News Ticker

[สรุปหนังสือ] The Nvidia Way : Jensen Huang and the Making of a Tech Giant

 

 

The Nvidia Way : Jensen Huang and the Making of a Tech Giant (2024)

by Tae Kim

 

“A successful idea, no matter how brilliant, must eventually be erased, and a new one must take its place.”

 

วันที่ 18 มิถุนายน 2024 คือ วันแห่งประวัติศาสตร์ของ Nvidia บริษัทผู้ผลิต microchip ประสิทธิภาพไร้เทียมทานที่สามารถไต่คลื่นของยุคทองแห่ง A.I. แซงหน้า Microsoft ขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนเฉลี่ยปีละกว่า 33% ตั้งแต่การเปิดขายหุ้น IPO เพียงไม่กี่ปีหลังจากการก่อตั้งบริษัทในปี 1993 โดยสามผู้ก่อตั้งที่หนึ่งในนั้นก็คือ Jensen Huang ชายอเมริกันเชื้อสายไต้หวันวัย 62 ปีผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Nvidia มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งที่กินระยะเวลายาวนานเกินกว่าครึ่งชีวิตของเขาไปแล้ว

The Nvidia Way คือ หนังสือเล่มแรกที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นกำเนิดของ Nvidia ในฐานะผู้ผลิต GPU (graphics processing unit) ที่เป็น microchip สำหรับประมวลผลการแสดงผลทางกราฟฟิคบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปจนถึง ปัจจุบันที่ Nvidia ปฏิรูปตัวเองจนกลายมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม microchip สำหรับการประมวลผลโมเดล AI ที่ตลอดเส้นทางนั้นเต็มไปด้วยบทเรียนที่ผู้เขียน Tae Kim นักข่าวสายเทคโนโลยีได้กลั่นกลองแนวคิดการทำงานแบบไม่เหมือนใครของ Jensen Huang ออกมาเป็นหลักการที่เขาเรียกว่า “Nvidia Way” ที่ทำให้ Nvidia สามารถสร้างนวัตกรรมมาปฏิวัตินวัตกรรมก่อนหน้าของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง

ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเรื่องราวของบริษัทที่กำลังมาแรงที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาและผู้ที่สนใจแนวคิดในการบริหารองค์กรนวัตกรรมที่ไม่ธรรมดาอ่านสรุปหนังสือ The Nvidia Way เล่มนี้กันได้เลยครับ

 


 

Part I : THE EARLY YEARS (PRE-1993)

 

1 | Pain and Suffering

Jen-Hsun Huang หรือ Jensen Huang เกิดที่เกาะไต้หวันเมื่อปี 1963 ในครอบครัวคนชั้นกลางที่ตระเวนทำงานในต่างประเทศที่รวมถึงประเทศไทยที่เขาอาศัยอยู่ก่อนที่พ่อแม่จะขายทรัพย์สินแทบทั้งหมดเพื่อส่งเขาและพี่ชายไปยังโรงเรียนประจำที่รัฐ Kentucky ที่เป็นโรงเรียนสำหรับดัดสันดานเด็กมีปัญหาที่ทำให้ Jensen Huang ที่เป็นชาวเอเชียตัวเล็กและอายุน้อยได้เรียนรู้ถึงการเอาชีวิตรอดจากการถูกรังแกและการรู้จักที่จะสู้กลับ โดยหนึ่งในเทคนิคที่เขาทำก็คือการตีสนิทเพื่อนร่วมห้องที่อายุเยอะกว่าเขาถึง 8 ปีด้วยการสอนให้เขาอ่านหนังสือออกได้ นอกจากนั้น Jensen Huang ยังต้องทำงานนอกเวลาเรียนอย่างการทำความสะอาดตึกและห้องน้ำในทุกๆวันที่ช่วยฝึกความอดทนและสร้างวินัยในการทำงานที่มีเพียงคนที่เห็นสิ่งโสโครกในห้องน้ำทุกวันเท่านั้นที่จะมีได้

ต่อมา Jensen Huang ก็ได้ย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ที่รัฐ Oregon ที่ซึ่งเขาก็ได้แสดงทั้งศักยภาพด้านการเรียนระดับเกรด A ไปพร้อมๆกับความสามารถในด้านกีฬาปิงปองระดับประเทศและยังมุ่งมั่นที่จะทำงานพาร์ทไทม์หาเงินที่ร้านอาหารจานด่วนอย่าง Denny’s ที่เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดห้องน้ำและเสิร์ฟที่เขามักพูดเสมอว่าเขาคือ  “CEO ที่มีประสบการณ์การล้างห้องน้ำมากที่สุดในโลก” และยังเชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดนั้นทำให้เขาคือ “เด็กเสิร์ฟที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่ Denny’s เคยมีมา” ทั้งการล้างจานที่เนี๊ยบและรวดเร็ว การเสิร์ฟที่ยกได้ในปริมาณที่มากกว่าคนอื่นและการรับออเดอร์ที่เขาพยายามโน้มน้าวให้ลูกค้าไม่สั่ง milkshake ที่ทั้งใช้เวลาทำนานและล้างยากเพื่อลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเขา

หลังจากการเรียนจบชั้น high school ที่เร็วกว่าเด็กทั่วไปกว่า 2 ปีแล้ว Jensen Huang ก็เลือกเรียนต่อปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ Oregon State University ที่ซึ่งเขาก็ได้พบกับ Lori Mills ที่ต่อมากลายมาเป็นภรรยาและแม่ของลูกทั้งสองคนอย่าง Spencer และ Madison ซึ่งหลังจากเรียนจบเขาก็เลือกทำงานออกแบบ microchip ที่ AMD ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกไปอยู่กับบริษัท LSI Logic ที่เขามองว่ากำลังมีนวัตกรรมที่ใหม่กว่าในวงการที่ซึ่งเขาก็ได้ทำงานให้กับลูกค้าอย่าง Sun Microsystems ที่ทำให้เขาได้มาพบกับ Chris Malachowsky และ Curtis Priem สองผู้ร่วมก่อตั้ง Nvidia ในอนาคตที่ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความกล้าและวิสัยทัศน์ของ Jensen Huang ที่จะทิ้งสิ่งที่คุ้นเคยไปสู่คลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะมา โดยขณะที่เขาทำงานไปด้วยเขาก็เลือกที่จะเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ Stanford University ในภาคค่ำที่เขาอดทนใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าที่จะเรียนจบ

หากมีใครถามคำถามว่า Jensen Huang มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้ เขาก็มักจะตอบว่า “ความอดทนต่อความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน” อย่างไม่ลดละและ “ความทุ่มเท” อย่างสุดกำลังเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นที่จะสามารถหล่อหลอมตัวตนที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาใดๆได้

 

Jensen Huang ซีอีโอของ Nvidia (source: NBC News)

 

2 | The Graphics Resolution

โครงการพัฒนา microchip ที่ทำให้ผู้ร่วมก่อตั้ง Nvidia ทั้งสามคนมาเจอกันนั้นเริ่มต้นขึ้นที่ Sun Microsystems ที่ในขณะนั้นมีแผนการในการพัฒนา SPARCstation คอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในงานออกแบบ (computer-aided design หรือ CAD) ที่ต้องอาศัย microchip ที่สามารถประมวลผลกราฟฟิค 3 มิติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเจ้าของโครงการก็ตัดสินใจแยก microchip สำหรับงานกราฟฟิคออกจาก central processing unit (CPU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลอย่างไหลลื่นและทำการว่าจ้าง Curtis Priem วิศวกรนักออกแบบ microchip ที่เคยออกแบบ Professional Graphics Controller (PGC) ที่เป็น microchip ที่สามารถประมวลผลภาพกราฟฟิคที่มี resolution และตัวเลือกของสีมากที่สุดในปี 1984 ให้กับ IBM ซึ่ง Curtis Priem นั้นก็ได้สัมภาษณ์และได้มาร่วมงานกับ Chris Malachowsky วิศวกรผู้เคยมีประสบการณ์ในการคุมกระบวนการผลิตคอมพิวเตอร์ของ HP

