The Undoing Project: A Friendship That Changed Our Minds (2016)
by Michael Lewis
“Doubt is not a pleasant condition, but certainty is an absurd one.” – Voltaire
“People didn’t choose between things, they choose between descriptions of things.”
ในปี 2003 ผู้เขียน Michael Lewis ได้สร้างปรากฏการณ์ช็อกโลกผ่านหนังสือ Moneyball ที่เล่าเรื่องราวของ Oakland Athletics ทีมเบสบอลระดับกลางๆที่ประสบความสำเร็จชนะทีมเบสบอลระดับท็อปที่มีเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ด้วยกระบวนการประเมินนักกีฬารูปแบบใหม่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติแทนการคัดเลือกนักเบสบอลผ่านผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่ทีมอื่นๆเลือกใช้ … Moneyball สร้างกระแสให้มนุษย์ตระหนักได้ว่าบางครั้งประสบการณ์อาจสู้สถิติไม่ได้เลยและหลายๆอุตสาหกรรมก็ได้รับการกระแทกด้วย Moneyball effect … แต่สิ่งหนึ่งที่ Michael Lewis ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ทำไมมนุษย์ถึงเชื่อผู้เชี่ยวชาญอย่างสนิทใจ ทำไมผู้เชี่ยวชาญถึงมั่นใจในตัวเองขนาดนั้นและทำไมอุตสาหกรรมหลายพันล้านอย่างเบสบอลถึงได้มีประสิทธิภาพต่ำได้ขนาดนั้นอย่างยาวนาน
ไม่นาน Michael Lewis ก็เริ่มศึกษาศาสตร์ของการทำงานของระบบการตัดสินใจของมนุษย์และได้มาพบกับเรื่องราวของสองคู่หูนักจิตวิทยาชาวอิสราเอลผู้ให้กำเนิดศาสตร์แห่ง Behavioral Economics ที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของการตัดสินใจของมนุษย์ในปัจจุบัน … The Undoing Project ของ Michael Lewis นำเสนอเรื่องราวของ Amos Tversky และ Daniel Kahneman กับการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของระบบการตัดสินใจของมนุษย์
ผู้เขียน Michael Lewis (ขอบคุณภาพจาก WBUR)
Chapter 1: Man Boobs
Daryl Morey ผู้จัดการทีมบาสเกตบอล the Houston Rockets คือผู้ปฎิวัติวงการคัดเลือกนักกีฬาบาสเกตบอลผ่านการใช้ข้อมูลทางสถิติในการประเมิน “ความน่าจะเป็น” ของฝีมือของนักกีฬาแต่ละคนผ่านการเก็บข้อมูลนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาแทนการยึดตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกตัวนักบาสเกตบอลโดยเฉพาะ … Morey เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาที่ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่มีความ “มั่นใจ” ในสิ่งที่ “ไม่แน่นอน” … เขาไม่เคยเชื่อว่าจะมีใครสามารถพยากรณ์ราคาน้ำมันในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่นักสถิติสามารถทำได้นั้นมีเพียงการประมาณการความน่าจะเป็นของราคาน้ำมันเท่านั้น
ในการคัดตัวนักกีฬาปีแรก โมเดลวิเคราะห์ข้อมูลของ Morey ได้เสนอให้เขาคัดเลือกนักกีฬาคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีฝีมือโดดเด่นอะไรเลย ขณะที่ปฏิเสธนักกีฬาอีกคนซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นซุปเปอร์สตาร์ในวงการบาสเกตบอล … Morey จึงเริ่มวิเคราะห์ถึงปัญหาของโมเดลของเขาจนพบว่านักกีฬาที่เขาเลือกมานั้นมีอายุมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นจึงทำให้เขามีสถิติที่โดดเด่นมากในสมัยเรียน