[สรุปหนังสือ] Principles for Dealing with the Changing World Order : Why Nations Succeed and Fail (2021)
by Ray Dalio
“The times ahead will be radically different from those we’ve experienced in our lifetimes, though similar to many times in history.”
ท่ามกลางความโกลาหลที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันที่มนุษย์ที่เติบโตในรุ่นของพวกเรานั้นคงไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้จริง ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของสงครามระหว่างประเทศยูเครนและประเทศรัสเซีย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วทุกมุมโลก ความขัดแย้งทางการเมืองและค่านิยมที่เกิดขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศต่างๆอย่างรุนแรง ไปจนถึง การเสื่อมถอยลงของพี่ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่กำลังถูกท้าทายอำนาจโดยประเทศจีน… เหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายเหล่านี้อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่หากย้อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์กลับไปกว่า 500 ปี เหตุการณ์ลักษณะใกล้เคียงกันกับความโกลาหลที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่นั้นได้เคยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับมนุษยชาติมาแล้วหลายครั้ง… และมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นก็สามารถเรียนรู้จากเหตุและผลลัพธ์ของเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนในโลกอนาคตของพวกเราได้
Principles for Dealing with the Changing World Order คือ คัมภีร์เล่มล่าสุดของ Ray Dalio ผู้เป็นเจ้าของกองทุน hedge fund ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Bridgewater Associates และหนังสือระดับขึ้นหิ้งอย่าง Principles : Life & Work ที่ว่าด้วย “หลักการ” ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และระเบียบของโลกที่ Ray Dalio ได้กลั่นกลองขึ้นมาจากการศึกษาวิจัย “วัฏจักรขนาดใหญ่” หรือ “Big Cycle” ของเหตุการณ์ทางเศรษฐศาสตร์และการปกครองที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตที่ล้วนกินระยะเวลายาวนานนับช่วงอายุคนที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำความเข้าใจกับโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความสนใจต่อความเป็นไปของโลกมนุษย์และต้องการที่จะเรียนรู้จากบทเรียนที่ได้รับการกลั่นกลองโดยหนึ่งในบุคคลที่ฉลาดและมีอิทธิพลทางความคิดที่สุดในโลกอ่านสรุปหนังสือ Principles for Dealing with the Changing World Order เล่มนี้กันได้เลยครับ
Ray Dalio ผู้เขียนหนังสือ Principles และเจ้าของเฮดจ์ฟันด์ Bridgewater Associates (source: TED)
PART I : HOW THE WORLD WORKS
1 | The Big Cycle in a Tiny Nutshell
การ “วิวัฒนาการ” นั้นคือแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่และถาวรของจักรวาลและตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการเรียนรู้และการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หากลองซูมเข้าไปยังอัตราการเติบโตของผลิตภาพหรือ GDP ของมนุษย์ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศแล้ว การวิวัฒนาการนั้นแท้จริงแล้วเต็มไปด้วย “วัฏจักรขนาดใหญ่” ของมหาอำนาจต่างๆที่เริ่มต้นจากช่วงการเจริญเติบโต (the rise), ช่วงจุดสูงสุด (the top) และช่วงเสื่อมถอย (the decline) ซึ่งสามารถวัดค่าระดับความรุ่งโรจน์ของทั้งอำนาจและความมั่งคั่งของมหาอำนาจผ่าน “ตัวแปรสำคัญ” ทั้งหมด 8 ประการต่อไปนี้
อัตราความแข็งแรงของตัวแปรสำคัญ 8 ตัวตลอดช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดลงของมหาอำนาจ
โดยวัฏจักรขนาดใหญ่ของมหาอำนาจที่เคยเกิดขึ้นและดับลงมาแล้วหลายรอบตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นั้นต่างก็มีห่วงโซ่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นทอดๆที่มักเกี่ยวพันกับสามวัฏจักรขนาดใหญ่ ได้แก่ วัฏจักรหนี้ วัฏจักรความขัดแย้งภายในประเทศและวัฏจักรความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยวัฏจักรของอำนาจและความมั่งคั่งของมหาอำนาจนั้นสามารถสรุปเป็นลำดับเหตุการณ์แบบคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้
The Rise : จุดเริ่มต้นของช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของมหาอำนาจมักเริ่มต้นจากการมีผู้นำที่เข้มแข็งและระบบที่เอื้อต่อการขึ้นครองอำนาจที่ยอดเยี่ยม อาทิ ระบบการศึกษาที่ดี ความปรองดองของผู้คนในชาติและทัศนคติในการมุ่งมั่นในการทำงาน ซึ่งมักจะนำมาสู่การคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งก็ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งของตลาดการค้าโลกที่มักต้องมีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งคู่กันเพื่อปกป้องกลไกการค้าของประเทศ จนท้ายที่สุด มหาอำนาจที่มีการเติบโตทางรายได้และผลิตภาพอย่างรวดเร็วก็มักจะเริ่มกลายมาเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินการลงทุนที่ช่วยต่อยอดให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสกุลเงินของมหาอำนาจก็จะได้รับความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นจนกลายมาเป็นสกุลหลักของโลก
The Top : การเติบโตอย่างต่อเนื่องของมหาอำนาจมักสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้คนในประเทศอย่างมหาศาลจนทำให้ค่านิยมของผู้คนเปลี่ยนจากการทำงานหนักไปสู่การใช้ชีวิตอย่างหรูหราและรักความสบายมากยี่งขึ้น ประกอบกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและการที่ประเทศอื่นๆนั้นก็เริ่มนำเอานวัตกรรมของมหาอำนาจมาปรับใช้ได้ไม่แตกต่างกัน จนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของมหาอำนาจที่เคยมีมาก่อนได้เสื่อมถอยลง ขณะเดียวกัน ผู้คนที่เชื่อมั่นในการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็กล้าที่จะเสี่ยงกู้เงินจนเป็นหนี้ในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆและระบบทุนนิยมก็เริ่มสร้างช่องว่างระหว่างชนชั้นที่มากยิ่งขึ้น จนทำให้มหาอำนาจกลายมาเป็นระเบิดเวลาที่เต็มไปด้วยหนี้และความแตกแยกภายในประเทศที่รอวันปะทุ
