Brief Answers to The Big Questions (2018)
by Stephen Hawking
“The human race does not have a very good record of intelligent behaviour.”
จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร ? พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า ? ปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดกว่ามนุษย์ได้ไหม ? แล้วมนุษย์ต่าวดาวหละมีจริงหรือไม่ ?
Brief Answers to The Big Questions คือ หนังสือเล่มสุดท้ายของ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษชื่อเสียงโด่งดังจากการคิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำ การเป็นนักเขียนหนังสือดาราศาสตร์แบบเข้าใจง่ายและเรื่องราวของชีวิตอันมหัศจรรย์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything
ซึ่งในหนังสือเล่มสุดท้ายนี้ Stephen Hawking (พร้อมกับเพื่อนนักวิทยาศาสตร์และครอบครัว) ได้รวบรวมคำถามใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ “อนาคตของมนุษยชาติ” มาตอบด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดอันหลักแหลมที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกคนครับ
ผู้เขียน Stephen Hawking (ขอบคุณภาพจาก The Verge)
<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>
Question 1 : Is there a God?
“ศาสนา” คือ ความพยายามในยุคแรกเริ่มของมนุษย์ในการตอบคำถามสำคัญต่างๆ อาทิ แสงสว่างบนฟ้าคืออะไรและมนุษย์เกิดขึ้นมาจากไหน ซึ่งคำตอบในอดีตเกือบทั้งหมดนั้นมักจะมีส่วนเชื่อมโยงกับ “พระเจ้า” ผู้เป็นผู้สร้างของทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่แล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบ “กฎของธรรมชาติ (laws of nature)” ที่สามารถใช้อธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทั้งภายในอะตอม ร่างกายมนุษย์ สิ่งรอบตัว โลก ดวงดาวและจักรวาล โดยไม่มีข้อยกเว้น [กฏการเคลื่อนที่ของ Newton เป็นจริงไม่ว่าจะที่โลกหรือบนดาวอังคาร] และนั่นก็ทำให้ “พระเจ้า” ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตหน้าตาเหมือนมนุษย์นั้นต้องเคารพกฎทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้และตกอยู่ในสถานะ “ไม่มีงานทำ”
Stephen Hawking ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องการเกิดขึ้นของจักรวาลที่สามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยทฤษฎี Big Bang ที่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สืบย้อนอดีตของการระเบิดครั้งใหญ่ได้จนถึงจุดเริ่มต้นที่จักรวาลนั้นเป็นเพียงแค่ “หลุมดำ” ความหนาแน่นสูงเป็นอนันต์ที่ซึ่ง “เวลา” ไม่สามารถถือกำเนิดขึ้นได้ การระเบิดของจักวาลนั้นได้สร้างมวล พลังงานและพื้นที่ว่างเปล่าขึ้นมาก็จริง แต่มันก็ยังสร้างพลังงานติดลบ (negative energy) ขึ้นมาหักล้างกับพลังงานและมวลทั้งหมด (Einstein พิสูจน์ว่ามวลกับพลังงานนั้นสลับรูปกันได้จากสูตร E = mc2) จนเมื่อเรารวมทุกอย่างของจักรวาลเข้าด้วยกันแล้วจะได้คำตอบเป็นศูนย์ ดังนั้น จักรวาลทั้งหมดเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นจากพระเจ้าแต่อย่างใด (พระเจ้าจะเกิดขึ้นมาก่อนการเกิดของเวลาไม่ได้!!)
ปิดท้าย Stephen Hawking ยังพูดติดตลกว่าถ้าพระเจ้ามีอยู่จริง ทำไมท่านถึงต้องคิดค้นหลักการของธรรมชาติที่เข้าใจได้ยากมากมายอย่าง M-Theory ใน 11 มิติขึ้นมาด้วยเล่า (โปรดอย่าถามผมว่ามันคืออะไร…)
Question 2 : How did it all begin?