ขณะเดียวกันนักกีฬาซุปเปอร์สตาร์ที่โมเดลไม่ได้เลือกนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากว่าตัวนักกีฬาไม่พอใจในตัวโค้ชของเขาจนไม่ยอมโชว์ฝีมือการเล่นที่แท้จริงของตัวเอง … Morey ได้เพิ่มปัจจัยต่างๆเข้าไปในโมเดลของเขามากขึ้น อาทิ ฝีมือของคู่แข่งในแต่ละเกม อัตราการทำสกอร์ต่อนาทีและคุณสมบัติทางกายภาพต่างๆมากมาย โดยเขาเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการใช้ผู้เชี่ยวชาญมาประเมินในบางสิ่งที่โมเดลไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกับเคสของซุปเปอร์สตาร์ที่โมเดลไม่มีทางล่วงรู้ถึงสาเหตุของผลการเล่นที่ไม่ได้โดดเด่นของตัวนักกีฬาได้
Daryl Morey เริ่มทำการวิเคราะห์ถึงส่าเหตุของความผิดพลาดของผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกตัวนักบาสเกตบอล ที่เกิดขึ้นชัดๆเช่นการที่ผู้เชี่ยวชาญไม่มีใครสนใจ Jeremy Lin เนื่องจากเขาเป็นคนเอเชียหรือการที่ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจไม่คัดนักบาสเกตบอลฝีมือดีเพราะเขาถูกล้อด้วยชื่อเล่นตลกๆว่า “Man Boobs” … ผู้เชี่ยวชาญมีสิ่งที่เรียกว่า Bias เกิดขึ้นในการตัดสินใจคัดเลือกนักกีฬา ทั้งนี้ก็เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นคือ “มนุษย์” และมนุษย์นั้นมักจะลืมนึกถึงกระบวนการคิดของตัวเองอยู่เป็นประจำ
Chapter 2: The Outsider
อุปนิสัยที่แสดงถึงตัวตนของ Daniel Kahneman ได้ดีที่สุดคือความเคลือบแคลงสงสัย (doubt)
Daniel Kahneman เกิดในครอบครัวชาวยิวที่ชีวิตในวัยเด็กต้องอยู่กับการหลบซ่อนตัวจากกองทหารนาซีในประเทศฝรั่งเศส หลังสงครามจบลงเขาได้เดินทางไปยังกรุง Jerusalem ในยุคที่ประชาชนชาวยิวได้เริ่มก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นพร้อมกับการทำสงครามกับกลุ่มชาติอาหรับอย่างต่อเนื่อง … สิ่งหนึ่งที่ Daniel Kahneman ได้รับจากชีวิตช่วงสงครามคือ “ความเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง” และ “ความสงสัยในมนุษย์” ซึ่งผลักดันให้เขามุ่งหน้าศึกษาวิชาจิตวิทยาอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัย Hebrew University
หลังจากเรียนจบ Daniel Kahneman ได้รับการเกณฑ์เข้าประจำเป็นทหารที่ซึ่งต่อมาเขาได้กลายมาเป็นนักจิตวิทยาผู้รับผิดชอบการประเมินและคัดเลือกทหารประจำกองทัพอิสราเอล (ที่เรียกได้ว่าวุ่นวายสุดๆ เพราะประชาชาของอิสราเอลนั้นคือชาวยิวที่แต่เดิมกระจายอยู่อาศัยกันทั่วโลก) … Daniel Kahneman เลือกใช้หลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาช่วยตอบคำถามของกองทัพว่า “พฤติกรรมและนิสัยแบบใดบ้างที่เหมาะสมต่อการเป็นทหาร” จนทำให้เขาค้นพบว่ารูปแบบการประเมินทหารใหม่ที่ใช้พนักงานสัมภาษณ์ทหารทีละคนนั้นเต็มไปด้วยความผิดพลาดของมนุษย์ที่เรียกว่า Halo Effect (การที่มนุษย์ตัดสินคนอื่นจากเพียงความประทับใจในช่วงแรกๆ เช่น ผู้สัมภาษณ์มีแนวโน้มให้คะแนนด้านความฉลาดให้กับผู้สมัครที่บุคลิกภาพดีมากกว่า) ทำให้ Daniel Kahneman ในวัยเพียง 21 ปีทำการออกแบบกระบวนการสัมภาษณ์ใหม่ให้โดยใช้แบบประเมินที่มีความละเอียดสูงเพื่อประเมินคุณสมบัติต่างๆของผู้สมัครอย่างละเอียด (จนผู้สัมภาษณ์หลายคนบ่นว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นเหมือนหุ่นยนต์เท่านั้น) เพื่อตัดปัจจัยความผิดพลาดของมนุษย์ทิ้งไป … กองทัพของอิสราเอลยังคงใช้รูปแบบการประเมินทหารของ Daniel Kahnemen จนถึงปัจจุบัน