โดยทีมงานทั้งสองของ Sun Microsystems ก็ได้ตัดสินใจร่วมงานกับ LSI Logic ในการผลิต microchip สำหรับประมวลผลกราฟฟิคที่ Curtis Priem เป็นคนออกแบบตัว microchip และ Chris Malachowsky เป็นคนออกแบบกระบวนการผลิตร่วมกับผู้ดูแล project ไฟแรงที่ LSI Logic ส่งมาอย่าง Jensen Huang ซึ่งทั้งสามก็สามารถพัฒนา microchip ชื่อ GX ที่มีความสามารถในการประมวลผลทางกราฟฟิคที่เหนือกว่าใครในตลาดได้ในปี 1989 และ Curtis Priem ก็ยังออกแบบเกมควบคุมเครื่องบินอย่าง Aviation ที่ทั้งสนุกและยังสามารถใช้โชว์ความสามารถของ GX ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ทั้ง Sun Microsystems และ LSI Logic ต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อหลังจากนั้นมา Sun Microsystems ก็ได้ค่อยๆกลายมาเป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยการเมืองและได้ตีตกแผนการพัฒนา microchip รุ่นใหม่ของ Curtis Priem ลงจนท้ายที่สุดเขาและ Chris Malachowsky ก็ตัดสินใจวางแผนที่จะลาออกและเริ่มต้นแผนโครงการในการออกแบบ microchip สำหรับงานกราฟฟิคให้กับ Samsung ซึ่งทั้งสองคนก็หันหน้ามาหา Jensen Huang ให้ร่วมทำโครงการนี้ด้วยกัน ซึ่งไม่นาน Jensen Huang ก็ถามพวกเขากลับว่าทำไมทั้งสามถึงไม่เลือกทำ startup เพื่อผลิต microchip ของตัวเองแทนหละ ?

 

3 | The Birth of Nvidia

Jensen Huang พร้อมด้วย Curtis Priem และ Chris Malachowsky ใช้เวลาร่วมกันวางแผนโมเดลธุรกิจที่ร้าน Denny’s สาขาในเมือง San Jose ตะวันออกที่ซึ่งทั้งสามก็ได้ตกลงวางแผนให้ธุรกิจของพวกเขาพัฒนา microchip สำหรับงานกราฟฟิคสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ในปี 1992 นั้นก็เริ่มเป็นกระแสหลักหลังจากที่ Microsoft เปิดตัว Windows 3.1 โดยวางเป้าหมายให้ microchip ที่แต่เดิมตั้งชื่อว่า “GXNV” ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็น new version ของ GX ของ Sun Microsystems ก่อนที่จะตัด GX ออกเหลือเป็น “NV1” เป็น mircrochip ด้านกราฟฟิคที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาดเพื่อจับตลาดเกมคอมพิวเตอร์ที่เริ่มเป็นที่นิยม ซึ่งสามผู้ก่อตั้งมองว่า NV1 นั้นสามารถเร่งวิวัฒนาการให้เกมคอมพิวเตอร์มีกราฟฟิคที่สวยงามยิ่งขึ้นและจะนำไปสู่ยุครุ่งเรืองของเกมคอมพิวเตอร์ในที่สุดและสุดท้ายก็ตั้งชื่อบริษัทว่า ”Nvidia“ ที่มาจากคำภาษาลาตินว่า Invidia ที่แปลว่า “อิจฉา” โดยตัดตัว I ออกเพื่อให้เหมือนกับชื่อของ NV1 เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าทุกบริษัทจะต้องอิจฉาความสำเร็จของ Nvidia

Nvidia ถูกจัดตั้งบริษัทในเดือนเมษายน 1993 หลังจากที่ผู้ร่วมก่อตั้งต่างทะยอยกันส่งงานของบริษัทที่ตัวเองรับผิดชอบให้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์โดยมี Curtis Priem ที่มีปัญหากับ Sun Microsystems ลาออกก่อนก่อนที่ Jensen Huang และ Chris Malachowsky จะตามลาออกเมื่อทั้งสองพึงพอใจต่อผลงานสุดท้ายแล้วในอีก 2-3 เดือนต่อมา (Jensen Huang เคยบอกผู้ร่วมก่อตั้งอีกสองคนว่าเขาไม่มีปัญหากับ LSI Logic แตกต่างจากทั้งสองคนและจะลาออกเมื่อเขารู้สึกว่า Nvidia สามารถมีตลาดที่ใหญ่อย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์ได้ ซึ่งต่อมาเขาก็เชื่อว่าทำได้จนยอมลาออก) ซึ่งการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับ LSI Logic และ Sun Microsystems ก็ช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีชื่อเสียงที่ดีมากในวงการและสามารถใช้ connection ในการคว้าเงินลงทุน 2 ล้านดอลลาร์แรกจาก Sequoia Capital และ Sutter Hill Ventures ได้ภายในเดือนมิถุนายนทั้งๆที่พวกเขาก็ยังไม่สามารถ pitch ไอเดียธุรกิจได้ดีเท่าไหร่ พร้อมๆกับการที่มีวิศวกรจากบริษัทเก่าหลายคนยอมลาออกมาร่วมงานโดยไม่ขอรับเงินเดือนในช่วงเดือนแรกๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้ Jensen Huang ได้บทเรียนว่าชื่อเสียงที่เกิดขึ้นจากความสามารถจริงนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

สามผู้ก่อตั้งของ Nvidia (source: techspot)

 


 

Part II : NEAR-DEATH EXPERIENCES (1993-2003)

 

4 | All In

โครงสร้างเริ่มต้นของ Nvidia นั้นจัดแบ่งสามผู้ก่อตั้งตามทักษะที่แต่ละคนถนัดที่สุด โดยที่ Curtis Priem รับหน้าที่เป็นผู้คุมงานการออกแบบ microchip และทำงานร่วมกับ Chris Malachowsky ผู้รับหน้าที่คุมงานฝ่ายวิศวกรรมและการผลิตที่ใช้วิธีการ outsource ไปยังโรงงานผลิต microchip เพื่อโฟกัสทรัพยากรของบริษัทที่การพัฒนา microchip ที่ดีที่สุด ส่วน Jensen Huang ก็รับหน้าที่เป็น CEO ดูแลด้านธุรกิจไปโดยปริยาย

โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของ Nvidia อย่าง NV1 นั้นก็ได้เปิดตัวขึ้นในปี 1994 โดยแนวคิดของ Curtis Priem ที่ต้องการพัฒนา microchip ด้านกราฟฟิคที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประหยัดต้นทุนชิ้นส่วนประกอบที่ราคาสูงมากในขณะนั้น ซึ่ง Curtis Priem ก็ใช้วิธีการพัฒนาโครงสร้างการประมวลผลกราฟฟิคแบบใหม่แทนการใช้โครงสร้างที่เป็นมาตรฐานของตลาดและการเลือกใส่ระบบประมวลผลทางเสียงเข้าไปใน NV1 ที่สามารถประมวลผลได้ทั้งกราฟฟิคและเสียงแบบ 2-in-1 ซึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ล้ำมากๆ ซึ่ง NV1 นั้นก็สร้างยอดขายได้ดีใช้ได้ตั้งแต่เปิดตัวและยังได้ Sega บริษัทเกมจากญี่ปุ่นตัดสินใจร่วมจับมือทำ partnership ในการพัฒนา NV2 สำหรับ game console รุ่นใหม่

