Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] The Four Workarounds : Strategies from the World’s Scrappiest Organizations for Tackling Complex Problems

 

 

[สรุปหนังสือ] The Four Workarounds : Strategies from the World’s Scrappiest Organizations for Tackling Complex Problems (2023)

by Paulo Savaget

 

“Sometimes no good solution can be found. So what should we do, especially when we can’t wait? The answer: a workaround.”

 

ทักษะในการแก้ปัญหา (problem solving) นั้นถือเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดของโลกการทำงานในยุคปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง วิธีการแก้ปัญหาตามแบบมาตรฐานที่เคยปฏิบัติมานั้นก็อาจใช้การไม่ได้ผลหรือจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรและเวลาในปริมาณที่มากกว่าที่เราจะสามารถให้ได้ เมื่อนั้น ผู้ที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาจึงต้องอาศัย “วิธีแก้ขัด” หรือ “workaround” ที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ยืดหยุ่นและไม่สมบูรณ์แบบ (imperfect) ที่อาศัยแนวคิดที่ท้าทายต่อหลักคิดและกฎระเบียบแบบดั้งเดิมเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

The Four Workarounds คือ หนังสือเล่มแรกของ Paulo Savaget ศาสตราจารย์แห่ง University of Oxford ที่ว่าด้วยแนวทางการแก้ปัญหาแบบ “workaround” ที่มีอยู่ 4 รูปแบบที่เขาได้กลั่นกรองจากประสบการณ์ในการทำวิจัยกระบวนการแก้ปัญหาของเหล่าบุคคลและองค์กรที่มีทั้งข้อจำกัดมากมายและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอจากหลายทวีปทั่วโลกที่มีความสามารถในการสรรหาวิธีแก้ขัดที่มีประสิทธิภาพสูงที่พวกเราทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานและชีวิตของตัวเองได้ ขอเชิญทุกท่านที่สนใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาและเรื่องราวสนุกๆของเหล่าองค์กรในพื้นที่ที่อาจไม่คุ้นเคยอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

 


 

PART I : THE FOUR WORKAROUNDS

 

1 | The Piggyback

หลังจากการลงพื้นที่ของสองสามีภรรยา Jane Berry และ Simon Berry ในหมู่บ้านอันห่างไกลที่ประเทศแซมเบียที่การติดเชื้ออหิวาตกโรคนั้นสามารถคร่าชีวิตเด็กเล็กได้เป็นจำนวนมาก พวกเขาก็สังเกตเห็นว่าแทบทุกหมู่บ้านมักมีขวดโค้กที่ชาวบ้านชื่นชอบในการดื่มอยู่เสมอ จนพวกเขาเกิดไอเดียและได้ก่อตั้งองค์กรเพื่อสังคมชื่อ ColaLife ที่มีเป้าหมายในการแจกจ่ายชุดยาและสบู่ป้องกันอหิวาตกโรคผ่านช่องทางการกระจายสินค้าของบริษัท Coca-Cola ที่มีอยู่อย่างทั่วถึงในประเทศแซมเบียอยู่แล้ว ด้วยการออกแบบกล่องใส่ยาและสบู่เป็นทรงสามเหลี่ยมที่สามารถวางอยู่ระหว่างช่องว่างของขวดโค้กในลังได้อย่างพอเหมาะโดยไม่กินพื้นที่และได้ทำการติดต่อกับทั้งบริษัทยาท้องถิ่น ผู้จัดจำหน่ายโค้กและร้านค้าขายปลีกที่ต่างก็พร้อมช่วยเหลือและยังได้รับส่วนแบ่งเป็นผลกำไรจากการกระจายอุปกรณ์ชุดนี้ที่ก็สามารถเข้าถึงชุมชนห่างไกลได้อย่างทั่วถึงและลดอัตราการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคเป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยที่ ColaLife ไม่ต้องลงทุนสร้างเครือข่ายการกระจายยาและสบู่ขึ้นมาเองใหม่เลยแต่อย่างใด