The Decline : การเสื่อมถอยของมหาอำนาจมักเกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ได้แก่ การไม่สามารถชำระหนี้ของประเทศที่นำมาสู่การพิมพ์เงินและลดค่าเงินที่ทำลายความน่าเชื่อถือของการเป็นสกุลเงินสำรองลง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝ่ายขวาที่ต้องการปกป้องความมั่งคั่งของตัวเองกับฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นของผู้ท้าทายมหาอำนาจรายใหม่ที่เพรียบพร้อมไปด้วยศักยภาพที่มหาอำนาจเก่าต้องเลือกที่จะต่อสู้ด้วยงบประมาณอันมหาศาลหรือยอมถอยเพื่อให้มหาอำนาจรายใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยท้ายที่สุด เมื่อฝุ่นของการแย่งชิงการเป็นมหาอำนาจใหม่จบลง ระเบียบโลกเก่าก็จะถูกแทนที่ด้วยระเบียบโลกใหม่ที่มักนำพามาซึ่งวิวัฒนาการก้าวต่อไปของมนุษยชาติ
ตัวอย่างการเกิดขึ้นและสิ้นสุดลงของวัฏจักรและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
2 | The Determinants
Ray Dalio และกองทุน Bridgewater Associates ของเขาเลือกที่จะพยากรณ์แนวโน้มการเติบโตของประเทศขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การลงทุนผ่านการสร้างโมเดลที่เชื่อมโยงข้อมูลตัวแปรสำคัญจำนวนมหาศาลของประเทศต่างๆที่อิงความเชื่อมโยงของตัวแปรเหล่านั้นจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ซึ่ง Ray Dalio ก็ได้กลั่นกรองชุดตัวแปรเชิงจำนวนที่สำคัญ ทั้งหมด 18 ตัวแปรสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วย 8 ตัวแปรที่ใช้วัดค่าอำนาจและความมั่งคั่งของประเทศที่กล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้าและอีก 10 ตัวแปรสำคัญที่เหลือดังต่อไปนี้
โดยตัวแปรทั้ง 18 ตัวแปรนั้นต่างก็มีความสัมพันธ์และเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของกันและกัน สำหรับผู้ที่สนใจในสถานะล่าสุดของตัวแปรแต่ละตัวของประเทศขนาดใหญ่ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลล่าสุดได้ที่ https://www.economicprinciples.org/
นอกจากนั้น Ray Dalio ยังคอยติดตามตัวแปรเชิงคุณภาพที่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่ออัตราการเติบโตของอำนาจและความมั่งคั่งของประเทศอีกด้วย อาทิ
3 | The Big Cycle of Money, Credit, Debt, and Economic Activity
วัฏจักรขนาดใหญ่ในการสะสมอำนาจและความมั่งคั่งของอาณาจักรล้วนมี “เงิน” และ “หนี้” เป็นแรงผลักดันสำคัญตลอดช่วงระยะเวลาการเติบโตไปจนถึงการล่มสลายอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หนึ่งคน บริษัทหนึ่งบริษัท เมืองหนึ่งเมือง ประเทศหนึ่งประเทศหรืออาณาจักรหนึ่งอาณาจักรนั้นล้วนต่างต้องพึ่งพาอาศัยระบบการเงินที่มีรูปแบบเหมือนๆกันด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ การมีรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น การสะสมกำไรหากรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งกำไรเหล่านั้นก็ถูกนำไปเป็นส่วนของทุนที่เพิ่มพูนมูลค่าสินทรัพย์ให้สูงขึ้น เมื่อรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ส่วนของทุนก็ถูกลดลง การเริ่มสร้างหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายก็เกิดขึ้น หนี้เหล่านั้นก็ต้องมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายและหากไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ การขายสินทรัพย์หรือการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะเกิดขึ้น
ซึ่งวัฏจักรในการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินและการสร้างหนี้นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อวัฏจักรขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งมักแบ่งออกเป็น 6 ระยะแบบคร่าวๆ ได้ดังต่อไปนี้
Stage 1. It begins with a little or no debt and money being hard : ระยะแรกเริ่มของวัฏจักรการเงินและหนี้มักเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเงินครั้งก่อนที่มักจบลงด้วยการเลือกใช้ “hard money” หรือ “เงินที่มีมูลค่าในตัวเอง” เช่น ทอง เงิน หรือ สกุลเงินของประเทศที่มีความเชื่อมั่นสูง แทนการใช้เงินสกุลเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเงินรูปแบบใหม่นี้จะได้รับความน่าเชื่อถืออย่างเต็มที่เพราะเงินสามารถนำไปใช้แลกเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าจริงๆ
Stage 2. Then come claims on hard money : เงินในรูปแบบ hard money มักมีข้อเสียตรงความสะดวกสบายในการใช้งาน อาทิ การถือทองไปซื้อสินค้าต่างๆอยู่เสมอนั้นคงเป็นเรื่องที่ลำบาก ระบบการเงินจึงมักสร้าง “paper money” หรือ “ธนบัตรที่สามารถแลกเป็นสกุลเงิน hard money ได้” เพื่อช่วยให้การแลกเปลี่ยนทำได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นที่มาของเงินธนบัตรสกุลต่างๆทั่วโลกในยุคเริ่มต้นที่มักสามารถแลกเป็นทองหรือสินทรัพย์อื่นๆได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง
Stage 3. Then comes increased debt : เมื่อเงินในรูปแบบ paper money ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายและได้รับความเชื่อถือ ระบบธนาคารที่นำเอาเงินเหล่านั้นมารับฝากและปล่อยกู้ก็มักจะเกิดขึ้นตามมาเพื่อช่วยให้การกระจายทรัพยากรทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ คนที่ไม่ต้องการใช้เงินก็สามารถนำไปให้นักธุรกิจกู้ไปสร้างกำไรได้
Stage 4. Then debt crises, defaults and devaluations come : แต่แล้วปัญหาของการปล่อยกู้ก็มักเกิดขึ้นเมื่อปริมาณของหนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับที่ผู้ถือครองหนี้และ paper money นั้นไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์หรือ hard money ได้ โดยหากเกิดขึ้นกับธนาคารหนึ่งแห่ง โอกาสที่ธนาคารแห่งนั้นจะล้มละลายและทำให้หนี้สูญก็สูงขึ้นมากหากรัฐบาลไม่เข้ามาอุ้ม หากเกิดขึ้นกับประเทศ เหตุการณ์ถัดไปก็มักจะเป็นการลดมูลค่าของสกุลเงินลง เช่น การลดอัตราการแลกเปลี่ยน paper money กับ hard money ลง หรือ การที่รัฐบาลพิมพ์เงินมาช่วยจ่ายหนี้ซึ่งก็มักจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มักจะพยายามควบคุมไม่ให้สกุลเงินถูกด้อยค่ามากจนเกินไป อาทิ การควบคุมไม่ให้ประชาชนนำเงินออกจากประเทศหรือการกำหนดปริมาณการแลกเงินเป็นทองของประชากร
