Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] Bad Blood : Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup

 

 

Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup (2018)

by John Carreyrou

 

“The way Theranos is operating is like trying to build a bus while you’re driving the bus. Someone is going to get killed.”

 

ในปี 2015 เรื่องราวความสำเร็จอันชวนฝันแห่ง Silicon Valley ของ Elizabeth Holmes หญิงสาวผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “the female Steve Jobs” ผู้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Theranos บริษัท biotech startup ระดับ 9 พันล้านดอลลาร์ก็ต้องถึงจุดสั่นคลอนเมื่อสำนักข่าว The Wall Street Journal ได้ออกมาเปิดโปงว่าเทคโนโลยีการตรวจเลือดแบบทางไกลที่ทั้งสะดวกและรวดเร็วของเธอนั้นเป็นเรื่องที่ “หลอกลวง” และได้สร้าง “อันตราย” ที่ใหญ่หลวงต่อคนไข้นับล้านคนทั่วโลก

Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup คือ หนังสือที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดจบของกลโกงที่น่าตื่นตะลึงที่สุดในวงการ startup ของ Silicon Valley โดย John Carreyrou นักข่าวฝีมือดีแห่ง The Wall Street Journal ผู้เป็นคนเปิดโปง Elizabeth Holmes และบริษัท Theranos ของเธอที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวอันน่าตกใจ บทเรียนและข้อควรระวังที่นักธุรกิจ พนักงานบริษัทและนักลงทุนทุกคนสมควรต้องอ่าน รับรองว่ามันส์ไม่แพ้นิยายทริลเลอร์ดีๆแน่นอน !!

 

ผู้เขียน John Carreyrou แห่ง Wall Street Journal (ขอบคุณภาพจาก Penguin Random House)

 

<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>

 

Chapter 1: A Purposeful Life

ตั้งแต่ในวัยเด็ก Elizabeth Anne Holmes นั้นได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อผู้สืบเชื้อสายจากตระกูลนักธุรกิจและเจ้าของโรงพยาบาลอันสูงส่งมาตลอดให้ “ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย” และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่ง Elizabeth ในช่วงอายุ 19 ปีก็ได้นำแนวทางการใช้ชีวิตนั้นมาเลือกหนทางเดินของตัวเองด้วยการลาออกจากคณะวิศวกรรมเคมีแห่งมหาวิทยาลัย Stanford เพื่อสร้างธุรกิจด้าน biotechnology ที่มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการสาธารณสุขในทางที่ดีขึ้น ร่วมกับ Shaunak Roy รุ่นพี่นักศึกษาระดับปริญญาเอกและ Channing Robertson อาจารย์ประจำคณะคนสนิทของเธอในปี 2003

จุดเริ่มต้นของบริษัท startup ที่มีชื่อว่า Theranos [เป็นการผสมคำระหว่าง therapy กับ diagnosis] นั้นเกิดขึ้นจากไอเดียของ Elizabeth Holmes ที่ต้องการสร้าง “แผ่นปะแขน” ที่สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคของผู้ใช้งานด้วยไมโครชิปส์ [เธอได้รับแรงบันดาลใจจากความลำบากในการตรวจเลือดขณะที่เธอไปฝึกงานในประเทศสิงคโปร์ตอนที่โรค SARS ระบาด] ซึ่งเทคโนโลยีที่ดูล้ำยุคนี้ประกอบกับเสน่ห์เฉพาะตัวของเธอ ก็ได้ทำให้ Theranos สามารถระดมทุนเริ่มต้นได้มากถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [ปัจจัยแห่งความสำเร็จส่วนหนึ่งคือสายสัมพันธ์ของเธอกับลูกสาวของ Tim Draper เจ้าของ venture capital ชื่อดัง]

หลังจากล้มลุกคลุกคลานกับไอเดียแผ่นแปะอัจฉริยะอยู่พักใหญ่จนค้นพบว่าไอเดียนี้เป็นเรื่องที่เพ้อฝันเกินกว่าจะเป็นจริงได้ Elizabeth Holmes ก็ได้ไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กลายมาเป็นแกนหลักของบริษัท Theranos อย่าง “ระบบตรวจเลือดแบบพกพา” ที่ผู้ใช้งานสามารถเก็บตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อยด้วยการจิ้มนิ้วมือไปเก็บใน “แคปซูล” ขนาดเล็กและนำตัวอย่างไปใส่ใน “เครื่องอ่าน” ที่สามารถแยกน้ำเลือดส่วนพลาสมาออกไปตรวจปฏิกิริยาเคมีด้วยโปรตีนแอนติบอดีและสามารถส่งข้อมูลผลการตรวจไปให้กับแพทย์วินิจฉัยต่อได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

 

Elizabeth Holmes กับแคปซูลเก็บตัวอย่างเลือด (ขอบคุณภาพจาก Techcrunch)

 

Chapter 2: The Gluebot

ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี บริษัท Theranos ก็ได้กลายมาเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีพนักงานหลายสิบคนกับผลิตภัณฑ์ prototype ที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพ

Elizabeth Holmes เลือกที่จะบริหารบริษัท startup ของเธออย่างดุดันและเข้มข้น ตั้งแต่ การจ้างทีมวิศวกรสองทีมเพื่อแข่งขันกันสร้าง prototype ใหม่ที่ใช้งานได้จริง การใช้งานพนักงานอย่างหนัก [Elizabeth Holmes นอนแค่ 4 ชั่วโมงต่อวัน] การฟ้องร้องพนักงานเก่าที่ออกไปตั้งบริษัทคู่แข่งและการออกมาตรการป้องกันข้อมูลรั่วไหลอย่างเข้มข้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ปริมาณพนักงานที่ลาออกจำนวนมหาศาลรวมถึง Shaunak Roy ผู้ร่วมก่อตั้งของเธอ

