริษัทซอฟท์แวร์ anti-virus ชื่อ Qihoo 360 กับยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent ที่กระโดดลงมาแข่งในตลาด anti-virus ด้วยการลงโปรแกรมของตัวเองให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มีโปรแกรมแชทยอดนิยม QQ แบบอัตโนมัติ ซึ่ง Qihoo ก็เลือกตอบโต้ด้วยการสร้างซอฟท์แวร์ privacy protection ที่แจ้งเตือนผู้ใช้งานทุกครั้งที่ใช้โปรแกรมของ Tencent และสร้างอีกโปรแกรมที่สามารถเจาะเข้าไปใน QQ เพื่อลบโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของ Tencent ออกได้ทั้งหมด ซึ่ง Tencent ก็โต้กลับด้วยการแจ้งตำรวจจับผู้ก่อตั้งของ Qihoo และประกาศสงครามให้ผู้ใช้งานทุกคนเลือกว่าถ้าจะใช้ QQ ต่อต้องลบ Qihoo 360 ทิ้งจนในที่สุดรัฐบาลจีนต้องเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายสงบลง อีกหนึ่งกรณีก็คือการต่อสู้กับระหว่างนักก็อปปี้ facebook อย่าง Renren ของ Wang Xing และคู่แข่งรายใหม่ชื่อ Kaixin001 ที่ Renren ใช้วิธีการสร้างเว็ปไซต์ก็อปปี้ของคู่แข่งแบบเหมือนเป๊ะชื่อ Kaixin.com แบบไม่มี 001 ที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับ kaixin001 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ [Renren โดนฟ้องร้องและเสียค่าปรับไปแค่ 60,000 ดอลลาร์ ขณะที่ในอีก 1 เดือนถัดมา Renren สามารถระดมทุนจาก IPO ได้ถึง 740 ล้านเหรียญ]
ความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าง Silicon Valley และประเทศจีนนั้นฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนหยางกับหยินของทั้งสองแผ่นดิน วัฒนธรรมการทำงานของ startup ในอเมริกานั้นเป็นแบบ “mission-driven” ที่ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกร่วมกับองค์กรที่พวกเขาเชื่อมั่นในภารกิจได้ ขณะที่วัฒนธรรมการทำงานของ startup จีนจะเป็นแบบ “market-driven” ที่มีวัตถุประสงค์เดียวคือการหาเงินให้ได้ด้วยทุกวิถีทาง [ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการฟูมฟักจากสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูงและความกดดันจากการเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวจนนำมาสู่การเกิดขึ้นของกองทัพนักรบผู้ประกอบการจีนสุดแกร่งจำนวนมหาศาล] เหมือนอย่างที่ปัจจุบัน Meituan ของ Wang Xing นั้นได้ขยายบริการจากดีลแบบ Groupon ไปยังธุรกิจอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซื้อตั๋วภาพยนตร์ จองโรงแรมและส่งอาหารออนไลน์ [ขณะที่ต้นแบบอย่าง Groupon นั้นยังคงมีโมเดลธุรกิจเดียวเหมือนเดิมที่เริ่มได้รับความนิยมลดลง]
นอกจากนั้น เอกลักษณ์เฉพาะตัวของประชาชนชาวจีนและความประมาทต่อคู่แข่งท้องถิ่นนั้นยังนำมาสู่ความพ่ายแพ้อย่างยับเยิบของ startup จาก Silicon Valley ที่พยายามบุกเข้ามาแข่งขันในตลาดประเทศจีนที่พวกเขามองว่าเป็นเพียงแค่ “อีกหนึ่งตลาด” ที่มีลักษณะเหมือนๆกับตลาดอื่นๆทั่วโลก กรณีศึกษาเรื่องชัยชนะของบริษัทจีนต่อ silicon valley ที่โด่งดังมากที่สุดก็คือ การต่อสู้ระหว่าง Alibaba และ eBay ที่ Alibaba สามารถปรับธุรกิจขายและประมูลสินค้าออนไลน์ได้ตอบโจทย์กับตลาดจีนที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ดีกว่ามาก ตั้งแต่ การสร้างฟังค์ชั่น live chat สำหรับการสื่อสารระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย การทำระบบการจ่ายเงินแบบ escrow payment ชื่อ Alipay ที่การันตีระบบการจ่ายเงินให้ลูกค้าที่ได้รับของเรียบร้อยแล้วและการสร้างโมเดลธุรกิจแบบ “ฟรี” ที่ผู้ขายสามารถมาตั้งขายสินค้าในเว็ปไซต์ Taobao ได้แบบฟรีๆ จนในที่สุด eBay ที่เลือกใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกก็ต้องยอมแพ้ออกจากประเทศจีนไป [อีกกรณี คือ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนสมัยเป็นประธาน Google China ที่กำลังแข่งขันอย่างรุนแรงกับ Baidu ซึ่งมีความเข้าใจในพฤติกรรมของชาวจีนมากกว่า เช่น พฤติกรรมการ search ของคนอเมริกันจะเลือกดูเฉพาะผลการค้นหาลำดับแรกๆและใช้เวลาอยู่บนหน้าเว็ปเพียงแค่ 10 วินาที ขณะที่ชาวจีนจะดูผลของคำค้นหาทั้งหมดและใช้เวลานานเกือบ 1 นาทีในหน้าเว็ปไซต์ ซึ่ง Baidu ได้นำเอาพฤติกรรมนี้ไปใช้ในการออกแบบการคลิกเพื่ออ่านคำค้นหาให้แสดงออกเป็น tab ใหม่เสมอ ขณะที่การคลิกใน Google จะพาผู้ใช้งานออกจากหน้าเว็ปค้นหาไปเลยทั้งๆที่ชาวจีนยังอยากดูคำค้นหาอื่นๆต่อ]
