Extreme Ownership : How U.S. Navy Seals Lead and Win (2015)
by Jocko Willink & Leif Babin
“Leaders must own everything in their world. There is no one else to blame.”
หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่สามารถพบได้อย่างทั่วไปในวิธีคิดของ “สุดยอดผู้นำ” ก็คือ การมี “ownership” หรือ “ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของ” ขั้นสูงสุดทั้งในภาระหน้าที่ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบโดยตรงและในทุกๆเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธกิจของพวกเขา สุดยอดผู้นำเหล่านี้ไม่เคยที่จะตำหนิใคร พวกเขาไม่เคยหาข้อแก้ตัว พวกเขาเลือกที่จะหาทางแก้ปัญหาในทันทีแทนที่จะมานั่งบ่นกับอุปสรรคที่พบเจอ พวกเขาเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อทำให้งานสำเร็จอย่างลุล่วงโดยยอมละทิ้งอัตตาของตนเอง สุดยอดผู้นำที่มี ownership ขั้นสูงสุดเหล่านี้คือผู้นำที่ “นำ” อย่างแท้จริง
Extreme Ownership คือ หนังสือที่ว่าด้วยบทเรียนแห่งความเป็นผู้นำที่กลั่นกรองขึ้นจากประสบการณ์ตลอดระยะเวลาการรับใช้ชาติในฐานะหน่วยรบ SEAL (United States Navy’s Sea, Air and Land Teams) ณ สมรภูมิ Battle of Ramadi ในประเทศอิรักของ Jocko Willink และ Leif Babin ผู้รับหน้าที่เป็นผู้นำทีมมือใหม่ที่ต่างก็ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการมีความเป็นผู้นำและคุณสมบัติที่พวกเขาเรียกว่า “Extreme Ownership” หรือ “ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของขั้นสูงสุด” ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในสมรภูมิรบ ในสมรภูมิธุรกิจและในสมรภูมิของชีวิต
ขอเชิญทุกท่านที่มีความสนใจในการพัฒนาความเป็นผู้นำของตัวเองอ่านสรุปหนังสือ Extreme Ownership เล่มนี้กันได้เลยครับ
ผู้เขียน Jocko Willink และ Leif Babin ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)
PART I : WINNING THE WAR WITHIN
Chapter 1 : Extreme Ownership
เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของ Jocko Willink ในฐานะผู้นำของหน่วยจู่โจม SEAL เกิดขึ้น ณ เขต Mala’ab ทางทิศตะวันออกของเมือง Ramadi เมื่อแผนการบุกยึดพื้นที่ของหน่วย SEAL ร่วมกับกองกำลังทหารอิรักฝ่ายพันธมิตรจากกลุ่มกบฎหัวรุนแรง Mujahideen เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก หลังจากที่กองกำลังฝ่ายพันธมิตรสหรัฐได้ระดมยิงปืนกลขนาดใหญ่ไปยังตึกที่กองพลของสหรัฐอีกกลุ่มหนึ่งซ่อนตัวอยู่เนื่องจากกองพลกลุ่มดังกล่าวได้เผลอยิงทหารอิรักฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิตโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทหารของกลุ่มกบฎขั้วตรงข้าม
เหตุการณ์ที่เรียกว่า “blue-on-blue” หรือ “การยิงกันเอง” ในสมรภูมิรบเขตพื้นที่เมืองนั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Jocko Willink หาข้ออ้างเพื่อป้องกันตัวแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เขาได้ตัดสินใจออกหน้ายอมรับความรับผิดชอบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวต่อหน้าทั้งหัวหน้า ผู้ตรวจสอบสถานการณ์และลูกน้องของเขา พร้อมๆกับการอธิบายถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการเล่าถึงแนวทางในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ยิงพวกเดียวกันเองแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก
คุณสมบัติที่ Jocko Willink เลือกยึดถือปฏิบัติในเหตุการณ์ครั้งนี้คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของผู้นำที่ดีนั่นก็คือการมี “Extreme Ownership” หรือ “ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของขั้นสูงสุด” ที่ผู้นำจะต้องรับผิดชอบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของทีมโดยไม่ตำหนิผู้ใดนอกจากการกระทำของตัวเองที่ไม่ดีพอและพร้อมที่จะนำเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อีกโดยทันที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกน้องในทีมของผู้นำทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน สิ่งแรกที่ผู้นำควรทำในทันทีก็คือการรับผิดชอบในการอบรมและเพิ่มขีดความสามารถของพวกเขาอย่างสุดความสามารถให้ได้เสียก่อน แต่หากลูกน้องเหล่านั้นยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ผู้นำที่ดีก็ควรมีความรับผิดชอบต่อทีมด้วยการโยกย้ายลูกน้องที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านั้นออกไปเพื่อปกป้องสมาชิกที่เหลือของทีมที่ทำผลงานได้ดีให้ยังคงรักษามาตรฐานต่อไปได้
เมื่อผู้นำแสดงออกถึงการมี Extreme Ownership อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอแล้ว เมื่อนั้น Extreme Ownership ก็จะแพร่กระจายไปสู่สมาชิกของทุกคนในทีมอย่างกว้างขวางและเปลี่ยนให้ทีมกลายเป็น “สุดยอดทีม” ที่มีประสิทธิภาพสูงและเต็มไปด้วยสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดกำลัง
Chapter 2 : No Bad Teams, Only Bad Leaders
ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นครูฝึกในโครงการ Basic Underwater Demolition/SEAL Training (BUD/S) บททดสอบสุดโหดแบบไม่มีหยุดพักที่ถูกเรียกขานในนาม “สัปดาห์นรก (Hell Week)” ที่มีเป้าหมายในการเฟ้นหาผู้สมัครหน่วย SEAL ที่มีจิตใจสุดแกร่งเพียงเท่านั้น ผู้เขียน Leif Babin ได้พบเห็นกับ “ความสำคัญของผู้นำ” ด้วยสายตาของตัวเองระหว่างการฝึกแบบแบ่งทีมที่แต่ละทีมจะต้องร่วมกันทำภารกิจพายหรือแบกเรือยางขนาดใหญ่ตามภารกิจที่ครูฝึกเป็นคนกำหนด เมื่อกองเรือยางทีมหนึ่งสามารถทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กองเรือยางอีกหนึ่งทีมทำผลงานได้อย่างเละเทะอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ครูฝึกผู้ควบคุมการแข่งขันจึงตัดสินใจสลับหัวหน้าทีมของทีมที่ทำได้ดีที่สุดและทีมที่ทำได้แย่ที่สุดระหว่างกัน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็ช่างน่าอัศจรรย์เมื่อทีมที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดมาโดยตลอดกลับพลิกมาชนะทุกทีมได้โดยมีทีมที่เคยทำได้ดีที่สุดตามมาอย่างติดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพและผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพ
หนึ่งในกฎที่ผู้นำที่มี Extreme Ownership ต้องจำฝังใจอยู่เสมอก็คือ “ทีมที่แย่นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงแค่ผู้นำที่แย่เท่านั้นที่มีอยู่จริง” ซึ่งถือเป็นเครื่องเตือนใจผู้นำทุกคนให้พึงระลึกเสมอว่าทุกผลลัพธ์ที่ไม่ได้มาตรฐานล้วนเป็นความรับผิดชอบของผู้นำที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดโดยไม่โทษฟ้าดิน เหมือนกับหัวหน้าทีมเรือยางคนใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของทีมที่รั้งท้ายมาโดยตลอดจนพลิกกลับมาชนะได้โดยไม่เสียเวลามัวแต่มาคิดว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นจากลูกทีมที่ไม่ดีหรือโชคชะตาที่ไม่เอื้ออำนวย
