[สรุปหนังสือ] The Raging 2020s : Companies, Countries, People and the Fight for Our Future (2021)
by Alec Ross
“We are in an era of disruption of the social contract.”
จุดเริ่มต้นสู่ความเป็นหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์เหนือสิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนโลกใบนี้นั้นเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์รู้จัก “ร่วมมือกัน” เป็นหมู่คณะเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ การไล่ล่าแมมมอธเป็นกลุ่ม การแบ่งสรรอาหาร ไปจนถึง การเริ่มตั้งถิ่นฐานทำการเกษตร ผ่านการกำหนด “สัญญาประชาคม” หรือ social contract ที่ว่าด้วยสิ่งที่สมาชิกแต่ละคนต้องทำและห้ามทำ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่นำมาสู่การอพยพของประชากรครั้งใหญ่จากภาคเกษตรกรรมในเมืองชนบทมาสู่ภาคอุตสาหกรรมในหัวเมืองใหญ่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานของ social contract ในโลกยุคใหม่ที่กำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนของรัฐบาล บริษัทเอกชนและประชาชนทั่วไปที่สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วให้กับประเทศที่ยึดมั่นในระบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
แต่แล้ว โลกในยุคปัจจุบันก็กำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่จากทั้งด้านของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกาภิวัตน์ที่ทะลายขอบเขตการแลกเปลี่ยนสินค้าและข้อมูลของชาติแบบเก่า อำนาจของบริษัทเอกชนข้ามชาติขนาดใหญ่ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆและความสัมพันธ์อันตรึงเครียดระหว่างประเทศที่มีแนวคิดทางการปกครองที่แตกต่างกันจนนำมาสู่ยุคแห่งความ “โกลาหล” ที่พวกเราจะต้องเผชิญในอีก 10 ปีข้างหน้าที่อาจปะทุขึ้นจากความ “โกรธแค้น” ของประชากรจำนวนมากที่ต้องรับมือกับความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
The Raging 2020s คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Alec Ross ผู้เขียน The Industries of the Future และอดีตที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรมของ Hillary Clinton ในสมัยประธานาธิบดี Barack Obama ที่รวบรวมองค์ความรู้จากนักคิดผู้ทรงอิทธิพลทั่วโลกเพื่อตีแผ่ความผิดพลาดของ social contract ที่เกิดขึ้นในอดีตที่นำมาสู่ความปั่นป่วนในโลกยุคปัจจุบันและการนำเสนอทางออกเพื่อนำไปสู่สังคมโลกที่ดีกว่าเดิม ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือที่มีสาระเน้นๆเล่มนี้กันได้เลยครับ
ผู้เขียน Alec Ross (source: Bologna Business School)
1 | Shareholder and Stakeholder Capitalism
ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน มนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานซึ่งเกิดขึ้นจากความบกพร่องของร่างกายที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างสมดุลนั้นเปรียบได้กับการโดนคำสั่งประหารชีวิตที่พวกเขาทำได้แค่เพียงรอความตายเท่านั้น จนกระทั่งในปี 1922 ที่นักวิทยาศาสตร์ 3 คนนามว่า Frederick Banting, Charles Best และ James Collip ได้คิดค้นวิธีการสกัดอินซูลินจากตับอ่อนของวัวซึ่งสามารถฉีดให้กับผู้ป่วยได้โดยตรงเป็นผลสำเร็จโดยพวกเขานั้นได้ขายสิทธิบัตรของตัวเองให้กับมหาวิทยาลัย University of Toronto ที่ต่อมาก็เปิดให้บริษัทยาสามารถนำเอาสูตรไปผลิตได้เองโดยไม่คิดเงินจนทำให้โรคเบาหวานนั้นมีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ตัดภาพกลับมายังสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ฮอร์โมนอินซูลินแทบทั้งหมดในตลาดนั้นถูกควบคุมโดยบริษัทยาข้ามชาติยักษ์ใหญ่เพียงแค่ 3 เจ้าที่ถูกขนานนามว่าเป็น “มาเฟีย” อย่าง Novo Nordisk, Sanofi และ Eli Lilly ที่ประสบความสำเร็จในการขึ้นราคายาที่มีความสำคัญต่อชีวิตชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ป่วยหลายคนต้องพยายามใช้ยาน้อยกว่าความจำเป็นเพียงเพื่อการประหยัดค่าใช้จ่ายและทำให้พวกเขาหลายคนต้องจบชีวิตลง
