News Ticker

[สรุปหนังสือ] Originals : How Non-conformists Move the World

 

 

Originals: How Non-conformists Move the World (2016)
by Adam Grant

 

“He was one of you and yet he became Abraham Lincoln” – W. E. B. DuBois

 

Originals มีความหมายว่า “บุคคลที่มีความแตกต่างจากบุคคลอื่นในทางที่น่าสนใจ”

ในปี 2010 นักศึกษา Wharton ทั้งหมด 4 คนได้ตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งบริษัทขายแว่นตาออนไลน์ชื่อ Warby Parker หลังจากพวกเขามองเห็นความสำเร็จของร้านขายรองเท้าออนไลน์ Zappos ถึงแม้ว่าเพื่อนๆของพวกเขาต่างบอกกันว่าแว่นตาเป็นสินค้าที่ต้องทดลองใส่ก่อนสั่งซื้อ โมเดลธุรกิจของ Warby Parker คือขายแว่นในราคาถูกมากๆพร้อมกับการบริจาคแว่นตา 1 คู่ต่อแว่นตาที่ขายได้ 1 คู่

5 ปีต่อมา ยอดขายของ Warby Parker ทะยานขึ้นมาเหนือระดับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขาได้ทำการบริจาคแว่นตาให้ประเทศกำลังพัฒนามาแล้วมากกว่า 1 ล้านคู่ และนิตยสาร Fast Company ก็ได้ยกย่องให้ Warby Parker เป็น The Most Innovative Companies of 2015 (ปีก่อนหน้า Google ได้รางวัลนี้ไป) มูลค่าของบริษัทพุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนกลับไปในปี 2009 นักศึกษาผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คนได้เสนอให้ผู้เขียน Adam Grant ซึ่งเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้าน Organizational Psychology ที่ได้รับการโหวตคะแนนความนิยมอันดับหนึ่งในโรงเรียนธุรกิจอันดับต้นๆของโลก The Wharton School ลงทุนในยุคเริ่มต้นของ Warby Parker แต่ผู้เขียนก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอไปซึ่งถือเป็นการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตของเขาและเขาต้องการเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เขามองข้ามไป

ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง ได้แก่ การเดิมตามฝูงชน (Conformity) และการเดินไปในทางที่แตกต่างจากคนทั่วไป (Originality) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นความคิดที่สดใหม่เสมอ แต่ Originals คือการสร้างหรือนำความคิดของคนอื่นมาพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์และดำเนินการทำจนสำเร็จ

Originality ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ และหนังสือ Originals เล่มนี้จะคอยทำหน้าที่เป็นไกด์ในการพัฒนาความเป็น Originals ในตัวเรา

 

Adam Grant (ขอบคุณภาพจาก TED)

 

Chapter I: Creative Destruction < The Risky Business of Going against the Grain >

งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์หนึ่งค้นพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์โดยตรงของผลการทำงานของพนักงานบริการลูกค้าจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 10,000 คนคือ internet browser ที่พนักงานเหล่านั้นเลือกใช้ ผลวิจัยพบว่าผู้ใช้งาน Chrome กับ Firefox นั้นมีผลการทำงานที่ดีกว่าผู้ใช้งาน IE และ Safari ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่า ผู้ใช้งาน Chrome กับ Firefox นั้นต้องก้าวผ่านสภาวะ default (ค่าเริ่มต้น) ที่ในที่นี้คือ IE และ Safari ที่ติดมากับเครื่อง PC และ Mac อยู่แล้ว

มนุษย์ส่วนใหญ่เกรงกลัวที่จะท้าทาย default และสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองเพราะกลัวว่าจะถูกจับจ้องและมองว่าเป็น “คนนอกคอก” ขนาด George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐยังเคยบอกไว้เลยว่าเขาพยายามเป็นอย่างมากในการหลบหลีกการได้รับเลือกให้เป็นผู้นำประเทศ

Originals คือกลุ่มคนที่กล้าที่จะท้าทาย default ด้วยกระบวนการ Creative Destruction นั่นคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเพื่อที่จะลบล้างความคิดเดิมๆให้หมดไป กลุ่มผู้ก่อตั้ง Warby Parker ก็ได้เลือกที่จะท้าทาย Luxottica บริษัทแว่นยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์แว่นมากมาย รวมถึง Ray-Ban และ Oakley ที่ขายแว่นตาในราคาสูงถึง 20 เท่าของต้นทุน

