[สรุปหนังสือ] Sapiens : A Brief History of Humankind (2014)
โดย Yuval Noah Harari
“You could never convince a monkey to give you a banana by promising him limitless bananas after death in monkey heaven.”
13.5 พันล้านปีก่อน เหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ได้ก่อกำเนิดองค์ประกอบที่สำคัญของจักรวาลทั้ง สสาร พลังงาน เวลาและห้วงอวกาศ
3.8 พันล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตก็ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้นในดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยะที่มีชื่อว่า “โลก”
2.5 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตที่มีความคล้ายคลึงกับ “มนุษย์” สายพันธุ์ในปัจจุบันก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
10,000 ปีก่อน Homo Sapiens คือ มนุษย์สายพันธุ์เดียวที่ยังคงเหลือรอดอยู่ในโลก
Sapiens : A Brief History of Humankind นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติผ่านการปฏิวัติที่สำคัญ 3 ครั้ง ได้แก่ การปฏิวัติทางความตระหนักรู้ที่ส่งเสริมให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์สังคมที่มีสติปัญญามากกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก การปฏิวัติทางการเกษตรกรรมที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมมนุษย์จากป่าสู่เมืองและการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของมนุษยชาติในปัจจุบัน
ผู้เขียน Yuval Noah Harari (ขอบคุณภาพจาก TED)
<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>
Part One – The Cognitive Revolution
Chapter 1 : An Animal of No Significance
Homo Sapiens คือชื่อทางวิทยาศาตร์ที่ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่ genus (สกุล) ชื่อ Homo ที่แปลว่า “มนุษย์” และ species (ชนิด) ชื่อ Sapiens ที่มีความหมายว่า “ฉลาด” และ Homo Sapiens นั้นถือเป็นสิ่งมีชีวิตใน Family (วงศ์) กลุ่ม the great ape ซึ่งเป็นตระกูลด้วยกับลิงชิมแปนซี กอริลล่าและลิงอุรังอุตัง
มนุษย์ (Human) มีความหมายว่า “สิ่งมีชีวิตในสกุล Homo” นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ Sapiens ชนิดเดียว เมื่อ 2.5 ล้านปีก่อน วานรสามารถวิวัฒนาการกลายมาเป็นมนุษย์ได้สำเร็จในทวีปแอฟริกาตะวันออก ซึ่งต่อมา “มนุษย์” เหล่านั้นก็ได้เริ่มเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานตามทวีปต่างๆซึ่งมีภูมิอากาศที่แตกต่างกันไปจนส่งผลให้เกิดการวิวัฒนาการสายพันธุ์ของมนุษย์ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศนั้นๆ เช่น Homo Neanderthalensis หรือ “Neanderthals” ที่มีร่างกายที่ใหญ่โตแข็งแรงสำหรับการอยู่อาศัยในภูมิอากาศหนาวอย่างทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก ตลอดระยะเวลาหลายล้านปีจนกระทั่งถึงประมาณเมื่อ 10,000 ปีก่อน โลกไม่ได้มีมนุษย์เพียงแค่สายพันธุ์เดียวเหมือนในปัจจุบันนี้ที่มีเพียง Homo Sapiens เท่านั้นที่ยังคงเหลือรอดอยู่และเกือบตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ มนุษย์เป็นเพียง “สิ่งมีชีวิตธรรมดา” ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ
Homo (มนุษย์) หลากหลายสปีชี่ส์นั้นมีหลายองค์ประกอบที่เหมือนกัน อาทิ สมองขนาดใหญ่ (ที่ช่วยเสริมสร้างความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็กินพลังงานมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น) การยืนบนสองขาที่ช่วยปลดปล่อย “มือ” สำหรับใช้ทำกิจกรรมอื่นๆได้ (แต่ก็ทำให้โครงสร้างร่างกายมีจุดบกพร่องโดยเฉพาะเพศหญิงที่ต้องให้กำเนิดลูกเร็วขึ้นอันเป็นเหตุให้ลูกของมนุษย์ต้องได้รับการเลี้ยงดูอีกหลายปีกว่าจะเริ่มพึ่งพาตัวเองได้) และการอยู่ร่วมกันเป็นสัตว์สังคม แต่กระนั้น เกือบตลอดระยะเวลา 2 ล้านปี มนุษย์กลับกลายเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตระดับกลางในห่วงโซ่อาหาร พวกเขาไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อสู้กับนักล่าชั้นสูงได้และนักโบราณคดีเชื่อว่ามนุษย์ริเริ่มใช้หินครั้งแรกสำหรับการกระแทกกระดูกเพื่อกินไขสันหลังจากซากสัตว์
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันพัฒนาการของมนุษย์ก็คือ “ไฟ” ที่มนุษย์หลากสปีชี่ส์เริ่มนำมาใช้งานตั้งแต่ประมาณ 800,000 ปีก่อน ไฟช่วยให้มนุษย์สร้าง “พลังงาน” ของตัวเองได้ ทั้งการให้แสงสว่าง ความอบอุ่น การเป็นอาวุธและการ “ปรุงอาหาร” ให้สุก ซึ่งการรับประทานอาหารที่สุกแล้วนั้นส่งผลให้ลำไส้ของมนุษย์วิวัฒนาการหดสั้นลง (อาหารใช้เวลาในการย่อยน้อยลง) ซึ่งเป็นเสมือนการเพิ่มช่องว่างให้สมองที่ใช้พลังงานสูงขยายใหญ่ขึ้น
Homo Sapiens ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับมนุษย์ในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้นประมาณ 150,000 ปีก่อนในแถบทวีปแอฟริกาตะวันออก และตั้งแต่ประมาณ 70,000 ปีก่อน Homo Sapiens ได้เริ่มขยายอาณาเขตเข้าไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆของโลก เริ่มต้นที่ตะวันออกกลาง ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลียและอเมริกา และภายในเวลา 60,000 ปี มนุษย์สายพันธุ์อื่นก็สูญพันธุ์ไปจากโลกทั้งหมด
