[สรุปหนังสือ] Influence Empire : Inside the Story of Tencent and China’s Tech Ambition (2022)
by Lulu Chen
“Tencent has been one of the world’s most powerful companies that few people outside its home turf are aware of.”
ในปี 2017 เหตุการณ์ที่สร้างความฮือฮาที่สุดครั้งหนึ่งในวงการเทคโนโลยีโลกได้เกิดขึ้นเมื่อ Tencent บริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักได้เบียด Facebook ขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลกพร้อมๆกับการสร้างแรงกระเพื่อมถึงขีดความสามารถของบริษัทเทคโนโลยีจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไม่ได้เป็นรองต่อบริษัทสัญชาติอเมริกันใน Silicon Valley อย่าง Google, Apple, Amazon, Facebook และ Microsoft อีกต่อไป
Influence Empire คือ หนังสือของผู้เขียน Lulu Chen แห่งสำนักข่าว Bloomberg ที่เปิดเผยเรื่องราวสำคัญทั้งหมดของบริษัทที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆของประเทศจีนอย่าง Tencent ผู้เป็นเจ้าของ application ระดับ “Super App” อย่าง WeChat ที่รวบรวมบริการอย่าง Whatsapp, Facebook, Yahoo, Uber, Deliveroo และ PayPal เข้ารวมกันจบในที่เดียวและเจ้าของเกมส์ชื่อดังระดับโลกมากมาย อาทิ Fortnite และ League of Legends ตั้งแต่ การเริ่มก่อตั้งบริษัทของ Pony Ma เจ้าของบริษัทผู้ลึกลับที่เต็มไปด้วยปัญหาในยุคแรกเริ่ม การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาต่อมา ความท้าทายจากคู่แข่งที่พร้อมสู้กันถึงตายและปัญหาความสัมพันธ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนที่เริ่มเล็งเห็นแล้วว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent นั้นอาจมีอิทธิพลมากเกินพอดี
ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเรื่องราวการประกอบธุรกิจและการไต่สู่ความสำเร็จของธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศจีนติดตามอ่านสรุปหนังสือระดับชิงรางวัล Financial Times Business Book of the Year 2022 เล่มนี้กันได้เลยครับ
PART I – Origins
Chapter 1 : Book of Pony
Pony Ma หรือ Ma Huateng เติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลางที่เกาะ Hainan ก่อนที่จะย้ายตามคุณพ่อผู้ทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทท่าเรือที่มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของที่เมือง Shenzhen ในยุคที่เมืองกำลังค่อยๆเติบโตจากนโยบายทดลองเปิดประเทศของจีนในยุคของ Deng Xiaoping… Pony Ma ในวัยเด็กมีความสนใจต่อวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์มากเป็นพิเศษถึงขั้นที่คุณพ่อต้องยอมลงทุนซื้อกล้องดูดาวที่มีราคาเท่ากับเงินเดือน 4 เดือนให้เป็นของขวัญซึ่งเขา… ต่อมา Pony Ma เลือกที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น Shenzhen University แทนที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยดังๆในปักกิ่งอย่าง Tsinghua จากความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงเหตุการณ์กราดยิงที่จตุรัส Tiananmen และด้วยความที่มหาวิทยาลัยไม่มีวิชาดาราศาสตร์จึงทำให้ Pony Ma ตัดสินใจเรียนสาขา computer science แทนและเขาก็ถือเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิที่มีความสามารถในระดับที่สามารถ hack คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยได้
Pony Ma เริ่มต้นเข้าสู่วงการเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาโปรแกรมเทรดหุ้นที่เขาสามารถขายให้กับบริษัทที่เขาฝึกงานด้วยได้อย่างรวดเร็วในมูลค่า 50,000 หยวนและก็ได้เข้าสมัครไปทำงานกับบริษัทผู้ผลิต pager ชื่อ Runxun อยู่นานถึง 5 ปีพร้อมๆกับการหางานอดิเรกเพิ่มเติม เช่น การลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์กว่า 8 เครื่องด้วยเงินเกือบทั้งหมดของการขายโปรแกรมเพื่อใช้งาน bulletin board ในยุคแรกเริ่มของการเชื่อมต่อเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต… ซึ่งต่อมา Pony Ma ก็ได้ตัดสินใจเปิดบริษัทร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนมัธยมในชื่อ Teng Xun ที่ใช้คำว่า Teng จากชื่อจีนของเขามารวมกับคำว่าเร็วที่แปลตรงๆว่า “การควบข้อมูลอย่างรวดเร็ว” ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Tencent ในช่วงปลายปี 1998 ด้วยเงินลงทุน 500,000 หยวน ในช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นของบริษัทอย่าง Google และ Alibaba
