Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] Give and Take : Why Helping Others Drives Our Success

 

 

[สรุปหนังสือ] Give and Take : Why Helping Others Drives Our Success (2013)

by Adam Grant

 

“Givers advance the world. Takers advance themselves and hold the world back.”

 

เชื่อว่ามนุษย์วัยทำงานทุกคนน่าจะพอทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงานนั้นมักหนีไม่พ้นปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ ดังต่อไปนี้

  • แรงบันดาลใจและความทุ่มเทในการทำงานหนัก
  • ทักษะและขีดความสามารถ
  • โชคและโอกาสที่มองเห็น

แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันที่หลายคนอาจไม่ได้คำนึงถึงมากนักก็คือ “วิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่น” ซึ่งในทุกๆครั้งที่พวกเราแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น พวกเรามักมีทางเลือกอยู่เสมอระหว่างว่าเราจะพยายาม “เก็บเกี่ยวผลประโยชน์” ที่มีต่อตัวเราจากฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือว่าเราจะพยายาม “สร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น” โดยไม่ต้องคำนึงว่าเราจะได้อะไรตอบแทน

Give and Take คือหนังสือเล่มแรกของ Adam Grant ศาสตราจารย์ด้าน organizational psychology แห่ง Wharton และผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Originals และ Think Again ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ “ผู้ให้ (Giver)” และ “ผู้รับ (Taker)” ที่เขาได้อ้างอิงทั้งงานวิจัยเชิงวิชาการของตัวเองและกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงมานำเสนอว่าการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอย่างนั้นสามารถเป็นขุมพลังสำคัญที่คอยผลักดันให้พวกเราทุกคนเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนและมีความสุขได้มากกว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่คาดคิด ขอเชิญผู้ที่ชื่นชอบการให้และผู้นำภายในองค์กรทุกคนอ่านสรุปหนังสือคุณภาพเยี่ยมอีกเล่มของ Adam Grant เล่มนี้กันได้เลยครับ

 

Adam Grant ศาสตราจารย์แห่ง Wharton School (ขอบคุณภาพจาก CNBC)

 


 

1 | Good Returns : The Dangers and Rewards of Giving More Than You Get

ผู้เขียน Adam Grant ได้แบ่งคนออกเป็น 3 ประเภทตามพฤติกรรมการให้และการรับ ได้แก่

  • Taker : ผู้ที่ชอบการ “ได้” มาซึ่งผลประโยชน์จากผู้อื่นมากกว่าต้นทุนที่พวกเขาให้ไป คนประเภทนี้มักมองโลกเป็นสนามแข่งขันที่ผู้ชนะต้องช่วงชิงจากผู้แพ้เท่านั้น
  • Giver : ผู้ที่ชอบการ “ให้” คุณค่าต่อผู้อื่นมากกว่าหรือโดยไม่สนใจต่อผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ คนประเภทนี้มักเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่สุดในสถานที่ทำงาน
  • Matcher : ผู้ที่ชอบการ “แลกเปลี่ยน” ผลประโยชน์กับผู้อื่นอย่างเท่าเทียม คนประเภทนี้มักคาดหวังให้ผู้อื่นตอบแทนในทุกๆครั้งที่มีการให้ คนประเภทนี้คือคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงาน

โดยงานวิจัยของ Adam Grant ได้มีข้อสรุปที่น่าสนใจปนเศร้าอยู่หนึ่งประการว่าพนักงานในองค์กรหรือผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในท้ายตารางขององค์กรแต่ละแห่งนั้นส่วนมากเป็นคนประเภท Giver ที่มักยอมเสียสละเวลาของตัวเองไปกับการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นโดยมีต้นทุนเป็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเองที่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็น พนักงานออฟฟิศที่ชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานจนไม่มีเวลาทำงานของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด นักศึกษาแพทย์ที่คอยสอนการบ้านเพื่อนจนตัวเองไม่ได้อ่านหนังสือสอบ ไปจนถึง พนักงานขายที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้ามากจนไม่ยอมขายสินค้าที่ไม่ดีของตัวเอง

แต่ในขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Adam Grant ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นหัวแถวขององค์กรนั้นก็คือกลุ่มคนประเภท Giver เช่นเดียวกัน !! ในบทถัดๆไปของหนังสือ Give and Take เล่มนี้ ผู้เขียน Adam Grant จะนำพาทุกท่านไปเจาะลึกถึงสาเหตุว่าทำไม Giver บางคนสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสูงสุดในระยะยาวและเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านเปลี่ยนตัวเองมาเป็น Giver กันมากยิ่งขึ้นเพื่อโลกที่มีความสุขมากยิ่งขึ้นไปด้วยกัน ปิดท้าย Adam Grant ยังได้ยกกรณีศึกษาของ Giver ที่ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุดได้อย่างน่าสนใจมากมาย อาทิ