แต่ปัญหาในการเลือกที่จะพัฒนา microchip ที่เน้นนวัตกรรมสูงโดยยอมแลกกับการไม่ทำตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมก็ได้เริ่มเกิดขึ้น เมื่อราคาของชิ้นส่วนต่างๆของ microchip เริ่มถูกลงเป็น 10 เท่าในหนึ่งปีที่ทำให้คู่แข่งที่ไม่ต้องมีนวัตกรรมที่ล้ำขนาดนี้ก็สามารถพัฒนา microchip ที่ดีและมีราคาถูกได้ ประกอบกับการที่ผู้ผลิตเกมใหม่ๆอย่าง DOOM ที่โด่งดังเป็นพลุแตกก็ไม่ได้เลือกที่จะพัฒนาโครงสร้างกราฟฟิคและเสียงตามมาตรฐานของ Nvidia ที่ทำให้ NV1 มีปัญหาด้าน compatibility ที่ประมวลผลกราฟฟิคและเสียงของเกมส่วนใหญ่ในตลาดได้สู้กับคู่แข่งไม่ได้ จนทำให้ท้ายที่สุดก็มีบริษัทจำนวนมากที่ทำการคืน NV1 แก่ Nvidia และ Sega เองก็ยกเลิกการใช้งาน NV2 (แต่ Jensen Huang ก็ให้วิศวกรคนหนึ่งพัฒนา prototype สำเร็จตามสัญญาเพื่อรับเงินมาประทังบริษัท)

ชะตากรรมของ Nvidia ต้องตกอยู่ในฐานะลำบากด้วยเงินทุนที่เหลือเพียง 9 เดือนและยังต้อง layoff พนักงานไปเกินครึ่ง ซึ่ง Jensen Huang ก็ทำการพนันหมดหน้าตักไปที่ NV3 ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น RIVA 128 ที่ Curtis Priem ต้องการพัฒนา microchip ที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งทั้งมวลโดยยอมทำตามมาตรฐานของอุตสาหกรรม ซึ่งโดยปกติแล้วการพัฒนา microchip ใหม่นั้นต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปีซึ่งเป็นเวลาที่ Nvidia ไม่มีและทำให้ Jensen Huang ตัดสินใจเสี่ยงอีกครั้งในการทุ่มเงินที่สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 3 เดือนได้ไปซื้อเครื่องจำลองการทำงานของ microchip แบบ prototype เพื่อร่นระยะเวลาการพัฒนา RIVA 128 โดยไม่ต้องผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จริงก่อนและ Jensen Huang ก็ยังใช้ความสามารถในการปิดดีลกับบริษัทคู่แข่งเพื่อ license ชิ้นส่วนบางส่วนที่ Nvidia ไม่มีเวลาทำแถมยังสามารถขโมยวิศวกรฝีมือดีที่ทำให้การผลิต RIVA 128 ดำเนินต่อไปได้มาได้

จนท้ายที่สุด RIVA 128 ก็เปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ในปี 1997 ด้วยประสิทธิภาพที่ไม่มีบริษัทไหนสู้ได้และทำให้ Nvidia พลิกกลับมาทำกำไรและกินส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 1 ใน 5 ในระดับที่บริษัทคู่แข่งต่างพากันล้มตายหรือเสียดายที่ไม่ยอมเข้าซื้อกิจการ Nvidia ตอนที่ใกล้จะพังเพียงไม่กี่ปีก่อน

 

5 | Ultra-Aggressive

Jensen Huang เข้าใจในสถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรม microchip เป็นอย่างดีที่ถึงแม้ว่า RIVA 128 จะคว้าตำแหน่งผู้นำในตลาดได้สำเร็จ แต่ตำแหน่งผู้นำนั้นก็จะถูกแทนที่อย่างรวดเร็วด้วย microchip รุ่นใหม่ที่ดีกว่าภายในไม่กี่เดือนจากความเร็วของนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเหตุให้เขาเลือกใช้แนวคิดที่ว่า “We’re thirty days from going out of business” ที่สื่อว่าหาก Nvidia ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ Nvidia ล้มละลาย ยกตัวอย่างเช่นหลังจากที่ RIVA 128 เปิดตัวไม่นานก็เจอคู่แข่งที่มีทุนหนากว่ามากอย่าง Intel เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใหญ่กว่าและดีกว่าซึ่ง Nvidia ที่นำทีมโดย Chris Malachowsky ก็เร่งพัฒนา RIVA 128 รุ่นอัพเกรดที่ดีกว่าออกสู่ตลาดที่เปิดตัวภายใน 11 วันหลังจาก Intel เพื่อรักษาตำแหน่งแชมป์ให้ได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น Jensen Huang จึงเลือกสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานแบบบ้าคลั่งขั้นสุดด้วยความเร็ว “Speed of Light” ที่ตั้งคำถามอยู่เสมอว่า Nvidia จะทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เร็วที่สุดได้อย่างไร เหมือนกรณีของ RIVA 128 ที่ใช้เวลาแล้วเสร็จภายใน 9 เดือนแตกต่างจากบริษัททั่วไปที่ใช้เวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าพนักงานของ Nvidia จะต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืนในวันธรรมดาและก็เข้ามาทำงานเต็มวันในวันเสาร์อาทิตย์โดยแทบไม่หยุดหย่อนและ Nvidia ก็ใช้วิธีการบริหารทรัพยากรองค์กรอย่างรวดเร็วคือทั้งจ้างเร็วและไล่ออกเร็วหากพนักงานดีไม่เพียงพอ รวมถึงแนวคิดแบบ ”Up or Out” ที่หากพนักงานไม่ได้รับการโปรโมตตามรอบก็ให้ออกจากบริษัทไปเลยเพื่อหาคนใหม่ที่ดีกว่า อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนไปที่บุคลิกของ Jensen Huang ที่บ้าคลั่งในการแข่งขันและต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในทุกๆด้านในขนาดที่เขาเคยโกรธมากๆที่ microchip ของ Nvidia ถูกจัดอันดับเป็นที่ 2 และยังมีเรื่องเล่าว่าเขามักโมโหทุกครั้งที่เขาเล่นหมากรุกแพ้ผู้บริหารคนหนึ่งในทีมจนลงมือฝึกฝนอย่างหนักแต่ก็แพ้ จนสุดท้าย Jensen Huang ต้องเชิญผู้บริหารคนนั้นไปแข่งปิงปองที่เขาถนัดด้วยเพื่อเอาชนะในเกมอื่นให้ได้ก็ยังดี

นอกจากนััน Jensen Huang ยังเลือกวางผังองค์กรแบบ “Three Teams, Two Seasons” ที่แบ่งหน่วยงานพัฒนา microchip รุ่นใหม่ออกเป็น 3 ทีมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามรอบการเปลี่ยนแปลงของคอมพิวเตอร์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่า Nvidia จะมีนวัตกรรมที่ดีที่สุดในตลาดในทุกๆ 6 เดือนซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยังคงเลือกใช้งาน Nvidia อยู่ เคียงคู่กับอีกสองนวัตกรรมเด่นของ Curtis Prime อย่างการพัฒนา microchip ที่มักมี compatibility กับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าเสมอ (backwards compatible) เพื่อให้ง่ายต่อการซื้อไปใช้งานและการพัฒนา resource manager ที่สามารถติดตั้งไปบน hardware ของ microchip เพื่อทำงานในรูปแบบ software แทนองค์ประกอบของ hardware ที่อาจหายไปที่ช่วยทำให้การพัฒนา microchip ของ Nvidia รวดเร็วตามแนวคิดเทึยบเท่าความเร็วแสง