Meituan บริษัทขายดีลกลุ่มที่ขยับขยายบริการไปยังธุรกิจเดลิเวอรี่ (ขอบคุณภาพจาก Nikkei Asian Review)
Chapter 3 : China’s Alternate Internet Universe
ระบบนิเวศน์ของวงการ startup ในประเทศจีนนั้นได้รับการพัฒนาจาก “วงการแห่งนักก็อปปี้” มาเป็น “จักรวาลที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง” ที่มีความแตกต่างจากระบบนิเวศน์ของ Silicon Valley เป็นอย่างมาก ทั้งจากการเข้าถึงเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือแบบก้าวกระโดด การส่งเสริมการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีอย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลและการเกิดขึ้นของ super app อย่าง “WeChat” ที่แปลงสภาพโทรศัพท์มือถือของชาวจีนให้กลายมาเป็น “มีดดิจิตอลเอนกประสงค์ (digital swiss blade)” ที่ผลักดันให้โลกออนไลน์และออฟไลน์ของจีนนั้นใกล้ชิดกันอย่างสมบูรณ์ที่สุดในโลก ทั้งระบบการจ่ายเงินแบบไรเงินสดที่ขยายขอบข่ายอย่างรวดเร็ว ระบบเช่าจักรยาน on-demand ที่มีเป็นล้านๆคันในหัวเมืองใหญ่และกองทัพพนักงานเดลิเวอรี่ที่วิ่งขวักไขว่ทั่วทั้งเมือง ซึ่งล้วนสร้างให้เกิดสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในยุคปัจจุบันอย่าง “ข้อมูล” ที่มีทั้งปริมาณที่มหาศาลและคุณภาพที่ยอดเยี่ยม [ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานใน WeChat นั้นมีครบทั้งสินค้าที่ซื้อ อาหารที่กิน ภาพยนตร์ที่ดู เส้นทางขี่จักรยาน โรงแรงที่จอง ฯลฯ]
ต้นกำเนิดของอาณาจักร super app นั้นเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมปี 2011 เมื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Tencent ผู้เป็นเจ้าของ QQ โปรแกรมแชทยอดนิยมในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เลือกที่จะปฏิวัติผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วยการเปิดตัว WeChat หรือ Weixin ซึ่งเป็น social messaging app ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้งานในโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะพร้อมฟังก์ชันเด่นอย่าง voice recordings หรือการส่งข้อความด้วยเสียงซึ่งเข้ามาแก้ปัญหาการพิมพ์ตัวอักษรจีนอันแสนยุ่งยากได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ยอดของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 100 ล้านคนในปีแรกและ 300 ล้านคนในปีถัดมาพร้อมๆกับการเพิ่มฟังค์ชั่นใหม่ๆที่ใช้งานได้เป็นอย่างดีมากมาย อาทิ video call และ conference call [ที่คู่แข่งทางฝั่งตะวันตกอย่าง Whatsapp นั้นรอจนถึงปี 2016 ก่อนถึงเริ่มทำ]
จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของ WeChat นั้นเกิดขึ้นจากนวัตกรรมการสร้างโมเดล “app ใน app” ที่เปิดให้แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆเข้ามาสร้าง app ของตัวเองภายในระบบนิเวศน์ของ WeChat ซึ่งต่อมา WeChat ก็ได้เริ่มขยับขยายไปสู่วงการ mobile payment ด้วยฟังก์ชันกระเป๋าเงิน WeChat Wallet ที่ Tencent อาศัยแคมเปญ “ส่งอั่งเปาดิจิตอล” ในปี 2014 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้งานด้านการเงินออนไลน์ที่ดังเป็นพลุแตก [WeChat สามารถเชื่อมบัญชีธนาคารของผู้ใช้งานได้กว่า 5 ล้านบัญชีในแคมเปญเดียว] จนในที่สุด Tencent ก็สามารถสร้าง super app แรกของโลกที่ผู้ใช้งานสามารถเรียกแท็กซี่ จองร้านอาหาร นัดแพทย์ บริหารการลงทุนและจ่ายเงินค่าอะไรก็ได้ภายใน app เดียว ซึ่งบริการของ WeChat Wallet และ AliPay นั้นถือเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีของจีนในปัจจุบันที่การจ่ายเงินนั้นสามารถทำได้ง่ายๆด้วยการแสกน QR code [จีนกระโดดข้ามยุคของบัตรเครดิตที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2-3% ไปเลย จนแม้แต่ขอทานยังมี QR code !!] และบริการแทบทุกอย่างสามารถสั่งได้ในโลกออนไลน์ [อาทิ เรียกช่างทำเล็บถึงบ้าน คนทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง รถรับส่งบุตรหลานและบริการสั่งถุงยางอนามัย 24 ชั่วโมง]