ทฤษฎีสำคัญที่อธิบายถึงการสิ้นสุดลงของมนุษย์สายพันธุ์อื่น แบ่งอออกเป็น 2 ทิศทาง ได้แก่ Interbreeding Theory ที่ว่าด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์ของมนุษย์เจ้าถิ่นกับ Homo Sapiens ที่อาจสามารถอธิบายความแตกต่างของสีผิวของชาติพันธุ์ต่างๆของมนุษย์ในปัจจุบันได้ (หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตรวจพบ DNA ของมนุษย์สายพันธุ์อื่นในปริมาณเล็กน้อยที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น) และ Replacement Theory ที่ว่าด้วยการเข้ามา “แทนที่” ของ Homo Sapiens ที่มีสติปัญญาและทักษะการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่มากกว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่น (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากหากเทียบกับความรุนแรงและความขัดแย้งของมนุษย์ต่างชาติพันธุ์ในปัจจุบัน)
ลองคิดดูว่าถ้าโลกในปัจจุบันนั้นมีมนุษย์หลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ ความปั่นป่วนวุ่นวายจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
Human หลากหลายสายพันธ์ุ (ขอบคุณภาพจาก Encyclopedia Britannica)
Chapter 2 : The Tree of Knowledge
ปัจจัยที่ส่งผลให้ Homo Sapiens เริ่มเดินทางออกจากแอฟริกาและสามารถแย่งอาณาเขตของมนุษย์สปีชี่ส์อื่นเมื่อ 70,000 ปีก่อนนั้นก็คือ “การปฏิวัติทางการตระหนักรู้” (cognitive revolution) ที่ส่งผลให้ Sapiens มีความคิดที่ซับซ้อนเหมือนกับมนุษย์ปัจจุบันและยังก่อกำเนิด “ภาษา” ที่ซับซ้อนสำหรับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย (นักโบราณคดีเชื่อว่าแรกเริ่มนั้นภาษานั้นเกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ gossip กันได้สะดวกมากขึ้น อาจฟังดูตลก แต่การนินทาชาวบ้านถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างมนุษย์กลุ่มใหญ่ได้อย่างดีเลยทีเดียว)
ความพิเศษอย่างหนึ่งของ Sapiens ก็คือการใช้ภาษาในการบอกเล่าถึง “เรื่องแต่งที่พัฒนากลายมาเป็นความเชื่อ” หรือ imagined reality อาทิ ตำนาน เทพเจ้า ภูติผีปีศาจ หลักมนุษยธรรม กฎหมายหรือแม้กระทั่งการมีอยู่ขององค์กรขนาดใหญ่และประเทศชาติ อันส่งผลให้ Sapiens สามารถอยู่อาศัยและทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีความเชื่อเดียวกันได้ (นักวิจัยเชื่อว่าหากไม่มีความเชื่อ สิ่งมีชีวิตต่างๆจะไม่สามารถอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดเกิน 150 คนได้) อาทิ การต้อนฝูงสัตว์ไปยังบริเวณช่องแคบเพื่อการล่าที่มีประสิทธิภาพสูง
Imagined reality ทำให้ Sapiens สามารถ “วิวัฒนาการ” ทางความคิดได้โดยไม่ต้องอาศัยการวิวัฒนาการของยีนส์อีกต่อไปและนั่นคือจุดเริ่มต้นของการ “ก้าวกระโดด” ครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ
Animism หรือ ลัทธิที่เชื่อว่าทุกสิ่งรอบกายมนุษย์ล้วนมีชีวิต (ขอบคุณภาพจาก Haiku Deck)
Chapter 3 : A Day in Life of Adam and Eve
เกือบทั้งหมดของการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ วิถีชีวิตของ Sapiens คือการเป็นนักล่าและนักหาของป่า (นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสัญชาตญาณของมนุษย์ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากมนุษย์ในยุคนั้นแบบเต็มๆ) และสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ในยุคนี้คือ “ความแตกต่าง” ระหว่างเผ่าพันธุ์ ทั้ง ศาสนา ความเชื่อและระบบการปกครอง
ชีวิตความเป็นอยู่ของ Sapiens ในยุคล่าสัตว์นั้นอาจเรียกได้ว่า “สมบูรณ์” กว่ามนุษย์โดยเฉลี่ยในปัจจุบันก็ว่าได้ อาทิ เวลาทำงานออกหาของป่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าจากการกินเนื้อสัตว์กับผลไม้ที่มีความหลากหลาย รวมไปถึงการมีองค์ความรู้และประสาทสัมผัสสำหรับการอยู่รอดที่เหนือกว่ามนุษย์ปัจจุบันมาก
แต่เอาจริงๆแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนถึง “พฤติกรรม” ของ Sapiens ในยุคก่อนการปฏิวัติทางเกษตรกรรม พวกเรารู้เพียงแค่ว่า “การกระทำ” ของพวกเขานั้น “สำคัญ” และส่งผลถึงโลกของเราในปัจจุบัน
Chapter 4 : The Flood
เหตุการณ์ที่แสดงถึงพลังอำนาจอันมหาศาลของ Sapiens ที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็คือ การเดินทางข้ามมหาสมุทรจากถิ่นที่อยู่ในแถบแอฟริกา-เอเชียไปยัง “ออสเตรเลีย” เมื่อ 45,000 ปีก่อนทางเรือ เหตุการณ์นี้คือ “การรบกวนครั้งแรก” ของระบบนิเวศน์ในเกาะแบบปิดอันเต็มไปด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด marsupials (สัตว์ที่มีถุงหน้าท้องสำหรับเลี้ยงลูกที่คลอดในระยะเวลาสั้น ex. จิงโจ้ โคอาล่า) ในรอบหลายล้านปี ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์จำนวนมากอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะสัตว์ขนาดใหญ่ (megafauna)