แต่กระนั้นเอง Nvidia ก็ต้องเจอวิกฤติอีกครั้งในปี 1998 เมื่อกระบวนการผลิต microchip ที่เปลี่ยนมาใช้ผู้นำของอุตสาหกรรมอย่าง TSMC ในไต้หวันแล้วกับพบปัญหา defect ที่ Nvidia ต้องตัดสินใจจ้างพนักงานจำนวนมากมาทำการ QC ตรวจสอบคุณภาพของ microchip ทีละชิ้นที่ทั้งเพิ่มต้นทุนและยังทำให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อการขายจนกลับมาขาดทุนใหม่และต้องยกเลิกการเปิดขายหุ้น IPO ไป แต่ก็ยังดีที่ Jensen Huang สามารถกู้เงินจากบริษัทลูกค้ารายใหญ่ 3 รายที่ต่างก็ต้องการนวัตกรรมที่เหนือกว่าคู่แข่งรายใดในตลาดของ Nvidia

 

6 | Just Go Win

ความสำเร็จของ Nvidia จากวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนักหน่วงที่มีต้นแบบมาจากแนวคิดของ Jensen Huang ได้นำมาซึ่งความปั่นป่วนในอุตสาหกรรม microchip โดยเฉพาะบรรดาเหล่าคู่แข่งทางตรงที่ต่างก็ค่อยๆล้มตายและถูก Nvidia แย่งชิงวิศวกรฝีมือดีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งในที่สุด Nvidia ก็สามารถระดมทุน IPO ได้ในต้นปี 1999 ที่ราคาหุ้น 12 ดอลลาร์ โดยที่เหล่าบรรดาผู้บริหารต่างก็ตกลงทำสนธิสัญญากันอย่างสนุกๆว่าหากราคาหุ้นพุ่งถึง 100 ดอลลาร์แล้วแต่ละคนจะยอมทำอะไรบ้าง โดย Jensen Huang จะยอมเจาะหู, Chris Malachowsky จะทำผมโมฮอคและ Curtis Priem จะยอมตัดผลและสักโลโก้ Nvidia บนหัว

โดยเมื่อ Nvidia มีทุนมากพอจากการระดมทุนแล้ว สิ่งที่ Jensen Huang สั่งลูกทีมก็คือการออกไปเอาชนะทุกดีลในตลาดให้ได้ ซึ่งทีมงานฝ่ายขายก็ใช้กลยุทธ์แจก microchip รุ่นใหม่อย่าง GeForce ให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์ต่างๆแบบฟรีๆและเร่งแย่งชิงดีลใหญ่ๆ อาทิ การปิดดีลกับ Microsoft ให้ใช้งาน microchip ของ Nvidia ในเครื่องเล่นเกม Xbox ซึ่งก็ส่งผลให้หุ้นของ Nvidia พุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ภายในต้นปี 2000 และทำให้เหล่าผู้บริหารต้องทำตามสนธิสัญญาที่พวกเขาตกลงกันอย่างรวดเร็วกว่าที่แต่ละคนคิดไว้

แต่อย่างไรก็ตาม Nvidia ก็เริ่มมีปัญหาภายในเมื่อ Curtis Priem ในฐานะ chief technology officer ก็เริ่มมีบทบาทที่ลดลงหลังจากที่ Nvidia มีวิศวกรฝีมือดีจำนวนมากและนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในมากมาย ซึ่งสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจลาออกไปในปี 2003

 

Curtis Priem กับการยอมตัดผมเป็นโลโก้ของ Nvidia (source: techspot)

 

7 | GeForce and the Innovator’s Dilemma

หนึ่งในปรัชญาการบริหารธุรกิจที่ Jensen Huang ยึดมั่นที่สุดก็คือแนวคิด The Innovator’s Dilemma ของศาสตราจารย์ Clayton Christensen ที่อธิบายถึงวัฏจักรของนวัตกรรมที่มักเกิดขึ้นเมื่อบริษัท startup น้องใหม่ค้นพบช่องว่างทางการตลาดในรูปของผลิตภัณฑ์ที่มักมีราคาที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ของเจ้าตลาดแต่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มได้และค่อยๆขยายธุรกิจมากินส่วนแบ่งของรายใหญ่ที่มักไม่อยากยอมลดราคาลงมาแข่งเพราะจะเป็นการทำลายขุมรายได้ของตัวเอง ซึ่ง Jensen Huang ก็มองว่า Nvidia ในช่วงปี 2000 นั้นก็กลายมาเป็นเจ้าตลาดที่ขาย microchip ที่มีคุณภาพดีที่สุดในราคาแพงและอาจถูกท้าทายจากผู้เล่นรายใหม่ที่ทำราคาถูกกว่า จนทำให้เขาเลือกใช้แนวคิด “Ship the Whole Cow” ที่เขาเล็งเห็นโอกาสในการลงทุนแก้ไข microchip ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานสูงสุดมาขายเป็นสินค้าที่เกรดถูกลงโดยไม่ต้องทิ้งซึ่งช่วยทั้งป้องกัน Nvidia จากการโจมตีของ startup กลุ่มใหม่ๆและยังช่วยเพิ่มผลกำไรได้เป็นอย่างดีจากการทำรายได้จากขยะที่แต่เดิมเป็นเพียงแค่ค่าใช้จ่ายได้สองเด้ง

อีกหนึ่งนวัตกรรมของ Nvidia ก็คือนวัตกรรมด้านการตลาดที่ทำการแบรนด์ผลิตภัณฑ์ microchip ของบริษัทว่าเป็น “graphics processing unit” หรือ “GPU” ที่เป็นการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เริ่มจาก GeForce 256 ในปี 1999 ให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจว่า GPU นั้นมีความซับซ้อนและความสามารถในการประมวลผลไม่แตกต่างจาก CPU (central processing unit) ที่เป็นตัวประมวลผลหลักของคอมพิวเตอร์ที่ผู้คนทั่วไปรู้จักและมีราคาที่สูงกว่า microchip ด้านกราฟฟิคทั่วๆไป โดย Nvidia ก็เลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรของคำว่า GPU และปล่อยให้อุตสาหกรรมทั้งหมดหันมาใช้คำนี้ซึ่งก็ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับ Nvidia เป็นอย่างดีและก็ช่วยให้ Nvidia เพิ่มราคาขายได้สูงขึ้น ซึ่งต่อมา Nvidia ก็ได้เปิดตัว GeForce 3 ในปี 2001 ที่เป็น GPU อย่างสมบูรณ์แบบรุ่นแรกที่นักพัฒนาเกมสามารถเขียนโปรแกรมต่อยอดวิธีการประมวลผลในแบบของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมาตรฐานของบริษัท microchip ซึ่งก็แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า Nvidia นั้นพยายามที่จะปฏิรูปตัวเองก่อนที่จะมีใครมาแข่งขันได้ จนถูกใจไปถึง Steve Jobs ที่ก็กระโดดมาใช้งาน Nvidia ในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของ Apple กว่า 85% อีกรายหลังจากที่เขาถูกใจงานกราฟฟิคที่ทีมขายของ Nvidia ทำการฉายวิดิโอ 3 มิติที่เปลี่ยนมุมมองได้ของเจ้าโคมไฟ Luxo Jr. สัญลักษณ์ของ Pixar ที่ Steve Jobs ก็เป็น CEO ในขณะนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของ Nvidia ก็นำพาองค์กรไปสู่ปัญหาใหม่อย่างการกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ Nvidia ทำการว่าจ้างพนักงานจากบริษัทคู่แข่งจำนวนมากซึ่งต่างก็มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันจนนำมาสู่ปัญหาของสินค้าใหม่อย่าง NV30 (GeForce FX) ที่กลายมาเป็นสินค้าที่สู้คู่แข่งไม่ได้จากปัญหาด้านกระบวนการทำงานที่เริ่มกลายเป็นไซโลที่แต่ละแผนกทำงานไปคนละทางและปัญหาด้านการต่อรองกับ Microsoft ที่ทำให้ Nvidia ไม่รู้สเปครุ่นใหม่จนออกแบบผิดพลาดและต้องเติมแต่ง GPU รุ่นนี้จนทำให้ทั้งทำงานช้าลงและยังจำเป็นต้องติดพัดลมระบายความร้อนที่เสียงดังมากจนผู้ใช้งานไม่พอใจ ซึ่ง Jensen Huang ก็วางหมุดหมายว่าเขาจะต้องทำการปฏิรูปองค์กรใหม่และจะไม่ก่อปัญหาแบบนี้เป็นครั้งที่ 2 อีก