สภาพของ social contract ในปัจจุบันที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้นสามารถมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและประชาชนคนธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆนั้นมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดของ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในปี 1962 ที่นำเสนอว่าบริษัทเอกชนควรมีหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญที่สุดเพียงอย่าเดียวคือการสร้าง “กำไร” ตราบเท่าที่พวกเขายังทำตามกฎหมายอยู่ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 20 ปี ระบบนิเวศของบริษัทขนาดใหญ่ที่หันมาทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างกำไรให้แก่ “ผู้ถือหุ้น” ของตัวเอง (shareholder capitalism) ก็ได้เริ่มเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเกิดขึ้นของกลยุทธ์การลดต้นทุนด้วยการตัดองค์ประกอบของธุรกิจที่ไม่จำเป็นออกซึ่งนำมาสู่การไล่พนักงานออกจำนวนมากและการย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองใหญ่ การกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือผู้เล่นรายเล็ก การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงปริมาณ (economies of scale) ในการตัดราคาคู่แข่ง การควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มพูลอำนาจผูกขาดให้กับผู้นำตลาดในแต่ละอุตสาหกรรม การหันมาทำกำไรระยะสั้นโดยไม่สนใจต่อผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด การพยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ การจ่ายเงินแก่ผู้บริหารระดับสูงตามราคาหุ้นเป็นหลัก ไปจนถึง การล็อบบี้นักการเมืองเพื่อให้กฎระเบียบสอดรับกับการทำกำไรของบริษัทให้มากที่สุด
โดยแนวคิดของ Milton Friedman นั้นเชื่อว่าเมื่อบริษัทขนาดใหญ่สามารถทำกำไรมหาศาลได้แล้ว เศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโตขึ้นและความมั่งคั่งเหล่านั้นก็จะทยอยส่งกลับมายังประชาชนและสังคมในเวลาต่อมา แต่ทุกท่านก็คงทราบกันดีว่าในโลกยุคปัจจุบันนี้ กำไรของบริษัทแทบจะทั้งหมดก็ยังคงอยู่กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ทำให้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ทางรายได้ของประชากรโลกนั้นรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ [เศรษฐี 26 คนแรกของโลกมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าประชากร 50% ล่างรวมกัน] นอกจากนั้น นโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ทำกำไรมหาศาลเหล่านั้นโดยใช้เงินของประชาชนคนธรรมดาอีกด้วย ดั่งเช่น ระบบทุนนิยมเสรีของสหรัฐอเมริกาที่มักแปลงกายไปเป็นระบบสังคมนิยม (corporate socialism) เพื่อบริษัทเอกชนบางแห่งขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาทิ การเสกเงินขึ้นมาจากอากาศผ่านมาตรการ quantitative easing (QE) เพื่อช่วยเหลือธนาคารขนาดใหญ่ที่เกือบล้มลงจากวิกฤติ subprime ในปี 2007 หรือ การอัดฉีดเงินจากภาษีจำนวนมากเพื่อช่วยอุ้มสายการบิน 4 บริษัทที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ในปี 2020 ทั้งๆที่บริษัทเหล่านั้นสร้างกระแสเงินสดได้มากถึง 49 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิบปีก่อนหน้า แต่แทนที่บริษัทสายการบินเหล่านั้นจะนำเงินที่ได้มาพัฒนาการบริการและเก็บสำรองเพื่อป้องกันวิกฤติ พวกเขากลับนำเงินกว่า 47 พันล้านดอลลาร์ไปซื้อหุ้นคืน (share buyback) เพื่อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นและสร้างความร่ำรวยให้กับผู้ถือหุ้นของตัวเองโดยที่พวกเขาไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ในขณะเดียวกัน องค์กรที่พยายามทำสิ่งที่ดีต่อสังคมก็มักถูกผู้ถือหุ้นทำโทษด้วยการเทขายหุ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ อาทิ Amazon ที่มูลค่าของบริษัทตกลงทันทีกว่า 83 พันล้านดอลลาร์หลังจากการประกาศลงทุน 4 พันล้านดอลลาร์ในการเพิ่มความปลอดภัยทางสาธารณสุขให้กับพนักงานกว่าหกแสนคนต่อโรค COVID-19 ในช่วงกลางปี 2020