Stage 5. Then comes fiat money : เมื่อวิกฤติของหนี้เข้าขั้นรุนแรงมากขึ้นและมูลค่าสกุลเงินลดลงไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็มักจะเลือกใช้สกุลเงินแบบ “fiat money” หรือ “สกุลเงินที่ไม่ยึดโยงกับสินทรัพย์ hard money อีกต่อไป” เหมือนเช่นกรณีของประธานาธิบดี Richard Nixon ที่ประกาศยกเลิกการตรึงตราสกุลเงินดอลลาร์กับทองจนทำให้มูลค่าของดอลลาร์สหรัฐลดต่ำลงในปี 1971 เพื่อแก้ไขวิกฤติที่ปริมาณทองคำสำรองใกล้หมด เมื่อปัญหาหนี้เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลที่เลือกใช้สกุลเงินแบบ fiat money ก็มักเลือกใช้วิธีการพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ตลาดและซื้อพันธบัตรเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยของหนี้ลงและลดมูลค่าของหนี้จากการด้อยค่าลงของสกุลเงินที่เกิดขึ้นเมื่อปริมาณเงินเพิ่มสูงขึ้น [จริงๆแล้ว รัฐบาลมีวิธีการอื่นๆที่ทำได้อีก อาทิ การลดค่าใช้จ่ายและสวัสดิการของรัฐ การปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึง การขึ้นภาษีโดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่พร้อมจ่ายได้ แต่วิธีการเหล่านั้นมักได้รับแรงต้านจากประชากรและไม่ส่งผลดีต่อการเลือกตั้งครั้งถัดๆไป ตรงกันข้ามกับการพิมพ์เงินที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าถึงผลกระทบ]
Stage 6. Then the flight back into hard money : เมื่อการพิมพ์เงินเกิดขึ้นในปริมาณที่มากเกินไปจนปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถถูกนำไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้เงินเฟ้อขึ้นอย่างมหาศาล ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว ความเชื่อมั่นของสกุลเงิน fiat money ของประเทศเหล่านั้นก็จะลดต่ำลงจนนำไปสู่การเทขายเงินและหนี้ครั้งใหญ่ที่ทำให้ระบบการเงินแบบเดิมล่มสลายและสร้างบาดแผลให้กับทั้งประเทศเจ้าของสกุลเงินและประเทศเจ้าของหนี้ จนท้ายที่สุด รัฐบาลก็ต้องหวนกลับไปใช้ hard money เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งการล่มสลายของระบบการเงินนั้นก็มักส่งผลรุนแรงต่ออำนาจและความมั่งคั่งของประเทศ
4 | The Changing Value of Money
มนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นมีความเข้าใจผิดๆต่อธรรมชาติของวัฏจักรระบบการเงินของโลกว่าระบบที่พวกเราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันนั้นจะมั่นคงถาวร ไม่ว่าจะเป็นการใช้สกุลเงินชั้นนำอย่างดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร ไปจนถึง การที่มนุษย์ให้คุณค่าของความมั่งคั่งของตัวเองตามราคาของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าแท้จริงแล้ว ระบบเศรษฐกิจของโลกนั้นมีอยู่ด้วยกันสองระบบ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจจริง (real economy) ที่ว่าด้วยผลิตภาพและมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ กับ ระบบเศรษฐกิจการเงิน (financial economy) ที่ว่าด้วยมูลค่าที่แปรเปลี่ยนไปตามตัวเลขทางการเงิน ซึ่งในเวลาที่ค่าเงินแต่ละสกุลนั้นคงที่หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ระบบเศรษฐกิจทั้งสองก็จะขับเคลื่อนสอดคล้องไปในทางเดียวกัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว สกุลเงินทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ต่างก็ถูกลดค่าเงินกันมาแล้วทั้งนั้นและสกุลเงินกว่า 80% ที่มีมาตั้งแต่ปี 1700 นั้นได้หายสาบสูญไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดั่งเช่นที่กล่าวไปในบทก่อนหน้า วัฏจักรของการก่อหนี้ที่พอกพูนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆในแต่ละประเทศมักนำไปสู่การลดมูลค่าของสกุลเงินของประเทศเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องที่มักจบลงด้วยการศูนย์เสียความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง อาทิ เงินปอนด์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหราชอาณาจักรมีหนี้จำนวนมหาศาลจนต้องลดค่าเงินและทำให้ฐานะการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของสกุลเงินปอนด์ถูกแทนที่ด้วยดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึง การล่มสลายของสกุลเงินพร้อมๆกับมูลค่าหนี้ทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นระบบการเงินใหม่ อาทิ สกุลเงินมาร์คของเยอรมันที่เกิดเหตุการณ์เงินเฟ้ออย่างรุนแรงหลังจากที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพื่อจ่ายหนี้สงครามโลกครั้งที่ 1 จนท้ายที่สุดมูลค่าของเงินมาร์คก็ลดลงในระดับล้านล้านเท่าและรัฐบาลก็ได้ออกเงินเรนเทนมาร์คที่อิงมูลค่าตามที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
ดังนั้น มนุษย์ผู้ที่อยากรักษาความมั่งคั่งของตัวเองต้องมองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และตระหนักว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนของวัฏจักรขนาดใหญ่ของสกุลเงินและหาทางป้องกันความเสี่ยงจากการด้อยมูลค่าที่น่าจะมาถึงในท้ายที่สุดด้วยการสะสมสินทรัพย์จริงๆไม่ใช่แค่เงิน fiat money หรือการสะสม hard money อย่างทองคำหรือสกุลเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง
มูลค่าของสกุลเงินสำรองหลักของโลกเทียบกับทองคำที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการด้อยค่าของสกุลเงินอย่างต่อเนื่อง
5 | The Big Cycle of Internal Order and Disorder
