Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] The Future Is Faster Than You Think : How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries and Our Lives

 

 

The Future Is Faster Than You Think: How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries, and Our Lives (2020)

by Peter H. Diamandis & Steven Kotler

 

“We’re going to experience a hundred years of technological progress over the next ten years.”

 

เทคโนโลยีกำลังพาพวกเราติดจรวดเร่งความเร็วไปสู่โลกอนาคตในระดับที่พวกเราคาดไม่ถึงมาก่อน ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า มนุษย์จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้มากกว่าเทคโนโลยีทั้งหมดที่พวกเราเคยสร้างมาก่อนในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา คลื่นแห่งเทคโนโลยีอย่าง A.I., virtual reality, robotics, 3D printing หรือ blockchain กำลังจะเริ่มซัดเข้ามาไหลรวมกันเพื่อก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ขึ้นมาใหม่

The Future Is Faster Than You Think คือ หนังสือที่ว่าด้วยอนาคตและการหลอมรวมกัน (convergence) ของเทคโนโลยีโดยฝีมือของนักอนาคตศาสตร์ (futurist) อย่าง Peter H. Diamandis และ Steven Kotler ที่ฉายภาพให้เห็นถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ การเงิน การศึกษา การค้าขาย สาธารณสุขและอาหาร ในโลกอนาคตที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ขอเชิญทุกท่านรัดเข็มขัดและเตรียมเดินทางพุ่งไปสู่อนาคตกับผมได้เลยครับ

 

ผู้เขียน Steven Kotler และ Peter H. Diamandis (ขอบคุณภากจาก Essentials)

 


 

PART ONE : THE POWER OF CONVERGENCE

 

Convergence

“เราคาดหวังที่จะได้เห็นรถบินได้ แต่สิ่งที่เรากลับได้มานั้นกลับเป็นตัวอักษร 140 ตัว” คือ คำพูดในตำนานของ Peter Thiel อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และนักลงทุนในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมายได้กล่าวไว้ในปี 2011 ที่แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อคลื่นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดึงดูดมันสมองมนุษย์ระดับหัวกะทิไปที่การพัฒนาและแสวงหากำไรของบริษัท social network และ e-commerce อย่าง Facebook, Twitter และ Amazon แทนการสร้างนวัตกรรมที่สามารถยกระดับมนุษยชาติทั้งเผ่าพันธุ์ไปข้างหน้าได้เหมือนเทคโนโลยีในอดีตอย่างการเกษตรกรรม เครื่องจักรไอน้ำ พลังงานไฟฟ้าและอินเตอร์เน็ต

แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษต่อมา “รถบินได้” นั้นกลับไม่ใช่เรื่องราวที่อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เมื่อในปี 2018 บริษัทให้บริการแท็กซี่แบบ ride-sharing ชื่อดังอย่าง Uber ได้เปิดตัวโครงการพัฒนา Uber Air ที่เป็นการให้บริการแท็กซี่บนท้องฟ้าที่นำเอาพื้นที่ว่างบนอากาศมาใช้ในการแก้ปัญหาการจราจรอันติดขัดในเขตเมืองใหญ่ได้ภายในปี 2023

ว่าแต่ “ทำไม” เทคโนโลยีในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นถึงเริ่มสามารถเข้ามาเติมเต็มการพัฒนาการแห่งโลกอนาคตที่เราคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ ?!?

คำตอบสั้นๆคำเดียวก็คือ “การหลอมรวมกัน (convergence)” ของเทคโนโลยี

การหลอมรวมกันของคลื่นลูกเดี่ยวๆของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นได้เริ่มก่อตัวรวมกันขึ้นเป็น “คลื่นสึนามิ” ลูกใหญ่ที่ทั้งรวดเร็วและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้มากขึ้นไปกว่าเดิม เหมือนในกรณีของรถบินได้ที่เกิดจาการไหลรวมกันของเทคโนโลยีมากมายในการสร้างพาหนะลอยฟ้าที่สามารถขนส่งผู้โดยสารได้อย่างปลอดภัย ไร้เสียงรบกวนและมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด อาทิ เทคโนโลยีใบพัดโดรนขนาดเล็กหลายใบที่เข้ามาแทนที่ใบพัดขนาดใหญ่ของเฮลิคอปเตอร์ที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยหากใบพัดเพียงใบเดียวไม่ทำงาน เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่ทำให้เกิดวัสดุที่แข็งแรงคงทนแต่มีน้ำหนักที่เบาลง เทคโนโลยี 3D printing ที่ทำให้การผลิตชิ้นส่วนรูปร่างซับซ้อนในปริมาณน้อยสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ต้องอาศัยเชื้อเพลิงน้ำมันและเทคโนโลยี A.I. ที่สามารถบังคับรถบินได้แบบอัติโนมัติที่ทำงานประสานกับเทคโนโลยีเซนเซอร์ประสิทธิภาพสูง

ลองคิดถึงโลกในอนาคตที่เทคโนโลยีด้านการเดินทางทั้ง รถยนต์ไร้คนขับ รถบินได้ ไฮเปอร์ลูปและจรวดรับส่งคนข้ามซีกโลกภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมงของ Elon Musk ได้ไหลมาบรรจบกัน ชีวิตการทำงานของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน นี่ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยี “avatar” ที่มนุษย์สามารถบังคับหุ่นยนต์จำลองไปเป็นตัวแทนของตัวเองในต่างสถานที่ได้อีก แค่คิดก็มันส์แล้ว !!

 

ค็อนเส็ปต์ของ Uber Air และ skyport สำหรับจอดรถยนต์บินได้ไร้คนขับ (ขอบคุณภาพจาก Uber)

 

The Jump to Lightspeed

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดแบบ exponential ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนษย์ในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อาทิ อินเตอร์เน็ต สมาร์ตโฟน หรือแม้แต่ app store นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ระยะ ได้แก่

  • Digitization : เมื่อเทคโนโลยีแบบ exponential นั้นสามารถแปลงสภาพให้อยู่ในรูปของดิจิตอลได้ เทคโนโลยีเหล่านั้นก็จะมีรากฐานที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วบนคลื่นลูกใหญ่แห่งยุคดิจิตอลที่เป็นไปตามกฎ Moore’s Law ที่ว่าด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของการประมวลผลแบบดิจิตอลที่มักเติบโตขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 2 ปี [ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเริ่มแผ่วความเร็วลงแล้วก็ตาม]
  • Deception : เมื่อผู้คนเริ่มรู้จัก เทคโนโลยีแบบ exponential มักได้รับความสนใจในกลุ่มคนส่วนหนึ่งอย่างรวดเร็วก่อนที่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะทำให้ทุกคน “ผิดหวัง” เนื่องจากประสิทธิภาพที่ยังต้องอาศัยการพัฒนาในช่วงแรกเริ่มอีกมาก เทคโนโลยีที่สร้างแรงกระเพื่อมส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นล้วนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หุ่นยนต์หรือแม้แต่ virtual reality
  • Disruption : เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ถึงคราวที่เทคโนโลยีแบบ exponential จะเริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมอย่างพลิกฝ่ามือ
  • Demonetization : เมื่อความนิยมเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีแบบ exponential ก็มักจะมีต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆจากผลประโยชน์เชิงปริมาณอันนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของการใช้งานและการเข้าถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
  • Dematerialization : เมื่อผู้คนจำนวนมากเริ่มใช้งาน เทคโนโลยีแบบ exponential ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอลยังสามารถเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์แบบกายภาพหรือช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆจนโลกแห่งกายภาพค่อยๆหายไป
  • Democratization : ท้ายที่สุด เทคโนโลยีแบบ exponential จะสามารถมีต้นทุนที่ต่ำและการใช้งานที่สูงมากจนประชากรโลกทุกคนนั้นสามารถเข้าถึงได้และเกิดความจำเป็นที่จะต้องถือครองเทคโนโลยีเหล่านั้น