อย่างไรก็ตาม แนวคิดทางทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่เริ่มให้ความสำคัญกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ” ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น (stakeholder capitalism) อาทิ พนักงาน คู่ค้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในภาคธุรกิจ อาทิ Patagonia ที่เลือกผลิตสินค้าเสื้อผ้าจากผ้าฝ้ายออร์กานิคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้นและพยายามส่งเสริมการลดการบริโภคที่รวมไปถึงเสื้อผ้าของแบรนด์เองด้วย ไปจนถึง บริษัทใหญ่ๆอย่าง Walmart ที่ใช้ความได้เปรียบเชิงปริมาณในการคัดเลือกสินค้าสีเขียวและปรับห่วงโซ่อุปทานของสินค้าให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด หรือ Goldman Sachs ที่ประกาศไม่รับทำกิจกรรมวาณิชธนกิจให้กับบริษัทที่สมาชิกทั้งหมดในกรรมการบริหารเป็นผู้ชายผิวขาวเพื่อส่งเสริมความหลากหลาย (diversity) ทางเพศและเชื้อชาติ
โลกในปัจจุบันเริ่มเห็นถึงความเป็นไปได้ของสมดุลของ social contract ครั้งใหม่ที่บริษัทเอกชนต้องเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆมากขึ้นอีกครั้ง แต่แนวคิดนี้ก็ยังมีความท้าทายอยู่มากโดยเฉพาะ “ความไม่ชัดเจน” ของการวัดผลกระทบที่บริษัทแต่ละแห่งทำได้ต่อความเท่าเทียมทางสังคมและการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีมาตรฐานและตรวจสอบยากซึ่งแตกต่างจากการทำทุกอย่างเพื่อกำไรที่ตรวจวัดได้อย่างง่ายดาย รัฐบาลทั่วโลกจึงควรร่วมมือกันสร้างมาตรฐานให้กับภาคเอกชนและกำหนดแรงจูงใจทั้งเชิงบวกและบทลงโทษที่เข้มข้นมากเพียงพอเพื่อส่งเสริมหรือกดดันให้บริษัทเหล่านั้นปฏิบัติตามให้ได้มากที่สุด แต่อำนาจของภาครัฐของทั่วโลกเองก็เริ่มอ่อนแอลงไปทุกวันๆ
แคมเปญ Don’t Buy This Jacket ของ Patagonia ที่กล้าบอกลูกค้าถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการซื้อเสื้อของแบรนด์และรณรงค์ให้ลูกค้าบริโภคตามความจำเป็นเท่านั้น (source: Business Insider)
2 | The Government : Billions of People Are Governed More by Companies than by Countries
ในขณะที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เริ่มแพร่ขยายอิทธิพลไปสู่กิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ อิทธิพลและขอบเขตอำนาจของภาครัฐก็เริ่มถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตามแนวคิดของระบบทุนนิยมประชาธิปไตยที่เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมนั้นควรเป็นไปตามกลไก “ตลาด” ที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพและรัฐบาลที่ถูกมองว่าเชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพนั้นควรหลีกทางให้กับภาคเอกชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้มีข้อด้อยอยู่เต็มๆเลยตรงแรงจูงใจของภาคเอกชนที่เป็นไปตามอัตราการทำกำไรเป็นหลักซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลที่รัฐบาลที่อ่อนแอลงไปในทุกๆวันนั้นต้องรับหน้าที่ดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการอย่างดีเฉพาะคนไข้ที่มีรายได้สูงเพื่อทำกำไรสูงสุดโดยปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐดูแลคนไข้ที่เหลือที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาแพงๆได้]
รัฐบาลในระบบประชาธิปไตยนั้นถูกออกแบบมาเพื่อ “ถ่วงดุล” อำนาจไม่ให้มีใครหรือองค์กรใดมีอำนาจผูกขาดที่มากจนเกินไปโดยยอมแลกกับความเชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพของระบบที่ต้องอาศัยผลโหวตของผู้คนจำนวนมากและคณะรัฐมนตรีที่หมุนเวียนเข้าออกอย่างไม่ต่อเนื่อง แต่รัฐบาลในระบบประชาธิปไตยยุคปัจจุบันก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่ทำให้พวกเขาอ่อนแอลงอีก ดังต่อไปนี้
รัฐบาลประชาธิปไตยโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงต้องเร่งแก้ไขจุดอ่อนของตัวเองและยกเครื่อง social contract ฉบับใหม่ที่เพิ่มขีดความสามารถในการกำกับดูแลภาคเอกชนและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ก่อนที่แนวคิดแบบรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางที่สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้อยู่อย่างประสบความสำเร็จนั้นจะได้รับการสนับสนุนมากไปกว่านี้และแนวคิดแบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่ถือเป็น social contract ที่ดีที่สุดมาตลอดในช่วงหลายรอยปีที่ผ่านมาจะล่มสลายลง
