Non-fictions

[สรุปหนังสือ] Revenge of the Tipping Point : Overstories, Superspreaders, and the Rise of Social Engineering

 

 

Revenge of the Tipping Point : Overstories, Superspreaders, and the Rise of Social Engineering (2024)

by Malcolm Gladwell

 

“If the world can be moved by just the slightest push, then the person who knows where and when to push has real power.”

 

ไม่แตกต่างจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เริ่มต้นจากเพียงแค่การติดเชื้อในเมืองเมืองหนึ่งก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก ความคิดและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆนั้นก็มีศักยภาพในการก้าวข้าม “tipping point” หรือ “จุดพลิกผัน” จนสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็วหากไอเดียเหล่านั้นถูกวางไว้ในจุดที่เหมาะสมในเวลาที่ถูกต้อง

Revenge of the Tipping Point คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Malcolm Gladwell นักเขียนระดับ bestseller เจ้าของผลงานอย่าง David and Goliath และ Outliers ที่หวนกลับมาปัดฝุ่นหนังสือเล่มแรกของเขาที่ชื่อ Tipping Point ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อปี 2000 ซึ่งว่าด้วยกลไกเชิงวิศวกรรมสังคม (social engineering) ที่สามารถแพร่กระจายไอเดียเล็กๆให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างได้

โดย Revenge of the Tipping Point นั้นถือเป็นการอัพเกรดเนื้อหาของหนังสือเล่มแรกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในปัจจุบันและเปลี่ยนโฟกัสไปที่การทำความเข้าใจวิธีการของกลุ่มบุคคลที่สามารถก้าวข้ามผ่านจุดพลิกผันเพื่อแพร่กระจายไอเดียของพวกเขาได้ ขอเชิญทุกท่านที่สนใจอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

 

ผู้เขียน Malcolm Gladwell (source: TED Talks)

 


 

PART ONE : THREE PUZZLES

 

Chapter One | Casper and C-Dog

มหานคร Los Angeles ในช่วงหลังสงครามโลกจนถึงปลายยุค 90s นั้นต้องเผชิญหน้ากับคลื่นของเหล่า “โจรปล้นธนาคาร” ที่พอมีโจรกลุ่มหนึ่งสามารถคิดค้นวิธีการปล้นธนาคารได้สำเร็จก็จะมีโจรอีกหลายๆกลุ่มพยายามที่จะทำตามก่อนที่กระแสจะจบลงและถูกจุดขึ้นใหม่ด้วยโจรกลุ่มใหม่ที่มีไอเดียใหม่ๆต่อไปเป็นวัฏจักร โดยหนึ่งในต้นกำเนิดของคลื่นลูกใหญ่นั้นก็เกิดขึ้นในปี 1991 โดยฝีมือของสองโจร Casper และ C-Dog ที่เป็นชายร่างกำยำประจำแก๊งอันธพาลที่ใช้วิธีการบังคับให้เด็กนักเรียนที่เขาข่มขู่ถือปืนเข้าไปปล้นธนาคารแทนพวกเขาเองซึ่งถือเป็นโมเดลการปล้นธนาคารที่รวดเร็วและมีความเสี่ยงต่ำจนทำให้พวกเขาสามารถปล้นธนาคารได้ถึง 175 ครั้งภายใน 4 ปีก่อนที่จะถูกจับกุม ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดของโจรปล้นธนาคารตลอดกาลและสร้างกระแสของการปล้นธนาคารใน LA ให้กระพือขึ้นหลายเท่าตัวอย่างรวดเร็วจนมีการโจรกรรมธนาคารถึงกว่า 2,641 ครั้งในปี 1992 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดของ LA ก่อนที่จะค่อยๆซาลงไปอีกครั้งหลังจากที่พวกเขาและโจรหลายกลุ่มถูกจับได้ในที่สุด

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากๆจากตัวอย่างของการแพร่กระจายของการปล้นธนาคารใน LA นั้นก็คือคำถามที่ว่าทำไมกระแสของโจรปล้นธนาคารที่ลุกฮือขึ้นใน LA อย่างรวดเร็วนั้นไม่ถูกส่งต่อไปยังเมืองอื่นๆ ? และทำไมการแพร่กระจายของไอเดียนั้นมักถูกหยุดอยู่ในกรอบของสังคมใดสังคมหนึ่ง ?