วัฏจักรขนาดใหญ่ลำดับถัดมาที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่ออำนาจและความมั่งคั่งของประเทศและอาณาจักรก็คือ “วัฏจักรของระเบียบและความขัดแย้งภายใน” ซึ่งแต่ละประเทศล้วนมีระบบและระเบียบที่คอยกำกับให้ประชาชนมีพฤติกรรมในทิศทางที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับวัฏจักรของการเงินและหนี้ที่กินระยะเวลาหลายรุ่น วัฏจักรขนาดใหญ่ของระเบียบและความขัดแย้งภายในก็กินระยะเวลายาวนานจนบางครั้งมนุษย์ในยุคปัจจุบันอาจคิดว่าความขัดแย้งที่จบลงด้วยการล้มล้างระบบแบบปัจจุบันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่วัฏจักรเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์และสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ระยะแบบคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
Stage 1. When the new order begins and the new leadership consolidates power : เมื่อระบบเก่าของประเทศถูกโค่นล้มลงไปจากการปฏิวัติหรือสงครามภายในเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะด้วยการสูญเสียอย่างรุนแรงหรือการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ การวางระเบียบใหม่ของประเทศก็ได้เริ่มต้นขึ้นโดยผู้นำของฝ่ายที่ชนะและขึ้นมาครองอำนาจใหม่ได้สำเร็จ โดยในระยะนี้ ผู้นำกลุ่มใหม่นั้นก็มักดำเนินการกวาดล้างเหล่าผู้นำของฝ่ายตรงข้ามที่ยังคงหลงเหลืออยู่และรวบอำนาจจากพวกเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก ดังนั้น ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จในระยะนี้ก็คือผู้ที่มีความสามารถในการ “ควบรวมอำนาจ” และมีไหวพริบทางการเมืองที่เฉียบแหลม
Stage 2. When resource-allocation systems and government bureaucracies are built and refined : เมื่อระเบียบใหม่ถูกกำหนดอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น การวางโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและการกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพก็มักสร้างให้ประเทศกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้งและประชากรกลุ่มชนชั้นกลางและชั้นล่างก็เริ่มมีฐานะที่ดีขึ้น ผู้นำที่เหมาะสมกับระยะนี้ของวัฏจักรจึงต้องเป็นดั่ง “วิศวกร” ที่สามารถออกแบบระบบใหม่ที่สามารถสร้างผลิตภาพของประเทศที่สูงขึ้นได้และก็ยังต้องเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับ ลีกวนยูของประเทศสิงคโปร์และเติ้งเสี่ยวผิงของประเทศจีนที่ต่างพาประเทศเข้าสู่ยุคการเติบโตอันรุ่งโรจน์ได้อย่างยาวนาน
Stage 3. When there is peace and prosperity : เมื่อระเบียบใหม่สร้างผลิตภาพได้มากยิ่งขึ้น ประเทศก็ได้เข้าสู่ยุคที่มีทั้งความมั่งคั่งและสันติสุขอย่างเต็มรูปแบบที่ประชากรมีความมุ่งมั่นและได้รับโอกาสในการสร้างผลิตภาพที่ดีให้กับประเทศไปพร้อมๆกับการสร้างฐานะให้กับตัวเอง ผู้นำที่ดีในยุคนี้จึงต้องเป็นผู้นำที่สามารถสร้าง “แรงบันดาลใจ” และมี “วิสัยทัศน์” ที่ก้าวไกลในการนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์ยิ่งๆขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศอยู่ในระยะแห่งความรุ่งโรจน์นี้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
Stage 4. A period of excesses : เมื่อความมั่งคั่งของประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคฟองสบู่ที่ประชากรต่างเริ่มเป็นหนี้กันอย่างมหาศาลจากการใช้จ่ายที่มากเกินตัวซึ่งก็มักเกิดจากการมองโลกอนาคตในแง่ดีมากเกินความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ผลิตภาพของประเทศก็เริ่มลดลงจากการที่ประชาชนเริ่มหันมาใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยแทนการลงทุนเพื่อสร้างผลิตภาพใหม่ๆและจากค่านิยมที่เริ่มไม่ทำงานหนักเหมือนแต่เดิม นอกจากนั้น ช่องว่างของความมั่งคั่งระหว่างนายทุนและกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นล่างก็เริ่มกว้างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆจนเริ่มเกิดการแบ่งแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ ผู้นำที่จะนำพาให้ประเทศรอดพ้นไปจากวิกฤติในระยะนี้ได้ก็คือผู้นำที่มี “วินัย” ที่เข้าใจในระบบการเงินและสามารถกระจายทรัพยากรเพื่อสร้างผลิตภาพที่มากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าประเทศจะร่ำรวยขึ้นขนาดไหน ตรงกันข้าม ผู้นำที่ไร้วินัยก็สามารถเร่งให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เหมือนกรณีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ทุ่มเทเวลาไปกับการขยายพระราชวังแวร์ซายในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน
Stage 5. When there are bad financial conditions and intense conflict : เมื่อปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การเกิดขึ้นของผู้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างสุดโต่ง ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นหรือกลุ่มก้อนประชากร การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่คิดต่างด้วยสื่อที่บิดเบือนความจริงและการที่ประชาชนเริ่มไม่ประพฤติตัวตามกฎหมายที่พวกเขาไม่เชื่อถืออีกต่อไป มาประกอบเข้ากับสถานการณ์ทางการเงินของประเทศที่เริ่มเข้าตาจนจนไม่สามารถที่จะนำเงินมาแก้ปัญหาเหล่านั้นได้และเต็มไปด้วยวิกฤติทางเศรษฐกิจ ประเทศก็เริ่มเข้าสู่ยุคของความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่มีโอกาสนำไปสู่ความแตกแยกระดับสงครามภายในที่กลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มคนที่ครอบครองอำนาจในปัจจุบัน ผู้นำประเภทเดียวที่สามารถพาประเทศหลุดพ้นจากความรุนแรงของสงครามภายในได้นั้นก็คือผู้นำที่เชื่อมั่นใน “สันติภาพ” ที่พร้อมที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับประชากรทุกฝ่ายและหาแนวทางร่วมเพื่อสร้างระเบียบใหม่ของประเทศที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน… ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยจริงๆ
Stage 6. When there are civil wars : เมื่อความขัดแย้งเข้าสู่จุดแตกหัก สงครามภายในก็ถือกำเนิดขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่มักนำมาสู่ความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่และการอพยพของประชากรและทรัพยากรออกนอกประเทศ มากไปกว่านั้น สงครามภายในก็มักถูกแทรกแซงโดยประเทศอื่นๆที่ล้วนต้องการได้ผลลัพธ์และฝ่ายผู้ชนะที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศของตัวเอง ผู้นำในยุคแห่งความรุนแรงนี้จึงต้องเป็นดั่ง “นายพล” ที่มีความเด็ดเดี่ยวและสามารถรวมจิตใจของประชากรฝ่ายตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและการตัดสินใจเลือกทิศทางของประเทศของผู้ชนะในสงครามจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศในวัฏจักรครั้งถัดไป
6 | The Big Cycle of External Order and Disorder
วัฏจักรขนาดใหญ่ลำดับสุดท้ายที่ส่งผลต่อการเติบโตและล่มสลายของประเทศก็คือ “วัฏจักรของระเบียบโลกและความขัดแย้งระหว่างประเทศ” ที่มีกลไกของวัฏจักรที่ใกล้เคียงกับวัฏจักรของระเบียบภายในประเทศ แต่ก็มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่สุดก็คือการที่ “พลังอำนาจ” ของแต่ละประเทศนั้นมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมากเนื่องจากระบบการปกครองระหว่างประเทศนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนและมักอิงไปตามประเทศมหาอำนาจ ในขณะนี้ ความขัดแย้งภายในประเทศยังพอสามารถควบคุมได้ด้วยกฎหมายและค่านิยมที่ประชาชนส่วนใหญ่ยึดถือในสถานการณ์ปกติ
ซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือ “สงคราม” นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ ได้แก่
ในกรณีทั่วไป สงครามไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตามนั้นล้วนสร้างความเสียหายให้กับขั้วตรงข้ามอยู่เสมอและประเทศควรเลือกที่จะเจรจาเพื่อหาทางแลกเปลี่ยนสิ่งที่แต่ละชาติต้องการที่สุดอย่างสันติที่สุดและประเทศต่างๆก็ควรเลือกใช้พลังอำนาจของตัวเองในทางที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างพันธมิตรแทนการกดขี่ขมเหงที่ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดการสร้างศัตรูที่จะตามมา
ตัวอย่างของสงครามขนาดใหญ่ที่มักได้รับอิทธิพลจากวัฏจักรขนาดใหญ่ทั้ง 3 นั้นสามารถดูได้อย่างชัดเจนจากกรณีศึกษาของ “สงครามโลกครั้งที่ 2” ที่เริ่มต้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกจากทั้งความเสียหายและภาวะหนี้ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และช่วงเวลา The Great Depression ที่เริ่มต้นตั่งแต่ปี 1939 จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่เอนเอียงไปยังผู้นำฝ่ายหัวรุนแรงที่พวกเขาเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ อาทิ Adolf Hitler ที่รวบอำนาจในเยอรมนีได้อย่างรวดเร็วและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลจากการยกเลิกการจ่ายหนี้สงครามและการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศที่ช่วยสร้างผลิตภาพที่มากขึ้นจนเขากล้าที่จะสร้างกองทัพเพื่อบุกยึดทรัพยากรของประเทศเล็กกว่าในยุโรปได้อย่างมากมาย หรือ ประเทศญี่ปุ่นเองที่สูญเสียการส่งออกไปมากจากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าจนไม่สามารถที่จะนำเข้าทรัพยากรอย่างน้ำมันได้มากพอและต้องเลือกที่จะบุกยึดทรัพยการเหล่านั้นในประเทศแถบเอเชียแทน ในขณะเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสเองก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจและสงครามทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นจนอ่อนแอและถูกเยอรมนีท้าทายเป็นสงครามโลกได้ในที่สุด
ปิดท้าย วัฏจักรขนาดใหญ่ที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมดนั้นล้วนสามารถที่จะป้องกันความล่มสลายได้เพียงแต่ประเทศจะต้องมีผู้นำที่เหมาะสมที่สามารถรักษาผลิตภาพของประเทศให้มีรายรับมากกว่ารายจ่ายได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดหนี้ที่มากจนเกินไปและสร้างระบบการกระจายทรัพยากรที่มีความเท่าเทียมให้ได้มากที่สุดพร้อมๆกับการสร้างความสัมพันธ์แบบ win-win ระหว่างประเทศมหาอำนาจอื่นๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันรุนแรงที่จะตามมา
7 | Investing in Light of the Big Cycle
นักลงทุนในยุคปัจจุบันล้วนมองตลาดการลงทุนในกรอบที่สั้นจนสังเกตเห็นเพียงแต่ความรุ่งโรจน์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมาอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่หากลองมองย้อนกรอบการลงทุนกลับไปตั้งแต่ปี 1900 แล้ว ชาติมหาอำนาจหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี อิตาลี รัสเซีย จีนและญี่ปุ่น ล้วนต่างเผชิญหน้ากับการพังทลายของระบบการเงินและตลาดทุนจนเกือบจะเป็นศูนย์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และตอนจบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สกุลเงินมากมายและชีวิตทรัพย์สินของประชากรแทบจะสูญสิ้นไปเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น 50 ปี โลกมีแต่ความสงบสุขจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจนประชากรในยุคสมัยนั้นคงคาดไม่ถึงเหมือนกันว่าสงครามครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นได้
แนวทางการลงทุนของ Ray Dalio จึงเป็นแนวทางที่ยึดเอาวัฏจักรขนาดใหญ่มาเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงผ่านการประเมินว่าประเทศแต่ละประเทศนั้นกำลังอยู่ในระยะไหนในวัฏจักรขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยที่สำคัญที่สุด 4 ประการของการลงทุนในอนาคต อันได้แก่
โดยหากประเทศเริ่มเข้าสู่ระยะท้ายๆของวัฏจักรขนาดใหญ่แล้ว ความเสี่ยงที่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่ อาทิ เงินเฟ้ออย่างรุนแรง การล่มสลายของค่าเงิน หรือ แม้แต่สงครามที่ใหญ่ระดับโลก อาจสามารถเกิดขึ้นจริงได้เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในอดีตและการวางแผนการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่ระบบการเงินพังทลายก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น อาทิ การนำเงินบางส่วนไปลงทุนในทองที่พิสูจน์การกักเก็บมูลค่าได้ดีมาตลอดช่วงเวลาที่สกุลเงินหลักมีมูลค่าลดลง [รายละเอียดกลยุทธ์การเงินสามารถติดตามได้ในหนังสือเล่มถัดไปของ Ray Dalio]