ตัวอย่างขั้นตอนการฝึก BUD/S ของหน่วย SEAL (ขอบคุณภาพจาก Military.com)
Chapter 3 : Believe
ตั้งแต่เริ่มต้นประจำการที่เมือง Ramadi ณ ประเทศอิรัก คำสั่งที่หน่วย SEAL สุดแกร่งผู้ผ่านประสบการณ์รบมาแล้วอย่างโชกโชนของ Jocko Willink ได้รับคำสั่งที่ชวนให้สงสัยจากผู้บัญชาการระดับสูงที่กำชับให้หน่วยรบของพวกเขาที่มีการฝึกซ้อมร่วมกันมาแล้วอย่างชำนาญและติดอาวุธยุทโธปกรณ์เสริมแบบครบครันต้องออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังทหารอิรักที่ไร้ระเบียบวินัย ไร้การฝึกฝนและยังไม่ค่อยน่าไว้วางใจว่าจริงๆแล้วทหารเหล่านั้นมองชาวอเมริกันเป็นมิตรหรือศัตรู ซึ่งคำสั่งนี้ทำให้เกิดข้อกังขาในหน่วย SEAL เป็นอย่างมากและผลักดันให้ Jocko Willink พยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุของคำสั่งที่ดูอันตรายนี้จนท้ายที่สุดก็ค้นพบถึงคำตอบที่ว่าผู้บัญชาการของอเมริกันนั้นต้องการฝึกฝนให้ทหารชาวอิรักสามารถปกป้องประเทศของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งกองกำลังอเมริกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง Jocko Willink ก็ได้สื่อสารถึงความจำเป็นเหล่านี้ต่อให้กับสมาชิกหน่วย SEAL ของเขาพร้อมๆกับการหาแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังสองสัญชาติให้ดีที่สุด
หลักการในการสร้างความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจให้กับทีมงานทุกคนในการดำเนินการตามเป้าหมายของทีมนั้นต้องเริ่มจาก “ความเชื่อมั่น” ของผู้นำที่มีต่อพันธกิจของทีม หากผู้นำมองเห็นว่าพันธกิจของทีมนั้นมีความน่าสงสัยหรือไม่สมเหตุสมผล ผู้นำเหล่านั้นจะต้องแสดง Extreme Ownership ในการค้นหาถึงสาเหตุของการเกิดขึ้นของพันธกิจเหล่านั้นอย่างถ่องแท้และนำสาเหตุเหล่านั้นไปอธิบายต่อให้กับสมาชิกทุกคนในทีมอย่างเข้าใจ ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบในการทำให้สมาชิกทุกคนเชื่อมั่นในพันธกิจของทีม
Chapter 4 : Check the Ego
ปรัชญาในการยึดมั่นต่อ Extreme Ownership ของกองกำลังหน่วย SEAL ของ Jocko Willink นั้นยังครอบคลุมถึงองค์ประกอบสำคัญอีกหนึ่งประการอย่างการตรวจสอบ “อัตตา (ego)” ของตัวเองไม่ให้บดบังความคิดและความสำเร็จของทีม การมีอัตตาหรือความมั่นใจในตัวเองสูงนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนในทีมนั้นสามารถฟันผ่าอุปสรรคเพื่อเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้ แต่การมีอัตตาในส่วนที่ไม่จำเป็นหรือมีในปริมาณที่มากเกินไปนั้นกลับให้ผลตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น กองกำลัง SEAL อีกทีมหนึ่งที่ได้เข้ามาประจำการในเมือง Ramadi เช่นเดียวกับกองกำลังของ Jocko Willink นั้นกลับเลือกที่จะเชื่อในอัตตาของตัวเองอย่างสูงและไม่ยอมทำงานร่วมกับกองกำลังทหารอื่นๆที่พวกเขามองว่ามีฝีมือที่ต่ำกว่าจนท้ายที่สุดภารกิจของกองกำลัง SEAL ทีมนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จและโดนคำสั่งย้ายออกไปในเวลาต่อมา
