News Ticker

[สรุปหนังสือ] Permanent Record

 

 

Permanent Record (2019)

by Edward Snowden

 

“I used to work for the government, but now I work for the public. It took me nearly three decades to recognize that there was a distinction.”

 

ในปี 2013 ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลกต่างต้องตกตะลึง เมื่อ Edward Snowden อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองแห่งหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Agency หรือ NSA) วัย 29 ปี ได้ตัดสินกระทำการสุด “อันตราย” ด้วยการออกมา “เปิดโปง” ต่อชาวโลกทุกคนถึงแผนการอันไร้ซึ่งศีลธรรมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการสร้างเครือข่ายสอดส่องดูแลมวลชน (mass surveillance) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ผ่านระบบการดักเก็บข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์และในโลกอินเตอร์เน็ตของมนุษย์แทบทุกคนบนโลกใบนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต

6 ปีต่อมา Edward Snowden ผู้ที่กำลังลี้ภัยอยู่ในกรุง Moscow ประเทศรัสเซีย ได้ตัดสินใจหยิบเอาเรื่องราวชีวิต ครอบครัวและการค้นพบความลับอันฉ้อฉลของรัฐบาลสหรัฐออกมาตีแผ่อีกครั้งอย่างละเอียดในหนังสืออัตชีวประวัติเล่มแรกของเขาที่มีชื่อว่า Permanent Record หรือ “บันทึกถาวร” ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความพยายามของผู้เขียนในการนำความลับของรัฐบาลสหรัฐมาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้คงอยู่อย่างถาวรในรูปแบบหนังสือและเป็นการตรอกย้ำถึงความอันตรายของระบบสอดส่องดูแลมวลชนที่สามารถบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีให้คงอยู่ได้อย่างถาวร

Permanent Record ของ Edward Snowden เล่มนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งหนังสือที่มีความสำคัญอย่างมากต่อโลกในยุคปัจจุบัน [ถึงขนาดที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐสั่งฟ้องผู้เขียนตั้งแต่วันแรกของการตีพิมพ์] ผมขอเชิญชวนทุกท่านอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

 

ผู้เขียน Edward Snowden (ขอบคุณภาพจาก South China Morning Post)

 


 

Hacking

หนึ่งในกิจกรรมที่เด็กชาย Edward Snowden ในวัยเด็กชอบทำเป็นชีวิตจิตใจเลยก็คือ “การสอดแนม” สมาชิกในครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะคุณพ่อผู้ประกอบอาชีพเป็นครูฝึมวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานป้องกันชายฝั่ง (coast guard) ที่มักจะนำเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆกลับบ้านมาอย่างสม่อเสมอ ซึ่งคุณพ่อคนนี้เองที่ทำให้เด็กชาย Edward Snowden ได้รู้จักและ “หลงใหล” ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโลกแห่งอินเตอร์เน็ตจนไม่เป็นอันหลับอันนอน [ซึ่ง Edward Snowden ให้ความเห็นว่าโลกอินเตอร์เน็ตในยุค 90 นั้นคือ “โลกแห่งอุดมคติ” ที่ทุกคนสามารถสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่ได้อย่างเสรีซึ่งแตกต่างจากอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันที่ทุกหนทุกแห่งนั้นเต็มไปด้วยการแสวงหากำไรโดยไม่สนใจต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอีกต่อไป]

การ “hack” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในโลกดิจิตอลและโลกออฟไลน์ขอเพียงแค่ “hacker” สามารถมองเห็นข้อบกพร่องของกฎระเบียบของระบบหนึ่งๆได้ก่อนผู้ควบคุมระบบและสามารถหาผลประโยชน์จากข้อบกพร่องเหล่านั้นได้ การ hack ครั้งแรกของ Edward Snowden นั้นเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่เขาพยายามมองหาช่องว่างของระบบการตัดเกรดของโรงเรียนมัธยมของตัวเองจนพบว่าเขาสามารถที่จะสอบผ่านทุกวิชาได้โดยไม่ต้องส่งการบ้านที่คิดเป็นคะแนนเพียง 10-20% เลยซักครั้ง ซึ่งนั้นก็ทำให้เด็กชาย Edward Snowden มีเวลาในการท่องโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆและนำมาสู่การ hack ในโลกออนไลน์ที่สำคัญเมื่อเขาตรวจพบว่าระบบความปลอดภัยของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ Los Alamos นั้นปล่อยให้ hacker ธรรมดาๆในวัยไฮสคูลสามารถเข้าถึงไฟล์ข้อมูลที่สำคัญๆผ่านเว็ปไซต์ของศูนย์วิจัยได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเด็กชาย Edward Snowden ก็ได้รีบแจ้งหน่วยงานไอทีของ Los Alamos ในเวลาต่อมา