แนวทางในการทำ workaround รูปแบบแรกก็คือ “The Piggyback” หรือ “การขี่หลัง” ที่อาศัยวิธีการพึ่งพาเครือข่ายหรือกระบวนการที่มีอยู่แล้วในระบบนิเวศน์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องทำการสร้างทุกอย่างใหม่แบบเริ่มต้นจากศูนย์ที่ก็ต้องเสียทั้งเงินลงทุนและเวลา ซึ่งแนวทางนี้ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบตามการจัดสรรผลประโยชน์ของสองฝ่าย ดังต่อไปนี้

  • Mutualistic relationships : ความสัมพันธ์ที่ได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายเหมือนกับผึ้งและดอกไม้ที่ผึ้งได้รับอาหารเป็นน้ำหวานส่วนดอกไม้ก็ได้ผึ้งช่วยนำพาเกสรดอกไม้ให้เกิดการผสมและแพร่กระจายพันธุ์ อาทิ กรณีของบริษัทอาหารที่เริ่มปรุงแต่งอาหารต่างๆด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ตามคำแนะนำของ WHO ที่มีเป้าหมายในการเติมเต็มสารอาหารสำคัญต่อประชากรโลกให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทอาหารก็ได้ผลประโยชน์เป็นยอดขายอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นจากการโฆษณาถึงสรรพคุณที่มากขึ้นตามคำแนะนำของ WHO และ WHO ก็ได้บริษัทเหล่านั้นช่วยกระจายสารอาหารให้โดยไม่ต้องทำเอง
  • Commensalistic relationships : ความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งได้ผลประโยชน์โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียผลประโยชน์เหมือนกับฉลามและเหาฉลามที่ตัวเหาฉลามมักได้อาหารที่เหลือจากการกินของฉลามและได้ที่ป้องกันภัยจากปลาชนิดอื่นโดยที่ฉลามไม่ได้รู้สึกอะไร อาทิ กรณีของการโฆษณาล้อเลียนของบริษัทต่างๆต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอีกบริษัทหนึ่ง เช่น โฆษณาบน Twitter ของ Oreo ที่เขียนว่า “ไฟดับเหรอ ไม่เป็นไร คุณยังบิดชิมครีมจุ่มนมได้ในความมืด” ที่ล้อเลียนกรณีที่การแข่งขัน Super Bowl ไฟดับอย่างกระทันหันในปี 2013 ซึ่ง Oreo ก็ใช้ real-time content สร้างกระแสได้มากมายโดยที่ Super Bowl ไม่ได้รับผลกระทบในแง่ลบอะไรเพิ่มเติม
  • Parasitic relationships : ความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์เหมือนกับสัตว์จำพวกปรสิตต่างๆที่มักดูดสารอาหารไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งหลายกรณีก็เป็นเหตุการณ์เชิงอาชญากรรม เช่น การจู่โจมผ่าน malware และ phishing รูปแบบต่างๆ แต่ความสัมพันธ์แบบปรสิตก็สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาแล้วมากมาย อาทิ กรณีของ Airbnb ที่ทำการติดต่อผู้ปล่อยบ้านเช่าในเว็บไซต์ Craiglist ที่เป็นบริษัทที่ได้รับความนิยมที่สุดในการปล่อยเช่าห้องในขณะนั้นให้มาเปิดบริการใน Airbnb แทนที่มีบริการที่เพียบพร้อมกว่าและยังสร้างฟังค์ชั่นโพสต์แบบอัตโนมัติให้กับผู้ปล่อยเช่าของ Airbnb ส่งไปยัง Craiglist จน Airbnb สามารถแย่งลูกค้าของ Craiglist มาได้เป็นจำนวนมาก