ผู้นำที่ดีต้องลดอัตตาในส่วนที่ไม่จำเป็นของตัวเองลงเพื่อเป้าหมายในการทำให้พันธกิจบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด พวกเขาต้องยึดมั่นใน Extreme Ownership และกล้ารับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของทีม
PART II : LAWS OF COMBAT
Chapter 5 : Cover and Move
กลยุทธ์สำคัญของหน่วย SEAL ในการบุกยึดครองพื้นที่ของศัตรูหรือการถอนทัพออกจากเขตแดนอันตรายก็คือ “cover and move” หรือ “คุ้มกันและเคลื่อนที่” ที่หน่วย SEAL จะทำการแบ่งกองกำลังออกเป็น 2 ทีมโดยให้ทีมใดทีมหนึ่งเคลื่อนที่ (move) ไปข้างหน้าหรือถอยหลังในขณะที่อีกทีมทำหน้าที่คอยคุ้มกัน (cover) สลับกันไปมาจนกว่าทั้งสองทีมจะสามารถยึดครองพื้นที่ที่ต้องการได้หรือถอยทัพไปยังจุดปลอดภัยได้สำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การบุกเข้าไปยังสมรภูมิรบใจกลางเมืองของหน่วย SEAL นั้นมักเริ่มจากการส่งกองกำลังพลแม่นปืน (sniper) เข้าสู่พื้นที่ก่อนเพื่อตั้งฐานคอยยิงคุ้มกันให้กับอีกหนึ่งกองกำลังที่ต้องบุกเข้าไปในพื้นที่ชั้นในของศัตรู
กฎการต่อสู้ข้อแรกของหน่วย SEAL อย่าง “cover and move” นั้นแสดงให้เห็นถึง “การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ” ที่สมาชิกทุกคนในองค์กรต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้าขาเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันของทั้งองค์กร ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจึงต้องสามารถสร้างให้ทีมงานทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างเข้าขาและมองเห็นเป้าหมายที่ตรงกัน
Chapter 6 : Simple
การวางแผนการดำเนินการภารกิจสุดอันตรายของหน่วย SEAL ในแต่ละครั้งนั้นสามารถการันตีได้เลยว่าโอกาสที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนการอย่างสมบูรณ์นั้นแทบจะเป็นศูนย์ ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตรายและการต่อกรจากกองกำลังฝ่ายศัตรูที่ก็มีขีดความสามารถในการต่อสู้ที่สูงพอสมควร ดังนั้น หลักการวางแผนของหน่วย SEAL จึงให้ความสำคัญกับความ “ง่าย” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ ตัวภารกิจหลักที่ต้องมีความซับซ้อนน้อยที่สุดจนสามารถทำให้สมาชิกในทีมที่เข้าใจอะไรยากที่สุดเข้าใจได้อย่างชัดเจนและทำให้พวกเขาสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ไปจนถึง หลักการสื่อสารที่กระชับและได้ใจความเพื่อลดระยะเวลาและความซับซ้อนในทุกขั้นตอนเท่าที่จะทำได้
กฎการต่อสู้ข้อที่สองของหน่วย SEAL อย่าง “simple” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่มีวัตถุประสงค์ในการทำให้สมาชิกทุกคนภายในทีมสามารถทำงานตามพันธกิจได้อย่างเข้าใจและมีความหยืดหยุ่นมากพอที่จะปรับแก้ไขการดำเนินงานของตัวเองได้หากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ
Chapter 7 : Prioritize and Execute
ไม่ว่าจะอยู่ในสมรภูมิรบหรือสมรภูมิการแข่งขันทางธุรกิจ ผู้นำมักจะต้องเผชิญกับปัญหาสุดท้าทายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ดังนั้น หน้าที่สำคัญอีกหนึ่งประการของผู้นำที่มีประสิทธิภาพก็คือการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องกระทำและดำเนินการแก้ไขสิ่งที่มีความสำคัญสูงที่สุดทีละขั้น ดังเช่น หัวหน้าหน่วย SEAL ทุกคนเวลาเจอกับปัญหาสุดท้าทาย เช่น สมาชิกของทีมเกิดประสบอุบัติเหตุท่ามกลางวงล้อมของศัตรู สิ่งที่พวกเขาต้องพึงระลึกอยู่เสมอเลยก็คือ “relax, look around, make a call” ที่เริ่มต้นจากการสงบอารมณ์ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงสถานการณ์รอบด้านแล้วจึงค่อยแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดก่อน