 

9/11

เหตุการณ์ช็อกโลกที่เป็นชนวนเริ่มต้นของการก่อตั้งระบบสอดแนมมวลชนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมานั้นได้เกิดขึ้น ณ วันที่ 11 กันยายน ขณะที่ Edward Snowden ในวัยรุ่นกำลังเดินทางเข้ามาทำงานออกแบบเว็ปไซต์แบบฟรีแลนซ์ให้กับรุ่นพี่มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง เมื่อเครื่องบินโดยสารสามลำถูกแปลงสภาพเป็นมิสไซล์พุ่งเข้าชนตึกแฝด World Trade Center และอาคาร Pentagon ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐจนนำมาสู่แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ของภารกิจ “ล้างแค้น” กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่นำมาสู่การสูญเสียอีกนับล้านชีวิตในเวลาต่อมาที่แถบประเทศตะวันออกกลาง

ไม่แตกต่างจากชาวอเมริกันจำนวนมากที่เลือกสนับสนุนการทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย Edward Snowden ในวัยหนุ่มได้ตัดสินใจเข้ารับใช้ชาติในกองทัพสหรัฐ แต่ต่อมาไม่นาน เขาก็เกิดอาการบาดเจ็บขณะฝึกซ้อมและต้องลาออกจากการเป็นทหาร

 

Homo Contractus

จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โลกแห่งหน่วยข่าวกรอง (intelligence community) ของ Edward Snowden นั้นได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เขาตัดสินใจที่จะหันกลับมาใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีของตัวเองในการช่วยเหลือประเทศ ซึ่งเขาก็ได้เริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งของ NSA หลังจากที่เขาได้รับการตรวจประวัติจนได้ใบรับรองในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับ (security clearance) ในวัยเพียงแค่ 22 ปี

ต่อมาไม่นาน Edward Snowden ก็ได้เริ่มต้นทำงานในฐานะ “พนักงานสัญญาจ้าง” ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BAE Systems ซึ่งก็ได้รับการว่าจ้างจาก CIA ต่ออีกทอดหนึ่ง [หลังจากเหตุการณ์ 9/11 นั้นทำให้ หน่วยงานข่าวกรองมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอย่างมหาศาลและมีความต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมากโดยที่รัฐบาลไม่สามารถรับคนเหล่านั้นเข้ามารับราชการได้ การบูมของพนักงานสัญญาจ้างจึงเกิดขึ้น] โดยบทบาทหน้าที่หลักๆของ Edward Snowden ก็คือ การบริหารจัดการระบบ (system administration) ของเซิร์ฟเวอร์แห่งหนึงในอาคารสำนักงานใหญ่ของ CIA ที่ Langley รัฐ Virginia ที่ซึ่งหน้าที่การทำงานนี้ได้ทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลภายในของ CIA จำนวนมหาศาลและเป็นจุดเริ่มต้นใหเขาตัดสินใจเข้ารับราชการในเวลาต่อมา [Edward Snowden ยืนยันว่าจากข้อมูลที่เขาเข้าถึงได้ มนุษย์ต่างดาวยังไม่เคยติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศนั้นเป็นเรื่องสำคัญและการเหยียบดวงจันทร์ของ Neil Armstrong นั้นเกิดขึ้นจริงๆ]

 

