Categories: BooksThai Books

[สรุปหนังสือ] China Next Normal : วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

 

 

[สรุปหนังสือ] China Next Normal : วิกฤตและโอกาสของจีนในโลกหลังโควิด

by อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

“การระบาดของ COVID-19 เป็นเสมือนสงครามที่เปลี่ยนดุลอำนาจโลก”

 

ท่ามกลางศึกสงครามภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองขั้วอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน วิกฤตระลอกใหม่อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ลุกลามข้ามชายแดนทวีปอย่างรวดเร็วนั้นได้เร่งผลักดันให้โลกของเราตกอยู่ใน “ความโกลาหล” ครั้งใหญ่

“บุญเก่า” สามประการที่เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นกำลังเหือดแห้งลง

  • จีนไม่ใช่ “แหล่งแรงงานราคาถูก” อีกต่อไป : เนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานที่เป็นผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวที่เริ่มผลักดันให้โครงสร้างประชากรของจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น
  • จีนในฐานะ “โรงงานของโลก” กำลังเผชิญหน้ากับสงครามการค้า : ที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกเริ่มหันมาต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์และมองจีนเป็นภัยคุกคามที่ต้องถูกจำกัดการเติบโตโดยมุ่งเน้นไปที่การกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ
  • จีนไม่สามารถอาศัย “การลงทุนของภาครัฐ” เป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจหลักได้เหมือนในอดีต : เพราะจีนในปัจจุบันได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างเมืองใหญ่ ถนน ท่าเรือ สนามบินและรถไฟความเร็วสูงไปจนอิ่มตัวแล้ว

China Next Normal คือ หนังสือเล่มที่ 3 ของอาจารย์ “อาร์ม ตั้งนิรันดร” ที่นำเสนอ “วิกฤติ” และ “โอกาส” ของประเทศจีนในยุค “ความปกติครั้งถัดไป (next normal)” ที่จีนและประธานธิบดี “สีจิ้นผิง” ต้องเริ่มสร้าง “แต้มบุญครั้งใหม่” ทั้งการปลดปล่อยพลังการบริโภคภายในประเทศและการสร้างขุมกำลังทางเทคโนโลยีแบบ 5.0 เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวท่ามกลางสงครามการชิงดุลอำนาจของโลกกับคู่ปรับสำคัญอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา

ขอเชิญผู้ที่สนใจเรื่องราวของประเทศจีนและภูมิรัฐศาสตร์โลกอ่านสรุปหนังสือ China Next Normal ที่ผมคัดมาเฉพาะบางส่วนได้เลยครับ !!

 


 

วิกฤตอู่ฮั่นคือคันฉ่องส่องสังคมจีน

วันที่ 23 มกราคม 2020 คือ “วันแห่งประวัติศาสตร์” ที่เปลี่ยนแปลงประเทศจีนไปอย่างมีนัยสำคัญไม่ต่างกับเหตุการณ์ 9/11 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลจีนได้ประกาศสั่งปิด “อู่ฮั่น” เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ 2019 หรือ “COVID-19” ที่เริ่มควบคุมไม่อยู่หลังจากที่ข่าวคราวการแพร่ระบาดถูกปกปิดเป็นระยะเวลานานทั้งจากปัญหาความเข้าใจในโรคที่ยังน้อยและการรอคอยการอนุมัติจากรัฐบาลกลางที่เห็นว่าการแพร่ระบาดอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง [จนต่อมา รัฐบาลจีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากโลกตะวันตก]

แต่แล้ว เมื่อรัฐบาลกลางตัดสินใจใช้ “ยาแรง” ในการต่อกรกับโรคระบาดสายพันธุ์นี้ ทั้ง การปิดเมืองขนาดใหญ่อย่างเด็ดขาด การสร้างโรงพยาบาลสนามที่เสร็จภายในไม่กี่วัน  การตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางและการระดมแพทย์จากทั้งประเทศมาที่อู่ฮั่น จนท้ายที่สุด รัฐบาลจีนก็สามารถควบคุมโรคได้ภายในช่วงเดือนมีนาคมและทำให้ประเทศจีนหลุดพ้นจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นประเทศแรกๆ

ความล้มเหลวในการหยุดยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงเริ่มต้นและความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมานั้นแสดงให้เห็นถึง “ลักษณะเด่น” ของสังคมจีนยุคปัจจุบัน 4 ประการ ได้แก่ 