ในช่วงไม่กี่เดือนแรก Tencent เปิดทำธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับอุปกรณ์ beeper และรับจ้างเขียนซอฟท์แวร์ให้กับบริษัทต่างๆจนกระทั่ง Pony Ma ได้มองเห็นโอกาสในการ “ก็อปปี้” โปรแกรมแชทชื่อ ICQ ของบริษัทสัญชาติอิสราเอลที่ถูกซื้อไปโดย AOL ที่พวกเขาก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในชื่อ OICQ และทำการอัพเดทอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาซอฟท์แวร์แชทนี้ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนมากที่สุด อาทิ การเก็บข้อมูลแชทใน server เพราะชาวจีนส่วนใหญ่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลแชทในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ได้ การทำขนาดโปรแกรมให้เล็กกว่าคู่แข่งหลายเท่าเพื่อให้ดาวน์โหลดเสร็จไม่ถึง 5 นาทีด้วยความเร็วอินเตอร์เน็ตในสมัยนั้นและการวางโครงสร้างพื้นฐานของโปรแกรมใช้ server น้อยที่สุด ซึ่ง Pony Ma ก็ยังทำหน้าที่เป็นคนคอยพูดคุยกับ user กลุ่มแรกๆโดยยอมแม้กระทั่งแปลงตัวเป็นผู้หญิงเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ จนท้ายที่สุด ICQ ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆและเตะตา AOL เข้าเรื่องการก็อปปี้กระทั่งชื่อจน Tencent ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อโปรแกรมเป็น QQ พร้อมกับการระดมทุนก้อนใหญ่ครั้งแรกได้สำเร็จกว่า 2.2 ล้านดอลลาร์แลกกับหุ้น 40% และต่อมาก็ได้รับเงินลงทุนครั้งใหญ่จาก Nasper บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่จากแอฟริกาใต้กว่า 32 ล้านดอลลาร์ที่กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ Tencent จนถึงปัจจุบัน
Pony Ma ผู้ก่อตั้ง Tencent (source: Encyclopedia Britannica)
Chapter 2 : March of the Penguins
เมื่อเงินทุนและฐานผู้ใช้งานมีความพร้อม ความท้าทายใหญ่ของ Tencent จึงอยู่ที่การหารายได้จากบริการ QQ ที่แทบจะไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายอะไรได้เลยจากผู้ใช้งาน… Tencent เคยทดลองเก็บค่าสมัครเล็กๆน้อยๆผ่าน SMS ก็โดนคู่แข่งที่ก็อปปี้บริการทำราคาแข่งขัน จนสุดท้ายก็ไม่สามารถเก็บค่าใช้จ่ายอะไรได้จากผู้ใช้งาน… โดยรายได้ชุดแรกที่พอทำให้ Tencent อยู่ได้นั้นก็คือการพึ่งพิงคู่ธุรกิจอย่างบริษัทเทเลคอมของรัฐในการให้บริการต่างๆ อาทิ ค่าสมัครระบบแจ้งเตือนผ่านทาง SMS เมื่อมีแชทใหม่ แต่รายได้เหล่านั้นก็ไม่ได้เยอะและต้องพึ่งพาบริษัทอื่นมากเกินไป ต่อมา Tencent ก็เริ่มนำเอาไอเดียของบริษัทเกาหลีใต้มาใช้ด้วยการขายเครื่องแต่งกายของ avatar ของผู้ใช้งานที่ก็ได้กระแสตอบรับดี… และท้ายที่สุด Pony Ma ก็ได้เริ่มต้นกลยุทธ์ใหม่ที่นำ Tencent มาสู่การเป็นธุรกิจแบบ Super App เหมือนทุกวันนี้ด้วยการเชื่อมบริการ QQ ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากเข้ากับบริการอื่นๆที่สามารถเก็บรายได้ได้ที่เริ่มต้นจากบริการข่าวที่ยังช่วยสร้างความแตกต่างจากบริการแชทของบริษัทอื่นๆอีกด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกัน Pony Ma ก็ได้ตัดสินใจนำ Tencent เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงและยังได้พบกับมือขวาคนสำคัญอย่าง Martin Lau ที่ทำงานให้กับวาณิชธนกิจอย่าง Goldman Sachs ที่เขาเลือกใช้ในการทำ IPO จนในที่สุดก็ชวนให้ Martin Lau ผู้มีประสบการณ์ด้านกลยุทธ์ วิศวกรรมและการเงินเข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการทำให้บริษัทแบบ startup ในสมัยนั้นมีรากฐานที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้นสู่การเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน… Pony Ma ยังเลือกใช้เทคนิคสำคัญอย่างการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงทุกๆสองสัปดาห์เพื่อเปิดโอกาสพูดคุยและนำเสนอแนวทางและโอกาสใหม่ๆของ Tencent ตั้งแต่ 10 โมงเช้ายันตี 2 อันเป็นที่มาของนวัตกรรมใหม่ๆมากมายในเวลาต่อมา… ในด้านชีวิตส่วนตัวของ Pony Ma เองก็ได้มาพบรักกับภรรยา Wang Danting ผ่านการแชทใน QQ ด้วยเช่นกัน
โปรแกรมแชท QQ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (source: Softonic)
Chapter 3 : David to Goliath – A Soul-searching Journey