Geneva

Edward Snowden เริ่มต้นงานราชการของ CIA ในตำแหน่ง Technical Information Security Officer (TISO) ซึ่งมีความรับผิดชอบหลักในการ “ซ่อมแซม” คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดให้กับสถานทูตอเมริกันที่กระจายตัวอยู่ในหลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเขาให้ความเห็นว่าสถานทูตในยุคปัจจุบันนั้นไม่มีความจำเป็นในการทำการเจรจาทางการทูตจริงๆอีกต่อไป แต่สถานทูตเหล่านั้นมีหน้าที่หลักๆในการเป็นฉากบังหน้าให้กับการ “สอดแนม” ของรัฐบาลสหรัฐ [ซึ่งนั่นก็ทำให้อาชีพ TISO นั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะหน้าที่ในการทำลายล้างข้อมูลทั้งหมดเวลาเกิดเหตุจลาจลหรือสงคราม]

ภารกิจที่ Edward Snowden ได้รับหลังจากการฝึกอบรบแบบลับสุดยอดได้จบลงก็คือที่ การประจำการที่สถานทูตอเมริกา ณ เมือง Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งสหประชาชาติและการเงินแห่งหนึ่งของโลก โดยหน้าที่หลักๆของเขาก็คือการดูแลรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการคอยช่วยเหลือ “สปาย” ของ CIA ในการสืบหาข้อมูลลับที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้น วิธีการสืบราชการลับกำลังได้รับการเปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์ เช่น การคัดสรรคนในหรือคนใกล้ตัวเป้าหมาย [ด้วยวิธีการตีสนิท ติดสินบนหรือแบล็กเมล์] เพื่อให้พวกเขาแอบส่งข้อมูลลับมาให้กับรัฐบาลสหรัฐ เข้าสู่ยุคดิจิตอลที่มุ่งเน้นไปที่การ “แฮค” คอมพิวเตอร์ที่สามารถทำได้อย่างลับๆโดยไม่มีใครรู้ตัวอีกต่อไป อาทิ การส่งอีเมล์ที่ฝัง malware และหลอกเป้าหมายให้กดปุ่มเพื่อลงโปรแกรมดักข้อมูลเหล่านั้นในคอมพิวเตอร์

 

Tokyo

ต่อมา Edward Snowden ได้หันกลับไปทำงานในฐานะพนักงานสัญญาจ้างอีกครั้งให้กับบริษัทลูกของ Dell ซึ่งส่งเขาไปประจำอยู่ ณ กรุงโตเกียว ในปี 2009 ที่ศูนย์บัญชาการ Pacific Technical Center (PTC) ของ NSA ซึ่งถือเป็น “ที่สุด” ขององค์กรในวงการหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมาย หน้าที่หลักของ Edward Snowden นั้นเริ่มต้นด้วยตำแหน่งผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และโครงข่ายการสื่อสารข่าวกรองของ NSA ในแถบประเทศแปซิฟิก ก่อนที่เขาจะเริ่มแสดงฝีมือในการรับบทควบคุมและออกแบบระบบ backup ข้อมูลของ NSA ที่สามารถตรวจจับข้อมูลซ้ำซ้อนและเพิ่มขีดความสามารถของการจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากระบบข่าวกรองของ NSA ให้อยู่ได้ยาวนานหลายปี [ตามเป้าหมายของ NSA ที่ต้องการเก็บข้อมูลทุกอย่างให้คงอยู่ได้ตลอดไป]

วันหนึ่งระหว่างที่เขาได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าข้อมูลของระบบข่าวกรองของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่สามารถสอดส่องกิจวัตรของประชาชนชาวจีนนับพันล้านคนบนโครงข่ายโทรศัพท์และโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ Edward Snowden ก็เริ่มเกิดความคิดในหัวของตัวเองว่า “ถ้าจีนทำได้ แสดงว่ารัฐบาลสหรัฐก็ต้องทำได้เช่นกัน” ซึ่งความเคลือบแคลงใจนี้ก็ได้ผลักดันให้เขาเริ่มค้นหาหลักฐานของการมีอยู่ของระบบ mass surveillance ของรัฐบาลของตัวเองที่อาจมีหรือไม่มีอยู่จริง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็ได้บังเอิญเจอกับข้อมูลของโครงการลับสุดยอดที่มีโค้ดเนมว่า STELLARWIND ซึ่งเป็นระบบตรวจจับข้อมูลมหาศาลของประชากรทุกคนบนโลกที่เชื่อมโยงกับโลกอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องขอหมายศาล [โครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตทั้งหมดในยุคปัจจุบันนั้นกว่า 90% ถือครองโดยบริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ สายใยนำแก้ว ระบบคอมพิวเตอร์ ไมโครชิปส์ ซอฟท์แวร์ cloud และ social media] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ President’s Surveillance Program ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี George W. Bush หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เพื่อตามล่ากองกำลัง Al-Qaeda และ Osama bin Laden