ต่อมาเมื่อ 16,000 ปีก่อน Sapiens จากทวีปเอเชียก็ได้ออกเดินทางด้วยเท้าท่ามกลางความเหน็บหนาวของไซบีเรียเข้าไปยังทวีปอเมริกาที่เชื่อมต่อกันด้วยน้ำแข็ง (เหตุผลของการเดินทางไปยังชั้วโลกนั้นน่าจะเพื่อล่า “แมมมอธ” และสัตว์ขนาดใหญ่ที่ให้ทั้งเนื้อที่สามารถแช่แข็งเก็บไว้ได้ หนังขนาดใหญ่และงาช้าง) และภายใน 6,000 ปี Sapiens ก็สามารถครอบครองพื้นที่ทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือและใต้ได้สำเร็จ และแน่นอนว่าไม่กี่พันปีหลังจากการตั้งถิ่นฐาน สัตว์ขนาดใหญ่ อาทิ แมมมอธ สลอธยักษ์และเสือเขี้ยวดาบต่างก็ได้สูญพันธุ์ไปในเวลาไม่นาน
และอีกไม่นาน การ “สูญพันธุ์” ครั้งใหม่ก็จะถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งโดยฝีมือของมนุษย์ในปัจจุบันหากพวกเรายังคงมุ่งหน้าทำลายล้างสิ่งแวดล้อมในอัตราที่เป็นอยู่
เส้นทางการอพยพของ Homo Sapiens (ขอบคุณภาพจาก Wikimedia Commons)
Part Two – The Agricultural Revolution
Chapter 5 : History’s Biggest Fraud
ประมาณ 12,000 ปีก่อน Sapiens ในแถบตะวันออกกลาง จีนและอเมริกากลางเป็นกลุ่มแรกที่ริเริ่ม “การปฏิวัติทางเกษตรกรรม” ด้วยการเริ่มปลูกพืชพันธุ์และนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง เหตุผลที่มนุษย์ในพื้นที่เหล่านี้สามารถคิดค้นการเกษตรกรรมได้ก่อนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจากลักษณะของพืชและสัตว์ในท้องถิ่นที่สามารถนำมาให้ “เชื่อง” ได้ (คงไม่มีใครทำฟาร์มช้างแมมมอธได้ในสมัยนั้น) กว่า 90% ของวัตถุดิบที่มนุษย์รับประทานเป็นอาหารในปัจจุบันนั้นได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่ช่วงปี 9500 BC ถึง 3500 BC
การปฏิวัติทางเกษตรกรรมนั้นเป็นปัจจัยหลักของความก้าวหน้าไปอีกขั้นของ Sapiens ผ่านการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางอาหารของมนุษย์ซึ่งส่งอิทธิพลให้จำนวนประชากรของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ซึ่งย้อนกลับมาทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการซักที) แต่ถึงกระนั้น ในยุคสมัยแรกเริ่ม Sapiens ต่างหากที่เป็นฝ่าย “ถูกทำให้เชื่อง” เสียเอง ทั้งจากการที่ต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายไปกับการเพาะปลูกข้าวสาลีหรือมันฝรั่งตั้งแต่เช้าจดเย็น ปัญหาความขาดแคลนอาหารจากภัยแร้งและโรคระบาด และการต่อสู้ระหว่างเผ่าพันธุ์ที่เข้มข้นมากขึ้น (เพราะย้ายหนีจากฟาร์มของตัวเองไม่ได้แล้ว)
แล้วทำไม Sapiens ถึงเลือกที่จะก้าวเข้าสู่ยุคที่พวกเขา “ลำบาก” กว่าเดิม คำตอบก็คือ การเกษตรกรรมคือ “กับดัก” ที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในหลายช่วงอายุคน ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกแบบชั่วคราว จนกระทั่งมนุษย์หันมาตั้งถิ่นฐานถาวรแทน การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลายาวนานมากจนมนุษย์ไม่สามารถนึกย้อนกลับไปถึงตอนที่พวกเขาออกล่าสัตว์ได้อีกแล้ว และเมื่อประชากรมนุษย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มนุษย์กลุ่มที่ทำการเกษตรก็สามารถขับไล่กลุ่มที่ยังคงออกล่าสัตว์ได้อย่างง่ายดาย มนุษย์กลุ่มที่เหลือก็จะถูกบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรมมาทำการเกษตรไปโดยปริยาย
และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการเพิ่มจำนวนขึ้นของ “ผู้เคราะห์ร้าย” อย่าง ไก่ หมู วัวและแกะ ที่ถึงแม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยผลพวงของการเกษตร คุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับเข้าขั้นเลวร้ายที่สุด
Chapter 6 : Building Pyramids
Sapiens ในยุคเกษตรกรรมเริ่มขยายจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วพร้อมๆกับการเริ่มเกิดขึ้นของชุมชนขนาดใหญ่ที่ขยายขอบเขตกว้างไกลขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของมหาอำนาจอย่าง อาณาจักรอียิปต์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ราชวงศ์ฉินผู้รวมชาติจีนและอาณาจักรโรมันแห่งเมดิเตอร์เรเนียน
ผลที่ตามมาของการเพิ่มจำนวนประชากรในสังคมมนุษย์อย่างรวดเร็วก็คือ การเกิดขึ้นของ “ระเบียบการปกครอง” ซึ่งทำหน้าที่กำหนดโครงสร้าง กฎระเบียบและค่านิยมของสังคมมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ถึงแม้ระเบียบต่างๆนี้จะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น (imagined order) ไม่ว่าจะเป็น “พระเจ้ามีอยู่จริง” “ทำชั่วจะตกนรก” “ฆ่าคนตายต้องได้รับโทษประหาร” หรือ “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” แต่พวกเราต่างก็เชื่อมั่นในระบบเหล่านี้ และความเชื่อที่เกิดขึ้นจากคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เองที่ช่วยให้พวกเราอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Voltaire กล่าวไว้ว่า “There is no God, but don’t tell that to my servant, lest he murder me at night.” การจะสร้างสังคมที่แข็งแรงจากความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์นั้นนอกจากอาศัยการใช้กฎหมายและกำลังแล้ว กลุ่มชนชั้นปกครองส่วนใหญ่ต้องมีความเชื่อที่แท้จริงต่อระบบด้วย (ระบบการเงินโลกจะพังภายในวันเดียวถ้าหากนักลงทุนหมดความเชื่อมั่นในระบบทุนนิยม)