 


 

Part III : NVIDIA RISING (2002-2013)

 

8 | The Era of the GPU

จุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ที่นำพา Nvidia ทะยานกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าอันดับต้นๆของโลกนั้นเริ่มขึ้นจากเทรนด์เล็กๆในหมู่ของนักวิจัยและวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เริ่มทำการเขียนโปรแกรมใน GeForce 3 เพื่อใช้งานความสามารถในการ “ประมวลผลแบบพร้อมกัน (parallel processing)” ของ GPU ที่ถูกออกแบบให้ประมวลผลกราฟฟิคในหลายๆตำแหน่งพร้อมๆกันได้อย่างรวดเร็วในการประมวลผลคำสั่งที่ซับซ้อนและต้องใช้ computing power จำนวนมหาศาล อาทิ การพยากรณ์การไหลของของเหลวและการก่อตัวของเมฆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า GPU นั้นมีคุณสมบัติในการประมวลผลเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนสูงได้รวดเร็วกว่า CPU ที่ใช้ระบบการประมวลแบบต่อคิว (sequential processing) ที่ง่ายต่อการประมวลผลได้หลากหลายวัตถุประสงค์แต่ก็เชื่องช้าในงานที่ต้องใช้กำลังสูง (ซึ่งก็คือเหตุผลแรกเริ่มว่าทำไมถึงต้องมี microchip สำหรับประมวลผลด้านกราฟฟิคโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่แทน CPU)

แต่ความท้าทายของการใช้ GPU ในการประมวลผลก็คือความยากและข้อจำกัดมากมายในการเขียนโปรแกรมลงใน GPU จนเป็นเหตุให้ Jensen Huang ผู้เชื่อมั่นในความสามารถอันนอกเหนือจากการงานด้านกราฟฟิคของ GPU ทำการลงทุนวิจัยพัฒนาโครงสร้างโมเดลการเขียนโปรแกรมของ GPU ใหม่ที่เรียกว่า Compute Unified Device Architecture (CUDA) ที่ Nvidia ตั้งทีมงานเฉพาะขึ้นมาพัฒนา GPU รุ่นใหม่นี้แบบระยะยาวซึ่งก็กินเวลานานกว่า 4 ปีและทุ่มเงินวิจัยกว่า 1 ใน 3 ของงบทั้งหมดจนได้ออกมาเป็น GPU ที่มีระบบ CUDA รุ่นแรกอย่าง G80 ที่เปิดตัวในปลายปี 2006 โดยถึงแม้ว่า GPU แบบติดโมเดล CUDA ของ Nvidia นั้นจะไม่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเท่าไหร่ในช่วง 3-4 ปีแรกและทำให้หุ้นของ Nvidia ร่วงตกต่ำลงมาอย่างหนัก แต่ Jensen Huang ก็ยังเชื่อมั่นว่า CUDA คืออนาคตของ Nvidia และเร่งทุ่มเทในการสร้างตลาดใหม่นี้ให้เกิดขึ้น

โดยกลยุทธ์ในการสร้างตลาด CUDA ของ Nvidia นั้นพุ่งเป้าไปที่มหาวิทยาลัยและเหล่านักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ การที่ David Kirk ผู้เป็น chief scientist officer ในสมัยนั้นได้ตัดสินใจเปิดคอร์สการเขียนโปรแกรมบน GPU ผ่าน CUDA ที่ University of Illinois พร้อมกับเขียนตำราอย่างละเอียดที่จุดประกายให้มหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มทำตาม ไปจนถึง การที่ทีมขายต่างพากันติดต่อเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาโปรแกรม simulation ต่างๆ อาทิ โปรแกรมจำลองรูปร่างของโปรตีนเพื่อใช้พัฒนายา เพื่อเปลี่ยนให้พวกเขาใช้งาน GPU แทน supercomputer ที่ทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิมมากจนเพิ่มโอกาสให้เหล่านักวิจัยตัวเล็กๆทำงานวิจัยที่แข่งขันกับรายใหญ่ได้และเริ่มทำให้การเขียนโปรแกรมบน GPU ของ Nvidia นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่อย่างอดทนของ Jensen Huang ก็ได้ผลิดอกออกผลเมื่อ CUDA ได้รับการยอมรับเป็นภาษาหลักของเหล่านักพัฒนาในยุคของ AI ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น “คูน้ำ (moat)” ของ CUDA ในการปกป้องอาณาจักร Nvidia จากคู่แข่งทั้งปวง เพราะ CUDA นั้นกลายมาเป็นมาตรฐานหลักของอุตสาหกรรมที่เหล่านักพัฒนาใช้กันมาตั้งแต่ก่อนการเติบโตของ AI และน้อยคนนักจะอยากหันไปใช้มาตรฐานของบริษัทอื่นๆที่มีทรัพยากรคลังความรู้ที่ไม่มีวันสู้กับของ Nvidia ได้เลย

 

9 | Tortured into Greatness

เมื่อ Nvidia ได้เติบโตจากบริษัท startup เล็กๆไปสู่องค์กรระดับโลกที่มีพนักงานนับพันนับหมื่นคนกระจายอยู่ในหลายประเทศและได้เรียนรู้จากความล้มเหลวของผลิตภัณฑ์อย่าง NV30 ที่ล้วนเกิดจากปัญหาการทำงานภายในองค์กร การวางรากฐานทางวัฒนธรรมองค์กรของ Jensen Huang ที่แตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ทั่วๆไปนั้นก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเพื่อปฏิวัติตัวเองได้อย่างต่อเนื่องของ Nvidia ในอุตสาหกรรมที่พลาดไปปีเดียวนั้นก็เท่ากับพ่ายแพ้จนตามไม่ทันได้ตลอดไป ซึ่งแนวคิดในการบริหารคนของ Jensen Huang อย่าง “Tortured into Greatness” ที่เขาใช้ความเข้มงวด ความคาดหวังที่สูงลิบและวิธีการทำงานที่ท้าทายในการทรมานให้พนักงานของเขากลายเป็นยอดฝีมือ ซึ่งหลักการหลักๆในการบริหารองค์กรของ Jensen Huang ก็มีดังต่อไปนี้