แต่ความพยายามนั้นก็ไม่สูญเปล่า เพราะทีมวิศวกรทีมหนึ่งสามารถประดิษฐ์ prototype ตัวใหม่ที่พวกเขานำเอา “หุ่นยนต์ยิงกาว” มาประยุกต์และเลียนแบบกรรมวิธีการทำงานจริงของนักวิจัยในแล็บทดลองมาใช้ทำงานแทนระบบเครื่องกลสุดล้ำที่ใช้งานไม่ได้จริงของทีมวิศวกรอีกทีม [ที่ถูกเชิญออกเรียบในเวลาต่อมา] ซึ่ง Elizabeth Holmes ตั้งชื่อเครื่องตรวจเลือดอันใหม่นี้ว่า “Edison” ตามชื่อของสุดยอดนักประดิษฐ์ชาวอเมริกาผู้ล้มเหลวเป็นพันครั้งก่อนที่เขาจะคิดค้นหลอดไฟได้สำเร็จ

 

เครื่องตรวจเลือด Edison ของ Theranos (ขอบคุณภาพจาก Vanity Fair)

 

Chapter 3: Apple Envy

หลังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกอย่าง iPhone ในปี 2007 ชื่อของ Steve Jobs ก็ได้แปลงสภาพกลายเป็น “เทพเจ้า” แห่ง Silicon Valley ที่มีผู้นับถือและยกย่องให้เป็นไอดอลมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Elizabeth Holmes ผู้เริ่มที่จะแต่งตัวแบบเรียบง่ายด้วยเสื้อคอเต่าสีดำทุกวันและเริ่มเรียกผลิตภัณฑ์ของ Theranos ว่า “the iPod of healthcare”

ความคลั่งไคล้ในบริษัท Apple ก็ได้ทำให้ Elizabeth Holmes เลือกที่จะเฟ้นหาทั้งกรรมการบริษัทและหัวหน้าทีมนักออกแบบจาก Apple ซึ่งทั้งสองต่างก็พร้อมใจกันลาออกภายในเวลาไม่นานหลังจากที่พวกเขาต้องประสบกับวัฒนธรรมองค์กรแบบ “ไซโล” ลับสุดยอดที่พนักงานทุกคนถูกปิดกั้นและสอดส่องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆกับความเคลือบแคลงด้าน “จริยธรรม” ของการนำ Edison ที่ยังไม่เสถียรไปใช้งานจริงกับผู้ป่วยที่เป็นดั่งหนูทดลองของ Theranos

 

Chapter 4: Goodbye East Paly

ปี 2008 คือ ปีที่ Theranos ได้ฤกษ์ในการย้ายสำนักงานจากเขต East Palo Alto ที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งการฆาตกรรม” มายังเขต Palo Alto เพื่อนบ้าน ณ ใจกลางของ Silicon Valley อันแสนรุ่งโรจน์

แต่ถึงกระนั้น วัฒนธรรมองค์กรแบบ “ยาพิษ” ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมสุดประหลาดของ Elizabeth Holmes นั้นก็ยังตามมาหลอกหลอนพนักงานของ Theranos อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ก็คือ ผู้จัดการ IT ที่ตัดสินใจลาออกหลังจากที่เขาเริ่มไม่พอใจคำสั่งของ Elizabeth Holmes ในการขุดคุ้ยความลับในคอมพิวเตอร์ของพนักงานหลายสิบคนที่โดนไล่ออกเพื่อแบล็คเมล์ ซึ่งหลังจากยื่นใบลาออกเพียงไม่นาน ตัวเขาก็โดนสั่งขุดคุ้ยล้วงความลับซะเอง

อีกกรณีที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตในบริษัท ก็คือ การรวมตัวกันของพนักงานสองคนที่สงสัยในความน่าเชื่อถือของเครื่อง Edison และยอดพยากรณ์รายได้ในอนาคตอันสวยหรูที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ทั้งสองคนได้ตัดสินใจคุยกับกรรมการบริหารทั้งสี่คนของบริษัท ซึ่งกรรมการบริหารก็ตัดสินใจรวมตัวกันกดดันให้ Elizabeth Holmes ลงจากตำแหน่ง CEO แต่สุดท้าย Elizabeth Holmes ก็สามารถใช้ความสามารถและเสน่ห์ในการจูงใจของเธอเปลี่ยนใจกรรมการทั้งสี่คนได้ หลังจากนั้นไม่นาน พนักงานกลุ่มที่ก่อจลาจลขนาดย่อมนี้ก็ถูกไล่ออกกันถ้วนหน้า

พนักงานผู้ที่เหลือรอดอยู่ได้ในบริษัท Theranos นั้นไม่จำเป็นต้องมีความสามารถที่เลิศเลอเหนือใคร ขอเพียงแค่พวกเขามี “ความซื่อสัตย์” ขั้นสูงสุดต่อตัวของ Elizabeth Holmes เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

 

Chapter 5: The Childhood Neighbor

ตัวละครคู่ปรับคนสำคัญของ Theranos ได้ปรากฏตัวขึ้นในคราบของ “อดีตเพื่อนบ้าน” ของครอบครัว Holmes เมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาคือ Richard Fuisz เศรษฐีที่ร่ำรวยจากการขายกิจการธุรกิจในด้านสาธารณสุข โดยที่ภรรยาของเขายังคงความสนิทสนมกับคุณแม่ของ Elizabeth Holmes อยู่จนกระทั่งถึงจุดแตกหัก เมื่อ Richard Fuisz ได้รับรู้ถึงบริษัท Theranos และเลือกที่จะฉวยโอกาส [หรือแก้แค้นที่ Elizabeth Holmes ไม่ยอมมาปรึกษาเขาผู้เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้] ด้วยการวิเคราะห์ข้อบกพร่องของสิทธิบัติของเครื่อง Edison และพบเจอช่องโหว่ที่ขาดหายไปอย่าง “ระบบการแจ้งเตือนแพทย์แบบอัตโนมัติ” หลังจากที่ผลตรวจเลือดของคนไข้นั้นแสดงอาการผิดปกติ