เอกลักษณ์สำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่างบริษัทเทคโนโลยีของจีนกับ Silicon Valley ก็คือ โมเดลธุรกิจที่บริษัทสัญชาติตะวันตกมักเลือกที่จะใช้ light model ที่โฟกัสเฉพาะผลิตภัณฑ์หลักในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธกิจของบริษัท ขณะที่บริษัทจีนนั้นถูกผลักดันจากภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงให้ใช้ heavy model ที่ธุรกิจต้องขยับขยายการปฏิบัติการไปยังธุรกิจรอบๆแกนของผลิตภัณฑ์หลักเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อาทิ Didi หรือ “Uber ของจีน” ที่ขยายระบบนิเวศน์ของธุรกิจไปยังการเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและศูนย์ซ่อมรถแท็กซี่เพื่อเพิ่มผลกำไรและอำนวยความสะดวกให้กับคนขับของตัวเอง
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปูทางให้เกิดระบบเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมอันดุเดือดของจีนก็คือนโยบายการส่งเสริมจากรัฐบาล ทั้งการส่งเสริมลงทุนใน startup ผ่าน venture capital fund การสร้างโครงการบ่มเพาะธุรกิจเกิดใหม่ (incubator) การให้ผลประโยชน์ทางภาษี การลดความยุ่งยากในการก่อตั้งบริษัทและการสร้าง Silicon Valley ประจำภูมิภาค เพื่อเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการจำนวนมาก (mass entrepreneurship) และนวัตกรรมจำนวนมหาศาล (mass innovation) ที่มีการแข่งขันกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโครงการต่างๆขึ้นมามากมาย [ซึ่งแตกต่างจากสังคม startup ใน Silicon Valley ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว] การส่งเสริมของรัฐบาลและความสำเร็จของนักธุรกิจเทคโนโลยีอย่าง Jack Ma ผู้เป็นตัวแทนของชาวจีนธรรมดาๆนั้นยังได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของชาวจีนที่เริ่มมองว่าการทำงานในบริษัท startup นั้นเป็นสิ่งที่มีเกียรติและสามารถหาเลี้ยงชีพได้
ใน “ยุคแห่งการลงมือทำ” นี้ ความได้เปรียบด้านปริมาณและคุณภาพของข้อมูลอันมหาศาล [คนจีนซื้อของออนไลน์มากเป็น 2 เท่าของคนอเมริกัน สั่งอาหารเดลิเวอรีมากกว่า 10 เท่าและใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 50 เท่า] จากระบบนิเวศน์ที่มีการเชื่อมต่อระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ได้สมบูรณ์ที่สุดในโลกของจีนนี้ถือเป็นองค์ประกอบชั้นเลิศในการสร้างอุตสาหกรรม AI ที่ดีที่สุดของโลก
ตัวอย่างบริการแบบ super app ของ WeChat (ขอบคุณภาพจาก WeChat)
Chapter 4 : A Tale of Two Countries
ไม่ต่างกับที่เทคโนโลยี deep learning นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นจากทีมนักวิจัยที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาลหรือบริษัทขนาดใหญ่ เทคโนโลยีด้าน AI คลื่นถัดไปนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งภายในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 7 อย่าง Google, Facebook, Microsoft, Amazon, Baidu, Tencent และ Alibaba [Google ครอบครองนักวิจัย AI ระดับหัวกะทิมากที่สุด ขณะที่ Tencent มีข้อมูลที่ดีที่สุดทั้งคุณภาพและปริมาณ] และจากห้องแล็บเล็กๆที่ไหนซักแห่งในโลกใบนี้
แต่กว่าที่เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่นั้นจะมาถึง การนำเทคโนโลยี deep learning ที่ได้รับการคิดค้นและเผยแพร่อย่างทั่วถึงไปสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ แนวทางการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
