[สรุปหนังสือ] No Filter : The Inside Story of Instagram (2020)
by Sarah Frier
“The story of Instagram is an overwhelming lesson in how the decisions inside a social media company can dramatically impact the way we live and who is rewarded in our economy.”
ในแต่ละเดือน มนุษย์มากกว่า 1 พันล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเลือกที่จะเปิดใช้งาน application ที่มีชื่อว่า Instagram เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาหรือตัวตนที่พวกเขาอยากจะเป็นผ่าน “รูปภาพ” และ “วิดิโอ” ของตัวเอง ครอบครัว อาหาร สถานที่และสิ่งที่พวกเขาสนใจ ไปพร้อมๆกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันผ่านกลไกอย่าง like และ comment ซึ่งล้วนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Instagram นั้นได้กลายมาเป็นหนึ่งใน application ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกที่สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “smartphone” ที่ตัวติดกันจนแยกไม่ออกได้อย่างสมบูรณ์แบบและ Instagram เองก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตใหม่ของมนุษย์หลายล้านคนทั่วโลกผ่านการเชื่อมโยงความปรารถนาและภาพลักษณ์ส่วนตัวของผู้ใช้งานเข้ากับโลกดิจิตอลได้อย่างลึกซึ้งในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากนั้นแล้ว เรื่องราวความสำเร็จของ Instagram ยังถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลอันมหาศาลของบริษัท social media ที่ทุกการตัดสินใจของพวกเขานั้นสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงานและวัฒนธรรมของผู้คนทั่วโลกได้ภายในระยะเวลาอันสั้นจนไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป
No Filter: The Inside Story of Instagram คือ หนังสือเจ้าของรางวัล Financial Times and McKinsey Business Book of the Year Award ประจำปี 2020 โดยฝีมือของ Sarah Frier นักข่าวสายเทคโนโลยีแห่งสำนักข่าว Bloomberg News ที่หยิบเอาเรื่องราววงในของ Instagram มาเล่าอย่างหมดเปลือก ตั้งแต่ จุดเริ่มต้นในการเป็น application ที่ช่วยให้คนทั่วไปสามารถถ่ายรูปได้สวยขึ้นกว่าเดิม การขายบริษัทที่มีพนักงานเพียงแค่ 13 คนให้กับ Facebook ด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปัญหาความขัดแย้งภายในที่นำมาสู่การลาออกของสองผู้ก่อตั้งและผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบของ Instagram ที่มีต่อสังคมโลกในวงกว้าง
ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเรื่องราวอันมหัศจรรย์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ข้อโต้เถียงและข้อคิดมากมายอ่านสรุปหนังสือ No Filter เล่มนี้กันได้เลยครับ !!
ผู้เขียน Sarah Frier (ขอบคุณภาพจาก Yahoo)
1 | PROJECT CODENAME
เรื่องราวของ Instagram เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 ภายในรั้วมหาวิทยาลัย Stanford อันเป็นศูนย์กลางของ Silicon Valley ในยุคทองที่เรียกว่า Web 2.0 ที่บริษัทอินเตอร์เน็ตเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 21
Kevin Systrom ชายหนุ่มนักศึกษาปริญญาตรีสาขา management science and engineering ได้มีโอกาสได้พบเจอกับ Mark Zuckerberg รุ่นพี่ผู้ที่กำลังประสบความสำเร็จในการสร้างเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า TheFacebook.com ผู้เชิญชวนให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท startup เกิดใหม่นี้ในทีมพัฒนาฟีเจอร์ “photo” ให้ผู้ใช้งานสามารถอัพโหลดรูปภาพของพวกเขาในเว็ปไซต์ social media แห่งนี้ที่กำลังขยายไปในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว แต่ Kevin Systrom ก็ปฏิเสธโอกาสทองของเขาและเลือกที่จะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Stanford
ในปีเดียวกัน Kevin Systrom ก็ได้มีโอกาสทำตามความฝันของเขาในฐานะ “นักถ่ายรูป” ด้วยการเดินทางไปศึกษาการถ่ายรูปที่เมืองอันเป็นศูนย์กลางของยุค Renaissance อย่าง Florence ประเทศอิตาลีที่ที่ทำให้เขารู้จักกับอาจารย์ชาวอิตาเลียนที่บังคับให้เขาเริ่มต้นศึกษาการถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูปพลาสติกรุ่นเก่าชื่อ Holga ที่สามารถถ่ายภาพขาวดำแบบเบลอๆเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสเท่านั้นและเก็บกล้องดิจิตอลราคาแพงของเขาไป ซึ่งเจ้ากล้อง Holga นี้เองก็ได้สอนให้ Kevin Systrom เข้าใจว่า “ในบางครั้งเทคโนโลยีที่ซับซ้อนก็อาจสู้ความเรียบง่ายไม่ได้” และศิลปะการถ่ายรูปแบบสี่เหลี่ยมจตุรัสก็ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบของ Instagram ในช่วงเริ่มต้น
ในช่วงปีการศึกษาสุดท้าย Kevin Systrom ยังมีโอกาสได้ฝึกงานที่ Odeo บริษัท startup ขนาดกลางๆที่เริ่มต้นจากการเป็น market place สำหรับซื้อขาย podcast และได้พบกับ Jack Dorsey วิศวกรคอมพิวเตอร์คนใหม่ของบริษัทที่ต่อมาได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนกลยุทธ์ (pivot) ของ Odeo ด้วยการสร้าง social media สำหรับอัพเดท status และข่าวสารภายใน 140 ตัวอักษรที่มีชื่อว่า Twitter
ต่อมา เมื่อจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford ในปี 2006 แล้ว สิ่งที่ Kevin Systrom เลือกทำต่อไปนั้นก็ไม่ต่างกับเพื่อนนักศึกษามหาลัยเดียวกันกับเขานั่นคือการเข้าทำงานที่ Google ซึ่งถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงมากที่สุดในขณะนั้น ที่ซึ่ง Kevin Systrom ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่มีการใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบของบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอันดับต้นๆของโลก [Google ทดลองทุกอย่างแม้กระทั่งเฉดสีน้ำเงินของ hyperlink ที่จะทำให้ผู้ใช้งานเลือกกดมากที่สุด] แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจลาออกในปี 2008 หลังจากที่เขาถูกปฏิเสธไม่ให้ทำงานในฝ่าย product ที่เขาต้องการ