Richard Fuisz เลือกที่จะจดสิทธิบัตรจุดบกพร่องนี้ที่เขาเรียกมันว่า “นักฆ่า Theranos” พร้อมๆกับประกาศสงครามกับ Elizabeth Holmes และครอบครัว

 

Chapter 6: Sunny

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญของมหากาพย์ Theranos ก็คือ ชายชาวอินเดียนามว่า Ramesh Balwani หรือ “Sunny” ผู้เป็นทั้งที่ปรึกษาคนสำคัญและคนรักที่แก่กว่าเกือบเท่าตัวของ Elizabeth Holmes [พฤติกรรมการบริหารจัดการแบบยาพิษของเธอนั้นได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจาก Sunny แบบเต็มๆ]

การที่ Sunny เข้ามารับหน้าที่ดูแลงานด้านปฏิบัติการทั้งหมดของ Theranos ตั้งแต่ปี 2009 อย่างเต็มตัวก็ได้เริ่มทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่หมองหม่นอยู่แล้วผุกร่อนลงไปอีก ตั้งแต่ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่ต่ำเตี้ยเลี่ยดินของ Sunny ที่มักถูกพนักงานล้อเลียนอย่างลับ พฤติกรรมการบริหารพนักงานที่ทำโทษพนักงานที่เห็นต่างและให้รางวัลแก่พนักงานที่เลียแข้งเลียขาเก่ง การเก็บความลับของความสัมพันธ์ระหว่าง Sunny กับ Elizabeth Holmes ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อพนักงาน ไปจนถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัว Sunny และ Elizabeth Holmes ที่เริ่มก้าวข้ามเส้นจริยธรรม โดยเฉพาะการที่ทั้งสองคนเลือกที่จะเดินหน้าการให้บริการตรวจเลือดกับคนไข้ด้วยเครื่อง Edison ทั้งๆที่ความผิดพลาดของการตรวจเลือดนั้นยังมีอยู่สูงมาก [ลูกค้ารายแรกของบริษัทอย่าง Pfizer ก็ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาจากความไม่เสฐียรและความยากในการใช้งานของเครื่อง Edison] จนทำให้พนักงานเก่าหลายคนมองว่าบริษัทเริ่มที่จะก้าวข้ามเส้นของจริยธรรมและตัดสินใจลาออก

 

Ramesh “Sunny” Balwani (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)

 

Chapter 7: Dr. J

ในปี 2010 ท่ามกลางสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากวิกฤติทางการเงิน แสงไฟสปอร์ตไลท์ก็ได้หันมาจับจ้องความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจ startup ใน Silicon Valley ที่เป็นเหมือนโอเอซิสแห่งเดียวกลางทะเลทรายการลงทุนที่แห้งแล้ง

หนึ่งในแสงไฟที่กำลังจ้องมองนวัตกรรมของ Theranos อยู่ก็คือ Jay Rosan หรือ “Dr. J” ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมของ Walgreens เครือร้านขายยายักษ์ใหญ่ ผู้ตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ของความฝันอันสวยหรูของระบบการตรวจเลือดที่ทั้งรวดเร็วและสะดวกสบายจนนำมาสู่ “ดีล” ครั้งประวัติศาสตร์ระดับ 50 ล้านเหรียญดอลลาร์ [บวกเงินกู้อีก 25 ล้าน] ในการนำเครื่อง Edison ไปติดตั้งในร้านขายยากลุ่มทดลองเพื่อให้บริการตรวจเลือดกับลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปกว่า 192 ประเภท [ทั้งๆที่ครึ่งหนึ่งของการตรวจเลือดนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยระบบการตรวจเลือดแบบใช้แสงของเครื่อง Edison]

ความน่าอัศจรรย์ใจของดีลระดับยักษ์ครั้งนี้ คือ การที่ Theranos นั้นไม่ต้องแสดงหลักฐานของผลการตรวจเลือดใดๆให้กับทีมผู้บริหารของ Walgreens เลย [เวลาที่ที่ปรึกษาด้านความน่าเชื่อถือซักไซ้ Elizabeth Holmes ก็จะพยายามเปลี่ยนเรื่องและสุดท้ายเธอก็พยายามกดดันให้ที่ปรึกษาคนนั้นออกจากวงสนทนา ซึ่งเธอก็ทำได้สำเร็จ !!] ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นก็คงเป็นภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมร้านขายยาที่ทาง Walgreens ต้องการได้สัญญาแบบ exclusive กับ Theranos อย่างเร่งด่วนที่สุดจนหลงลืมเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดไป [เครือซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อ Safeway ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและก็ยอมตกลงดีลกับ Theranos เช่นกัน]

 

Chapter 8: The miniLab

ข้อตกลงระหว่าง Theranos กับ Walgreens และ Safeway ก่อให้เกิดปัญหาโลกแตกทางวิศวกรรมอีกครั้งเนื่องจากเครื่อง Edison นั้นสามารถตรวจเลือดได้เพียงแค่บางชนิดเท่านั้น จนนำมาสู่การเร่งสร้างเครื่องตรวจเลือดเวอร์ชั่นใหม่ที่ต้องรวมเครื่อง Edison เข้ากับเครื่องตรวจเลือดอีก 3 ประเภท ซึ่งวิศวกรหนุ่มสองคนที่ Elizabeth Holmes ก็สามารถสร้าง prototype ที่มีชื่อว่า miniLab (แล็บทดลองจิ๋ว) แรกได้สำเร็จในปี 2011

แต่ความ “ดราม่า” ของ Theranos นั้นก็ยังคงมีอยู่อย่างเหนียวแน่นตลอดระยะเวลาการประดิษฐ์ ตั้งแต่ การที่ Elizabeth Holmes พยายามบังคับให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างหนักหน่วงทุกวันโดยไม่ต้องหยุด การที่ Sunny ไล่พนักงานออกเป็นว่าเล่นด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ การที่ Elizabeth Holmes จ้างน้องชายและเพื่อนของน้องชายในตำแหน่งที่สูงกว่าวิศวกรทั้งๆที่พวกเขาไร้ซึ่งความสามารถและการที่ Sunny ตัดสินใจสั่งผลิตเครื่อง miniLab ทันที 100 เครื่อง ทั้งๆที่มันยังเป็นเพียงเครื่อง prototype แรกเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายวิศวกรทั้งสองก็ตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมาไม่นาน