 

Chapter Two | The Trouble with Miami

กลโกงที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายโดยกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งก็เกิดขึ้นอีกที่เมือง Miami รัฐ Florida ที่ถือเป็นเมืองหลวงของการฟอกเงินและยาเสพติดของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษตั้งแต่การอพยพของชาวคิวบากว่าแสนคนหลังการเปิดประเทศของคิวบา โดยหนึ่งในกลโกงที่แสบและดาดดื่นที่สุดก็คือการโกง Medicare ที่เป็นโครงการประกันสุขภาพของรัฐที่อาชญากรหัวใสจำนวนมากต่างแห่กันเปิดบริษัทตัวแทนการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลปลอมๆโดยได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลปลอมๆและแพทย์หรือพยาบาลที่ต้องการหารายได้เสริมซึ่งทำกันเป็นเรื่องปกติจนผู้ร่วมขบวนการแทบไม่รู้สึกผิดใดๆเมื่อถูกจับและทำให้ค่าใช้จ่ายด้าน Medicare ต่อประชากรสูงกว่าเมืองอื่นๆใน Florida ถึง 6 เท่า !!

คลื่นกระแสกลโกง Medicare ที่เกิดขึ้นเฉพาะใน Miami และคลื่นกระแสแก๊งโจรกรรมธนาคารที่ลุกฮือขึ้นเฉพาะใน LA นั้นเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ small-area variation ที่พฤติกรรมหรือไอเดียบางอย่างนั้นสามารถแพร่กระจายกลายมาเป็น “overstory” หรือ ”ค่านิยมที่ได้รับการยอมรับเป็นที่รู้กันโดยไม่จำเป็นต้องเล่า“ ของผู้คนในสังคมภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะได้ ซึ่ง overstory นี้เองคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการจุดกระแสให้ไอเดียหนึ่งพุ่งทะยานเป็นวงกว้างได้ราวกับการแพร่กระจายของไวรัส

 

Chapter Three | Poplar Grove

ค่านิยมที่ถูกยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากวิธีคิดไปในทิศทางเดียวกันของสมาชิกในสังคมจนฝังรากลึก ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเมืองนามสมมุติที่ชื่อ Poplar Grove ที่เป็นแหล่งรวมตัวของครอบครัววัยทำงานที่มีฐานะดีที่ต่างก็ต้องการส่งลูกๆของตัวเองไปยังโรงเรียนที่ดีที่สุดซึ่งสร้างวัฒนธรรมแบบ ”monoculture“ ที่สมาชิกทุกคนในสังคมต่างมีค่านิยมที่เหมือนๆกันทั้งการตั้งใจเรียน การต้องทำเกรดที่ดี การต้องเก่งกีฬาและการต้องเข้าสังคม ซึ่งแน่นอนว่าเด็กนักเรียนในเมือง Poplar Grove นั้นต่างก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคลากรชั้นยอดและทำให้โรงเรียนในเมือง Poplar Grove นั้นติดอันดับของโรงเรียนที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยิ่งส่งผลให้ผู้ปกครองที่มีแนวคิดคล้ายๆกันต่างย้ายเข้ามารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้นและสร้าง monoculture ที่กดดันเด็กนักเรียนทุกคนให้เก่งแบบรอบด้านอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ว่าแต่สังคมที่มีระดับของ monoculture ที่สูงนั้นมีข้อเสียอย่างไร ? คำตอบอาจเริ่มต้นจากการศึกษากรณีของการเสียชีวิตของเสือชีต้าในสวนสัตว์หลายแห่งในช่วงปี 80s ที่สวนสัตว์ต่างๆเริ่มพยายามที่จะเพาะพันธุ์เสือชีต้าด้วยการจับพวกมันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มซึ่งเป็นวิธีคิดเดียวกับการพเพาะพันธุ์สัตว์ชนิดอื่นที่ก็มีประสิทธิภาพที่ดีในทุกสปีชีส์ ยกเว้นเฉพาะกับเสือชีต้าที่เป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายของ DNA ที่ต่ำกว่าสัตว์สปีชีสอื่นมากๆโดยสันนิษฐานจากการที่ว่าบรรพบุรุษของเสือชีต้านั้นเกือบสูญพันธุ์ไปในช่วงยุคน้ำแข็งและทำให้เสือชีต้าที่เหลือรอดเพียงหยิบมือต้องผสมพันธุ์กันเองจนมี DNA ที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความใกล้เคียงกันของ DNA นี้เองก็ได้ทำให้เสือชีต้าที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มในสวนสัตว์สามารถติดเชื้อระหว่างกันได้ง่ายและตายไปพร้อมๆกันเกือบทั้งหมดเพราะเสือชีต้าแต่ละตัวนั้นต่างก็มี DNA ที่เกือบเหมือนกันจนไม่มีตัวไหนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างได้หากเผชิญกับเชื้อติดต่อร้ายแรง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่เกิดกับเสือชีต้าในป่าที่พวกมันอาศัยอยู่เพียงตัวลำพังในพื้นที่กว้างๆที่เปรียบดั่งว่าพวกมันได้ทำการ social distancing ระหว่างกันแล้ว

