Post Corona : From Crisis to Opportunity (2020)
by Scott Galloway
“Nothing can happen for decades, and then the decades can happen in weeks.”
Apple ใช้เวลา 42 ปีในการสร้างมูลค่าของบริษัท 1 ล้านล้านดอลลาร์แรกและใช้เวลาอีกเพียงแค่ 20 สัปดาห์ในการเพิ่มมูลค่าของบริษัทอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ ราคาหุ้นของ Tesla ก็ได้เติบโตแบบติดจรวดจนมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่ารวมของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดเดิมอย่าง Toyota, Volkswagen, Daimler และ Honda รวมกัน ทั้งๆที่ Tesla ขายรถยนต์ตลอดทั้งปีได้เพียงแค่ไม่ถึง 2% ของจำนวนรถยนต์ที่ทั้ง 4 บริษัทนี้ขายได้
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ครอบครัวชาวอเมริกันกว่าครึ่งกลับมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องตกงานหรือโดนลดเงินเดือน ตำแหน่งงานกว่า 40 ล้านตำแหน่งต้องสูญหายไปภายใน 10 สัปดาห์ ทั้งๆที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานกว่า 10 ปีเพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ได้เพียงแค่ 20 ล้านตำแหน่ง
ท่ามกลางความวุ่นวายของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความปั่นป่วนจากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว มนุษยชาติในปี 2020 กลับต้องเผชิญวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายร้อยปีอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วไปทั่วทั้งโลกภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และแนวทางในการตอบโต้ด้วยการ lock down ของรัฐบาลในหลากหลายประเทศได้กลายมาเป็น “คันเร่งความเร็ว” ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้คนทั่วโลกในระดับที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Zoom (online video conference), Peloton (home fitness) และ Amazon (e-commerce) ต้องเผชิญหน้ากับความต้องการของลูกค้าที่มากล้นเกินจินตนาการ ในขณะที่ บริษัทในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมและสายการบินกลับต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายถึงชีวิต พร้อมกับการลุกฮือขึ้นของความขัดแย้งที่แพร่กระจายมากขึ้นระหว่างผู้คนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
แต่วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ก็ยังเต็มไปด้วย “โอกาส” อีกมากมาย
Post Corona คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Scott Galloway ศาสตราจารย์ด้านการตลาดชื่อดังแห่ง NYU’s Stern School of Business ที่พยายามทำความเข้าใจกับโลกในยุคแห่งความวุ่นวายจากวิกฤติครั้งนี้และฉายภาพของโลกธุรกิจในอนาคตแห่ง “ความปกติใหม่” ที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายสำหรับผู้ที่มองเห็นและมีกำลังมากพอในการไขว่คว้า พร้อมๆกับการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่กำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆในโลกดิจิตอลที่ถูกเหยียบคันเร่ง
ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือสุดมันส์เล่มนี้ได้เลยครับ
ผู้เขียน Scott Galloway (ขอบคุณภาพจาก Ted.com)
Chapter 1 : COVID & THE CULLING
วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ทำให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กับกลุ่มบริษัทแบบดั้งเดิม สังเกตได้อย่างง่ายดายจากการพุ่งขึ้นของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook, Amazon และ Tesla ที่ขึ้นมาทำราคา all-time-high ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ท่ามกลางวิกฤติของธุรกิจในกลุ่ม BEACH (booking, entertainment, airlines, cruises and casinos, hotels) ที่ล้มตายลงเป็นจำนวนมากและประชากรโลกที่ต้องล้มป่วยและเสียชีวิตจากไวรัสเป็นจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เขียน Scott