3 | The Workers
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เคยมีอิทธิพลในการถ่วงสมดุลอำนาจของบริษัทเอกชนก็คือ “แรงงาน” ที่แด่เดิมทั่วโลกนั้นมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งที่คอยช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานให้อยู่ในสัดส่วนที่สมเหตุสมผลโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง แต่สมดุลอำนาจในฝั่งแรงงานก็ได้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วในยุคที่ผู้ถือหุ้นและกำไรระยะสั้นเป็นใหญ่จนทำให้สหภาพแรงงานแบบดั้งเดิมในปัจจุบันมีบทบาทและจำนวนสมาชิกลดลงอย่างมากซึ่งนำพามาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ของแรงงานระดับล่างกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ [ในสหรัฐอเมริกาช่วง 40 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ CEO โดยเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึง 940% ขณะที่รายได้ของพนักงานระดับล่างเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 12% เท่านั้น]
ด้านมืดของทุนนิยมที่เน้นกำไรระยะสั้นได้ส่งผลร้ายแรงต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของประชากรระดับล่างที่นับวันก็ยิ่งมีเงินเก็บลดลงจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่ารายจ่ายซึ่งเริ่มส่งผลกระทบเชิงสังคมที่มากขึ้นเรื่อยๆทั้งการก่ออาชญากรรมและการเกิดขั้วการเมืองสุดโต่งที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นอย่างที่เห็นในกลุ่มแรงงานผิวขาวผู้สนับสนุนประธานธิบดี Donald Trump อย่างล้นหลาม มากไปกว่านั้น ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยรูปแบบการทำงานและเทคโนโลยีแบบดิจิตอลก็นำพามาซึ่งความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ของแรงงานที่งานจำนวนมากเริ่มถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรือ AI และมีงานรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมากที่ต้องอาศัยทักษะที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่มี
หากสังคมโลกต้องการก้าวผ่านยุคแห่งความโกลาหลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในอนาคตจากความโกรธเกรี้ยวของแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีการทำงานใหม่ได้ รัฐบาล บริษัทเอกชนและผู้นำของบรรดาแรงงานจะต้องจับมือกันสร้าง social contract ฉบับใหม่ที่คืนอำนาจและผลประโยชน์ให้กับชนชั้นแรงงานมากกว่าที่พวกเขาได้รับในปัจจุบันเพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนทั่วไปกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก็มีหลากหลายแนวทางน่าสนใจ อาทิ
โดยแนวทางทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อสังคมโลกสามารถเปลี่ยนแนวความคิดจาก shareholder capitalism มาเป็น stakeholder capitalism ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงานและผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ภาครัฐเองก็ต้องเร่งทวงคืนสมดุลอำนาจมาจากภาคเอกชนอย่างเป็นธรรมโดยมีหนึ่งกลไกสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลนั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างการเก็บ “ภาษี” จากองค์กรข้ามชาติและมหาเศรษฐีในอัตราที่เพิ่มขึ้นที่กำลังจะกล่าวในบทถัดไป
การประท้วงของกลุ่ม Occupy Wallstreet ในวิกฤติ subprime (source: The Atlantic)
4 | Taxes and the Wormhole in the Global Economy
ในขณะที่ประชาชนวัยทำงานทั่วโลกต้องจ่ายภาษีในอัตราระหว่าง 20-30% โดยเฉลี่ย คุณคิดว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกำไรมหาศาลอย่าง Google จ่ายภาษีในอัตราเท่าไหร่จากการทำธุรกิจในทวีปยุโรปในปี 2019 ? คำตอบคือ 0.7% เท่านั้นครับ !!