ในอดีต การโต้แย้งถึงจุดกำเนิดของมนุษย์นั้นถุกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ระหว่าง ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีจุดกำเนิดโดยมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้ที่เชื่อว่าโลกและมนุษยชาติคงอยู่อย่างอนันต์ [Aristotle เชื่อว่าจักรวาลคงอยู่ถาวรและความก้าวหน้าของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นเป็นวงจรที่วนเวียนระหว่างพัฒนาการและหายนะ เช่น น้ำท่วมโลก]
การค้นพบหลักฐานของ “การขยายตัวของจักรวาล” โดย Edwin Hubble เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนได้ทำให้มนุษย์ตระหนักถึง “จุดกำเนิด” ของจักรวาลเมื่อประมาณ 13.8 พันล้านปีก่อนจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) และหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าจักรวาลนั้นสามารถเกิดขึ้นเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังของใคร (อ่านเพิ่มเติมที่ Question 1.)
Stephen Hawking ยังให้ความเห็นว่า “การถามถึงสถานะของจักรวาลในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุการณ์ Big Bang ที่เป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งและเวลานั้นไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด”
แผนภาพของเหตุการณ์หลังการระเบิดครั้งใหญ่ (ขอบคุณภาพจาก Nautilus)
Question 3 : Is there other intelligent life in the universe?
เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 พันล้านปีก่อน หลังจากที่จักรวาลค่อยๆเย็นตัวลงจากการระเบิดครั้งใหญ่ ธาตุหนักที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมของธาตุ Hydrogen และ Helium ในใจกลางของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัดก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งการระเบิดของดาวฤกษ์ (supernova) เหล่านั้นก็ได้ทำให้ธาตุที่มีความสำคัญต่อการสร้างสิ่งมีชีวิตอย่าง Carbon, Oxygen และ Nitrogen ได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวาล
และด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ ธาตุเหล่านั้นก็ได้รวมตัวกันเป็นโมเลกุลของ DNA ที่มีลักษณะโด่นเด่นแบบ “เกลียวคู่” ที่เกลียวข้างหนึ่งจะสามารถจับกับเกลียวที่มีลักษณะตรงข้ามกันอย่างสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้ DNA สามารถคัดลอกตัวเองเพื่อทำการสืบพันธุ์อันเป็นคุณสมบัติเด่นของสิ่งมีชีวิตได้ [โลกมีสถานะที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเมื่อประมาณ 500 ล้านปีก่อน RNA ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ DNA อย่างง่ายแบบเกลียวเดียวอาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญและค่อยๆพัฒนาเป็น DNA ก็ได้]
วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกนั้นเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3,500 ล้านปีก่อนและใช้เวลานานกว่า 2,500 ล้านปีในการสร้างสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ต่อจากนั้น วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก็ได้เร่งความเร็วเริ่มต้นด้วยการเกิดขึ้นของปลาในอีกไม่ถึง 1,000 ล้านปีต่อมาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอีกเพียงแค่ 100 ปีต่อมา ซึ่งในที่สุดมนุษย์แบบปัจจุบันก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอันนำมาซึ่งการวิวัฒนาการรูปแบบใหม่ภายนอก DNA ที่รวดเร็วกว่าเดิมด้วยการ “ส่งต่อความรู้” ผ่านการใช้ภาษาและเครื่องมือต่างๆ เช่น หนังสือและการศึกษา (แต่เดิมวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นไปตามกฎ Natural Selection ของ Charles Darwin ที่ว่าด้วยการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้)