 

Exponential Technologies

คลื่นแห่งเทคโนโลยีที่กำลังเขย่าวงการอุตสาหกรรมดั้งเดิมในโลกปัจจุบันที่ต่างก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและกำลังไหลเข้ามาหลอมรวมกันเพื่อติดจรวดการขับเคลื่อนโลกให้พุ่งไปสู่อนาคตอย่างรวดเร็วนั้น ประกอบไปด้วย 10 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่

1st Exponential Technology – Quantum Computing : เมื่อคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันนั้นไม่สามารถพัฒนาความเร็วได้อย่างต่อเนื่องเหมือนเมื่อก่อน ทางเลือกใหม่ที่จะสามารถสร้างการก้าวกระโดดของความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์อีกหลายพันหลายล้านเท่าตัวก็คือคอมพิวเตอร์แบบ “ควอนตัม” ที่อาศัยคุณสมบัติของอนุภาคระดับอะตอมที่เรียกว่า quantum bit หรือ qubit ที่สามารถให้ค่าตัวเลข 0 และ 1 พร้อมๆกันได้อันนำมาซึ่งพลังการประมวลผลที่เหรือกว่าระบบ bit ที่ให้ค่าตัวเลขได้แค่ทีละค่าเดียวแบบหลายเท่าตัว ซึ่งความรวดเร็วในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นนั้นจะช่วยปลดล็อกการคำนวณอันแสนซับซ้อนมากมายที่ไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันและนำมาสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆอีกมากมายในอนาคต

 

Sundar Pichai ซีอีโอของ Google และเครื่อง Quantum Computer (ขอบคุณภาพจาก TechnologyReview)

 

2nd Exponential Technology – Artificial Intelligence : ระบบปัญญาประดิษฐ์นั้นเริ่มสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลกหลังจากที่ AlphaGo ซึ่งเป็นระบบ A.I. ของ Google Deepmind สามารถเอาชนะ Lee Sedol เซียนโกะชาวเกาหลีใต้ได้สำเร็จในปี 2017 ก่อนที่นวัตกรรมการพัฒนาระบบ A.I. แบบ neural network จะยิ่งเข้ามาพัฒนาศักยภาพการประมวลผลของ A.I. ให้มีพลานุภาพมากกว่าเดิม จนปัจจุบันนี้ ระบบ A.I. นั้นมีประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงกว่ามนุษย์หลายเท่าตัวและยังสามารถมองเห็น อ่าน ฟังและเขียนได้ดีกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยี A.I. นี้เองที่เป็นคลื่นที่เข้าไปหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นให้รวดเร็วขึ้นแบบก้าวกระโดด

3rd Exponential Technology – Networks : การส่งผ่านข้อมูลระหว่างมนุษย์นั้นเริ่มขึ้นจากระบบโทรเลขโดย Samuel Morse ในปี 1844 ก่อนที่จะถูกพัฒนาต่อมาเป็นระบบโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันที่มนุษย์เกินครึ่งของโลกสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันผ่านเครือข่ายไร้สาย ในอนาคตอันใกล้นี้ โครงข่ายการเชื่อมต่อของมนุษย์จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากทั้งเทคโนโลยี 5G ที่เพิ่มความเร็วขึ้นจาก 4G อีกหลายสิบเท่าตัว พร้อมๆกับการพัฒนาระบบการส่งสัญญาณรูปแบบใหม่ผ่านทั้งบอลลูนและดาวเทียมที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ที่เหลือกว่า 3 พันล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

Loon บอลลูนปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายของ Google (ขอบคุณภาพจาก TechnologyReview)

 

4th Exponential Technology – Sensors : คำกล่าวที่ว่าโลกกำลังจะถูกปกคลุมด้วย “ผิวหนังไฟฟ้า” นั้นคงไม่ผิดมากนัก เมื่อปัจจุบันนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์หรือระบบตรวจจับข้อมูลต่างๆของมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการที่ก้าวไกลมากๆ ตั้งแต่ การตรวจจับการทำงานภายในร่างกายมนุษย์ การตรวจจับสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบตัว การฝังระบบการเซ็นเซอร์เข้าไปในสิ่งต่างที่เรียกกว่า “Internet of Things” ไปจนถึงการตรวจจับสัญญาณในห้วงอวกาศ ที่เทคโนโลยีทั้งหมดนั้นมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆจนคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ [ระบบ GPS เครื่องแรกที่เปิดจำหน่ายในปี 1981 นั้นมีราคาอยู่ที่ 119,000 ดอลลาร์]

5th Exponential Technology – Robotics : ความฝันลมๆแร้งๆเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของภาพยนตร์ sci-fi หลายเรื่องนั้นเริ่มกลายเป็นความจริงมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นเริ่มได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านของหุ่นยนต์แบบเฉพาะทางที่มีการพัฒนาความแม่นยำจนสามารถทำงานหลายๆอย่างแทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและหุ่นยนต์แบบ humanoid ที่สามารถเคลื่อนไหวและทรงตัวได้เหมือนมนุษย์ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่หุ่นยนต์ที่ประมวลผลโดย A.I. ประสิทธิภาพสูงนั้นจะเริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์

6th Exponential Technology – Virtual and Augmented Reality : เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) นั้นเริ่มเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆทั้งในแง่ของความบันเทิง เช่น เกมส์ และในแง่ของการใช้งานได้จริง เช่น การเรียนแบบเสมือนจริง ขณะเดียวกับที่ เทคโนโลยีการประสานโลกจริงเข้ากับโลกเสมือน (Augmented Reality หรือ AR) นั้นกำลังค่อยคืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ Pokemon GO ไปจนถึงคอนแทคเลนส์ที่สามารถตรวจหาข้อมูลสิ่งที่อยู่รอบๆตัวของผู้ใช้งานได้ [หากใครอยากรู้ว่าอนาคตของโลกที่ถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยี VR และ AR อย่างสมบูรณ์แล้วนั้นจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน ผมขอแนะนำให้ทุกท่านดูภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ครับ ฮ่าๆ]

7th Exponential Technology – 3D Printing : เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิตินั้นมีมายาวนานก่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ในปัจจุบัน ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีนี้ได้ทำให้มนุษย์สามารถพิมพ์สิ่งของจากเครื่องพิมพ์สามมิติด้วยวัตถุดิบแทบทุกรูปแบบในขนาดที่เล็กจิ๋วไปจนถึงการพิมพ์ตึกแบบสำเร็จรูป ซึ่งการพิมพ์แบบสามมิตินี้กำลังจะเข้ามาทลายข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการผลิตและสายโซ่อุปทานทั้งหมดที่ร้านค้าในอนาคตอาจมีแค่เครื่องพิมพ์สามมิติและวัตถุดิบต่างๆโดยไม่ต้องเก็บสต็อกสินค้าอีกต่อไป การพิมพ์แบบสามมิติยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเทคโนโลยีทางกายภาพอื่นๆอีกมากมาย

 

Made in Space เครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถใช้งานได้บนอวกาศ (ขอบคุณภาพจาก The British Interplanetary Society)

 

