Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] The Road to Ruin : The Global Elites’ Secret Plan for The Next Financial Crisis

 

 

The Road to Ruin: The Global Elites’ Secret Plan for The Next Financial Crisis (2016)

by James Rickards

 

“You never want a serious crisis to go to waste.”

 

เสียงของหายนะทางการเงินของโลกกำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางตลาดทุนที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนและมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ โลกกำลังจะต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเงินครั้งใหม่ที่จะใหญ่และรุนแรงกว่าปี 2008 มากและครั้งนี้กลุ่มชนชั้นสูงบนยอดของปิระมิดที่เรียกว่าโลกมนุษย์ก็ได้เตรียมพร้อมในการป้องกันตัวพวกเขาเองไว้แล้ว

The Road to Ruin คือหนังสือเล่มใหม่ของ James Rickards เจ้าพ่อทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่นำเอาศาสตร์ของ Behavioral Economics (เศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่อธิบายถึงความไร้เหตุผลของมนุษย์), Complexity Theory (ทฤษฎีความซับซ้อนของระบบที่องค์ประกอบต่างๆมีความหลากหลาย เชื่อมโยง ปรับตัวและปฏิสัมพันธุ์กันตลอดเวลา), Bayes’ Theorem (หลักการพยากรณ์ความน่าจะเป็นจากเหตุและผลที่มีความเชื่อมโยงกัน) และ History (ประวัติศาสตร์ของการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์) มารวมกันเพื่ออธิบายถึงปรากฎการณ์ทางการเงินในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนและแปรผันอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถใช้หลักการเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบเดิมๆอธิบายได้อีกต่อไป

 

James Rickards ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินโลก (ขอบคุณภาพจาก BBC)

 

Chapter 1: This Is The End

ในวิกฤติการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งถัดไป รัฐบาลโลกมีเพียงสองทางเลือกสำหรับตอบโต้ความโกลาหลของประชาชนที่ต่างก็ต้องการถอนเงินระหว่างการ “อัดฉีดเงินสด” ด้วยการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเหมือนที่ผ่านมากับการ “แช่แข็ง” ระบบการเงินทั้งหมดของประเทศ … ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกาและ IMF ได้จัดตั้งมาตรการควบคุมองค์กรกลุ่ม G-SIFI  (Global systemically important financial institution) ที่ประกอบไปด้วยสถาบันการเงินและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีขนาดใหญ่จนสามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบการเงินโลกได้หากองค์กรเหล่านั้นประสบปัญหา (too big to fail) … และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียน James Rickards ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารกองทุน Black Rock ที่มีทรัพย์สินในพอร์ทโฟลิโอ้กว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยผู้บริหารคนนี้ได้กล่าวไว้ว่าสาเหตุที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมกองทุนของตนนั้นก็คือ “ความสามารถในการแช่แข็งการซื้อขายทั้งหมด” ของกองทุนขนาดใหญ่หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ซึ่งหมายความว่าเจ้าของทรัพย์สินอย่างกองทุนแห่งชาติของจีน (CIC) จะไม่สามารถนำเงินออกจากประเทศอเมริกาได้ (ในปี 2014 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หรือ SEC ได้ออกกฎให้กองทุนสามารถระงับการถอนเงินของนักลงทุนได้)

การแช่แข็งทางการเงินครั้งถัดไป มีจุดประสงค์หลักๆอยู่ 2 ข้อ คือ การควบคุมราคาให้มีเสถียรภาพมากที่สุด และ การวางรากฐานที่นำไปสู่การตั้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ (negative real interest rate) เพื่อสร้างเงินเฟ้อมาต่อสู้กับภาวะเงินฝืด (ผ่านการนำเงินในรูปดิจิตอลที่ไม่สามารถถอนออกจากระบบได้ไปลงทุนในตลาดทุนต่างๆ) และจากการวางรากฐานด้านกฎหมายและระบบธนาคารในปัจจุบัน รัฐบาลสามารถสั่งให้ตลาดหุ้นหยุดทำการ ตู้เอทีเอ็มปิดให้บริการ กองทุนถูกแช่แข็งและอัตราดอกเบี้ยถูกปรับเป็นติดลบได้ด้วยการออกคำสั่งไม่กี่ครั้งภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น

การแช่แข็งระบบการเงินโลกในศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ตั้งแต่ วิกฤติการเงินสหรัฐปี 1907 ที่เริ่มต้นจากเหตุแผ่นดินไหว San Francisco ที่นำไปสู่การเทขายสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัยจนตลาดหุ้นร่วงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลให้นายธนาคาร J. Pierpont Morgan นัดประชุมธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อปิดกิจการธนาคารที่ล้มละลายและช่วยเหลือธนาคารที่ขาดสภาพคล่องโดยแลกกับหุ้นของธนาคารเหล่านั้น โดยเหตุการณ์นี้กระทบกับประชาชนผู้ฝากเงินในธนาคารที่ปิดตัวลงเต็มๆแต่ปัญหาการเงินก็ได้รับการคลี่คลายในที่สุด (ชัดเจนว่าสมัยนั้นมีการเลือกธนาคารที่จะช่วย bailout ไม่เหมือนวิกฤติ 2008 ที่ผ่านมา) … เหตุการณ์ถัดมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ออสเตรีย-ฮังการีเตรียมประกาศสงครามกับเซอร์เบียในปี 1914 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างแห่ขายสินทรัพย์เพื่อแปลงกลับมาเป็นทองคำและขนกลับประเทศของตัวเอง ซึ่งภายในระยะเวลาไม่นานตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกก็พากันปิดให้บริการในที่สุด … ต่อด้วยเหตุการณ์ในยุค Great Depression ที่ประธานธิบดี Franklin D. Roosevelt ตัดสินใจปิดธนาคารทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในปี 1933 (เรียกว่าเหตุการณ์ Bank Holiday) เพื่อตรวจสอบบัญชีของแต่ละธนาคารและเรียกความมั่นใจของผู้ฝากเงินกลับคืนมาได้สำเร็จและต่อมา FDR ก็ได้ประกาศยึดทองคำจากประชาชนทั้งหมดมาให้กับรัฐบาล

เหตุการณ์แช่แข็งทางการเงินครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในปี 1971 สมัยประธานธิบดี Richard Nixon ที่ได้ทำการยกเลิกการตรึงราคาทองคำกับดอลลาร์สหรัฐในสนธิสัญญา Bretton Woods เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ทองคำไหลออกนอกประเทศหลังจากที่ชาติยุโรปต่างพากันแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทองคำ … เหตุการณ์แช่แข็งทางการเงินในวิกฤติการเงิน Subprime Crisis ที่ผ่านมายังเคยเกิดขึ้นแล้วถึง 2 ครั้ง เริ่มต้นที่ไซปรัสในปี 2012 เมื่อธนาคารใหญ่ 2 แห่งของประเทศถูกระงับการถอนเงินจากคำสั่งของสมาชิก EU และต่อมาเงินฝากของประชาชนที่เกินจำนวนขั้นต่ำก็ถูกแปลงเป็นหุ้น (bail in) ของธนาคาร และอีกครั้งที่กรีซในปี 2015 ท่ามกลางวิกฤติหนี้อันเลวร้าย

หลังเหตุการณ์ Nixon Shock ในปี 1971 โลกก็เข้าสู่ยุคสภาพคล่องสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุค Gold Standard การแตกตื่นแห่ถอนเงินของประชาชนสามารถแก้ไขได้โดยง่ายด้วยวิธีการพิมพ์เงินที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดแทน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติลาตินอเมริกาและต้มยำกุ้งที่กองทุน IMF เข้ามาช่วยอัดฉีดเงินกู้ยืมระยะยาวให้กับประเทศที่เกี่ยวข้อง และการแห่พิมพ์เงินหลักแสนล้านดอลลาร์ของนานาประเทศทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติ Subprime Crisis ที่เริ่มต้นในปี 2008 … ว่าแต่นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงินนั้นมีข้อจำกัดหรือไม่ ?

คำเตือนจากกลุ่มสถาบันการเงินระหว่างประเทศเริ่มเกิดขึ้นในปี 2014 ที่กล่าวถึงความซับซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในระบบการเงิน ทั้งปริมาณหนี้ต่อ GDP ของธนาคารกลางทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณ derivatives ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนทะลุ 10 เท่าของ GDP โลก เป็นฟองสบู่ลูกใหม่ที่เป็นผลพวงของการอัดฉีดเงินผ่านการทำ QE ที่ล้มเหลวในการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  … กลุ่ม elite โลกอย่างรัฐบาลและบริษัทการเงินเอกชนนั้นพร้อมที่จะรับมือวิกฤติครั้งใหม่นี้ผ่านการแช่แข็งระบบการเงินโลกและการบังคับกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามมา (คนอเมริกันคงไม่พร้อมใจช่วยรัฐบาลเหมือนในยุค FDR แล้ว) แต่ประชาชนธรรมดานั้นยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าวิกฤติครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมกำลังจะเกิดขึ้น

 

Chapter 2: One Money, One World, One Order

James Rickards ตั้งทฤษฎีของกลุ่ม elite ของโลกให้เป็นการรวมตัวกันของนักการเมือง นายธนาคาร เจ้าของสื่อและบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่มักพบเจอกันตามงานประชุมสุดยอดต่างๆและหัวข้อที่พวกเขาเหล่านี้สนใจก็คือ world money, world taxation และ world order