Kevin Systrom เริ่มคิดถึงการทำ startup ของตัวเองระหว่างที่เขาทำงานที่ใหม่ในบริษัท startup ชื่อ Nextstop ที่ทำให้เขามีเวลาในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ในการเรียนการเขียนโปรแกรมและคิดถึงไอเดียธุรกิจของตัวเอง ซึ่งในช่วงปี 2009-2010 นั้นเป็นจังหวะทองของธุรกิจ mobile application ที่เริ่มได้รับความนิยมหลังการเปิดตัว iPhone ของ Apple ในปี 2007 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถพกพาคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไปได้ทุกที่อย่างสะดวกสบาย
ไอเดียธุรกิจที่เป็นน้ำเป็นเนื้อชิ้นแรกของ Kevin Systrom นั้นมีชื่อว่า Burbn (มาจากชื่อเหล้า Bourbon Whiskey) ซึ่งเป็น social media ที่เปิดให้ผู้ใช้งานประกาศแก่กลุ่มเพื่อนว่าตอนนี้ตัวเองกำลังไปเที่ยวที่ไหนอยู่เพื่อเชิญชวนให้พวกเขามากินดื่มเต้นด้วยกัน ด้วยความที่ Kevin Systrom มีบุคลิคภาพที่ดี มีความมั่นใจในตัวเองสูงและมีผืนฐานที่ดีจากมหาวิทยาลัย Stanford และ Google ก็ทำให้เขาสามารถคว้าเงินลงทุนก้อนแรกจำนวน 50,000 ดอลลาร์จาก Steve Anderson นักลงทุนจากกองทุน Baseline Capital ที่เขาพบเจอในงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งได้สำเร็จ แต่สิ่งที่นักลงทุนคนนั้นมองเป็นความเสี่ยงที่สุดของ Burbn ก็คือการที่ Kevin Systrom นั้นเป็นผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียวและเขาควรจะมองหาผู้ร่วมก่อตั้งอีกหนึ่งคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนคู่คิดคอยถกเถียงไอเดียที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในความสำเร็จของ startup ของเขา
ซึ่ง Kevin Systrom ก็สามารถหาคู่หูผู้ร่วมก่อตั้งได้ของเขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ Mike Krieger ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย Stanford ชาวบราซิลที่รู้จักกันมานานและมีความสนใจในการพัฒนา mobile application เช่นเดียวกัน ทั้งสองคนรู้ว่าเคมีของผู้ร่วมก่อตั้งนั้นสำคัญมากและทั้งสองคนก็ได้ทดลองทำงานด้วยกันจนเขาขากันได้อย่างสนิทใจ พวกเขายังสามารถคว้าเงินลงทุนจาก Andreessen Horowitz ซึ่งถือเป็นกองทุน VC ชั้นนำและ Jack Dorsey ที่ตอนนั้นมีเงินจากความสำเร็จของ Twitter [Burbn คือการลงทุนแรกของ Jack Dorsey ในฐานะ angel investor] พร้อมๆกับการเพิ่มเงินลงทุนจาก Baseline Capital จนสามารถรวบรวมเงินลงทุนได้เกินครึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ปัญหาใหญ่ของ Kevin Systrom และ Mike Krieger นั้นก็คือ product อย่าง Burbn ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ซักเท่าไหร่ พวกเขาจึงหันมาวิเคราะห์ถึงโอกาสที่ยังหลงเหลืออยู่ในสมัยนั้น พวกเขาค้นพบว่าฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของ Burbn ก็คือการโพสต์รูปภาพซี่ง social media ที่ดังๆในสมัยนั้นอย่าง Facebook, Twitter และ Foursquare ยังไม่มีสามารถพัฒนาฟีเจอร์การโพสต์รูปได้อย่างสมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงตัดสินใจพัฒนา product ตัวใหม่ที่มีชื่อลับว่า “codename” ซึ่งเป็น social media ที่เปิดให้ผู้ใช้งานโพสต์รูปภาพทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสอย่างรวดเร็วและหยิบยืมฟีเจอร์ของ Twitter อย่างการ follow และของ Facebook อย่างการกด like มาพัฒนาเป็น application ที่เรียบง่ายและมีฟังค์ชั่นเพียงไม่กี่ฟังค์ชั่นให้ผู้ใช้งานสามารถปลดปล่อยมุมมองและความเป็นศิลปินของตัวเองผ่านรูปภาพ [การโพสต์รูปภาพยังสะดวกสบายและทำได้รวดเร็วกว่าการโพสต์ status ใน Facebook และ Twitter ที่ต้องคิดก่อนคำพูดดีๆก่อนเสมอ Kevin Systrom เปรียบเทียบ filter ของ Instagram เป็นเหมือนปุ่มที่ช่วยให้ผู้ใช้งานของ Twitter ฉลาดขึ้น] พร้อมกันนั้น product ใหม่ของพวกเขายังมีฟังค์ชั่นที่เปิดให้ผู้ใช้งานแชร์ภาพไปยัง social media ต่างๆได้อย่างรวดเร็วในพร้อมๆกันเป็นครั้งแรก ต่อมาพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อของ application เป็น Instagram ที่เป็นคำผสมระหว่าง “instant (ทันที)” กับ “telegram (โทรเลข)”
ต่อมา ระหว่างการเดินเล่นในชายหาดแห่งหนึ่งในประเทศแม็กซิโก แฟนสาวผู้ที่จะกลายมาเป็นภรรยาของ Kevin Systrom ก็ได้บ่นให้เขาฟังว่าเธอคงไม่ใช้ product ของเขาเพราะรูปภาพที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือในสมัยนั้นมันไม่สวยเลยและสู้รูปภาพของศิลปินไม่ได้เลย ซึ่งคำพูดของเธอได้กลายมาเป็นตัวจุดประกายฟังค์ชั่นที่ทำให้ Instagram ประสบความสำเร็จอย่างสูงอย่าง filter ที่ Kevin Systrom ได้พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน [ขณะนั้น application แต่งรูปอย่าง Hipstamatic และ Camera+ ก็เริ่มได้รับความนิยมมากพอสมควรแล้ว] เขาได้โพสต์รูปภาพรูปแรก ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2010
Kevin Systrom และ Mike Krieger เลือกที่จะสร้างความรู้สึกแบบศิลปินที่มีรสนิยมและความหรูหราให้กับ Instagram ด้วยการส่ง application ไปให้ศิลปิน นักออกแบบ นักถ่ายรูปมืออาชีพ [หนึ่งในนั้นคือ Cole Rise ผู้ช่วยออกแบบโลโก้ของ Instagram และ filter หลายๆตัวที่ได้รับความนิยมในช่วงเริ่มต้นด้วย] และนักเทคโนโลยีผู้ประสบความสำเร็จอย่าง Jack Dorsey เอาไปใช้และแชร์ภาพที่แต่งโดย filter ลงใน Twitter หรือ Facebook ของพวกเขาที่มีคนติดตามจำนวนมากก่อนเปิดตัวต่อสาธารณชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2010 ซึ่งความอัจฉริยะในกลยุทธ์การเปิดตัว Instagram ของพวกเขาก็ทำให้ Instagram ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยยอดผู้ใช้งานเกินแสนคนภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์และเกิน 1 ล้านคนในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
ความสำเร็จของ Instagram ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของยุค Web 2.0 ที่บริษัท startup สามารถ “ยืนบนไหล่ยักษ์” และใช้ประโยชน์จากบริษัทเทคโนโลยีรุ่นพี่มาต่อยอดความสำเร็จของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา IOS application จากความสำเร็จของ iPhone และ App Store, การเลือกหยิบเอาฟังค์ชั่นของ social media รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมาใช้ การโปรโมตผ่านการแชร์รูปภาพของ Instagram ไปยัง social media ต่างๆและการใช้งานระบบ cloud computing service ของ Amazon AWS เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วได้ในแบบที่บริษัทเทคโนโลยีเมื่อ 5-10 ปีก่อนทำไม่ได้