  • Abraham Lincoln : ประธานาธิบดีผู้เป็นที่รักที่สุดคนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ที่เคยยอมถอนตัวออกจากการเลือกตั้งเพื่อให้คู่แข่งที่มีแนวคิดในการเลิกทาสเหมือนกันได้คะแนนเสียงพอที่จะชนะคู่แข่งอีกรายได้ นอกจากนั้น หลังจากที่เขาได้ชัยชนะเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ยังตัดสินใจให้คู่แข่งที่เก่งๆทั้งหลายของเขามาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญๆโดยไม่กังวลว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีผลงานที่โดดเด่นกว่าตัวของเขาเองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
  • David Hornik : นักลงทุนกองทุน venture capitalist (VC) ที่มักยื่นขอเสนอการลงทุนแบบยืดหยุ่นให้กับเจ้าของธุรกิจ startup และพร้อมช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่จนได้รับการบอกต่อปากต่อปากจากบรรดานักธุรกิจ startup ด้วยกันเอง เขาคนนี้ยังริเริ่มการเผยแพร่ข้อมูลแนวทางการลงทุนของกองทุน VC ผ่านบล็อกคนแรกในอุตสาหกรรมและยังได้จัดงาน event สำหรับการทำ networking ของเจ้าของธุรกิจ startup ที่เปิดให้กองทุนคู่แข่งเข้ามาร่วมงานได้
  • Peter Audet : ที่ปรึกษาด้านการเงินที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดคนหนึ่งของประเทศออสเตรเลียผู้ยอมทุ่มเทให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในทุกระดับชั้นอย่างตั้งใจ ซึ่งก็มีกรณีหนึ่งที่เขายอมเดินทางไปหาลูกค้าเจ้าของโรงรถเก่าๆที่มีเงินเก็บไม่ได้เยอะมากและให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่จนรู้ว่าลูกค้าคนนี้จริงๆแล้วรวยกว่าที่ธนาคารรู้มากเป็น 100 เท่า

 


 

2 | The Peacock and the Panda : How Givers, Takers, and Matchers Build Networks

หนึ่งในพลังสำคัญที่ทำให้ Giver สามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวนั้นก็คือพลังของ “เครือข่าย (network)” ของผู้ที่เคยได้รับการให้อย่างไม่หวังผลตอบแทนจาก Giver ซึ่งเครือข่ายส่วนใหญ่ก็มักเป็น Matcher ที่พร้อมที่จะตอบแทนแก่ผู้ที่ทำดีให้กับพวกเขาเมื่อมีโอกาสอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างเครือข่ายนั้นก็เป็นสิ่งที่เหล่า Taker ที่ต้องการเฉพาะผลประโยชน์ของตัวเองพยายามทำเฉกเช่นเดียวกันเพื่อหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่พวกเขาคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในอนาคต ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องแยกแยะ Giver ที่ให้อย่างเต็มใจกับ Taker ที่แสร้งให้เพื่อหวังผลตอบแทนจากตัวอย่างต่อไปนี้

The Peacock หรือ Kenneth Lay คือหนึ่งในชายผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงปลายปี 90s จากการเป็น CEO ของบริษัทพลังงานอย่าง Enron ผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจและยังบริจาคเงินจำนวนมากให้กับการกุศลในแต่ละปี แต่ในปี 2001 บริษัท Enron ของเขาก็ได้ถูกเปิดโปงกลไกฉ้อฉลต่างๆมากมายที่ทลายฉากหน้าของ Kenneth Lay ผู้โปรโมตตัวเองเป็น Giver ว่าแท้จริงแล้วนั้นเขาเป็น Taker อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น การที่เขาเลือกตีสนิทกับผู้ที่จะให้ผลประโยชน์กับเขาได้ในอนาคตเพียงเท่านั้น, การเลือกบริจาคเงินให้กับนักการเมืองที่มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นหลักเพื่อแลกกับผลประโยชน์, พฤติกรรมการ “เลียเจ้านาย ถีบลูกน้อง” ที่เขากดขี่พนักงานใต้บังคับบัญชาอย่างไม่ใยดี, การใช้ทรัพย์สินบริษัทเพื่อการส่วนตัว, การมีเงินเดือนที่สูงกว่าพนักงานที่ได้เงินเดือนรองจากเขาอย่างมาก, การสร้างภาพโปรโมตตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆช่องทางว่าเป็นคนดีที่มีศีลธรรมและการเลือกใช้แต่คำว่า “I” แทนคำว่า “We” ที่แสดงให้เห็นถึงการสำคัญตนเป็นใหญ่กว่าผู้อื่นในบริษัททั้งหมด ไม่แตกต่างจาก “นกยูง” ที่ชูแผงขนเพื่อชิงแสงสปอตไลท์มาเป็นของตัวเองเพียงคนเดียว