หลังจากรับใช้ราชการทหารอยู่ไม่นาน Daniel Kahnemen ก็ไปศึกษาต่อคณะจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Berkeley ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะกลับมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Hebrew University
Chapter 3: The Insider
Amos Tversky เกิดในครอบครัวชาวยิวรุ่นบุกเบิกประเทศอิสราเอล เขามีความโดดเด่นแตกต่างจากเพื่อนชาวอิสราเอลตั้งแต่เด็กทั้งความกล้าบ่าบิ่นและความอัจฉริยะที่หาตัวจับได้ยากที่คนรอบข้างมักจะรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า Amos Tversky คือ “คนที่ฉลาดที่สุดในห้อง”
หลังเรียนจบไฮสคูล Amos Tversky ได้อาสาสมัครไปเป็นหัวหน้ากองทหารนานถึง 5 ปีก่อนที่จะออกมาเรียนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Hebrew University ที่ซึ่งตัวเขาค้นพบศาสตร์ของจิตวิทยาด้านการตัดสินใจของมนุษย์ที่นักจิตวิทยานามว่า Ward Edwards เป็นผู้เริ่มสงสัยถึง “ความมีเหตุผล” ของมนุษย์ที่ขัดแย้งกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่อ้างว่าทุกการตัดสินใจของมนุษย์มีเหตุผลรองรับเสมอ โดย Ward Edwards ได้ยกตัวอย่างการทดลองที่ให้นักเรียนหญิงเปรียบเทียบผู้ชาย 3 คนทีละคู่ซึ่งพบว่ามีนักเรียนประมาณ 1 ใน 3 เลือกชอบนาย A มากกว่านาย B และชอบนาย B มากกว่านาย C แต่ดันกลับมาชอบนาย C มากกว่านาย A
Amos Tversky เดินทางไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาที่ University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้คิดค้นทฤษฎี “Feature of Similarity” ที่อธิบายถึงการตัดสินใจในการเลือกของมนุษย์ที่ช่วยอธิบายการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลของมนุษย์ โดยเขานำเสนอว่าการตัดสินใจเลือกหรือเปรียบเทียบตัวเลือก 2 ตัวเลือกของมนุษย์นั้น มนุษย์จะทำการคิด feature (ลักษณะ) ของ 2 ตัวเลือกนั้นก่อนที่จะมาเปรียบเทียบกัน โดยหากมนุษย์คิดถึงตัวเลือกหนึ่งก่อน อีกตัวเลือกมักจะได้รับผลกระทบจาก feature ของตัวเลือกแรก อาทิ มนุษย์มักเปรียบเทียบเมือง Tel Aviv ว่าคล้ายกับ New York City มาก (เมืองศูนย์กลางประเทศ) แต่ New York City กับไม่คล้ายกับ Tel Aviv เลย (NTC มี feature เยอะกว่ามาก)
ผลงานของ Amos Tversky ที่เข้าไปลบล้าง (undoing) ทฤษฎีเก่าๆเริ่มสร้างชื่อเสียงของเขาในวงการจิตวิทยา
Chapter 4: Errors
Amos Tversky เดินทางกลับมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Hebrew University ซึ่งต่อมาไม่นานเขาก็ต้องถูกเกณฑ์ทหารอีกครั้งเพื่อต่อสู้ในสงคราม Six-Day War ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ จอร์แดนและซีเรียที่ประทุขึ้นและจบลงภายใน 6 วันด้วยชัยชนะของอิสราเอลที่สามารถยึดครองพื้นที่ของประเทศได้มากขึ้น และหลังสงครามสงบ Amos Tversky ก็กลับมาสอนอีกครั้ง
Danny Kahnemen กลายมาเป็นอาจารย์อันดีบ 1 ของมหาวิทยาลัย Hebrew University ภายในเวลาอันสั้น โดยเขาได้ใช้ศาสตร์ด้านจิตวิทยามาประยุกต์กับวิทยาศาสตร์เพื่อสอนวิชาเรียนต่างๆ เช่น วิชาสถิติที่เขานำเอาหลักการ Regression to the Mean มาอธิบายว่าทำไมมนุษย์ถึงเชื่อว่าการตำหนิคนที่ผลงานแย่นั้นได้ผลมากกว่าการชมคนที่ผลงานดี โดยหลักการนี้อธิบายไว้ว่าผลงานของคนนั้นมีแนวโน้มขยับไปใกล้ค่าเฉลี่ยมากขึ้นทำให้คนที่ผลงานแย่มักจะมีผลงานที่ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องตำหนิพวกเขาด้วยซ้ำ