กฎการต่อสู้ข้อที่สามของหน่วย SEAL อย่าง “prioritize and execute” จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนควรระลึกถึงอยู่เสมอในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนแทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีโดยไร้ประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สุดท้าทายเหล่านั้นย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาจึงควรกระทำอย่างต่อเนื่องและผู้นำควรสื่อสารถึงลำดับความสำคัญใหม่ทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น
Chapter 8 : Decentralized Command
มนุษย์ส่วนใหญ่มักมี “ข้อจำกัด” ในการบริหารจัดการเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองได้ทีละไม่เกิน 6 ถึง 10 คน โดยเฉพาะในเหตุการณ์คับขันที่ต้องอาศัยการตัดสินใจในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว อันเป็นเหตุให้หน่วย SEAL มีรูปแบบการทำงานแบบ “กระจายอำนาจจากศูนย์กลาง (decentralized command)” ให้แก่ผู้นำทีมที่ต้องรับผิดชอบสมาชิกในทีมอีกประมาณ 4 ถึง 6 คนในการทำภารกิจสุดท้าทายต่างๆ
กฎการต่อสู้ข้อที่สี่ของหน่วย SEAL อย่าง “decentralized command” เมื่อผนวกเข้ากับ Extreme Ownership ที่มีอย่างแข็งแกร่งในผู้นำทุกระดับขั้นจะทำให้ทีมที่มีสมาชิกจำนวนมากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ผู้นำสูงสุดขององค์กรควรเริ่มต้นด้วยการจัดผังองค์กรที่ผู้นำทีมแต่ละคนจะต้องดูแลสมาชิกในทีมในปริมาณที่สามารถควบคุมได้ดีที่สุด ผู้นำสูงสุดยังต้องมีหน้าที่สำคัญในการทำให้ผู้นำทีมมีความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์ของพวกเขาอย่างลึกซึ้งและต้องให้กรอบอำนาจในการตัดสินใจที่ผู้นำทีมเหล่านั้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ผู้นำทีมแต่ละคนก็ต้องมีความรับผิดชอบขั้นสูงสุดต่อภารกิจที่ตัวเองได้รับและต้องสามารถสื่อสารต่อไปยังลูกทีมของพวกเขาอีกทอดหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน
หน่วย SEAL ขณะปฏิบัติหน้าที่ในเมือง Ramadi (ขอบคุณภาพจาก SOFREP.com)
PART III : SUSTAINING VICTORY
Chapter 9 : Plan
เมื่อผู้นำมีความเข้าใจต่อ Extreme Ownership และกฎการต่อสู้อย่างครบถ้วนแล้ว การเริ่มต้นทำภารกิจใดๆก็ตามนั้นต้องเริ่มจาก “การวางแผน” ที่ต้องอาศัยองค์ประกอบของความเป็นผู้นำที่ได้เรียนรู้มาจากบทก่อนหน้าอย่างครบถ้วน
การวางแผนที่ดีนั้นมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้สมาชิกทุกคนในทีมเข้าใจเป้าหมายของภารกิจอย่างชัดเจนและรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยผู้นำในทุกระดับชั้นต้องเริ่มจากการมี believe ในเป้าหมายของภารกิจก่อนและใช้หลักการ prioritize and execute ในการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานพร้อมๆกับหลักการ decentralized command ในการกระจายการวางแผนในภาพย่อยให้กับผู้นำทีมแต่ละคนเป็นคนรับผิดชอบ ผู้นำที่ดียังต้องยึดหลักการ simple