ซึ่งการวิวัฒนาการในรูปแบบใหม่โดยที่มนุษย์ยังมี DNA และสัญชาตญาณของ “คนป่า” นั้นมีความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติที่อาจล่มสลายจากสงครามนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม… Stephen Hawking หวังว่าเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมจะช่วยแก้ไขยีนคนป่าออกไปจากตัวมนุษย์ภายในศตวรรษนี้… มนุษยชาติจะกลายมาเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ฉลาด” ในที่สุดผ่านการวิวัฒนาการที่ออกแบบได้เอง [สำหรับท่านที่สนใจในประเด็นนี้อ่านต่อได้ใน “สรุปหนังสือ Homo Deus”]
ส่วนความสามารถในการเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเดินทางระหว่างดวงดาว (interstellar species) นั้นยังมีข้อจำกัดของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่กำหนดว่าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถเดินทางเร็วกว่าแสงได้ซึ่งทำให้การเดินทางไปถึงแกนกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้นต้องใช้เวลาถึง 50,000 ปี (โอกาสที่รูหนอนจะเกิดขึ้นจริงเหมือนภาพยนตร์ sci-fi นั้นคงเป็นไปได้ยากมากๆ) มนุษย์อาจมีความจำเป็นในการพัฒนารูปแบบของชีวิตใหม่ในสภาพของเครื่องจักรที่ไม่มีวันตาย
ปิดท้ายกับคำถามที่ว่า “ทำไมเรายังไม่เคยพบเจอหลักฐานของการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาว” ทั้งๆที่พวกเขามีโอกาสสร้างอารยธรรมล่วงหน้ามนุษย์มากกว่า 5,000 ล้านปี (Stephen Hawking เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวยังไม่เคยมาเยือนโลก) คำตอบนั้นมีหลายทฤษฎี อาทิ
Question 4 : Can we predict the future?
ในอดีต เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและถูกสังเกตโดยมนุษย์ เช่น ฟ้าผ่า นั้นล้วนได้รับการเชื่อถือว่าเป็นฝีมือของเทพเจ้าที่มนุษย์ต้องคอยให้ความเคารพบูชาด้วยวิธีการต่างๆนานาเพื่อให้มีแต่เรื่องดีๆเกิดขึ้น
ต่อมาในยุคสมัยใหม่ วิทยาการหลายแขนงที่เริ่มต้นจากดาราศาสตร์ก็ได้เริ่มที่จะมองเห็นถึง “ความเป็นปกติ (regularity)” ของเหตุการณ์ต่างๆและได้พัฒนาหลักการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากปัจจัยที่สังเกตเห็นได้ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Pierre-Simon Laplace นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสก็ได้ให้จำกัดความแนวทางการพยากรณ์ยุคใหม่ไว้ว่า “ถ้าเรารู้ตำแหน่งและความเร็วของทุกอนุภาคในจักรวาล เราจะสามารถพยากรณ์พฤติกรรมของพวกมันในอดีตหรืออนาคตได้อย่างแม่นยำ”
ซึ่งแนวคิดของ Laplace นั้นไม่สามารถใช้งานได้กับอนุภาคขนาดเล็กระดับควอนตัมตามที่ Werner Heisenberg นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้คิดค้น The Uncertainty Principal ที่ว่าด้วยการที่เราไม่สามารถวัดตำแหน่งและความเร็วของอนุภาคระดับควอนตัมได้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าการวัดค่าของอนุภาคระดับควอนตัมนั้นจะต้องมีการใช้แสงเป็นตัวนำการมองเห็นซึ่งแสงเองก็เป็นอนุภาคระดับควอนตัมที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าของอนุภาคที่จะทำการวัด
Stephen Hawking เห็นด้วยกับหลักการที่ว่าถ้าเรารู้ข้อมูลทุกอย่างและกฎของธรรมชาติทั้งหมดจะทำให้เราสามารถพยากรณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ แต่เขาก็เชื่อว่าการรู้ข้อมูลทุกอย่างเป็นเรื่องที่ยากมากๆจนแทบจะเป็นไปไม่ได้และการคิดค้นสมการที่ใช้ในการพยากรณ์เหตุการณ์ที่ซับซ้อนเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ยากมากๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับควอนตัมหรือหลุมดำก็จะยิ่งดูเป็นไปไม่ได้เลย
Question 5 : What is inside a black hole?