Danny Kahnemen ยังได้เดินทางไปทำวิจัยที่ University of Michigan และ Harvard ก่อนจะกลับมาสอนอีกครั้งที่ Hebrew University ที่ซึ่งเขากำลังให้ความสนใจกับระบบการทำงานของสมองมนุษย์โดยเขาได้ทำการทดลองเรื่องการให้ความสนใจ (pay attention) ของมนุษย์ด้วยการทดสอบให้นักบินของอิสราเอลและคนขับรถบัสฟังเสียงจากเทปที่พูดสลับกันไปมาโดยเขาพบว่านักบินที่เก่งมีความสามารถในการแยกแยะเสียงได้ดีกว่านักบินธรรมดาๆซึ่งมีความสามารถที่ดีกว่าคนขับรถบัส แถมเขายังพิสูจน์ได้ว่าคนขับรถบัสที่มีความสนใจต่ำมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่าด้วย การทดลองนี้ทำให้ Danny Kahnemen ค้นพบว่ามนุษย์มีขีดความสามารถของการให้ความสนใจไม่เท่ากัน
Chapter 5: The Collision
เส้นทางของ Danny Kahnemen และ Amos Tversky เดินทางมาบรรจบกันที่มหาวิทยาลัย Hebrew University โดย Danny Kahnemen ได้เชิญ Amos Tversky อาจารย์รุ่นน้องมาบรรยายในคลาสเรียนของเขาในหัวข้อการทดลองความชำนาญทางสถิติของมนุษย์ซึ้ง Amos Tversky ได้ยกตัวอย่างการทดลองสุ่มหยิบเหรียญ 2 สีจากถุงที่มีอยู่ 2 ชนิดคือถุงที่มีสีแดง 75% สีขาว 25% กับถุงที่มีสีขาว 75% สีแดง 25% โดยผู้ทดลองจะต้องให้ความน่าจะเป็นว่าถุงที่เขาหยิบเหรียญคือถุงชนิดไหนซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นใกล้เคียงกับหลักการทางสถิติ Bayes’s Theorem ทำให้ผู้ทดลองสรุปว่ามนุษย์มีความสามารถในการประมาณการทางสถิติอยู่พอสมควร (conservative Bayesians)
แต่ Danny Kahnemen ค้านทฤษฎีนี้อย่างสุดกำลังโดยอ้างว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเหตุผล พวกเขามักจะกระโดดเข้าไปหาคำตอบที่เด้งขึ้นมาในหัวของพวกเขาโดยไม่ได้คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน (รวมถึงตัวผู้ทดลองเองที่พยายามสรุปผลการทดลองเข้าข้างทฤษฎีของตัวเอง) และข้อโต้แย้งนี่เองทำให้ Amos Tvesrky ผู้ที่มักจะ “ถูก” ตลอดเวลาเริ่มตั้งคำถามถึงทฤษฎีนี้และความเชื่อของตัวเอง
หลังจากนั้น Danny Kahnemen ผู้เงียบขรึม ขี้กังวล ไม่มั่นใจในตัวเองและมองโลกในแง่ร้ายก็ตัวติดกับ Amos Tversky ผู้ชอบปาร์ตี้ มั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ดีและพร้อมแหวกขนบธรรมเนียม … ในปี 1971 อัจฉริยะทั้งสองคนได้เขียนงานวิทยานิพนธ์ร่วมกันครั้งแรกในชื่อ “Belief in the Law of Small Numbers” ที่อธิบายถึงความไม่มีเหตุผลของมนุษย์ในการปักใจเชื่อข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (sample) ส่วนน้อยว่าสามารถใช้แทนข้อมูลเชิงสถิติของประชากรทั้งหมด (population) ได้ เช่น พอทอยเหรียญออกหัว 3 ครั้งมนุษย์มักจะเชื่อว่าครั้งที่ 4 มีโอกาสออกก้อยมากกว่าทั้งๆที่มีโอกาสเท่ากัน โดยพวกเขาได้อ้างถึงงานวิจัยเชิงสถิติหลายๆงานที่สรุปผลจากกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป (ต้องใช้ตัวอย่าง 130 คนถึงจะสามารถสร้างระดับความน่าเชื่อถือได้ 90%) ซึ่งสรุปได้ว่ามนุษย์นั้นไม่ได้อิงวิธีการคิดเชิงสถิติเลยแม้แต่น้อย … ผลงานร่วมครั้งแรกของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen นั้นถูกพิมพ์ออกมาโดยใช้ชื่อ Amos Tversky เป็นผู้แต่งคนแรกหลังจากที่พวกเขาโยนเหรียญหัวก้อยเสี่ยงทายกันเพราะว่าพวกเขาทั้งสองคนไม่สามารถแยกออกได้ว่าความคิดของใครอยู่ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้มากกว่ากัน (หลังจากนั้นพวกเขาก็สลับชื่อกันขึ้นเป็นผู้แต่งคนแรกในวิทยานิพยธ์เล่มถัดๆไป)