The Panda หรือ Adam Rifkin คือชายผู้มีเครือข่ายบรรดานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงมากที่สุดใน LinkedIn เมื่อปี 2012 จากความโดดเด่นเฉพาะตัวในการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนในแวดวง Silicon Valley ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในวัยมหาวิทยาลัยที่เขาเลือกที่จะทำเว็บไซต์ให้กับวงดนตรีที่เขาชื่นชอบมากอย่าง Green Day ตอนช่วงเริ่มต้นให้แบบฟรีๆจนวงยิ่งใหญ่ ซึ่งตลอดช่วงเวลาในการทำธุรกิจ startup ของ Adam Rifkin เขาได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้คนมาแล้วอย่างโชกโชน อาทิ Evan Williams ผู้ก่อตั้ง Twitter จนเกิดเป็นเครือข่ายนักธุรกิจและวิศวกรคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่มี Adam Rifkin เป็นดั่งแกนกลางผู้คอยทำให้ผู้คนรู้จักและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งในระหว่างทางนั้นเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนที่เขาช่วยมาก่อนอีกมากมายเช่นเดียวกัน โดยเรื่องราวของ Adam Rifkin นั้นก็สามารถถอดบทเรียนเทคนิคในการเป็น Giver ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ได้แก่

  • The Five-Minute Favor : จงช่วยเหลือผู้คนทุกคนหากความช่วยเหลือเหล่านั้นสามารถทำได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 นาทีโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไรมากมาย เพราะคุณเองไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความช่วยเหลือที่คุณให้เหล่า Matcher ไปนั้นจะตอบกลับมาในรูปแบบไหนในอนาคต แต่ที่แน่ๆคือ Matcher จะจำและหาทางตอบแทนคุณอย่างแน่นอน
  • Dormant Ties : การมีเครือข่ายจำนวนมากจากการให้นั้นสามารถนำมาใช้ต่อยอดในอนาคตได้เมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้คนที่คุณอาจไม่ได้พูดคุยมานานเหล่านั้น ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากคุณก็มักยินดีที่จะมีโอกาสได้ตอบแทนอยู่เสมอและไอเดียจากคนที่ไม่ค่อยได้คุยกันบ่อยๆนั้นก็มักมีความสดใหม่กว่าที่คุณคิด

ปิดท้าย ในยุคที่ social media อย่าง Facebook และ LinkedIn นั้นกลายมาเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะในวงการธุรกิจและมนุษย์เงินเดือน การตรวจสอบประวัติเพื่อประเมินว่าบุคคลที่คุณจะต้องพบเจอหรือได้พูดคุยไปแล้วว่าพวกเขานั้นเป็น Giver หรือ Taker นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดายจากการสอบถามเพื่อนร่วมงานหรือคนรู้จักของพวกเขา… การทำตัวเป็น Taker ในยุคนี้จึงไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายเหมือนแต่ก่อนจากการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้นและจากการที่เหล่าบรรดา Matcher ในเครือข่ายสังคมที่เคยถูก Taker เอาเปรียบมาก่อนนั้นต่างก็น่าจะพร้อมใจกันประนามเพื่อทวงคืนความยุติธรรมที่เสียไปอยู่เสมอ… ในขณะเดียวกัน การเป็น Giver ในยุคนี้ก็ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆจากความเชื่อมโยงกันของสังคมที่ช่วยผลักดันให้ชื่อเสียงที่ดีของ Giver ถูกเผยแพร่ต่อกันเป็นทอดๆจนอาจเกิดเป็นภาวะ “pronoid” ที่เหล่า Giver เริ่มรู้สึกว่าผู้คนรายรอบตัวนั้นต่างพร้อมใจกันช่วยสนับสนุนพวกเขาเพื่อตอบแทนกับความดีที่ได้รับ [ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ “paranoid” ที่มักเกิดขึ้นกับ Taker ที่ต้องหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทวงคืน]

 


 

3 | The Ripple Effect : Collaboration and the Dynamics of Giving and Taking Credit