Google บริษัทผู้ให้บริการ search engine เบอร์ 1 ของโลกที่สร้างรายได้มหาศาลจากการขายโฆษณาในทวีปยุโรปนับ 4 หมื่นล้านยูโรคือหนึ่งในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์จาก “ช่องโหว่” ของระบบภาษีระหว่างประเทศในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในอัตราสูงได้อย่างชาญฉลาด โดย Google ในทวีปยุโรปและเอเชียเลือกใช้หนึ่งในกลยุทธ์การหลบเลี่ยงภาษียอดนิยมที่เรียกว่า “Double Irish with a Dutch Sandwich” ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาสามแห่ง อันได้แก่ บริษัทที่หนึ่งในประเทศไอร์แลนด์ที่ทำหน้าที่รับรายได้จากค่าโฆษณาทั้งหมดของ Google ในทวีปยุโรปที่เกิดขึ้นบน internet โดยไม่ต้องผ่านสรรพากรของแต่ละประเทศ บริษัทที่สองในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นผู้ให้เช่า “สิทธิบัตร” ของ search algorithm ของ Google เอง [ใช่ครับ Google ตั้งบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นมาปล่อยเช่าสิทธิบัตรของตัวเองให้กับบริษัทอีกแห่งของตัวเอง] ซึ่งบริษัทที่สองนี้ก็เช่าต่อมาจากบริษัทที่สามที่เป็นบริษัทสัญชาติไอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ในเกาะ Bermuda ที่ได้สิทธิการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจาก Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google อีกทอดหนึ่ง
โครงสร้างอันซับซ้อนของบริษัทข้ามชาติที่มักมีการก่อตั้งบริษัทลูกในหลากหลายประเทศนั้นถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรกำไรที่ได้มาจากการดำเนินกิจการทั้งหมดให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่น้อยที่สุดตามกฎหมายผ่านการกำหนดค่าใช้จ่ายระหว่างบริษัทลูก (transfer pricing) แต่ละแห่งในแต่ละประเทศเพื่อให้บริษัทที่อยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีสูงมีกำไรที่ต่ำจนแทบจะไม่ต้องเสียภาษี [อาทิ กรณีของ Google ที่นำเอาค่าลิขสิทธิ์จากทรัพย์สินทางปัญญามาคิดเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทลูกสองแห่งแรก] และนำกำไรทั้งหมดไปไว้กับบริษัทลูกในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (tax haven) อย่าง Bermuda จนสามารถประหยัดภาษีที่ควรจะถูกเก็บในอัตราเฉลี่ยประมาณ 20% ขึ้นไปตามแต่ละประเทศจนเหลือเพียงแค่ไม่กี่ % เท่านั้น !!
การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และมหาเศรษฐีทั่วโลกนั้นสร้างความเสียหายในเชิงภาษีที่ไม่ได้ถูกเก็บเป็นจำนวนที่มากถึง 600 และ 200 พันล้านดอลลาร์ต่อปีตามลำดับซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงเรื่อยๆจากอัตราภาษีที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ ซึ่งการสูญหายของเงินภาษีจำนวนมหาศาลนี้ยังทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสในการนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้นและยังทำให้ประชาชนที่ก็ไม่ได้ร่ำรวยอยู่แล้วต้องกลายมาเป็นผู้จ่ายภาษีหลักให้กับรัฐบาลอีกด้วย [บริษัทอเมริกันเคยจ่ายภาษีมากถึง 32% ของภาษีทั้งหมดในปี 1952 แต่จ่ายเพียงแค่ไม่ถึง 7% ในปี 2019 ขณะที่ภาษีเกือบทั้งหมดที่เหลือนั้นได้มาจากชาวอเมริกันทั่วไป]
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการเก็บภาษีขององค์กรขนาดใหญ่นั้นรุนแรงอย่างมากในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากการแข่งขันกันระหว่างประเทศ tax haven ที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆและมหาเศรษฐีนำเงินมาลงทุนหรือเก็บไว้ในประเทศนั้นๆไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราการเสียภาษีที่ต่ำจนแทบติดดินหรือนโยบายการไม่เปิดเผยความลับของลูกค้าที่ดึงดูดผู้มีอิทธิพลและมหาเศรษฐีที่ต้องการซ่อนทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งประเทศ tax haven นี้ก็มีอยู่มากมายทั้วโลก ตั้งแต่ ประเทศในแถบยุโรปอย่าง ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก ไปจนถึงประเทศหมู่เกาะภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร อาทิ Burmuda, Jersey หรือ Cayman และรัฐบางรัฐ อาทิ Delaware, Nevada และ Wyoming ของสหรัฐอเมริกา
แนวทางในการอุดช่องโหว่ทางภาษีระหว่างประเทศนั้นก็มีทางออกที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว 3 แนวทาง ได้แก่
แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศมหาอำนาจจากทั่วโลก ซึ่งหลายแนวทางก็เริ่มถูกผลักดันแล้วโดยสหภาพยุโรปและ OECD แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือลักษณะนี้ก็มีแรงต้านสำคัญ 2 ทางจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่ยังคงรักษานโยบายการเป็น tax haven ให้กับองค์กรหรือมหาเศรษฐีในต่างประเทศอยู่ในปัจจุบันและสหราชอาณาจักรที่ได้ประโยชน์จากประเทศ tax haven ในเครือจักรภพของตัวเองอยู่ พวกเราคงได้แต่หวังว่าผู้นำโลกจะตัดสินใจร่วมมือกันดึงสมดุลบางส่วนจากบริษัทเอกชนกลับมาที่รัฐบาลและภาคประชาชนมากขึ้น
เกาะ Grand Cayman หนึ่งใน tax haven ยอดนิยมอันดับต้นๆของโลก (source: Property Cayman)
5 | Foreign Policy : Does Every Company Need Its Own State Department, Pentagon and CIA?
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะต่างทุ่มเททรัพยากรในการต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง GM, Ford และ Chrysler ต่างก็ร่วมมือกันยุติการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนกำลังการผลิตทั้งหมดมาผลิตรถถังและเครื่องบินรบให้กับกองทัพของประเทศสหรัฐอเมริกา เฉกเช่นเดียวกับบริษัทสัญชาติเยอรมันอย่าง Daimler-Benz, BMW และ Volkswagen ที่ต่างก็ร่วมใจกันผลิตยานพาหนะให้กับกองกำลังนาซีของ Adolf Hitler
ตัดภาพกลับมายังปัจจุบันที่สงครามขนาดใหญ่ระดับโลกครั้งสุดท้ายอย่างสงครามเย็นได้ยุติลงไปนานหลายสิบปีแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง “บริษัทเอกชน” และ “รัฐบาล” ที่เคยแนบแน่นเป็นปึกแผ่นจากความเป็น “ชาติเดียวกัน” ก็เริ่มเสื่อมคลาย เมื่อโลกาภิวัตน์ได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนจำนวนมากแพร่ขยายธุรกิจของตัวเองไปสู่ตลาดใหม่ๆทั่วโลกจนเกิดเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีนับแสนบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งเป้าประสงค์ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างการทำกำไรสูงสุดนั้นก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับความเป็นชาติอีกต่อไป [Mark Zuckerberg ไม่เคยประกาศว่าพันธกิจของ Facebook คือการเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวอเมริกัน] และนั่นก็ทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่แพ้ประเทศในความหมายเดิมๆอีกต่อไป
ในโลกอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทเอกชนข้ามชาติจึงควรต้องเริ่มปรับทัศนคติของตัวเองใหม่จากความคิดในการทำกำไรเพียงอย่างเดียวมาให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายตามแนวคิด stakeholder capitalism ที่บริษัทเอกชนเองนั้นก็มีขีดความสามารถหลายๆประการที่ทำได้ดีกว่าภาครัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งกว่าภาครัฐ ความเก่งกาจของกำลังพลที่สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและเครือข่ายของบริษัทที่ครอบคลุมฐานลูกค้าหรือผู้ใช้งานในทั่วโลกมากกว่าที่รัฐบาลประเทศใดจะมีได้ [Google มีผู้ใช้งานจากทั่วโลกรวมกันประมาณ 4 พันล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด]
ผู้เขียน Alec Ross และนักคิดระดับโลกหลายคนที่เขาสัมภาษณ์ได้เห็นตรงกันว่าบริษัทขนาดใหญ่ควรเริ่มขยายบทบาทของตัวเองและจับมือกับรัฐบาลทั่วโลกในการแก้ “ปัญหาสำคัญระดับโลก” ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านฐานะและคุณภาพชีวิต การวางระบบจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ไปจนถึง การกำหนด “มาตรฐานการใช้งานเทคโนโลยี AI” ที่เป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะมีบทบาทอย่างมากต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมืองโลกในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดหลักจริยธรรมว่า AI ควรถูกนำไปใช้และพัฒนาต่อในด้านไหนบ้าง [อาทิ เทคโนโลยี facial recognition ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันนั้นสามารถถูกนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีสอดแนมประชากรจำนวนมหาศาลหรือใช้ตรวจจับใบหน้าเพื่อสั่งการโดรนให้ลอบสังหารศัตรูได้] การวางแผนป้องกันภัยคุกคามทางโลกไซเบอร์ที่จะมีความรุนแรงและความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดขอบเขตความผิดพลาดของ algorithm ที่ต้องเข้มข้นมากหากนำไปใช้ในงานที่เกี่ยวพันกับชีวิตคน ไปจนถึง แนวทางการเก็บรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประชากรที่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์ต่อเจ้าของข้อมูลและภาครัฐอย่างเป็นธรรมที่สุด
โดยหากโลกเสรีตะวันตกไม่สามารถรวมกำลังระหว่างประเทศมหาอำนาจทางฝั่งประชาธิปไตยและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในทศวรรษนี้แล้ว อิทธิพลของฝ่ายโลกเสรีอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่จากคลื่นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีแบบเผด็จการที่นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์สามารถชี้นิ้วสั่งการบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อาทิ Alibaba, Huawei, Tencent และ Baidu ได้ตามต้องการและทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีอันซับซ้อนวุ่นวายเหมือนฝั่งโลกเสรีประชาธิปไตย
6 | The Geography of Change : The Contest for Power between Closed and Open Systems
โลกในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องเผชิญสงครามการแข่งขันกันระหว่างระบบทุนนิยมเสรีแบบ “เปิด” ที่กำลังเริ่มถดถอยลงจากสมดุล social contract ที่เอนเอียงไปทางบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และนายทุนมากเกินไปกับระบบควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จแบบ “ปิด” ที่ฟังดูเหมือนล้าหลังแต่ถูกพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพอันมหาศาลหากถูกนำมาใช้ได้อย่างชาญฉลาดดั่งเช่นสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สามารถคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 9.5% ต่อปีได้นานติดต่อกันถึง 40 ปีตั้งแต่สมัยการเปิดประเทศของ “เติ้งเสี่ยวผิง” ที่ทลายความเชื่อของโลกตะวันตกด้วยการแสดงใหเห็นแล้วว่าประชาชนจีนนั้นยอมที่จะสละสิทธิเสรีภาพเพื่อแรกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงจากการรวมศูนย์และความสงบของประเทศที่ไม่วุ่นวายเหมือนระบอบประชาธิปไตย