ความเชื่อผิดๆอย่างหนึ่งของ Originals คือพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนกล้าเสี่ยง ความจริงแล้วเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เลือกที่จะเสี่ยงให้น้อยที่สุด กลุ่มผู้ก่อตั้ง Warby Parker ก็ได้ทำการเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยหลายปีหลังจากการเปิดตัวบริษัท (และนั่นคือสาเหตุที่ Adam Grant ตัดสินใจเลือกที่จะไม่ลงทุนในธุรกิจของพวกเขา) และกว่าที่พวกเขาจะกล้าเปิดตัว Warby Parker อย่างเต็มรูปแบบนั้น พวกเขาได้นั่งปรับเปลี่ยน business model จนได้มาเป็นโปรแกรมส่งโครงแว่นไร้เลนส์ให้ทดลองใส่ได้แบบฟรีๆทำให้ผู้ซื้อกล้าตัดสินใจสั่งซื้อแว่นตาของพวกเขามากขึ้น อีกตัวอย่างคือ Henry Ford ที่เขายังคงทำงานในบริษัทของ Thomas Edison ต่อนานถึง 2 ปีหลังจากที่เขาคิดค้นเครื่องยนต์รถ Ford ได้สำเร็จ

นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบ balance ความเสี่ยง (risk portfolio) ขณะที่พวกเขากล้าที่จะเสี่ยงแบบสุดใจในงานอย่างหนึ่ง พวกเขาก็เลือกที่จะลดความเสี่ยงในด้านอื่นๆอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เนื่องจากการได้มาซึ่งความรู้สึกถึงความปลอดภัยในด้านการเงินและอื่นๆนั้นนำพามาสู่ความกล้าที่จะเสี่ยง

สรุปว่าลักษณะที่สำคัญของ Originals คือ “พวกเขานั้นกล้าที่จะท้าทาย default แต่ก็ยังคงเลือกที่จะบริหารความเสี่ยงได้อย่างสมดุล”

 

สี่นักเรียนจาก The Wharton School ผู้ก่อตั้ง Warby Parker (ขอบคุณภาพจาก Wharton Magazine)

 

Chapter II: Blind Inventors and One-Eyed Investors < The Art and Science of Recognizing Original Ideas >

ไอเดียนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง สิ่งที่ Originals ต้องการนั้นคือความสามารถในการเลือกไอเดียที่ดีๆจากไอเดียนับล้านรอบๆตัว

นักประดิษฐ์คนหนึ่งได้คิดค้นเทคโนโลยีที่เขาเชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการขนส่งไปอย่างตลอดกาล ขนาด Steve Jobs ยังขอยื่นเงิน 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแรกกับหุ้นส่วนเพียง 10% ของบริษัท แต่แล้วสุดท้ายเทคโนโลยีที่ว่ากลับยังไม่แม้แต่จะสร้างกำไรให้กับเจ้าของได้เลย เทคโนโลยีที่พูดถึงนี้คือ Segway

นักคิดค้นนวัตกรรมล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น และโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง (overconfident) ด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์มักจะให้คุณค่างานที่เราชอบมากกว่าความเป็นจริง แต่หารู้ไม่ว่างานที่เราไม่ถูกใจนั้นอาจเป็นที่ต้องการของมนุษย์คนอื่นๆอีกจำนวนมากก็เป็นได้ ขนาด Beethoven ยังคิดว่าเพลง 5th Symphony ของเขาแย่จนเขาเกือบจะทิ้งมันไป

“Originals ไม่ใช่ผู้พิพากษาไอเดียของตัวเองที่ดีที่สุด”

เคล็ดลับการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างสำเร็จนั้นไม่ใช่ “คุณภาพ” แต่อยู่ที่ “ปริมาณ” ยิ่งสร้างงานและไอเดียมากเท่าไหร่ โอกาสประสบความสำเร็จก็มีสูงขึ้นมากอย่างมีนัยยสำคัญ Mozart นักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ทำเพลงมามากกว่า 650 เพลง Picasso วาดภาพมาแล้วมากกว่า 1800 ภาพเขียน Einstein ตีพิมพ์งานวิจัยมากกว่า 200 บทความ และ Thomas Edison เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 1000 ใบ