ทั้งในการวางแผนและในการสื่อสารที่สามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุดและมีการสื่อสารพูดคุยเพื่อทบทวนทำความเข้าใจหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ผู้นำยังต้องวิเคราะห์และวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงทั้งหมดที่สามารถกระทบต่อภารกิจเหล่านั้นให้ดีที่สุด [ดังเช่นการวางแผนการจู่โจมลับของหน่วย SEAL นั้นจะต้องวางแผนเผื่อกรณีที่เลวร้ายที่สุดอยู่เสมอ อาทิ ต้องเผื่อไว้เลยว่าศัตรูมีอาวุธที่ดีที่สุดอยู่ครบมือและได้วางกับดักทุ่นระเบิดไว้รายล้อมพื้นที่ปฏิบัติการไว้ทั้งหมดแล้ว] และเมื่อภารกิจสำเร็จแล้ว ผู้นำก็ควรเรียกสมาชิกทุกคนมาพูดคุยกันเพื่อวิเคราะห์บทเรียนที่ได้จากการทำภารกิจนั้นเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานในภารกิจถัดไป
Chapter 10 : Leading Up and Down the Chain of Command
การมี “Extreme Ownership” นั้นต้องรวมถึงการมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการทำให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้นสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำที่มีความรับผิดชอบขั้นสูงสุดต้องกล่าวโทษตัวเองก่อนลูกน้องหรือเจ้านายเสมอเวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังและหาทางในการบริหารลูกน้องและเจ้านายของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในแง่มุมของการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชานั้น สิ่งที่ผู้นำควรต้องระลึกไว้อยู่เสมอเลยก็คือ “การอย่าคิดไปเอง” ว่าลูกน้องทุกคนเข้าใจในภารกิจของทีมและต้องทำหน้าที่สื่อสารถึงพันธกิจภาพใหญ่ขององค์กรให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนอย่างสม่ำเสมอ
ในแง่มุมของการบริหารผู้บังคับบัญชานั้น สิ่งที่ผู้นำต้องเตือนตัวเองทุกครั้งเลยก็คือความคิดที่ว่า “ผู้บังคับบัญชาล้วนต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาประสบความสำเร็จ” อยู่เสมอ ดังนั้นไม่ว่าการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาจะออกมาตรงกับความต้องการมากน้อยแค่ไหน ผู้นำทีมที่ดีจะต้องแสดง Extreme Ownership ในการทำความเข้าใจมุมมองและสาเหตุการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาคนนั้นและหาทางนำเสนอมุมมองของตัวเองให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจได้มากที่สุด [กรณีที่ Jocko Willink และ Leif Babin ต้องการแก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตทำภารกิจที่ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาออกกฎให้ต้องทำเอกสารยุ่งยากมากมาย สิ่งที่ผู้เขียนทั้งสองคนทำก็คือการเชิญให้ผู้บังคับบัญชาคนนั้นลงมาตรวจพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นความพร้อมของหน่วย SEAL ของพวกเขาจนทำให้ผู้บังคับบัญชาเกิดความมั่นใจและอนุมัติภารกิจของพวกเขาได้อย่างรวดเร็วขึ้น]
Chapter 11 : Decisiveness amid Uncertainty
ลองจินตนาการว่าคุณคือหัวหน้าทีมพลซุ่มยิง (sniper) ของหน่วย SEAL ที่มีลูกน้องฝีมือดีอย่าง Chris Kyle [ผู้เขียนหนังสือ The American Sniper ที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2014] รายงานว่าเขามองเห็นบุคคลปริศนาติดอาวุธที่มีลำกล้องคล้ายกับปืนไรเฟิลซ่อนตัวอยู่ในตึกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกับกองกำลังทหารอเมริกันโดยไม่สามารถยืนยันตัวได้อย่างแน่ชัดว่าบุคคลคนนั้นคือทหารอเมริกันหรือศัตรู การตัดสินใจสังหารชายคนดั่งกล่าวอาจสามารถช่วยชีวิตทหารอเมริกันหลายคนที่อยู่ใกล้เคียงหรืออาจเป็นการคร่าชีวิตเพื่อนทหารด้วยกันเอง คุณมีเวลาในการตัดสินใจแค่ไม่กี่นาที เพราะหากไม่ทำอะไรเลย ชายลึกลับคนนั้นอาจเริ่มสังหารทหารอเมริกันที่อยู่ใกล้เคียงได้ทุกขณะ