 

Chapter 9: The Wellness Play

วิสัยทัศน์ของ Steve Burd ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Safeway ในการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของร้านซูเปอร์มาร์เก็ตให้กลายมาเป็น “ศูนย์สุขภาพ” ด้วยระบบการตรวจเลือดสุดอัจฉริยะของ Theranos ภายในปี 2012 นั้นก็ได้ถูก “โรคเลื่อน” ซ้ำซ้อนโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความล่าช้าของการพัฒนาเครื่อง miniLab และโครงการทดลองระบบตรวจเลือดที่จอมปลอมและล้มเหลวสุดขั้วของ Theranos ที่ใช้วิธีการสร้างแล็บตรวจเลือดลับที่ใช้เครื่องมือการตรวจเลือดแบบมาตรฐาน [แทนการใช้เครื่อง miniLab] ที่ถูกควบคุมโดยพนักงานที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อ “จัดฉาก” การทดลองตรวจเลือดแบบปลอมๆให้กับพนักงานของบริษัท Safeway ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทั้งการหลอกลวงและยังสร้างผลตรวจที่ผิดปกติจำนวนมากอีก [พนักงานที่พยายามเตือนทีมผู้บริหารเรื่องมาตรฐานการทำงานในแล็บก็โดน Sunny ไล่ออกตามระเบียบ]

จนสุดท้าย Steve Burd ผู้หลงใหลในวิสัยทัศน์ของ Elizabeth Holmes ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2013 เพื่อรับผิดชอบกับความล่าช้านี้

 

Chapter 10: Who is LTC Shoemaker?

ความพยายามในการนำเสนอระบบการตรวจเลือดของ Theranos นั้นยังรวมไปถึงโครงการนำเครื่อง miniLab ไปใช้ตรวจเลือดให้กับทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน

ตัวละครสำคัญในบทนี้ก็คือ Lieutenant Colonel David Shoemaker ผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัยและสาธารณสุขของกองทัพสหรัฐ ผู้ตั้งข้อสงสัยในความถูกต้องตามกฎหมายของวิธีการตรวจเลือดในรูปแบบใหม่นี้จนนำมาสู่การตรวจสอบและลงความเห็นว่า Theranos นั้นต้องขออนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐก่อนซึ่งสุดท้ายโครงการนี้ก็ต้องพับลงไป [แต่ระหว่างนั้น Elizabeth Holmes ก็ได้พยายามขู่ฟ้องร้องกับ LTC Shoemaker แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะฝ่ายทหารนั้นไม่เข้าข้างเธอ]

 

Chapter 11: Lighting a Fuisz

สงครามระหว่าง Elizabeth Holmes และครอบครัวของ Richard Fuisz ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2011 เมื่อ Theranos ได้ว่าจ้างทนายฝีมือฉกาจอย่าง David Boies [ด้วยหุ้นของบริษัท Theranos] ผู้เคยว่าความในคดีผูกขาดตลาดของ Microsoft ในการยื่นฟ้อง Richard Fuisz และลูกชายในข้อหาขโมยความลับข้อมูลสิทธิบัตรเมื่อ 5 ปีก่อน [ลูกชายดันบังเอิญทำงานในบริษัทกฎหมายที่ยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องตรวจเลือดของ Theranos] ซึ่งครอบครัว Fuisz นั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

แต่ความโกรธแค้นของ Elizabeth Holmes นั้นก็ทวีความรุนแรงและนำไปสู่การฟ้องร้องกันไปมาอย่างเมามันส์ จนกระทั่งวันหนึ่งที้ Richard Fuisz เริ่มมองเห็นหมากชั้นดีที่สามารถนำมาใช้แก้เกมทั้งหมดได้อย่าง Ian Gibbons นักเคมีผู้จดสิทธิบัตรร่วมกับ Elizabeth Holmes ที่น่าจะมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับ Theranos

 

Chapter 12: Ian Gibbons

Ian Gibbons คือ นักเคมีวิทยาอาวุโสที่เข้าทำงานที่ Theranos ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มในช่วงปี 2005 โดยเขานั้นมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจเลือดที่ Theranos ใช้อยู่ในปัจจุบัน จนกระทั่ง ความเคลือบแคลงสงสัยในการกระทำหลายๆอย่างของ Elizabeth Holmes ได้ผลักดันให้เขาตัดสินใจฟ้องร้องไปที่กรรมการบริษัทที่ดันเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้กับ Elizabeth Holmes ฟัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อจากนั้นก็เดาได้ไม่ยากเลย นั่นก็คือ Ian Gibbons ถูกไล่ออก ก่อนที่จะได้รับการเชิญกลับเข้ามาทำงานใหม่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมและความเห็นที่เคยมีคุณค่าของเขาก็ได้กลายมาเป็นเพียงแค่ลมในสายตาของ Elizabeth Holmes จนในที่สุดก็ได้ทำให้ Ian Gibbons เกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรังตั้งแต่ช่วงปี 2010

ความพยายามของ Richard Fuisz ในการเรียกตัวให้ Ian Gibbons มาเป็นพยานในชั้นศาลนั้นได้กลายมาเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญเมื่อ Ian Gibbons เกิดหวาดระแวงและตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด สิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือการตายของ Ian Gibbons นั้นแทบไม่ได้รับการให้ความสำคัญใดๆโดย Elizabeth Holmes เลย

 