ความสำเร็จของ Instagram ยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของ Kevin Systrom และ Mike Krieger ที่กล้าเปลี่ยน product ของตัวเอง (pivot) ในทันทีที่รู้ว่ามันไม่น่าไปรอดและหันมาโฟกัสในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีที่สุดไปเลยนั่นก็คือ “การถ่ายภาพ” ที่สามารถเปลี่ยนภาพถ่ายคุณภาพต่ำให้กลายมาเป็นงานศิลปะที่สวยงามกว่าความเป็นจริงได้
Kevin Systrom (ซ้าย) และ Mike Krieger (ขวา) (ขอบคุณภาพจาก New York Times)
2 | THE CHAOS OF SUCCESS
ถ้าความสำเร็จของ Facebook นั้นเกิดจาก “ความเป็นเพื่อน” และความสำเร็จของ Twitter เกิดจาก “การแสดงความคิดเห็น” ความสำเร็จของ Instagram ก็เกิดขึ้นจาก “การแชร์ประสบการณ์ผ่านรูปภาพ” ของผู้คนจากทั่วโลกที่สามารถติดตามกันและกันได้อย่างไม่มีพรมแดน ซึ่งความสำเร็จของ Instagram ที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์นั้นก็สร้างความโกลาหลให้กับบริษัทที่มีพนักงานเพียงแค่สองคนอย่าง Kevin Systrom และ Mike Krieger เป็นอย่างมาก [Mike Krieger ถึงกับต้องตัวติดคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาและต้องตั้งเตือนทุกครั้งที่ระบบมีปัญหาจนแทบไม่ได้นอน ตอนช่วงแรกๆ Instagram ไม่มีแม้กระทั่งระบบสำหรับคนที่ลืม password ทุกอย่างเลยต้องทำแบบ manual สุดๆ] จนทำให้พวกเขาทั้งสองคนต้องมานั่งคุยกับเพื่อจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่บริษัท startup เล็กๆแห่งนี้ต้องทำ
สิ่งแรกที่ทั้งสองคนตกลงกันได้ก็คือการแบ่งหน้าที่โดย Kevin Systrom ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากที่สุดจะรับหน้าที่เป็นผู้นำฉากหน้าที่คอยติดต่อกับสื่อมวลชนและนักลงทุนพร้อมๆกับการรับหน้าที่ออกแบบ UX/UI ของ application ส่วน Mike Krieger นั้นก็เต็มใจรับหน้าที่ดูแลเบื้องหลังอย่างการพัฒนา application โดยทั้งสองคนได้ตกลงกันว่า Instagram จะเป็น application ที่ใช้งานง่าย มีความ minimal และจำกัดฟังค์ชั่นต่างๆให้คงแก่นของการเป็นเครื่องมือในการแชร์มุมมองและประสบการณ์ของผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นหลัก [จะเห็นได้ว่า Instagram ไม่มีปุ่ม share เหมือน Facebook และ Twitter (ปุ่ม retweet) เพราะทั้งสองคนเชื่อว่าผู้ติดตามของผู้ใช้งานแต่ละคนต้องการดูรูปของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้น ไม่ใช่รูปของคนอื่นที่ผู้ใช้งานเหล่านั้นแชร์]
สิ่งสำคัญลำดับถัดมา ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนก็ได้เริ่มที่จะเติมกำลังพลให้กับอาณาจักรเล็กๆของพวกเขาโดยเริ่มต้นจากการว่าจ้างพนักงาน 2 คนแรกของบริษัทที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วง 1 ปีแรกของ Instagram ได้แก่
ภายในเดือนกันยายน 2011 จำนวนผู้ใช้งานของ Instagram ก็ทะลุหลักชัยระดับสิบล้านคนได้สำเร็จและ Instagram ก็สามารถดึงดูดผู้ใช้งานที่เป็นแบรนด์และคนดังระดับท็อปของโลกได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ Barack Obama, Kim Kardashian และ Taylor Swift พร้อมกับเงินลงทุนจำนวนมากถึงขนาดที่ Kevin Systrom ต้องปฏิเสธนักลงทุนชื่อดังหลายคนกันเลยทีเดียว
รูปภาพรูปแรกของ Instagram ที่โพสต์โดย Kevin Systrom (ขอบคุณภาพจาก SEOCARES)
3 | THE SURPRISE
ณ เดือนเมษายนปี 2012 ในเวลาเพียงแค่ 1 ปีครึ่งหลังจากการเปิดตัวใน App Store บริษัท Instagram ที่มีพนักงานรวมทั้งหมดเพียงแค่ 13 คนและมีผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคนก็กลายมาเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ใน Silicon Valley หลังจากที่ Facebook ได้ประกาศซื้อ Instagram ด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 77 ล้านดอลลาร์ต่อพนักงาน 1 คน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 1% ของ Facebook โดยดีลครั้งนี้ถือเป็นการซื้อบริษัทที่มี application เพียง application เดียวที่ราคาสูงที่สุดในสมัยนั้น ดีลครั้งนี้ได้ทำให้ Kevin Systrom ผู้ถือหุ้น 40% ของ Instagram กลายเป็นเศรษฐี 400 ล้านดอลลาร์ ส่วน Mike Krieger ผู้ถือหุ้นอีก 10% ก็รวยขึ้นเป็นเศรษฐีระดับ 100 ล้านดอลลาร์
จุดเริ่มต้นของดีลในประวัติศาสตร์ครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ Mark Zuckerberg ได้มองเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Instagram และต้องการที่จะซื้อบริษัทนี้ให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดย Mark Zuckerberg และ Kevin Systrom ที่รู้จักกันอยู่แล้วก็ได้เจรจากันภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์จนตกลงกันได้ด้วยการซื้อผ่านหุ้นของ Facebook ที่มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ซึ่งถือเป็น 2 เท่าของราคาที่ Twitter ยื่นข้อเสนอซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า [Kevin Systrom ได้ปฏิเสธข้อเสนอของ Twitter หลายรอบโดยไม่แม้แต่ต่อรองและสุดท้ายความสัมพันธ์ของเขากับ Jack Dorsey ก็จบลงเมื่อ Jack Dorsey ผู้ถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนคนแรกๆล่วงรู้ถึงการขาย Instagram ให้ Facebook หลังจากที่ดีลสำเร็จแล้ว ต่อมา Twitter ก็ได้มอง Instagram เป็นคู่แข่งทางตรงและทำการตัดท่อที่เชื่อมต่อ contact เพื่อนผู้ใช้งานของทั้งสอง application ออกจากกัน]
โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ Kevin Systrom ตัดสินใจยอมขาย Instagram ให้แก่ Facebook ในที่สุดก็คือการที่ Facebook และ Mark Zuckerberg ยอมให้อิสรภาพ (independence) ต่อ Instagram อย่างเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจของตัวเองโดยทีมงานชุดเดิมยกทีม ซึ่ง Instagram เองก็จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของ Facebook ในส่วนที่ Instagram ขาด อาทิ กองทัพโปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิของโลก โครงสร้างทางวิศวกรรมที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและระบบการขายโฆษณาที่ตอนนั้น Instagram ยังไม่มีช่องทางในการหารายได้ใดๆทั้งสิ้น มากไปกว่านั้น Instagram ก็จะได้ไม่ต้องกังวลต่อความเสี่ยงที่ Facebook กำลังเริ่มพัฒนา application เลียนแบบเข้ามาตีตลาดด้วยเงินทุนมหาศาล [ซึ่ง Facebook ก็พัฒนา Facebook Camera มาแข่งในช่วงแรกๆแต่ก็ยกเลิกไปในที่สุด] และ Facebook เองก็สามารถเปลี่ยนคู่แข่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วให้มาเป็นพวกเดียวกันด้วยเงินทุนที่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการที่ทั้งสองบริษัทรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว
ซึ่งแนวทางการซื้อบริษัท startup โดยให้อิสรภาพแยกออกจากบริษัทแม่อย่างเต็มที่ระหว่าง Facebook กับ Instagram นั้นก็ได้กลายมาเป็นสูตรสำเร็จที่เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สามารถเจรจาเพื่อซื้อบริษัท startup ที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรงได้ รวมถึงดีลการซื้อ Whatsapp และ Oculus VR ของ Facebook เองในเวลาต่อมา [แตกต่างจากดีลทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีที่ส่วนใหญ่มักทำเพื่อซื้อตัวพนักงานและเทคโนโลยีโดยไม่สนใจที่จะดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกเหล่านั้นต่อ]
หน้าจอ Instagram ในยุคแรกเริ่มที่หลายคนน่าจะยังจำกันได้ (ขอบคุณภาพจาก Techcrunch)
4 | THE SUMMER IN LIMBO
ในช่วงฤดูร้อนหลังจากการประกาศขายกิจการให้แก่ Facebook ชีวิตของเหล่าพนักงาน Instagram ทั้ง 13 คนก็เต็มไปด้วยความสับสนมากมาย พวกเขายังคงต้องทำงานหนักอย่างบ้าระห่ำเพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้งานที่พึ่งขึ้นแตะระดับ 50 ล้านคนและการเกิดขึ้นของ “influencer” หรือกลุ่มผู้ใช้งานที่เริ่มหาวิธีการทำรายได้ผ่านการโฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ
สุดท้ายการซื้อกิจการ Instagram ของ Facebook นั้นก็ได้รับการอนุมัติโดย US Federal Trade Committee (FTC) อย่างรวดเร็วภายในเดือนสิงหาคมของปี 2012 [ณ วันที่ดีลได้รับการอนุมัติ ราคาหุ้นของ Facebook ที่ IPO หลังการตกลงกันนั้นล่วงกว่า 30% จนทำให้ดีลซื้อ Instagram ด้วยหุ้นของ Facebook มีมูลค่าจริงที่ 715 ล้านดอลลาร์] จากความพยายามอย่างหนักของทีมทนายของ Facebook ในการแสดงให้กับเจ้าหน้าที่รัฐว่า Facebook และ Instagram นั้นเป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กที่แทบจะไม่มีรายได้และไม่ใช่คู่แข่งทางตรงของกันและกัน พร้อมกับการฉายภาพของการแข่งขันในโลก social media ในขณะนั้นที่เต็มไปด้วยคู่แข่งรายอื่นอีกมากมาย อาทิ Path และ PicPlz ที่ในขณะนั้นก็มีผู้ใช้งานอยู่พอสมควร
ตัดภาพกลับมาในปัจจุบัน เหตุการณ์การอนุมัติให้ Facebook ซื้อกิจการ Instagram นั้นถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้บริษัท social media ที่มีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งที่สุดในขณะนั้นควบรวมกิจการเพื่อเสริมทัพของกันและกันจนทำให้คู่แข่งรายย่อยที่เหลือตายเรียบไปในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี [แต่ Mark Zuckerberg รู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า Instagram คือผู้ชนะของสมรภูมิ social media สำหรับการแชร์รูปภาพจากจำนวนผู้ใช้งานที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนคู่แข่งตามไม่ทันอีกต่อไป ถ้าเพื่อนของคุณใช้ Instagram กันหมด คุณจะใช้ Path ทำไมหละ ?!?]
ในสมัยนั้น ความเข้าใจของกลไกที่ผู้ชนะในอุตสาหกรรมที่เติบโตจากการสร้างเครือข่าย (network) ของผู้ใช้งานจะเป็นเจ้าของผู้ผูกขาดตลาดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว (winner takes all) เหมือนอย่างที่ Google เป็นเจ้าของอุตสาหกรรม search engine นั้นยังเป็นเรื่องใหม่และอิทธิพลอันมหาศาลของอาณาจักร Facebook ที่มีประชากรผู้ใช้งานรวมกว่า 2.9 พันล้านคนที่คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของประชากรโลกก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้วในปัจจุบัน
Mark Zuckerberg กับ Instagram (ขอบคุณภาพจาก Enforcedigital)
5 | MOVE FAST AND BREAK THINGS
พันธกิจอันแสนยิ่งใหญ่ของ Facebook ในการเชื่อมโยงโลกให้เข้าถึงกันผ่าน social media ได้ถูกแปลความหมายในเชิงปฏิบัติออกมาเป็นการทำให้ผู้คนเข้ามาใช้งาน Facebook มากที่สุดและยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยทุกๆกิจกรรมที่เกิดขึ้นในทุกองค์ประกอบขององค์กรไม่ว่าจะเป็น การออก feature ใหม่ๆ การออกแบบ UX/UI และการกำหนดช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ใช้งาน ล้วนถูกผลักดันจากตัวชี้วัดหลักอย่าง “การเติบโต (growth)” ของจำนวนผู้ใช้งานและระยะเวลาในการใช้งานของผู้ใช้งานเหล่านั้นเป็นหัวใจสำคัญ
ดังนั้น Facebook จึงเลือกใช้กลยุทธ์ personalization ในการนำเอาข้อมูลทั้งหมดที่ผู้ใช้งานแต่ละคนทิ้งร่องรอยเอาไว้ ทั้งการกด like และ comment ไปจนถึงพฤติกรรมที่เราอาจคาดไม่ถึงอย่างระยะเวลาในการอ่านโพสต์แต่ละอันในหน้า feed โดยไม่มี engagement ใดๆหรือการเข้าไปส่องโปรไฟล์ของผู้ใช้งานคนอื่นโดยไม่กด add friend เพื่อนำเสนอ content และโฆษณาที่ตรงใจกับผู้ใช้งานแต่ละคนมากที่สุดเพื่อให้พวกเขาติดใจและเข้ามาใช้งาน Facebook นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนอกจากนั้น Facebook ก็ได้ซื้อกิจการของ Onavo VPN ที่เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งาน application ทั้งหมดของผู้ใช้งาน VPN ในโทรศัพท์มือถือเพื่อดูว่าคู่แข่งรายไหนบ้างที่คอยแย่งเวลาของผู้ใช้งานของพวกเขาไปเพื่อสร้าง application ของตัวเองมาแข่งหรือไม่ก็ซื้อคู่แข่งเหล่านั้นมาเป็นของตัวเองดังเช่นกรณีของ Instagram ซึ่งสะท้อนจากอุปนิสัยของ Mark Zuckerberg เองที่ชอบการเอาชนะผู้อื่นทุกๆคนในทุกๆด้านเป็นชีวิตจิตใจ [Mark Zuckerberg เคยเขียนโปรแกรมช่วยคิดศัพท์ในเกม Scrabble ด้วยตัวเองหลังจากที่เขาแพ้ลูกของเพื่อนของเขาคนหนึ่ง…]