Edward Snowden เริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของระบบสอดแนมและกักเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชากรโลกที่ถูกกักเก็บเป็นความลับสุดยอดโดยรัฐบาลที่เขาเป็นคนรับใช้และคอยสนับสนุนอย่างแข็งขัน เขารู้สึกเหมือนโดนหลอกใช้งานและหักหลังโดยรัฐบาลของตัวเองที่กำลังตรวจสอบพฤติกรรมของเขาอยู่ทุกชั่วขณะของชีวิต [ลองจินตนาการดูว่าหากผู้นำผู้ชั่วร้ายสามารถเข้าถึงข้อมูลกิจกรรมบนโลกออนไลน์ของทุกคนบนโลกได้ เขาคนนั้นก็จะสามารถค้นหา “ความลับสีเทา” ในโลกออนไลน์มาเล่นงานศัตรูของตนเองหรือสร้าง “แพะรับบาป” แทนได้อย่างง่ายดายด้วยกรรมวิธีต่างๆนาๆ]

 

Home on the Cloud

ต่อมา Edward Snowden ก็ได้กลับมาที่บ้านเกิดประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งพร้อมกับการเริ่มต้นตำแหน่งงานใหม่ให้กับ Dell ในฐานะ solution consultant ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการสร้างระบบ private cloud ให้กับ CIA ในปี 2011 พร้อมกับการเก็บงำความลับของระบบสอดแนมประชากรของรัฐบาลสหรัฐที่เขาล่วงรู้โดยบังเอิญเอาไว้กับตัวเองโดยไม่บอกให้ใครรับทราบ

ซึ่งการกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งก็ทำให้ Edward Snowden ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของประชากรชาวอเมริกันมากขึ้น พร้อมๆกับการขยายโครงข่ายของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook และ Amazon ในโลกของอินเตอร์เน็ตที่คอยหลอกล่อให้ผู้ใช้งานยิบยื่น “ข้อมูล” พฤติกรรมของตัวเองจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับการบริการบางอย่างที่ทำให้ Edward Snowden รู้สึกว่าโลกอินเตอร์เน็ตในอุดมคติของเขาได้สูญสิ้นลงแล้ว

ความเครียดและความกดดันจากทั้งการล่วงรู้ถึงความลับของการสอดแนมของรัฐบาลและการรับรู้ถึงการกักเก็บข้อมูลของบริษัทเอกชนในโลกอินเตอร์เน็ตได้ผลักดันให้ “โรคลมชัก” ของ Edward Snowden แสดงอาการขึ้นครั้งแรกและทำให้เขาตัดสินใจย้ายงานอีกครั้งไปประจำอยู่ที่ฮาวาย

 

The Tunnel

Edward Snowden ในวัย 29 ปีเดินทางมายังเกาะ Oahu รัฐฮาวายในฐานะพนักงานสัญญาจ้างของบริษัท Dell เพื่อทำงานให้กับ NSA ที่ Kunia Regional Security Operation Center ซึ่งตั้งอยู่ในอุโมงค์ขนาดใหญ่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใต้ไร่สับปะรด โดยในครั้งนี้ Edward Snowden ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานเพียงคนเดียวของ Office of Information Sharing ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการเอกสารต่างๆของ NSA [การย้ายงานครั้งนี้มีสาเหตุหลักๆคือเพื่อให้เขาได้มีโอกาสพักผ่อนมากขึ้นเพื่อลดอาการของลมชัก]