ธรรมชาติของ “หลุมดำ” นั้นมีความแปลกยิ่งกว่าทุกสิ่งที่นิยาย sci-fi เคยฝันถึง หลุมดำนั้นถูกพูดถึงเป็นทฤษฎีครั้งแรกโดย John Michell แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1783 ที่กล่าวว่า “ดาวบางดวงที่มีมวลเยอะกว่าดวงอาทิตย์มากๆสามารถสร้างแรงดึงดูดที่สูงมากจนแสงไม่สามารถที่จะหลุดรอดออกไปได้” ซึ่งตอนนั้นถูกเรียกว่า dark stars
ต่อมาทฤษฎีการมีอยู่ของหลุมดำก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและสามารถพิสูจน์ได้ว่าในจักรวาลนั้นมีดาวขนาดใหญ่ยักษ์จำนวนมาก (ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกมีหลุมดำที่มีมวลหนักกว่าดวงอาทิตย์ 4,000,000 เท่า) ที่มีแรงดึงดูดขนาดมหาศาลจนทำให้ดาวเหล่านั้นเกิดการยุบตัวลงสู่แกนกลางกลายเป็นจุด Singularity ที่มีความหนาแน่นเป็นอนันต์และเป็นจุดสิ้นสุดของเวลา (ขอบของหลุมดำเรียกว่า Event Horizon คือจุดสุดท้ายก่อนที่แสงและสรรพสิ่งทั้งหมดจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในใจกลางของหลุมดำที่ไม่มีใครรู้ว่ามีหน้าตาแบบไหน)
ปัจจุบันหลักการทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถทำความเข้าใจ “ภายใน” ของหลุมดำได้นอกจากการรู้ถึงมวล ขนาดประจุไฟฟ้าและโมเมนตัมการหมุน แต่ Stephen Hawking ก็เขื่อว่ามนุษย์จะเข้าใจหลุมดำมากขึ้นเร็วๆนี้ [หนึ่งในงานวิจัยทางดาราศาสตร์คือการมองหา “หลุมดำไมโคร” ที่มีคุณสมบัติในการปลดปล่อยพลังงานที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ไม่แน่ในอนาคต โลกอาจจะสร้างหลุมดำขนาดเล็กมาโคตรรอบโลกเพื่อดูดพลังงานไปใช้ก็ได้]
ภาพของหลุมดำที่พึ่งถ่ายได้โดยกล้อง Event Horizon Telescope ในปี 2019
Question 6 : Is time travel possible?
ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (general relativity) ของอัจฉริยะ Albert Einstein ที่ว่าด้วยการ “บิดงอ” ของ “กาลอวกาศ (space-time)” [จักรวาล 4 มิติที่มนุษย์อาศัยอยู่ที่ประกอบด้วยตำแหน่งทั้ง 3 มิติและมิติของเวลา] จากอิทธิพลของมวลและพลังงานนั้นได้รับการพิสูจน์ถึงความถูกต้องมาแล้วจากการสังเกตการโค้งงอของกาลอวกาศใกล้ดวงอาทิตย์
ซึ่งทฤษฎีการบิดงอของกาลอวกาศนี้ได้ทำให้การเดินทางข้ามเวลาและการเดินทางข้ามทะลุอวกาศผ่านรูหนอน (wormhole) ที่เชื่อมต่อกาลอวกาศที่อยู่ห่างไกลกันนั้นเป็นจริงขึ้นได้ มีข้อแม้แค่มนุษย์ต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถ “พับ” กาลอวกาศตามที่ต้องการได้และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย [อีกวิธีคือของการเดินทางข้ามเวลาคือการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกินกว่าแสงเพื่อทะลุไปยังอดีตซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ตามหลักการทางฟิสิกส์ การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสงนั้นก็จะทำให้เวลานอกยานอวกาศผ่านไปเร็วกว่าในยานหลายร้อยพันเท่า แต่นั่นก็เท่ากับว่ามันไม่มีประโยชน์เช่นกัน]