8th Exponential Technology – Blockchain : หนึ่งในเทคโนโลยีสุดฮอตแห่งยุคที่เริ่มต้นจากการคิดค้นระบบ Bitcoin ของชายนิรนามในปี 2008 ที่คิดค้นระบบ “บัญชีแบบไร้คนกลาง” ที่แก้ปัญหาการถือสินทรัพย์ในโลกดิจิตอลได้สำเร็จด้วยการกระจายฐานข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดของผู้ใช้งานทุกคนไปให้ผู้ใช้งานทุกคนช่วยกันเก็บอย่างเปิดเผย ข้อมูลการโอนเงินของนาย A ไปให้นาย B จะถูกกระจายไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลทั้งหมดทำให้นาย A หรือนาย B ไม่สามารถหลอกลวงระบบและเก็บ copy ของเงินนั้นไว้กับตัวเองได้ [ตรงกันข้ามกับระบบการส่งข้อมูลของอินเตอร์เน็ตทั่วไป เช่น อีเมล์ ที่ผู้ส่งจะยังคงเก็บ copy ของไฟล์นั้นอยู่] ซึ่งระบบบันทึกข้อมูลแบบไร้คนกลางนี้ยังสามารถนำมาต่อยอดไปได้อีกไกลมากๆ ทั้งการทำ smart contract ที่เป็นสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายผูกเงื่อนไขของสัญญาเข้ากับข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือระบบ smart object ที่สามารถสร้างสินทรัพย์ในโลกดิจิตอลที่ไม่สามารถ copy ได้จนสามารถนำสินทรัพย์เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนในชีวิตจริงได้

9th Exponential Technology – Material Science and Nanotechnology : การพัฒนาของศาสตร์ด้านวัตถุนั้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาตลอดในช่วงอดีต เหมือนในกรณีของ Thomas Edison ที่ต้องทดลองวัตถุดิบถึง 1,600 อย่างกว่าจะสามารถประดิษฐ์หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ แต่ในปัจจุบันนี้ ความก้าวล้ำของ A.I. นั้นถือเป็นตัวเร่งความเร็วในการคิดค้นวัตถุดิบใหม่ๆที่ยังไม่เคยถูกคิดค้นผ่านการประมวลผลของข้อมูลวัตถุดิบอันมหาศาลจนได้มาซึ่งนวัตกรรมทางวัตถุศาสตร์มากมาย พร้อมกันนั้น ศาสตร์ด้านวัตถุยังเริ่มที่จะดำดิ่งลงไปในโลกระดับนาโนจนนำมาสู่นวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีมากมาย ลองคิดดูว่าถ้าในอนาคตมนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างในระดับอะตอมได้ การแปลงกองขยะให้กลายเป็นทองนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้จริง

10th Exponential Technology – Biotechnology : ความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพนั้นเริ่มเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถ “โปรแกรม” ร่างกายของมนุษย์ด้วยกันเองได้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างพื้นฐานความเข้าใจระบบพันธุกรรมของมนุษย์ผ่านการอ่านข้อมูล DNA ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆจนนำมาสู่การคิดค้นเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมผ่าน CRISPR (clustered regularly interspaced short palindromic repeats) อย่างแม่นยำและการเปลี่ยนถ่ายเซลส์ใหม่ด้วย stem cell ที่มีคุณสมบัติในการทดแทนเซลส์ร้ายเหล่านั้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์แต่ละคนอาจจะมีการรักษาโรคแบบเฉพาะบุคคลตามข้อมูล DNA และโรคร้ายทางพันธุกรรมในยุคก่อนหน้าก็อาจสูญสลายไปในเร็วๆนี้

 

The Acceleration of Acceleration

การขับเคลื่อนของสิบคลื่นแห่งเทคโนโลยีแบบ exponential นั้นยังได้รับแรงผลักดันจากอีก 7 ปัจจัยสำคัญที่ได้รับอิทธิพลและช่วยให้เทคโนโลยีเหล่านั้นสร้างแรงกระเพื่อมที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันประกอบไปด้วย

1st Force – Saved Time : ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในยุคล่าสัตว์นั้นต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการทำให้ตัวเองและครอบครัวอิ่มท้อง ขณะที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆได้ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากอันนำมาสู่การปลดล็อกของ “เวลา” ให้มีมากขึ้น ซึ่งเวลาที่มนุษย์ได้มาเพิ่มเติมนั้นก็ถูกนำมาใช้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยประหยัดเวลาของพวกเราต่อไปเป็นทอดๆอย่างไม่รู้จบ

2nd Force – Availability of Capital : โลกในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วย “เงินทุน” ที่พร้อมอัดฉีดให้กับผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากมายจากทั้งการระดมทุนในรูปแบบดั้งเดิมอย่างกองทุนแห่งชาติ (sovereign wealth fund) และกองทุนร่วมทุน (venture capital) ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมาย รวมถึง การระดมที่เปิดกว้างและรวดเร็วมากขึ้นผ่านรูปแบบการระดมทุนจากคนทั่วไป (crowdsourcing) และการระดมทุนผ่าน cryptocurrency (ICO – initial coin offering) ที่เริ่มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

3rd Force – Demonetization : การพัฒนาของเทคโนโลยีสำคัญหลายๆคลื่นได้ก้าวผ่านระยะ demonetization ไปแล้ว จนทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆของผู้บริโภคนั้นมีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆตามต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการสแกนรหัสพันธุกรรม (genome sequencing) ในปี 2001 นั้นมีต้นทุนถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐและใช้เวลายาวนานถึง 9 เดือน ขณะที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยต้นทุนเพียงแค่ 100 ดอลลาร์สหรัฐแล้วเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง

4th Force – More Genius : เรื่องราวของ Srinivasa Ramanujan นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียที่สามารถเดินทางจากสลัมมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1913 นั้นถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของการค้นพบ “อัจฉริยะ” ในยุคนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ การเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งจากระบบการศึกษาและอินเตอร์เน็ตนั้นกำลังสร้างอัจฉริยะและเปิดให้พวกเขาเหล่านั้นสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหนือไปกว่านั้น เทคโนโลยีด้านสมองยังเริ่มพิสูจน์ให้มนุษย์ได้เห็นแล้วว่าการเสริมศักยภาพของสมองนั้นกำลังจะกลายมาเป็นเรื่องจริงในเร็ววันนี้

5th Force – Communications Abundance : หนึ่งในจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในช่วงแรกเริ่มนั้นเกิดขึ้นจากความนิยมของการใช้ “คาเฟ่” เป็นแหล่งรวมตัวกันของกลุ่มนักคิดที่เข้ามาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ แหล่งรวมองค์ความรู้ที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็คืออินเตอร์เน็ตที่ประชากรกว่าครึ่งโลกได้รับการเชื่อมโยงเข้าหากันเรียบร้อยแล้ว

6th Force – New Business Models : การเร่งเครื่องของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันนั้นได้รับการส่งเสริมจากนวัตกรรมด้านโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง 7 โมเดลทางธุรกิจสำคัญที่จะสามารถเชื่อมประสานคลื่นแห่งเทคโนโลยีให้สามารถสร้างคุณค่าที่เหนือกว่าให้แก่มนุษย์ในอนาคตอันใกล้นั้นประกอบไปด้วย