ผลงานชิ้นโบว์แดงของ Edward Snowden ในปี 2012 ก็คือการสร้างระบบอัพเดทข้อมูลข่าวสารภายในของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐที่สามารถรวบรวมข้อมูลใหม่ๆมาให้ผู้ใช้งานได้ทำการอัพเดทแบบเป็นรายวัน ซึ่งระบบนี้เองก็ทำให้ Edward Snowden ได้ค้นพบกับหลักฐานของการต่อยอดโครงการ mass surveillance ที่เขาค้นพบเมื่อ 4 ปีก่อน ทั้งโครงการ PRISM ที่เป็นระบบรวบรวมข้อมูลกิจกรรมทั้งหมดของผู้ใช้งานของบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Microsoft, Yahoo, Apple และอีกมากมายซึ่งผูกติดกับเซิฟเวอร์ของบริษัทเหล่านั้นโดยตรงและโครงการ Upstream collection โดยโปรแกรม TURBULENCE ที่เขาเรียกว่าเป็น “อาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของ NSA” ซึ่งประกอบด้วยระบบโครงข่ายเซิฟเวอร์ที่ติดตั้งอยู่ตามบริษัทผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ตทั่วโลกที่ทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลทั้งหมดที่ไหลผ่านในโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อตรวจจับหาบุคลลต้องสงสัยด้วยการอ่านข้อมูลต่างๆนาๆและส่ง malware ซ่อนตัวไปหาคนกลุ่มนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ NSA สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของผู้ต้องสงสัยดังกล่าว [กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไปเพียงแค่ไม่ถึง 1 วินาทีเท่านั้น]

 

Whistleblowing

ในที่สุด Edward Snowden ก็ตัดสินใจที่จะ “เปิดโปง” กระบวนการสอดแนมประชากรโลกโดยไม่ได้รับอนุญาตของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่องทางที่เขาเลือกที่จะใช้ในการส่งข้อมูลลับที่เขามีไปสู่สาธารณะนั้นก็คือ “นักข่าว” ที่มีความน่าเชื่อถือและเคยมีประวัติในการเปิดโปงข้อมูลลับของรัฐบาลมาก่อนแล้วอย่างนักทำสารคดี Laura Poitras [ผู้กำกับสารคดี Citizenfour ที่เล่าเรื่องราวการเปิดโปงของ Edward Snowden จนได้รับรางวัล Oscars] และนักข่าว Glenn Greenwald แห่งหนังสือพิมพ์ The Guardian โดย Edward Snowden เลือกที่จะใช้วิธีการนำตัวเองเข้าไปเป็น “พาร์ทเนอร์” กับนักข่าวที่เขาเลือกเพื่ออธิบายถึงความลับทางเทคนิคอันแสนซับซ้อนนี้ให้เข้าใจได้ง่ายและเพื่อการันตีให้การเปิดโปงของเขาสามารถสร้างแรงกระเพื่อมระดับโลกได้ [เคยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CIA หลุดพูดถึงโครงการ mass surveillance นี้แล้วแต่ไม่มีใครสนใจ]

ด้านการลักลอบนำเอาเอกสารลับออกมาจากระบบของ NSA นั้น Edward Snowden สามารถใช้ความรู้และสิทธิ์ของการเป็นพนักงานดูแลระบบของเขาในการเคลื่อนย้ายเอกสารลับต่างๆผ่านโปรแกรมระบบอัพเดทข้อมูลข่าวสารภายในที่เขาสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้และนำการดาวน์โหลดไฟล์เอกสารเหล่านั้นเก็บใน SD Card ซึ่งเขาสามารถซ่อนไว้ในรูบิค ถุงเท้า กระเป๋าหรือแม้กระทั่งกระพุ้งแก้มของตัวเองเพื่อลักลอบนำออกจากที่ทำการของ NSA เพื่อทำการเข้ารหัส (encrypt) และส่งต่อให้กับนักข่าวที่เขาติดต่อได้สำเร็จ