Dean Kamen นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น Segway นั้นประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์มาแล้วมากมาย แต่เขากับล้มเหลวในการจำหน่าย Segway เนื่องจากความหมกหมุ่นกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากเกินไปโดยไม่สนใจที่จะเปิดให้ผู้คนทดลองใช้งานและรับ feedback ของลูกค้ามาปรับใช้

ปรัชญา Lean Startup นั้นใช้ได้ดีมากในกระบวนการค้นหาไอเดียของ Originals โดยเริ่มจากการสร้าง Minimum Viable Product (MVP) หรือผลิตภัณฑ์ทดลองให้มากที่สุด และนำ MVP เหล่านั้นมาทดลองกับตลาดเพื่อคัดไอเดียที่ดีและทิ้งไอเดียแย่ๆไปให้หมด

False Negative คือ ความเชื่อในแง่ลบต่อไอเดียที่ผิดพลาด ซึ่งพบได้ทั่วไปไม่ว่ากับผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลธรรมดา ทั้งนี้เนื่องจากไอเดียของ Originals มักจะมีความแปลกใหม่และนำพามาสู่การตัดสินใจในแง่ลบของผู้ตัดสิน โดยเฉพาะหากผู้ตัดสินเหล่านั้นคือเจ้าของบริษัท นักลงทุนหรือผู้จัดการที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการต่อยอดของไอเดียนั้นๆ มักจะเลือกปฏิเสธไอเดียแปลกใหม่เพื่อป้องกันความเสี่ยง งานวิจัยพบว่ายิ่งผู้ตัดสินมีประสบการณ์ในด้านนั้นๆมากเท่าไหร่ โอกาสเกิด False Negative ก็จะมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นิยายชุด Harry Potter ของ J.K. Rolling นั้นถูกปฏิเสธมาแล้วหลายรอบก่อนจะได้ตีพิมพ์

งานวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ตัดสินใจในไอเดียนั้นๆได้ดีที่สุดคือคนที่ทำงานในระดับเดียวกับเจ้าของไอเดียและมีประสบการณ์ในระดับที่เข้าใจและสามารถเข้าถึงความสำคัญของไอเดียที่แปลกใหม่ได้ การถาม feedback จากกลุ่ม focus group ก็มักจะไม่ได้ผลเพราะพวกเขาคิดเหมือนผู้จัดการมากเกินไป การทดลองที่ให้ผู้ร่วมทดลองตัดสินไอเดียว่าไอเดียไหนประสบความสำเร็จในชีวิตจริงพบว่าหากปล่อยให้ผู้ทดลองสร้างสรรค์ไอเดียของตัวเองก่อนที่จะมาตัดสินจะนำพามาสู่ความแม่นยำที่มากกว่า

จากสถิติพบว่า “นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีความสนใจในศิลปะมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายเท่าตัว” การใส่ใจในศิลปะแปรผันตรงกับความคิดสร้างสรรค์ การค้นพบภูเขาในดวงจันทร์ของ Galileo เกิดจากการที่เขามองเห็นลายเงามืดบนดวงจันทร์ไม่ต่างจากการวิเคราะห์แสงเงาในภาพเขียน

ประสบการณ์ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดไอเดียที่ดีของ Originals คือ “ประสบการณ์ที่มีความหลากหลาย” ยิ่งออกเดินทางไปพบเจอสิ่งต่างๆมาก เรียนรู้ในศาสตร์หลายๆด้าน ทำงานในหลายๆอุตสาหกรรมและหลายๆประเทศ ล้วนส่งผลให้การสร้างสรรค์ไอเดียดียิ่งขึ้น

False Positive คือการตัดสินใจว่าไอเดียนั้นดีทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ดีมักเกิดจากการที่ผู้ตัดสินใจใช้สัญชาตญาณที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเกิดจาก การไม่มีความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ (เหมือน Steve Jobs ที่ไม่มีความรู้ในวงการการขนส่ง) และความเชื่อมั่นที่มากเกินไปจากปัจจัยต่างๆ

Passion เป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ตัดสินใจควรมองให้ออกด้วยว่าคนที่มี passion กับไอเดียนั้นมีความสามารถนำไอเดียไปปฎิบัติ (execution) ได้จริงหรือไม่ ความสำเร็จของ Dean Kamen ก่อนหน้านี้เกิดจากการสร้างเทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาในวงการแพทย์ แต่การคิดค้น Segway ของเขานั้นเป็นการสร้าง technology push ที่ตัวเขาพยายามยัดเยียมเทคโนโลยีที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้กับตลาด ซึ่งไม่ใช่งานถนัดของเขา