 

เสือชีต้าที่เป็นสัตว์ที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันทุกตัวแบบแยกไม่ออก (source: Nature’s Path)

 

ความง่ายในการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดต่อในเสือชีต้าที่ต่างก็มี DNA คล้ายๆกันนั้นแสดงให้เห็นถึงความง่ายในการแพร่กระจายของไอเดียในสังคมมนุษย์ที่มีความคิดคล้ายๆกันแบบ monoculture อย่างที่ Poplar Grove ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องของวัยรุ่นวัยเรียนที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2015 ที่วัยรุ่นฆ่าตัวตายรวมกันกว่า 19 คน โดยมีช่วงหนึ่งที่มีการฆ่าตัวตายถึง 8 ครั้งในช่วงเวลาแค่ 2 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไอเดียที่ว่านักเรียนอันแสนสมบูรณ์แบบนั้นก็สามารถฆ่าตัวตายได้นั้นได้รับการส่งต่อไปสู่นักเรียนอีกหลายคนที่ต่างก็เครียดจากการถูกกดดันด้วยค่านิยมแบบเดียวกัน โดยวิธีการแก้ไขปัญหานี้นั้นก็ไม่ได้มีแนวคิดอะไรที่ซับซ้อนมากไปกว่าการเพิ่มความหลากหลายของไอเดียในเมือง Poplar Grove ให้นักเรียนเห็นถึงความเป็นไปได้ที่หลากหลายโดยไม่ยึดติดกับค่านิยมใดค่านิยมหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะแก้ไขสังคมที่มีค่านิยมที่แข็งแกร่งฝังรากลึกได้

ปิดท้าย ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีการแก้ไขปัญหาของการขาดความหลากหลายด้วยกรณีการใกล้สูญพันธุ์ของเสือ Panther สายพันธุ์ Florida ที่ก็มีปัญหาด้าน DNA ที่ใกล้เคียงกันเหมือนกรณีของเสือชีต้าจนพวกมันไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในรัฐ Florida ปัจจุบันได้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาการเสี่ยงสูญพันธุ์นั้นก็ทำได้ด้วยการปล่อยเสือสายพันธุ์ที่แข็งแรงกว่าและสามารถปฏิสนธิกับ Panther สายพันธุ์ Florida ไปอยู่ร่วมกันจนเกิดเป็นพันธุ์ลูกผสมที่แข็งแรงกว่าและเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็ว

 


 

PART TWO : THE SOCIAL ENGINEERS

 

Chapter Four | The Magic Third

จุดพลิกผันที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของสังคมนั้นอยู่ที่ไหน ? การหาคำตอบของคำถามข้อนี้สามารถเริ่มต้นได้จากกระแส white flight ที่ชาวอเมริกันผิวขาวต่างแห่หนีออกจากเมืองบ้านเกิดของตัวเองหลังจากที่ชาวแอฟริกันอเมริกันเริ่มย้ายถิ่นฐานจากรัฐตอนใต้เข้าสู่เมืองต่างๆในช่วงปี 1950s ซึ่งเมื่อศึกษาดูพฤติกรรมโดยละเอียดนั้นจะค้นพบว่าชาวอเมริกันผิวขาวมักเชื่อว่าเมื่อชาวผิวสีย้ายมาอยู่ในเมืองจนมีสัดส่วนของจำนวนประชากรมากถึงจุดหนึ่ง ทั้งเมืองจะเริ่มกลายสภาพเป็นเมืองของชาวผิวสีและทำให้พวกเขาต้องรีบย้ายออกหลังจากที่สัดส่วนของชาวแอฟริกันอเมริกันนั้นทะลุเกิน “จุดพลิกผัน (tipping point)” ที่งานวิจัยหลายแห่งค้นพบว่าสัดส่วนของประชากรที่จะนำไปสู่การพลิกผันในเรื่องต่างๆของสังคมนั้นอยู่ที่ประมาณ 25% ถึง 33% ซึ่งผู้เขียนขอเรียกสัดส่วน 33% ที่เป็นกรอบด้านบนสุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วว่า ”magic third”