อาชีพสุดท้ายของ Edward Snowden ก่อนที่เขาจะปรากฎตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกก็คือ “infrastructure analyst” ขององค์กร National Threat Operations Center ที่เมือง Honolulu รัฐฮาวาย ที่ซึ่งทำให้เขาต่อจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของการเปิดโปงครั้งใหญ่ได้สำเร็จผ่านการทำหน้าที่เป็น “ผู้ใช้งาน” ของระบบสอดแนมประชากรโลกผ่านโปรแกรม XKEYSCORE ที่เปรียบเสมือน Google ที่เชื่อมโยงกับ PRISM และ TURBULENCE เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิเคราห์สามารถค้นหาข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ อีเมล์ ข้อความแชท การโพสต์ใน social media และการเข้าชมเว็ปไซต์ต่างๆในโลกออนไลน์ของ “บุคคลต้องสงสัย” ที่ถูกป้ายหัวโดยรัฐบาลสหรัฐได้อย่างสมบูรณ์ราวกับในภาพยนตร์ sci-fi โลกอนาคต ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายของสหรัฐจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการนำข้อมูลความลับส่วนตัวของประชาชนมาใช้ประโยชน์ถือเป็นความผิดขั้นรุนแรง แต่ Edward Snowden ก็เห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเขานั้นต่างก็ใช้ระบบ XKEYSCORE ในทางที่ผิดๆมากมาย เช่น การค้นหาข้อมูลส่วนตัวของคนรักและการแข่งกันอวดรูปโป๊ที่แต่ละคนค้นเจอ [แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐคงไม่กล้าฟ้องร้องคนเหล่านี้ในชั้นศาลอยู่แล้วเพื่อป้องกันไม่ให้การมีอยู่ของระบบ mass surveillance นี้ยังคงอยู่ต่อไป]

 

Hong Kong

สถานที่ที่ Edward Snowden เลือกที่จะใช้เปิดโปงความลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นก็คือ “ฮ่องกง” ที่ซึ่งเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งโลกเสรีของตะวันตกและตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของจีนที่สหรัฐอเมริกาจำต้องเกรงใจในการส่งคำสั่งขอส่งตัวนักโทษทางการเมืองข้ามพรมแดน

การพบกันระหว่าง Edward Snowden กับสองนักข่าว Laura Poitras และ Glenn Greenwald แบบตัวเป็นๆเกิดขึ้นภายในห้องพักของโรงแรม The Mira Hong Kong ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2013 [หลังจากที่ Edward Snowden ต้องรออย่างกระสับกระส่ายอยู่ภายในห้องพักเพียงลำพังเป็นเวลานับสิบวัน] และภายใน 3 วันถัดมา ข่าวคราวการเปิดโปงระบบ mass surveillance ก็ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกผ่านนิตยสาร The Gurdian พร้อมๆกับการปรากฎตัวของ Edward Snowden ต่อหน้าสาธารณะชนครั้งแรก [Edward Snowden เลือกที่จะเปิดเผยตัวตนของตัวเองก่อนที่ NSA จะสามารถตรวจพบว่าเขาคือผู้ปล่อยข่าวและเริ่มหาทางลดความน่าเชื่อถือของเขา]

Edward Snowden ถูกแจ้งข้อหาก่อจารกรรมระดับชาติในวันที่ 14 มิถุนายน ในอีก 7 วันต่อมา ในวันเกิดปีที่ 30 ของเขา รัฐบาลสหรัฐได้ส่งหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศจีนซึ่งประเทศจีนก็พร้อมที่จะสนับสนุน

 

Edward Snowden บนปก The Guardian (ขอบคุณภาพจาก The Guardian)

 

Moscow

ภารกิจหลบหนีออกนอกฮ่องกงของ Edward Snowden ได้รับความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจาก Sarah Harrison บรรณาธิการของ WikiLeaks [องค์กรเปิดโปงความลับของรัฐบาลทั่วโลก] ในการประสานงานกับสถานทูตนานาประเทศจนในที่สุดประเทศเอกวาดอร์ก็พร้อมรับตัว Edward Snowden เข้าลี้ภัย