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Giver สามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวก็คือพลังของ “การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration)” ที่ถือเป็นรูปแบบการทำงานหลักของสังคมในโลกยุคใหม่ที่เป็นไปได้ยากที่จะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สามารถทำงานทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวแล้วสำเร็จได้ โดยความเป็น Giver ที่มักมองเห็นผลประโยชน์ของส่วนร่วมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาของตัวเองไปกับการช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเพื่อให้ผลลัพธ์ของทีมออกมาดีที่สุดมักสามารถสร้างความไว้วางใจแก่เพื่อนร่วมงานหรือพันธมิตรทุกคนได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว [งานวิจัยพบว่าแพทย์ผ่าตัดฝีมือดีหรือนักวิเคราะห์การเงินระดับท็อปนั้นมีผลงานตกทันทีที่พวกเขาย้ายงานไปที่ใหม่โดยที่ไม่ได้เอาทีมงานผู้ช่วยย้ายตามไปด้วย]

ตรงกันข้าม การเป็น Taker ที่พยายามหาผลประโยชน์ส่วนตนและคอยสร้างภาพว่าตัวเองนั้นมีคุณค่ามากกว่าทุกคนในทีมนั้นก็ให้ผลตรงกันข้ามอย่างรวดเร็วจากเหล่าบรรดา Matcher ที่พร้อมใจกันต่อต้านและเตรียมเอาคืนพวกเขาทุกครั้งที่มีโอกาส นอกจากนั้น Taker ยังมักเชื่อว่าตัวเองเก่งและมักมองไม่ค่อยเห็นคุณค่าที่บุคคลอื่นทำ (responsibility bias) จนสุดท้ายเมื่อพวกเขาถูกโดดเดี่ยวก็มักล้มเหลวไม่เป็นท่า ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ Frank Lloyd Wright สถาปนิกผู้มีผลงานการออกแบบชื่อดังมากมายอย่าง Fallingwater House ที่แท้จริงแล้วใช้งานลูกน้องสถาปนิกจำนวนมากเป็นผู้ช่วยแต่กลับไม่ได้ให้เครดิตพวกเขาเลยและยังพยายามยัดเยียดชื่อของตัวเองเข้าไปในผลงานของลูกน้องอีกด้วย จนท้ายที่สุด ลูกน้องมือดีจำนวนมากก็ลาออกและเมื่อเขาต้องไปทำงานคนเดียวก็แทบจะไม่มีงานที่ประสบความสำเร็จเลย

ในขณะเดียวกัน Giver อย่าง George Meyer ผู้เขียนบทและมุกตลกฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของวงการ Hollywood นั้นกลับสามารถสร้างพลังแห่งการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างยิ่งใหญ่ โดย George Meyer นั้นถือเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังมุกตลกส่วนใหญ่ของ The Simpsons ทั้งๆที่เขาแทบไม่มีเครดิตในบทนักเขียนเลย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าตัวเขานั้นอยากให้ The Simpsons ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดและเลือกใช้ความสามารถของเขาในการแก้บทให้กับนักเขียนคนอื่นและคอยแนะนำพวกเขาอย่างจริงใจ เขายังมักเลือกทำในสิ่งที่ผู้อื่นไม่อยากทำ อาทิ การเขียนบทรายการทีวีตอนที่แขกรับเชิญไม่ค่อยดังเท่าไหร่เพื่อไม่ต้องแข่งขันกับนักเขียนคนอื่นที่มักพยายามเขียนในตอนที่ดาราดังมา นอกจากนั้น George Meyer ยังแทบจะไม่ได้จดจำผลงานเด่นๆของตัวเอง อาทิ เขาคือผู้คิดค้นคำว่า “meh” ที่ตอนนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายมากแต่กลับจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นคนคิด คุณสมบัติทั้งหมดนี้จึงทำให้ George Meyer ผู้มีฝีมือฉกาจนั้นได้รับความไว้วางใจและแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ [ชื่อของ George Meyer เกิดดังขึ้นมาหลังจากที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งพยายามสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ The Simpsons และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังรายการทุกคนต่างชี้เป้าไปที่เขาโดยที่เขาไม่ต้องโปรโมตตัวเองแต่อย่างใด]

ปิดท้าย เมื่อ Giver แสดงให้เห็นว่าพวกเขานั้นให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของทีมมากกว่าแค่ผลงานของตัวเองจริงๆแล้ว ทีมก็จะเป็นทีมที่ทำงานร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น ทุกคนจะกล้าเอาความผิดพลาดมาเปิดเผยสู่ที่แจ้งเพื่อร่วมใจกันแก้ปัญหาเพราะพวกเขารู้สึกปลอดภัยว่าเหล่า Giver จะคอยช่วยเหลือโดยไม่พยายามตัดแข้งตัดขาและทุกคนก็จะไม่มอง Giver เป็นคู่แข่งที่เก่งจนน่าอิจฉาแต่กลับเป็นผู้มีคุณประโยชน์ที่น่าคบหาและสนับสนุน