ซึ่งผู้เขียนให้ความเห็นว่าในยุคแห่งการลงมือทำนี้ “คุณภาพ” ของนักวิจัยระดับอัจฉริยะแห่ง Silicon Valley นั้นไม่อาจเทียบได้กับ “ปริมาณ” อันมหาศาลของวิศวกรชาวจีนฝีมือดีที่สามารถทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ “นักรบกลาดิเอเตอร์” เพื่อนำองค์ความรู้ด้าน AI และข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลมาใช้สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เหนือชั้นกว่าเดิมโดยมีรัฐบาลจีนท้องถิ่นแย่งกันสนับสนุนอย่างเต็มที่ได้ [กองทัพนักวิจัยด้าน AI ของจีนนั้นก็เริ่มสร้างผลงานที่ได้รับการยอมรับมากมายจากทั่วโลก รวมไปถึง บริษัท startup ชื่อ Face++ ที่สามารถพัฒนาระบบจดจำใบหน้าของมนุษย์และเอาชนะทีมของ Google และ Facebook ได้ในปี 2017]
ความแตกต่างทางแนวคิดการเมืองการปกครองนั้นยังสามารถสร้างข้อได้เปรียบสำคัญที่เกิดขึ้นจากระบบรวมศูนย์แบบจีนในการตัดสินใจเร่งพัฒนาขีดความสามารถของ AI ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ทางการเมืองที่จะตามมาเหมือนอย่างระบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไร้คนขับที่รัฐบาลสหรัฐนั้นต้องคำนึงปัจจัยด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจมากมาย อาทิ การที่รถยนต์ต้องเลือกระหว่างเลี้ยงซ้ายที่มีโอกาส 55% ในการชนคนตายสองคนกับเลี้ยวขวาแล้วชนคนตายแน่นอนหนึ่งคน หรือ การขั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการตกงานของคนขับรถบรรทุกนับล้านคน ขณะที่ ประเทศจีนนั้นสามารถสั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นอนุมัติการใช้งานรถยนต์ไร้คนขับได้ทันทีและค่อยตามแก้ปัญหาในภายหลัง
Chapter 5 : The Four Waves of AI
การปฏิวัติ AI นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นคลื่นลูกใหญ่ทั้งหมด 4 คลื่นที่ต่างทยอยเข้ามาจู่โจมระบบเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์ในปัจจุบัน อันประกอบไปด้วย
1st wave – Internet AI: คลื่นยักษ์แห่ง AI ลูกแรกนั้นได้ซัดผ่านพวกเราทุกคนไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในรูปของ “ระบบแนะนำ (recommendation engine)” ที่เรียนรู้ความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งานในโลกออนไลน์และนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้แนะนำบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆให้แก่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็น คลิปถัดไปใน YouTube สินค้าแนะนำใน Amazon หรือ โฆษณาที่ตรงใจใน Facebook ซึ่งล้วนนำไปสู่ภาวะ “การติดงอมแงม” ที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลให้กับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของ platform บนโลกอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย
[ผู้ชนะรายใหม่ล่าสุดในคลื่นลูกแรกของ AI คือ Toutiao หรือ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการ platform รวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการคัดสรรโดย AI ให้ตรงใจผู้ใช้งานมากที่สุด รวมไปถึงบริการ TikTok ที่เป็น social platform ที่ได้รับความนิยมระดับโลกสำหรับแชร์คลิปวิดิโอสั้นๆโดยมี AI เป็นคนจัดการเลือกวิดิโอที่เหมาะสมที่สุดมาให้ผู้ใช้งานได้รับชมตามคอนเส็ปต์ “the more you watch, the better it gets” ซึ่ง ByteDance ในขณะนี้ได้กลายมาเป็นบริษัท startup ระดับ unicorn ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกหลังจากการก่อตั้งเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น]
ผู้เขียนให้ความเห็นว่าปัจจุบันจีนกับอเมริกานั้นมีขีดความสามารถด้าน internet AI ที่เสมอกัน (CHINA:USA = 5:5) แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนที่มีคุณภาพและปริมาณของข้อมูลบนโลกออนไลน์-ออฟไลน์ที่มากกว่าจะสามารถเอาชนะอเมริกาได้ (CHINA:USA = 6:4)
2nd wave – Business AI: คลื่นยักษ์ลูกถัดมาก็คือ คลื่นของการประยุกต์ใช้งาน AI กับข้อมูลอันมหาศาลของธุรกิจแบบทั่วไป (ที่ไม่ใช่ออนไลน์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรในระดับที่นักวิเคราะห์ที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถทำได้ [มนุษย์มักเลือกวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญของชุดข้อมูลนั้นๆเท่านั้น ขณะที่ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีองค์ประกอบเป็นพันๆองค์ประกอบที่มนุษย์อาจคาดไม่ถึง เช่น ความเร็วในการกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิดของผู้ที่ต้องการกู้เงิน ได้อย่างรวดเร็ว] รวมไปถึงการลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานที่มีความลำเอียง (bias) ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาทิ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้พิพากษาชาวอิสราเอลจะให้คำพิพากษาที่เบาลงหลังจากที่พวกเขาทานข้าวมื้อเที่ยงเสร็จ