Chapter 13: Chiat/Day

บริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่ Elizabeth Holmes เลือกที่จะใช้วางแผนเปิดตัว Theranos และระบบตรวจเลือดสุดอัจฉริยะนั้น หนีไม่พ้น Chiat\Day ผู้รับผิดชอบแคมเปญโฆษณาอันแสนโด่งดังของ Apple อย่าง 1984 และ Think Different ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสร้างเว็บไซต์ทางการของ Theranos

แต่แน่นอนว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง Chiat\Day และ Theranos นั้นก็ได้เกิดปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับความกังวลในการ “โฆษณาเกินจริง” ของ Elizabeth Holmes ที่ต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า Theranos สามารถตรวจเลือดได้มากกว่า 800 ชนิดภายในเวลา 30 นาทีด้วยความแม่นยำที่มากกว่าระบบการตรวจเลือดทั่วไป [Elizabeth Holmes อ้างว่าข้อผิดพลาดของการตรวจเลือด 93% นั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์ ดังนั้นเครื่องตรวจเลือดของ Theranos ที่ไม่ต้องใช้มนุษย์นั้นจะแม่นยำกว่าแน่นอน !!] ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดและสุดท้าย Theranos ก็ตัดสินใจแก้ไขข้อความที่ดูเกินจริงในไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเปิดใช้งาน

 

Chapter 14: Going Live

เส้นตายในเดือนกันยายน 2013 ที่ Elizabeth Holmes ได้ตกลงกับ Walgreens ในการเปิดให้บริการตรวจเลือดในสาขาทดลองนั้นได้ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ โดยที่เครื่องตรวจเลือด miniLab นั้นยังมีปัญหาอยู่เต็มไปหมดที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการแก้ไข [ส่วนหนึ่งของปัญหานั้นเกิดจากความคลั่ง Apple ของ Elizabeth Holmes ที่จำกัดขนาดของเครื่องตรวจเลือดและแคปซูลเก็บเลือดที่เรียกว่า “Nanotainer” ให้มีขนาดที่เล็กที่สุด] ซึ่งสุดท้าย ทีมผุ้บริหารของ Theranos ก็ได้ตัดสินใจใช้วิธีการ “โกง” แทน ด้วยการจัดตั้งระบบการตรวจเลือดจากเครื่อง Edison เดิมที่สามารถใช้งานได้ในบางส่วนควบคู่กับการดัดแปลงเครื่องตรวจเลือดขนาดใหญ่ของบริษัท Siemens ให้สามารถรอบรับการตรวจเลือดปริมาณที่เล็กลงได้ ซึ่งเลือดที่ถูกเก็บมานั้นก็ต้องได้รับการเจือจางเพื่อเพิ่มปริมาณให้สามารถใช้ตรวจครบทุกโรคได้ แต่นั้นก็หมายถึงความผิดพลาดของผลตรวจนั้นก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

ความกังวลของกลยุทธ์การโกงนี้ก็ได้ผลักดันให้ทีมนักวิทยาศาสตร์บางส่วนตัดสินใจลาออกเพื่อปกป้องตัวเอง จน Sunny ต้องออกมาประกาศว่าพนักงานทุกคนที่ไม่อุทิศตัวเองต่อบริษัทนั้น “ไสหัวออกไปซะ !!”

 

ความร่วมมือระหว่าง Theranos กับ Walgreens (ขอบคุณภาพจาก Wall Street Journal)

 

Chapter 15: Unicorn

การเปิดตัวของ Theranos ต่อสายตาของนักลงทุนและชาวอเมริกันผ่านบทความสัมภาษณ์พิเศษในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ที่ว่าด้วยการสร้างสุดยอดนวัตกรรมที่สามารถปฏิวัติวงการการตรวจเลือดที่ทั้งรวดเร็วและแม่นยำกว่าของ Elizabeth Holmes ประกอบกับการเปิดตัวโครงการร่วมระหว่าง Theranos กับ Walgreens นั้นก็ได้ทำให้บริษัท Theranos กลายมาเป็นจุดสนใจของนักลงทุนใน Silicon Valley

ความสำเร็จด้านการระดมทุนของ Theranos นั้นหนีไม่พ้นกลยุทธ์การผูกมิตรกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งทางแวดวงเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและกฎหมายของ Elizabeth Holmes ที่สามารถหว่านล้อมให้พวกเขาเหล่านั้นมานั่งเป็นกรรมการของบริษัท อาทิ Henry Kissinger นักการเมืองผู้มีชื่อเสียงระดับโลก George Shultz วีรบุรุษแห่งสงครามเย็น Jim Mattis นายพลระดับสูงผู้ที่กำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงกลาโหมในยุคของประธาธิบดี Donald J. Trump และ David Boies ทนายความชื่อดังแห่งวงการ จนในที่สุด Theranos ก็สามารถระดมทุนกว่า 96 ล้านดอลลาร์และผลักดันให้มูลค่าของบริษัททะยานไปสู่ระดับ 9 พันล้านดอลลาร์

Theranos กลายมาเป็นอภิมหายูนิคอร์นได้สำเร็จในปี 2014 และ Elizabeth Holmes ผู้ถือหุ้น Theranos เกินครึ่งก็กลายมาเป็นหนึ่งในอภิมหาเศรษฐีหญิงระดับโลก

 