  • Flat Organization : Jensen Huang เชื่อว่าองค์กรควรมีลำดับขั้นของการบังคับบัญชาที่น้อยที่สุดและให้ผู้จัดการแต่ละคนต้องมี direct report จำนวนมาก อาทิ ตัวของ Jensen Huang เองที่มีผู้ direct report มากถึง 60 คน เพื่อกำหนดให้พนักงานแต่ละคนจำเป็นต้องสามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างดีที่สุดเพราะหัวหน้าของพวกเขามีเวลาต่อลูกน้องแต่ละคนอย่างจำกัดและองค์กรแบบแบนราบนี้ก็ช่วยลดปัญหาการเมืองภายในองค์กรและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารที่สามารถทำในวงกว้างได้ (แต่แน่นอนว่าโครงสร้างองค์กรแบบนี้ก็ทำให้ทุกคนต้องทำงานอย่างหนักถึงจะสามารถบริหารจัดการทีมใหญ่ๆที่แต่ละคนมีความรับผิดชอบสูงได้)
  • Mission is the Boss : Jensen Huang วางองค์กรให้มีความลื่นไหลสูงที่พนักงานแต่ละคนสามารถเปลี่ยนแปลง project และหัวหน้าได้ตามความเหมาะสม โดยเมื่อมี project ใหม่เกิดขึ้น Jensen Huang ก็มักจะกำหนดผู้นำของ project นั้นๆหนึ่งคนและกำหนดให้เขา report โดยตรงต่อ Jensen Huang พร้อมกับการโยกย้ายพนักงานที่เหมาะสมเข้ามาในทีม project ใหม่นี้อย่างรวดเร็วโดยกำหนดให้พันธกิจของ project คือหัวหน้าที่แท้จริงโดยไม่ยึดติดกับบุคคล
  • Direct Public Feedback : ด้วยความที่องค์กรมีขนาดใหญ่และแบนราบมากจนการให้ feedback แบบ 1-on-1 นั้นกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และเสียเวลา วิธีการให้ feedback ของ Jensen Huang ก็เลยเป็นการให้ feedback ทันทีในห้องประชุมนั้นๆท่ามกลางผู้ร่วมประชุมทุกคน โดย Jensen Huang เชื่อว่าความผิดพลาดของคนหนึ่งคนนั้นมีคุณค่ามากพอที่จะให้คนอื่นๆเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นไปด้วยกันได้ นอกจากนั้น Jensen Huang ก็เลือกที่จะไม่ชื่นชมใครและมักถามหาวิธีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอไม่ว่าที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จมากขนาดไหนก็ตาม
  • The Top 5 E-mail : Jensen Huang ไม่เชื่อในเรื่องการเขียนรายงานอันยาวเหยียดที่อาจมีการตัดต่อข้อมูลให้สวยหรูเกินจริง โดยเขาเลือกให้พนักงานทุกคนทำการส่ง e-mail รายสัปดาห์ที่สรุปสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำที่สำคัญที่สุด 5 ข้อและสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาจากลูกค้าซึ่งล้วนเป็นสัญญาณที่ทำให้ Nvidia สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ก่อนใคร โดย Jensen Huang นั้นก็ใช้เวลาอ่าน e-mail เหล่านี้ในทุกๆวันโดยเฉพาะในคืนวันอาทิตย์และก็เกิดไอเดียมากมาย
  • Whiteboard : Jensen Huang เกลียดการใช้งาน slide ที่มักถูกจัดเรียงอย่างสวยงามและไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ระหว่างการประชุม โดยเขาเลือกที่จะใช้ไวท์บอร์ดเป็นช่องทางหลักในการ presentation แทนซึ่งก็มีข้อดีมากมายอย่างการที่ทำให้ผู้นำเสนอทุกคนต้องเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเสนอเป็นอย่างดีจนสามารถเริ่มเขียนโครงสร้างทั้งหมดตั้งแต่เริ่มได้โดยไม่มี slide คอยบดบังและไวท์บอร์ดก็สามารถลบหรือแก้ไขไประหว่างการพูดคุยได้เลย ซึ่ง Jensen Huang ก็นิยมใช้ไวท์บอร์ดในการอธิบายแนวคิดของเขาต่อพนักงานจนเขาได้รับฉายาว่าเป็นดั่งคุณครูของ Nvidia

 

10 | The Engineer’s Mind

ตลอดประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นเต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่พลาดท่าตกขบวนของคลื่นแห่งนวัตกรรมใหม่ ตั้งแต่ IBM ที่เคยครองตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ทำให้ระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft และ CPU ของ Intel กลายมาเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมที่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อคู่แข่งรายใหม่อย่าง Dell และ HP ที่ขายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า ไปจนถึง Intel ที่ก็พลาดตกขบวนการพัฒนา microchip สำหรับโทรศัพท์ smartphone และ GPU สำหรับยุค AI จนทำให้คู่แข่งอย่าง AMD, ARM และ Nvidia แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไปจนเกลี้ยง

แล้วสาเหตุใดที่ทำให้ Nvidia สามารถอยู่รอดและครองความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมด้าน GPU มาได้อย่างยาวนาน ? ผู้เขียน Tae Kim สรุปว่าเป็นที่ตัวของผู้นำอย่าง Jensen Huang เองที่เป็นนักธุรกิจผู้มีแนวคิดแบบวิศวกรที่เขามีความเข้าใจด้านเทคโนโลยีอย่างลึกซึ่งจนสามารถตั้งวิสัยทัศน์ขององค์กรได้อย่างเฉียบแหลม มีความมุ่งมั่นในการลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อนวัตกรรมในระยะยาวโดยไม่สนใจผลกระทบทางการเงินในระยะสั้น มีแนวคิดในการทำงานอย่างหนักแบบที่เรียกได้ว่าทำงานตลอดเวลาไม่มีช่วงเวลาได้พักผ่อนและยังมีความสามารถในการบริหารธุรกิจอย่างหลักแหลม ซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งไปจาก CEO ของบริษัทเทคโนโลยีในขาลงที่มักมาจากสายธุรกิจที่ไม่เข้าใจในเทคโนโลยีที่มากพอและมักให้ความสนใจกับผลตอบแทนในระยะสั้นมากกว่านวัตกรรมในระยะยาวที่พวกเขามองไม่ออกจนสุดท้ายก็ทำให้บริษัทเสื่อมถอยลง

 


 

Part IV : INTO THE FUTURE (2013 – FUTURE)

 

11 | The Road to AI

จุดเริ่มต้นของการครองตลาด AI ของ Nvidia นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ Nvidia สามารถคว้าตัวของ Bill Dally ศาสตราจารย์แห่ง Stanford University ผู้เป็นดั่งบิดาของ parallel computing ที่เหล่าวิศวกรของ Nvidia ใช้งานมาโดยตลอดมารับหน้าที่เป็น Chief Scientist คนใหม่ ซึ่ง Bill Dally นั้นก็ได้รู้จักคุ้นเคยกับ Andrew Ng ปรมาจารย์ด้าน AI แห่งรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันผู้ที่ก็กำลังทำงานวิจัยด้าน deep learning ให้กับ Google ที่เขาสามารถสร้างโมเดล AI จับภาพแมวอย่างแม่นยำที่ต้องใช้ CPU ประมวลผลกว่าสองพันอันในการประมวลผล ซึ่ง Bill Dally นั้นก็ให้ทีมงานของเขาช่วยพัฒนา GPU ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้จนทำให้เขาสามารถทดแทน CPU กว่าสองพันอันด้วย GPU เพียงหนึ่งโหลเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้ GPU ของ Nvidia ถูกนำมาใช้ในการประมวลผลโมเดล AI ในแวดวงวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาในปี 2012 เหตุการณ์ที่จุดกระแสแห่งคลื่นของ AI นั้นก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อทีมงานจากมหาวิทยาลัย University of Toronto ได้พัฒนาโมเดล deep learning แบบ neural network ชื่อ AlexNet เพื่อเข้าแข่งขันในการแข่งขันจัดหมวดหมู่ภาพด้วย AI ของ ImageNet ด้วยผลลัพธ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่ง AlexNet นั้นก็ใช้ GPU ของ Nvidia เพียงอันเดียวในการประมวลผล