แต่แล้วเหตุการณ์ที่พวกเขาไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศยกเลิก passport ของ Edward Snowden ระหว่างที่เขาอยู่บนเครื่องบินที่กำลังบินไปเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศรัสเซียจนทำให้เขาต้องติดอยู่ในสนามบิน Sheremetyevo ของกรุง Moscow เป็นเวลานานกว่า 40 วันก่อนที่รัฐบาลรัสเซียจะยอมให้สิทธิ์การลี้ภัยชั่วคราวกับเขา [ในระหว่างการติดอยู่ในสนามบินนั้น เจ้าหน้าที่รัฐของรัสเซียมากมายได้เดินทางมาพูดคุยให้ Edward Snowden ยอมทำงานด้วยแต่เขาก็ปฏิเสธไปทุกคน]

 

ชาวฮ่องกงรวมตัวกันปกป้อง Edward Snowden (ขอบคุณภาพจาก Slate.com)

 

Love and Exile

อีกหนึ่งตัวละครที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในมหากาพย์การเปิดโปงข้อมูลลับของ Edward Snowden ก็คือ Lindsay Mills แฟนสาวที่คบหาดูใจกันมานานกว่า 8 ปีตั้งแต่สมัยที่เขาเริ่มทำงานในฐานะพนักงานสัญญาจ้างใหม่ๆ ซึ่งถึงแม้ว่า Edward Snowden เลือกที่จะปกปิดความลับทั้งหมดที่เขาค้นพบไว้กับตัวเองเพียงคนเดียวจนถึงวันที่เขาปรากฎตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกที่ฮ่องกงจนทำให้ Lindsay Mills ต้องโดนสอบสวนจาก FBI ทั้งๆที่ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยก็ตาม [ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดของ Edward Snowden ในการปกป้องไม่ให้แฟนสาวต้องมารับโทษแทนเขา] แต่สุดท้าย Lindsay Mills คนนี้เองที่เป็นดั่งแสงที่ทำให้ Edward Snowden สามารถดำรงชีพในฐานผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศรัสเซียได้ต่อไปและสุดท้ายทั้งสองคนก็ได้แต่งงานกันในปี 2017

การเปิดโปงของ Edward Snowden ในปี 2013 ได้สร้างแรงกระเพื่อมเกี่ยวกับ “ความเป็นส่วนตัวในโลกดิจิตอล” ของประชากรในทั่วทุกมุมโลก รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยต่างออกกฎหมายใหม่ๆเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเองและปกป้องไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นหลุดไปสู่มือของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งกรณีศึกษาที่ดีที่สุดก็คือ General Data Protection Regulation ซึ่งเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลที่ทวงคืนสิทธิพื้นฐานของประชาชนกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอีกครั้ง นอกจากนั้น แรงกระเพื่อมยังผลักดันให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวเพื่อให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมเว็ปไซต์แบบเข้ารหัส (HTTPS) และการอัพเกรดระบบความปลอดภัยแบบเข้ารหัสของอุปกรณ์ต่างๆของบริษัทชั้นนำอย่าง Apple และ Google

แต่ถึงกระนั้น ปัญหาด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในโลกดิจิตอลยุคปัจจุบันนั้นยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลพฤติกรรมในอดีตที่ถูกกักเก็บจากบริษัทเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในการ “ยัดเยียด” ให้เกิดพฤติกรรมตามความต้องการขององค์กรหรือบุคคลเพียงบางกลุ่ม ตั้งแต่ การแนะนำกึ่งกดดันให้เลือกซื้อสินค้าที่เหมาะสมกับคุณและการยัดเยียดข้อมูลทางการเมืองเพียงข้างเดียวโดยไม่สนใจต่อความขัดแย้งทางสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมา [เร็วๆนี้ก็มีเรื่องของ Cambridge Analytica ที่นำเอาข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook มาส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและการลงคะแนนเสียง BREXIT ได้]

การต่อสู้ของ Edward Snowden ในฐานะของประธาน Freedom of the Press Foundation ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องนักข่าวจากการเปิดโปงความลับอันฉ้อฉลของรัฐบาลทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป

 

Laura Poitras, Glenn Greenwald และ Lindsay Mills ขึ้นรับรางวัลออสการ์จากสารคดี Citizen Four (ขอบคุณภาพจาก People.com)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*