ความสำเร็จของ Warby Parker เกิดจากประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้ก่อตั้งทั้งสี่คนที่มาจากทั้งวงการชีววิศวกรรม วงการแพทย์ ที่ปรึกษาและธนาคาร พร้อมกับวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องทดลองไอเดียก่อนนำไปใช้งานจริงทุกครั้งและการเก็บ feedback เพื่อนำมาปรับปรุงไอเดียอย่างต่อเนื่องทั้งจากลูกค้าและพนักงาน ซึ่ง Warby Parker มีการสร้างเอกสารภายในที่เปิดให้พนักงานทุกคนเข้ามาโหวตไอเดียและนำไอเดียนั้นๆไปทดลองปฏิบัติได้เองด้วย

 

Dean Kamen นักประดิษฐ์ Segway (ขอบคุณภาพจาก CNN)

 

Chapter III: Out on a Limb < Speaking Truth to Power >

Power คือความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ในชีวิตจริงการจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วงต้องอาศัย Status หรือสถานะที่ได้รับการเคารพและยอมรับจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างด้วย

Originals ต้องรู้จักเลือกใช้วิธีการพูดนำเสนอไอเดียให้ได้รับการยอมรับ

Rufus Griscom เจ้าของบริษัทนิตยสารเลี้ยงลูกออนไลน์ชื่อ Babble ได้เลือกใช้วิธีการนำเสนอไอเดียธุรกิจของเขาที่แปลกใหม่ให้กับบริษัท Disney จนทำให้ Disney เลือกที่จะซื้อกิจการของเขาไปในมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ Griscom ใช้วิธีการอธิบายว่าทำไม Disney ถึงไม่ควรลงทุนใน Babble

ประโยชน์ของการพูดถึงข้อเสียของไอเดียนั้นมีอยู่มากมาย โดยปกตินักลงทุนมักจะคอยจับผิดบริษัทที่เข้ามานำเสนอไอเดียอยู่แล้ว การที่ Griscom อธิบายว่าข้อเสียของ Babble มีอะไรบ้างทำให้นักลงทุนมีความเชื่อใจมากยิ่งขึ้น ช่วยให้นักลงทุนเหล่านั้นหันมาโฟกัสเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นแทน แถมยังได้ผลดีทางจิตวิทยาด้วย เพราะว่าการนำเสนอข้อเสียก่อนยังช่วยให้นักลงทุนคิดข้อเสียข้ออื่นๆไม่ค่อยออกจนมองเห็นว่าบริษัทหรือไอเดียนี้น่าสนใจเพราะมีข้อเสียไม่มากนัก

ไอเดียของ Originals มักจะให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่แก่ผู้ฟัง ดังนั้น “การพูดถึงไอเดียซ้ำๆในมุมมองที่แตกต่างกันไปจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจและชื่นชอบไอเดียได้มากขึ้น” ทั้งนี้งานวิจัยพบว่า การจะสื่อสารไอเดียที่ดีต้องพูดซ้ำอย่างน้อย 10 ถึง 20 ครั้ง

การเลือกผู้ฟังที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญ พนักงานควรมองหาผู้จัดการที่มีความเป็น Originals ในตัวเอง ทั้งการไม่ประนีประนอมและการท้าทายสภานะปัจจุบัน และควรหลีกเลี่ยงผู้บริหารระดับกลางที่มักจะชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าของพวกเขา การสร้างกลุ่มผู้ติดตามจากพนักงานระดับล่างยังช่วยเพิ่มฐานเสียงให้กับเจ้าของไอเดียได้อย่างดี

Donna Dubinsky สามารถโต้เถียงนโยบายสร้างกระบวนการผลิตแบบ just in time ของ Steve Jobs ได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าตัว Steve Jobs เองนี่แหละคือผู้นำที่เหมาะสมกับการรับฟังไอเดียของ Originals จนทีม Macintosh ได้จัดงานให้รางวัลแก่ผู้ที่กล้าท้าทาย Steve Jobs ในแต่ละปี