Galloway ได้ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่ผลักดันราคาหุ้นของธุรกิจเทคโนโลยีให้พุ่งพรวดอย่างรวดเร็วนี้เป็นเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นถึง “ความปกติใหม่” ที่ธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านั้นจะขึ้นมาเป็นผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จในแต่ละอุตสาหกรรมที่พวกเขาเลือกอยู่ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน ทั้งจากปัจจัยด้านนวัตกรรมที่ได้รับการพิสูจน์ถึงศักยภาพแล้ว ฐานกำลังเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เฉียดตายจากการเอาชีวิตรอดในวิกฤติ และความพร้อมในการระดมทุนจากหุ้นที่นักลงทุนให้มูลค่าสูงลิ่วเพื่อวิจัยพัฒนาหรือซื้อคู่แข่งรายย่อยได้อย่างง่ายดาย… ผู้ชนะในปัจจุบันได้รับการคาดหวังให้เป็นผู้ชนะในอนาคตเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว
ความอยู่รอดของบริษัทที่ไม่ได้รับผลประโยชน์เหมือนกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สุดของการทำธุรกิจนั่นก็คือ “เงินสด” ซึ่งบริษัทที่ดำเนินกิจการแบบอนุรักษ์นิยมและมีเงินสดเก็บไว้ในปริมาณมากจะมีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทที่มีเงินสดน้อยและมีภาระหนี้สินจำนวนมาก โดยผู้เขียนได้แนะนำแนวทางจัดการกับวิกฤติ (crisis management) สำคัญ 2 ประการที่องค์กรควรนำไปปฏิบัติในทันที ดังต่อไปนี้
มองไปในอนาคตข้างหน้า ผู้เขียนยังเล็งเห็นแนวโน้มการแยกออกของแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบดิจิตอลเป็นสองฝั่งระหว่างกลุ่มธุรกิจแบบ “ให้บริการฟรี” ที่ใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นช่องทางการหารายได้หลักของบริษัท เช่น Facebook และ Google กับกลุ่มธุรกิจแบบ “พรีเมียม” ที่คิดค่าบริการกับผู้ใช้งานโดยตรงและมีนโยบายไม่นำเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปสร้างรายได้ เช่น LinkedIn และ Netflix… ซึ่งโลกในอนาคตนั้นยังมีโอกาสสร้างธุรกิจแบบพรีเมียมที่รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้อีกมาก อาทิ ระบบ search ที่ไม่จดจำข้อมูลการค้นหาในอดีตของผู้ใช้งานและไม่มีการขายโฆษณา [ผู้เขียนยังเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการผลักดันให้ Twitter ทดลองการทำ subscription model ที่เปลี่ยนแนวทางการหารายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลักมาเป็นการคิดค่าบริการรายเดือนของผู้ใช้งานที่มียอด follower เยอะกว่า 2,000 คนขึ้นไปแทนโดยยกเลิกหรือลดจำนวนโฆษณาลง]
ราคาหุ้น Tesla ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่พุ่งขึ้นกว่า 8 เท่า !! (ขอบคุณภาพจาก Google)
Chapter 2 : THE FOUR
ท่ามกลางความโกลาหลของวิกฤติ COVID-19 และการพุ่งพรวดของราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงค์จากความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในอนาคตของนักลงทุนและปริมาณเงินสดที่ล้นตลาดจากนโยบายอัดฉีดเงินของธนาคารกลางทั่วโลก กลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ผู้เขียน Scott Galloway ตั้งชื่อว่าเป็นกลุ่ม The Four [มาจาก The Four Horsemen of the Apocalypse ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล] ที่ประกอบไปด้วย Amazon, Apple, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และ Facebook ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีแห่งเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นก็สามารถยืนหยัดในฐานอำนาจของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งและมีการเติบโตของราคาหุ้นแบบก้าวกระโดด [ผลตอบแทนทั้งปี 2020 ของหุ้นบริษัททั้งสี่เป็นดังต่อไปนี้ Apple +82%, Amazon +76%, Facebook +33%, Alphabet +31% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นรวมกันเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ !!]