ความท้าทายครั้งใหญ่ลำดับถัดมาของ QQ และ Tencent ก็คือการมาถึงของยักษ์ใหญ่อย่าง MSN ของ Microsoft ที่ถูกมองว่าเป็นบริการที่เรียบหรูและน่าใช้งานเหมาะกับผู้ใช้งานที่อยู่ในเมืองมากกว่า… ในขณะที่ QQ ถูกมองว่าเป็นบริการแชทของคนระดับล่างที่มี user interface ยุ่งเหยิงไม่ทันสมัย… จนทำให้ Pony Ma เลือกใช้กลุทธ์แบบเชิงรุกที่เรียกว่า “xiao bu kuai pao, kuai su die dai” หรือ “การก้าวเล็กๆอย่างถี่ๆเพื่อการวิวัฒนาการอันรวดเร็ว” ที่ Tencent สามารถเร่งพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆขึ้นมาแข่งขันกับ MSN มากมายอย่างรวดเร็วตามความต้องการของผู้ใช้งานจีน ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft นั้นมีรูปแบบการทำงานที่ล่าช้าและรวมศูนย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าของ server ที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน จนท้ายที่สุดเมื่อ MSN ถูกอัพเกรดเป็น MSN Live ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวมหลายบริการเข้าด้วยกันแต่ไม่ถูกใจชาวจีน บริการท้องถื่นที่รวดเร็วและเข้าใจคนจีนมากกว่าก็ชนะไปในที่สุด… เช่นเดียวกัน Alibaba ที่ชนะ eBay และ Didi ที่ชนะ Uber… และเมื่อศึกจบลง Pony Ma ยังได้ตัวผู้บริหาร MSN ในประเทศจีนมาร่วมทีมและนำเอาแนวคิดการบริหารแบบ Microsoft ที่เป็นระบบกว่ามาช่วยพัฒนา Tencent ต่ออีกขั้น
เมื่อ Tencent มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นและมีความไร้เทียมทานจากการไร้ซึ่งคู่แข่งรายใหญ่ แนวทางการเติบโตแบบ Super App ของ Tencent ที่เลือกพัฒนาบริการต่างๆมากมายที่สามารถเชื่อมกลับไปยังฐานลูกค้าของ QQ ด้วยกลยุทธ์การ “ก็อปปี้” อย่างเหี้ยมโหดจากคู่แข่ง startup รายเล็กๆที่ต่างก็ต้องปิดตัวลงเพราะสู้ความแข็งแกร่งของ Tencent ไม่ได้ จน Tencent ได้รับฉายาว่าเป็นนักฆ่าบริษัทเทคโนโลยีรายเล็กและกลายมาเป็นยักษ์เข้าซะเอง… จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ผู้บริหารของ Tencent ตระหนักรู้ถึงชื่อเสียงในด้านแย่ๆของตัวเองและทำการเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องในวงการเทคโนโลยีมาพูดคุยอย่างเต็มใจ ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ครั้งสำคัญจากการเป็นนักฆ่ามาสู่การเป็นนักอุ้มชูธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยการเลือกที่จะไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองและหันมาพัฒนา ecosystem ด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนให้กับธุรกิจ startup และทำการซื้อหรือควบรวมกิจการอย่างเป็นมิตรแทน… โดยดีลใหญ่ที่สุดก็คือการที่ Tencent ขายแผนก e-commerce ของตัวเองให้กับ JD.com ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ของอุตสาหกรรมเพื่อแลกกับหุ้น 15% ในปี 2014… นอกจากนั้น Tencent ยังกลายมาเป็นบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีมากมาย รวมถึง Tesla, Spotify และ Snap อีกด้วย
PART II – Tencent Unbound
Chapter 4 : Shifting Winds
เรื่องราวการเติบโตอันรุ่งโรจน์ของ Tencent นั้นได้รับแรงสนับสนุนแบบเต็มๆจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของประเทศจีนที่เปลี่ยนประเทศที่เต็มไปด้วยคนยากจนให้กลายมาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าอย่างต่อเนื่องในยุคหลังการเปิดประเทศ
โดยถึงแม้ว่าการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในยุคแรกเริ่มนั้นล้วนเกิดขึ้นจากบริษัทจีนที่ “ก็อปปี้” โมเดลธุรกิจจากบริษัทตะวันตก อาทิ Alibaba จาก eBay, Baidu จาก Google และ Weibo จาก Twitter… แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนก็ได้เริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและโมเดลธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากรระดับหลายร้อยล้านคนได้อย่างที่ชาติตะวันตกทำไม่ได้ อาทิ การใช้งานบริการจ่ายเงินผ่านมือถือ (mobile payment) ที่แพร่หลาย การจัดทำมหกรรมช็อปปิ้งสุดยิ่งใหญ่ตามเทศกาลต่างๆอย่างวันคนโสด 11.11 ไปจนถึง การสร้าง Super App ที่รวมรวบบริการมากมายจบภายในที่เดียว… ซึ่งนวัตกรรมส่วนใหญ่นั้นมักมีสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ Alibaba เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งการพัฒนาบริการเหล่านั้นเองอย่างรวดเร็วและการส่งเสริม ecosystem ผ่านการลงทุนในธุรกิจ startup มากมายที่หลายๆเจ้าก็กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ อาทิ Meituan แห่งวงการ food delivery และ Didi แห่งวงการ ride hailing
Chapter 5 : Alibaba the Arch-nemesis