ในกลุ่มก้อนสังคมที่ผู้ที่มีความแตกต่างมีสัดส่วนน้อยกว่า 33% นั้นมักทำให้พวกเขามักถูกมองเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของคนกลุ่มน้อย (minority) ที่เป็นตัวแทนของ stereotype อย่างลำเอียงและไม่ถูกให้คุณค่าในฐานะปัจเจกบุคคลเหมือนกับคนกลุ่มมาก อาทิ บริษัทที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชายหรือโรงเรียนที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวนั้นต่างก็ทำให้พนักงานผู้หญิงและนักเรียนผิวสีไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองและทำงานหรือเรียนได้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่ง บุคคลกลุ่มน้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอย่าง Indra Nooyi หญิงผู้อพยพชาวอินเดียที่ก้าวขึ้นมาเป็น CEO ของ PepsiCo ได้นั้นก็ยังถูกมองว่าเธอช่างพิเศษแตกต่างจากหญิงชาวอินเดียทั่วไปและถูกฟีเจอร์ในฐานะผู้หญิงอินเดียใส่ชุดส่าหรีแทนที่จะเป็นในฐานะของ CEO ผู้เก่งกาจเหมือน CEO ผู้ชายผิวขาวคนอื่นๆ แต่เมื่อ magic third เริ่มทำงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Microsoft และ Google ต่างก็มอบตำแหน่ง CEO ให้กับชาวอินเดียแล้วก็ทำให้ความเป็น CEO เชื้อชาติอินเดียก็ได้รับการยอมรับเป็นเรื่องปกติในท้ายที่สุด

 

บรรดาซีอีโอชาวอินเดียในบริษัทชั้นนำของโลกที่มีเยอะจนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว (source: Finshots)

 

หลักการในการกำหนดสัดส่วนของประชากรโดยอิงจากจุดพลิกผันที่ magic third นั้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความคิดของกลุ่มก้อนทางสังคมต่อความหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การกำหนดสัดส่วนบอร์ดคณะกรรมการของบริษัทให้มีผู้หญิงอย่างน้อย 3 ใน 9 คนก็จะทำให้บอร์ดเพศหญิงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ตัวแทนของผู้หญิงและทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หลักการทางวิศวกรรมสังคมในรูปแบบนี้ก็คงไม่สามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยง่ายเพราะการกำหนด “โควต้า” สัดส่วนของประชากรนั้นถึงแม้จะเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีแต่ก็มักถูกมองว่าเป็นการเหยียดเพศหรือสีผิวอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ว่าการเมืองกำหนดให้ชาวแอฟริกันอเมริกันมีสัดส้วนที่ 33% ในแต่ละหมู่บ้านนั้นก็อาจช่วยป้องกันเหตุการณ์ white flight ได้แต่ก็ถือเป็นการกีดกันชาวผิวสีที่ชัดเจนมากจริงๆจนไม่น่ามีใครกล้าทำ หรือ โรงเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวที่สร้างห้องเรียนที่จับชาวผิวสีอื่นๆไปรวมตัวกันในสัดส่วนที่เกิน 33% ก็สามารถช่วยสร้างความเป็นปกติให้กับนักเรียนเหล่านั้นแต่ก็ช่างเป็นนโยบายที่อธิบายให้คนเข้าใจได้ยากมากจริงๆ

 