  1. ความเข้มแข็งและอำนาจมหาศาลของรัฐบาลกลาง : รัฐบาลกลางของประเทศจีนสามารถตัดสินใจใช้ยาแรงได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาของการที่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นต่างหวาดกลัวและไม่กล้าตัดสินใจแทนรัฐบาลกลาง จนไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลการระบาดตั้งแต่แรกและทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชากรชาวจีนนั้นมีความชื่นชอบในรัฐบาลกลางของจีนเป็นอย่างมากและรังเกียจรัฐบาลท้องถิ่นที่มักเป็นแพะรับบาปของการควบคุมของรัฐบาลกลาง ตรงกันข้ามกับ ชาวอเมริกันที่มักชื่นชอบรัฐบาลท้องถิ่นและรังเกียจประธานธิบดีที่พวกเขาเองไม่ได้เลือก [ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลกลางของสหรัฐไม่สามารถใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการควบคุมโรคได้]
  2. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ของจีน : สังคมของจีนในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS ในปี 2003 อย่างมาก จีนได้กลายมาเป็นสังคมแบบ 5.0 ที่มีเทคโนโลยี A.I. และข้อมูลอันมหาศาลเชื่อมโยงระหว่างประชากรและระหว่างเมืองซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี
  3. การแก้ไขปัญหาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ : แผนการควบคุมโรคของประเทศจีนนั้นถูกนำโดย “นักวิชาการ” อย่างสมบูรณ์โดยไม่มีความวุ่นวายด้านการเมืองมาเจือปน แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ COVID-19 กลายมาเป็นเกมการเมืองระหว่าง Trump กับ Biden
  4. ความมั่นคงที่สำคัญกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ : รัฐบาลจีนมองความสำเร็จในการควบคุมโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรทั้งประเทศเป็นเรื่องใหญ่มาก หากล้มเหลว ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หากสำเร็จ รัฐบาลจีนก็จะมี “ความชอบธรรม” ในการบริหารประเทศมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลจีนสามารถสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้อย่างเด็ดขาด

 

ทีมแพทย์ที่ถูกส่งมาปฏิบัติการที่เมืองอู่ฮั่น (ขอบคุณภาพจาก China Daily)

 

อย่าให้โควิดสูญเปล่า

เมื่อฤดูหนาวอันหนาวเหน็บอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้มาเยือน พ่อค้าม้าสามคนต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนม้าอย่างหนัก พ่อค้าม้าคนแรกคิดว่าภาวะการขาดแคลนม้าจะอยู่อย่างถาวรและตัดสินใจหวนกลับบ้านเกิดเพื่อไปทำนา พ่อค้าม้าคนที่สองดึงดันที่จะคงอาชีพการค้าม้าอยู่จึงทุ่มเทเดินทางไปยังเมืองต่างๆเพื่อหาม้ามาขายให้ได้ด้วยทุกวิถีทางซึ่งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ตรงกันข้าม พ่อค้าม้าคนที่สามกลับเลือกที่จะเอาเงินที่เหลืออยู่ไปลงทุนปลูกหญ้าพันธุ์ดีที่ม้าชอบกิน เมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไป ทุ่งหญ้าของพ่อค้าคนที่สามก็เต็มไปด้วยหญ้าพันธุ์ดีและม้าที่หวนกลับมากินหญ้าจำนวนมาก

นิทานโบราณของจีนเรื่อง “พ่อค้าม้าในฤดูหนาว” สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการไขว่คว้า “โอกาส” จาก “วิกฤต COVID-19” ของประเทศจีนได้เป็นอย่างดีผ่านการผลักดันเชิงนโยบายทั้งหมด 3 ประการของรัฐบาลจีน