เมื่อความสามารถในการประมวลผลโมเดล AI โดย GPU ของ Nvidia เริ่มได้รับการยอมรับ จุดเปลี่ยนของ Nvidia ก็เกิดขึ้นในช่วงปี 2013 เมื่อ Jensen Huang ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโฟกัสขององค์กรไปที่การพัฒนา GPU เพื่อ AI โดยเฉพาะที่เขาเชื่อว่าจะมีตลาดที่มหาศาลในอนาคต ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรของ Nvidia ก็สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและดึงเอาคนเก่งๆภายในองค์กรมาเร่งพัฒนาโมเดล GPU ระบบใหม่ชื่อ Volta สำหรับการประมวลผลโมเดล AI โดยเฉพาะและพัฒนาระบบแวดล้อมของเหล่านักพัฒนา AI ไว้อย่างเพรียบพร้อมเพื่อรอการมาถึงของคลื่นแห่ง AI ในแบบที่ล้ำหน้ากว่าคู่แข่งรายใดในตลาดและยังได้ประโยชน์จากการที่เฟล่าบรรดาผู้นำแห่งวงการ AI ก็ต่างเลือกใช้ GPU ของ Nvidia มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มที่หลายคนล้วนอยู่ในแวดวงด้านวิชาการกันทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ก็ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์สุดล้ำและเด็ดเดี่ยวของ Jensen Huang อีกครั้งที่สามารถปรับทัพของบริษัทขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วเพื่อลงทุนในนวัตกรรมระยะยาวที่คนทั่วไปมองไปไม่ถึงจริงๆ

 

12 | The “Most Feared” Hedge Fund

ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2013 ถึงปี 2016 ที่ Nvidia ทุ่มเทเงินลงทุนไปกับการเปลี่ยนโฟกัสไปที่ AI นั้นก็ทำให้การเติบโตของรายได้และกำไรของ Nvidia นั้นชะลอตัวลงจนตกเป็นเป้าหมายของ hedge fund แนว activist ที่ชอบเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัทที่กำลังตกต่ำให้ดียิ่งขึ้นอย่าง Starboard Value ซึ่งก็เข้ามาศึกษากระบวนการภายใน Nvidia แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพราะค้นพบว่ากลยุทธ์ของ Jensen Huang นั้นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ซึ่งต่อมา Starboard Value ก็ได้ลงทุนใน Mellanox ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านโครงข่ายสำหรับ data center ซึ่ง Nvidia ก็ได้ทำการประมูลซื้อต่อไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนานวัตกรรมด้าน data center ที่กลายมาเป็นหนึ่งในรายได้หลักของ Nvidia ในแบบที่ hedge fund ที่บริษัทต่างหวาดกลัวทำอะไรไม่ได้เลย

 

13 | Lighting the Future

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Jensen Huang สามารถแก้ปัญหา innovator’s dilemma ได้สำเร็จก็คือการลงทุนอย่างมหาศาลในงานวิจัยและพัฒนาอย่างใจเย็นโดยไม่มีเป้าหมายระยะสั้นเพื่อสร้างนวัตกรรมแบบ moonshot ยกตัวอย่างตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งทีม Nvidia Research ในปี 2006 ที่ Nvidia ให้อิสระแก่นักวิจัยสายวิชาการอย่างเต็มที่ในการค้นหานวัตกรรมที่ต้องทุ่มเทระยะเวลาและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ยากกว่าที่ใครจะทำสำเร็จได้ จนเกิดเป็นนวัตกรรมเด่นอย่างการพัฒนา GPU ให้สามารถทำกระบวนการ ray tracing แบบ real-time ที่เป็นการแสดงผลของแสงและเงาที่ตกกระทบฉากต่างๆอย่างสมจริงที่แต่เดิมทำได้เฉพาะด้วย CPU เท่านั้นจากความซับซ้อนในการประมวลผล ซึ่งทีมงาน Nvidia Research ก็ใช้เวลากว่า 3 ปีในการพัฒนาได้เป็น GPU ตั้งต้นราคาแพงที่ต้องใช้ computing power จำนวนมหาศาลและกว่าจะถูกพัฒนาต่อเป็นนวัตกรรมสำหรับ GPU ราคาทั่วไปนั้นก็ต้องรอความก้าวหน้าด้านอื่นๆให้เพียบพร้อมก่อนซึ่งกินเวลาอีก 10 ปีจนได้ออกมาเป็นระบบ ray tracing บน GPU ที่กลายมาเป็นมาตรฐานที่เกมทั่วไปในปัจจุบันขาดไม่ได้และสร้าง “คูน้ำ” เพิ่มอีกชั้นให้กับ Nvidia

อีกหนึ่งนวัตกรรมระดับ moonshot ที่ใช้เวลากว่า 6 ปีในการพัฒนาก็คือ DLSS (deep learning super sampling) ที่เป็นกระบวนการใช้ AI ในการพยากรณ์ภาพกราฟฟิคไปข้างหน้าเพื่อช่วยลดปริมาณการประมวลผลของ GPU และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ GPU ให้แรงเร็วยิ่งขึ้นที่ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่ง “คูน้ำ” ที่สำคัญของ Nvidia เช่นกัน ซึ่งเทคโนโลยี DLSS นั้นก็ยังเกิดจากไอเดียของ Jensen Huang ที่ต่อยอดโมเดล deep learning ที่ใช้ในการขยายขนาดภาพที่ดูไม่มีคุณค่าทางธุรกิจมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าทางธุรกิจได้จริงอย่างแหลมคม

 

14 | The Big Bang

Nvidia สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในตลาดทุนด้วยการโชว์การเติบโตของรายได้จาก 26.9 พันล้านดอลลาร์ใน FY’23 มาที่ 60.9 พันล้านดอลลาร์ใน FY’24 ซึ่งพุ่งทะยานขึ้นเกินกว่าเท่าตัวและยังคงพุ่งต่อในอัตราเร่งมาที่ 130.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งก็มากกว่าเท่าตัวอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หายากมากๆในบริษัทที่มีอายุกว่า 30 ปีและนั่นก็ทำให้หุ้นของ Nvidia พุ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่งจากประมาณ 15 ดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2023 มาสูงสุดที่กว่า 150 ดอลลาร์ในช่วงต้นปี 2025 หรือกว่า 10 เท่าภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี !!

ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยขับเคลื่อนใหญ่นั้นก็คือคลื่นของ AI ที่ประทุขึ้นในช่วงปลายปี 2022 จากการเปิดตัวของ ChatGPT โดย OpenAI ที่นำไปสู่สมรภูมิการแข่งขันพัฒนาโมเดล generative AI ที่ต้องอาศัยการลงทุนในการสร้าง data center อย่างบ้าคลั่ง ซึ่ง Nvidia ด้วยวิสัยทัศน์ของ Jensen Huang นั้นก็ได้วางเมล็ดพันธุ์สำหรับการเติบโตครั้งนี้มาอย่างเนิ่นนาน ตั้งแต่ การพัฒนา CUDA เพื่อใช้ GPU ในการประมวลผล ไปจนถึง การพัฒนา GPU สำหรับ AI แบบมาก่อนกาลที่ Nvidia เองนั้นก็เล็งเห็นโอกาสของโมเดล generative AI ที่ใช้ระบบ Transformers (ที่เป็นตัว T สุดท้ายของ ChatGPT) มาตั้งแต่การคิดค้นและตีพิมพ์งานวิจัยโดยเหล่าวิศวกรของ Google ในปี 2017 และทำให้ Nvidia มี GPU ที่เพรียบพร้อมต่อการพัฒนา generative AI ผ่าน Transformers ก่อนใครเพื่อนและกลายมาเป็นผู้ครองตลาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากนั้น Jensen Huang ยังใช้แนวคิดในการขายของแพงที่ GPU ของ Nvidia นั้นจะมีแต่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างจากบริษัท microchip แบบสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปที่แข่งขันกันทำราคาให้ถูกลง ทำให้ Nvidia สามารถเก็บเกี่ยวรายได้และผลกำไรไปแบบเต็มๆและทำให้ Nvidia มีถังการเงินที่พร้อมในการลงทุนในคลื่นลูกถัดๆไปที่กำลังซัดสาดเข้ามา ซึ่ง Jensen Huang ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า Nvidia นั้นพร้อมที่จะปฏิวัติตัวเองเพื่อเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งอนาคตใหม่ๆแม้ว่าตอนนี้จะยังเห็นภาพไม่ชัดว่าจะเป็นอะไรก็ตาม

 

Jensen Huang เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในงาน CES2025 (source: Nvidia)

 


 

Conclusion | The Nvidia Way

ปรัชญาการทำงานของ Nvidia นั้นแท้จริงแล้วก็คือปรัชญาการทำงานของ Jensen Huang ผู้บริหารองค์กรแห่งนี้มาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันที่ยาวนานมากกว่า 30 ปีที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า Nvidia สามารถไต่คลื่นของนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัย “การทำงานอย่างหนัก” ที่พนักงานแต่ละคนนั้นต้องทำงานไม่น้อยกว่า 60-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ !! ซึ่ง Jensen Huang สามารถทำให้พนักงานทุกคนยังคงตั้งใจทำงานในอัตราที่โหดกว่าบริษัททั่วไปได้อย่างต่อเนื่องและมีอัตราการลาออกของพนักงานเพียงแค่ 3% ต่อปีด้วยกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลอันยอดเยี่ยม อันได้แก่

  • การสรรหาพนักงานระดับหัวกะทิของอุตสาหกรรมอย่างจริงจังจากทั้งในภาควิชาการ บริษัทคู่แข่งและบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่ง Nvidia ก็จริงจังมากๆในการรู้ให้ได้ว่าที่บริษัทไหนมีใครเป็นตัวท็อปอยู่บ้างและพร้อมลงทุนเพื่อให้ได้พนักงานเหล่านั้น อาทิ การที่ Nvidia เปิดสำนักงานในเมืองต่างๆที่เป็นที่ตั้งของบริษัทที่เขาต้องการซื้อตัวพนักงานจำนวนมากเพื่อให้พนักงานไม่ต้องย้ายชีวิตตาม Nvidia
  • การสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งระดับท็อปของวงการที่ต่างก็ทำงานอย่างหนักและช่วยเหลือกันเพื่อเป้าหมายของบริษัท ซึ่งการมีเพื่อนร่วมงานชั้นเลิศที่หาที่อื่นไม่ได้นั้นก็ทำให้วิศวกรระดับท็อปต่างได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ที่สุดและได้รับทรัพยากรที่ดีที่สุดในการสนับสนุนการทำงานของพวกเขา
  • การให้หุ้นแบบตามผลงานที่หากพนักงานคนไหนทำผลงานดีก็จะได้หุ้นไปแทบจะในทันทีโดยไม่ต้องรอรอบปีเพื่อตอบแทนผลงานอย่างถูกเวลา ซึ่งหุ้นที่ได้ก็จะค่อยๆให้จนครบทุกๆ 4 ปีและมักจะมีราคาขึ้นเรื่อยๆซึ่งช่วยดึงดูดให้พนักงานอยู่ทำงานหนักต่อไปเรื่อยๆ

กลยุทธ์ด้านการลงทุนในทรัพยากรบุคคลอย่างเต็มที่ของ Nvidia นั้นยังได้รับการสนับสนุนจากวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นในแนวคิดของ Jensen Huang ที่ทำให้ Nvidia สามารถปล่อยนวัตกรรมใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอด 30 ปี ซึ่งขอกล่าวสรุปแนวคิดหลักๆของ Jensen Huang อีกรอบไว้ดังต่อไปนี้

  • Speed of Light : การมุ่งมั่นที่จะทำงานอันยอดเยี่ยมอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ยึดติดกับผลงานที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการเร่งความเร็วให้ได้สูงที่สุดโดยไม่สนความเร็วในครั้งก่อนหน้าแต่รู้แค่ว่าความเร็วนั้นสามารถเร่งได้ถึงระดับความเร็วแสงที่เป็นจุด limit ทางฟิสิกส์
  • We don’t steal market share, we create markets” : การมุ่งมั่นไปที่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเป็นผู้นำแห่งตลาดในอนาคตโดยอาศัยความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีเชิงลึกที่ข้อมูลสำคัญที่เป็นสัญญาณของคลื่นลูกใหม่ต้องส่งตรงถึง CEO
  • Second place is the first loser” : การต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ทุกครั้ง เพราะการแพ้แม้ในฐานะที่สองก็อาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม microchip ที่แข่งขันอย่างดุเดือดได้
  • The mission is the boss” : เป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าคือเป้าหมายเดียว องค์กรต้องมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อปรับตัวเข้ากับเป้าหมายใหม่ได้อยู่ตลอดเวลาและการเมืองภายในเป็นสิ่งที่ต้องไม่เกิดขึ้น
  • Don’t worry about the score. Worry about how you play the game” : การโฟกัสไปที่การลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้ในระยะยาวไม่ใช่ที่ผลตอบแทนทางการเงินและราคาหุ้นในระยะสั้น
  • The company’s organization is like a race car. It has to be a machine that the CEO knows how to drive” : การสร้างองค์กรแบบแบนราบที่การสื่อสารเข้าถึงทุกคนในทุกระดับอย่างชัดเจนและมีการอัพเดทสถานะของงานอยู่เสมอผ่าน “Top 5 E-mail” ตรงมาที่ Jensen Huang เพื่อให้เขามั่นใจว่าตอนนี้องค์กรกำลังอยู่ในจุดไหนและทุกคนเข้าใจตรงกัน เพื่อให้ CEO สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ
  • Criticism is a gift” : การให้ feedback อย่างตรงไปตรงมาอยู่เสมอคือของขวัญที่นำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพูดความจริงและการยอมรับในความผิดพลาดเพื่อเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดการผิดพลาดซ้ำเป็นครั้งที่สอง
  • No one loses alone” : ความล้มเหลวของคนหนึ่งคนคือความล้มเหลวของคนทั้งทีม ดังนั้น เมื่อพนักงานเผชิญหน้ากับปัญหาก็ควรที่จะเปิดเผยกับทีมเพื่อช่วยกันแก้ไข
  • LUA: Listen, understand and answer the question” : คำพูดติดปากของ Jensen Huang เพื่อให้พนักงานตั้งใจและตอบตรงคำถามของเขาอยู่เสมอ

 




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*