 


 

4 | Finding the Diamond in the Rough : The Fact and Fiction of Recognizing Potential

อีกหนึ่งความแตกต่างสำคัญที่ทำให้ Giver ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้มากกว่า Taker ก็คือความสามารถในการมองเห็น “เพชรในตม” หรือคนที่มีศักยภาพแอบแฝงอยู่ได้มากกว่า Taker เนื่องจาก Giver มัก “ให้โอกาส” ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมากกว่า Taker ที่มักพยายามเอาประโยชน์จากคนที่พวกเขาคิดว่าเก่งที่สุดและละทิ้งคนอื่นที่พวกเขามองว่าไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ตนได้

ทั้งนี้ Adam Grant ได้แสดงให้เห็นว่าการให้โอกาสที่เพียงพอนั้นสามารถช่วยให้ผู้ที่ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สูงขึ้นจริงๆ ผ่านงานทดลองของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่สุ่มเด็กนักเรียนบางส่วนอย่างคละๆกันเพื่อบอกกับอาจารย์ของพวกเขาว่าเด็กเหล่านั้นคือเด็กที่มีพรสวรรค์ เมื่อเวลาผ่านไป เด็กกลุ่มดังกล่าวก็ได้รับการดูแลฝึกฝนจากอาจารย์ที่คิดว่าพวกเขานั้นมีศักยภาพมากกว่าจนท้ายที่สุดเด็กเหล่านั้นก็เก่งกว่าเด็กคนอื่นๆจริงๆทั้งๆที่พวกเขาถูกเลือกมาแบบสุ่มและไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ดังนั้น ความสามารถในการให้โอกาสแก่ผู้อื่นอย่างทั่วถึงของ Giver จึงทำให้พวกเขาสามารถค้นพบและปลุกปั้นผู้ที่มีศักยภาพสูงในเครือข่ายได้จำนวนมาก โดย Giver มักจะไม่มองคนตามพรสวรรค์ในปัจจุบันแต่กลับเลือกมองไปที่ความมุมานะ (grit) และความเป็น Giver ของพวกเขาซะมากกว่าซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองคือขุมกำลังชั้นดีในการขับดันให้คนเหล่านั้นมีศักยภาพที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาจากการให้โอกาสผู้คนจำนวนมากของ Giver ก็คือว่าการทุ่มเทเหล่านั้นอาจเป็นการสูญแรงเปล่าเพราะ Giver ก็คงต้องเผชิญกับผู้คนที่เข็นเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น แต่ด้วยความที่ Giver มีเป้าประสงค์หลักในการช่วยให้ผลลัพธ์ส่วนรวมออกมาดีที่สุด พวกเขาเองก็มักยอมรับและรู้จักปล่อยวางเมื่อคนที่พวกเขาอยากปั้นนั้นเข็นไม่ขึ้นจริงๆเพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับผู้ที่สมควรได้รับโอกาสมากกว่าและยังปล่อยให้บุคคลเหล่านั้นไปมีโอกาสที่เหมาะสมกว่าในที่อื่น ตรงกันข้าม Taker ที่เผชิญหน้ากับความผิดพลาดในการเลือกคนของตัวเองกลับพยายามปกปิดความผิดพลาดเหล่านั้นด้วยการพยายามขุนคนเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆเพื่อสร้างภาพว่าการตัดสินใจของตัวเองนั้นถูกต้องแล้วซึ่งก็มักล้มเหลวในท้ายที่สุด

 


 

5 | The Power of Powerless Communication : How to Be Modest and Influence People

ยังไม่หมด อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Giver สามารถประสบความสำเร็จในการผูกมิตรและชักจูงใจผู้คนก็คือ “วิธีการสื่อสารแบบอ่อนน้อม (powerless communication)” ที่ตรงกันข้ามกับวิธีการสื่อสารแบบแสดงอำนาจของเหล่า Taker ที่มักเลือกใช้น้ำเสียงที่หนักแน่นทรงพลังอย่างมั่นใจที่อาจเลยเถิดไปถึงการแสดงความเกรี้ยวกราดเพื่อให้ผู้อื่นทำตามในสิ่งที่พวกเขาต้องการซึ่งก็อาจใช้ได้ผลในระยะเวลาหนึ่งแต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักเกลียดการถูกสั่งหรือกดขี่และพร้อมที่จะขบถเพื่อสบโอกาส