Chapter Five | The Mysterious Case of the Harvard Women’s Rugby Team

ตัวอย่างที่ชัดเจนของกลไกในการทำวิศวกรรมสังคมเพื่อรักษาสมดุลของสัดส่วนประชากรให้ไม่ขยับไปถึงจุดพลิกผันนั้นสามารถมองไปที่ทีมนักกีฬารักบี้หญิงแห่งมหาวิทยาลัย Harvard University ที่ถูกยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกที่ในแต่ละปีนั้นก็มีนักเรียนระดับหัวกะทิต่างแห่กันมาสมัครมากมายจนมีสัดส่วนการรับนักศึกษาเพียงแค่ 3-4% เพียงเท่านั้น !! ว่าแต่ทำไมมหาวิทยาลัยระดับท็อปที่เน้นด้านวิชาการถึงต้องสร้างทีมนักกีฬารักบี้หญิงที่ก็ไม่ใช่กีฬาที่ผู้หญิงจะสนใจและก็ไม่ได้รับความนิยมอะไรในสหรัฐอเมริกา ?

คำตอบสามารถย้อนกลับไปในช่วงปี 1920s ที่อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยระดับท็อปของสหรัฐอเมริกาอย่าง Columbia University ก็ต้องเผชิญหน้ากับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาชาวยิวอย่างรวดเร็วจากหลักหน่วยจนถึงเกือบครึ่งของมหาวิทยาลัยจนทำให้ชาวผิวขาวกลุ่มอื่นๆเริ่มไม่อยากมาสมัครที่มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมชาวยิวแห่งนี้ ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน จำนวนนักศึกษาชาวยิวก็พุ่งสูงขึ้นในมหาวิทยาลัย Harvard University เช่นกันจนมหาวิทยาลัยเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการรับสมัครจากแต่เดิมที่สนใจแต่วิชาการเพียงอย่างเดียวให้หันมาเริ่มดูในด้านอื่นๆ เช่น สังคมและกีฬา มากขึ้นประกอบกับการเริ่มให้น้ำหนักกับการสัมภาษณ์มากขึ้น ซึ่งต่างก็เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่ไม่สามารถกำหนดเป็นเกรดได้ชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนระบบการรับสมัครนักศึกษานี้ก็ทำให้มหาวิทยาลัย Harvard University สามารถใช้เหตุผลต่างๆนาๆมารักษาสัดส่วนของนักศึกษาผิวขาวได้ที่ประมาณ 60% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมนักกีฬาถึงสมัครเข้ามาที่มหาวิทยาลัย Harvard University ได้ง่ายกว่านักเรียนทั่วไปที่ต้องแข่งขันกันด้านวิชาการนั้น คำตอบก็คือเพราะการจะเป็นนักกีฬาระดับท็อปในสหรัฐอเมริกานั้นต้องอาศัยการลงทุนอย่างหนักจากพ่อแม่ฐานะดีซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวผิวขาวกันทั้งนั้น โดยทีมกีฬารักบี้หญิงนั้นก็สามารถอัดฉีดนักเรียนหญิงผิวขาวจากครอบครัวฐานะดีในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ต่างก็ช่วยมหาวิทยาลัย Harvard University รักษาสัดส่วนของหญิงผิวขาวพูดภาษาอังกฤษเป็นหลักได้อย่างแนบเนียน ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยระดับรองๆในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้โด่งดังระดับโลกจนเป็นที่ต้องการของเหล่านักเรียนนานาชาติต่างก็พยายามให้โควต้านักกีฬาแก่นักเรียน minority กลุ่มต่างๆเพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนที่ไม่ใช่คนผิวขาวที่มีอยู่น้อยนิดเช่นกัน

 

Chapter Six | Mr. Index and the Marriot Outbreak

ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในต้นปี 2020 นั้นมีเหตุการณ์ superspreader ครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อกว่า 300,000 คนเกิดขึ้น ณ งานสัมมนาของบริษัทแห่งหนึ่งในโรงแรม Marriot Long Wharf ที่เมือง Boston ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้บริหารของบริษัทจากทั่วโลกซึ่งหนึ่งในนั้นได้พาเชื้อสายพันธุ์ฝรั่งเศสที่ติดง่ายกว่าเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์อื่นๆในขณะนั้นมาติดผู้ร่วมงานจำนวนมากที่ต่างก็เดินทางไปแพร่เชื้อต่อในที่ต่างๆ แต่จากการวิจัยดูก็พบความน่าสงสัยว่าทำไมเหตุการณ์แพร่ระบาดนี้ถึงรุนแรงกว่าเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้นมากมาย ? ซึ่งคำตอบของคำถามข้อนี้ก็คือ “Law of the Few” หรือ ”กฎของคนส่วนน้อย“ ที่คนเพียงกลุ่มหนึ่งอาจมีคุณสมบัติอะไรบางอย่างที่ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคหรือไอเดียนั้นรุนแรงกว่า