นอกจากการเลือกใช้วิธีการสื่อสารไอเดียแล้ว การเลือกที่จะ exit เพื่อไปเจอสิ่งที่ดีกว่า ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้อื่นหรือองค์กรได้จริงๆ

 

Chapter IV: Fools Rush In < Timing, Strategic Procrastination and the First-Mover Disadvantage >

สุนทรพจน์ “I Have a Dream” ของ Martin Luther King ระหว่างการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตันเมื่อปี 1963 ได้รับกล่าวขวัญและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกใน แต่หารู้ไม่ว่า King พึ่งเขียนสคริปต์เสร็จก่อนขึ้นเวทีได้ไม่นานทั้งๆที่มีเวลาเตรียมการหลายเดือน แถมประโยคที่แสดงถึงความฝันของเขานั้นเป็นการ improvise ของเขาขณะเริ่มปราศรัยแล้วด้วยซ้ำ

Timing หรือการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากๆในการนำพาไอเดียของ Originals ไปสู่ความสำเร็จ

งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มีการผลัดวันประกันพุ่ง (procrastination) มีความได้เปรียบในการพัฒนาไอเดียของเขา ทั้งนี้การเลือกหยุดทำงานเพื่อหันไปทำอย่างอื่นที่จะได้ผลดีนั้น เจ้าของไอเดียต้องเก็บไอเดียของเขาและค่อยๆคิดปรับปรุงและพลิกแพลงไปมาจนสมบูรณ์ที่สุด เหมือนที่ Leonardo da Vinci ใช้เวลาเขียนภาพ Mona Lisa นานกว่า 17 ปีจนได้มาซึ่งภาพเขียนที่เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดในโลก

Zeigarnik effect อธิบายถึงคุณสมบัติของมนุษย์ที่มักจะจดจำงานที่ยังไม่สำเร็จได้มากกว่างานที่ทำจนจบสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าการได้เป็นผู้เล่นรายแรกของตลาด (first mover) นั้นจะก่อให้เกิดผลดีมากมาย ทั้งการได้โอกาสแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดก่อน การสร้างเครือข่ายของธุรกิจที่ต้องพึ่งพากลุ่มผู้ใช้งานและการจดสิทธิบัตรของนวัตกรรม แต่จริงๆแล้วผลเสียของผู้มาก่อนนั้นก็มีมากมายทั้งการลงทุนมหาศาลในตลาดที่อาจจะไม่พร้อมรองรับนวัตกรรมใหม่ๆและความเร่งรีบในการผลักดันนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดในขณะกระบวนการภายในต่างๆยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ผู้มาทีหลังมักจะถูกมองว่าเป็นนักลอกเลียนแบบ แต่จากสถิติค้นพบว่าโอกาสในการประสบความสำเร็จของผู้มาทีหลังนั้นมากกว่าผู้เล่นรายแรกของตลาดหลายเท่าตัว ทั้งนี้เกิดจากการที่พวกเขาสามารถเฝ้าจับตาตลาด เข้าใจความต้องการของตลาดและนำเสนอนวัตกรรมที่ดีกว่าในเวลาที่เหมาะสม (เหมือนกับ Warby Parker ที่เริ่มขายแว่นตาออนไลน์หลังจากที่คนคุ้นชิ้นกับการซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว)

Originals ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรก แต่ Originals ต้องแตกต่างและดีกว่า

 

Martin Luther King กับสุนทรพจน์ “I Have a Dream” (ขอบคุณภาพจาก Medium)

 

Chapter V: Goldilocks and the Trojan Horse < Creating and Maintaining Coalitions >

Originals มักเริ่มต้นด้วยการเป็นคนตัวเล็กๆที่กล้าท้าทายกับยักษ์ และแน่นอนว่าการที่ Originals จะสามารถเอาชนะได้ พวกเขาต้องอาศัยพลังความร่วมมือกับบุคคลอื่นอย่างเข้มแข็ง

Horizontal Hostile คือ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ค้นพบว่ามนุษย์ที่มีเป้าหมายเดียวกันแต่มีวิธีการที่แตกต่างกันมักจะกลายเป็นศัตรูกันได้ง่ายกว่ากลุ่มคนทั่วไป อาทิ ชาววีแกนมักจะดูถูกว่าชาวมังสวิรัติเป็นพวกที่รักสัตว์ได้แบบไม่สุดโต่ง