ที่สำคัญ หากการเดินทางข้ามเวลานั้นมีอยู่จริง ปัญหาขัดแย้งทางตรรกะ (paradox) ต่างๆก็จะเกิดขึ้นมากมาย อาทิ การเดินทางกลับไปฆ่าพ่อแม่ตัวเองจะทำให้เกิดอะไรขึ้น ทำไมเรายังไม่เคยเห็นนักท่องเที่ยวจากโลกอนาคตและทำไมพวกเขาถึงไม่ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีมาให้พวกเราซักที (Stephen Hawking มั่นใจว่าธรรมชาติความขี้อวดเก่งของมนุษย์จะทำให้นักย้อนเวลาบางคนแอบเปิดเผยความลับบ้าง ถึงขนาดที่เขาเคยจัดงานเลี้ยงคนเดินทางข้ามเวลาด้วยการส่งบัตรเชิญหลังจากวันงาน แต่ก็ไม่มีใครมา…)
ภาพจำลองการบิดกาลอวกาศเพื่อสร้างรูหนอน (ขอบคุณภาพจาก Space.com)
Question 7 : Will we survive on Earth?
การอยู่รอดของมนุษยชาติบนโลกในมุมมองของ Stephen Hawking นั้นมีความเสี่ยงหลักๆอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่ ความเสี่ยงภายนอกโลกจากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่โลกในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันมหันตภัยในรูปแบบนี้ (มนุษย์จึงควรรีบสร้างที่อยู่อาศัยในดาวดวงอื่นๆเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์) และความเสี่ยงภายในโลกที่มีสองประเด็นใหญ่คือ “สงครามนิวเคลียร์” และ “ภาวะโลกร้อน” ที่ล้วนสามารถแก้ไขได้ด้วยความร่วมมือกันของมนุษยชาติทั้งมวล (แต่ปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจต่างมัวแต่สร้างความขัดแย้งระหว่างกันจนกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ต้องเลื่อน doomsday clock ให้เข้าใกล้เที่ยงคืนเข้าไปอีก)
อย่างไรก็ตาม Stephen Hawking ยังมองว่าโลกในสภาพปัจจุบันยังคงสามารถอยู่รอดได้ต่อไปและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เขาหวังว่ามนุษย์จะสามารถค้นพบทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง (theory of everything ที่สามารถอธิบายหลักการของธรรมชาติทั้งระดับควอนตัม ระดับโลกและระดับจักรวาลได้ในสมการเดียว) ภายในสหัสวรรษหน้า
Question 8 : Should we colonize space?
การสำรวจอวกาศที่ถึงแม้จะต้องใช้ทุนมหาศาลที่สามารถเอาไปแก้ปัญหาอื่นๆภายในโลกได้ แต่ Stephen Hawking ยืนยันว่ามัน “คุ้มค่า” แน่นอน (งบประมาณด้านอวกาศนั้นน้อยมากๆถ้าเทียบกับ GDP โลก) ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์จำเป็นที่จะต้องมีที่อยู่อาศัยที่อื่นนอกเหนือจากโลกเพียงใบเดียวเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์และการค้นพบสิ่งใหม่ในอวกาศจะนำพามาซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เขาหวังว่าการออกเดินทางไปอวกาศจะนำมาสู่การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ
การตั้ง “โคโลนี” ของมนุษย์ในอวกาศนั้นมีดาวที่มีความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยดังต่อไปนี้
หนึ่งในความหวังของการเดินทางทะลุอวกาศด้วยความเร็วสูงใกล้แสงคือโปรเจค Breakthrough Starshot ที่มีเป้าหมายในการส่งหุ่นยนต์นาโนบอทติด light beam ที่สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 1 ใน 5 ของความเร็วแสงและสามารถเดินทางไปยัง Proxima b ได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้นเอง…
ภาพจำลองการส่งยานอวกาศแบบนาโนของโปรเจค Breakthrough Starshot (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)
Question 9 : Will artificial intelligence outsmart us?