ซึ่งงานวิจัยอนุภาคของละอองลอย (aerosol) นั้นได้ค้นพบว่าเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นสามารถลอยอยู่บนอากาศได้นานและยิ่งคนมีความเข้มข้นของเชื้อและความหนืดของน้ำลายมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการแพร่ระบาดได้มาก ซึ่งก็อาจสามารถอธิบายได้ว่าในงานสัมมนาครั้งนี้มีชายสูงอายุร่างใหญ่คนหนึ่งที่ร่างกายขาดแคลนน้ำจากการนั่งเครื่องบินยาวๆจากฝรั่งเศสมาที่ Boston ทำตัวเป็น superspreader โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าคุณสมบัติการขาดแคลนน้ำของเขานั้นเหมาะสมแก่การทำให้เชื้อโรคที่ติดต่อง่ายมีความเข้มข้นและลอยในละอองน้ำลายได้นานกว่าคนอื่นๆ

องค์ความรู้เรื่อง Law of the Few นั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายและเป็นเรื่องจริงในแทบจะทุกๆปัญหาของโลก อาทิ รถยนต์เพียง 5-10% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าครึ่งของรถยนต์ทั้งหมด แต่ก็เป็นองค์ความรู้ที่นำไปปฏิบัติไม่ง่ายเลยจริงๆ อาทิ หากเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ผู้คนที่อายุเยอะและมีน้ำหนักเกินซึ่งมักเป็นต้นตอของการขาดน้ำที่ช่วยให้ไวรัสแพร่ระบาดผ่านฟองน้ำลายได้ง่ายอาจถูกตรวจตรามากกว่าผู้อื่นซึ่งก็ไม่รู้ว่ายุติธรรมหรือไม่ หรือ รถยนต์ที่เครื่องยนต์เก่าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะก็อาจถูกควบคุมมากกว่าคนอื่นๆทั้งๆที่เจ้าของรถยนต์เหล่านี้มักเป็นผู้มีรายได้ต่ำที่ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

 


 

PART THREE : THE OVERSTORY

 

Chapter Seven | The L.A. Survivors’ Club

เรื่องเล่าที่แปรเปลี่ยนไปเป็นค่านิยมฝักรากลึกที่ผู้เขียนเรียกว่า “overstory” นั้นในบางครั้งก็สามารถก้าวข้ามผ่านขอบเขตของชุมชนใดชุมชนหนึ่งได้หากเรื่องเล่าเหล่านั้นได้รับการรับรู้และซึมซับโดยผู้คนเป็นวงกว้าง โดยหนึ่งใน overstory ที่ผู้คนทั่วโลกรับรู้และเห็นไปในทางเดียวกันก็คือ ”Holocaust“ ที่เป็นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวผ่าน concentration camp อันแสนโหดร้ายของทหารนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงในปี 1945 แต่กว่าที่ผู้คนส่วนใหญ่ของโลกจะรู้จักเรื่องราวความโหดร้ายของ Holocaust นั้นก็ปาไปหลังปี 1978 กันเลยทีเดียว สังเกตได้จากจำนวนพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ Holocaust ในสหรัฐอเมริกานั้นมีเพียงแห่งเดียวในช่วงก่อนปี 1978 ที่ถูกก่อตั้งโดยเหล่าผู้รอดชีวิตจาก concentration camp ที่รวมตัวกันใน Los Angeles เพื่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อว่า Martyrs Memorial Museum ในปี 1961

โดยสาเหตุที่ว่าทำไมเหตุการณ์ Holocaust นั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักกันอย่างทั่วถึงนั้นก็เกิดจาก overstory ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องที่พยายามปิดปากเงียบกับเรื่องนี้ อาทิ เหล่าสมาคมชาวยิวที่สั่งห้ามสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ Holocaust ในช่วงหลังจบสงครามโลกเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนมองชาวยิวว่าเป็นเชื้อชาติที่อ่อนแอ เหล่าประเทศที่มี concentration camp ที่ต่างก็พยายามปิดเงียบจากความน่าละอายใจ ไปจนถึง เหล่าชาวยิวผู้รอดชีวิตที่ส่วนใหญ่ก็กลับมีค่านิยมว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าละอาย จนทำให้แม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้นแทบจะไม่ได้พูดถึง Holocaust และ concentration camp เลย