  • The Crowd Economy : การเชื่อมโยง platform ทางธุรกิจโดยมีคนทั่วไปเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในปัจจุบัน อาทิ AirBnB ที่เปิดโรงแรมโดยไม่ต้องมีโรงแรมเป็นของตัวเอง หรือ Kickstarter ผู้นำของวงการ crowdfunding
  • The Free/Data Economy : การให้บริการแบบ “ฟรี” แก่ลูกค้าเพื่อแลกกับ “ข้อมูล” ที่มีผู้นำอย่างบริษัท social media และ search engine ที่เริ่มปลดล็อกการสร้างคุณค่าแบบเฉพาะบุคคล (personalization) ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
  • The Smartness Economy : การเชื่อมโยงทุกอย่างเข้ากับ I. ที่มีศักยภาพสูงเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของโมเดลธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ไม่ต่างกับสมัยก่อนที่มนุษย์เริ่มนำเอาเครื่องมือต่างๆมาติดระบบไฟฟ้าในยุคเริ่มต้นของการใช้ไฟฟ้า
  • Closed-Loop Economy : การสร้างโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรของการใช้งานที่คำนึงตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการกำจัดผลิตภัณฑ์นั้นๆเพื่อลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
  • Decentralized Autonomous Organization : การนำเอา I. และ blockchain มาใช้สร้างระบบธุรกิจแบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องมีใครมากำกับดูแลและสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • Multiple World Model : การเชื่อมต่อโลกจริงเข้ากับโลกเสมือนผ่านเทคโนโลยี AR และ VR ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมหาศาล
  • Transformation Economy : การขายการสร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้งานที่อาจจะเริ่มจากธุรกิจฟิตเนส เช่น cross-fit ก่อนที่จะลามไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพต่างๆในอนาคต

7th Force – Longer Lives : ลองคิดดูว่าถ้า Albert Einstein หรือ Steve Jobs สามารถมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้นานขึ้นอีก 20 ปี ผลกระทบของพวกเขาต่อโลกใบนี้คงยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ตลอดระยะการดำรงอยู่ของมนุษยชาตินั้น อายุขัยของพวกเรานั้นมีแต่จะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆจากการมีอายุได้แค่ถึงวัยประมาณ 25 ปีในช่วงยุคหินจนถึงอายุประมาณ 70-80 ปีในปัจจุบัน แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น วิทยาการด้านการยืดอายุขัยของมนุษย์นั้นกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนไม่แน่ว่ามนุษย์อาจจะเข้าสู่ยุคของการเป็นอมตะในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ซึ่งการมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นนั้นก็ทำให้ช่วงเวลาการทำงานของมนุษย์นั้นเพิ่มสูงขึ้นและนั่นก็ทำให้เทคโนโลยีต่างๆได้รับการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องกว่าทีผ่านมา

 


 

PART TWO : THE REBIRTH OF EVERYTHING

 

The Future of Shopping

การปฏิวัติรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยของมนุษย์ครั้งใหญ่นั้นเกิดขึ้นในปี 1891 เมื่อ Richard Warren Sears ได้คิดค้นวิธีการขายสินค้าผ่าน “คาตาล็อก” ที่รวบรวมสินค้านาฬิกาและอัญมนีมากมายกว่า 52 หน้าที่ถูกจัดส่งไปยังทั่วประเทศผ่านระบบรถไฟที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในสมัยนั้น ซึ่งการขายในรูปแบบคาตาล็อกนี้ได้ปลดแอกการทำธุรกิจผูกขาดของพ่อค้าชาวอเมริกันในหัวเมืองต่างๆและทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสินค้าราคาดีได้อย่างเทาเทียมกัน ต่อมา ห้างสรรพสินค้า Sears ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อนำเสนอสินค้าราคาถูกให้กับผู้คนในหัวเมืองต่างๆและ Sears เคยสามารถครองส่วนแบ่งการใช้งานของประชากรทั่วอเมริกาได้ถึง 1% เต็ม

แต่แล้วทำไมในอีก 132 ปีหลังจากการก่อตั้ง ห้าง Sears ก็ได้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายในปี 2018

คลื่นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกในยุคปัจจุบันนั้นเริ่มจากการพัฒนา “ประสิทธิภาพ” ของห่วงโซ่อุปทานผ่านการใช้ข้อมูลและปริมาณการซื้อขายจำนวนมากของ Walmart จนทำให้ห้างค้าปลีกราคาโคตรถูกแห่งนี้กลายเป็นห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่ Amazon บริษัท e-commerce ยักษ์ใหญ่ที่ขี่คลื่นแห่งการพัฒนาการทางด้านอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์และ A.I. สามารถแย่งพื้นที่ของการค้าปลีกได้อย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ในอนาคตข้างหน้าที่คลื่นแห่งเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดได้ไหลเข้ามาจู่โจมอุตสาหกรรมการค้าปลีก วิถีการจับจ่ายใช้สอยของมนุษย์กำลังค่อยๆเปลี่ยนไปไม่ต่างกับในภาพยนตร์ sci-fi แห่งโลกอนาคตที่มีเทรนด์สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

  • A.I. and the Retail Experience : ประสิทธิภาพของ A.I. ได้ผลิกโฉมให้อุตสาหกรรมค้าปลีกมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการห่วงโซ้อุปทานที่ A.I. สามารถนำข้อมูลการใช้งานต่างๆของผู้บริโภคมาพยากรณ์อุปสงค์ การใช้ A.I. มาทำหน้าที่เป็นพนักงาน call center ที่ตอบคำถามได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยแทนมนุษย์และการเกิดขึ้นของ A.I. ผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถช่วยซื้อสินค้าหรือจองร้านอาหารได้อย่าง Google Duplex และ Amazon’s Alexa
  • Go, Go, Gone Are Cashiers : การพัฒนาระบบเซนเซอร์และ Internet of Things ที่คอยสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ด้วยสามารถปรับเปลี่ยนประสบการณ์ในการซื้อขายสินค้าได้อย่างที่เราเริ่มเห็นแล้วในร้านสะดวกซื้อ Amazon Go ที่ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าแล้วเดินออกจากร้านได้เลย
  • The Robots Are Coming : หุ่นยนต์กำลังเข้ามามีบทบาทในกระบวนการปฏิบัติการของการค้าปลีกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ Kiva Systems ที่คอยช่วย Amazon บริหารจัดการคลังสินค้าทั่วโลก หุ่นยนต์หรือโดรนสำหรับส่งสินค้าที่มีเริ่มใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ รวมถึง หุ่นยนต์ที่คอยให้บริการลูกค้าที่กำลังฉลาดและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ
  • 3D Printing and Retail : เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถผลิตสินค้าแทบทุกชนิดบนโลกได้ ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจะถูกลดความสำคัญลงมาเป็นแค่ระบบการจัดส่งวัตถุดิบไปให้กับผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถผลิตสินค้าได้ทันทีเมื่อต้องการ ไม่แน่ว่าในอนาคต การออกแบบทั้งหมดอาจจะทำได้โดยผู้บริโภคหรือ I. ที่เข้าใจความต้องการของเราเป็นพิเศษเนื่องจากว่าการผลิตแบบปริมาณมากนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป

ท้ายที่สุด เมื่อเทคโนโลยีทั้งหมดสามารถผนวกรวมเข้ากับเทคโนโลยี VR ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความจำเป็นในการออกจากบ้านไปยังห้างสรรพสินค้าอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปเมื่อการท่องโลกเสมือนจริงนั้นสะดวกกว่ามาก ห้างค้าปลีกที่อยู่รอดได้จำต้องอาศัยการสร้าง “ประสบการณ์” ที่ดีมากเพียงพอเพื่อให้มนุษย์ยอมออกจากโลกเสมือนของตัวเองที่เราสามารถสั่งซื้อและทดลองใช้งานสินค้าต่างๆได้ตามใจชอบ

 

Amazon Go ร้านสะดวกซื้อแบบไม่มีแคชเชียร์ (ขอบคุณภาพจาก Hacker Noon)

 