ตลอดระยะเวลากว่า 13.8 พันล้านปี สิ่งมีชีวิตบนโลกได้มีการวิวัฒนาการจากสัตว์เซลล์เดียวจนกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีระบบร่างกายซับซ้อนและเกิด “ความตระหนักรู้ (consciousnesses)” ขึ้นอย่างมนุษย์สายพันธุ์ Homo sapiens ในปัจจุบัน ซึ่ง Stephen Hawking เชื่อว่าการพัฒนาการทางปัญญานั้นสามารถพัฒนาได้ต่อไปไม่ว่าจะเป็นในรูปของสิ่งมีชีวิตหรือคอมพิวเตอร์
และไม่ต่างกับที่ Albert Einstein ฉลาดกว่าพ่อแม่ของเขา “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ A.I. นั้นก็มีโอกาสที่จะฉลาดกว่ามนุษย์ (ไม่มีกฎของธรรมชาติข้อใดบอกว่าการเรียงตัวของสมองมนุษย์นั้นไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือทำให้ดีกว่าได้) และ A.I. รุ่นถัดๆไปที่พวกมันสร้างก็จะยิ่งฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น มนุษยชาติจึงต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า A.I. จะมีเป้าหมายสอดคล้องกับพวกเราและพวกเราจะต้องมีแผนการในการพัฒนา A.I. ที่สามารถสร้างประโยชน์อันมากมายมหาศาลให้กับพวกเราอย่างระมัดระวัง
Question 10 : How do we shape the future?
ยอดอัจฉริยะ Albert Einstein คือผู้ที่สร้างการปฏิวัติทางความคิดของมนุษย์ที่มีต่ออวกาศ กาลเวลา พลังงานและสสาร ว่าแต่ “ไอเดียอัจฉริยะ” ของเขานั้นเกิดขึ้นได้จากอะไร
Stephen Hawking ให้ความเห็นว่า “จินตนาการ (imagination)” นั้นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เหมือนอย่างที่ Einstein ในวัย 16 ปีจินตนาการถึงการนั่งไปบนลำแสงนั้นจะทำให้เขามองเห็นแสงเป็นคลื่นที่หยุดนิ่งจนนำมาสู่การคิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ (general relativity) ในเวลาต่อมา
ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาทั้งการขาดแคลนทรัพยากร ภาวะโลกร้อน สงครามทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความรู้ทางด้าน “วิทยาศาสตร์” นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่สุดในการสร้างโลกที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ (Stephen Hawking เชื่อว่ามนุษย์มีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ การสร้างโคโลนีในดาวดวงอื่นกับการพัฒนา A.I. ที่มีประสิทธิภาพสูงจนสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกในปัจจุบันได้) การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โลกที่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งหมดตกไปอยู่กับคนแค่เพียงกลุ่มเดียวนั้นอันตรายและน่าหดหู่ใจเป็นอย่างมาก [ถ้าถามว่าเทคโนโลยีที่ Stephen Hawking อยากเห็นในเร็วๆนี้คืออะไร คำตอบก็คือ “นิวเคลียร์ฟิวชั่น” ที่สามารถสร้างพลังงานที่สะอาดได้อย่างไม่จำกัดและปลอดภัย]
ปิดท้าย Stephen Hawking ฝากให้มนุษย์ทุกคน “จงเงยหน้าขึ้นมองดวงดาว อย่ามัวแต่มองไปที่เท้าของตัวเอง จงทำความเข้าใจกับสิ่งที่เห็นตรงหน้าและคิดทบทวนดูว่าจักรวาลนั้นดำรงอยู่ได้อย่างไร จงสงสัยอยู่ตลอดเวลาและปล่อยให้จินตนาการของเราสร้างโลกแห่งอนาคต”
ขอคารวะและ Rest In Peace ครับ
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]