Word Money : เงินของโลกคือทองคำ เป้าหมายหลักของกลุ่ม elite คือการกักตุนทองคำให้ได้มากที่สุดและเปลี่ยนกระแสเงินสดสำหรับแลกเปลี่ยนในตลาดโลกเป็น special drawing right (SDR – สกุลเงินที่มีมูลค่ายึดตามค่าเงินจากสกุลเงินใหญ่ๆได้แก่ ดอลลาร์ เยน ปอนด์ ยูโรและหยวนโดยมี IMF เป็นตัวกลางในการจัดการ) … ตั้งแต่การเริ่มเกิดขึ้นของระบบการเงิน ทองคำคือเงินรูปแบบเดียวที่ได้ยังคงได้รับการยอมรับมาโดยตลอด ส่วนเงินในรูปแบบกระดาษหรือเหรียญต่างๆนั้นเป็นเพียงแค่ “ตัวแทน” ของทองคำสำหรับใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ได้รับการการันตีโดยธนาคารเท่านั้น … หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ Great Depression รัฐบาลของประเทศต่างๆเริ่มออกนโยบายโยกย้ายทองคำจากมือของประชาชนไปเก็บรวมกันในที่เก็บทองคำของรัฐบาล (ทองคำโลกส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำกับเงินดอลลาร์ในยุค Bretton Woods) … จนกระทั่งปี 1974 ที่รัฐบาลทั่วโลกต่างพากันยกเลิกการตรึงค่าเงินของประเทศและยกเลิกหน้าที่การเป็นเงินโลกของทองคำทิ้งไป โลกก็ได้เข้าสู่ยุค Dollar Standard ที่ทั่วโลกยึดเงินดอลลาร์เป็นกระแสเงินกลางในการแลกเปลี่ยนทั้งๆที่เงินดอลลาร์ไม่ได้มีทรัพย์สินที่แท้จริงรองรับแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาวิกฤติ Subprime crisis ก็ได้แสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความอ่อนแอของระบบที่อิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นศูนย์กลาง

กลุ่ม elite ของโลกก็เริ่มหาเงินโลกสกุลใหม่ในรูปของ SDR ที่กำลังคืบคลานเข้ามาในระบบการเงินโลกเรื่อยๆ โดย SDR จะมีบทบาทมากๆในการสร้างสภาพคล่องในภาวะวิกฤติการเงินครั้งใหม่ผ่านการพิมพ์และให้กู้เงินจากอากาศของ IMF และในไม่ช้า สกุลเงินดอลลาร์จะถูกลดบทบาทลงในระบบเศรษฐกิจโลกโดยมี SDR เข้ามาแทนที่ทั้งการเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศและการเป็นสกุลเงินหลักในการลงทุนต่างๆ ดอลลาร์จะถูกด้อยค่าไปในที่สุด และมีแค่ทองคำเท่านั้นที่จะยังคงสามารถรักษามูลค่าของตัวเองไว้ได้ (สังเกตจากการที่รัฐบาลทั่วโลกแห่แย่งกันซื้อทองคำมากักตุนไว้แทนการเก็บเงินดอลลาร์และพันธบัตรที่เกี่ยวข้อง)

World Taxation : โลกของเราอยู่ในยุคที่ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการรายได้จากภาษีมาชำระหนี้ระหว่างประเทศขณะที่องค์กรใหญ่ระดับโลกนั้นเต็มไปด้วยวิธีการที่ทำให้องค์กรแทบจะไม่ต้องชำระภาษีให้กับประเทศใดๆเลย (เช่น แยกบัญชี ทรัพย์สินหรือรายได้ไปยังประเทศกลุ่ม tax haven อาทิ Cayman Islands และ Malta) … กลุ่ม elite โลกที่นำโดยกลุ่มประเทศ G7 อันเต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกผู้เชี่ยวชาญในการหลีกเลี่ยงภาษีต้องการที่จะสร้างระบบข้อมูลภาษีโลกที่พวกเขาสามารถตรวจสอบบัญชีและการซื้อขายของบริษัทในทุกประเทศทั่วโลกเพื่อเพิ่มปริมาณการจัดเก็บภาษีของบริษัทที่มีฐานในประเทศของตัวเองให้ได้มากที่สุด (คาดว่าจะสามารถเก็บภาษีของบริษัทพวกนี้ได้หลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านการเจรจาเชิงบังคับให้ทุกประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแชร์ข้อมูลของบริษัทระหว่างกันโดยแลกเปลี่ยนกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินเป็นหลัก