ปิดท้าย วิธีคิดการทำ workaround แบบ The Piggyback ที่นอกจากจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนและหาวิธีการทางเลือกที่รวดเร็วได้แล้วยังสามารถสรรสร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ได้อีกด้วย อาทิ กรณีของ Kristo Käärmann ชายชาวแอสโตเนียที่ทำงานอยู่ในอังกฤษที่ค้นพบว่าธนาคารนั้นชาร์จค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากอังกฤษกลับประเทศบ้านเกิดของเขาในอัตราที่สูงลิ่ว จนทำให้เขาหาทาง workaround แรกเริ่มด้วยการสร้างกลุ่มสังคมของชาวแอสโตเนียที่ต้องการโอนเงินไปมาระหว่างอังกฤษและแอสโตเนียโดยการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเองโดยตรง (peer-to-peer) โดยไม่ต้องทำผ่านธนาคารเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งต่อมาเขาก็ได้ก่อตั้ง TransferWise บริษัท startup ที่ให้บริการการโอนเงินข้ามประเทศแบบ peer-to-peer ที่อาศัยกลุ่มคนจำนวนมากที่ต้องการโอนเงินระหว่างประเทศอยู่แล้วให้มารวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายที่มากพอจนสามารถแลกเงินระหว่างกันเองได้ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าธนาคารมาก

 

กล่องใส่ยาและสบู่รักษาอหิวาตกโรคของ ColaLife (source: WIRED)

 

2 | The Loophole

ตลอดช่วงเวลาที่ Rebecca Gomperts แพทย์ชาวดัทช์ได้ทำงานให้กับ Greenpeace ในหลายประเทศ เธอได้พบเห็นกับความทุกข์ทรมานของผู้หญิงที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ทำแห้งและความอันตรายถึงชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนตามตลาดมืดที่ไร้ซึ่งสุขอนามัยและกรรมวิธีที่ถูกต้องในประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จนทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งโครงการ Women on Waves ที่เป็นเรือจดทะเบียนเป็นคลินิกทำแท้งเคลื่อนที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เดินทางไปตามที่ต่างๆเพื่อพาผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งนั่งเรือออกไปยังเขตน่านน้ำสากลที่กฎหมายของประเทศบ้านเกิดของพวกเธอนั้นไม่มีผลและทำการทำแท้งให้อย่างปลอดภัย โดยครั้งหนึ่งเรือ Women on Waves ก็เคยเป็นข่าวใหญ่โตที่ทางการประเทศโปรตุเกศได้ขนเรือรบมากันไม่ให้เข้าประเทศจนกลายเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่และสุดท้ายรัฐบาลโปรตุเกศก็ต้องประกาศให้การทำแท้งถูกกฎหมายในไม่กี่ปีต่อมา นอกจากนั้น Rebecca Gomperts ก็ยังได้ก่อตั้งอีกหนึ่งโครงการอย่าง Women on Web ที่เป็นการสอนวิธีการทำแท้งอย่างมีสุขอนามัยด้วยยาและอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ในหลายประเทศอย่างถูกกฎหมายที่ช่วยให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่ต้องพึ่งคลินิกเถื่อนอีกต่อไป

แนวทางในการทำ workaround รูปแบบที่ 2 ก็คือ “The Loophole” หรือ “การหาช่องโหว่” ที่เป็นกระบวนการแก้ปัญหาในกรณีที่กฎระเบียบหรือข้อบังคับนั้นจำกัดไม่ให้รูปแบบการแก้ปัญหาแบบปกตินั้นเป็นไปได้ จนเป็นเหตุให้นักแก้ปัญหาต้องมองหาช่องโหว่ของกฎระเบียบเหล่านั้นและใช้ประโยชน์จากกฎระเบียบที่เอื้ออำนายกว่าในการแก้ปัญหาแทน ซึ่งวิธีคิดการทำ workaround แบบ The Loophole นี้ก็มักอาศัยการทำความเข้าใจในกฏระเบียบปัจจุบันแบบละเอียดและพินิจพิเคราะห์จนเจอจุดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อาทิ การที่คู่รักเพศเดียวกันเดินทางไปแต่งงานในประเทศที่เปิดให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายและนำเอาใบจดทะเบียนแต่งงานในต่างประเทศมาบันทึกในประเทศของตัวเองที่หลายๆประเทศยอมรับการจดทะเบียนในต่างประเทศโดยไม่มีกฎระบุว่าเป็นเพศเดียวกันได้หรือไม่ หรือ กรณีของบริษัทข้ามชาติที่ส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ระบุว่าเป็นสินค้ามือสองไปทิ้งในต่างประเทศที่มีกฎหมายห้ามรับขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่ไม่มีกฎห้ามรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบมือสอง

 

เรือคลินิกทำแท้งเคลื่อนที่ของ Women on Waves (source: Women on Waves)

 

3 | The Roundabout

ปัญหาโลกแตกตามหัวเมืองต่างๆของประเทศอินเดียอย่างการฉี่ใส่กำแพงในที่สาธารณะที่ทั้งเสียภาพลักษณ์และสุ่มเสี่ยงต่อสุขอนามัยของประชากรนั้นแทบไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาไหนที่ได้ผลเลย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการตรวจจับปรับในหลายเมือง ไปจนถึง นโยบาย Clean India ของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ที่สร้างห้องน้ำสาธารณะมากกว่า 100 ล้านห้อง โดยทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการฉี่ในที่สาธารณะนั้นได้รับการยอมรับเป็นค่านิยมของผู้ชายชาวอินเดียจนถือเป็นเรื่องปกติที่ยิ่งมีคนฉี่มากก็ยิ่งส่งเสริมให้มีคนฉี่มากขึ้นเป็น “วงจรอุบาทว์ (vicious cycle)” โดยวิธีแก้ปัญหาเดียวที่ได้ผลและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆก็คือการสู้ความเชื่อด้วยความเชื่อผ่านการติดรูปเทพเจ้าองค์ต่างๆที่ชาวอินเดียนับถือตามกำแพงเพื่อหักเหวงจรอุบาทจ์นั้นจนทำให้คนกว่า 90% ไม่กล้าฉี่ใส่กำแพงนั้นตามค่านิยมความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น

แนวทางในการทำ workaround รูปแบบที่ 3 ก็คือ “The Roundabout” หรือ “การสร้างวงเวียน” เพื่อหักเหหรือชะลอวงจรของปัญหาเพื่อลดผลกระทบและซื้อเวลาในการคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาจากต้นเหตุให้ตรงจุดที่ยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ เฉกเช่นเดียวกับกรณีตัวอย่างด้านบน วิธีการทำ workaround แบบ The Roundabout มักเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวเท่านั้นและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจริงๆ แต่วิธีการนี้ก็มีประสิทธิภาพสูงในการลดความเจ็บปวดจากผลกระทบของปัญหาได้มาก อาทิ ผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียที่พยายามแก้ไขปัญหาการแบ่งชนชั้นวรรณะของชาวบ้านก็ใช้วิธีการนำเงินสนับสนุนจากรัฐบาลมาสร้างเป็นโครงการบ้านในพื้นที่ของกลุ่มที่มีวรรณะต่ำที่สุดและเปิดโอกาสให้ทุกวรรณะสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้ที่เป็นเหมือนการหักเหเส้นทางของกลุ่มคนวรรณะสูงกว่าให้มารู้จักและสนิทสนมกับกลุ่มคนวรรณะล่างที่ช่วยลดความตรึงเครียดของสองฝ่ายลงได้ หรือ กรณีการทำ social distancing ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาไวรัสโดยตรงแต่เป็นการลดโอกาสในการแพร่กระจายของไวรัสลงเพื่อชะลออัตราการติดโรคจนกว่าวัคซีนจะเสร็จสมบูรณ์

 

ตัวอย่างกำแพงที่เต็มไปด้วยรูปของพระเจ้าและศาสดาของหลากหลายศาสนาในอินเดีย (source: India Today)