PART II : HOW THE WORLD HAS WORKED OVER THE LAST 500 YEARS
8 | The Last 500 Years in a Tiny Nutshell
โลกในช่วงก่อนปี 1500 นั้นมีความแตกต่างไปจากโลกในยุคปัจจุบันอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อสื่อสารระหว่างดินแดนที่ไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นปัจจุบันที่การเดินทางจากปารีสไปยังโรมนั้นใช้ระยะเวลานานกว่าการเดินทางไปกลับจากโลกไปยังดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศ Apollo ในปัจจุบันซะอีก การยังไม่ถือกำเนิดขึ้นของประเทศที่เขตแดนต่างๆถูกปกครองโดยตระกูลหรือราชวงศ์ที่ต่างก็ทำสงครามเพื่อแย่งชิงอาณาเขตและทรัพยากรระหว่างกัน การที่ศาสนาและผู้นำทางศาสนามีความสำคัญต่อการเมืองและค่านิยมของผู้คนเหนือหลักการทางเหตุผลและวิทยาศาสตร์ ไปจนถึง การที่มนุษย์ให้ความสำคัญไปกับการใช้กำลังและความรุนแรงมากกว่าความเท่าเที่ยมและมนุษยธรรม
แต่ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติก็ได้มีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดท่ามกลางวัฏจักรขนาดใหญ่ของอาณาจักรที่ขึ้นลงมากมาย ตั้งแต่ ชาวดัทช์ที่ขึ้นมาแทนอาณาจักรสเปน ชาวอังกฤษที่ขึ้นมาเหนือชาวดัทช์ ชาวอเมริกันที่กลายมาเป็นพี่ใหญ่ของโลก ไปจนถึง ปัจจุบันที่ชาวจีนกำลังมีอำนาจทัดเที่ยมกับพี่ใหญ่ โดยเหตุการณ์สำคัญนั้นมีดังต่อไปนี้
อัตราส่วนความเข้มแข็งของประเทศที่แสดงให้เห็นวัฏจักรการขึ้นลงอย่างชัดเจนของแต่ละประเทศ
9 | The Big Cycle Rise and Decline of the Dutch Empire and the Guilder
อาณาจักรที่ครองอำนาจสูงที่สุดในยุโรปและใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงปี 1500 ก็คืออาณาจักรสเปนของตระกูล Habsburg ที่มีอาณานิคมอยู่ทั่วยุโรปทั้งอิตาลี เบลเยียม เยอรมนี ออสเตรียและเนเธอร์แลนด์ ที่สั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งจากการล่าอาณานิคม… แต่ก็เหมือนกับการล่มสลายของอาณาจักรขนาดใหญ่ตามวัฏจักร อาณาจักรสเปนก็เริ่มเสื่อมถอยลงจากการขยายขอบเขตการปกครองที่มากจนเกินไปอันนำมาสู่สงครามจากหลายทิศทางและความอ่อนแอของผู้นำ จนท้ายที่สุดอาณาจักรสเปนของตระกูล Habsburg ก็เริ่มหมดอำนาจลงให้หลังจากสงคราม 30 ปีและถูกแทนที่ด้วยชาวดัทช์ที่ยึดเอกราชของประเทศคืนได้สำเร็จ
ความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรของชาวดัทช์ (The Dutch Republic) เริ่มต้นมาตั้งแต่ในช่วงปลายของอาณาจักรสเปนด้วยการประกาศอิสรภาพในปี 1581 และการวางระบบการกระจายอำนาจและการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพจนนำมาสู่นวัตกรรมที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการก้าวกระโดดของผลิตภาพและอำนาจทางการค้าของชาวดัทช์ที่มีประชากรเพียงแค่ 1-2 ล้านคนเท่านั้น ได้แก่
แต่ในที่สุด การเติบโตและช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุขนานกว่า 2 ศตวรรษของชาวดัทช์ก็เริ่มถึงจุดเสื่อมถอยเมื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันของชาวดัทช์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ค่านิยมที่เริ่มรักความสบายมากยิ่งขึ้นและค่าแรงที่เริ่มสูงกว่าประเทศอื่นๆ ไปจนถึงการ การเริ่มก่อหนี้ที่มากเกินตัว จนทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวและทำให้รัฐบาลของชาวดัทช์เริ่มมีเงินไม่พอในการบริหารจัดการและการสร้างกองกำลังทหารในการปกป้องประเทศจากศัตรู… จนชาวดัทช์เริ่มถูกชาวอังกฤษที่ได้แรงสนับสนุนจากผลิตภาพที่ก้าวกระโดดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ท้าทายและพ่ายแพ้สงครามในศึกสงคราม Anglo-Dutch War ครั้งที่ 4 ไปในปี 1784 พร้อมๆกับการขาดทุนอย่างหนักของบริษัท The Dutch East India Company จากการจู่โจมกองเรือของอังกฤษ อันเป็นเหตุให้ธนาคาร Bank of Amsterdam ต้องพิมพ์เงินมาช่วยพยุงบริษัทที่สำคัญที่สุดของประเทศแห่งนี้และทำการประกาศลดค่าเงินลงอันก่อให้เกิดการแห่ถอนโลหะมีค่าออกจากธนาคาร (run on the bank) อย่างต่อเนื่องและทำให้ความน่าเชื่อถือของสกุลเงิน Guilder ลดลง… จนท้ายที่สุดก็ถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินปอนด์ของอาณาจักรอังกฤษแทนในท้ายที่สุดและอาณาจักรของชาวดัทช์ก็ถูกฝรั่งเศสยึดครองไปในปี 1795
10 | The Big Cycle Rise and Decline of the British Empire and the Pound
เรื่องราวของการขึ้นครองอำนาจความเป็นที่หนึ่งของโลกและการถดถอยลงของอาณาจักรอังกฤษนั้นก็ไม่แตกต่างจากเรื่องราวของอาณาจักรของชาวดัทช์ที่เริ่มต้นจากการเติบโตของผลิตภาพของชาวอังกฤษจากหลากหลายปัจจัย อาทิ
ความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าและกำลังทางการทหารที่แข็งแกร่งก็ได้ทำให้อังกฤษสามารถเอาชนะดัทช์ในสงครามและต่อมาก็สามารถเอาชนะคู่แข่งที่สำคัญที่สุดอย่างฝรั่งเศสของจักรพรรดิ Napolean Bonaparte ที่ครอบครองพื้นที่ในยุโรปได้จำนวนมาก จนทำให้อังกฤษสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำของชาติยุโรปในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ที่ the Congress of Vienna ในช่วงปี 1814-1815 ที่นำมาสู่การวางขอบเขตของประเทศในยุโรปเหมือนดั่งเช่นในปัจจุบันเพื่อคานอำนาจไม่ให้ชาติใดชาติหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไปอันนำมาสู่ช่วงเวลาแห่งความสงบสุขนานกว่า 100 ปี
จุดเริ่มต้นของความถดถอยของอาณาจักรอังกฤษเริ่มต้นในรูปแบบที่คุ้นเคยเมื่อคู่แข่งรายใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีเริ่มยกระดับการศึกษาและเทคโนโลยีขึ้นมาแซงหน้าอังกฤษในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในขณะที่อังกฤษเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งของการค้าโลกไปพร้อมๆกับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจากความไม่เท่าเทียมทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของหนี้ที่มากขึ้น ซึงต่อมา สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ปะทุขึ้นและนำมาสู่ความสูญเสียอย่างรุนแรงของทั้งฝ่ายผู้ชนะและฝ่ายผู้แพ้ที่วางราดฐานไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในยุค Great Depression และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาไม่นาน ซึ่งถึงแม้ว่าอังกฤษนั้นอยู่ในฝ่ายที่ชนะสงครามทั้ง 2 รอบ แต่ด้วยความสูญเสียทางทรัพยากรอย่างมหาศาลและภาวะหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นจากการนำเงินไปลงในสงครามก็ทำให้ค่าเงินปอนด์เริ่มสูญเสียความน่าเชื่อถือและถูกลดค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ พี่ใหญ่รายใหม่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็ได้กลายมาเป็นผู้กำหนดระเบียบโลกใหม่และสกุลเงินดอลลาร์ก็ค่อยๆกลายมาเป็นที่ยอมรับแทนที่สกุลเงินปอนด์ไปเรื่อยๆ