กฎข้อแรกของการสร้างความเชื่อก็คือ ต้องไม่ยอมรับว่าความเชื่อนั้นถูกสร้างขึ้นโดย “มนุษย์” เหมือนที่คำประกาศอิสรภาพของอเมริกากล่าวถึงการสร้างความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดย “พระเจ้า” และเมื่อความเชื่อเหล่านั้นได้รับการ “สั่งสอน” และ “หลอมรวม” เข้ากับกิจวัตรประจำวันของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ การถอดถอนความเชื่อเหล่านั้นออกจากสังคมนั้นๆก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
Chapter 7 : Memory Overload
สัตว์สังคมที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่อย่าง “ผึ้ง” นั้นมีพฤติกรรมร่วมกันที่ถูกกำหนดไว้โดย DNA อย่างชัดเจน อาทิ ผึ้งนางพญาทำหน้าที่ออกไข่และผึ้งงานทำหน้าที่ออกหาน้ำหวาน แต่สำหรับเหล่า Sapiens นั้น พฤติกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก “ความเชื่อ” ที่ถูกสร้างขึ้นเองโดยฝีมือมนุษย์และถูกกักเก็บไว้ใน “สมอง” ของมนุษย์แต่ละคน
และข้อจำกัดของความทรงจำภายในสมองนี้เองที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ได้ จนกระทั่งมนุษย์ชาว Sumerians แห่งเมโสโปเตเมียได้คิดค้น “การเขียน” ขึ้น โดยภาษาเขียนในช่วงแรกเริ่มนั้นมีหน้าที่หลักๆในการบันทึกบัญชีแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างชาวเมืองแต่ละคน ซึ่งต่อมาไม่นาน ภาษาเขียนก็ได้พัฒนาให้สามารถใช้งานได้เหมือนกับภาษาพูดในรูปของตัวอักษร “รูปลิ่ม” หรือ Cuneiform ในช่วงประมาณปี 3000 BC
และหลังจากนั้นมนุษย์ก็ได้พัฒนาภาษาที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของภาษาเฉพาะทาง (partial script) อย่าง ภาษาทางคณิตศาสตร์และภาษาคอมพิวเตอร์
อักษร Cuneiform (ขอบคุณภาพจาก British Museum)
Chapter 8 : There is No Justice in History
การจินตนาการ “ความเชื่อ” และการคิดค้น “ภาษา” สำหรับการสื่อสารนั้นเป็นจุดกำเนิดของการก่อสร้าง “อาณาจักร” ที่สามารถรวบรวมประชากรมนุษย์นับล้านคนเข้าไว้ด้วยกันอย่างสงบสุขได้ แต่สิ่งที่มนุษยชาติต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับพัฒนาการครั้งสำคัญนี้ก็คือ “ความเท่าเทียม” ของมนุษย์แต่ละคน
สังคมขนาดใหญ่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นล้วนเต็มไปด้วยการแบ่งแยก “ชนชั้น” ระหว่างกันอาทิ ชนชั้นสูงกับไพร่ เจ้านายกับทาส คนผิวขาวกับคนผิวสี คนรวยกับคนจน ระบบวรรณะในอินเดีย หรือแม้กระทั่งผู้ชายกับผู้หญิง (การมีพลังอำนาจที่เหนือกว่าของ “เพศชาย” นั้นเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ทั่วโลกแม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน โดยที่ยังไม่มีทฤษฎีทางชีววิทยาไหนเลยที่สามารถอธิบายความไม่เท่าเทียมกันทางเพศได้)
ปัญหาความขัดแย้งของมนุษย์นั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในโลกปัจจุบันเพราะ “วงจร” ของโครงสร้างทางสังคมที่คอยซ้ำเติมชนกลุ่มน้อยอย่างไม่มีวันจบสิ้นหากไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง อาทิ การกีดกันการเข้าถึงการศึกษาและการสร้างค่านิยมว่าคนผิวสีมีสติปัญญาและความทะเยอทะยานที่ต่ำกว่าคนผิวขาวในสหรัฐอเมริกาอันเป็นผลให้เกิดการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรงนานนับร้อยปีหลังการประกาศยกเลิกระบบทาสในยุคของประธานาธิบดี Lincoln
ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นทั้งๆที่ในทางชีววิทยานั้นพิสูจน์ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่มีความเท่าเทียมกัน “ธรรมชาติ” นั้นเปิดโอกาสให้มนุษย์ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการได้สุดตามความสามารถ มีเพียงแค่ “วัฒนธรรม” ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองนั้นแหละที่คอยทำหน้าที่ห้ามปรามพวกเราไม่ให้ทำสิ่งเหล่านั้น
Part Three – The Unification of Humankind
Chapter 9 : The Arrow of History
Sapiens ได้สร้าง “สัญชาตญาณ” ชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่หลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในสังคมขนาดใหญ่อันแสนซับซ้อนตั้งแต่เกิดจนตายอันมีชื่อว่า “วัฒนธรรม”
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “การเคลื่อนไหว” ของวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากก็คือ “การรวมตัวกัน” ของมนุษยชาติ ทั้งด้านการค้าขายกับเศรษฐกิจ ด้านการเมืองกับการปกครองและด้านศาสนากับความเชื่อ
Chapter 10 : The Scent of Money
“Money is the most successful story ever invented and told by human because it is the only story everybody believes.”