ตรงกันข้าม Instagram ที่สามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีนั้นเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที่แตกต่างจาก Facebook อย่างสิ้นเชิงตามแนวคิดของ Kevin Systrom ที่มุ่งเน้นการสร้าง “สิ่งที่ดีที่สุด” ผ่านคุณค่าสำคัญ 3 ประการ อันได้แก่
ซึ่งแนวความคิดที่แตกต่างของ Instagram นี้ก็ได้รับการสนับสนุนโดย Mark Zuckerberg ที่ปล่อยให้ Kevin Systrom ในฐานะ CEO ของ Instagram ดำเนินกิจการได้อย่างอิสระ ซึ่ง Kevin Systrom เองก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา Instagram อย่างไม่หยุดนิ่งแตกต่างจากเจ้าของบริษัทผู้ขายกิจการให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วไปที่มักจะปล่อยคันเร่งของบริษัทที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของแล้วอีกต่อไป
6 | DOMINATION
การเติบโตของ Instagram ในช่วงปี 2013 นั้นก็ยังคงก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องทั้งจากการออก feature ใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถอัพโหลดวิดิโอที่มีความยาว 15 วินาทีได้เพื่อแข่งกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Vine ของ Twitter ที่เริ่มสร้างตลาด social media ในฝั่งของวิดิโอแบบสั้นๆได้ในยุคแรกเริ่ม [ตอนแรก Kevin Systrom เองมองว่าความเร็วของอินเตอร์เน็ตนั้นยังไม่เอื้อให้ประสบการณ์ใช้งานวิดิโอนั้นดีเท่าที่อยากให้เป็น แต่เขาเองก็จะไม่ยอมให้ใครได้รับฉายา Instagram of video นอกจาก Instragram เองโดยเด็ดขาด] และต่อมา Instagram ก็ได้เริ่มทดลองการขายโฆษณาเป็นครั้งแรกโดยอาศัยแนวคิดการนำเสนอโฆษณาแบบพรีเมี่ยมเช่นเดียวกับนิตยสารดังอย่าง Vogue โดยที่แบรนด์ที่ต้องการลงโฆษณาต้องทำตามเงื่อนไขการโพสต์อย่างละเอียดและมี Kevin Systrom เป็นคนอนุมัติโฆษณาทุกชิ้นด้วยตัวเองที่ในแต่ละวันจะมีเพียง 1 แบรนด์เท่านั้นที่จะได้รับการโฆษณาใน Instagram [Kevin Systrom จริงจังขนาดยอมตกแต่งรูปเฟรนช์ฟรายส์ที่เป็นฉากหลังของโฆษณาตัวหนึ่งให้ไม่เหี่ยวด้วยตัวเองก่อนที่จะยอมลงโฆษณาตัวนั้นให้กับแบรนด์]
ขณะเดียวกัน แผนการครอบครองความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม social media ของ Mark Zuckerberg นั้นยังทำให้เขามองเห็นคู่แข่งในอนาคตที่สำคัญอีกหนึ่งบริษัทอย่าง Snapchat ของ Evan Spiegel ที่มองเห็นช่องว่างในตลาดของกลุ่มผู้ใช้งานวัยรุ่นที่อยากจะแชร์เรื่องราวของตัวเองให้กับเพื่อนฝูงในรูปแบบที่ไม่ต้องตกแต่งให้สวยงามเกินความจริงอยู่ตลอดเวลาเหมือนใน Facebook และ Instagram จนนำมาสู่ platform การให้บริการส่งรูปชั่วคราวที่มีอายุเพียงแค่ 10 วินาทีที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นทั้งหลายแบ่งปันเรื่องราวที่ไม่สมบูรณ์แบบให้กับหมู่เพื่อนได้และต่อมาก็ได้พัฒนา feature ใหม่อย่าง “Stories” ที่เป็นเหมือนบันทึกประจำวันของผู้ใช้งานที่สามารถ “add” [ไม่ใช้คำว่า “post” เหมือน Facebook] รูปหรือวิดิโอสั้นๆของตัวเองที่สามารถตกแต่งหรือเขียนคำอธิบายได้แบบง่ายๆโดยไม่ต้องเสียเวลาตัดต่อให้วุ่นวายเพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อนทุกคนโดยเรียงลำดับจากเรื่องราวที่เก่าที่สุดก่อนและผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ว่าเพื่อนคนไหนเข้ามารับชมเรื่องราวของตัวเองแล้วบ้าง โดย Mark Zuckerberg ก็พยายามที่จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงตลาดของ Snapchat ตั้งแต่การพัฒนา application ลอกเลี่ยนแบบที่ชื่อว่า Poke ที่ต่อมาก็ล้มเหลวและการนัดพบ Evan Spiegel เผื่อข่มขู่ต่างๆนาๆหาก Snapchat ไม่ยอมขายบริษัทให้กับ Facebook [ที่ตอนนั้นให้ราคาถึง 3 พันล้านดออลาร์] ซึ่ง Evan Spiegel ก็ปฏิเสธไม่ยอมขายให้แต่อย่างใด
ในเวลาต่อมา Mark Zuckerberg ก็ได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญในการซื้อกิจการ WhatsApp บริการ chat ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดที่ Facebook ยังมีส่วนแบ่งการตลาดไม่มากโดยเขาได้อาศัย Kevin Systrom เป็นอีกหนึ่งอาวุธที่ใช้เกลี้ยกล่อมให้ Jan Koum ผู้เป็น CEO ของ WhatsApp เชื่อในแนวคิดการให้อิสรภาพอย่างเต็มที่ของ Facebook จนยอมขาย WhatsApp ที่มีผู้ใช้งานกว่า 450 ล้านคนทั่วโลกไปในราคาถึง 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 2014
Snapchat ผู้ท้าชิงคนใหม่ในสมรภูมิ social media ช่วงปี 2015 (ขอบคุณภาพจาก Techcrunch)
7 | THE NEW CEREBRITY
จุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ของ Instagram ที่เริ่มเปลี่ยนจากการเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มศิลปินบุคคลธรรมดาที่มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถพิเศษที่น่าสนใจมาสู่การเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่าบรรดา “celebrity” หรือ “คนดัง” ดั่งเช่นในทุกๆวันนี้นั้นถูกขับเคลื่อนโดย Charles Porch พนักงาน Facebook ผู้ชำนาญการด้านการสร้างความสัมพันธ์กับ celebrity เหล่านั้นโดยเฉพาะ
แตกต่างจาก Facebook ที่การใช้งาน account ของผู้ใช้งานระดับ celebrity ที่มีคนสนใจจำนวนมากอันแสนซับซ้อน แพลตฟอร์มของ Instagram นั้นเปิดโอกาสให้ celebrity สามารถสื่อสารเรื่องราวส่วนตัวของตัวเองไปสู่แฟนคลับผู้ติดตามของพวกเขาได้อย่างใกล้ชิดและทันที [ซึ่งนั่นก็มีความแตกต่างจากวิธีการทำงานเดิมของ celebrity ส่วนใหญ่ที่มักเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวเฉพาะเวลาออกไปสัมภาษณ์ในรายการทางโทรทัศน์เท่านั้น] ซึ่งคุณสมบัตินี้ก็คือจุดขายหลักของ Instagram ของ Charles Porch ในการใช้นำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายหลักของเขาอย่างดารา ศิลปินและวงการแฟชั่นที่เขามองเป็นคลื่นลูกแรกที่จะทำให้ผู้ใช้งานระดับ celebrity กลุ่มอื่นๆเดินรอยตามไม่ว่าจะเป็นบรรดานักกีฬา ผู้นำระดับโลกและพระสันตะปาปา Pope Francis