11 | The Big Cycle Rise and Decline of the United States and the Dollar
ประวัติศาสตร์ในการก้าวขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ของโลกของสหรัฐอเมริกานั้นมีสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลังการประกาศอิสรภาพจากอาณาจักรอังกฤษในปี 1776 ตามแบบฉบับเหมือนกับช่วงรุ่งโรจน์ของอาณาจักรดัทช์และอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ที่ทำให้ผลิตภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันพุ่งสูงขึ้น การวางระบบการปกครองที่เข้มแข็งที่คัดสรรผู้นำที่มีความสามารถมาพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบการเงินและตลาดทุนที่มหานคร New York ได้เริ่มกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการก้าวขึ้นครองอำนาจของสหรัฐอเมริกาก็คือสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในฝ่ายผู้ชนะสงครามและมีการสูญเสียที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆอย่างมาก จนทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดระเบียบโลกใหม่ด้วยระบบการเงิน Bretton Woods ในปี 1944 ที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์ที่ยังคงความน่าเชื่อถือที่สูงเป็นตัวกลางในการตรึงค่าเงินกับสกุลเงินอื่นๆที่สูญเสียเสถียรภาพไปจากค่าใช้จ่ายในสงครามและให้สกุลเงินดอลลาร์ตรึงกับทองคำอีกทอดหนึ่ง ควบคู่ไปกับการปล่อยแผนพัฒนาประเทศผู้แพ้สงคราม อาทิ Marshall Plan ที่สหรัฐพร้อมส่งเงินดอลลาร์เข้าไปช่วยฟื้นฟูประเทศอย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศต่างๆต้องหันมาใช้ดอลลาร์เป็นสกุลกลางในการแลกเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ก็เหมือนกับอาณาจักรอื่นๆที่การเฟื่องฟูได้นำมาสู่การใช้เงินที่เกินตัวจนเกิดเป็นหนี้สาธารณะที่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องลงทุนไปกับการทำสงครามเย็นกับคู่แข่งที่มีความทัดเทียมทางการทหารอย่างสหภาพโซเวียตทั้งในสงครามเวียดนามและการลงทุนแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ ก็ทำให้สหรัฐเริ่มต้องกู้เงินจากประเทศต่างๆที่ยังคงเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ที่ตรึงกับทองมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีการประเมินว่าสหรัฐอเมริกานั้นไม่มีทองคำที่มากพอในการเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่มีอยู่เป็นทองคำจนนำมาสู่การแห่ถอนทองคำของประเทศต่างๆ จนท้ายที่สุด ประธานธิบดี Richard Nixon ก็ได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินดอลลาร์กับทองในปี 1971 ซึ่งนำมาสู่การลดค่าเงินดอลลาร์ที่สร้างให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อนานกว่าหนึ่งทศวรรษที่จบลงด้วยการออกนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดของ Paul Volcker ประธานธนาคารกลางในช่วงปี 1979-1982 จนท้ายที่สุดเงินเฟ้อก็สงบลงและเงินสกุลดอลลาร์ที่ด้อยค่าลงก็ได้เปลี่ยนสภาพเป็น fiat money ที่ก็ยังคงได้รับการยอมรับเป็นสกุลเงินสำรองอยู่
การเสื่อมถอยของสหรัฐอเมริกาก็ยังดำเนินต่อไปในต้นศตวรรษที่ 21 จากการต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการเงินอีกถึง 3 ครั้งใหญ่ ได้แก่ วิกฤติฟองสบู่ dot com แตกในปี 2000, วิกฤติซับไพรม์ในปี 2008 และวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ในปี 2020 ที่ธนาคารกลางของสหรัฐเลือกใช้วิธีการลดดอกเบี้ยจนต่ำเตี้ยถึงจุด 0% พร้อมๆกับการพิมพ์เงินอย่างต่อเนื่องเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบที่ก็มักไหลไปสู่สินทรัพย์ทางการเงินที่ช่วยเสริมความมั่งคั่งให้กับกลุ่มคนรวยมากกว่ากลุ่มชนชั้นล่าง ประกอบกับการเริ่มเปิดประเทศของประเทศจีนตั้งแต่สมัยประธานธิบดีเติ้งเสี่ยวผิงที่นำมาสู่การย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงานจีนที่มีต้นทุนที่ต่ำซึ่งก็ได้ทำลายรายได้ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของประเทศอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้อย่างรุนแรงที่ก็ผลักดันให้เกิดขั้วทางการเมืองฝ่ายรุนแรงทั้งขวาจัดอย่าง Donald Trump และซ้ายจัดอย่าง Bernie Sanders ที่ผลักดันให้ความขัดแย้งภายในประเทศรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆและทำให้การออกกฎหมายในสภาเป็นไปได้ยากมากขึ้นจากความขัดแย้งที่แรงขึ้นเรื่อยๆระหว่างพรรค Republican และพรรค Democrat [Ray Dalio ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองมักต้องทำนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งทั้งๆที่ควรรัดเข็มขัดและแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การเติมหนี้]
12 | The Big Cycle Rise of China and the Renminbi