  1. การใช้ COVID-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม digital : มีคำพูดที่แพร่หลายในประเทศจีนตอนนี้ว่า “เมื่อเกิดภัยธรรมชาติในอดีต รัฐบาลแต่ละเมืองมักรับมือด้วยการขุดคลอง แต่ภัยไวรัส COVID-19 รอบนี้ รัฐบาลแต่ละเมืองกลับเลือกรับมือด้วยก้อนเมฆ (cloud)” ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเชื่อมโยงข้อมูลของเมืองเพื่อสร้างสมองการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ มากไปกว่านั้น ไวรัส COVID-19 ยังช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
  2. การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตด้วย : แตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในปริมาณที่มากเกินความต้องการจนก่อให้เกิดปัญหาเมืองร้างไร้ผู้อยู่อาศัยในหลายพื้นที่ การลงทุนโดยภาครัฐในรอบนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ทั้ง A.I., ระบบ cloud และ 5G
  3. การเร่งส่งเสริมและปลดปล่อยพลังการบริโภคภายในประเทศ : วิกฤต COVID-19 เป็นตัวตอกย้ำถึงภาคการส่งออกของประเทศจีนที่กำลังตกต่ำลง ซึ่งรัฐบาลจีนก็รับทราบปัญหานี้เป็นอย่างดีและได้ทุ่มเทกำลังไปกับการ “เร่งเครื่อง” การบริโภคภายในประเทศผ่านนโยบายสำคัญมากมาย อาทิ
    • การให้ความสำคัญกับอัตราการจ้างงานเหนือกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการเน้นย้ำอย่างมากในการแถลงนโยบายของนายก “หลี่เค่อเฉียง” ในปี 2020
    • การยกระดับคุณภาพของสินค้าในประเทศให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคชาวจีนมากยิ่งขึ้นเพื่อแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติที่กุมตลาดระดับบนไว้มากมาย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม luxury
    • การโยกย้ายประชากรในภาคเกษตรกรรมให้มาอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อยกระดับรายได้ของประชากรในส่วนที่ยากจนที่สุดของประเทศและยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเกษตรจากจำนวนพื้นที่ต่อชาวนาที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
    • การเร่งสร้างสวัสดิการให้แก่คนยากจนในเมืองให้เริ่มมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ราคาถูกและสวัสดิการด้านสุขภาพ
    • การกระจายความเจริญของเมืองขนาดใหญ่ไปสู่เมืองรายรอบ อาทิ ยุทธศาสตร์ “Jing-Jin-Ji” ที่รัฐบาลจีนพยายามเชื่อมโยงเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง (Bei “Jing”) และเทียนจิน (Tian “Jin”) เข้ากับมณฑลเหอเป่ย (ชื่อย่อ “Ji”) ที่ยังมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำอยู่
    • การอัดฉีดเงิน อาทิ คูปองเงินสด ไปสู่ภาคบริการที่มักเข้าถึงมือของประชาชนระดับกลางและระดับล่างที่มีโอกาสนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยมากกว่าการอัดฉีดเงินให้กับรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มักจะตกถึงมือประชาชนระดับบนเพียงไม่กี่ราย
    • การส่งเสริมเศรษฐกิจยามราตรีให้หัวเมืองใหญ่กลายเป็นนครที่ไม่หลับใหล ไม่แพ้ London และ New York City

 

ประธานธิบดีสีจิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง (ขอบคุณภาพจาก Wallstreet Journal)

 

ธุรกิจจีนรับมือกับโควิดอย่างไร ?

เมื่อธุรกิจจีนเริ่มรับรู้ว่าวิกฤต COVID-19 นั้นไม่ใช่หนังสั้นที่เจ็บแต่จบแต่กลับเป็น “หนังม้วนยาว” ที่ท้าทายต่อความอยู่รอด ภาคธุรกิจของจีนที่ได้รับการยอมรับถึงความยืดหยุ่นและทักษะการปรับตัวอันยอดเยี่ยมจึงเริ่มมีไอเดียทางธุรกิจที่น่าสนใจมากมายที่ภาคธุรกิจของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ อาทิ