The Future of Advertising

ยุคแห่งสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิม อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร บิลบอร์ด วิทยุและโทรทัศน์ ในปัจจุบันนั้นได้ถูก “แทนที่” โดยการโฆษณาในรูปแบบดิจิตอลทั้งจากแบนเนอร์ใน website, search engine และ social media ต่างๆที่สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาใช้แนะนำโฆษณาที่ตอบโจทย์ของพวกเขาแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ [Google และ Facebook กินส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมโฆษณาของโลกถึง 1 ใน 4]

ทั้งนี้ การพลิกโฉมของวงการโฆษณาในยุคแห่งอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โลกในอนาคตที่คลื่นแห่งเทคโนโลยีได้ไหลมาบรรจบกันนั้นจะนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของวงการโฆษณามากมาย อาทิ

  • The Spatial Web : การใช้เทคโนโลยี AR และ VR บนความเร็วของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตแบบ 5G มาเปลี่ยนโฉมให้โฆษณาสามารถเกิดขึ้นแบบสามมิติได้ทุกที่บนโลกเสมือนหากเพียงแค่เราสวมใส่แว่น VR หรือใช้ application บนสมาร์ตโฟนเท่านั้น
  • Deeper Fakes : การพัฒนาเทคโนโลยี A.I. ที่สามารถเลียนแบบเสียงและหน้าตาของบุคคลต่างๆที่เรารู้จักหรือชื่นชอบเพื่อส่งอิทธิพลในการจับจ่ายใช้สอยของเราได้มากยิ่งขึ้น
  • Hyper-Personalization : การรวมกันของเซ็นเซอร์, VR และ A.I. ที่สามารถตรวจจับได้ว่าเราคือใครและมีความชอบอย่างไรบ้างเพื่อนำเสนอสิ่งที่เหมาะกับพวกเราแต่ละคนมากที่สุด ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คุณอาจจะถูกทักทายโดยตัวละครในซีรี่ย์ Netflix ที่คุณชื่นชอบระหว่างเดินเล่นในห้างเพื่อแนะนำให้คุณซื้อครีม L’Oreal ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับยีนส์ของคุณอย่างที่สุดก็เป็นได้

ท้ายที่สุด เมื่อเทคโนโลยี A.I. สามารถพัฒนาได้ถึงจุดที่มันสามารถเข้าใจความต้องการของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากกว่าตัวของพวกเราเอง เมื่อนั้นวงการโฆษณาก็จะเป็นอันสิ้นสุดลง เพราะมนุษย์จะเชื่อในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าของ A.I. ผู้ช่วยที่รู้ใจได้อย่างสนิทใจจนไม่ต้องพึ่งการตัดสินใจด้วยตัวเองอีกต่อไป

 

The Future of Entertainment

โลกแห่งอินเตอร์เน็ตระบบ 4G ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้กับวงการสื่อบันเทิงทั่วโลก เมื่อสายตาของผู้คนเริ่มหันไปดูจอสมาร์ตโฟนมากกว่าทีวีหรือหนังสือพิมพ์ คลื่นแห่งเทคโนโลยีในอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้จะยิ่งเร่งเครื่องการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งวิธีการสร้างสื่อ วิธีการรับสื่อและเนื้อหาของสื่อ โดยมีแนวโน้มหลักดังต่อไปนี้

  • The Rise of the Uber-Creator : กรรมวิธีการสร้างสื่อในยุคปัจจุบันได้รับการปลดแอกจากการผูกขาดของบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ที่ใช้ต้นทุนสูงมาสู่ประชาชนคนทั่วไปที่แห่กันมาเป็น content creator ให้กับ platform ต่างๆ อาทิ Youtube, Facebook และ TikTok ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเทคโนโลยี A.I. ที่ชาญฉลาดจะเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้สร้างสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ
  • From Passive to Active : สื่อในยุคปัจจุบันที่เป็นการสื่อความแบบด้านเดียวจะเริ่มแปลงกายเป็นสื่อแบบ interactive ที่ผู้รับสื่อสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเนื้อหาต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยี hologram ที่กำลังเริ่มมีความสามารถในการสร้างภาพจำลองเสมือนจริงแบบสามมิติขึ้นมาในโลกจริงที่เมื่อผนวกเข้ากับการใช้คลื่นเสียงในการสร้างความรู้สึกถูกสัมผัสจะนำพาไปสู่ประสบการณ์การเสพย์สื่อที่สมจริงขั้นสูงสุด
  • This Time It’s Personal : เมื่อเทคโนโลยี A.I. และเซ็นเซอร์ตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์พัฒนาไปสู่จุดที่พวกมันเข้าใจเรามากกว่าตัวของเราเองแล้ว กรรมวิธีการเสพย์สื่อก็จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ลองจินตนาการถึงโลกอนาคตอันใกล้ที่ A.I. ผู้ช่วยส่วนตัวของเราคอยเปิดซีรี่ย์ตามอารมณ์ที่เรารู้สึก ณ ขณะนั้นได้อย่างแม่นยำจากการสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของเราขณะรับชมสื่อต่างๆอย่างละเอียด เราอาจจะไม่รู้ตัวว่ามุกตลกแบบไหนที่เราฟังแล้วจะอารมณ์ดีที่สุด แต่ A.I. ไม่พลาดแน่นอน
  • Here, There, Everywhere : เทคโนโลยีคอนแทคเลนส์ AR มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนช่องทางการรับสื่อของเราจากการถูกจำกัดบนหน้าจอต่างๆไปสู่การรับชมสื่อจากทุกที่ด้วยการฉายแสงจากคอนแทคเลส์เข้าไปยังช่องรับแสงของดวงตาได้โดยตรง

ปิดท้าย เมื่อเทคโนโลยีด้านระบบประสาทและการเชื่อมต่อสัญญาณสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ (brain-computer interface) พัฒนาไปถึงขีดสุดในอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้า การเสพย์สื่อทั้งหมดอาจจะเกิดภายในหัวสมองของพวกเราเองก็เป็นได้

 

The Future of Education

ปัญหาระดับโลกที่พบเจอได้ในระบบการศึกษาของแทบทุกประเทศเลยก็คือปัญหาด้าน “ปริมาณ” จำนวนคุณครูและโรงเรียนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรของหลากหลายประเทศและปัญหาด้าน “คุณภาพ” ที่ระบบการศึกษาในยุคปัจจุบันนั้นเป็นผลพวงมาจากระบบการศึกษายุคอุตสาหกรรมเมื่อเกินหนึ่งร้อยปีก่อนที่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตแรงงานที่ทำหน้าที่ทุกอย่างได้เหมือนๆกันซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของเด็กในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป ทั้งนี้ เทคโนโลยีรูปแบบเดียวกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นก็พร้อมที่จะพลิกโฉมวงการการศึกษาด้วยเช่นกัน

  • Android Teachers : ปัญหาความขาดแคลนคุณครูที่มีความรู้กำลังเริ่มได้รับการแก้ไขด้วยการแทนที่คุณครูที่เป็นเมนูษย์ด้วยคุณครูในรูปแบบ application ฝังลงไปใน tablet ที่พร้อมแจกจ่ายให้กับเด็กในประเทศที่ขาดแคลนทั่วโลก
  • The Ultimate Field Trip : เมื่อเทคโนโลยี VR และ A.I. สามารถสร้างโลกเสมือนจริงได้อย่างสมบูรณ์และเข้าถึงได้ด้วยคนทั่วไป การเรียนรู้ในห้องเรียนเสมือนที่สร้างความสนใจและความเข้าใจได้ดีกว่าก็จะเข้ามาแทนที่การอ่านหนังสือจากตำรารูปแบบเดิมๆ วิชาที่ต้องอาศัยภาพสามมิติในการทำความเข้าใจอย่างประวัติศาสตร์และชีววิทยาจะสนุกยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