แต่ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเมื่อช่อง NBC ได้ตัดสินใจฉายซีรี่ย์ความยาว 4 ตอนในปี 1978 ที่มีชื่อว่า Holocaust: The Story of the Family Weiss ที่เล่าเรื่องราวของเหตุการณ์อันแสนโหดร้ายใน concentration camp ที่ฉายภาพให้ชาวอเมริกันกว่า 120 ล้านคนหรือประมาณครึ่งประเทศได้ดูกันอย่างสะเทือนอารมณ์จนทำให้คำว่า “Holocaust” นั้นกลายเป็น overstory ที่ทุกคนรู้จักและแพร่หลายอย่างรวดเร็วจนเกิดพิพิธภัณฑ์มากมายทั่วโลกในเวลาต่อมาและขนาดทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งแรกใน LA ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Los Angeles Museum of the Holocaust ตาม

เกล็ดความรู้ที่น่าสนใจอีกข้อก็คือการที่ชื่อของซีรี่ย์เรื่องนี้เคยถูกเปลี่ยนเป็น The Family Weiss ก่อนที่จะถูกซีอีโอของ NBC เปลี่ยนกลับ ลองคิดดูว่าการตัดสินใจของนักเล่าเรื่องเพียงคนเดียวนั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมของคำคำหนึ่งไปได้ไกลขนาดไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในสมัยปัจจุบันการสร้าง overstory ผ่านสื่อนั้นคงเป็นไปได้ยากขึ้นมากแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้คนมีทางเลือกไม่มากในการรับชมสื่อ

 

หน้าปกแผ่นเสียงประกอบซีรี่ย์ Holocaust: The Story of the Family Weiss (source: Amazon)

 

Chapter Eight | Doing Time on Maple Drive

อีกหนึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของ overstory ขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วก็คือแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษแต่กลับพึ่งประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมา โดยแต่เดิม overstory ของชาวเกย์นั้นถูกปลูกฝังผ่านสื่อ อาทิ ภาพยนตร์อย่าง Doing Time on Maple Road ที่ว่าด้วยตัวละครเกย์ที่พยาบามปลิดชีพตัวเองแทนการเปิดเผยตัวตนของเขาให้พ่อแม่รู้ ซึ่งสื่อกระแสหลักในสมัยนั้นมักวาดภาพชาว LGBTQ เป็นตัวละครรองๆที่รู้ว่าตัวเองเป็นปัญหาและมักเป็นคนสันโดษไร้เพื่อนฝูงและมักไม่มีแฟนเพศเดียวกันซึ่งช่วยทำให้แนวคิดของการมองว่าเกย์เป็นปัญหานั้นฝังรากลึก

และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปรับ overstory ของผู้คนจำนวนมากก็คือเรื่องเล่าผ่านซีรี่ย์อย่าง Will & Grace ที่ออกฉายในปี 1998-2006 ที่ว่าด้วยมิตรภาพระหว่างเกย์หนุ่มและหญิงสาวสวยที่วาดภาพตัวเอกที่เป็นเกย์ให้เป็นคนปกติที่ทีเพื่อนฝูงและมีความสุขกับเพศภาพของตัวเอง ซึ่งก็นำพาไปสู่สื่อกระแสหลักจำนวนมากขึ้นที่วาดภาพชาว LGBTQ เป็นคนปกติเหมือนๆคนอื่นๆและค่อยๆปรับให้แรงสนับสนุนที่มีต่อ LGBTQ นั้นเพิ่มขึ้นทุกปีจนทะลุจุดพลิกผันและนำไปสู่กฎหมายที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น

 


 

PART FOUR : CONCLUSION

 