 

4 | The Next Best

ปัญหาโลกแตกอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่เคยมีใครสามารถแก้ที่โครงสร้างได้เลยก็คือมาตรฐานปลั๊กไฟโลกที่ปัจจุบันมีมากถึง 15 แบบที่แต่ละประเทศต่างเลือกใช้แตกต่างกันไปตามตั้งแต่สมัยนับร้อยปีก่อน โดยความพยายามระหว่างประเทศหลายครั้งในการเลือกใช้มาตรฐานปลั๊กไฟรูปแบบเดียวกันทั้งโลกนั้นก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลยเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เป็นพื้นฐานมากๆที่มีในทุกบ้านนั้นมีแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับประชากรของแต่ละประเทศและทำลายคะแนนเสียงของผู้นำประเทศไปเสียเปล่าๆ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถพัฒนานวัตกรรมแก้ขัดที่สามารถแก้ปัญหาความแตกต่างของปลั๊กไฟในแต่ละประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จและค่อนข้างสะดวกสบายด้วยอุปกรณ์ travel adapter ที่เป็นหัวแปลงไฟฟ้าเอนกประสงค์ที่สามารถเสียบได้กับปลั๊กทุกรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องเสียกำลังเงินมหาศาลในการลงทุนเปลี่ยนปลั๊กของทุกประเทศแต่อย่างใด

แนวทางในการทำ workaround รูปแบบที่ 4 ก็คือ “The Next Best” หรือ “การใช้ทางเลือกที่ดีรองลงมา” ที่เร็วและประหยัดกว่าในการแก้ปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาแบบอุดมคติที่มักเกี่ยวพันกับโครงสร้างอันซับซ้อนที่เปลี่ยนแปลงได้ยากและต้องใช้ทรัพยาการสูง ซึ่งวิธีการทำ workaround แบบ The Next Best นั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายมากโดยส่วนใหญ่ก็มักเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆหรือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมหรือขีดความสามารถที่มีอยู่แล้วในแนวทางใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของการขาดแคลนสบู่ล้างมือในภาวะ COVID-19 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสเล็งเห็นว่ากำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตหลักในประเทศนั้นไม่เพียงพอแน่ๆจนได้ขอร้องให้บริษัทอื่นๆ อาทิ LVMH ผู้ผลิตเครื่องสำอางค์และสินค้า luxury ปรับสายการผลิตเครื่องสำอางค์มาผลิตสบู่ที่ใช้เครื่องจักรและวัตถุดิบคล้ายๆกัน หรือ กรณีการเกิดขึ้นของ Bitcoin ที่มีต้นตอจากความไม่เชื่อมั่นต่อระบบการเงินแบบรวมศูนย์ที่คงไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ในเร็วๆนี้จนทำให้กลุ่มนักนวัตกรรมปริศนาได้คิดค้นเทคโนโลยี blockchain เพื่อสร้างระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ที่มองว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิมนั้นเป็นปัญหา

 

ตัวอย่างหัวแปลงไฟฟ้า travel adapter (source: Lazada)

 


 

PART II : USING WORKAROUNDS

 

5 | The Workaround Attitude

สังคมของมนุษย์มักให้ความสำคัญกับการเคารพต่อกฎระเบียบและค่านิยมที่ถูกกำหนดมาอย่างช้านานและมองผู้ที่แหกกฎเหล่านั้นเป็นคนร้าย ตรงกันข้าม ทัศนคติของผู้ที่จะสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาแบบ workaround ได้นั้นต้องมีแนวคิดใน “การเบี่ยงเบน (deviance)” กฎระเบียบและค่านิยมที่ไม่ยุติธรรม ล้าสมัย ไร้ประสิทธิภาพหรือถูกคิดค้นเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มโดยเฉพาะเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสถานการณ์ปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมตามคุณค่าที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการ workaround นั้นก็ถือเป็นการเบี่ยงเบนจากกฎที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าแนวทางในการเบี่ยงเบนอื่นๆ อาทิ การแหกกฎอย่างตรงๆที่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษ หรือ การเจรจาปรับแก้กฎระเบียบที่ต้องอาศัยระยะเวลาและระบบที่โปร่งใสที่ก็ไม่ใช่จะสามารถทำได้ในทุกๆที่