ซึ่งการใช้งาน AI ในรูปแบบนี้ต้องอาศัยโครงสร้างการเก็บข้อมูลขององค์กรที่มีคุณภาพเพื่อให้ AI สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้และนั่นก็ทำให้องค์กรของอเมริกานั้นมีความได้เปรียบองค์กรทั่วๆไปของจีนเป็นอย่างมาก (CHINA:USA = 1:9) แต่ผู้เขียนก็ให้ความเห็นว่าจีนจะสามารถลดช่องว่างนี้ลงได้ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้านี้ (CHINA:USA = 3:7) ด้วยการผลักดันของรัฐบาลและองค์กรของรัฐ
3rd wave – Perception AI: คลื่นลูกที่สามแห่งการปฏิวัติ AI ก็คือ การหยิบยื่นเครื่องมือตรวจจับข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่สุดของมนุษย์อย่าง “ตา” และ “หู” ให้กับ AI ที่แต่เดิมนั้นสามารถรับรู้ถึงข้อมูลที่เป็นรูปภาพและเสียงได้เป็นเพียงการร้อยเรียงกันของตัวเลข 0 และ 1 เท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีการรับรู้ด้านภาพและเสียงของ AI ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันนั้นได้สร้างให้ AI มีความสามารถในการรับรู้ถึงความหมายของกลุ่มก้อนของเลข 0 และ 1 ได้สำเร็จ จนนำมาสู่เครื่องมือมากมาย อาทิ Amazon Alexa ที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลที่เกิดขึ้นในโลกกายภาพให้กลายมาเป็นข้อมูลดิจิตอลอันมหาศาลได้ ซึ่งนำมาสู่จุดเริ่มต้นของการหลอมรวมกันระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ (online-merge-offline หรือ OMO) ที่นำเอาความสะดวกสบายของโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์และส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลของโลกออฟไลน์เข้าสู่โลกออนไลน์ อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จัดการทุกอย่างโดย AI ตั้งแต่ การต้อนรับลูกค้าแบบส่วนตัวด้วยการจดจำใบหน้า การสั่งสินค้าคงทนล่วงหน้าจากการแสกนตู้เย็นที่บ้าน [ซึ่งช่วยลดขนาดของซุปเปอร์มาร์เก็ตลงเหลือเฉพาะสินค้าสดได้อีกด้วย] การแนะนำสินค้าสดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายในอดีต การให้โปรโมชั่นพิเศษที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าคนนั้นจริงๆจากข้อมูลอันมหาศาลและการใช้เซ็นเซอร์จ่ายเงินแบบอัตโนมัติ
ซึ่งคลื่นลูกที่ 3 นี้เองคือคลื่นที่ประเทศจีนนั้นมีความได้เปรียบ (CHINA:USA = 6:4) ทั้งจากด้านการปกครองและวัฒนธรรมที่ชาวจีนนั้นยอมที่จะแลกเปลี่ยนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเพื่อความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจาก AI ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นและด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ที่คอยป้อนข้อมูลมหาศาลให้กับ perception AI ที่ผู้เขียนมองว่าเมืองเซินเจิ้นคือ Silicon Valley ด้านฮาร์ดแวร์อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะยิ่งมีแนวโน้มทิ้งห่างสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เห็นฝุ่น (CHINA:USA = 8:2)
4th wave – Autonomous AI: คลื่นลูกสุดท้ายแห่งการปฏิวัติ AI คือ คลื่นยักษ์ที่หลอมรวมขีดความสามารถของคลื่น 3 ลูกแรกเข้าด้วยกันจนกลายมาเป็น “หุ่นยนต์ AI แบบอัตโนมัติ” ที่ไม่ต้องอาศัยการป้อนคำสั่งหรือการควบคุมโดยมนุษย์ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน อาทิ โดรนส่งของหรือโดรนกู้ภัยแบบอัตโนมัติที่สามารถทำงานร่วมกับโดรนลำอื่นได้เป็นหมู่คณะ [ซึ่ง DJI บริษัทโดรนที่ใหญ่ที่สุดนั้นก็เป็นบริษัทของประเทศจีน] และรถยนต์ไร้คนขับที่ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Google และ Tesla จะมีแต้มต่อจากกองทัพนักวิจัยและวิศวกรระดับเซียน [ปัญหาด้านความปลอดภัยนั้นซับซ้อนและต้องอาศัยยอดฝีมือระดับหัวกะทิ] แต่นโยบายที่ส่งเสริมรถยนต์ไร้คนขับของรัฐบาลจีน เช่น การสร้างเมืองใหม่ที่เหมาะสำหรับรถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะและการสร้างทางด่วนที่ชาร์จไฟฟ้าได้ นั้นก็ทำให้จีนมีสิทธิ์ทึ่จะตามทันได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้เขียนให้ความเห็นว่าจีนในปัจจุบันยังห่างชั้นกับสหรัฐอเมริกาในคลื่นลูกสุดท้ายนี้อย่างมาก (CHINA:USA = 1:9) แต่ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า จีนที่มีความได้เปรียบด้านฮาร์ดแวร์และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะขึ้นมาทักเทียมกับสหรัฐที่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีชั้นสูงได้ (CHINA:USA = 5:5)
ปิดท้าย กลยุทธ์ในการเติบโตระดับโลกของจีนและ Silicon Valley นั้นก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยบริษัทอเมริกันชั้นนำอย่าง Google, Facebook และ Amazon นั้นเลือกที่จะนำผลิตภัณฑ์หลักของตัวเองไปบุกตลาดโลกในทุกๆประเทศ ขณะที่บริษัทจีนชั้นนำอย่าง Alibaba และ Tencent นั้นเลือกที่จะทุ่มเทเงินทุนเพื่อสนับสนุน startup ของภูมิภาคนั้นๆแทนการเข้าแข่งขันแบบตรงๆ [อาทิ Alibaba ลงทุนใน Lazada และ JD.com จับมือกับ Central] ซึ่งโมเดลที่เน้นการร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นแบบจีนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะสร้างความได้เปรียบในยุคแห่ง AI ที่ต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ระดับโลกและข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น
TikTok แอพสัญชาติจีนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก (ขอบคุณภาพจาก Tubefilter.com)
Chapter 6 : Utopia, Distopia and the Real AI Crisis
ความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงต่อ AI ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันก็คือ การสับสนระหว่าง AI ในรูปแบบ deep learning ที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลมหาศาลเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่งๆโดยเฉพาะ (narrow AI) กับ Artificial General Intelligence (AGI) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรู้สึกและฉลาดล้ำกว่ามนุษย์ในทุกๆด้าน จนนำมาสู่ความตื่นตระหนกถึงโลกในอนาคตที่หม่นหมอง (dystopian) ที่มนุษย์อาจต้องตกเป็นเหยื่อของภารกิจบางอย่างของ AGI เหล่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้ว AGI นั้นมีความแตกต่างกับ AI ในปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้เลยและต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกมหาศาลที่ยังไม่มีความแน่ชัดเลยว่าสามารถทำได้จริง
วิกฤติที่แท้จริงที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในยุคแห่ง AI ในโลกอนาคตก็คือ วิกฤตแห่ง “การว่างงาน” และ “ความไม่เท่าเทียมกัน” ของมนุษย์โดยฝีมือของมนุษย์เพียงหยิบมือเดียวที่สามารถพัฒนาและครอบครอง AI อัจฉริยะที่สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ทั้งชนชั้นกรรมกรและชนขั้นแรงงานฝีมือดีจนนำมาสู่ภาวะการตกงานจำนวนมหาศาลและสร้างให้เกิดช่องว่างที่ไม่อาจก้าวข้ามระหว่างคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับโลกระหว่างประเทศกลุ่ม AI Superpowers ทั้งสองที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยี ผู้ใช้งาน ข้อมูลอันมหาศาลและเงินทุนล้นทะลักกับกลุ่มประเทศที่เหลือ [อุตสาหกรรม AI นั้นมีลักษณะแบบ “ผู้ชนะกินเรียบ (winner-takes-all)” ที่ประเทศเจ้าของ AI นั้นจะทิ้งห่างประเทศอื่นๆอย่างไม่มีทางตามทัน ประเทศที่ยังยากจนอยู่จะไม่มีทางก้าวข้ามความยากจนได้เหมือนสมัยก่อนเนื่องจากการมีแรงงานราคาถูกนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป]