ศัตรูคู่อาฆาตอันดับหนึ่งของ Tencent นั้นหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ผู้ให้บริการ e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของประเทศจีนที่ก่อตั้งขึ้นโดย Jack Ma คุณครูสอนภาษาอังกฤษผู้เล็งเห็นโอกาสจากการมาถึงของอินเตอร์เน็ตเป็นคนกลุ่มแรกๆของประเทศจีนที่ต่อมาได้สร้างอาณาจักรแพลตฟอร์มธุรกิจค้าปลีกอย่าง Taobao ที่สามารถเอาชนะ eBay ได้สำเร็จในประเทศจีนและบริการทางการเงินอย่าง Alipay ที่เริ่มต้นจากการเป็นบริการเสริมที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งาน Taobao ก่อนที่จะขยับขยายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการจ่ายเงินในเวลาต่อมาจากการวางรากฐานการจ่ายเงินแบบ QR code ที่ร้านค้าสามารถปริ้นต์ QR code ของตัวเองเพื่อรบเงินผ่าน Alipay ทางโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกสบายจนแทบจะหาร้านที่รับเงินสดในเมืองใหญ่ๆของจีนไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
สงครามการแข่งขันอย่างร้อนแรงของ Alibaba และ Tencent นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายสนาม แต่ศึกครั้งใหญ่ที่สุดนั้นคงหนีไม่พ้นตอนที่ Tencent เปิดให้บริการส่งอั่งเปาผ่าน WeChat… ที่เกิดขึ้นจากพนักงานภายในอยากพัฒนา application ที่ช่วยให้ Pony Ma แจกอั่งเปาให้กับพนักงานอย่างสะดวกมากขึ้น… ที่มีลูกเล่นอย่างระบบสุ่มมูลค่าเงินที่คนรับจะได้รับซึ่งก็สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรวดเร็วจนถูกพัฒนาต่อมาเป็น WeChat Pay ที่กลายมาเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของ Alipay จน Jack Ma เรียกเหตุการณ์เหล่านั้นว่าเป็นการจู่โจมแบบ Pearl Harbor ของ Tencent กันเลยทีเดียว
Jack Ma และ Pony Ma ในงานฉลองครบรอบ 40 ปีการเปิดประเทศในปี 2018 (source: The Japan Times)
Chapter 6 : The Biggest Coup – Meituan
อีกหนึ่งเรื่องราวการต่อสู้สุดทรหดที่นำมาสู่การเป็นเจ้าแห่งแพลตฟอร์มด้านการบริการของ Meituan บริษัทเทคโนโลยีผู้ให้บริการ food delivery, restaurant review, travel booking และ group buying ได้เริ่มต้นขึ้นโดย Wang Xing ผู้ก่อตั้งที่มองเห็นโอกาสสำคัญหลังจากความสำเร็จในการเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของ Alibaba ที่ยังเปิดช่องว่างให้กับการบริการอยู่จนเริ่มทำการ “ก็อปปี้” โมเดลธุรกิจของ Groupon มาแข่งขันกับคู่แข่งอีกหลายสิบรายที่รวมถึง Groupon China และ Dianping ที่ต่างก็ได้ Tencent เป็นผู้ร่วมลงทุน โดยกลยุทธ์สำคัญของ Meituan ก็คือการทำงานอย่างหนักของทีมเซลส์ที่ได้อดีตผู้บริหารของ Alibaba มาเป็นผู้คุมและยังได้เงินลงทุนหนึ่งก้อนจาก Alibaba… ต่อมา Wang Xing ก็ได้มองเห็นโอกาสแห่งอนาคตอย่าง food delivery ที่ก็มีคู่แข่งอย่าง ele.me เป็นเจ้าตลาดเดิมที่ยังทำตลาดแค่ในแถบมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ซึ่ง Meituan เองก็รีบตีตลาดอย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนา application ที่มีประสิทธิภาพสูงและการบุกของทีมเซลส์ที่ทำงานแบบ 996 หรือ “9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์” ที่ใช้ทั้งกำลังเงินในงานดีลร้านค้า อาทิ การให้บริการฟลีทคนขับรถแบบฟรีๆแทนการใข้คนขับของร้านที่เป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น และแผนการสกปรกต่างๆที่พอทำได้ อาทิ การเอาโปสเตอร์ของตัวเองไปติดทับคู่แข่งทุกวัน
มหาศึกสงครามระหว่าง Tencent และ Alibaba ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2015 เมื่อ Tencent ได้ทำดีลลับในการลงทุนใน Meituan กว่า 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อควบรวมกับ Dianping แหกหน้า Alibaba อันนำมาสู่การแข่งขันอย่างดุเดือดของสมรภูมิ food delivery ที่ Alibaba ก็ได้ซื้อ ele.me ด้วยมูลค่ากว่า 9.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 เข้าไปควบรวมกับบริการของตัวเองและทั้งคู่ก็ได้ระดมทุนออกโปรโมชั่นแบบขาดทุนกระหน่ำเพื่อเร่งขยายตลาดจนทำให้คนส่งอาหารในชุดสีเหลืองของ Meituan และสีน้ำเงินของ ele.me วิ่งขวักไขว่อยู่เต็มไปทั่วหัวเมืองใหญ่ในปัจจุบัน
การลงทุนใน Meituan โดยที่ Tencent ให้อิสรภาพแก่ทีมผู้บริหารชุดเดิมโดยไม่เข้าไปบังคับบัญชายังได้สร้างชื่อเสียงให้ Tencent ในฐานะนักลงทุนที่ไม่สร้างความวุ่นวายซึ่งแตกต่างกับ Alibaba และยังทำให้ Tencent สามารถนำเอาความสำเร็จและวิธีคิดแบบให้อิสรภาพนี้ไปชักชวนให้บริษัท startup อีกมากมายยอมให้ Tencent ร่วมลงทุนได้สำเร็จ
กองทัพไรเดอร์ของ Meituan (source: Tech in Asia)