ระบบการแลกเปลี่ยน (barter system) ในยุคล่าสัตว์ของ Sapiens นั้นเกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอระหว่างชนเผ่ากลุ่มต่างๆ แต่แล้วการเริ่มต้นของชุมชนมนุษย์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนางาน “เฉพาะทาง” ของมนุษย์แต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไปหาของป่าอีกต่อไปได้ทำให้ระบบ barter trade นั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นดี (ถ้ามีของทั้งหมด 1,000 ชิ้น มนุษย์จะต้องจำอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดเกือบๆ 500,000 อัตราส่วน – ถ้าโลกไม่มีเงิน ใครจะไปรู้ว่าการแลกเรือดำน้ำหนึ่งลำด้วยกีวี่ต้องใช้กีวีกี่ผล)
ระบบ “เงิน” เกิดขึ้นจากการปฏิวัติทางความคิดครั้งใหญ่ของมนุษย์ (เงินจะมี “มูลค่า” ก็ต่อเมื่อกลุ่มของมนุษย์ “เชื่อมั่น” ในมูลค่าของเงินร่วมกัน) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก จัดเก็บได้ง่ายและสามารถรักษาความมั่งคั่งของเจ้าของได้เป็นอย่างดี
เงินในยุคแรกเริ่มนั้นอยู่ในรูปของสินค้าการเกษตรหรือสิ่งของที่แข็งแรง อาทิ ข้าวบาเลย์และเปลือกหอย (cowry shell) ต่อมามนุษย์ก็ได้ริเริ่มการใช้โลหะแวววาวอย่างทองคำและเงินที่มีสัดส่วนคงที่มาหลอมเป็นเหรียญพร้อมตราประทับโดยกษัตริย์ของเมืองต่างๆเพื่อการันตีมูลค่าและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เจ้าของเงิน ก่อนที่เงินจะได้รับการพัฒนามาเป็นเงินที่ไร้มูลค่าในตัวเอง อย่างธนบัตรและเงินดิจิตอลในปัจจุบัน (เงินกว่า 90% ของโลกถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบดิจิตอล) นอกจากนั้น เงินในรูปแบบอื่นๆก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไป อาทิ บุหรี่ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนชั้นดีระหว่างนักโทษในเรือนจำ
การเกิดขึ้นของเงินนำพามาซึ่งการควบรวมระบบเศรษฐกิจของเมืองต่างๆเข้าหากัน เงินทำให้คนที่ไม่รู้จักกันเลยสามารถ “เชื่อใจ” และแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันได้ และเงินนี่เองก็ได้สร้างภาวะเสพติดให้กับสังคมมนุษย์อันเป็นที่มาของการพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน อาทิ ขายลูกตัวเองเป็นทาส การประกอบอาชีพมือสังหารรับจ้างหรือแม้กระทั่งการก่อสงคราม
เหรียญเงินโรมันโบราณ (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)
Chapter 11 : Imperial Visions
อาณาจักร (empire) คือปัจจัยสำคัญของการรวมกลุ่มก้อนของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของอาณาจักร Akkadian แห่งเมโสโปเตเมียเมื่อ 2250 BC
“อาณาจักร” มีคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความสามารถในการ “หลอมรวม” กลุ่มสังคมมนุษย์ที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกันและความสามารถในการขยับขยายอาณาเขตได้อย่างไม่จำกัด และอาณาจักรนี้เองคือตัวการสำคัญในการกลืนกินชมเผ่ากลุ่มน้อยใหญ่ต่างๆได้อย่างสมบูรณ์ อาทิ อาณาจักรสเปนที่กลืนกินอาณาจักร Inca ในแถบทวีปอเมริกาใต้และอาณาจักร Aztec ที่ตั้งประเทศแม็กซิโกในปัจจุบันจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม (เอาง่ายๆเลยก็คือคนในแถบละตินอเมริกาพูดภาษาสเปนกันหมด)
ถึงแม้ “อาณาจักร” และการล่าอาณานิคมจะถูกตีตราว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่มนุษย์ก็ไม่อาจปฏิเสธ “มรดก” ที่ตัวร้ายเหล่านี้คงเหลือไว้ให้อย่างระบบเศรษฐกิจและการปกครองที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองของ “อดีตผู้เคราะห์ร้าย” ทั้งหลาย (หลังอินเดียได้อิสรภาพจากอังกฤษ พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อเมือง Bombay เป็น Mumbai แต่กลับเลือกที่จะไม่ทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ศัตรูของเขาเป็นคนสร้างให้และพวกเขาก็ยังคงเล่นคริกเก็ทกีฬายอดนิยมของเมืองผู้ดีต่อไป)
Chapter 12 : The Law of Religion
ณ กรุง Mecca มหานครอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวอิสลามตั้งแต่เมื่อ 700 ปีก่อน การพบเห็นมนุษย์หลากหลายเชื้อชาติ ทั้ง อาหรับ เอเชียและแอฟริกัน นั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะสิ่งที่ชักจูงให้มารวมตัวกันอย่างไม่ได้นัดหมายนั้นไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐกิจหรือชาติกำเนิด แต่กลับเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจมหาศาลที่มนุษย์สร้างขึ้นมาได้สำเร็จอย่าง “ศาสนา”
ศาสนาคืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการหลอมรวมกันของมนุษยชาติพร้อมๆกับการสร้างเสถียรภาพทางการปกครองผ่านความเชื่อที่ว่า “กฎเกณฑ์ทางสังคมนั้นถือกำเนิดขึ้นโดนสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์”
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการปฏิวัติทางเกษตรกรรมนั้นเป็นตัวจุดประกายให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงความเชื่อจากเดิมที่เชื่อถึงการมีชีวิตของสิ่งต่างๆ (animist) ไปเป็นการมีอยู่ของ “พระเจ้า” ผู้ที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาได้ (หากเกิดภัยแล้ง มนุษย์ไม่มีทางเลือกใดๆนอกจากการขอพรพระเจ้า)
ศาสนาในยุคแรกเริ่มนั้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับเทพเจ้าหลากหลายองค์ (polytheism) อาทิ เทพโรมันและกรีก ซึ่งส่งผลให้การควบรวมอาณาจักรพร้อมๆกับความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก (ประชาชนก็แค่ยอมรับว่าพวกเขามีเทพเจ้าองค์ใหม่ๆมาให้บูชา) ส่วนในเวลาต่อมา ศาสนาที่เชื่อมั่นใน “พระเจ้า” เพียงพระองค์เดียว (monotheism) อย่าง คริสต์และอิสลาม ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกับการเผยแพร่ความเชื่อที่มาพร้อมกับการ “ทำลาย” คนที่เห็นต่างอย่างรวดเร็ว (“พระเจ้าของเราเท่านั้นคือความจริง !”)
ศาสนาอีกแขนงหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันว่าด้วยความเข้าใจ “กฎของธรรมชาติ” โดยไม่ได้ยึดเทพเจ้าเป็นศูนย์กลาง อาทิ ศาสนาพุทธที่มีมนุษย์อย่าง “เจ้าชายสิทธัตถะ” เป็นศาสดาผู้เผยแพร่คำสอน “ธรรมะ” ที่ว่าด้วยการกำจัดความทุกข์ผ่านการละทิ้งตัญหาและการทำความเข้าใจปัจจุบันและธรรมชาติของโลกมนุษย์
และในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา กลุ่มศาสนารูปแบบใหม่ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทุนนิยม (ผู้เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่มีทุนเป็นแรงผลักดัน) เสรีนิยม (ผู้เชื่อมั่นในอิสรภาพของมนุษย์ทุกคน) สังคมนิยม (ผู้เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ) ลัทธินาซี (ผู้เชื่อมั่นในการรักษาชาติพันธุ์ของตัวเองที่พวกเขาเชื่อมั่นว่ามีการวิวัฒนาการที่สูงกว่ามนุษย์ชาติพันธุ์อื่น) และในอนาคต “ศาสนา” รูปแบบเดิมๆที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของมนุษย์ก็อาจจะต้องพบกับจุดพลิกผันอีกครั้งหากศาสตร์ “ชีววิทยา” สามารถอธิบายพฤติกรรมและที่มาของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์
Zeus เทพเจ้าสูงสุดของกรีกโบราณ (ขอบคุณภาพจาก Plantscapers)
Chapter 13 : The Secret of Success
คำตอบของคำถามที่ว่า “ทำไมเหตุการณ์ต่างๆในอดีตจนถึงปัจจุบันถึงได้ถือกำเนิดขึ้น” คือ “เราไม่มีทางรู้หรอก”
โลกมนุษย์นั้นคือระบบที่มีความซับซ้อนสูงมากจนไม่สามารถทำนายอนาคตข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ (ทางทฤษฎีเรียกว่าความซับซ้อน level 2 ที่ทุกการพยากรณ์ถึงผลลัพธ์ของระบบจะย้อนกลับมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างไม่มีวันจบสิ้น) ในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นั้นเต็มไปด้วยทางเลือกต่างๆมากมาย การเปลี่ยนแปลงเพียงแค่นิดเดียวอาจส่งผลให้เกิดโลกที่มีความแตกต่างไปจากปัจจุบันได้อย่างสิ้นเชิง
ลองคิดง่ายๆว่าหากกษัตริย์ Constantine แห่งอาณาจักรโรมันไม่เลือกศาสนาคริสต์ที่ในช่วงเวลานั้นยังถือเป็นศาสนาของคนเฉพาะกลุ่มขึ้นมาเป็นศาสนาของอาณาจักร โลกของชาวตะวันตกในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
สิ่งเดียวที่เรามั่นใจได้ก็คือ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์โดยฝีมือของมนุษย์นั้นล้วนไม่ใช่ “เรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ” ไม่ใช่สิ่งที่สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติเป็นผู้กำหนดและทุกเหตุการณ์นั้น “สามารถหลีกเลี่ยงได้”
Part Four – The Scientific Revolution
Chapter 14 : The Discovery of Ignorance
โลกในปัจจุบันกับโลกเมื่อ 500 ปีก่อนนั้นได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จำนวนประชากรของมนุษย์นั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้น 14 เท่าจาก 500 ล้านคนเป็น 7,000 ล้านคน พร้อมๆกับขีดความสามารถทางการผลิตที่เพิมขึ้นกว่า 240 เท่า !! (เทียบง่ายๆก็ลองนึกเล่นๆดูว่ามนุษย์ในปัจจุบันสามารถใช้เรือรบลำเดียวสำหรับการถล่มกองทัพเรือของขาวสปาร์ต้ารับร้อยได้อย่างง่ายดาย)
ปรากฎการณ์ที่ผลักดันให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติในอัตราเร่งที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนนั้น คือ “การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์” ที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของมนุษย์ในการ “ลงทุน” วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “ก้าวกระโดด” ให้กับมนุษยชาติ (ก่อนหน้านั้น มนุษย์ใช้ทรัพยากรเกือบทั้งหมดในการแย่งชิงขีดความสามารถในปัจจุบันแทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ)
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนความคิดของมนุษย์จากการถือเป็นผู้รู้ในทุกสรรพสิ่ง (ตามคำสอนของศาสนาต่างๆที่เคยกล่าวว่า โรคภัย ความยากจน หรือ ความตาย นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) เป็นการ “ยอมรับ” ถึงความ “ไม่รู้” ของตัวเองพร้อมๆกับการพยายามตามหาคำตอบของความสงสัยหรือปัญหาเหล่านั้นที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทดลองที่มีหลักการทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์รองรับ อันเป็นที่มาของการตามหาความลับของธรรมชาติมากมาย อาทิ ระบการทำงานของร่างกาย การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การเพิ่มขีดความสามารถของการผลิตไปจนถึงการออกเดินทางไปยังอวกาศ
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มี “แรงสนับสนุน” ในรูปของเงินทุนโดยกลุ่มก้อนความคิดที่มีจุดประสงค์อยู่เบื้องหลังอันสำคัญ ได้แก่ ระบบอาณาจักรและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่คอยช่วยเหลือให้โครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ถือกำเนิดขึ้น
Chapter 15 : The Marriage of Science and Empire
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อังกฤษกลายมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลผู้ครอบครองดินแดนต่างๆทั่วโลกได้นั้นคือ “วิทยาศาสตร์” หลังจากที่ชาวอังกฤษทำการทดลองและสามารถคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาโรค Scurvy ที่คร่าชีวิตกะลาสีเรือไปกว่า 2 ล้านคนจนค้นพบว่าผลไม้จำพวก “ไซตรัส” สามารถรักษาอาการป่วยรุนแรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ต่อมาเราก็ได้รู้ว่าสิ่งที่กะลาสีเรือต้องประสบคือภาวะการขาดวิตามินซี)