มองไปในอนาคต โรงเรียนในยุคปี 2030 อาจเกิดขึ้นรอบๆตัวผ่านเทคโนโลยี AR ที่คอยอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพบเจอและเกิดข้อสงสัย พร้อมๆกับหลักสูตรการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลที่ได้รับการประเมินมาแล้วจาก A.I. ที่เข้าใจความต้องการด้านการเรียนรู้และแนวทางในการกระตุ้นให้ผู้เรียนอย่างเราสนใจมากที่สุด

 

Hololens ของ Microsoft กับฟังค์ชั่นการเรียนรู้องค์ประกอบทางวิศวกรรม (ขอบคุณภาพจาก Microsoft)

 

The Future of Healthcare

คลื่นแห่งเทคโนโลยีด้านชีวภาพและพันธุกรรมที่ไหลมาบรรจบกับหุ่นยนต์ เครื่องพิมพ์สามมิติและ A.I. นั้นกำลังเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพที่กำลังมีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด จนไม่แปลกใจว่าทำไมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งฝั่งอเมริกาและจีนต่างทุ่มกำลังสุดตัวเพื่อเข้ามาเล่นในสนามการพัฒนาเทคโนโลยีเขย่าวงการสาธารณสุขโลกร่วมกับบริษัทไบโอเทคชั้นนำและกลุ่ม startup ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่อีกมากมาย [Tim Cook ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “สิ่งที่ Apple จะทิ้งมรดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้กับโลกใบนี้ก็คือสุขภาพ”]

นี่คือตัวอย่างเพียงบางส่วนของวงการสาธารณสุขแห่งโลกอนาคต

  • DIY Diagnostics : อุตสาหกรรมสุขภาพแห่งโลกอนาคตจะเริ่มปรับเปลี่ยนโฟกัสจากการรักษาโรคมาเป็นการตรวจสอบและป้องกันก่อนที่โรคร้ายจะถือกำเนิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี wearable gadget อาทิ นาฬิกาข้อมือตรวจวัดสุขภาพ นั้นได้เริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลายๆคนมากยิ่งขึ้น ส่วนในอนาคต เทคโนโลยีเซนเซอร์ทั้งแบบภายนอกและภายในร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการตรวจจับโรคมากขึ้นเรื่อยๆและคงอีกไม่นานที่พวกมันจะเริ่มตรวจจับโรคร้ายในระยะเริ่มต้นแทนแพทย์ได้
  • Editing the Code of Life : เทคโนโลยีด้านการอ่านข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์กำลังเริ่มได้รับการต่อยอดไปสู่วิทยาการในการตัดต่อแก้ไขพันธุกรรมส่วนที่มีปัญหาด้วยการใช้งาน CRISPR ซึ่งมีโอกาสสูงมากในการกำจัดโรคร้ายทางพันธุกรรมกว่า 16,000 ชนิดในอนาคต
  • The Future of Surgery : การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดความแม่นยำสูงและมีต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆกำลังเริ่มเข้ามาแทนที่หรือเสริมการทำงานของแพทย์ศัลยกรรม นอกจากนั้น หุ่นยนต์ขนาดไมโครที่สามารถเดินทางภายในร่างกายของมนุษย์เพื่อเข้าไปผ่าตัดภายในหรือจ่ายยาอย่างตรงจุดที่สุดก็กำลังได้รับการพัฒนาอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
  • Cellular Medicine : การค้นพบ “stem cell” จากรกของทารกหลังคลอดนั้นกำลังนำไปสู่การต่อยอดกรรมวิธีการรักษาโลกระดับเซลส์ทั้งในรูปของการแทนที่เซลส์ที่มีปัญหาด้วยเซลส์ใหม่และการติดอาวุธให้กับเซลส์เม็ดเลือดขาวก่อนฉีดกลับเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อกำจัดเซลส์ร้ายที่ไม่ต้องการ

พร้อมกันนั้น เทคโนโลยี A.I. ก็กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเร่งประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาโรคมากมายที่กล้าวไว้ก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มากไปกว่านั้น ความเร็วในการประมวลผลของควอนตัมคอมพิวเตอร์กำลังจะช่วยให้มนุษย์สามารถอ่านค่ายีนส์และโปรตีนทั้งหมดในร่างกายของมนุษย์แต่ละคนได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อนอันนำมาสู่โอกาสในการสร้าง “การรักษาเฉพาะบุคคล” ที่ตอบโจทย์ของโครงสร้างทางชีวิภาพของมนุษย์แต่ละคนอย่างสมบูรณ์

 

Oura Ring แหวนตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจและสัญญาณชีพต่างๆเพื่อวินิจฉัยโรคแบบอัตโนมัติ (ขอบคุณภาพจาก Wareable)

 

The Future of Longevity

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้ทำให้มนุษย์เข้าใจถึง “กลไกของความตาย” มากยิ่งขึ้นว่าแท้จริงแล้ว การแก่ชรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเสื่อมสลายลงของระบบของร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ความแก่ชรานั้นคือ “กระบวนการที่ถูกโปรแกรมจากวิวัฒนาการของมนุษย์” มาแต่ช้านานที่ต้องการให้มนุษย์รุ่นเก่าแก่หลีกทางให้พื้นที่ในการออกล่าสัตว์และหาอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับมนุษย์รุ่นใหม่

ปัจจุบัน กองทัพนักวิจัยที่ควบคู่กับเงินทุนจำนวนมหาศาลจากมหาเศรษฐีทั่วโลกผู้ที่ต้องการมีชีวิตอยู่ให้ได้ยาวนานที่สุดก็ได้เริ่มผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในการ “ยืดอายุขัย” ของมนุษย์ผ่านการทำความเข้าใจและยับยั้งกลไกที่ก่อให้เกิดความแก่ชราเหล่านั้น อาทิ การคิดค้นวิธีการกำจัดเซลส์ที่ตายแล้วที่มักจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุของมนุษย์ การปรับเปลี่ยนกระบวนการสื่อสารระหว่างเซล์ภายในร่างกายของมนุษย์ [ตัวอย่างกรณีที่ทำสำเร็จแล้ว การรักษาโรคข้ออักเสบของบริษัท Samumed ที่ใช้วิธีการส่งคำสั่งให้ stem cell เข้าไปช่วยสร้างกระดูกอ่อนใหม่บริเวณเข่าของคนไข้] ไปจนถึง กระบวนการวิจัยองค์ประกอบต่างๆของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด รวมถึงเลือดของสปีชีส์เหล่านั้นในวัยหนุ่มสาวที่มีส่วนช่วยทำให้เซลส์ที่เสื่อมโทรมกลับมาหนุ่มแน่นอีกครั้ง [การวิจัยถ่ายโอนเลือดหนูทดลองวัยหนุ่มให้กับหนูทดลองวัยชรานั้นได้ทำให้หนูวัยชรามีสภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นมาก]

นักวิทยาศาสตร์ในด้านการต่ออายุขัยของมนุษย์หลายคนเชื่อว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้านี้ ความก้าวหน้าของวิทยาการด้านชีวภาพจะทำให้มนุษยชาติเข้าถึงสถานะ “longevity escape velocity” ที่มนุษย์สามารถยืดอายุขัยของตัวเองเพื่อหลีกหนีความตายที่คืบคลานเข้ามาได้อย่างไม่รู้จบ

 