“การสร้างพันธมิตรที่ดีที่สุดคือการเลือกพันธมิตรที่มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน” แต่มีวิธีการไปถึงเป้าหมายที่ใกล้เคียงกันโดยที่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กันและกันได้ ต้องแสดงให้พันธมิตรมองเห็นภารกิจของเราเป็นเส้นทางไปถึงเป้าหมายของเขาเช่นกัน

การสื่อสารความคิดของ Originals ที่สุดโต่งและดูไม่น่าเป็นไปได้มักจะนำพามาซึ่งการไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง เทคนิคการสื่อสารแบบ Tempered Radicals คือ การลดระดับความรุนแรงของไอเดียลงเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยกรรมวิธีต่างๆ แต่ก็ไม่น้อยเกินไปจนน่าเบื่อและอาจค่อยๆเพิ่มความท้าทายลงไปทีละนิดๆ หรือการใส่ความคุ้นเคยเข้าไปในไอเดียเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้เขียนบท Lion King ซึ่งเป็นหนังการ์ตูนเรื่องแรกของ Disney ที่คิดพล็อตใหม่เองทั้งหมดยังต้องนำเสนอผู้บริหารว่าหนังเรื่องนี้อิงบทมาจาก Hamlet แค่เปลี่ยนจากคนเป็นสิงโตแทน

Meredith Perry ผู้ก่อตั้ง uBeam ผู้ผลิตนวัตกรรมเครื่องชาร์จพลังงานแบบไร้สายด้วยเสียงอุลตร้าโซนิค เริ่มต้นด้วยการติดต่อผู้เชี่ยวชาญหลายๆด้านเพื่อเสนอไอเดียของเธอแต่ก็ถูกปฎิเสธไปทั้งหมด เธอเลือกที่จะซอยไอเดียของเธอออกเป็นส่วนๆและเอาแต่ละส่วนนั้นไปนำเสนอผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆเพื่อช่วยพัฒนาสิ่งที่พวกเขามองว่าสามารถทำได้ ก่อนที่จะเอาชิ้นส่วนเหล่านั้นมารวมร่างกันทีหลัง

Frenemies หรือคนที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คือกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงในการผูกเป็นพันธมิตรที่สุดเนื่องจากความไม่แน่นอนในความคิดของพวกเขา ในทางกลับกัน การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรได้จะมีส่วนช่วยในการขยายฐานของผู้ที่มีความเชื่อเหมือนกันให้กว้างไกลได้มากขึ้นดีซะยิ่งกว่าคนที่ชื่นชมเราอยู่แล้วซะอีก

 

Chapter VI: Rebel with a Cause < How Siblings, Parenting and Mentors Nurture Originality >

งานวิจัยในกีฬาเบสบอลพบว่าผู้เล่นที่กล้าเสี่ยงที่จะ “ขโมยเบส” นั้นมีโอกาสเป็นน้องคนท้ายๆของครอบครัวมากกว่า 10 เท่าของพี่คนโต … และจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ที่เปิดใจยอมรับความคิดว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ของ Copernicus ในช่วงเริ่มต้นนั้นเป็นน้องคนท้ายๆของตระกูลมากกว่าพี่คนโตถึง 5 เท่า

ถึงแม้ว่าพี่คนโตมักจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่าและมีความสามารถในการเรียนและความก้าวหน้าในการทำงานที่สูงกว่า น้องคนท้ายๆกลับมีความเป็น Originals ที่กล้าก่อกบฏและท้าทายสถานะปัจจุบันมากกว่า … ลำดับการเกิดนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่ม ”ความน่าจะเป็น” ในการสร้างความเป็น Originals

โดยธรรมชาติ พี่คนโตมักจะมีลักษณะนิสัยในการเป็นผู้นำและมีอำนาจมากกว่าน้องๆ และนั่นเป็นเหตุผลให้น้องๆต้อง “สร้างความแตกต่าง” ซึ่งเป็นที่มาของความคิดแบบ Originals … ดาราตลก 100 อันดับแรกของอเมริกามีอยู่ 44 คนที่เป็นลูกคนสุดท้ายจากจำนวนพี่น้องเฉลี่ยที่ 3.5 คน