Chapter 7 : WeChat, China’s Virtual Town Square
ความรุ่งโรจน์ที่นำพาให้ Tencent ทะยานขึ้นมาเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดบนโทรศัพท์มือถือของประชากรชาวจีนนับพันล้านคนนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Pony Ma เล็งเห็นถึงการมาถึงของยุคสมัยใหม่ของ smartphone จากความสำเร็จของ iPhone จนทำให้เขาเลือกที่จะ disrupt ธุรกิจทำเงินเดิมอย่าง QQ ด้วยการเร่งพัฒนาบริการแชทและ social media ใน application บนโทรศัพท์มือถือด้วยวิธีการตั้งทีมหลายๆทีมมาแข่งขันกันพัฒนา app ที่ดีที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทีมพัฒนา app ที่มีชื่อว่า WeChat โดย Allen Zhang วิศวกรมากความสามารถผู้ที่เคยพัฒนาและขายธุรกิจ e-mail ของเขาให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ต่อมาก็ถูก Tencent ซื้อต่อทั้งตัวธุรกิจและตัวของ Allen Zhang เอง
ยุคแรกเริ่มของ WeChat นั้นก็ไม่ต่างจากเรื่องราวความสำเร็จของธุรกิจเทคโนโลยีแบบจีนอื่นๆที่เริ่มต้นจากการ “ก็อปปี้” บริการแชทของบริษัทตะวันตกก่อนที่จะประสบความสำเร็จหลังจากการ “ก็อปปี้” บริการแชทจากฮ่องกงชื่อ TalkBox ที่มีฟังก์ชันในการส่งข้อความเสียงที่สะดวกกับผู้ใช้งานชาวจีนมากกว่าการพิมพ์ที่ไม่ง่ายเหมือนภาษาอังกฤษ ซึ่ง WeChat ก็ใช้หลักการเดิมคือ “การก็อปปี้นวัตกรรมของคนอื่นมาพัฒนาให้ดีกว่า” โดยเฉพาะด้านความเร็วและการพัฒนาฟีเจอร์อัพเดทอย่างรวดเร็ว อาทิ Moments ที่เป็นเหมือน feed ของ Facebook และ Public Accounts ที่เป็น blog สำหรับเผยแพร่ข่าวสาร จนทำให้ WeChat ที่เปิดตัวในต้นปี 2011 มีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนภายในปี 2012 และเบียดแซงหน้า QQ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่เดิมในบริษัทเดียวกันได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ WeChat ก็มีจุดสีเทาเมื่อรัฐบาลจีนได้เข้ามาควบคุมและใช้ WeChat เป็นเครื่องมือในการสอดส่องผู้เห็นต่างทางการเมืองและทำการแบนข้อความที่ไม่เหมาะสมจากระบบ พร้อมๆกับการเริ่มจับประชาชนชาวจีนที่ส่งข้อความที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและยังขู่ว่า admin ใน chat group ที่ปล่อยให้มีข้อความที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นจะต้องโดนลงโทษไปด้วย จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายและทำให้ความฝันในการขยายบริการ WeChat ไปยังต่างประเทศไม่สัมฤทธิ์ผล ซึ่ง Allen Zhang เองจึงหันกลับเข้ามาโฟกัสในการพัฒนา WeChat แบบ “ลึก” สำหรับคนจีนที่กลายมาเป็น Super App ในปัจจุบัน
วิสัยทัศน์แบบศิลปินของ Allen Zhang ที่พยายามพัฒนา WeChat ให้เป็น application ที่สวยงามและไม่มีโฆษณามารบกวนใจเยอะเหมือนกับ Facebook ทำให้เขาต้องพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆที่ช่วยให้หาเงินได้มากขึ้น อันเป็นที่มาของ WeChat Pay บริการด้านการจ่ายเงินที่กินส่วนแบ่งจาก AliPay อย่างรวดเร็วและ Mini Programs ที่เปลี่ยนให้ WeChat กลายมาเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้พัฒนาสามารถสร้าง application ที่ฝังไว้กับแพลตฟอร์มของ WeChat เพื่อให้บริการต่างๆที่ทำให้ผู้ใช้งานชาวจีนต้องเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง อาทิ เกมส์, บริการสั่งอาหารผ่าน Meituan และของร้านอาหารต่างๆ, บริการจองตั๋วภาพยนตร์, บริการจองเครื่องบินและโรงแรม, บริการเช่าจักรยาน, ซอฟท์แวร์บริหารจัดการและบริการเรียกรถแท็กซี่ (ride-hailing) ที่ก็เป็นอีกสมรภูมิรบใหญ่ระหว่าง Tencent กับ Alibaba
WeChat application (source: Tech in Asia)
Chapter 8 : The Ride-hailing Battle
สมรภูมิที่เดือดที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนก็คือบริการเรียกรถแท็กซี่ (ride-hailing) ที่เริ่มเกิดขึ้นในประเทศจีนจากการ “ก็อปปี้” บริษัท startup ในตะวันตกอย่าง Uber และ Hailo อย่างรวดเร็วจนมีบริษัท startup ที่แข่งขันกันในช่วงแรกเริ่มหลายสิบเจ้าก่อนที่ผู้ชนะสองบริษัทจะเริ่มเป็นที่ประจักษ์อันได้แก่ Kuaidi Dache ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก Alibaba และ Didi Dache ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก Tencent