World Order : กลุ่ม elite โลกต้องการการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่หลังจากที่โลกอยู่ภายใต้การเป็นผู้นำของสหรัฐและชาติตะวันตกที่เริ่มเสื่อมถอยลงทุกทีพร้อมกับการเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่อย่างจีนและรัสเซีย กลุ่มประเทศ G20 ที่จีนมีบทบาทมากขึ้นกำลังต้องการที่จะสร้างโลกที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบการปกครองที่มีพวกเขาเป็นศูนย์กลาง โดยมี IMF เป็นธนาคารกลาง มี SDR เป็นเงินโลกและมีนโยบายการเงินดิจิตอลแบบไร้เงินสดเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทและประชาชนคนธรรมดาได้อย่างสมบูรณ์ … และพวกเขากำลังรอวิกฤติการเงินครั้งถัดไปเพื่อเป็นโอกาสในการผลักดันกฎระเบียบโลกใหม่นี้ (เหมือนอย่างที่อเมริกาประกาศ Patriot Act หลังเหตุการณ์ 9/11 – เรียกเทคนิคนี้ว่า shock doctrine)

 

การ์ตูนที่สื่อถึงการเข้าแทนที่เงินสกุลดอลลาร์ด้วย SDR (ขอบคุณภาพจาก Transmissions)

 

Chapter 3: Desert City of the Mind

Complexity theory เกิดขึ้นจากการศึกษาการกำเนิดของพายุเฮอร์ริเคนที่นักวิจัยค้นพบว่าระบบ 2 ระบบที่เกิดความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยมากๆอย่างการกระพือปีกของผีเสื้อก็อาจส่งผลให้ระบบหนึ่งเกิดพายุในขณะที่อีกระบบคลื่นลมสงบเป็นปกติได้ ดังนั้นการพยากรณ์การเกิดพายุเฮอร์ริเคนในระยะยาวจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

Complex system คือ ระบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ (agent) ที่มีคุณสมบัติ 4 ประการ ได้แก่ diversity (ความหลากหลาย อาทิ ประเทศ กฎหมาย พฤติกรรม), connectedness (ความเชื่อมโยงกัน อาทิ การไหลของข้อมูลระหว่างกันผ่านอินเตอร์เน็ตและ social network), interaction (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อาทิ การแลกเปลี่ยนซื้อขาย) และ adaptation (การปรับตัวเมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ) โดยระบบที่ซับซ้อนนี้จะยังคงดำรงอยู่ได้เรื่อยๆจนกระทั่งระบบนั้นเข้าสู่ภาวะ critical state ที่หากเกิดเหตุการณ์ร้ายเข้ามากระทบกับระบบนี้ที่รุนแรงมากพอระบบที่ซับซ้อนนี้ก็จะพังทลายลงไม่ต่างกับเหตุการณ์หิมะถล่มที่เกิดขึ้นด้วยเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆก้อนเดียวที่ตกลงไปยังกองหิมะที่พร้อมจะถล่มลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง

การพยากรณ์วิกฤติทางการเงินหรือเหตุการณ์สำคัญๆในปัจจุบันของระบบการเงินโลกที่เป็น complex system ขนาดใหญ่นั้นทำได้ยากมาก โดยผู้เขียนได้เลือกใช้ทฤษฎี Bayes’ Theorem ที่เป็นการพยากรณ์การเกิดขึ้นของเหตุการณ์หนึ่งโดยอิงจากความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันซึ่งกำลังเป็นแนวคิดที่แพร่หลายสำหรับการพยากรณ์เหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ อาทิ CIA พยากรณ์เหตุการณ์ 9/11 ครั้งถัดไป ซึ่ง Bayes’ Theorem นั้นจะอาศัยการเก็บข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆที่ผู้พยากรณ์คิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่จะพยากรณ์สูงไปเรื่อยๆจนกระทั่งมีจำนวนข้อมูลมากพอจนอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ

 

Chapter 4: Foreshock 1998

ในปี 1993 อดีตนักค้าพันธบัตรมือทอง John Meriwether ได้ตัดสินใจก่อตั้งกองทุน Long-Term Capital Management (LTCM) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในวงการการเงินโลกเป็นอย่างดี … กองทุน LTCM กลายมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของ Wallstreet หลังจากที่พวกเขาได้นำเอาโมเดลการซื่อขายหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ด้วยการทำกำไรจากส่วนต่างราคาของสินทรัพย์ (arbitrage) ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนถึง 3 เท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี ผ่านการทำ leverage กว่า 20 เท่าด้วยการทำจำนำพันธบัตร (repo) และการซื้อสัญญาแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (swap)