เมื่อประมาณ 250 ปีก่อน ชาวเอเชีย (จีน อินเดียและออตโตมาน) คือ ผู้ปกครองโลกที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 80% แต่แล้วในอีกไม่ถึง 100 ปีถัดมา ขั้วอำนาจใหม่ที่ทวีป “ยุโรปตะวันตก” อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปนและเบลเยียมก็ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ปกครองโลกกลุ่มใหม่โดยมี “วิทยาศาสตร์” และ “โครงสร้างทางสังคม” ที่คอยเกื้อหนุนวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลัง
จุดเริ่มต้นของยุครุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่นักเดินเรือชาวอิตาลีนามว่า Amerigo Vespucci ลงความเห็นว่าดินแดนที่ Christopher Columbus เป็นผู้ค้นพบเมื่อปี 1492 นั้นไม่ใช่เอเชียแต่กลับเป็น “ดินแดนผืนใหม่” ที่ชาวยุโรปไม่เคยรู้จักมาก่อนอันถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการ “ค้นคว้า” ที่เปลี่ยนทัศนคติของชาวยุโรปให้ออกเดินทางไปยังดินแดนต่างๆรอบโลกภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา (ชื่อของ Amerigo ก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อขงทวีปแห่งใหม่ที่มีนามว่า America) และในเวลาไม่กี่ปีถัดมาอาณาจักร Aztec และ Inca ที่ปกครองตนเองมาอย่างยาวนานโดยปราศจากการ “รับรู้” ถึงโลกภายนอกก็ได้ถูกยึดครองโดย “สิ่งมีชีวิตที่พวกเขาคาดไม่ถึง” อย่างชาวสเปนภายในระยะเวลาอันสั้น
สงครามการยึดครองอาณาจักร Aztec ของชาวสเปน (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)
Chapter 16 : The Capitalist Creed
การก้าวกระโดครั้งสำคัญอีกก้าวหนึ่งของมนุษยชาติคือ “ทัศนคติ” ของมนุษย์ที่เริ่มมองว่า “อนาคตจะดีกว่าปัจจุบัน” อันนำพาให้เกิดความ “เชื่อมั่น” ที่ส่งผลให้ระบบธนาคารและการปล่อยกู้ยืมเงิน “เครดิต” นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเจริญรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์นั้นได้รับอิทธิพลของ “ทุนนิยม” ซึ่งเป็นองค์ความคิด หรือ “ศาสนารูปแบบใหม่” ที่เชื่อมั่นในการนำเงินหรือกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการไปใช้ในการ “ลงทุน” เพื่อการขยายกิจการหรือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อสร้างรายได้ส่วนเพิ่มและขยายขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของผู้คนทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ตามคำกล่าวของ Adam Smith ที่ว่า “Greed is good. By becoming richer, I benefit everybody, not just myself” (สมัยก่อนกลุ่มชนชั้นสูงเลือกลงทุนแต่เพียงเพื่อทำสงครามแย่งชิงอำนาจและสมบัติระหว่างกันหรือไม่ก็นำเงินไปสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไร้ประโยชน์ อาทิ ปิระมิด)
ระบบทุนนิยมคือกำลังสำคัญในการผลักดันให้ชาวดัตช์กลายมาเป็นมหาอำนาจในช่วงปี 1600 ผ่านโครงสร้างทางสังคมที่มีความน่าเชื่อถือสูงและเอื้อต่อการลงทุน ก่อนที่อังกฤษจะผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งโลกผ่านการยึดครองประเทศต่างๆมากมาย (ผ่านบริษัท East India Company) จนทำให้อังกฤษกลายมาเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะเดียวกัน ระบบทุนนิยมก็ได้สร้างผลร้ายที่ตามมามากมายในประวัติศาสตร์ อาทิ การก่อสงครามระหว่างประเทศ (อังกฤษการันตีพันธบัตรของกรีซด้วยการส่งเรือไปรบกับอาณาจักรออตโตมานจนทำให้กรีซได้รับเอกราชในที่สุด) การค้าทาสอันแสนโหดร้ายและภาวะความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประชากรทั่วโลก
ทุนนิยม (ขอบคุณภาพจาก Foundation for Economic Education)
Chapter 17 : The Wheels of Industry
การปฏิวัติอุตสาหกรรมถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ชาวอังกฤษคิดค้น “เครื่องจักรไอน้ำ” ที่สามารเปลี่ยนพลังงานความร้อนไปเป็นพลังงานจลน์ได้สำเร็จ อันเป็นจุดกำเนิดของยุคที่มนุษย์ริเริ่มคิดค้น “พลังงาน” ใหม่ๆ อาทิ ปิโตรเลียม ไฟฟ้าและนิวเคลียร์ (นี่ยังไม่รวมอนาคตที่โลกจะสามารถใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ลมและแรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์ในรูปของกระแสคลื่นได้อย่างไม่จำกัด)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สร้างเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงที่มีผลต่อการก้าวกระโดดของมนุษยชาติมากมาย อาทิ การใช้เครื่องจักรในงานเกษตรกรรมที่เพิ่มผลผลิตให้กับโลกอย่างมากมายจนทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพเกษตรกรอีกต่อไป (เกษตรกร 2% ในสหรัฐสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าความต้องการทั้งประเทศได้)
สิ่งที่ตามมาของยุคที่อุปทานมีเหลืออย่างล้นหลาม คือ การสร้างหลักการของ “ระบบทุนนิยม” ที่ส่งเสริมให้ “คนจน” และ “คนชั้นกลาง” ทำงานอย่างหนักเพื่อนำเงินที่ได้มาบริโภคสินค้าที่ “เกินความจำเป็น” ขณะที่กลุ่ม “คนรวย” ทำการ “ลงทุน” เพื่อสร้างความร่ำรวยที่มากขึ้นเรื่อยๆให้กับตัวพวกเขาเอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ทุนนิยม” คือ “ศาสนา” ที่มีผู้คนเชื่อมั่นและทำตามหลักการมากที่สุดในโลก !!