การปฏิวัติอุตสาหกรรม AI นั้นถือเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 4 โดยฝีมือของเทคโนโลยีเอนกประสงค์ (general purpose technology หรือ GPT) ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมต่อจากเครื่องยนต์ไอน้ำ ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ซึ่งล้วนส่งผลกระทบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดย AI นั้นถือเป็น GPT ที่มีความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดจากทั้งความสามารถในการทำลายงานจำนวนมหาศาลและความรวดเร็วของการแพร่กระจายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งการที่ AI นั้นอยู่ในรูปของดิจิตอลที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือทางกายภาพ ปริมาณเงินอันมหาศาลของกองทุน VC และการเข้าร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศจีนที่มีประชากรถึง 1 ใน 5 ของโลก
ด้วยความที่ AI นั้นมีความสามารถสูงในการทำงานลักษณะแคบ กลุ่มงานในลักษณะดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วย AI ในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ พนักงานในไลน์ผลิต แคชเชียร์ คนขับรถบรรทุก ล่ามแปลภาษาและวิสัญญีแพทย์ ส่วนกลุ่มงานที่ปลอดภัยในยุคแห่ง AI นั้นจึงต้องเป็นกลุ่มงานลักษณะกว้างที่ต้องอาศัยความแม่นยำทางกายภาพ [การพัฒนาหุ่นยนต์ที่ต้องทำงานทางานภาพที่หลากหลาย เช่น หุ่นยนต์แม่บ้าน นั้นยังห่างไกลจากการพัฒนา AI ที่เน้นงานเฉพาะด้านอยู่มาก] ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ที่ซับซ้อน อาทิ คนดูแลผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา ทนายความและ CEO [ส่วนงานที่อาศัยความสามารถทางสังคมโดยไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความแม่นยำ เช่น บาร์เทนเดอร์และครู นั้นอาจได้รับการพัฒนาให้เกิดภาวะการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI]
ผู้เขียนได้ลงความเห็นไว้ว่า 40% ถึง 50% ของตำแหน่งงานทั้งหมดในสหรัฐอเมริกานั้นสามารถถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายในปี 2030 แต่ตำแหน่งงานที่ลดลงจริงๆอาจจะอยู่ที่ 10% ถึง 20% เนื่องจากความเฉื่อยของการแพร่กระจายเทคโนโลยีที่ตำแหน่งงานบางส่วนอาจได้รับการปกป้องจากกฎหมายและระเบียบสังคม รวมไปถึงตำแหน่งงานกลุ่มใหม่ที่จะต้องเพิ่มขึ้น อาทิ ช่างซ่อมหุ่นยนต์และนักตรวจสอบการทำงานของ AI
ถึงแม้ว่า AI ในภาพรวมสามารถสร้างคุณค่าอันมหาศาลให้กับโลกมนุษย์ แต่คุณค่ามหาศาลเหล่านั้นกลับตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนบนยอดสุดของโครงสร้างสังคมเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มนุษย์โลกจำนวนมากในอนาคตจะถูกผลักดันให้ตกลงมาทับถมกันที่ฐานล่างสุดของสังคม พวกเขาจะกลายสภาพมาเป็น “ชนชั้นที่ไร้คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ที่จะนำพามาสู่ปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชนชั้นและปัญหาทางสภาพจิตใจของคนนับล้านๆที่ต้องสูญเสียความหมายของการมีชีวิตไป
Chapter 7 : The Wisdom of Cancer
เกือบตลอดช่วงชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรม AI ทั้งใน Silicon Valley และประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้เขียน Kai-Fu Lee ได้ทุ่มเทเวลาและพละกำลังเกือบทุกจังหวะลมหายใจให้กับการทำงานอย่างทุ่มเทจนนำมาสู่ความสำเร็จและชื่อเสียงอันโด่งดังในวงการ AI ของเขาที่ต้องแลกกับความเป็นมนุษย์ที่ลดลงไปในทุกๆวัน [ผู้เขียนเคยเกือบพลาดโอกาสได้เห็นการคลอดของลูกสาวคนแรกเพื่อไปนำเสนองานครั้งใหญ่ให้กับ CEO ของ Apple] จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้เขียนต้องเจอกับประสบการณ์ “เฉียดตาย” จากโรคมะเร็งร้ายที่เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินชีวิตของตัวเองและนำมาสู่ความเข้าใจของเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมนุษย์ที่ AI ไม่มีทางลอกเลียนแบบได้ [อย่างน้อยก็ในศตวรรษนี้] นั่นก็คือ “ความรัก” ที่มนุษย์ต่างมอบให้กันและกัน
ผู้เขียนให้ความเห็นว่าการผนวกกันระหว่าง “ปัญญา” ของ AI และ “ความรัก” ของมนุษย์ นั้นคือ ทางออกที่ดีที่สุดของมนุษยชาติในโลกอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้
Chapter 8 : A Blueprint for Human Coexistence with AI