ในเดือนกรกฎาคม 1997 วิกฤติการเงินลูกใหญ่ได้เกิดขึ้นที่แถบทวีปเอเชีย เริ่มต้นจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของประเทศไทยอันเป็นผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำลงอย่างรวดเร็วและทำให้หนี้สินของนักลงทุนที่กู้ยืมเงินดอลลาร์พุ่งสูงขึ้น นักลงทุนต่างเร่งถอนทุนออกจากประเทศไทย วิกฤติเริ่มรุกไปที่อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ที่มีนโยบายตรึงค่าเงินกับดอลลาร์เหมือนกับไทยที่ต่อมาพากันออกนโยบายลอยตัวค่าเงินและสร้างความวิตกกังวลของวิกฤติที่อาจจะแพร่กระจายออกไปได้ทั่วโลก … ต่อมากองทุน IMF ได้เข้ามาช่วยปล่อยกู้เงินให้กับ 3 ประเทศในแถบเอเชียพร้อมๆกับการบังคับปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่รัดกุมขึ้นจนสามารถดับไฟที่ลุกลามได้สำเร็จในปี 1998 … แต่หลังจากนั้นไม่นาน วิกฤติร้ายก็ได้ตื่นขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัสเซียประกาศ default และทำการลอยตัวค่าเงินรูเบิลจากดอลลาร์สหรัฐ เชื้อร้ายเริ่มออกแพร่กระจายอีกครั้ง

ภายใน 6 สัปดาห์ กองทุน LTCM เกิดภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นล้มละลายจากการที่นักลงทุนทั่วโลกต่างพากันเทขายสินทรัพย์อย่างบ้าคลั่งและกองทุน LTCM นี้เองคือศูนย์กลางของวิกฤติที่กำลังจะลุกลามเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเนื่องจาก LTCM ได้ทำสัญญาทางการเงินและได้รับการลงทุนจากสถาบันการเงินใน Wallstreet อย่างมหาศาลซึ่งหาก LTCM ล้มละลาย ธนาคารหลายแห่งก็จะต้องเทขายสินทรัพย์ปริมาณมหาศาลซึ่งจะส่งผลให้ตลาดทุนพังทลาย อันเป็นเหตุให้ FED และสถาบันการเงินได้ตัดสินใจระดมเงิน 4 พันล้านดอลลาร์เพื่อ bailout กองทุน LTCM ได้สำเร็จในที่สุด

บทเรียนที่ไม่ได้รับการเรียนรู้ของวิกฤติ LTCM แสดงให้เห็นว่า derivatives ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดระหว่างสถาบันการเงินทั่ว Wallstreet ถึงแม้อาจไม่ได้แสดงถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินนั้นๆในภาวะปกติ (เนื่องจากสถาบันเหล่านี้มักทำการ long และ short สินทรัพย์ที่ใกล้เคียงกันพร้อมๆกันเพื่อลดความเสี่ยงสุทธิ) แต่หากสถาบันการเงินหนึ่งเกิด “ล้ม” ผลลัพท์ของ complex system นี้จะลุกลามไปยังสถาบันแห่งอื่นๆได้อย่างรวดเร็วและหากหยุดแผลไม่ทัน ธนาคารทั้งหมดอาจล้มไปพร้อมๆกันเหมือยโดมิโน่ … การวัดความเสี่ยงของระบบ derivatives นั้นไม่สามารถดูที่ net value ได้แต่ต้องวัดที่ gross value หรือปริมาณ derivatives ทั้งหมดในระบบที่ยิ่งมีปริมาณมากขึ้น ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นแบบ exponential

แทนที่จะหาทางลดความเสี่ยงของ derivatives สิ่งที่ FED และรัฐบาลสหรัฐเลือกทำกลับตรงกันข้ามเมื่อนโยบายที่ได้รับการผลักดันหลังจากวิกฤติ LTCM กลับเต็มไปด้วยการเพิ่มความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิก Glass-Steagall Act เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคาร commercial bank ที่ปกติทำได้เพียงรับฝาก-กู้เงินสามารถเข้าสู่ตลาดการลงทุนความเสี่ยงสูงได้เหมือน investment bank หรือการผ่านร่าง The Commodity Futures Modernization Act เพื่อลดข้อจำกัดของ derivatives บางประเภทลง ปิดท้ายด้วยการออกกฎสนับสนุนการคำนวณความเสี่ยงด้วย net value ด้วย VaR (value at risk model) เพื่อให้ธนาคารสามารถเพิ่ม leverage ได้มากขึ้น

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ FED ทำก็คือการเพิ่ม systemic risk ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม

 