The Future of Insurance

โมเดลธุรกิจของ “บริษัทประกัน” ที่มีจุดเริ่มต้นจากการประกันสินค้าขนส่งทางเรือของชาวบาบีลอนเมื่อเกือบ 4,000 ปีก่อนนั้นอาศัยหลักการแห่ง “ค่าเฉลี่ย” ของโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆเพื่อนำมาคำนวณเป็นเบี้ยประกันที่ถูกเก็บในราคาที่สูงกว่า บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนานและลูกค้าจำนวนมากจึงมีความได้เปรียบเป็นอย่างมากในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากความเสี่ยงของการต้องจ่ายเงินประกันภัยในสัดส่วนที่สูงจะลดลงเรื่อยๆตามปริมาณลูกค้าและตามกาลเวลา

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ คลื่นแห่งเทคโนโลยีกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นเพื่อเตรียมสร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมประกันผ่านการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • Dynamic Risk : เมื่อเทคโนโลยีเซนเซอร์และการประมวลผลข้อมูลนั้นมีสูงมากขึ้น การทำประกันชีวิตที่อาศัยหลักการแห่งค่าเฉลี่ยที่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ร้ายต่ำนั้นต้องยอมจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง [เพราะค่าเบี้ยประกันเท่ากัน] นั้นกำลังจะจบลงเพราะบริษัทประกันแห่งยุคอนาคตจะสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์ต่างๆเพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้เอาประกันเหล่านั้นได้โดยตรงและทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยได้ต่ำกว่าบริษัทประกันแบบทั่วไปมาก อาทิ บริษัท Progressive เริ่มติ้งตั้งเซ็นเซอร์ในรถเพื่อตรวจจับระยะเวลาและพฤติกรรมในการขับรถของผู้ขับเพื่อคิดค่าประกันตามการใช้งานจริง หรือ บริษัทประกันที่คิดค่าประกันตามปริมาณการออกกำลังกายหรืออาหารที่ลูกค้ารับประทาน
  • Crowdsurance : เมื่อผู้เอาประกันที่มีความเสี่ยงต่ำมองเห็นถึงความไม่ยุติธรรมของการกำหนดราคาค่าเบี้ยประกันเพื่อชดเชยให้กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง พวกเขาเหล่านั้นก็สามารถเข้ามารวมเงินกันเป็นกองกลางผ่านบริษัท crowdsurance อย่าง Lemonade ได้ทันทีด้วยค่าเบี้ยที่ต่ำตามความเสี่ยงที่แท้จริงของพวกเขา
  • The Car That Doesn’t Crash : อุตสาหกรรมประกันรถยนต์นั้นกำลังจะหดตัวลงอย่างรวดเร็วในอนาคตเมื่อรถยนต์แบบไร้คนขับเข้ามาแทนที่รถยนต์แบบมีคนขับที่สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้หลายเท่าตัว

 

The Future of Finance

อุตสาหกรรมการเงินคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเชิญกับการพลิกโฉมครั้งใหญ่จากเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดอยู่ในยุคปัจจุบัน บริษัท Fintech หรือ “เทคโนโลยีทางการเงิน” จำนวนมากนั้นกำลังเติบโตขึ้นมาท้าทายสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของธนาคารออนไลน์ต้นทุนต่ำ (challenger bank), การทดแทนสกุลเงินตราของประเทศด้วยสกุลเงิน cryptocurrency อย่าง Bitcoin, การใช้งาน mobile banking อย่างแพร่หลายของประชากรในทั่วทุกมุมโลก, การใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานมาคำนวณการปล่อยกู้รายย่อยแบบ microfinance, การระดมทุนผ่าน crowdfunding และ ICO, การแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศระหว่างผู้ใช้งานของ TransferWise, การโอนเงินข้ามประเทศแบบไร้ตัวกลางผ่าน blockchain, การบริหารการเงินส่วนบุคคลด้วย robo-advisor ที่ขับเคลื่อนโดย A.I. รวมไปถึง ระบบการจ่ายเงินแบบไร้เงินสดอันแสนสะดวกที่ทำให้เงินสดกลายเป็นสิ่งหายากในหลายประเทศทั่วโลก

 

The Future of Real Estate

หนึ่งในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์อย่างการ “ซื้อบ้าน” หรือเช่าที่อยู่อาศัยนั้นกำลังได้รับการอัพเกรดครั้งใหญ่จากการผนวกกันของเทคโนโลยี A.I. และ VR ที่เข้ามาข่วยแก้ปัญหาการคัดเลือกบ้านในฝันอันแสนยากลำบากของใครหลายคน เมื่อ A.I. สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบได้ดีกว่าตัวของเราเองและระบบ VR สามารถพาเราเดินทางไปสู่บ้านต่างๆทั่วทุกมุมโลกได้เพียงแค่การออกคำสั่งเพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นระบบ VR ยังสามารถจำลองการตกแต่งบ้านหลังนั้นตามความฝันของเจ้าของได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องอาศัยการจินตนาการอีกต่อไป

มองไปในภาพที่ใหญ่ขึ้น เทคโนโลยีการขนส่งที่สะดวกสบาย รวดเร็วและไร้คนขับกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความหมายของ “ตำแหน่งที่อยู่” ของมนุษย์ใหม่ เมื่อการมีบ้านอยู่ชานเมืองหมายถึงการเดินทางอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาทีผ่าน hyperloop และรถยนต์ไร้คนขับเพื่อเข้าถึงตัวเมืองใหญ่ ความหนาแน่นของเมืองจะถูกกระจายตัวออกและไม่แน่ว่าในอนาคตมนุษย์อาจไม่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้านอีกต่อไปเลยก็เป็นได้

 

Oceanix City ภาพจำลองเมืองลอยน้ำแบบยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยในยุคที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น (ขอบคุณภาพจาก Oceanix City)

 

The Future of Food

เรื่องราวของ “อาหาร” ที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกๆวันนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวของ “ความไร้ประสิทธิภาพ” และ “ของเสีย” ที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ การสังเคราะห์แสงของพืชที่สามารถกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เพียงแค่บางส่วน การเลี้ยงสัตว์ที่ต้องใช้ปริมาณน้ำและอาหารสัตว์เป็นจำนวนมากแถมยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย การจัดส่งวัตถุดิบที่เดินทางกันข้ามเมืองหนือข้ามทวีปไปมา รวมถึง ปริมาณของเสียจากการผลิตและรับประทานอาหารไม่หมดถึงประมาณ 40% ของอาหารทั้งหมดที่ถูกผลิต

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรกรรมกำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตอาหาร ตั้งแต่ การเพิ่มความสามารถของพืชในการรับพลังงานจากแสงแดด การพัฒนาสารชีวภาพที่สามารถช่วยถนอมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ยาวนานขึ้น การปลูกพืชแนวดิ่ง (vertical farming) ที่ช่วยทำให้อาหารอยู่ใกล้กับตัวเมืองมากยิ่งขึ้น การใช้เซ็นเซอร์ หุ่นยนต์และ A.I. เป็นตัวช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรกรรม ไปจนถึง การเปลี่ยนวิธีการผลิตเนื้อจากระบบฟาร์มมาเป็นการสังเคราะห์เนื้อสัตว์จากห้องทดลองที่สามารถเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารและฆ่าเชื้อโรคได้

 

Impossible Meat แบรนด์เนื้อเบอเกอร์จากพืชชื่อดังของสหรัฐอเมริกา (ขอบคุณภาพจาก The Verge)

 


 

PART THREE : THE FASTER FUTURE

 

Threats and Solutions

ในช่วงเวลาเดียวกันกับการก่อตัวของคลื่นเทคโนโลยีแบบ exponential ที่เตรียมเร่งความเร็วการพัฒนาการของมนุษยชาติแบบก้าวกระโดดนั้น สามภัยคุกคามใหญ่ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญก็กำลังติดเครื่องยนต์เพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่เช่นเดียวกัน โลกในอนาคตจะเข้าสู่ยุคที่มนุษย์ทุกคนจะต้อง “ร่วมมือกัน” ในระดับโลกเพื่อผลักดันให้วิทยาการของพวกเราสามารถเอาชนะสามภัยคุกคาม ดังต่อไปนี้