การทำความเข้าใจวัฏจักรขาขึ้นรอบล่าสุดของประเทศจีนนั้นต้องเริ่มจากการศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีนที่สืบย้อนไปได้นานกว่า 4,000 ปีอันเต็มไปด้วยวัฏจักรการขึ้นครองอำนาจและการล่มสลายของราชวงศ์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นสิบๆครั้ง อาทิ ราชวงศ์ถังที่ขึ้นครองอำนาจต่อจากราชวงศ์สุยในปี 618 หลังจากการทำสงครามภายในที่สามารถรวบรวมอำนาจของจีนทั้งแผ่นดินได้ผ่านกองทหารและได้วางรากฐานการศึกษาและระบบราชการที่มั่นคงจนประเทศจีนได้เข้าสู่ยุคแห่งความมั่งคั่งและสงบสุขนานกว่า 150 ปี แต่ท้ายที่สุด ระบบราชการส่วนกลางก็เริ่มอ่อนแอลงจากความฉ้อฉลภายใน การก่อกบฎหลายครั้ง การเงินที่อ่อนแอลงและภัยธรรมชาติที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตร ราชวงศ์ถังก็ถูกยึดอำนาจไปโดยจักรพรรดิไท่จู่ผู้สถาปณาราชวงศ์ซ่งขึ้นมาแทนในปี 960 ที่ต่อมาก็ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เข็มทิศและเงินกระดาษที่ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ซึ่งราชวงศ์ซ่งก็เป็นอาณาจักรแรกของโลกที่ทำการพิมพ์เงินเกินปริมาณโลหะมีค่าจนนำมาสู่การลดค่าเงินและปัญหาต่างๆอีกมากมาย จนท้ายที่สุด อาณาจักรของราชวงศ์ซ่งก็ถูกยึดครองโดยกุบไลข่านผู้ก่อตั้งราชวงศ์หยวนในปี 1279… ความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่าอาณาจักรนั้นมีทั้งช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์และช่วงเวลาถดถอยนั้นส่งผลให้ผู้นำของประเทศจีนในสมัยใหม่วางกลยุทธ์ของประเทศในระยะยาวมากกว่าชาติตะวันตก นอกจากนั้น ค่านิยมของชาวจีนยังแตกต่างจากชาติตะวันตกที่มักให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลจากการได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของขงจื๊อที่เชื่อมั่นในความสามัคคีและความกลมกลืนของประชาชนทั้งในระดับครอบครัวและในระดับประเทศที่ช่วยให้ชาวจีนแต่ละคนเห็นความสำคัญของการเคารพผู้นำและระเบียบทางสังคมที่มากกว่า [แต่แนวคิดของขงจื๊อก็ยังให้ความสำคัญกับนักปราชญ์และการศึกษามากกว่าการพาณิชย์อันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของจีนนั้นเติบโตช้ากว่าชาติยุโรปในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20]
วัฏจักรขาขึ้นครั้งใหม่ของประเทศจีนนั้นเกิดขึ้นให้หลังจากศตวรรษแห่งความน่าอับอาย (century of humuliation) ตั้งแต่ในช่วงปี 1839 ที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจากการไม่สามารถพัฒนาวิทยาการตามชาติอื่นๆได้และถูกมหาอำนาจต่างชาติแย่งชิงผลประโยชน์หลายครั้ง พร้อมๆกับความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงมากมาย อาทิ การพ่ายแพ้ต่ออาณาจักรอังกฤษในสงครามฝิ่นที่นำมาสู่การสูญเสียเกาะฮ่องกงและการถูกเอาเปรียบเชิงการค้าขายจากต่างประเทศ เหตุการณ์กบฏไท่ผิงที่นำมาสู่การเสียชีวิตของประชาชนกว่า 20-30 ล้านคน ความล้มเหลวของกบฏนักมวยในการต่อต้านชาวต่างชาติจนถูกปรับเป็นเงินอันมหาศาล ไปจนถึง การถูกยึดครองโดยอาณาจักรญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความอ่อนแอของประเทศจีนในช่วงดังกล่าวได้นำมาสู่ยุคแห่งสงครามภายในที่จบลงด้วยชัยชนะของ “เหมาเจ๋อตง” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดอาณาจักรจีนครั้งใหม่ที่กลายมาเป็นผู้ท้าชิงต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ในปัจจุบัน ซึ่งวัฏจักรขาขึ้นของจีนครั้งล่าสุดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ได้แก่
13 | US-China Relations and Wars
ย้ำอีกครั้งว่าประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่มีมหาอำนาจไหนสามารถรักษาอำนาจความเป็นหนึ่งได้ตลอดกาล ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐอเมริกานั้นกำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลงที่เต็มไปด้วยหนี้สินในขณะที่มหาอำนาจใหม่อย่างจีนก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นที่นับวันจะยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆหากผู้นำทั้งสองชาติไม่ได้มีการเจรจาและหาจุดร่วมระหว่างกันที่ชัดเจน ซึ่งความขัดแย้งในรูปแบบสงครามระหว่างอเมริกากับจีนนั้นเป็นดั่งศึกหมากรุกหลายกระดานที่มีสมรภูมิมากมาย ดังต่อไปนี้
PART III : THE FUTURE
14 | The Future
ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะสามารถพยากรณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ แต่แนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็คือการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคตและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นที่มีโอกาสในการเกิดสูง ซึ่ง Ray Dalio มีหลักการในการพยากรณ์อนาคต 3 หลักการสำคัญ ได้แก่
ซึ่งจากการประเมินตัวแปรสำคัญทั้งหมด 18 ตัวของ Ray Dalio ก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีอำนาจที่สุดจากทั้งความก้าวหน้าทางนวัตกรรม ระดับการศึกษาขั้นสูง ความแข็งแกร่งทางการทหารและความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการเงินที่ยังได้เปรียบจากการที่เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก แต่ความแข็งแกร่งของสหรัฐอเมริกานั้นก็อยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาหนี้สิน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและความขัดแย้งภายในประเทศที่เข้าขั้นสาหัส ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่มหาอำนาจเบอร์ 2 อย่างประเทศจีนที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากทั้งความได้เปรียบทางการค้าและการลงทุนอย่างมหาศาลจากทางภาครัฐที่นำมาสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมและระดับการศึกษา แต่จีนก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ในด้านของระบบกฎหมายที่ยังไม่น่าเชื่อถือ อัตราหนี้ที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและการที่จีนยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนนั้นมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเฉกเช่นเดียวกับยุคที่มหาอำนาจใหม่เริ่มแซงหน้ามหาอำนาจเก่า ระเบียบโลกและพันธมิตรระหว่างประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน แต่คงไม่มีใครฟันธงได้อย่างแน่นอนว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนและเมื่อไหร่ ดังนั้น ทุกคนจงเตรียมตัวให้พร้อม ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิดและวางแผนที่จะรับมือหรือหาผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้ดีที่สุด
ตารางเปรียบเทียบ determinant ทั้ง 18 ของประเทศมหาอำนาจ
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]