Chapter 5: Foreshock 2008

วิกฤติการเงินในปี 2008 นั้นมีที่มาแทบไม่แตกต่างกับวิกฤติปี 1998 เลยทั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณ derivatives และ leverage การลดลงของความโปร่งใส (transparency) ของบัญชีธนาคารพร้อมกับการที่ธนาคารต่างๆถือของสินทรัพย์ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆจนนำมาสู่ภาวะ critical state ที่ทุกอย่างพร้อมพังทลายอีกครั้ง สิ่งที่แตกต่างกันมีเพียงแค่ตัว derivative ต้นเหตุที่เปลี่ยนจาก sovereign swap เป็น subprime mortgage

เหตุการณ์วิกฤติเริ่มต้นจากการล้มของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในสังกัดของ Bear Stearns ในปี 2007 ซึ่ง FED ก็ได้เข้ามาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วยการสรรหากองทุนข้ามชาติมาเข้าซื้อหุ้นบางส่วนของธนาคารยักษ์ใหญ่ ก่อนที่ Bear Stearns จะล้มครืนทั้งธนาคารในปี 2008 พร้อมๆกับภาวะขาดสภาพคล่องของ Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้ mortgage ของรัฐบาล คราวนี้รัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการ bailout อัดฉีดเงินภาษีของประชาชนเข้าไปค้ำจุนสถาบันการเงินเหล่านี้

แต่สุดท้ายคลื่นลูกใหญ่ลูกต่อมาอย่างการล้มของธนาคาร Lehman Brothers ก็ได้ทำให้ทุกอย่างพังทลาย ดัชนี Dowjones ร่วงลงมาจากยอดกว่า 40% ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปีพร้อมกับอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่สมัย The Great Depression … และไม่ต่างกับวิกฤติในปี 1998 รัฐบาลสหรัฐก็ยังแก้ปัญหาด้วยการยกผลประโยชน์ให้กับกลุ่มสถาบันการเงิน Wallstreet เหมือนเดิมและในเวลาปัจจุบัน สัญญาณเตือนแผ่นดินไหวครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมก็กลายเป็นสีแดงอีกครั้ง

 

การ์ตูนเล่าต้นเหตุของวิกฤต Subprime (ขอบคุณภาพจาก Gold Digger News)

 

Chapter 6: Earthquake 2018

วิกฤติการเงินลูกถัดไปเริ่มมองเห็นได้จากฟองสบู่ derivative ที่ผลักดันด้วยหนี้อันมหาศาลแล้ว ตอนนี้โลกได้เข้าสู่ภาวะ critical stake อีกครั้ง เหลือเพียงแค่เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่า เกล็ดหิมะแผ่นสุดท้ายที่จะทำให้กองหิมะถล่มลงมาได้นั้นคืออะไรและจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

หนึ่งในตัวการที่เป็นไปได้สูงของการเกิดวิกฤติครั้งถัดไปคือ “ทอง” … ปัจจุบันทองยังคงได้รับการจัดการเหมือน commodity ในสายตาของนักลงทุนทั่วไป ในขณะที่ธนาคารกลางในหลายประเทศอย่างจีนและยุโรปกำลังไล่สะสมทองคำแท่งอย่างลับๆในราคาทองคำที่ต่ำกว่าค่าที่ควรจะเป็นอยู่เกือบ 10 เท่า (หากเทียบว่า gold standard จะกลับมาทำให้ทองเป็นเงินอีกครั้ง) … ภาวะ panic ที่เกิดจากทองคำนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจาก Gold Run หรือ ภาวะที่ธนาคารไม่สามารถคืนทองคำให้กับผู้ซื้อและเจ้าของทองคำเหล่านั้นได้ เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อของทองคำส่วนใหญ่นั้นอยู่ในรูปของสัญญาสิทธิ์ที่เจ้าของทองคำนั้นไม่ได้รับทองคำแท่งจริงๆไปเก็บไว้คิดเป็นสัดส่วนทองคำ 1 ต่อสัญญา 10 ส่วน ธนาคารกลางของชาติยุโรปก็เริ่มขอเรียกคืนทองคำแท่งกลับเข้าประเทศตัวเองมากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ทองคำในรูปกายภาพจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการและตอนนี้การแช่แข็งการแลกเปลี่ยนทองคำจะเกิดขึ้น ทองคำจะมีมูลค่าสูงมากขึ้นและวิกฤติก็อาจจะลุกลามไปยังตลาดการเงินอื่นๆต่อได้

อีกปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติครั้งใหญ่คือ Dollar Shortage หรือ การขาดแคลนดอลลาร์ ที่เริ่มต้นจากนโยบายการกระจายเงินดอลลาร์ของสหรัฐให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งสุดท้ายก็ได้ส่งผลให้เกิดหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นมากๆของสหรัฐอเมริกาเองในปัจจุบัน … เงินดอลลาร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างหนี้และ derivatives ที่รวมกันแล้วมีอัตราส่วน leverage กว่า 50 ต่อ 1 (เงิน QE ที่ถูกพิมพ์ทั้งหมด 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ถูกนำมาใช้แปลงเป็นหนี้มากกว่า 60 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งถือเป็นจุดที่อันตรายมากเพราะหากเกิดการล้มครืนของหนี้ทางใดทางหนึ่ง อาทิ corporate debt ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยจากทั้งการด้อยค่าของดอลลาร์และภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการก่อการร้าย สงครามและภัยธรรมชาติที่ทั้งหมดอาจจะเข้ามากระทบสังคมที่เต็มไปด้วยหนี้สินระดับที่ไม่สามารถทำให้พวกเขาฟื้นขึ้นมาด้วยตัวเองได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา … ไม่ต่างกับการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน complex system ที่มีขนาดและความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งก็จะต้องเกิดการล่มสลาย แนวทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้อย่างการลดขนาดของธนาคารและปริมาณ derivatives ลงนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก สุดท้ายการพังทลายคือสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

 

ปริมาณทองคำสำรองของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ขอบคุณภาพจาก BillionStar.com)

 

Chapter 7: Bonfire of The Elites

กลุ่ม elite ที่ประกอบด้วยผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ รัฐมนตรี นักเศรษฐศาสตร์ นายธนาคารและประธานองค์กรยักษ์ใหญ่กำลังเริ่มถูกสั่นคลอนจากภาวะปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาเชื่อมั่นในนโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจผ่านสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล พวกเขามักจะลงทุนในระยะยาว กู้เงินเมื่อดอกเบี้ยต่ำ ซื้อของมากขึ้นเมื่อมีการลดราคา เก็บเงินสำหรับการเกษียณอายุและมักมองการณ์ไกลไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผล แต่นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์นั้นทำตัวไร้เหตุผลอยู่เป็นประจำ สมดุลของ demand-supply ไม่เป็นจริงเสมอไป หลักการของกลุ่ม elite นั้นเริ่มที่จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

การตัดสินใจสนับสนุนนโยบาย free trade ของกลุ่ม elite อเมริกาเพื่อรื้อฟื้นเศรษฐกิจให้กับคู่ค้าชาติยุโรปหลังสงครามโลกนั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้วในปัจจุบัน จีนและอินเดียสร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและบริการซึ่งส่งผลให้ถึงแม้สินค้าของสหรัฐจะมีต้นทุนที่ถูกลงแต่รายได้ของประชากรสหรัฐก็จะลดลงเรื่อยๆจากงานที่หายไปและถึงจุดหนึ่ง กำลังซื้อของประเทศจะสูญสิ้น ผู้เขียนแนะนำนโยบายกำแพงภาษีเพื่อรักษาดุลการค้าระหว่างประเทศ (เหมือน Trump) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคการผลิตของอเมริกาและรายได้ของแรงงานที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ในระยะยาวก่อนที่อเมริกาจะเลือดไหลออกจนหมดตัว

นโยบายการส่งออกเงินดอลลาร์ที่นำมาสู่ยุครุ่งเรืองของอเมริกาได้ทิ้งพิษร้ายในรูปของหนี้ที่มีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆเป็นประวัติการณ์ นโยบายการสร้างเงินเฟ้อด้วยการพิมพ์เงินเพื่อชำระหนี้และการคงอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อป้องกันเงินฝืดกลับนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์และ derivatives แทน ซึ่งส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ที่ยิ่งซ้ำเติมการบริโภค

สิ่งเดียวที่จะสามารถแก้ไขภาวะเงินฝืดหนี้ท่วมของโลกได้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก (สร้างอัตราการเติบโตที่แท้จริงแทนการสร้างหนี้) ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่ม elite ยังคงยึดมั่นไว้อย่างเหนียวแน่นจนกว่าวันแห่งการล่มสลายจะมาถึง

 

Chapter 8: Capitalism, Fascism and Democracy

“Creative Destruction” คือคำนิยามระบบทุนนิยมของ Joseph A. Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์ในปี 1942 ผู้ลงความเห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นเป็นระบบที่มีหารเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยนายทุนกลุ่มเดิมจะถูกนายทุนกลุ่มใหม่ที่สามารถคว้าโอกาสจาก “อนาคต” ได้ทำลายอยู่เป็นระยะๆและเขาคนนี้ยังได้ทำนายไว้ว่าเมื่อสังคมทุนนิยมเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว โลกจะเริ่มเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมที่แบ่งแยกชนชั้นสูง (elite) ออกจากชนชั้นล่าง (proletariat) และกวาดล้างกลุ่มชนชั้นกลาง (bourgeoisie) ทิ้ง ซึ่งปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนก็มากขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการลดลงของรายได้ของชนชั้นกลางที่นับวันยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาทดแทน สุดท้ายโลกอาจจะได้เห็นระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (คล้ายๆประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เก็บภาษีจำนวนมากเพื่อแลกกับสวัสดิการอย่างดี) หรืออาจจะได้เห็นการกลับมาอีกครั้งของเผด็จการ Fascist ก็เป็นได้ (เหมือนที่ Franklin D. Roosevelt เคยประกาศยึดครองทองคำทั้งหมดของประชาชน)