การเลี้ยงดูก็เป็นส่วนสำคัญ พ่อแม่มักจะเลี้ยงลูกคนด้วยกฎระเบียบที่เคร่งขัด ผิดกับลูกคนท้ายๆที่พ่อแม่มักจะปล่อยมากขึ้นหรือได้รับการดูแลโดยพี่ๆแทนซึ่งทำให้ลูกคนท้ายๆมีอิสรภาพมากกว่าและทำให้มีความเป็น Originals ที่มากกว่า … การเลี้ยงลูกให้เป็น Originals สามารถทำได้โดยการปล่อยให้พวกเขามีอิสระอย่างเต็มที่ ไม่จำกัด ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ต้องมีคำอธิบายว่าการกระทำนั้นๆดีหรือไม่ดีอย่างไร … ทั้งนี้การสร้าง Originals ที่เป็นคนดีด้วย พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญกับศีลธรรมของลูก ทำให้ลูกรู้ว่าการกระทำนั้นๆกระทบกับคนอื่นอย่างไรและชมพวกเขาในสิ่งที่เขาเป็นไม่ใช่สิ่งที่เขาทำ ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี

การเลี้ยงลูกให้เกิดการต่อต้านแบบ Originals ยังสามารถทำได้โดยการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด เหมือนพ่อของ Andre Agassi ที่เคร่งครัดให้เข้าซ้อมเทนนิสจนเขามีนิสัยต่อต้านแต่ก็มีฝีมืออย่างหาตัวจับได้ยาก

ถึงกระนั้น พ่อแม่ ไม่ใช่อิทธิพลหลักในการสร้างความเป็น Originals ให้กับลูกๆ พวกเขาต้องการบุคคลต้นแบบหรือฮีโร่ทั้งในชีวิตจริงและในโลกนิยาย เหมือนกับที่ Martin Luther King ยึดหลักปฏิบัติตาม Mahatma Gandhi และทีมผู้สร้าง iPad ที่อาศัยตัวละครที่ใช้เครื่องมือลักษณะเดียวกันใน Star Trek เป็นแรงบันดาลใจ

ไม่แน่ อนาคต Originals รุ่นใหม่อาจจะได้อิทธิพลมาจาก Harry Potter ก็เป็นได้

 

Chapter VII: Rethinking Groupthink < The Myths of Strong Cultures, Cults and Devil’s Advocate >

Edwin Land นักนวัตกรรมผู้ครอบครองสิทธิบัตรมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจาก Thomas Edison เขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี instant camera และบริษัท Polaroid ที่เป็นบริษัทแห่งแรกๆของโลกที่คิดค้นกล้องดิจิตอลได้สำเร็จ … แต่สุดท้ายแล้ว Polaroid ก็เลือกที่จะไม่จัดจำหน่ายกล้องดิจิตอลจนเมื่อสายเกินไป เนื่องจากความเชื่อของผู้บริหารระดับสูงและพนักงานส่วนใหญ่ที่คิดว่าผู้คนต้องการที่เก็บรูปภาพที่จับต้องได้เท่านั้น … Polaroid ถูกผลกระทบของ groupthink หรือ ความคิดของหมู่คณะที่คล้อยตามจนเสียงของผู้ขัดแย้งไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของกลุ่มได้

จากการสืบค้นประวัติขององค์กรชั้นนำหลายแห่ง พบว่า ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้ง บริษัทที่มีการใช้นโยบายการสร้าง commitment ระหว่างพนักงานกับเป้าหมายของบริษัทนั้นจะทำให้บริษัทมีโอกาสอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้สูงกว่าบริษัทที่เลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือดาวรุ่งเป็นหลัก … แต่ในเชิงการเติบโตระยะยาว บริษัทที่มีนโยบายสร้าง commitment ของพนักงานกลับเติบโตช้าเทียบกับบริษัทอื่นๆ … ทั้งนี้เกิดจากการที่พนักงานเริ่มมีความคิดและนิสัยที่เหมือนกันและคอยกีดกันหรือขับไล่คนที่คิดต่างออกไป … ในสภาวะตลาดเสถียรภาพ องค์กรในลักษณะจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ … แต่เมื่อถึงคราวเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

งานวิจัยยังค้นพบว่าบริษัทที่กำลังประสบปัญหาจะยิ่งแย่ลงเมื่อ CEO หันไปปรึกษาแต่กับคนที่มีความคิดเหมือนกัน ขณะที่ถ้า CEO เลือกที่จะฟังเสียงของผู้คัดค้านมากขึ้น บริษัทจะมีแนวโน้มในการกลับตัวได้เร็วกว่า