ตลอดช่วงปี 2013-2014 ทีมงานของ Instagram ที่นำโดย Charles Porch และตัวของ Kevin Systrom เองก็ได้ตระเวนไปพบเหล่า celebrity จำนวนมากเพื่อสอนการใช้งาน Instagram ด้วยตัวเองพร้อมกับการสร้างทีมงานเพื่อคอยดูแลตอบข้อสงสัยของเหล่า celebrity โดยเฉพาะ รวมไปถึงการดีลกับเหล่าพันธมิตรและดาราดังเพื่อสร้าง content แบบ exclusive ให้กับ Instagram อาทิ การให้ Channing Tatum โพสต์รูปภาพของลูกที่พึ่งคลอดของเขาใน Instagram และ Facebook เพื่อแลกกับเครดิตโฆษณาใน Facebook, การผลักดันให้เหล่าดาราของ Instagram ขึ้นปกนิตยสาร Vogue ได้สำเร็จและการคอยป้อนข้อมูลข่าวสารที่คนดังโพสต์ลงใน Instagram ของตัวเองให้กับบรรดารายการทีวีต่างๆ
นอกจากนั้นแล้ว Instagram เองก็ยังให้ความสำคัญกับ “ดาวรุ่ง” ที่สร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้ภายใน Instagram เองผ่านกลยุทธ์การคัดสรรและโปรโมตกลุ่มผู้ใช้งานที่มีศักยภาพในการสร้างคนติดตามได้จำนวนมากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ใช้งานเหล่านั้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็น Courtney Dasher เจ้าของหมาพันธุ์ผสมสุดน่ารักชื่อ Tuna ที่สามารถออกจากงานเพื่อโปรโมตน้องหมาน่าตากวนๆได้แบบเต็มตัวหรือ Paige Hathaway สาวสวยผู้พยายามฟิตหุ่นของตัวเองจนกลายมาเป็นซุปเปอร์สตาร์ของวงการฟิตเนส ทีมงานบรรณาธิการของ Instagram ได้แปลงสภาพจากมนุษย์กลายเป็นพระเจ้าของเหล่าผู้ใช้งานที่พวกเขาบรรดาลความโด่งดังให้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภายในปี 2014 ยอดผู้ใช้งาน Instagram ก็พุ่งไปแตะหลัก 300 ล้านคนแซงหน้าคู่แข่งอย่าง Twitter ไปเป็นที่เรียบร้อย
Cristiano Ronaldo ผู้มียอด follower มากที่สุดในโลก (ขอบคุณภาพจาก Instagram)
8 | THE PURSUIT OF THE INSTA-WORTHY
เมื่อผู้ใช้งาน Instagram มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการในการ “เพิ่มจำนวน follower” เพื่อ “หารายได้” ของผู้ใช้งานเหล่านั้นผ่าน Instagram ก็มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใช้งาน Instagram จำนวนมากเริ่มสรรหาวิธีการใหม่เพื่อเพิ่มยอด follower ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การเข้าร่วมงาน Instameet เพื่อให้ตัวเองมีโอกาสไปอยู่ในรูปของผู้ใช้งานคนอื่น การยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อถ่ายรูปในจังหวะสุดหวาดเสียวบนยอดเขาหรือยอดตึก การโพสต์รูปสุดเซ็กซี่ที่เริ่มเรียกจำนวนผู้ชมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึง การว่าจ้างบริษัท bot ที่ช่วยเพิ่มยอด follower ให้ด้วยเงินเพียงไม่กี่ดอลลาร์เพื่อหวังที่จะได้รับการว่าจ้างจากบริษัทโฆษณาที่เริ่มให้ความสำคัญกับช่องทางการสื่อสารใหม่ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “influencer”
มากไปกว่านั้น Instagram ยังเริ่มสร้าง “แรงกดดัน” ให้กับวิถีชีวิตของผู้ใช้งานที่จำเป็นจะต้องสรรหารูปภาพที่สมบูรณ์แบบมาโพสต์เพื่อสร้างความนิยมให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ที่ต่างแข่งกันจัดงานวันเกิดสุดอลังการให้กับลูกๆ คนหนุ่มสาวโสดที่ต่างพยายามให้ profile ของตัวเองดูดีที่สุด ไปจนถึง ธุรกิจต่างๆที่ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรยากาศร้านให้สวยงามเหมาะแก่การถ่ายรูปลงใน Instagram จนเกิด adjective ใหม่ที่เรียกว่า “Instagrammable” จนทำให้นักจิตวิทยาหลายคนเริ่มแสดงความกังวลต่อสภาวะทางจิตใจของผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นในโลกยุคใหม่ที่ยอมสละความเป็นตัวเองเพื่อแลกกับยอด like ที่เป็นเสมือนการยอมรับจากสังคม
ในขณะเดียวกัน การเติบโตของ Instagram เองก็ทำให้ Mark Zuckerberg เริ่มที่จะกดดันให้ Kevin Systrom หารายได้จากโฆษณาอย่างจริงจังโดยตั้งเป้าที่รายได้รวม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 ซึ่งทีมงานของ Instagram ก็เริ่มยอมจำนนให้ Facebook เชื่อมต่อระบบโฆษณาเข้ามาสู่ Instagram ได้โดยมีชัยชนะเล็กน้อยก็คือการที่ Instagram เสนอให้โฆษณาที่จะมาลงต้องมีความละเอียดของรูปภาพที่มากพอเพื่อคงระดับคุณภาพซึ่งตอนแรก Facebook ก็คิดว่าการเพิ่มเงื่อนไขนี้จะทำให้ยอดขายโฆษณาลดลงแต่สุดท้ายผลการทดลองก็พิสูจน์ว่าการลงรูปโฆษณาคุณภาพสูงนั้นดีกว่าและทำให้แบรนด์ตั้งใจคิดโฆษณามากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ Instagram ในช่วงนี้ก็คือการยกเลิกการจำกัดการโพสต์รูปแบบสี่เหลี่ยมจตุรัสเท่านั้นซึ่งแต่เดิมทีมงานของ Instagram เชื่อว่าข้อจำกัดนี้คือจุดเด่นที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับ Instagram แต่เมื่อ Mike Krieger ลองเช็คข้อมูลรูปภาพในระบบก็พบว่ากว่า 20% ของรูปภาพทั้งหมดที่ผู้ใช้งานโพสต์นั้นถูกเติมขอบด้าข้างหรือบนล่างเพื่อปรับให้ถ่ายทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากลายเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังจาก Instagram ปลดล็อกข้อจำกัดนี้ ผู้ใช้งานดั้งเดิมจำนวนมากก็เห็นด้วยและตั้งข้อสังเกตว่าทำไม Instagram ถึงใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานที่ชัดเจนขนาดนี้
Kim Kardashian อีกหนึ่ง celebrity ที่มีคนติดตามมากที่สุดในโลก (ขอบคุณภาพจาก Instagram)
9 | THE SNAPCHAT PROBLEM
ปรัชญาของ Kevin Systrom และแบรนด์ของ Instagram ที่ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบเริ่มสร้างความกังวลอย่างใหญ่หลวงให้กับพนักงานกลุ่มใหม่จำนวนมากที่ย้ายมาจาก Facebook ที่ต่างก็เกรงกลัวว่า Instagram จะกลายมาเป็นเหมือน MySpace ที่ตายไปอย่างฉับพลันจากการถูก Facebook แย่งตลาดอย่างรวดเร็ว