Didi Dache ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 โดย Cheng Wei อดีตพนักงาน Alibaba ผู้ทำหน้าที่คุมทีมฝ่ายขายมายาวนานกว่า 8 ปีที่ตัดสินใจออกมาก่อตั้งธุรกิจ ride-hailing ในยุคแรกเริ่มด้วยเงินลงทุนของผู้บริหารคนหนึ่งของ Alibaba และเริ่มเติบโตขึ้นจากกลยุทธ์การลงไปลุยหน้างานอย่างหนักในการคลุกคลีกับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่วัยหนุ่มๆหน่อยที่ใช้ smartphone ที่กรุงปักกิ่งจนสามารถสร้างกองทัพรถแท็กซี่ที่มากพอได้และก็ได้รับแรงสนับสนุนจากเหตุการณ์พายุหิมะพัดถล่มกรุงปักกิ่งจนทำให้ชาวปักกิ่งไม่สามารถเรียกแท็กซี่ข้างถนนได้และต้องใช้บริการผ่าน application แทน
ต่อมา Didi Dache ก็ได้เงินลงทุนก้อนใหญ่จาก Tencent ที่ต่อมาก็ได้ออกกลยุทธ์อันชาญฉลาดในการฟีเจอร์ Didi Dache ใน WeChat พร้อมๆกับการบังคับจ่ายเงินด้วยระบบของ WeChat Pay ที่สร้างการเติบโตให้กับ Didi Dache และ WeChat Pay อย่างมหาศาลจนกินส่วนแบ่งการตลาดของ AliPay ที่ก็ใช้โมเดลเดียวกันกับ Kuaidi Dache ที่ต่อมา ทั้งสองบริษัทก็ได้ระดมเงินร่วมๆพันล้านหยวนในการออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอย่างเดือดเพื่อชิงความเป็นหนึ่งที่ก็นำพามาซึ่งการเติบโตของยอดการใช้งานบริการ ride-hailing อย่างรวดเร็วในประเทศจีน
ต่อมาไม่นาน ภัยอันตรายจากต่างแดนอย่าง Uber ก็ได้เริ่มทำการบุกตลาดจีน อันเป็นเหตุให้ Didi Dache และ Kuaidi Dache ตัดสินใจควบรวมกิจการระหว่างกันเพื่อสู้ศึกใหญ่ในปี 2015… ซึ่ง Tencent ได้ประโยชน์กว่า Alibaba ในการขยายตลาดของ WeChat Pay ที่แต่เดิม AliPay ครองอยู่กว่า 90%… ซึ่งแน่นอนว่า Uber และบริษัทที่ควบรวมใหม่ Didi Kuaidi ก็ต่างลงทุนลดแลกแจกแถมไปพร้อมๆกับการแข่งระดมทุนจากกองทุนและบริษัทชั้นนำทั่วโลกอย่างรุนแรง จนท้ายที่สุด ทั้งสองผู้บริหารบริษัทก็ได้ตกลงสงบศึกด้วยการควบรวมกิจการและเปลี่ยน Uber จากคู่แข่งให้กลายมาเป็นนักลงทุนในบริษัท ride-hailing ที่เหลือเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียวแห่งนี้ในปี 2016
Didi application (source: TechCrunch)
Chapter 9 : A Gaming Crusade
จุดเริ่มต้นของ Tencent ในฐานะเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเกมส์ระดับโลกเริ่มขึ้นในปี 2004 จากแนวคิดของ Pony Ma ที่เล็งเห็นตั้งแต่แรกๆแล้วว่าเกมส์นั้นคือหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มของ Tencent ได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น Tencent เลือกใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาเกมส์ด้วยตัวเองผ่านการ “ก็อปปี้” เกมส์ชื่อดังที่เน้นไปที่เกมส์ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก อาทิ บอร์ดเกมส์ หรือ puzzle ต่างๆ และเชื่อมโยงเกมส์เหล่านั้นเข้ากับ QQ ที่มีส่วนช่วยสร้างพลังของเครือข่ายให้ผู้ใช้งานอย่างเล่นเกมส์มากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์แจ้งเตือนเวลาเพื่อนใน QQ กำลังเล่นเกมส์อยู่
ต่อมา Tencent ก็ได้ปรับกลยุทธ์จากการพัฒนาเกมส์ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว… ซึ่งก็เคยโดนฟ้องจากการก็อปปี้เกมส์อื่น… มาเป็นการร่วมลงทุนในบริษัทเกมส์มาแรงที่เริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการลงทุน 94% มูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 ใน Riot Games บริษัท startup อเมริกันที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดเกมส์ multiplayer online battle arena (MOBA) ที่โด่งดังจากเกมส์ DOTA ที่เกิดขึ้นจากทีมที่พัฒนาต่อยอดจากเกมส์ Warcraft III แบบฟรีๆที่ไร้ซึ่งคู่แข่งมาเป็นระยะเวลายาวนานจนพัฒนาเกมส์ League of Legends (LOL) ที่ก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วจากโมเดลการให้บริการแบบฟรีที่สามารถเอาชนะคู่แข่งเจ้าอื่นที่เลือกที่จะขายเกมส์ให้กับผู้เล่นและหันมาสร้างรายได้จากการขายสินค้าภายในเกมส์ เช่น ชุดแต่งตัวของตัวละครแทน ซึ่งปัจจุบัน LOL ก็ยังคงได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามจนถูกนำมาต่อยอดเป็น e-sport ที่มีคนดูนับร้อยๆล้านและซีรี่ย์อย่าง Arcane ที่ฉายทั้งบน Netflix และในแพลตฟอร์มของ Tencent