ตรงกันข้าม การสื่อสารแบบ powerless communication ของ Giver เหล่านั้นมักเกิดขึ้นจากวิธีคิดของ Giver ที่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นเป็นที่ตั้งจนทำให้การสื่อสารออกมาในรูปแบบการอ่อนน้อมถ่อมตนและยึดเอาผลประโยชน์หรือความต้องการของผู้ฟังและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดย Giver มักเลือกที่จะตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจเพื่อทำความเข้าใจจริงๆว่าพวกเขาต้องการอะไรและพยายามช่วยนำเสนอวิธีการที่เหมาะสมให้อย่างนอบน้อมที่สุด มากไปกว่านั้น การสื่อสารแบบ Giver ในหลายๆครั้งยังแฝงไว้ด้วยความไม่มั่นใจ การใช้คำพูดที่มีความลังเล [เช่น “ผมคิดว่า”, “อาจจะ”, “ค่อนข้าง”, “ความคิดนี้อาจฟังไม่เข้าท่า แต่…”] และการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองซึ่งสามารถช่วยให้ Giver ที่เก่งนั้นมีความเป็นมนุษย์และเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างวิธีการสื่อสารแบบ powerless communication จากหนังสือเล่มนี้ครับ

  • การเลือกยอมรับจุดอ่อนของตัวเองก่อนเริ่มการสื่อสารเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่จะพูดต่อไปนั้นไม่ใช่คำสั่งจาก Taker แต่เป็นคำแนะนำจาก Giver ที่ก็พร้อมยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง อาทิ กรณีที่ Adam Grant ในวัยหนุ่มต้องไปนำเสนองานวิจัยให้กับทหารอาวุโสหลายราย ซึ่งเขาเลือกที่จะเปิดบทสนทนาด้วยมุกตลกว่า “ผมรู้ว่าพวกคุณหลายคนคงคิดอยู่ในใจว่านี่ฉันจะได้ความรู้อะไรจากศาสตราจารย์อายุ 12 ขวบคนนี้กันนะ” ซึ่งวิธีการนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้พูดมีความสามารถจริงๆ
  • การขายสินค้าที่เริ่มต้นจากพูดคุยและถามคำถามเพื่อทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าก่อนตามสไตล์ของ Giver ที่ตรงกันข้ามกับ Taker ที่มักเลือกที่จะขายของแบบโจ่งแจ้งจนอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความไม่จริงใจได้ อาทิ พนักงานขายมือหนึ่งของร้านแว่นแห่งหนึ่งมองตัวเองเป็นคุณหมอด้านสายตาและมักเลือกที่จะพูดคุยถึงกิจวัตรประจำวันของลูกค้าอย่างละเอียดก่อนเพื่อหาแว่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกค้าคนนั้นๆ
  • การถามความคิดเห็นของบุคคลอื่นอย่างจริงใจของ Giver ที่มักแสดงให้เห็นถึงความเคารพในองค์ความรู้ของบุคคลเหล่านั้นและเป็นการกระตุ้นให้พวกเขามองปัญหานั้นในมุมมองของเราและตอบสนองด้วยการช่วยเหลือ

 


 

6 | The Art of Motivation Maintenance : Why Some Givers Burn Out but Others Are On Fire

ถึงแม้ว่า Giver นั้นมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ แต่ Giver จำนวนมากกลับ “หมดไฟ” จากการให้อย่างสะเปะสะปะแก่ผู้คนทุกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการและความยั่งยืนของตัวเองจนท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่รู้สึกมีความสุขกับการให้และยังสูญเสียเวลาในการพัฒนาตัวเองจนประสิทธิภาพตกต่ำและล้มเหลวในหน้าที่การงานหรือชีวิตไปเป็นทอดๆ

ตรงกันข้าม Giver ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นสามารถรักษาและเพิ่มพูนการให้ของพวกเขาเองได้อย่างต่อเนื่องจากการที่พวกเขาเลือกคำนึงถึงความต้องการของตัวเองไปพร้อมๆกับผลประโยชน์ของผู้อื่นและเลือกที่จะ “ให้อย่างมีกลยุทธ์” ผ่านการให้ในสิ่งที่พวกเขาชอบทำและสามารถสร้างพลังงานให้กับตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง โดยการให้เหล่านั้นมักต้องเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนในทันที อาทิ กรณีของ Conrey Callahan คุณครูจากโครงการ Teach for America ที่อาสาสมัครเป็นครูสอนในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยเด็กเกเรในย่านที่อันตรายซึ่งเธอก็เริ่มรู้สึกหมดไฟไปกับการทำงานแบบ Giver ในโรงเรียนแต่ละวันในสิ่งที่เธอทำแล้วไม่ได้เห็นผลในทันทีและยังต้องคอยช่วยแก้ปัญหานักเรียนตีกันซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบทำ แต่ Conrey Callahan ก็ได้เติมไฟของตัวเองกลับมาในวันหยุดที่เธอเลือกใช้เวลาไปกับการให้คำปรึกษาแก่นักเรียนที่เห็นผลชัดเจนในทันทีจนเธอนำไฟเหล่านั้นมาขับดันในงานที่โรงเรียนต่อไปได้