 

Chapter 9: Behold The Black Horse

การล่มสลายของ complex system นั้นไม่สามารถพยากรณ์ระยะเวลาที่แน่นอนได้ แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปี เหตุการณ์ที่ “เกือบ” เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบพังทลายนั้นเกิดขึ้นถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ เหตุการณ์ flash crash ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มูลค่าลดลง 8% ภายในเวลาเพียง 6 นาทีโดยไม่ได้มีปัจจัยข่าวร้ายใดๆที่สามารถส่งผลกระทบกับราคาได้ เหตุการณ์ลดค่าเงิน Swiss franc ซึ่งถือเป็นค่าเงินที่เสถียรภาพมากที่สุดในโลกกว่า 20% เหตุการณ์ที่จีนลดค่าเงินหยวนของตัวเองประมาณ 2% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์ BREXIT และเหตุการณ์พุ่งขึ้นของราคาทองคำกว่า 4.8% ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อตลาดเงินและสภาพคล่องโดยตรงและไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ที่ตามมาได้

ระบบ complex system นั้นอาจจะเกิด chain reaction ที่พังทลายต่อกันเป็นทอดๆได้เหมือนกับเหตุการณ์สึนามิในปี 2011 ที่เริ่มต้นด้วยระบบ complex system ทางธรรมชาติที่ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของสึนามิขนาดยักษ์ที่ไหลเข้าทำลายระบบ complex system ถัดมานั่นก็คือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จนได้รับความเสียหาย เหตุการณ์ภัยธรรมชาตินี้ยังได้ส่งผลกระทบต่อระบบ complex system ถัดมานั่นก็คือตลาดการเงินของญี่ปุ่นซึ่งส่งผลต่อไปยังระบบ complex system อีกระบบนั่นคือตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินโลกที่ชาวญี่ปุ่นแห่ขายเงินตราต่างประเทศเพื่อนำเงินเยนกลับเข้าประเทศ … ไม่แน่ว่า “Black Horse” ที่จะเข้ามาทำลาย world order อาจจะเป็นเหตุการณ์เล็กๆที่เริ่มจากการ default ของมาเลเซียที่ลุกลามต่อไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังอเมริกาที่อาจจะโดนการก่อการร้ายซ้ำเติมอีกทอดหนึ่งก็เป็นได้

แผนการสร้าง new world order ของกลุ่ม elite เริ่มต้นจากการสร้างสมดุลของปริมาณทองคำสำรองระหว่างประเทศและสัดส่วนค่าเงินในตะกร้า SDR พร้อมกับการสร้างตลาดสินทรัพย์ SDR เพื่อเตรียมเปลี่ยนผ่านสกุลเงินโลกให้เป็น SDR ผ่านการแช่แข็งทางการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจลูกถัดไปเกิดขึ้นต่อด้วยการสร้างภาวะเงินเฟ้อเพื่อชำระหนี้สินของโลกใหม่ แผนการนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมาพบเจอกับการต่อต้านของประชาชนที่เสียผลประโยชน์ทั่วโลก การจลาจลและภาวะโกลาหลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การบังคับใช้กฎอัยการศึกและการปกครองแบบเผด็จการ Fascist จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ตระกูล Colonna แห่งอิตาลีคือหนึ่งในแบบอย่างของการรักษาความมั่งคั่งได้ยืนยาวนานถึง 900 ปีที่เต็มไปด้วยสงครามและโรคระบาด เคร็ดลับของพวกเขาคือการลงทุนในสินทรัพย์ 3 อย่าง ได้แก่ งานศิลปะ ที่ดินและทองคำ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แนะนำให้นักลงทุนทุกคนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤติครั้งใหญ่ให้เลือกลงทุนในทองคำ 10% ที่ดิน 10% และถ้ามีโอกาสก็ควรหาซื้องานศิลปะ (ที่เป็นสินทรัพย์กายภาพที่มีมูลค่าต่อน้ำหนักสูงสุด) หรือลงทุนในกองทุนงานศิลปะ และที่สำคัญควรถือเงินสดไว้ 30% (ทั้งหมดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์)

 

ทายาทของตระกูล Colonna ในปัจจุบัน (ขอบคุณภาพจาก Italian Ways)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

punksood

Recent Posts