งานวิจัยของ Danny Kahnemen และ Amos Tversky เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจความ “ไม่มีเหตุผล” ของมนุษย์
Amos Tversky (ซ้าย) และ Danny Kahnemen (ขวา) ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจาก Vanity Fair)
Chapter 6: The Mind’s Rules
ในปี 1960 ศาสตราจารย์ Paul Hoffman ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัย Oregon Research Institute ขึ้นเพื่อศึกษาศาสตร์ Behavioral Science โดยเขาได้มุ่งเป้าไปที่การศึกษาหลักการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งในปี 1968 นักจิตวิทยา Lew Goldberg ก็ได้เปิดเผยงานทดลองของเขาที่เข้าไปศึกษาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งจากฟิล์ม X-Ray ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเขาได้ทำการพูดคุยกับแพทย์หลายคนเพื่อสร้างโมเดลการวินิจฉัยโรคแบบง่ายๆจากปัจจัยต่างๆที่แพทย์ใช้วิเคราะห์โรค โดยเขาได้จัดการทดลองให้แพทย์วินิจฉัยฟิล์ม X-Ray ก้อนเนื้องอกทั้งหมดเกือบหนึ่งร้อยรูป (ครึ่งหนึ่งเป็นรูปซ้ำ) ผลลัพธ์กลับเป็นที่น่าตกตะลึงเมื่อเขาพบว่าแพทย์แต่ละคนทำการวินิจฉัยโรคได้ไม่เหมือนกันเลยและมีหลายคนที่วินิจฉัยฟิล์ม X-Ray ซ้ำด้วยผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นแพทย์ที่เก่งที่สุดก็ยังไม่สามารถเทียบผลการวินิจฉัยโรคจากโมเดลง่ายๆที่เขาคิดค้นขึ้นมาจากการสอบถามแพทย์หลายๆคนได้เลย โดย Lew Goldberg ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ไว้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มีความสามารถพอที่จะอธิบายขั้นตอนการวินิจฉัยโรคอันเป็นที่มาของโมเดลที่แม่นยำได้ แต่พอถึงคราวปฎิบัติจริง แพทย์เหล่านี้กลับไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาเหล่านั้นมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้
ปลายปี 1971 คู่หู Amos Tversky และ Danny Kahnemen ก็ได้ย้ายมาทำงานวิจัยที่ Oregon Research Institute … ในทุกๆวันพวกเขาทั้งสองคนจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพียงสองคน โดยเป้าหมายของพวกเขายังคงอยู่ที่การทำความเข้าใจหลักการทำงานของระบบตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งหลังจากวิทยานิพนธ์ร่วมเล่มแรก พวกเขาก็รู้แล้วว่ามนุษย์นั้นไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลตลอดเวลา พวกเขาใช้หลักการง่ายๆ (rule of thumb หรือ heuristic) มาใช้ในการตัดสินใจอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของวิทยานิพันธ์เล่มถัดไปชื่อ “Subjective Probability: A Judgment of Representativeness” ซึ่งเล่าถึงการตัดสินใจของมนุษย์ที่เต็มไปด้วย error ในรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์เลือกใช้ “ตัวแทน” (stereotype หรือ representativeness) แทนการใช้เหตุผลในการตัดสินใจ อาทิ การตัดสินใจไม่เลือก