Bridgewater เป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ได้รับการยอมรับเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง เพราะที่นี่พนักงานทุกคนได้สิทธิอย่างเต็มที่ในการเสนอความคิดเห็นและท้าทายพนักงานคนอื่นในทุกระดับขั้น … Laszlo Block ผู้จัดการ HR ของ Google ได้ก่อตั้งทีม Canary หรือนกที่ใช้แจ้งเหตุร้ายในอุโมงค์ ที่ประกอบด้วยพนักงานหลากหลายตำแหน่งในหลากหลายหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ในการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการตกหล่นของปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบขององค์กรขนาดใหญ่

ความเชื่อเรื่องการนำเอา Devil’s advocate หรือคนที่รับหน้าที่หาข้อโต้แย้งในกลุ่มเพื่อสร้างความคิดเห็นที่หลากหลายนั้นจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อคนๆนั้นมีความเชื่อมั่นในความคิดที่เขาโต้แย้งจริงๆ

 

Chapter VIII: Rocking the Boat and Keeping It Steady < Managing Anxiety, Apathy, Ambivalence, and Anger >

อุปสรรคที่สำคัญอีกข้อของ Originals คือการควบคุมอารมณ์ทั้งความกลัว ความตื่นเต้นและความโกรธ

งานวิจัยพบว่าการคิดในแง่ลบจะช่วยให้ผลลัพธ์ของการกระทำดีขึ้น เนื่องจากผู้ที่คิดลบมักจะทำการวิเคราะห์และหาข้อบกพร่องของแผนการได้มากกว่าพร้อมๆกับการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน

การมีอารมณ์ตื่นเต้น กลัวหรือโกรธเปรียบเสมือนการขับรถด้วยความเร็วสูง การเหยียบเบรกอย่างกระทันหันด้วยการสงบใจตัวเองนั้นมักจะไม่ได้ผลที่น่าพอใจ ตรงกันข้ามกับการเปลี่ยนอารมณ์เหล่านั้นให้กลายเป็นพลังที่เหมือนกันการเร่งคันเร่งต่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าการเปิดใช้งาน “Go System”

การผลักดันความเป็น Originals ของทั้งตัวเองและผู้อื่นทำได้โดย

  1. Outsourcing inspiration คือการสร้างแรงบันดาลใจผ่านผู้ที่จะได้รับผลในทางที่ดีขึ้นหากไอเดียของ Originals ประสบความสำเร็จ เช่น CEO ของ Skype เลือกใช้ภาพของคู่รักที่อาศัยอยู่คนละประเทศและปู่กับหลานที่สามารถติดต่อผ่านกันได้ด้วยวิดิโอคอล
  2. Strength in Small Numbers คือการทำให้รับรู้ว่า “เรา” ไม่ได้มีความคิด Originals เพียงลำพัง เพราะว่ามนุษย์มักเกรงกลัวว่าความคิดของตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับ ความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการส่วนใหญ่ก็เกิดจากวิธีนี้ เช่น การโค่นล้มเผด็จการในประเทศชิลี กลุ่มผู้ประท้วงได้แสดงพลังด้วยการเปิดปิดไฟในบ้านเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่ามีคนจำนวนมากที่มีความคิดต่อต้านเผด็จการอยู่
  3. The Burning Platform คือการสร้างความคิดของผู้คนให้มองเห็นถึงการต้องสูญเสียหากผู้คนเหล่านั้นไม่ยอมทำอะไรเลยเพื่อให้พวกเขากล้าเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะมนุษย์มักที่จะกล้าเสี่ยงมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย
  4. Fanning the Flame คือการเปลี่ยนความโกรธมาเป็นพลังโดยหากพุ่งเป้าไปยังผู้ที่ทำให้เกิดความโกรธนั้น อารมณ์ของ Originals อาจเข้ามาครอบงำจนแผนการเสียหาย ทางที่ดีความผลักดันความโกรธแล้วพุ่งเป้าไป “ช่วยเหลือ” ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแทน เช่น การต่อต้านเผด็จการของประเทศเซอร์เบียก็ใช้วิธีการนำเสนอถึงตำรวจและประชาชนมากมายที่ต้องบาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ตัวผู้นำเผด็จการเอง

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*