 

6 | The Workaround Mindset

ผู้เขียน Paulo Savaget เปรียบวิธีคิดของผู้ที่มีความสามารถในการทำการแก้ปัญหาแบบ workaround เป็นเหมือนวิธีคิดแบบ “แฮกเกอร์” ที่ต้องมีแนวคิดสำคัญ 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  • Recognize the limits of your knowledge : การ “ยอมรับในความไม่รู้” ของตัวเองเพื่อตั้งใจขวนขวายหาองค์ความรู้ที่ตัวเองไม่รู้เหล่านั้นอยู่เสมอและการ “ตั้งคำถามต่อความรู้ของตัวเอง” ที่อาจล้าสมัยหรือไม่ถูกต้องแล้วอีกต่อไปอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่อัพเดทที่สุดเสมอโดยไม่ติดกับดักที่คิดว่าตัวเองรู้ดีแล้ว
  • Adjust lenses : การปรับเปลี่ยนมุมมองให้มองทั้ง “ภาพโฟกัส” ที่ตัวของปัญหาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงกลไกทั้งหมดที่สามารถใช้ทำ workaround ได้และ “ภาพกว้าง” ของระบบนิเวศที่รายล้อมกับปัญหาเหล่านั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่รายรอบในการทำ workaround ได้เช่นกัน
  • Think like an outsider : การมี “วิธีคิดแบบคนนอก” ที่ต้องมองปัญหาตรงหน้าด้วยความสดใหม่อยู่เสมอโดยไม่ยึดเอาความคิดแบบผู้เชี่ยวชาญที่มักติดกับดักความรู้ที่ลึกเกินไปจนไม่สามารถหา workaround ที่ง่ายกว่าในการแก้ปัญหาได้ โดยการคิดแบบคนนอกนั้นก็สามารถทำได้ทั้งการเปลี่ยนความคิดของตัวเองและการใช้ประโยชน์จากคนนอกจริงๆ

 

7 | The Workaround Building Blocks

กระบวนการคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาแบบ workaround นั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายยุ่งเหยิงที่แตกต่างจากวิธีการแก้ปัญหาแบบดั้งเดิมที่มักมีวิธีคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดย Paulo Savaget แนะนำขั้นตอนเริ่มต้นของการคิดค้นวิธีการทำ workaround ด้วยการ “ตั้งคำถาม” ถึงปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับทำความเข้าใจสถานการณ์ตั้งต้น อาทิ ปัญหาที่ต้องการแก้ไขคืออะไร? อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จ? วิธีคิดแบบตั้งต้น (default) ในการแก้ปัญหานี้คืออะไร? ใครคือผู้ที่ถูกมองว่าต้องเป็นคนแก้ปัญหานี้? และทำไมปัญหานี้ถึงยังไม่ถูกได้รับการแก้ไข?

ขั้นตอนต่อมาก็คือการ “สำรวจสถานการณ์” ของปัญหาว่ามีแนวโน้มที่จะสามารถแก้ไขได้ผ่านวิธีการ workaround รูปแบบไหน อาทิ หากระบบนิเวศของปัญหามีความสัมพันธ์หรือกระบวนการอื่นที่อาจสามารถพึ่งพาได้ก็สามารถใช้วิธีการแบบ The Piggyback ได้, หากระบบนิเวศของปัญหามีกฎระเบียบหรือค่านิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพก็สามารถใช้วิธีการแบบ The Loophole ได้, หากปัญหามีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นวงจรที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ (self-reinforcing behavior) ก็สามารถใช้วิธีการแบบ The Roundabout ได้และหากระบบนิเวศของปัญหามีทรัพยากรอื่นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ก็สามารถใช้วิธีการแบบ The Next Best ได้