พนักงานฝ่ายผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นได้ศึกษาและค้นพบถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักที่แสดงความน่ากังวลต่ออนาคตของ Instagram มากมาย อาทิ วัยรุ่นต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการคัดสรรรูปภาพเพื่อโพสต์ให้มีความสมบูรณ์แบบที่สุด วัยรุ่นต้องการรักษาสัดส่วนของคนที่ตัวเอง follow ให้ไม่สูงกว่า follower มากจนเกินไป วัยรุ่นมีการโพสต์น้อยลงเพราะเกรงใจไม่อยากไป spam เพื่อนคนอื่น วัยรุ่นเริ่มวัดความสนิทสนมของเพื่อนจากการกด like และ comment โพสต์ของกันและกัน วัยรุ่นจำนวนมากเลือกเปิด account อีกบัญชีขึ้นมาเพื่อโพสต์เรื่องราวที่เขาอยากแชร์แบบไม่ต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์แบบมากนักให้เฉพาะกลุ่มเพื่อนที่สนิทและวัยรุ่นจำนวนมากเริ่มหันไปใช้งาน Snapchat ที่พวกเขาสามารถโพสต์เรื่องราวในวันธรรมดาๆของตัวเองได้อย่างสบายใจ ซึ่งถึงแม้ว่า Kevin Systrom จะรับฟังและยอมแก้ปัญหาบางอย่างตามแผนการ “Paradigm Shift” ที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของ Instagram ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การทำให้ผู้ใช้งานสลับ account ได้ง่ายและสามารถโพสต์รูปหลายๆรูปในโพสต์เดียวกันได้ แต่ Kevin Systrom ก็ยังไม่ยอมที่จะให้ Instagram พัฒนาฟีเจอร์ที่ขัดกับหลักการของเขาโดยเฉพาะฟีเจอร์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมหาศาลอย่าง “Stories” แต่อย่างใด [ทีมผู้พัฒนาฟีเจอร์ถ่ายภาพแบบ Boomerang ยังต้องแอบเอาไอเดียไปแข่งใน Facebook Hackathon จนชนะก่อนนำเสนอ Kevin Systrom]
จุดเปลี่ยนทางความคิดของ Kevin Systrom เกิดขึ้นหลังจากที่เขาและ Mike Krieger ได้เข้าร่วมงานฉลองรางวัลอย่าง Oscars และ Golden Globes ประจำปี 2016 แล้วเห็นเหล่านักแสดงจำนวนมากเลือกที่จะโพสต์รูปภาพเพียงไม่กี่รูปใน Instagram และโยน content ที่เหลือลงไปใน Snapchat ไม่ว่าจะเป็น Kate Hudson ที่ลงรูปตัวเองโดยใช้ filter ตลกๆของ Snapchat หรือ Lady Gaga ที่โพสต์ผ่านและวิดิโอเบื้องหลังการเตรียมขึ้นแสดงบนเวที จนทำให้ Kevin Systrom เริ่มเข้าใจว่าฟีเจอร์ Stories นั้นเป็นช่องทางสำคัญในการปลดปล่อย content ที่ไม่สมบูรณ์แบบและหาก Instagram ไม่ลงมือพัฒนาทันที พวกเขาอาจสูญเสียฐานผู้ใช้งานจำนวนมากรวมถึงความเป็นผู้นำแห่งความเท่ในสายตาของผู้ใช้งานเหล่านั้นในอีกไม่นาน [อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Kevin Systrom ไม่อยากพัฒนาฟีเจอร์ยอดนิยมนี้เพราะประวัติการหลอกเลียนแบบ app อื่นๆของ Facebook ที่มักจะล้มเหลวตลอด]
เมื่อตัดสินใจได้ Kevin Systrom ก็เร่งตั้งทีมพัฒนาฟีเจอร์ Stories ขึ้นมาทันทีและเปิดได้ภายในเดือนสิงหาคม 2016 อย่างรวดเร็วพร้อมๆกับการยอมรับว่าฟีเจอร์นี้เกิดขึ้นจากการเลียนแบบฟีเจอร์ของ Snapchat ที่ Instagram เปรียบเหมือนอีกหนึ่งวิธีการสื่อสารไม่ต่างกับโทรศัพท์หรือโทรเลขที่ใครๆก็สามารถนำมาใช้งานได้ [Instagram จึงตัดสินใจตั้งชื่อฟีเจอร์นี้ว่า Stories เช่นเดียวกับชื่อของ Snapchat] ซึ่ง Instagram Stories ก็ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วจากผู้ใช้งานที่เข้าใจและใช้งาน Snapchat เป็นอยู่แล้วก่อนที่จะขยายไปยังผู้ใช้งานกลุ่มอื่นๆที่ทีมงานสื่อสารของ Instagram ต่างก็เร่งเดินทางไปสอนการใช้งานให้กับเหล่า celebrity ทั่วโลกเพื่อส่งต่อความเข้าใจทั้งในด้านวิธีการใช้งานและแนวทางการโพสต์ content ไปยังผู้ติดตามของพวกเขาต่อไป จนในปัจจุบันนี้ “IG Stories” ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อย
ฟีเจอร์ Stories ใน Instagram (ขอบคุณภาพจาก Techcrunch)
10 | CANNIBALIZATION
วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้นกับ Facebook ในช่วงปี 2017 หลังจากที่ Donald Trump ผู้สมัครจอมป่วนจากพรรค Republican สามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จโดยที่หลายฝ่ายต่างเชื่อตรงกันว่า Facebook มีส่วนสำคัญอย่างมากในชัยชนะแบบหักปากกาเซียนของ Donald Trump ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมบนโลกออนไลน์ที่ผลักดันให้คนแบ่งขั้วทางการเมืองมากขึ้นจาก algorithm ของ Facebook ที่เลือกเฉพาะโพสต์ที่ผู้ใช้งานสนใจมาให้พวกเขาดู การสร้างช่องทางในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือทฤษฏีสมคบคิดที่สามารถเรียก engagement ได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงและการปล่อยให้รัสเซียสามารถยิงโฆษณาที่สนับสนุนแคมเปญของ Donald Trump ได้อย่างง่ายดายจนทำให้ Mark Zuckerberg โดนโจมตีอย่างหนักจากทั้งภาคตุลาการและภาคเอกชน [จริงๆแล้ว Instagram ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่เต็มไปด้วย account ที่คอยสนับสนุน Donald Trump เช่น กลุ่มที่คอยปล่อยข่าวลวงเกี่ยวกับ Hilary Clinton และกลุ่มที่รณรงค์ให้ชาวผิวสีไม่ออกไปเลือกตั้ง]
อีกด้านหนึ่ง Facebook เองก็เจอกับปัญหาการถดถอยลงของระยะเวลาในการใช้งานและจำนวนการโพสต์ของผู้ใช้งานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ผู้ใช้งานจำนวนมากเลือกใช้ Facebook เป็นเพียงช่องทางการติดตาม content ของเพื่อนและ page ที่ตัวเองติดตามโดยหันไปโพสต์ content ของตัวเองใน Instagram และ Snapchat แทน [Facebook ก็มีความพยายามในการเพิ่มจำนวนโพสต์หรือ comment ของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแสดง comment ของเพื่อนในโพสต์สาธารณะอื่นๆ การแจ้งเตือนวันเกิดหรือโพสต์ในอดีต (memories) และการใส่ฉากสีสันสดใสให้กับการโพสต์ status ที่แต่เดิมมีแค่ตัวอักษร]
ความเสี่ยงของการเติบโตที่ถดถอยลงของ Facebook ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทเริ่มทำให้ Mark Zuckerberg มองเห็น Instagram เป็นศัตรูมากยิ่งขึ้นเพราะว่าเขาเชื่อว่า Instagram แย่งจำนวนผู้ใช้งานและระยะเวลาการใช้งานของพวกเขาไปจาก Facebook มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ถึงแม้ว่า Instagram จะสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ได้ตามเป้าหมายแต่ก็ยังห่างไกลจาก Facebook ที่สามารถสร้างรายได้ต่อผู้ใช้งานได้เยอะกว่ามาก
การที่ Instagram สามารถประสบความสำเร็จจาก IG Stories ได้อย่างรวดเร็วแซงหน้า Stories ของ Facebook ที่ปล่อยตามมาทีหลังนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่ากันเป็นดั่ง “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ Mark Zuckerber เริ่มวางกรอบห้ามไม่ให้ Instagram กินส่วนแบ่ง (cannibalize) ของเวลาไปจาก Facebook อาทิ การบังคับให้ Instagram สร้าง hyperlink เชื่อมต่อกับ Facebook, การยกเลิกท่อเชื่อมต่อเข้ากับ Instagram ในหน้าจอของ Facebook และการควบคุมจำนวนพนักงานของ Instagram
Mark Zuckerberg ให้การต่อสมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (ขอบคุณภาพจาก Vox)
11 | THE OTHER FAKE NEWS
การเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ของ social media อย่าง Facebook, Twitter, Youtube และ Instagram ที่เริ่มต้นจากการเป็น platform ที่ช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของเพื่อน แชร์ข้อมูลข่าวสาร รับชมวิดิโอและเรื่องราวผ่านรูปภาพที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สวยงามเริ่มส่งอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ใช้งานที่ถูกผลักดันโดย algorithm ของ social media เหล่านั้นเพื่อสร้างยอด like, retweet, view และ follower ให้ได้มากที่สุดเพื่อแสดงถึงการมีตัวตนของตัวเองและสร้างแหล่งรายได้ใหม่อันมหาศาล
ทุกๆการเปลี่ยนแปลงของ algorithm ของ Instagram นั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ไล่ไปตั้งแต่ การที่ผู้ใช้งานต่างพยายามโพสต์รูปภาพที่สามารถเรียกยอด follower ใหม่ๆมากที่สุด เช่น การโพสต์ภาพเสี่ยงตายหรือการโชว์เนื้อหนังของตัวเองให้มากที่สุด [พร้อมๆกับเทรนด์การทำศัลยกรรมใบหน้าและรูปร่างที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆกัน] การสร้าง pool ของผู้ใช้งานที่คอย comment และ like ระหว่างกันเพื่อดันโพสต์ให้มีคนเห็นมากยิ่งขึ้น ไปจนถึง การวางกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ใน Instagram โดยเฉพาะ เช่น @hudabeauty ที่ใช้กลยุทธ์การคัดเลือกโพสต์ของลูกค้ามาโปรโมตใน account ของตัวเองที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในการสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่ต้องการได้รับการโปรโมตบ้าง
การที่ผู้ใช้งาน Instagram เลือกที่จะโพสต์แต่รูปภาพในช่วงเวลาที่ดีและได้รับการตกแต่งให้สวยงามสมบูรณ์แบบเกินความเป็นจริง นั้นก็เริ่มส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของกลุ่มผู้ใชงานวัยรุ่นทั่วโลกที่เริ่มเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับชีวิตที่ผ่านการ filter เฉพาะแต่ด้านดีๆมาแล้วของผู้อื่น [พฤติกรรมการใช้ filter เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติจนการโพสต์รูปที่ไม่มี filter ถึงกับต้องติด #nofilter] มากไปกว่านั้น Instagram ยังเริ่มกลายเป็นแหล่งของมิจฉาชีพในการค้ายาเสพย์ติดหรือการรับสมัครผู้ก่อการร้าย โดยที่ Instagram และ social media รายอื่นๆยังไม่เคยมีแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงสังคมเรื่องนี้อย่างเต็มที่แต่อย่างใด
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Instagram นั้นเริ่มสร้างต้นทุนอันมหาศาลแก้ผู้ใช้งานของพวกเขาเอง
@backpackdiariez ผู้ใช้งานของ Instagram ที่โด่งดังจากรูปสุดหวาดเสียว (ขอบคุณภาพจาก Instagram)
12 | THE CEO
ท่ามกลางข่าวฉาวที่เปิดเผยถึงข้อมูลที่รั่วไหลของผู้ใช้งาน Facebook ให้กับ Cambridge Analytica ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐ ความขัดแย้งระหว่าง Mark Zuckerberg และสองผู้ก่อตั้งของ Instagram ก็เริ่มปะทุรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในปี 2018 เมื่อ Instagram ที่กำลังเติบโตจำนวนผู้ใช้งานเข้าสู่หลักหนึ่งพันล้านคนและกำลังจะสร้างสัดส่วนรายได้กว่า 30% ให้กับ Facebook Inc. กลับได้รับการอนุมัติจำนวนพนักงานให่เพียงแค่ไม่ถึง 100 คนขณะที่ Facebook ที่มีผู้ใช้งานเพียงสองเท่ากว่าๆเตรียมจ้างพนักงานกว่า 8,000 คนทั่วโลก พร้อมกันนั้น Mark Zuckerberg ก็ได้เริ่มกลับมามีบทบาทในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับ Instagram ที่เขามองว่าอาจเป็นภัยต่อ Facebook มากยิ่งขึ้นและทำการปรับผังองค์กรใหม่โดยแต่งตั้งเจ้านายคนใหม่ของ Kevin Systrom อย่าง Chris Cox ในฐานะ Chief Product Officer ที่คอยดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Facebook ที่รวมไปถึง Instagram และ WhatsApp ด้วย
Mark Zuckerberg ยังริเริ่มกลยุทธ์ใหม่ที่เขาเรียกว่า “family of apps” ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างอาณาจักรของผู้ใช้งานของทุกๆ app ที่ Facebook Inc. ครอบครองโดยให้ความสำคัญกับ Facebook ซึ่งเป็นแหล่งรายได้อันดับหนึ่งและมอบหน้าที่การหา “ผู้ใช้งานกลุ่มใหม่ๆ” ให้กับ Instagram พร้อมๆกับการตัดช่องทางการเชื่อมต่อระหว่าง Instagram กับ Facebook อาทิ การโปรโมต Instagram แบบฟรีๆใน Facebook Feed ที่ระบุว่ามีเพื่อนของผู้ใช้งานคนไหนบ้างที่มี account ใน Instagram และการตัด link การโพสต์รูปภาพจาก Instagram ใน Facebook ให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าไปดูต่อใน Instagram ได้ ซึ่งแนวทางนี้ได้ทำให้การเติบโตของ Instagram ลดลงอย่างมากจนทำให้ Instagram ต้องหันมาใช้กลยุทธ์การเติบโตของ Facebook อย่างการเพิ่มจำนวน notification และการแนะนำ account ที่ผู้ใช้งานน่าจะอยาก follow เพื่อรักษาระดับการเติบโตให้คงเดิม
Kevin Systrom และ Mike Krieger ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงการโดนลงโทษต่อความสำเร็จของ Instagram ในแทบทุกมิติ [ก่อนหน้านั้นพวกเขาพึ่งเปิดตัว IGTV ที่ไม่ได้รับคำชมจาก Mark Zuckerberg แต่อย่างใดนอกจากการตำหนิว่า logo ของ IGTV มันคล้ายกับ Facebook Messenger มากเกินไป] และเข้าใจอย่างชัดเจนแล้วว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้นำสูงสุดของ Instagram อย่างแท้จริง ทั้งสองคนตัดสินใจลาออกในเดือนกันยายนปี 2018 หลังจากทำงานให้กับ Instagram มานานกว่า 8 ปีและอยู่ใน Facebook มาได้นานถึง 6 ปี
Adam Mosseri ผู้ที่พึ่งเข้ามารับหน้าที่เป็น Head of Product ของ Instagram ได้เพียง 3 เดือนกว่าจาก Facebook ได้รับเลือกให้รับไม้ต่อจาก Kevin Systrom ไม่ใช่ในฐานะ CEO แต่กลับเป็น Head of Instagram… เพราะที่ Facebook นั้นสามารถมี CEO จริงๆได้เพียงคนเดียวเท่านั้น และหลังจากนั้นไม่นาน Instagram ก็ได้รับการรีแบรนด์ใหม่เป็น “Instagram from Facebook”
Adam Mosseri ผู้นำของ Instagram คนปัจจุบัน (ขอบคุณภาพจาก Blognone)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern European and Asian Twist คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Japanese คะแนนรีวิว: ★★ [...]
ประเภทอาหาร: Galbi คะแนนรีวิว: ★★★ [...]