Chapter Nine | Overstories, Superspreaders and Group Proportions

บทเรียนของการแพร่ระบาดของไอเดียอย่าง overstory, superspreader และ group proportion (การรักษาสัดส่วนประชากรอย่างสมดุล) นั้นสามารถใช้ในการอธิบายถึงวิกฤติฝิ่นในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1996 หลังจากการเปิดตัวยา OxyContin ยาระงับอาการปวดที่มีส่วนผสมของฝิ่นของบริษัท Purdue Pharma ของตระกูล Sackler ที่นักเสพยาต่างพากันบดตัวยาแก้ปวดชนิดนี้และสูดเข้าจมูกได้อย่างสะดวกสบาย

โดยการแพร่ระบาดของ OxyContin ในสหรัฐอเมริกานั้นก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบางรัฐและช้าในบางรัฐ ซึ่งเมื่อลองเจาะลึกลงไปก็จะเห็นถึงคุณสมบัติของรัฐที่การแพร่ระบาดต่ำนั้นเกิดจากการมีกฎหมายที่กำหนดให้แพทย์ต้องทำการส่งหลักฐานการให้ยาที่มีความเสี่ยงด้านผลข้างเคียงให้กับรัฐจนสร้างเป็น overstory ให้แพทย์ในรัฐเหล่านั้นอย่าง New York และ California มีความระมัดระวังในการให้ยาที่ปลอดภัยและไร้ปัญหาด้านการเสพติดที่สุดไม่ว่าจะเป็น OxyContin หรือยาอื่นๆที่มีความเสี่ยง

ส่วนในรัฐส่วนใหญ่ที่ไม่มีกฎหมายและ overstory นี้ก็ตกเป็นเป้าหมายของเหล่าทีมเซลส์ขายยาของ Purdue Pharma ที่เริ่มจากการเลือกทำการตลาดเฉพาะในรัฐเหล่านี้และต่อมาก็ได้รับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษาอย่าง McKinsey ให้โฟกัสไปที่คุณหมอไม่กี่พันคนที่มีประวัติการจ่ายยา OxyContin สูงอยู่แล้วให้จ่ายยาในปริมาณที่มากขึ้น โดยคุณหมอกลุ่มนี้มักเป็นคนที่จ่ายยาตามเซลส์ขายยาหนุ่มสาวที่พาคุณหมอไปเลี้ยงข้าวและมาเยี่ยมบ่อยๆซึ่ง Purdue Phrama ก็ทำการส่งเซลส์ไปเยี่ยมคุณหมอเหล่านี้แทบทุกอาทิตย์จนเปลี่ยนคุณหมอเหล่านี้เป็น superspreader ที่ช่วยจ่ายยา OxyContin อย่างบ้าคลั่ง จนทำให้ปรากฏการณ์แพร่ระบาดของ OxyContin นั้นกว่าครึ่งเกิดจากคุณหมอเพียงแค่ 1% เท่านั้น (ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ว่าคุณหมอส่วนใหญ่จะระมัดระวัง แต่ Law of the Few ก็สามารถทำให้เหตุการณ์ร้ายแพร่ระบาดได้อยู่ดี)

ปิดท้าย เมื่อ Purdue Pharma ถูกกดดันอย่างหนัก พวกเขาก็ได้เปลี่ยนตัวยาจากแบบเม็ดที่บดได้เป็นแบบหนึบที่ต้องเคี้ยวเท่านั้นโดยมีเป้าหมายในการลดสัดส่วนของผู้เสพฝิ่นจาก OxyContin ลงแต่กลับได้ผลลัพธ์ที่แย่ยิ่งกว่าเดิมเมื่อผู้เสพยาเหล่านั้นกลับหันหน้าไปหาเฮโรอีนและยาสังเคราะห์ชนิดอื่นๆจากเหล่าอาชญากรในตลาดมืดแทน หากมองย้อนกลับไป การคุมสัดส่วนของประชากรให้คนติดฝิ่นส่วนใหญ่นั้นติดจาก OxyContin ที่อยู่ในมือแพทย์และมีคุณสมบัติที่แย่น้อยกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆนั้นคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่คงไม่มีใครกล้าประกาศว่าจะรักษา OxyContin แบบเม็ดที่สร้างปรากฏการณ์การเสพย์ติดไปทั่วประเทศไว้โดยให้เหตุผลว่ามันดีกว่าทางเลือกอื่นๆ การแก้ปัญหาเรื่อง group proportion นั้นช่างยากเย็นจริงๆ

 

สัญลักษณ์การประท้วงยา OxyContin (source: GQ)

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

Recent Posts