  • การสร้างพันธมิตรและถ่ายโอนแรงงาน : สังคมธุรกิจของจีนนั้นมีชื่อเสียงมานานในเรื่องความสัมพันธุ์เชิงเครือข่ายและการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในกลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งวิกฤติ COVID-19 นั้นก็ได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในการ “พยายามจ้างแรงงานต่อไป” อาทิ นโยบายการยืมแรงงานของคู่ค้า ของ Alibaba ที่กำลังประสบปัญหา เช่น ร้านอาหาร โรงแรมและโรงภาพยนตร์ เพื่อเข้ามาเสริมทัพในธุรกิจ Hema Supermarket ที่กำลังเติบโตจากยอดการสั่งซื้อของสดออนไลน์
  • การปรับตัวเข้าสู่การขายและการตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ : ธุรกิจจีนจำนวนมากเริ่มที่จะ “ทุ่มสุดตัว” ในช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น อาทิ บริษัทเครื่องสำอางค์แบรนด์ดัง Lin Qingxuan ที่ต้องปิดหน้าร้านทั้งหมดถึง 40% ทั่วประเทศ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนพนักงานหน้าร้านมากกว่า 100 คนให้กลายเป็น “พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ด้วยการทำคลิปวิดิโอแนะนำสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์และ social media ต่างๆ เช่น WeChat จนสามารถแปลงวิกฤตมาเป็นโอกาสครั้งใหญ่ได้สำเร็จ
  • การใช้เวลาอบรมทักษะใหม่และการวางแผนกลยุทธ์หลังวิกฤต : แน่นอนว่าการปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงย่อมทำให้พนักงานของบริษัทมีเวลาเหลือมากขึ้น ธุรกิจจีนมากมายจึงเริ่มหันมาลงทุนพัฒนาทักษะใหม่ๆ (reskill) ให้กับพนักงานของตัวเองและสร้างแผนธุรกิจเพื่อเตรียมเข็นออกมาใช้หลังวิกฤตจบลง
  • การปรับบริการให้ตอบโจทย์สุขภาพและการอยู่บ้าน : การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เปลี่ยนให้ผู้บริโภคของจีนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความสะอาดและความปลอดภัยของสินค้ามากยิ่งขึ้น อาทิ ร้านหม้อไฟ Haidilao ที่เผยแพร่คลิปกระบวนการเตรียมวัตถุดิบทั้งหมดของร้านอย่างละเอียดเพื่อเรียกความมั่นใจของผู้บริโภค หรืออีกกรณีของกระทรวงศึกษาธิการของจีนที่หันไปสร้างพันธมิตรกับแพลตฟอร์มวิดิโอต่างๆเพื่อพัฒนา “คลังคอร์สเรียนออนไลน์แห่งชาติ” เพื่อให้โรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอนสามารถนำไปใช้ได้

 

เจ้าของแบรนด์ Lin Qingxuan ไลฟ์ขายของใน T-Mall (ขอบคุณภาพจาก Hotsaucedrops)

 

พื้นบุญและบุญใหม่ของจีน

จากเดิมที่เศรษฐกิจจีนเคยเติบโตถึงปีละ 8-10 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องกว่า 30 ปี ในช่วง 3-4 ปีก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 นั้น เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ลดลงมาสู่ระดับเพียงแค่ปีละ 5-6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  [ซึ่งตัวเลขที่น้อยลงนี้ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่มีขนาดใหญ่มากอยู่ดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยักษ์ของจีน เฉพาะส่วนของการเติบโตของจีนนั้นมีขนาดเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของประเทศตุรกีทั้งประเทศเลยทีเดียว !!]

ถึงแม้ว่า “บุญเก่า” ของจีนกำลังเริ่มหมดลง แต่จีนก็ยังมีวาสนาสำคัญอยู่สองประการ ได้แก่ ตลาดขนาดใหญ่ของจำนวนประชากรจีนกว่า 1,400 ล้านคน และ ปริมาณบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก [ถึงแม้ว่าคนที่เก่งระดับโลกส่วนใหญ่จะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่คนเก่งในระดับกลางที่สามารถทำงานได้นั้นอยู่ในประเทศจีนมากที่สุด]

กุญแจสำคัญของจีนในการสร้าง “บุญใหม่” คือ “การยกระดับเทคโนโลยีสู่ยุค 5.0” ที่เป็นยุคของเศรษฐกิจแบบ digital ที่รัฐบาลจีนก็กำลังผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งยุค อย่าง 5G, A.I., Internet of Things (IoT), ระบบ cloud และรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน 5G ของ Huawei ไปจนถึงแพลตฟอร์มในโลกอินเตอร์เน็ตอย่าง social media และ e-commerce

หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการผลักดันยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ 5.0 ก็คือ การเปิดตัวโรงงานผลิตรถยนต์ Tesla ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลกที่มหานครเซี่ยงไฮ้ในช่วงต้นปี 2020 ที่รัฐบาลจีนได้วางเป็น “ยุทธศาสตร์สำคัญ” ในการ “จุติห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า” ในจีน [ไม่แตกต่างจากช่วงสิบปีก่อนที่จีนน้อมเอาโรงงานผลิต iPhone มาเป็นตัวจุดประกายให้เกิดห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิ้นส่วนของสมาร์ตโฟน อาทิ หน้าจอ แบตเตอรี่และชิปประมวลผล จนนำมาสู่แบรนด์สมาร์ตโฟนสัญชาติจีนมากมาย อาทิ Huawei, Xiaomi, Vivo และ Oppo] โดย Tesla ได้ทำการสัญญาว่าจะเลือกใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศแบบ 100% ภายในสิ้นปี 2020