หนึ่งในคุณสมบัติของหัวหน้าทีมที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะในสมรภูมิรบหรือในการดำเนินธุรกิจก็คือ “การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด” ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้วยข้อมูลที่จำกัด หัวหน้าทีมที่มี Extreme Ownership ต้องกล้าที่จะตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อเป้าหมายของพันธกิจถึงแม้ว่าการตัดสินใจเหล่านั้นจะน่ากระอักกระอ่วนใจแค่ไหนก็ตาม
Chapter 12 : Discipline Equals Freedom – The Dichotomy of Leadership
หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ Jocko Willink ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วย SEAL เป็นเวลานานหลายปีก็คือ “ระเบียบวินัย” นั้นสามารถก่อให้เกิด “อิสรภาพ” ที่มากขึ้นได้ โดยระเบียบวินัยและมาตรฐานการทำงานที่สมดุลนั้นมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นของกระบวนการทำงานได้อย่างมาก อาทิ
ซึ่งการฝึกฝนกระบวนการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆจนเชี่ยวชาญนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มความรวดเร็วและคุณภาพของการทำงานนั้นๆที่จะนำมาสู่อิสรภาพที่มากขึ้นในรูปของเวลาการทำงานที่ลดลงและความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานจากเวลาที่มีมากขึ้น เหมือนดังเช่น หน่วย SEAL ของ Jocko Willink ที่ต้องฝึกกระบวนการที่ดูเหมือนจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ เช่น การนับจำนวนพลทหาร การลงจากรถบรรทุกทหารกลางสมรภูมิ การเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าออกจากอาคารและการค้นหาหลักฐานในบ้านของผู้ต้องสงสัย ที่ต่างก็ต้องฝึกซ้ำๆจนชำนาญเพราะทุกวินาทีในสนามรบนั้นมีความสำคัญต่อความเป็นความตายเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากเรื่องของระเบียบการทำงานแล้ว ผู้นำที่มีประสิทธิภาพยังต้องมีความสามารถในการรักษา “สมดุล” ระหว่างองค์ประกอบขั้วตรงข้ามอื่นๆได้อย่างดีที่สุด อาทิ สมดุลระหว่างความมั่นใจกับอัตตาที่สูงเกินพอดี สมดุลระหว่างความกล้าหาญกับความกล้าบ้าบิ่น สมดุลระหว่างการเป็นหัวหน้าที่ห่างไกลกับหัวหน้าที่ใกล้ชิดลูกน้องมากจนเกินไป สมดุลระหว่างการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวกับการรับฟังความเห็นของคนอื่นอย่างละเอียดและสมดุลระหว่างการยึดครองอำนาจทั้งหมดกับการกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา
สุดท้าย ถึงแม้ว่าผู้นำนั้นจะมีความชอบธรรมทางตำแหน่งในฐานะหัวหน้าทีม ผู้นำที่ดีจะต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านการแสดงความรับผิดชอบขั้นสูงสุดต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเขาเพื่อสร้างความเชื่อใจและส่งต่อแนวคิดการถือครอง Extreme Ownership ให้แพร่กระจายไปสู่สมาชิกทุกคนเพื่อสร้าง “winning team” ที่สมาชิกแต่ละคนมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองอย่างถึงที่สุด
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]