ผู้เขียนได้ให้เหตุผลถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 กระบวนการที่ทำให้ The Four ยังคงความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบ “กึ่งผูกขาด” ได้แม้ในยามวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นวงกว้าง ดังต่อไปนี้
ซึ่งกระบวนการทั้ง 3 นี้ก็ได้ทำให้กลุ่มบริษัท The Four กลายมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหลากหลายอุตสาหกรรมด้วยการทำให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นกลายมาเป็นเพียง “feature” ของระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (ecosystem) ของตัวเอง อาทิ
บริษัทในกลุ่ม The Four ที่ผู้เขียนการันตีถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้และน่าจะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าแตะหลัก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกก็คือ Amazon บริษัทเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง “ต้นทุน” ของตัวเองให้กลายมาเป็น “รายได้” ได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ การผันค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ data center ที่กำกับดูแลธุรกิจ e-commerce ของตัวเองมาเป็น Amazon Web Services ที่เปิดให้บริการ cloud แก่ธุรกิจทั่วโลก การเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการบริหารคลังและจัดส่งสินค้ามาเป็นธุรกิจ Amazon Fulfillment เพื่อให้บริการแก่ร้านค้าใน Amazon Marketplace และการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายการชำระเงินที่ต้องเสียให้กับผู้ให้บริการรายอื่นมาเป็นธุรกิจ Amazon Payments… นอกจากนั้น Amazon ยังถือเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤติ COVID-19 มากที่สุดจากนโยบาย lockdown ของรัฐบาลสหรัฐที่สั่งปิดร้านค้าคู่แข่งแบบ brick and mortar ทั้งหมดพร้อมๆกับการแจกเงินให้กับประชาชนที่มี Amazon เป็นทางเลือกหลักในการซื้อสินค้าจากบ้านที่พวกเขาต้องกักตัวอยู่
ในอนาคตอันใกล้ คงไม่แปลกที่เราจะได้เห็น Amazon ที่มียอดขายพุ่งกระฉูดและเงินทุนอันมหาศาลเริ่มบุกไปยังอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูงและ “มีโอกาสอีกมากในการถูก disrupt” ซึ่งสังเกตง่ายๆได้จากการลดลงของคุณค่าที่ผู้บริโภคได้รับเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง [อุตสาหกรรมที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดนไม่ได้มีนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง] ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมประกันที่บริษัทประกันแบบดั้งเดิมมีเป้าหมายในการรีดไถเงินจากลูกค้าให้ได้มากที่สุดโดยพยายามทำทุกวิถีทางให้ลูกค้ามาขอเงินเอาประกันคืนให้น้อยที่สุด [ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าในการซื้อสินค้าจากธุรกิจ e-commerce นั้นเปิดโอกาสให้ Amazon นำเสนอแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าข้อมูลที่บริษัทประกันแบบดั้งเดิมมีอย่างแน่นอน] และอุตสาหกรรม healthcare ที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ประสิทธิภาพของการรักษาโรคนั้นไม่ได้สูงขึ้นเท่ากับราคาที่คนไข้ต้องจ่าย [การ lockdown ได้เริ่มฝึกให้การตรวจรักษาโรคผ่านช่องทางออนไลน์แพร่หลายมากยิ่งขึ้น]
สรุปแบบสั้นๆ กลุ่มบริษัท The Four นั้นมีศักยภาพมากพอที่จะทนทานต่อวิกฤติไม่ว่าในรูปแบบไหนและวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กักตัวผู้คนให้อยู่ในบ้านพร้อมๆกับสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเองนั้น “ไม่ใช่วิกฤติ” ของบริษัทเหล่านี้ แต่กลับเป็น “คันเร่ง” ที่ช่วยเสริมให้บริษัททั้งสี่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าโลกได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น [ท่านใดสนใจเรื่องราวเพิ่มเติมของ The Four สามารถอ่านสรุปหนังสือ The Four : The Hidden DNA of Amazon, Apple, Facebook, and Google ของ Scott Galloway ต่อได้ที่นี่ครับ]
Amazon Pharmacy ธุรกิจใหม่ที่พึ่งเปิดตัวไปในช่วงปลายปี 2020 (ขอบคุณภาพจาก Amazon)
Chapter 3 : OTHER DISRUPTORS