แนวทางในการเติมไฟเหล่า Giver ให้ยังคงมีแรงบันดาลใจต่อโดยไม่หมดไฟนั้นยังสามารถทำได้อีกหลากหลายวิธี อาทิ

  • การพาพนักงานโทรขอรับเงินบริจาคของมหาวิทยาลัยไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจนสามารถเข้าเรียนและมีชีวิตที่ดีขึ้นสามารถช่วยสร้างแรงขับดันให้พนักงานเหล่านั้นขยันทำงานขึ้นได้อย่างทันตาเห็น
  • การแสดงรูปคนไข้เคียงคู่กับภาพเอ็กซเรย์ช่วยให้แพทย์วิสัญญีรู้สึกผูกพันธ์และตั้งใจตรวจเช็คภาพเอ็กซเรย์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นกว่าการไม่แสดงรูปคนไข้อย่างมีนัยสำคัญมากๆ

ปิดท้าย การเป็น Giver ที่คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองด้วยนั้นอาจฟังเหมือนเป็นผู้ให้ที่ไม่เต็มที่เท่ากับ Giver ที่คิดถึงแต่ผู้อื่นโดยไม่สนใจตัวเองเลย แต่ Giver ประเภทหลังนั้นมักหมดไฟอย่างรวดเร็ว ส่วน Giver แบบมีกลยุทธ์นั้นสามารถรักษาไฟในการให้ของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างการให้ที่มากกว่ามากๆในท้ายที่สุด นอกจากนั้น การเลือกที่จะให้แบบใหญ่ๆเป็นครั้งคราวนั้นมักทำให้ Giver รู้สึกดีกว่าการให้แบบทีละเล็กละน้อยที่ผู้ให้มักไม่ค่อยรู้สึกถึงผลลัพธ์จากการให้เล็กๆเหล่านั้นซักเท่าไหร่

 


 

7 | Chump Change : Overcoming the Doormat Effect

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Giver จำนวนมากล้มเหลวในหน้าที่การงานก็คือการถูก “เอาเปรียบ” ดั่ง “พรมเช็ดเท้า” ที่ Taker หมายตาเพื่อเหยียบย่ำและตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเองจากความช่วยเหลือที่ได้มาแบบฟรีๆ แต่ Giver ที่ประสบความสำเร็จนั้นก็สามารถที่จะปกป้องการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเหล่า Taker และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองด้วยกลยุทธ์สำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

  • Sincerity Screening : การที่ Giver ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าภาพลักษณ์ภายนอกกับตัวตนภายในของผู้คนนั้นไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกัน คนที่ดูสุภาพและเป็นกันเองอาจมีความคิดแบบ Taker แอบแฝงอยู่ได้ ดังนั้น Giver จึงต้องมีการหมั่นตรวจสอบว่าบุคคลที่เราให้ความช่วยเหลืออยู่นั้นมีความจริงใจมากแค่ไหนอยู่ตลอดเวลา
  • Generous Tit for Tat : เมื่อ Giver เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบอยู่ สิ่งที่ Giver ควรทำก็คือการเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองเป็น Matcher สำหรับคนกลุ่มนั้นเพื่อขอให้พวกเขาช่วยทำอะไรบางอย่างกลับคืนมาให้ก่อนที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองในระยะยาว
  • Assertiveness : ปิดท้าย Giver จำนวนมากมักมีความเกรงใจและมักรู้สึกไม่สบายใจในการเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง [Giver มักมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นเพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่ต่อรองเงินเดือน] จนถูกเอารัดเอาเปรียบและแซงหน้าโดยคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเทคนิคที่สามารถเปลี่ยนให้ Giver มีความกล้ารักษาผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้นก็คือการเปลี่ยนความคิดว่าสิ่งที่ Giver เรียกร้องนั้นเป็นการเรียกร้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้อื่นแทน อาทิ การต่อรองเงินเดือนเพื่อครอบครัว หรือ การปฏิเสธงานส่วนเพิ่มที่ไม่จำเป็นเพื่อปกป้องลูกทีมไม่ให้ต้องทำงานดึกจนเกินไป

 


 

8 | The Scrooge Shift : Why a Soccer Team, a Fingerprint, and a Name Can Tilt Us in the Other Direction