  • Environmental Risks : ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจริงและกำลังคุกคามเสถียรภาพของโลกอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน แต่การพัฒนาการของเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่ามนุษย์มีคำตอบในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานสะอาดที่ตอนนี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าถ่านหินในหลายประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การพัฒนาแบตเตอรีประสิทธิภาพสูงที่สามารถจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การเริ่มเปลี่ยนถ่ายจากการใช้งานพลังงานเชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาระบบการกรองน้ำดื่มสำหรับแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในประเทศยากจน การสังเคราะห์เนื้อสัตว์ในห้องทดลองเพื่อลดปัญหาการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ไปจนถึงการคืนพื้นที่ป่าจากการทำเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไปและการพัฒนาระบบการปลูกป่าแบบอุตสาหกรรมประสิทธิภาพสูงผ่านโดรน ความท้าทายหลักของภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่อยู่ที่การร่วมมือกันลงมือทำของทุกประเทศต่างหาก
  • Economic Risks : การเร่งเครื่องของเทคโนโลยี A.I. และหุ่นยนต์ได้นำมาสู่ความกังวลถึงตำแหน่งงานของมนุษย์ที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีแบบอัตโนมัติเหล่านั้น โดยผู้เขียนทั้งสองคนมีความเห็นตรงกันว่าตำแหน่งงานจำนวนมากกำลังจะถูกพลิกโฉมไปมากกว่าการถูกทำให้หายไปเฉยๆ ไม่ต่างจากยุคก่อนๆที่เทคโนโลยีได้สร้างงานใหม่ไปพร้อมๆกับการทำลายงานแบบเดิมๆ ความท้าทายสำคัญของภัยคุกคามด้านเศรษฐกิจจึงอยู่ที่การ “reskill” หรือปรับเปลี่ยนทักษะของคนงานเหล่านั้นให้สามารถทำงานในสายงานใหม่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ใช้ A.I. เป็นตัวขับเคลื่อนนั้นอาจสามารถตอบโจทย์ปัญหานี้ได้
  • Existential Risks : ไม่ต่างจากที่อัจฉริยะของโลกอย่าง Stephen Hawking และ Elon Musk ได้กล่าวเตือนถึงอันตรายของการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วเกินไป โลกในอนาคตข้างหน้าอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดมากมาย อาทิ อาวุธทางชีวภาพ การก่อการร้ายทางไซเบอร์ ไปจนถึง การทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์โดย A.I. หรือมนุษย์ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจาก “กรอบความคิดแบบระยะสั้น” ของมนุษย์เองทั้งสิ้น ดังนั้น โลกของเราและรัฐบาลในทุกประเทศจึงควรต้องร่วมมือกันสร้างระบบป้องกันภัยคุกคามนี้ให้ครอบคลุมมากที่สุดและปรับเปลี่ยนการทำงานของรัฐบาลที่เชื่องช้าให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

The Five Great Migrations

มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยการ “อพยพ” มาตลอดตั้งแต่การเริ่มเดินทางข้ามทวีปของสปีชีส์ Homo sapiens จากแอฟริกาข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก จนถึงยุค “โลกาภิวัฒน์” ที่องค์ความรู้และแรงงานถูกขับเคลื่อนอย่างเสรีระหว่างประเทศต่างๆอันนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆมากมาย [งานวิจัยค้นพบว่าการอพยพของคนต่างถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปิดมุมมองใหม่ๆของคนท้องถิ่นและนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมอีกมากมาย]

มองไปอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้า การอพยพครั้งใหญ่ของมนุษยชาติจะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อน 5 ประการสำคัญ ได้แก่

  • Climate Migrations : หากปัญหาโลกร้อนยังคงความรุนแรงในระดับเดียวกับในปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลที่พุ่งสูงขึ้นและความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจะทำให้พื้นที่ของเมืองใหญ่ริมชายฝั่งทะเลนั้นไม่สามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้และมนุษย์กว่า 700 ล้านคนจำเป็นต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยซึ่งนำมาสู่ปัญหาและต้นทุนอันมหาศาลในอนาคต การขับเคลื่อนของเทคโนโลยีสีเขียวที่กล่าวไว่ในบทก่อนหน้าจึงควรได้รับการประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็วที่สุดจากรัฐบาลทั่วโลก
  • Urban Relocations : เมื่อ 300 ปีก่อน ประชากรของโลกทั้งหมดเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เมื่อ 10 ปีก่อน จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นมาเป็น 50% และในอีก 3-4 ทศวรรษข้างหน้า ตัวเลขนี้จะยังคงสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆจนถึงประมาณ 66% ถึง 75% ได้ ซึ่งการเคลื่อนย้ายคนจากชนบทมาสู่ตัวเมืองนั้นถือเป็นโอกาสอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการร่วมกันใช้ทรัพยากรได้อย่างมีคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น การบริหารจัดการเมืองแบบอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีแบบ exponential นั้นจึงเป็นความท้าทายสำคัญที่หัวเมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ
  • Virtual Worlds Explorations : การเสพย์ติดเกมและ social media ของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นมีรากฐานมาจาก “ชีววิทยา” ที่มนุษย์มักจะเสพย์ติดสิ่งที่สร้าง dopamine หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” ให้กับพวกเขา งานวิจัยหลายแห่งค้นพบว่าประสิทธิภาพในการสร้าง dopamine ของโลกอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันนั้นเทียบเท่าไม่ได้เลยกับประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี VR ที่กำลังจะเริ่มสร้างประชากรกลุ่มใหม่ที่อาศัยอยู่ในโลกเสมือนมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อเรียนรู้ เล่นเกมส์ จีบสาวหรือแม้แต่มีเพศสัมพันธ์แบบเสมือนจริง
  • Outer Space Colonizations : การแข่งขันทางอวกาศแห่งยุคปัจจุบันนั้นเป็นศึกระหว่าง Elon Musk กับบริษัท SpaceX และ Jeff Bezos กับบริษัท Blue Origin ที่ต่างก็มีวิสัยทัศน์ในการอพยพมนุษย์ออกไปสู่อวกาศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรอันไม่จำกัด ทั้งในรูปแบบของโคโลนีบนอวกาศและโคโลนีในดวงดาวต่างๆ โดย Elon Musk มั่นใจว่าเขาจะนำพาให้มนุษย์ขึ้นไปเหยียบดาวอังคารได้สำเร็จก่อนปี 2030
  • Hive-Mind Collaborations : การอพยพที่มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมนุษย์ได้มากที่สุดก็คือการเชื่อมต่อระหว่างจิตใจของมนุษย์แต่ละคนเข้ากับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยี brain-computer interface (BCI) ที่กำลังได้รับการพัฒนาขึ้นจากบริษัทชั้นนำมากมาย รวมทั้ง Neuralink ของ Elon Musk และ DARPA ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ซึ่งหากมนุษยชาติสามารถเชื่อมต่อสมองของอัจฉริยะทุกคนเข้าด้วยกันได้ การพัฒนาการทางเทคโนโลยีอาจจะเกิดการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่และรวดเร็วอย่างที่เราคาดและจินตนาการไม่ถึงก็เป็นได้

 

ภาพจำลองโคโลนีในดาวอังคารของ SpaceX (ขอบคุณภาพจาก Space.com)

 



<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

punksood

View Comments

Recent Posts