Jelemy Lin เข้าทีมบาสเก็ตบอล โดยพวกเขาได้ยกตัวอย่างคำถามที่พวกเขาส่งให้นักศึกษาเลือกว่าโอกาสที่ครอบครัวลูก 6 คนจะมีลูกเรียงลำดับระหว่าง GBGBBG กับ BGBBBB นั้นรูปแบบไหนมีโอกาสมากกว่ากัน (B = Boy, G = Girl) โดยคำตอบของนักเรียนส่วนใหญ่เลือก GBGBBG ทั้งๆที่ทั้งสองลำดับมีโอกาสเกิดเท่ากัน … Amos และ Danny ได้ให้ความเห็นไว้ว่ามนุษย์มีความคิดที่ผิด (midconception) เกี่ยวกับ “การสุ่ม (randomness)” อย่างในกรณีนี้พวกเขาเห็นว่าโอกาสที่ลูก 6 คนจะมีผู้หญิงเพียงคนเดียวนั้นน้อยมาก หรือ กรณีที่ชาวลอนดอนคิดว่าการทิ้งระเบิดของเยอรมันถูกวางแผนไว้ให้ทิ้งระเบิดลงบางจุดมากเป็นพิเศษ ทั้งๆที่ความน่าจะเป็นของการทิ้งระเบิดที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษนั้นมีสูงมาก
“Availability: A Heuristic for Judging Frequency and Probability” วิทยานิพนธ์เล่มถัดมาของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen ก็ยังคงอยู่ที่วิธีการตัดสินใจแบบง่ายๆ (heuristic) ของมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์ให้น้ำหนักกับสิ่งที่คุ้นเคยหรือพึ่งประสบพบเจอ (availability) มากกว่าความเป็นจริง (ยิ่งนึกถึงง่าย ยิ่งมีโอกาสสูงแน่ๆเลย) เช่น คนกลัวสงครามนิวเคลียร์มากขึ้นหลังดูหนังสงครามนิวเคลียร์จบ หรือ คนกลัวอุบัติเหตุรถยนต์มากขึ้นหลังเห็นเหตุการณ์รถชนใหม่ๆ โดยพวกเขาได้ทำการทดลองให้นักเรียนคิดว่าคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย K หรือ มีตัวอักษร K อยู่ตัวที่สามมีจำนวนมากกว่า ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ตอบผิดเป็นคำที่ขึ้นต้นด้วย K เพราะพวกเขา “นึก” ถึงคำเหล่านั้นได้ง่ายกว่าคำที่มี K อยู่ลำดับที่ 3 มาก … พวกเขายังสรุปเพิ่มเติมว่ามนุษย์มักจะไม่สนใจโอกาสในเหตุการณ์ที่พวกเขาไม่เคยเห็นหรือจินตนาการไม่ออก เหมือนชาวยิวในฝรั่งเศสที่ไม่ยอมย้ายหนีออกนอกประเทศในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลก
Amos Tversky และ Danny Kahnemen ยังค้นพบความผิดพลาดของระบบการตัดสินใจของมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่พวกเขาเรียกว่า “anchoring and adjustment” ที่มนุษย์ใช้เหตุการณ์ที่พบเจอก่อนหน้ามาส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขาในเหตุการณ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย เช่น การทดลองของพวกเขาที่ให้ผู้ทดลองทายคำตอบของโจทย์เลขชุดหนึ่งระหว่าง 8x7x6x5x4x3x2x1 หรือ 1x2x3x4x5x6x7x8 ภายใน 5 วินาที ซึ่งคำตอบของผู้ที่ได้คำถามข้อแรกนั้นมีค่ามากกว่าข้อหลังมากเนื่องจากพวกเขาเริ่มต้นด้วยเลขที่ใหญ่กว่า หรือ อีกการทดลองที่พวกเขาให้ผู้ทดลองปาลูกดอกสุ่มตัวเลขระหว่าง 0 ถึง 100 ก่อนที่จะตอบคำถามว่าชาติแอฟริกันมีสัดส่วนกี่ % ใน UN โดยคำตอบของผู้ที่ปาลูกดอกโดนตัวเลขที่ใหญ่กว่านั้นให้สัดส่วนที่มากกว่าผู้ที่ปาได้ตัวเล็กที่น้อยกว่า
Chapter 7: The Rules of Prediction