ถัดมาไม่นาน Tencent ยังได้ลงทุนใน Epic อีก 40% ด้วยมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 จากการมองเห็นโอกาสของ Unreal Engine ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสร้างโลกสามมิติเสมือนจริงที่ Epic พัฒนาขึ้นและเริ่มทำการ license ให้กับบริษัทเกมส์และผู้พัฒนาภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งต่อมา Epic ก็ได้เปิดตัวเกมส์ที่ดังเป็นผลุแตกอย่าง Fortnite ที่เป็นเกมส์แนว battle royale ที่ปล่อยให้ผู้เล่นเอาชนะกันภายในสนามจนเหลือผู้เล่นคนสุดท้าย ซึ่ง Fortnite ก็ใช้กลยุทธ์การเปิดให้เล่นแบบฟรีๆและการเก็บเงินผ่านการขายอุปกรณ์ภายในเกมส์ที่ Fortnite ก็ได้ออกนวัตกรรมใหม่อย่าง season pass ที่เป็นบัตรที่จะมอบรางวัลแก้ผู้เล่นตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักที่เกมส์อื่นๆก็เริ่มนำมาใช้ นอกจากนั้น Epic ยังเลือกที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับดาวน์โหลดเกมส์ขึ้นมาแข่งกับ Steam ที่เป็นเจ้าตลาดด้วยโมเดลการเก็บส่วนแบ่งที่น้อยกว่าอีกด้วย
ตัวละครเกมส์ League of Legends (source: Engadget)
Chapter 10 : Era of Mobile Games
กระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วของ smartphone ยังทำให้ Pony Ma และ Tencent เร่งอัดฉีดทรัพยากรไปยังการพัฒนา application บนโทรศัพท์มือถือที่แน่นอนว่าต้องเริ่มจากเกมส์ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของ Tencent ก่อน ด้วยกลยุทธ์แบบเดียวกับการได้มาซึ่ง WeChat ก็คือการจัดตั้งทีม startup ภายในมากมายเพื่อแข่งขันกันพัฒนาเกมส์จนในที่สุดในปี 2015 ก็ได้เกมส์ที่โคตรฮิตอย่าง Honor of Kings ที่เป็นเกมส์แนว MOBA ที่ยังคงลักษณะคล้ายๆกับเกมส์บนคอมพิวเตอร์อย่าง DOTA และ League of Legends อยู่แต่เพิ่มความเร็วกระชับให้เกมส์จบได้ไวขึ้นและผูกเข้ากับ social media ของ WeChat ที่นำมาสู่การชวนเพื่อนเล่นและแชร์ ranking ของตัวเองกันอย่างแพร่หลายในระดับที่นักธุรกิจหลายคนต้องเล่นเกมส์นี้ให้เป็นเพื่อ networking และยังเกิดบริการรับจ้างไต่ ranking ที่สร้างรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมา Tencent ก็ได้เปิดตัวเวอร์ชั่นสำหรับต่างประเทศในชื่อ Arena of Valor หรือ RoV ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี
Tencent ยังได้เข้าไปลงทุนใน Supercell บริษัทผู้เป็นเจ้าเกมส์ยอดฮิตอย่าง Clash of Clans ด้วยเงินลงทุนกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับหุ้น 84% และ Tencent ก็ยังสร้างอุตสาหกรรม e-sport ขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่นัดชิงแชมป์สามารถเรียกคนดูมาได้มากกว่า Super Bowl ถึง 2 เท่า
นอกจากเกมส์แล้ว Tencent ก็ยังรุกเข้าไปยังอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย Tencent Music ที่เชื่อมผ่านแพลตฟอร์มใหญ่ทั้ง WeChat และ QQ ที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงของจีนที่เต็มไปด้วยเพลงเถื่อนให้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่พร้อมจ่ายเงินค่า subscription ผ่านการเร่งทำสัญญากับค่ายเพลงอย่างหนักและจัดการฟ้องบริษัทเทคโนโลยีต่างๆจนสามารถทำสัญญา license เพลงได้อย่างเสร็จสรรพจน Spotify ไม่กล้าบุกตลาดและหันมาทำสัญญาแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกันแทน… Tencent ยังเริ่มบุกตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วยการร่วมลงทุนในภาพยนตร์ระดับ blockbuster อย่าง Venom และ Top Gun: Maverick พร้อมๆกับการไล่ซื้อ license ตัวละครต่างๆ อาทิ นินจานารูโตะ เพื่อสร้างจักรวาลบันเทิงที่อาจทัดเทียม Disney ได้ในอนาคต… และยังเริ่มธุรกิจ cloud computing ที่ก็มีคู่แข่งสำคัญอย่าง Alibaba อีกเช่นเคย
ตัวละครเกมส์ Honor of Kings (source: Indian Express)
Chapter 11 : State vs. Goliath
ความท้าทายครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนการเหยียบเบรกเครื่องยนต์การเติบโตของ Tencent อย่างรุนแรงหลายตลบ เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มออกมาตรการควบคุมวงการเกมส์หลังจากการกล่าวหาถึงความรุนแรงของเนื้อหาของเกมส์และการติดเกมส์ของเยาวชนจนนำมาสู่ยุคที่เกมส์ทั้งหมดของจีนไม่ได้รับการอนุมัติจนทำให้บริษัทเกมส์ขาดรายได้มากมาย ซึ่ง Tencent ก็ได้เร่งให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างรวดเร็วเพื่อลดอาการบาดเจ็บ อาทิ การตรวจข้อมูลอายุของผู้เล่นและทำการควบคุมช่วงเวลาการใช้งานของเยาวชน ไปจนถึง การปรับเกมส์ PUBG ที่เป็นเกมส์แนว battle royale ที่ Tencent ได้รับ license มาใหม่ในชื่อ Game of Peace ที่เปลี่ยนเนื้อหาจากการแข่งฆ่ากันจนเหลือผู้รอดชีวิตมาเป็นการฝึกทหารในสนามรบจำลองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของชาติในการรักษาสันติภาพแทน
ต่อมาไม่นาน ปัญหาการประท้วงที่นำมาสู่การใช้กำลังควบคุมฝูงชนของฮ่องกงก็ได้สร้างความขัดแย้งเชิงความคิดทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทั้งระหว่างรัฐบาลและระหว่างประชาชน อาทิ การประท้วงของผู้เล่นหลังจากที่ผู้เล่นสหรัฐคนหนึ่งถูกแบนจากเกมส์ World of Warcraft ที่ Tencent ถือหุ้นของบริษัท Blizzard อยู่หลังจากการพูดสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง หรือ การที่ชาวจีนและรัฐบาลแห่แบน NBA หลังจากที่มีโค้ชออกมาพูดสนับสนุนฮ่องกงซึ่ง Tencent ก็ซวยไปเต็มๆเพราะพวกเขาพึ่งได้ license มาถ่ายทอดสดในประเทศจีน จนต่อมา รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้ออกนโยบายแบนบริษัทจีนต่างๆที่รวมไปถึงการขู่ถอนหุ้นบริษัทจีนออกจากตลาดสหรัฐและการแบนการใช้งาน WeChat ในปี 2020 ซึ่งท้ายที่สุดคำสั่งของ Donald Trump ก็ถูกยกเลิกโดยระบบศาลในเวลาต่อมา… ซึ่งก็สร้างความตกตะลึงให้กับชาวจีนที่ส่วนใหญ่คิดภาพไม่ออกว่าประเทศอื่นๆนั้นมีกลไกที่สามารถค้านการตัดสินใจของผู้นำสูงสุดได้ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลยในประเทศจีน
ระเบิดลูกใหญ่ที่สุดของวงการเทคโนโลยีจีนได้ถูกจุดขึ้นในกลางปี 2020 หลังจากที่ Jack Ma แห่ง Alibaba ได้กล่าวถึงปัญหาของระบบการเงินแบบดั้งเดิมของประเทศจีนที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเพียงไม่กี่วันก่อนที่บริษัท Ant Group เจ้าของ AliPay จะทำการ IPO ในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้จนนำมาสู่การ “ล้างบาง” ครั้งใหญ่จากรัฐบาลจีนที่เริ่มต้นด้วยการประกาศเลื่อนการ IPO ของ Ant Group อย่างไม่มีกำหนดและการออกจดหมายที่เปรียบเสมือนการเตือนให้ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ยำเกรงและเคารพรัฐบาลที่ก็ผนวกเข้ากับนโยบาย “common prosperity” ของ Xi Jinping ที่ต้องการกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงตามแนวคิดสังคมนิยมยุคใหม่มากยิ่งขึ้น จนนำมาสู่การโจมตีครั้งใหญ่ต่อบริษัทเทคโนโลยี อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีใหญ่ๆจนทำให้แม้แต่การอัพเดทเวอร์ชั่นของ application ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ การแบนธุรกิจติวเตอร์ทั้งหมดให้ไม่สามารถทำกำไรได้เพื่อแสดงถึงจุดยืนว่าการศึกษาต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม การบังคับให้ Didi ถอนตัวจากตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเพียงไม่กี่วันหลังจากการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปี ไปจนถึง การกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมส์ได้เพียงแค่สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงที่กระทบต่อ Tencent อย่างรุนแรง
การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลจีนนั้นส่งผลให้ Tencent ที่แต่เดิมก็พยายามทำตามรัฐบาลจีนอย่างมากอยู่แล้วต้องปรับกลยุทธ์การเติบโตใหม่ที่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้นซึ่งทำให้แผนการขยับขยายไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆและการควบรวมกิจการต่างๆต้องชะลอตัวลง… รวมถึงการขายหุ้นใหญ่ๆอย่าง JD.com และ Sea Group ออกไป… เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจีนผู้ที่กล้าแม้แต่จะทำร้ายบริษัทดาวรุ่งของประเทศตัวเองนั้นยอมรับและเห็นด้วยกับทุกๆย่างก้าวของ Tencent… ความฝันในการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของ Pony Ma อาจกำลังค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นการยอมรับในโชคชะตาของตัวเองที่ Tencent อาจต้องยอมจำใจเป็นผู้รับใช้รัฐบาลจีน
Chapter 12 : The Metaverse and Beyond
โลกเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าในวิสัยทัศน์ของ Pony Ma ถูกเรียกว่า “Quan Zhen internet” หรือ “all-real internet” ที่ Pony Ma มีความเห็นคล้ายๆกับ Mark Zuckerberg เกี่ยวกับ “metaverse” หรือ “โลกเสมือนจริง” ที่กิจกรรมของมนุษย์ทั้งด้านธุรกิจและด้านการใช้ชีวิตถูกเชื่อมประสานกันบนโลกในอินเตอร์เน็ตที่ไปได้ไกลกว่ายุคแห่ง smartphone ในปัจจุบัน นอกจากนั้น โลกของอินเตอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือ “Web3” ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่โครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตจะถูกเชื่อมต่อกันผ่าน blockchain โดยไร้ซึ่งคนกลาง… แต่ก็เป็นสิ่งน่าเสียดายที่บริษัทในประเทศจีนคงไม่สามารถนำเอาหลักการทำธุรกิจที่ดึงรัฐบาลออกจากระบบไปพัฒนาต่อได้และคงตกขบวนความก้าวหน้าครั้งนี้
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]