ในยามที่เงินทุนไหลออกจากกลุ่มบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่กำลังอ่อนแอจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น “ผู้ชนะแห่งอนาคต” นั้นก่อให้เกิดกลุ่ม “ผู้ท้าชิง” รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเงินทุนราคาถูกและโอกาสที่จะยืนหยัดขึ้นมาอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กลุ่มบริษัท The Four ในการ disrupt อุตสาหกรรมที่พวกเขาเลือกที่จะท้าชน
โดยกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ต่างมีคุณสมบัติสำคัญที่ผู้เขียน Scott Galloway เรียกว่า “T algorithm” หรือ “กลไกในการสร้างธุรกิจล้านล้านดอลลาร์ (trillion)” อันประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญ 8 ประการ ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตไปถึงระดับล้านล้านดอลลาร์ในอนาคตข้างหน้านอกเหนือจาก The Four ตามความเห็นของ Scott Galloway มีดังต่อไปนี้
Lemonade บริษัทประกันแบบดิจิตอล (ขอบคุณภาพจาก Lemonade)
Chapter 4 : HIGHER EDUCATION
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ “โคตรเฉื่อย” และมีโอกาสสูงที่จะถูก “disrupt” มากที่สุดในยุคหลัง COVID-19 ก็คือ “อุดมศึกษา” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของราคาเมื่อเทียบกับการพัฒนาของนวัตกรรมอย่างไม่สมเหตุสมผลที่สุดในโลก มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นราคาค่าเล่าเรียนกว่า 16 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา [ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 3 เท่า] โดยที่องค์ประกอบการเรียนการสอนเกือบทั้งหมดนั้นยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เว้นเพียงแค่ เนื้อหาที่อัพเดทมากขึ้นและการใช้งานเครื่องมือดิจิตอลแบบพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์, Microsoft Office และ Zoom เท่านั้น
วิกฤติ COVID-19 ได้ทำให้หนึ่งในคุณค่าสูงสุดของระบบอุดมศึกษาอย่าง “ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย” กลายเป็นศูนย์และได้เปิดแผลขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยระดับกลางๆที่ไม่มีแรงดึงดูดที่มากเพียงพอให้กับนักเรียนที่ยอมจ่ายเงินแพงๆเพื่อเข้าเรียนแบบออนไลน์จากบ้านของตัวเอง ประกอบกับการเกิดขึ้นของช่องทางการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีมากขึ้น นโยบายการจ้างนักศึกษาต่างชาติจบใหม่ที่ยุ่งยากมากขึ้นและจำนวนนักเรียนที่ลดลงจากการที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard และ MIT ยอมรับนักเรียนที่อยู่ใน waiting list ในปริมาณที่มากขึ้นเนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมากยกเลิกหรือขอเลื่อนการเรียนออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ผู้เขียน Scott Galloway เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจำนวนมากจะต้องปิดตัวลงทั่วโลกภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ [ลองจินตนาการว่าถ้า Apple หรือ Amazon จับมือกับ Harvard และ MIT เพื่อเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ราคาถูกลง 50% และใช้เวลาเรียนสั้นลงโดยที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรในระดับเดียวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยจริง การศึกษาในอนาคตคงเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก มหาวิทยาลัยระดับกลางๆคงล้มละลายกันเป็นว่าเล่น]
อุตสาหกรรมอุดมศึกษาในโลกอนาคตนั้นยังมีโอกาสอีกมากในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อกระจายการศึกษาคุณภาพสูงไปสู่ผู้เรียนในจำนวนที่มากขึ้นผ่านช่องทางการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งคนหนุ่มสาวที่แต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำได้หรือคนวัยทำงานที่มีความจำเป็นในการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับบริษัทเทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องมือประกอบการสอนที่ตอบโจทย์การเรียนแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น [การเรียนผ่าน Zoom หรือ Microsoft Teams ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ผู้สอนไม่สามารถมองเห็นผู้เรียนได้ทั้งหมด, การออกความเห็นของนักเรียนยังทำได้ค่อนข้างยากและการสอบแบบออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้เกิดการโกงได้อยู่มาก] ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่าเราจะได้เห็นการเติบโตของเงินลงทุนและคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) อีกมหาศาลในอนาคต
วิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้กำลังสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาแบบออนไลน์ เฉกเช่นเดียวกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ SARS ที่ทำให้ธุรกิจ e-commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Virtual classroom ของ Harvard Business School (ขอบคุณภาพจาก Financial Times)
Chapter 5 : THE COMMONWEALTH
วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ “เปิดโปง” ความเปราะบางของระบบทุนนิยมในรูปแบบปัจจุบันและ “เร่งเครื่อง” ผลลัพท์อันแสนเลวร้ายที่ถูกทับถมเป็นเวลาหลายสิบปีอย่าง “ความเหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจและสังคม ประชากรระดับบนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือลงทุนในตลาดหุ้นต่างเห็นผลตอบแทนพุ่งพรวดในขณะที่ประชากรชั้นล่างกลับขาดแคลนรายได้และต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ที่มีแหล่งเงินทุนราคาถูกและสายป่านที่ยาวมากพอก็พร้อมที่จะยึดส่วนแบ่งทางการตลาดจากบริษัทขนาดเล็กที่กำลังล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก
“ระบบทุนนิยม” ที่อาศัย “ความเห็นแก่ตัว” ของมนุษย์ในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจผ่านการแข่งขันกันสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคจนทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากในระดับที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อนในอดีต นั้นเป็นดั่งดาบสองคมที่สามารถสร้างพิษร้ายต่อสังคมโลกได้อย่างมหาศาลหากไม่ได้รับการควบคุมให้ถูกวิธี ตั้งแต่ ความพยายามในการทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำที่สุดด้วยการปล่อยของเสียลงแม่น้ำและการใช้แรงงานเด็ก การผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ไปจนถึง การสร้างธุรกิจเทคโนโลยีที่ผูกขาดและทำลายล้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากบริษัท startup รุ่นใหม่ อันนำมาซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมดังต่อไปนี้
ผู้เขียน Scott Galloway มองว่าทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาเหล่านี้ก็คือ “การสร้างระบบการเมืองที่ดีที่สุด” ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนทุกควรออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงของตัวเองตามหลักการประชาธิปไตย [ส่วนหนึ่งที่นโยบายของสหรัฐอเมริกานั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาวนั้นก็เพราะว่ากลุ่มผู้สูงอายุออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเยอกว่าคนวัยหนุ่มสาวมากถึงเกือบสองเท่า !!] ในการเลือกตั้งตัวแทนนักการเมืองที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริงและตีตัวออกห่างจากระบบอุปถัมภ์ เพื่อสร้างนโยบายที่ยึดเอาประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันซึ่งตรงตามหลักการของทุนนิยมอย่างแท้จริง อาทิ การบังคับแยกบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ออกเป็นบริษัทย่อยๆเพื่อลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันระหว่างกันซึ่งก็มักนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นในระยะยาว
โลกหลัง COVID-19 อาจเป็นโลกที่แตกแยกและไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติขนาดใหญ่ มนุษยชาติรุ่นใหม่ที่รอดพ้นจากวิกฤติเหล่านั้นก็มักคว้า “โอกาส” ในการแก้ไขจุดบกพร่องที่ผ่านมาและสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆให้กับโลกได้อยู่เสมอ ชะตากรรมของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามการตัดสินใจของพวกเราทุกคน
การประท้วงในรัฐสภาสหรัฐของกลุ่มผู้สนับสนุนประธานธิบดี Donald Trump (ขอบคุณภาพจาก NBC)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]