อีกหนึ่งกรณีศึกษาของการสร้างแพลตฟอร์มที่น่าสนใจของจีนก็คือ “Pinduoduo” แพลตฟอร์ม social commerce ที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคระดับรากหญ้าตามเมืองขนาดเล็กของประเทศจีนด้วยการชูจุดเด่นการซื้อขายสินค้าร่วมกันกับเพื่อนใน social network ต่างๆ เช่น WeChat โดยหากผู้ซื้อสามารถระดมกลุ่มเพื่อนมาซื้อสินค้าได้จำนวนมาก พวกเขาก็จะสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่าท้องตลอดได้ ส่วน Pinduoduo ก็ได้การโปรโมตใน social network แบบฟรีๆื แถมยังแก้ปัญหาเรื่องความไม่น่าเชื่อถือของสินค้าจีนด้วยการบอกต่อแบบปากต่อปากจากเพื่อนสู่เพื่อน จน Pinduoduo สามารถสร้างยอดขายขึ้นมาแซงหน้า e-commerce อันดับ 2 อย่าง JD.com ได้สำเร็จและยังตอบโจทย์การเร่งเครื่องการบริโภคของจีนได้อย่างยอดเยี่ยม

 

Elon Musk ในงานเปิดตัว Giga Factory ของ Tesla ในประเทศจีน (ขอบคุณภาพจาก Quartz)

 

หมากล้อมของจีน

การแข่งขันแย่งชิงอำนาจของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาในยุค Next Normal นั้นเปรียบได้กับปรัชญา “หยิน-หยาง” ที่เป็นสมดุลระหว่างสองขั้วพลังที่มีทั้งพลังแห่ง “ความร่วมมือ” ในด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่นในหลายภาคส่วนที่ไม่มีการขัดแย้งกันของทั้งสองประเทศและพลังแห่ง “การแข่งขัน” ที่เริ่มนำมาสู่การแตกแยก (decoupling) ของห่วงโซ่อุปทานในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยี ที่สหรัฐเริ่มกีดกันบริษัทจีนอย่าง Huawei และ TikTok ออกจากประเทศ

อาจารย์อาร์มได้เปรียบเทียบยุทธศาสตร์การแข่งขันของอเมริกาและจีนได้อย่างน่าสนใจ โดยเลือกเปรียบกลยุทธ์ของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นเหมือน “การเล่นหมากรุก” ที่มีเป้าหมายในการโจมตีหมากคิง [ที่ตอนนี้คือการส่งออกของจีน] ให้แตกพ่าย ขณะที่ จีนกลับเลือกเล่นเกม “หมากล้อม” หรือ “โกะ” ที่เป็นการแข่งขันแบบกินพื้นที่ในระยะยาวที่หมากทุกตัวในกระดานมีความสำคัญและเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่ชัยชนะในช่วงท้ายเกม

ตอนนี้ ประเทศจีนได้วางหมากที่สำคัญเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ, การเชื่อมต่อเมืองขนาดใหญ่, การพัฒนาเทคโนโลยี 5G, การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า, การพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road), การรุกในทะเลจีนใต้และการผลักดันนโยบายจีนเดียวในฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งหาก สหรัฐอเมริกามองไม่เห็นความเชื่อมโยงของหมากทั้งหมดของจีนนั้นก็มีโอกาสสูงมากที่จะเพลี่ยงพล้ำในอนาคต

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือ “ไทยและ ASEAN” เองก็คือหมากสำคัญตัวหนึ่งที่จีนกำลังพยายามยึดครองอยู่ ว่าแต่ ตอนนี้ประเทศไทยรู้ตัวเองหรือยังว่าเรากำลังเป็นหมากตัวหนึ่งอยู่… และเราควรจะต้องวางยุทธศาสตร์อย่างไรเพื่อสร้างผลประโยชน์ที่มากที่สุดจากสองยักษ์ของโลกในศึกครั้งนี้ ?!?

 

Xi Jinping และ Joe Biden ว่าที่ประธานธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ถ่ายในการพบกันเมื่อปี 2013 (ขอบคุณภาพจาก NBC)

 


 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

Recent Posts