ระบบ social contract แบบปิดที่รัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นเริ่มได้รับความนิยมที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นจากทั้งประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในการควบคุมประชาชนผ่านเทคโนโลยี AI และการสอดแนมที่ประเทศเผด็จการในสมัยก่อนไม่สามารถทำได้และอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่กำลังขยายตัวขึ้นจากยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ที่ประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกาจำนวนมากเริ่มหันหน้าเข้าหาจีนเพื่อรับเงินลงทุนอันมหาศาลโดยแรกกับผลประโยชน์บางอย่างของรัฐบาลจีนในระดับที่ชาติตะวันตกไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากมองไปยังอนาคตข้างหน้า ประชากรในทวีปแอฟริกานั้นจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.3 พันล้านคนในปัจจุบันไปสู่ระดับ 4.3 พันล้านคนในปี 2100 หรือคิดเป็น 40% ของประชากรโลกและนั่นจะทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนและระบบการปกครองแบบปิดจะมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นไปอีกมาก [ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาใต้นั้นเต็มไปด้วยปัญหาทางสังคมและการคอรัปชั่นที่ชาติตะวันตกไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งทำให้จีนที่ประกาศไม่ยุ่งเรื่องแนวคิดทางการเมืองได้เปรียบอย่างมากในการแพร่ขยายอิทธิพล]
แต่ระบบการปกครองแบบปิดของจีนนั้นก็มีจุดอ่อนสำคัญคือความเสี่ยงของการลุกฮือขึ้นของประชาชนหากรัฐบาลจีนไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มองว่าเป็นไปได้ยากที่จีนจะไม่ต้องเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจเลยในอนาคตและ social contract ของจีนนั้นอาจเป็นภูเขาไฟที่รอวันปะทุเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากบทก่อนหน้าก็ได้พิสูจน์แล้วว่า social contract ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่เคยมีอิทธิพลเป็น “พี่ใหญ่ที่น่านับถือ” ในสายตาของประเทศทั่วโลกนั้นเสื่อมคลายลงไปมาก ทางรอดของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรประชาธิปไตยในการรักษาระบบเสรีแบบเปิดให้ยังคงเป็นกระแสหลักของโลกได้นั้นคือการปรับเปลี่ยน social contract ครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมากขึ้นกว่าเพียงแค่กำไรระยะสั้นผ่านการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีใหม่อย่างเป็นธรรม การสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ที่เอื้อให้ประชาชนคนธรรมดามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
โดยสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรนั้นยังพอมีความหวังจากตัวอย่างของประเทศในโลกเสรีที่มีระบบ social contract ที่เป็นธรรมที่สุดอย่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์และไอซ์แลนด์ ที่ทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าเป็นประเทศที่ประชากรมี “ความสุข” มากที่สุดในโลกจากการออกแบบระบบสวัสดิการของรัฐและ social safety net อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย ระบบการศึกษาคุณภาพที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ระบบการสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่ ระบบรับรองการตกงานที่มาพร้อมกับระบบพัฒนาทักษะแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ระบบราชการที่มีความคล่องตัวต่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ไปจนถึง วิธีคิดในการตัดสินใจแก้ปัญหาของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจรายย่อยก่อนนายทุนเสมอ อาทิ นโยบายของรัฐบาลเดนมาร์กที่ประกาศอุ้มการจ้างงานของประชากรทั้งหมดของภาคเอกชนด้วยการจ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้กว่า 75-90% ในช่วงที่รัฐจำเป็นต้องปิดเมืองจากวิกฤติ COVID-19 จนทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปต่อได้และทำให้ภาคเอกชนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมานั่งจ้างแรงงานใหม่
ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของประเทศสแกนดิเนเวียนั้นอาศัยการเก็บภาษีในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้อย่างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและความสัมพันธ์ที่เคารพซึ่งกันและกันของภาครัฐ บริษัทเอกชนและประชาชนคนธรรมดานั้นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า social contract ในโลกเสรีที่มีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายนั้นเกิดขึ้นได้จริง หวังว่าผู้นำของโลกเสรีที่เหลือจะสามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไว้ในสรุปหนังสือเล่มนี้ได้ภายในปี 2030 ก่อนที่ยุคแห่งความโกลาหลจะรุนแรงไปมากกว่านี้นะครับ
การประชุมออนไลน์ระหว่าง Joe Biden กับ Xi Jinping ในเดือนพฤศจิกายน 2021 (source: South China Morning Post)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]