เมื่อมองในระดับภาพรวมของสังคมหรือองค์กรแห่งใดแห่งหนึ่ง กลยุทธ์สำคัญในการช่วยกันปกป้อง Giver จากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสมาชิกที่เป็น Taker ในกลุ่มก้อนสังคมนั้นๆก็คือการวางโครงสร้างสังคมที่ทำให้สมาชิกทุกคนมีการให้ที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในความเชื่อผิดๆของมนุษย์จำนวนมากเลยก็คือการคิดว่าการเป็น Giver นั้นเป็นสิ่งที่อ่อนแอจนทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำตัวเป็น Matcher หรือแม้กระทั่ง Taker ในบริบทของสังคมขนาดใหญ่และในที่ทำงานทั้งๆที่จริงๆแล้วพวกเขาก็มีแนวคิดแบบ Giver อยู่เหมือนกันแต่เลือกที่จะไม่แสดงออกมาเพื่อสอดรับกับค่านิยมของสังคมที่อาจเข้าใจกันไปแบบผิดๆ

ดังนั้น สังคมที่ช่วยอุ้มชู Giver ได้ดีที่สุดก็คือสังคมที่ส่งเสริมการให้อย่างเปิดเผยของสมาชิกแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น องค์กรแบบไม่แสวงหากำไรอย่าง Freecycle.org ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถบริจาคสิ่งของที่ตัวเองไม่ใช้แล้วแทนที่การทิ้งสิ่งของเหล่านั้นไปอย่างเสียเปล่าที่สามารถเปลี่ยนสมาชิกที่เป็น Taker ที่แต่เดิมเพียงแค่ต้องการมารับของฟรีไปใช้ให้กลายมาเป็น Giver ที่พร้อมบริจาคให้เข้ากับขนมธรรมเนียมของสังคมแบบเปิดเผย หรือ การสร้างเวทีแห่งการแบ่งปัน (reciprocity ring) ระหว่างสมาชิกในองค์กรเพื่อให้ผู้คนสามารถขอความช่วยเหลือและเสนอตัวเข้าช่วยเหลือกันอย่างเปิดเผยซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ Giver ได้ทำหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นและยังช่วยปรับให้ Taker ยอมให้แก่ผู้อื่นมากขึ้นถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การสร้างภาพก็ตาม เมื่อผู้คนในสังคมเริ่มมีการให้มากยิ่งขึ้น การให้ก็จะกลายมาเป็นระเบียบใหม่ของผู้คนที่ช่วยส่งเสริมให้พวกเขาปรับทัศนคติที่ดีต่อการให้มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น งานวิจัยหลากแห่งยังเห็นตรงกันว่ายิ่งสมาชิกในสังคมมีความเหมือนกันอย่างหายากมากขึ้นเท่าไหร่ ความอยากที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นก็จะมีมากยิ่งขึ้น อาทิ การทดลองแห่งหนึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแฟนบอล Manchester United นั้นพร้อมใจที่จะช่วยเหลือแฟนคลับที่ใส่เสื้อทีมเดียวกันมากกว่าคนทั่วไปหรือแฟนบอลทีมอื่นๆหลายเท่าตัว หรือ แม้กระทั่งการที่คนที่มีชื่อเหมือนกันหรือมาจากเมืองเดียวจะให้ความช่วยเหลือกันได้มากขึ้น ดังนั้น องค์กรที่ต้องการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันจึงต้องทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกกลมเกลียวเป็นพวกเดียวกันหรือมีเป้าหมายร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

หน้าเว็ปไซต์ www.freecycle.org

 


 

9 | Out of the Shadows

ผลการวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบ Giver ในชีวิตประจำวันของพวกเรา แต่ผู้คนจำนวนมากกลับพลาดโอกาสในการนำเอาตัวตนแบบ Giver ของตัวเองมาใช้ในที่ทำงานด้วยเกรงกลัวต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาเหมือนที่กล่าวมาทั้งหมดในบทก่อนหน้านี้ เมื่อทุกท่านทราบดีถึงคุณประโยชน์ในระยะยาวของการเป็น Giver และแนวทางในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองในฐานะ Giver ที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะเริ่มต้นการให้และสร้างโลกที่เต็มไปด้วย Giver ที่คอยสร้างคุณค่าที่มากขึ้นกว่าเดิมยิ่งๆขึ้นไปครับ

สำหรับท่านที่อยากตรวจสอบความเป็น Giver ของตัวเอง สามารถเข้าไปทำแบบสอบถามได้ที่นี่ครับ https://adamgrant.net/quizzes/give-and-take-quiz/

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

Recent Posts