Chapter 16: The Grandson

เรื่องราวดราม่าหลังการ go live ของโครงการทดลองกับ Walgreens นั้นสามารถสรุปได้ด้วยเรื่องราวของ Tyler Shultz หลานชายของ George Shultz กรรมการบริษัทและผู้สนับสนุนหลักของ Theranos ที่เข้าทำงานในบริษัทและต้องพบเจอกับความ “ไร้ซึ่งจริยธรรม” ของระบบตรวจเลือดของลูกค้า Walgreens ที่เป็นคนจริงๆ ซึ่งเขาเล็งเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงของ Theranos นั้นต่างร่วมใจกัน “ปรับแต่ง” ตัวเลขของความแม่นยำของผลตรวจเลือดที่เกินความจริงและ “โกง” การตรวจสอบมาตรฐานแล็บด้วยการเลือกส่งผลตรวจสอบเลือดจากเครื่องตรวจเลือดของบริษัทอื่นแทนการใช้ผลตรวจเลือดจากเครื่อง Edison ที่ไม่เสถียรและไร้ซึ่งความแม่นยำใดๆ [วิธีการตรวจเลือดด้วยของ Theranos นั้นจะใช้วิธีการแบ่งเลือดตัวอย่างที่เก็บมาในปริมาณเล็กน้อยออกเป็น 6 ส่วนและนำเข้าไปตรวจในเครื่อง Edison ทั้งหมด 3 เครื่อง หรือเครื่องตรวจเลือดของ Siemens และใช้ค่ามัธยฐานเป็นผลตรวจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่แม่นยำแบบขั้นสุดของวิธีการตรวจเลือด ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการเจาะเลือดที่สาขาของ Walgreens และส่งตัวอย่างเลือดเหล่านั้นมาตรวจที่แล็บยิ่งทำให้เลือดในปริมาณน้อยเหล่านั้นเสียหายและใช้งานไม่ได้บางส่วน]

สุดท้าย Tyler Shultz ก็ได้นำความไม่ไว้วางใจนี้ไปเล่าให้กับคุณปู่ของตัวเองฟัง แต่ George Shultz ผู้หลงเชื่อสนิทใจในความเพ้อฝันของ Elizabeth Holmes ก็ปักใจเชื่อเขาและปล่อยให้หลานชายของตัวเองและเพื่อนของเขาลาออกจากบริษัทด้วยความไม่พอใจ

 

Chapter 17: Fame

หลังจากเหนื่อยทั้งกายและใจไปกับการฟ้องร้องกันไปมา สุดท้ายครอบครัวของ Richard Fuisz ก็ตัดสินใจยอมแพ้และถอนสิทธิบัตร “ระบบการแจ้งเตือนแพทย์แบบอัตโนมัติ” เจ้าปัญหานี้ทิ้งไป แต่แล้ว เหตุการณ์ฟ้องร้องกันนี้ก็ได้หลุดไปเข้าหูของนักข่าวนิตรสาร Fortune ที่เริ่มสนใจในเรื่องราวสุดแฟนตาซีของ Elizabeth Holmes หญิงสาวผมบลอนด์หน้าตาดีที่เปลี่ยน “ความกลัวเข็มฉีดยา” [ทั้งๆที่การตรวจเลือดของ Theranos ส่วนใหญ่ยังต้องใช้เข็มฉีดยาอยู่] และเรื่องเศร้าที่เธอต้องสูญเสียคุณลุงไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็ง [ทั้งๆที่ทุกคนในครอบครัวรู้ว่าคุณลุงกับ Elizabeth Holmes นั้นไม่ได้สนิทกัน] ไปเป็นโมเดลธุรกิจการตรวจเลือดรูปแบบใหม่จนตัดสินใจนำเรื่องราวของ Theranos ไปขึ้นหน้าหนึ่งปกนิตยสารในช่วงต้นปี 2014

ไม่นาน ชื่อของ Elizabeth Holmes ก็ดังเป็นพลุแตกในฐานะ “อภิมหาเศรษฐีหญิง” อายุน้อยคนแรกที่สามารถสร้างธุรกิจเทคโนโลยีได้อย่างประสบความสำเร็จ จนนิตยสร Forbes เอารูปของเธอไปขึ้นเป็นปกเล่ม 400 เศรษฐีในสหรัฐอเมริกาในปี 2014

 

Elizabeth Holmes บนหน้าปก Forbes (ขอบคุณภาพจาก Forbes)

 

Chapter 18: The Hippocratic Oath

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวการเปิดโปงความฉ้อฉลของ Theranos นั้นเริ่มต้นจาก “ความโกรธแค้น” ของ Richard Fuisz ที่ต้องการตอบโต้กลับ Elizabeth Holmes หลังจากที่เขาต้องย้อมแพ้ในการฟ้องร้องไป ซึ่งตัวของเขานั้นก็ได้เริ่มสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวงการสาธารณสุขที่มีความเคลือบแคลงสงสัยในความถูกต้องและจริยธรรมของระบบการตรวจเลือดของ Theranos ที่ไม่มีหลักฐานทางการทดลองใดๆรับรองเลยทั้งๆที่ระบบบริการตรวจเลือดนั้นเริ่มใช้งานจริงแล้วที่สาขาของ Walgreens

แต่การที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาคิดนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้น พวกเขาต้องการคนวงในที่กล้ายอมเปิดเผยเรื่องราวสุดลับของ Theranos และคนๆนั้นก็คือ Alan Beam อดีตผู้จัดการแล็บตรวจเลือดที่พึ่งตัดสินใจลาออกไม่นานหลังจากที่เขาเหนื่อยหน่ายกับ “การหลอกลวงผู้บริโภค” ของ Theranos และ Elizabeth Holmes ซึ่ง Alan Beam นั้นก็ได้ตัดสินใจแฉเรื่องราวความชั่วร้ายของอดีตเจ้านายของตัวเองอย่างหมดเปลือก ทั้ง ความไม่แม่นยำของผลตรวจเลือด การโฆษณาเกินความจริง ความล้มเหลวของการพัฒนาเครื่อง miniLab การปกปิดการใช้งานของเครื่องตรวจเลือดปกติที่บริษัทไม่ได้พัฒนาขึ้นเองในการตรวจเลือดเกือบทั้งหมดในเมนูและที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการโกงการตรวจสอบมาตรฐานสาธารณสุขประจำปี เพื่อรักษาคำปฏิญาณ Hippocratic oath ที่ว่าด้วยการยึดมั่นในจริยธรรมของการรักษาโรคที่เขาให้ไว้ก่อนประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมสาธารสุข

Richard Fuisz และพรรคพวกได้ตัดสินใจเลือกที่จะใช้วิธีการส่งเรื่องทั้งหมดนี้ให้กับนักข่าวสาย investigative journalist แห่ง Wall Street Journal ชื่อ John Carreyrou ซึ่งก็คือผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคนจัดการสืบสวนเรื่องทั้งหมดต่อ

 

Chapter 19: The Tip

ผู้เขียน John Carreyrou ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงต้นปี 2015 ไปกับการสัมภาษณ์อดีตพนักงาน Theranos นับสิบคนที่ต่างยอมเปิดเผยเรื่องราวลับสุดยอดให้กับ Wall Street Journal ไม่ว่าจะเป็น Alan Beam, Tyler Shultz และภรรยาของ Ian Gibbons รวมทั้งไล่ตระเวนสัมภาษณ์หมอและผู้ป่วยอีกหลายสิบคนที่มีประสบการณ์อันเลวร้ายจากการใช้บริการตรวจเลือดกับ Theranos ที่ Walgreens ซึ่งคนไข้หลายคนนั้นได้ผลการตรวจที่ผิดพลาดและแย่เกินกว่าความเป็นจริงจนพวกเขาต้องวิ่งวุ่นและเสียเงินมหาศาลไปกับการตรวจรักษาโรคที่ได้รับการเตือนอย่างผิดๆจาก Theranos [นี่ยังไม่รวม กลุ่มคนไข้ที่ป่วยจริงแต่ดันได้รับผลตรวจเลือดที่เป็นปกติซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้]

จนผู้เขียนเริ่มเห็นภาพของ “การโกง” ครั้งใหญ่ที่สุดในวงการ startup แห่ง Silicon Valley

 

ผู้เขียน John Carreyrou และแหล่งข่าวคนสำคัญอย่าง Erika Cheung และ Tyler Shultz (ขอบคุณภาพจาก LA Times)

 

Chapter 20: The Ambush

แต่แล้วเรื่องราวการเปิดโปงกลโกงของ Theranos นั้นก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเมื่อ Tyler Shultz ได้ตกเป็นเป้าหมายของ Theranos ในการฟ้องร้องข้อหาเปิดโปงความลับของบริษัทให้แก่ Wall Street Journal จนนำมาสู่เรื่องราวดราม่าวุ่นวายภายในตระกูล Shultz ที่คุณปู่ George Shultz พยายามกดดันให้หลานชายของเขายอมรับและเปิดเผยแหล่งข่าวทั้งหมดของ John Carreyrou แต่สุดท้าย Tyler Shultz ก็ยังยืนกรานไม่เปิดเผยตัวตนถึงแม้ว่าทีมทนายของ David Boies นั้นขู่ที่จะฟ้องร้องตระกูล Shultz ให้ล้มละลายไปเลยก็ตาม

Tyler Shultz เปรียบเปรยโมเดลธุรกิจของ Theranos ได้อย่างน่าสนใจมากว่าเป็นเหมือน “การสร้างรถบัสขณะที่รถกำลังวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่” ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นได้

 

Chapter 21: Trade Secrets

การพบเจอกันครั้งแรกระหว่างทีมนักข่าวของ Wall Street Journal และทีมทนายความของ Theranos นั้นเป็นไปอย่าง “ไม่เป็นมิตร” ขั้นสูงสุด ซึ่ง Theranos ได้เปรียบเปรยความพยายามในการเปิดโปงข้อมูลของ Wall Street Journal ว่าเป็นเหมือนการบังคับให้ Coke เปิดเผย “สูตรลับทางธุรกิจ” ของตัวเองและขู่ที่จะฟ้องสำนักข่าวอันมีชื่อเสียงแห่งนี้ แต่ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลาไม่กี่วันต่อมา กองทัพทนายของ Theranos และ Sunny ได้ตระเวนข่มขู่พนักงานที่ลาออกไปแล้วที่เข้าข่ายการเป็นแหล่งข่าวให้กับ John Carreyrou ด้วยการขู่ฟ้องร้องถึงขั้นล้มละลายและยังออกตระเวนข่มขู่คุณหมอที่เป็นแหล่งข่าวว่าพวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายชื่อเสียงของคุณหมอทุกคนที่มีชื่อปรากฎอยู่ในบทความของ Wall Street Journal

 

Chapter 22: La Mattanza

แนวทางในการต่อสู้กับทีมข่าวของ Wall Street Journal ของ Elizabeth Holmes ก็คือ การประโคมข่าวดีที่เกิดขึ้นกับ Theranos อย่างต่อเนื่อง ทั้ง การประกาศรับรองมาตรฐานของการตรวจเลือดบางส่วนโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ [ทั้งๆที่ผลการตรวจส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน] การเยือนแล็บตรวจเลือดของรองประธานธิบดี Joe Biden [ที่ Sunny ต้องสร้างห้องแล็บจำลองที่ไม่ได้ใช้งานจริงเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ] การตีซี้นักการเมืองระดับประเทศหลายคน รวมถึงการชักจูงให้ Rupert Murdoch เจ้าของสื่อหลายสำนักรวมทั้ง Wall Street Journal ลงทุนใน Theranos กว่า 125 ล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ [แต่กระนั้น Rupert Murdoch ผู้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ถือใหญ่ของ Theranos ก็ไม่คิดที่จะขัดขวางการทำงานของ John Carreyrou แต่อย่างใด]

ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ของทีมข่าว Wall Street Journal นั้นกลับใช้วิธีการตรงกันข้ามที่พวกเขาเรียกว่า La Mattanza หรือ วิธีการจับปลาแบบโบราณที่ชาวประมงจะเข้าไปยืนในน้ำเป็นเวลานานจนปลาที่อยู่รายรอบเริ่มหายตกใจก่อนที่จะเริ่มฆ่าปลาเหล่านั้นพร้อมๆกัน ซึ่งในที่นี้หมายความว่า John Carreyrou นั้นเลือกที่จะสร้างระเบิดลูกใหญ่ที่สามารถทำลาย Theranos ได้ภายในการโจมตีเพียงครั้งเดียว

 