Chapter 18 : A Permanent Revolution
ผลของการเติบโตอย่างรวดเร็วของมนุษยชาติคือ “ความเสียหายถาวร” ของทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น (ไม่นับแมลงสาบกับหนูที่กำลังเจริญรุ่งเรือง) ณ ปัจจุบัน น้ำหนักของมนุษย์ทุกคนรวมกันอยู่ที่ 300 ล้านตัน ปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมมีน้ำหนักรวมกันที่ 700 ล้านตัน ส่วนของสัตว์ชนิดอื่นๆที่เหลือรวมกันนั้นเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 100 ล้านตันเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงถาวรที่สำคัญยังมีอีกมากมาย อาทิ การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในแต่ละวันของมนุษย์ที่แต่เดิมไม่ค่อยมีการวางแผนที่แน่นอนให้สอดคล้องกับช่วงเวลาทำงานมาตรฐาน (แรงงานต้องเข้ามาทำงานตรงตามเวลาเพื่อให้สายพานการผลิตเดินหน้าต่อได้และบาร์ต้องเปิดหลังเวลาเลิกงาน) การเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมจากการพึ่งพากันภายในครอบครัวและชุมชนกลายเป็นการส่งเสริมความเป็น “บุคคล” โดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง และที่สำคัญที่สุดคือการเข้าสู่ยุคแห่ง “ความสงบสุข” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (เป็นสิบปีแล้วที่คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดเกิดขึ้นน้อยกว่าคนฆ่าตัวตาย) ทั้งนี้ สันติภาพที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นผลพวงมาจากระบบเศรษฐกิจโลกที่สร้างความซับท้อนกันของประเทศชาติต่างๆอันส่งผลให้ผลประโยชน์จากการทำสงครามนั้นต่ำลงเรื่อยๆ (สงครามในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นการแย่งชิงทรัพยากรเชิงกายภาพอย่างน้ำมันเท่านั้น)
Chapter 19 : And They Lived Happily Ever After
เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คำถามที่สำคัญที่สุดที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ “แล้วมนุษย์มีความสุขมากขึ้นหรือเปล่า”
งานวิจัยจากสถาบันต่างๆค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลง “ฐานะการเงิน” และ “สุขภาพ” นั้นส่งผลกระทบต่อ “ความสุข” เพียง “ระยะสั้น” เท่านั้น ปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงกับความสุขระยะยาวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ “ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ” (ที่ปัจจุบันนี้มนุษย์เริ่มห่างเหินจากครอบครัวและสังคมที่อบอุ่นไปทุกที) และผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของงานวิจัยเหล่านี้ก็คือการค้นพบว่าความสุขของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่าง “ความคาดหวังของมนุษย์กับสิ่งที่พวกเขาต้องประสบพบเจอในปัจจุบัน” (ซึ่งตรงตามหลักคำสอนของหลายศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์จะค้นพบความสุขทางจิตใจเมื่อพวกเขาสามารถละทิ้งอารมณ์ตัณหาต่างๆได้อย่างหมดสิ้น)
ในทางชีววิทยา “ความสุข” ของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับ “ฮอร์โมน” อย่าง serotonin, dopamine และ oxytocin ที่ถึงแม้ปริมาณฮอร์โมนเหล่านี้จะสามารถแกว่งตัวขึ้นลงได้ (ถูกล็อตเตอรี่หรือซื้อรถคันใหม่) แต่ในระยะยาวระดับฮอร์โมนของมนุษย์แต่ละคนนั้นจะคงที่เสมอ ซึ่งอาจหมายความได้ว่าความสุขของมนุษย์นั้นเป็นผลจากพันธุกรรมที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ผลลัพธ์นี้ยังอาจแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่มีระดับฮอร์โมนแห่งความสุขมากคือปัจจัยหลักในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีคือตัวสร้างความสุข)
อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์แห่งการทำความเข้าใจ “ความสุขที่แท้จริง” ของมนุษย์นั้นเป็นศาสตร์ที่พึ่งได้รับความสนใจเท่านั้นเอง
Chapter 20 : The End of Homo Sapiens
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกนั้นล้วนเกิดขึ้นตามหลักการ “คัดเลือกโดยธรรมชาติ” (Natural Selection) ที่ว่าด้วยการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมปัจจุบันได้ (ยีราฟสายพันธุ์คอยาวไม่ได้เลือกต่อคอให้ตัวเอง) แต่แล้วทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อ Homo Sapiens เริ่มที่จะใช้วิทยาศาสตร์มาเปลี่ยนบทบาทตัวเองจาก “ผู้ถูกสร้าง” ไปเป็น “ผู้สร้าง” ผ่านเทคโนโลยีที่สำคัญ 3 รูปแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตธรรมดาๆให้กลายมาเป็น “พระเจ้า” ได้ในอนาคต อันประกอบไปด้วย
ทั้งนี้ เราไม่อาจจะรู้ได้อย่างแน่นอนว่าโลกในอนาคตนั้น “มนุษย์สายพันธุ์ใหม่” ผู้เป็นอมตะ มีสติปัญญาอันแสนฉลาด มีร่างกายและจิตใจที่สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องจักรได้จะมีรูปร่างและความคิดแตกต่างจาก Homo Sapiens ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่มนุษย์ในปัจจุบันสามารถทำได้มีเพียงการถามตัวเองว่า “พวกเราต้องการให้มนุษย์ในอนาคตมีความต้องการอย่างไร”
(ขอบคุณภาพจาก Terminator)
The Animal that Became a God
ตั้งแต่ 70,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน Homo Sapiens ได้วิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตธรรมดาๆอันไร้ซึ่งความสำคัญใดๆกลายมาเป็น “พระเจ้า” ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีต่างๆมากมายพร้อมๆกับการทำลายล้างทรัพยากรของโลกในอัตราเร่งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มนุษย์ในปัจจุบันมีพลังอำนาจอย่างมหาศาลแต่กลับไม่รู้ว่าพวกเราควรจะใช้พลังอำนาจเหล่านั้นไปในทางไหน เราสร้างความเสียหายให้กับเพื่อนร่วมโลกเพื่อแลกเปลี่ยนกับความสะดวกสบายเพียงระยะสั้นโดยไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน
จะมีอะไรอันตรายมากไปกว่า “พระเจ้า” ผู้มีพลังมหาศาลแต่กลับไร้ซึ่งความรับผิดชอบและไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
View Comments
ชอบอ่านสรุปครับ
ดีมากๆ
เสนออีกเล่ม
WHY DO PEOPLE HATE AMERICA
ช่วยสรุปหน่อย ขอบคุณมากๆครับ
ขอบคุณมากครับ ไว้มีโอกาสจะสรุปให้นะครับ ^^
ขอขอบคุณมากๆๆครับ
ขอบคุณมากๆๆครับ
ขอบคุณมากค่ะ
ขอบคุณค่า ทำสรุปได้ดีมาก 👏🏻👏🏻
ชอบครับ
ขอบคุณสำหรับสรุปนะคะ มีประโยชน์เป็นอย่างมากเลยค่ะ