ตลอดระยะเวลาในสองศตวรรษแห่งยุคอุตสาหกรรม “คุณค่า” ของชีวิตมนุษย์นั้นได้ถูกหลอมรวมเข้ากับ “คุณค่าทางเศรษฐกิจ” ที่พวกเราแต่ละคนสร้างให้กับสังคม [เวลาแนะนำตัว พวกเรามักจะพูดถึงงานที่กำลังทำอยู่เสมอ] โดยหลงลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าทางสังคม” ที่เกิดขึ้นจาก “ความรัก” และ “ความเมตตา” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่ในอนาคตที่ AI มีพละกำลังมหาศาลในการทำลายคุณค่าทางเศรษฐกิจของมนุษย์กลุ่มใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น ผู้เขียนให้ความเห็นว่าการหวนกลับมาให้ความสำคัญกับ “คุณค่าทางสังคม” และ “ความรัก” นั้นคือทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้มนุษย์และ AI สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย (symbiosis)
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้คุณค่ากับงานทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตั้งแต่ การยกระดับงานสังคมในครัวเรือน อาทิ การเลี้ยงดูแลบุตรและผู้สูงอายุ ให้กลายมาเป็นงานที่มีเกียรติและมีรายได้ ไปจนถึงการสร้างกลุ่มงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างกระบวนการคิดและลงมือทำของ AI เข้ากับความสามารถทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างของอาชีพแพทย์ทั่วไปให้กลายมาเป็นอาชีพผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยที่อาศัยการวินิจฉัยโรคของ AI มาผนวกเข้ากับความสามารถด้านจิตวิยาและความเห็นอกเห็นใจในการดูแลผู้ป่วย [โครงสร้างนี้สามารถเพิ่มระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ที่อาชีพใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องเรียนนานเป็นสิบๆปีอีกต่อไป] หรือ การเพิ่มผู้ดูแลลูกค้าระดับเดียวกับโรงแรมห้าดาวในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่จำเป็นต้องใช้แคชเชียร์อีกต่อไป
แตกต่างจากแนวคิดของ universal basic income (UBI) ที่ว่าด้วยนโยบายการเก็บภาษีของบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีมาจ่ายให้กับประชาชนทุกคนในระดับที่พออยู่อาศัยได้ซึ่งเป็นเสมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิด “social investment stipend” หรือนโยบายการให้เงินเดือนแก่ผู้ที่สร้าง “คุณค่าทางสังคม” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ งานด้านการดูแลผู้อื่นทั้งภายในและภายนอกครอบครัว งานด้านการบริการสังคมในรูปแบบต่างๆ [จินตนาการคล้ายๆงานจิตอาสาที่มีเงินเดือนให้] และงานด้านการพัฒนาตัวเองที่ส่งเสริมให้ผู้รับเงินสามารถทุ่มเทเวลาไปกลับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอันมีประโยชน์ในอนาคตได้โดยไม่ต้องกังวล ซึ่งแนวคิดใหม่นี้ สามารถสร้างงานทดแทนจำนวนมหาศาลที่ยังช่วยสร้างให้สังคมมีความเป็นมนุษย์และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ส่วนความเป็นไปได้ของการนำแนวคิดนี้ไปใช้งานได้จริงนั้น ผู้เขียนแนะนำว่าให้เพิ่มระดับการสนับสนุนคุณค่าทางสังคมตามผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยี AI และการทำลายตำแหน่งงาน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเริ่มจากการเก็บภาษีของบริษัทที่ได้รับผลประโชยน์และนำเอาภาษีเหล่านั้นไปสนับสนุนงานทางสังคมในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ [ในช่วงแรกอาจนำเงินไปเพิ่มจำนวนครูที่สามารถทำงานร่วมกับระบบ AI แบบง่ายๆในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนที่ควรมีสัดส่วนนักเรียนต่อครูหนึ่งคนลดลง]
Chapter 9 : Our Global AI Story
ปิดท้าย ผู้เขียน Kai-Fu Lee ได้ลงความเห็นไว้ว่าอนาคตของมนุษยชาติในยุคแห่ง AI นั้นไม่ควรไปจบลงที่สงครามการแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง AI Superpowers ทั้งสองราย แต่มนุษยชาติควรจะต้องก้าวข้ามเส้นเขตแดนของตัวเองเพื่อร่วมมือกันทดลองและแลกเปลี่ยนแนวคิดอันหลากหลายโดยมีวัตถุประสงค์ปลายทางคือการสร้างอนาคตที่ดีที่สุดระหว่าง AI กับมนุษย์ทุกคนก่อนที่จะสายเกินไป
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
Leave a Reply