Chapter 23: Damage Control

บทความแรกที่นำมาสู่การล่มสลายของอาณาจักร Theranos ถูกตีพิมพ์ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2015 ด้วยพาดหัวข่าวที่พุ่งเป้าโจมตี Elizabeth Holmes และระบบการตรวจเลือดของบริษัท startup ระดับ unicorn ที่กำลังโด่งดังว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวลวงโลก พาดหัวข่าวนี้ประจวบเหมาะกับการที่องค์การอาหารและยาสหรัฐเริ่มเคลือบแคลงในกรรมวิธีการตรวจเลือดของ Theranos และตัดสินใจเข้าตรวจสอบแล็บใหม่โดยไม่ได้นัดหมายจนนำมาสู่การระงับใช้งานแคปซูล Nanotainer ซึ่งยิ่งซ้ำเติมเรื่องราวให้แย่ลงมากขึ้นและในที่สุดก็ได้ทำให้ Walgreens ตัดสินใจระงับแผนการขยายขอบเขตการให้บริการของคลินิคตรวจเลือดโดย Theranos

แต่กระนั้น Elizabeth Holmes และทีมงานทนายก็ยังคงไม่ยอมแพ้และประกาศตัวต่อสู้กับ John Carreyrou ตามช่องทางสื่อต่างๆโดยอ้างว่าตัวผู้เขียนนั้นเขียนเรื่องราวที่เกินความจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือไม่ได้ [Elizabeth Holmes ถึงกับพยายามโยงว่าผู้เขียนมีความเกลียดชังเพศหญิงและไม่ต้องการเห็นผู้หญิงประสบความสำเร็จ]

 

Chapter 24: The Empress Has No Clothes

ตะปูตัวสุดท้ายที่ใช้ปิดประตูของ Theranos ก็คือ รายงานของ Centers for Medicare and Medicaid Services (CMS) องค์กรผู้ถูกโกงการตรวจสอบมาตรฐานเมื่อปี 2012 ที่ตัดสินใจเข้าไปตรวจสอบแล็บของ Theranos ใหม่อีกครั้งและสรุปความว่า ระบบการตรวจเลือดของ Theranos นั้นไม่ผ่านมาตรฐานถึง 45 หัวข้อ ตั้งแต่ ผลการตรวจสอบที่ไม่มีความแม่นยำ ระบบควบคุมคุณภาพที่เละเทะ ไปจนถึง การใช้พนักงานที่ไม่มีคุณสมบัติที่เพียงพอ จนในที่สุด Elizabeth Holmes ก็ต้องยอมออกมาขอโทษต่อสาธารณชนในเวลาต่อมา [Theranos พยายามปิดปากทั้ง CMS และ Wall Street Journal แต่ก็ไม่สำเร็จ] และเธอก็ได้มอบตำแหน่งแพะรับบาปให้กับ “อดีตคนรัก” อย่าง Sunny ด้วยการเลิกและไล่เขาออกจากบริษัท

ความพยายามครั้งสุดท้ายของ Elizabeth Holmes ในการกู้ชื่อเสียงของเธอด้วยการเปิดตัวเครื่อง minilab ที่เธออ้างไว้ได้รับการพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ในปี 2016 ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลเมื่อผลการตรวจสอบขององค์การอาหารและยาสหรัฐนั้นไม่ประกาศรับรองระบบตรวจเลือดใหม่นี้ของ Theranos นี้ ซึ่งตัวบริษัทเองก็ถูกสั่งแบนจาก CMS ไม่ให้ตรวจเลือดเป็นเวลาสองปีอีกด้วย

อาณาจักร Theranos ได้ล่มสลายลงท่ามกลางความชุลมุนของการฟ้องร้องของทั้งกลุ่มนักลงทุนที่เกรี้ยวโกรธ ลูกค้าสำคัญอย่าง Walgreens ที่ต้องพบโครงการที่ตัวเองลงทุนกว่า 140 ล้านดอลลาร์ลงและคนไข้จำนวนมากที่อ้างว่าตัวเองได้รับผลเสียจากการตรวจเลือดที่ไม่แม่นยำของ Theranos [คิดดูว่าถ้าการเปิดโปงนี้ไม่เกิดขึ้น ผลร้ายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าที่จะมาใช้บริการตรวจเลือดผ่าน Walgreens กว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศนั้นจะรุนแรงขนาดไหน] จนในที่สุด Theranos ก็ต้องปิดตัวลงไปในปี 2018 พร้อมๆกับการฟ้องร้องคดีระหว่าง Elizabeth Holmes และผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกมากมายที่ยังดำเนินการอยู่ถึงในปัจจุบัน

ไม่แตกต่างจาก Steve Jobs ผู้เป็นไอดอลของเธอ ตัวของ Elizabeth Holmes นั้นก็ได้มีสิ่งที่เรียกว่า Reality Distortion Field หรือ “ภาวะการบิดเบือนความเป็นจริง” ที่สามารถส่งผลให้คนรอบข้างหรือแม้กระทั่งตัวของเธอเองเชื่อในสิ่งที่ชวนฝันและดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในกรณีของ Elizabeth Holmes และ Theranos นั้น สิ่งที่เธอเลือกบิดเบือนนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของชีวิตคนอื่นได้จริงๆ [แนวคิด “fake it until you make it” ของ tech startup ที่มักจะกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ของตัวเองเกินความจริงนั้นถือเป็นเรื่องปกติใน Silicon Valley แต่แก่นของ Theranos นั้นคือบริษัทสาธารณสุขไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี]

ปิดท้าย ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า Elizabeth Holmes นั้นไม่ได้ตัดสินใจลาออกจาก Stanford ในวัย 19 ปีเพื่อที่จะสร้างกลลวงโลกครั้งใหญ่นี้ เธอเคยมีความฝันและความมุ่งมั่นที่จะสร้างเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง เธอแค่สูญเสียมันไประหว่างทางเท่านั้นเอง



<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

Recent Posts