ปิดท้าย การคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาแบบ workaround มักต้องอาศัยการ “ระดมไอเดีย” แบบฟุ้งๆอย่างสร้างสรรค์จนเจอไอเดียที่ถูกใจและทดลองผิดลองถูกจนเกิดผลในท้ายที่สุด… ผมขอใส่ตัวอย่างความฟุ้งไปกับเรื่องราวของหมาป่าใจร้ายที่พยายามกินลูกหมูสามตัว โดยหลังจากที่มันทำลายบ้านฟางกับบ้านไม้ของลูกหมูสองตัวแรกไปแล้ว วิธีการแก้ปัญหาด้วยการเป่าลมซัดใส่บ้านของลูกหมูนั้นใช้ไม่ได้กับบ้านอิฐของลูกหมูตัวที่สามอีกต่อไป แต่เจ้าหมาป่าก็ยังมี workaround มากมายอย่างสารพัดวิธี อาทิ การจุดไฟใส่ฟางโยนลงไปในบ้านเพื่อล่อให้ลูกหมูหนีควันไฟออกมา การขุดโพลงใต้ดินเพื่อลักลอบเข้าไปใต้บ้าน การว่าจ้างสัตว์ตัวอื่นเพื่อให้มันหลอกมาคุยให้ลูกหมูยอมออกจากบ้าน การรอคอยจนลูกหมูขาดอาหารและต้องออกมาจากบ้านเองในท้ายที่สุด ไปจนถึง การล้มเลิกเพื่อไปล่าสัตว์ตัวอื่นกินแทน… ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการคิดหาวิธีแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์นั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัดจริงๆ

 

8 | The Workaround in Your Organization

องค์กรที่จะสามารถสร้างวิธีคิดแบบ workaround ให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากการเป็นองค์กรแบบดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการอันเข้มข้นและโครงสร้างอำนาจการตัดสินใจเป็นระดับขั้นชัดเจนมาเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมสำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

  • Act First, Then Think : องค์กรแบบดั้งเดิมมักตกอยู่ในวังวนของการวางแผนอย่างครอบคลุมอย่างยาวนานและต้องพบเจอว่าแผนที่วางไว้นั้นใช้การไม่ได้ในสถานการณ์จริง องค์กรที่มีแนวคิดแบบ workaround จึงต้องเน้นไปที่การ “ลงมือทำก่อน” เพื่อลองผิดลองถูกจนได้เรียนรู้และคิดหาวิธีการ workaround ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
  • Get to Good Enough : องค์กรแบบดั้งเดิมมักต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบตามหลักที่ควรจะเป็น แต่หากองค์กรต้องการวิธีคิดแบบ workaround นั้นควรมองไปที่วิธีการแก้ปัญหาแบบ “ที่ดีเพียงพอ” และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน (pivot) เมื่อเจอวิธีการที่ดีกว่าอย่างยืดหยุ่นและสามารถสร้างวิธีการ workaround ใหม่ๆมาเสริมวิธีการแบบเดิมๆเป็นชั้นๆ (stack) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไปได้เรื่อยๆ
  • Ask for Forgiveness, Not Permission : องค์กรแบบดั้งเดิมมักมีวิธีคิดการตัดสินใจที่รวมศูนย์และมักลงโทษต่อความล้มเหลวจนไม่ก่อให้เกิดการคิดค้นไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆจากทุกภาคส่วน แต่องค์กรที่ต้องการวิธีคิดแบบ workaround มักมีความเชื่อว่าไอเดียนั้นเกิดขึ้นได้จากทุกคนและเปิดให้พนักงานเลือกทำสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นประโยชน์อย่างอิสระมากที่สุดและมองความล้มเหลวที่มีการเรียนรู้เป็นเรื่องปกติของกระบวนการเติบโต

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

Recent Posts