Amos Tversky และ Danny Kahnemen ยังคงเดินหน้าศึกษาข้อผิดพลาดของกลไกการตัดสินใจของมนุษย์ต่อไปจนนำไปสู่วิทยานิพนธ์เล่มใหม่เกี่ยวกับการพยากรณ์ของมนุษย์ชื่อ “On the psychology of prediction” ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆด้วยหลักการทางสถิติและความน่าจะเป็นอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่น มนุษย์ยังคงยึดมั่นกับหลักการง่ายๆ (heurisric) ที่พวกเขาไม่ต้องใช้ความคิดมากๆมาใช้อย่างสม่ำเสมอซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง … พวกเขาได้ทำการทดลองสอบถามผู้ทดลองเกี่ยวกับโอกาสการเข้าศึกษาในคณะต่างๆของนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งคำตอบของผู้ทดลองก็คือการประมาณการณ์ตามสัดส่วนของนักศึกษาแต่ละคณะใกล้เคียงกับความจริง แต่พอ Amos และ Danny ให้รายละเอียดของนักศึกษาเพิ่มเติมว่าเขาฉลาด เป็นระเบียบและชอบคอมพิวเตอร์ ผู้ทดลองกลับยกให้นักศึกษาคนนี้เข้าคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยละเลยสัดส่วนก่อนหน้าที่ผู้ทดลองตอบไว่ว่ามีเพียง 7% เท่านั้น … การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ละเลยค่ากลางทางสถิติไปอย่างสิ้นเชิงและใช้หลักการ representative เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของเขา
Danny และ Amos ยังได้เขียนวิทยานิพนธ์อีกเรื่องที่เล่าเรื่องราวของ Historical Judgement (ต่อมาถูกเรียกว่า Hindsight bias) ที่กล่าวไว้ว่ามนุษย์มักจะมองเห็นความเชื่อมโยงและเหตุผลของการเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆได้ดีหลังจากเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งความผิดพลาดนี้แสดงให้เห็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่มักจะบิดเบือนความจริงให้เข้ากับส่งที่ตัวเองต้องการและละเลยความจริงที่ไม่เข้าพวก
Chapter 8: Going Viral
ณ โรงพยาบาล Sunnybrook Hospinal ประเทศแคนาดา Dr. Don Redelmeier คือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบการตัดสินใจของแพทย์ที่เขาค้นพบว่าเต็มไปด้วยความผิดพลาดจาก bias ของแพทย์ซึ่งก็คือมนุษย์คนหนึ่ง อาทิ การตัดสินว่าการรักษาได้ผลทั้งๆที่โรคหลายชนิดสามารถหายเองได้ หรือ การวินิจฉัยโรคจากปากคำของคนไข้โดยไม่ได้คำนึงว่าโอกาสที่จะเกิดโรคบางอย่างนั้นน้อยมากในเชิงสถิติ
Dr. Don Redelmeier เริ่มสนใจงานด้านการตัดสินใจของมนุษย์ตั้งแต่สมัยวัยรุ่นหลังจากเขาเริ่มอ่านงานวิจัยของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen ที่เขาได้นำมาประยุกต์ใช้กับงานวินิจฉัยโรคที่อิงข้อมูลเชิงสถิติและหลักฐานมากขึ้น (evidence-based medicine) ซึ่งเขาเองมีโอกาสได้ร่วมเขียนงานวิทยานิพนธ์กับทั้ง Amos Tversky เกี่ยวกับความผิดพลาดของมนุษย์ในวงการแพทย์โดย ยกตัวอย่าง กรณีที่แพทย์มักจะตัดสินรักษาคนไข้เป็นคนๆไม่ตรงกับหลักการหากเขาต้องเป็นคนร่างกฎเกณฑ์การรักษาโรคขึ้นเอง เช่น กรณีที่หากไห้ยารักษาโรคคนไข้คนหนึ่งจะหายป่วยแต่เชื้อโรคจะดื้อยามากขึ้น หรือ แพทย์อาจจะไม่กล้าเสนอให้คนไข้เซ็นต์สัญญาอนุมัติบริจาคอวัยวะหากการรักษาล้มเหลว ทางด้านคนไข้ก็อาจจะถูกความผิดพลาดทางการตัดสินใจทำให้เสี่ยงได้ เช่น คนไข้มักจะยอมเข้ารับการผ่าตัดที่มีโอกาสรอดชีวิต 90% แต่ไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัดที่มีโอกาสเสียชีวิต 10% (ทั้งๆที่โอกาสเท่ากัน) คนไข้ยังมักเข้าใจสาเหตุของโรคบางโลกผิด เช่น คนไข้ไขข้ออักเสบมักคิดว่าอากาศเย็นจะทำให้ไขข้อเจ็บมากกว่าปกติ แต่จริงๆแล้ว ข้อมูลทางสถิติไม่ได้สนับสนุนความคิดนี้แต่อย่างใด คนไข้เพียงแค่ได้ยินกันปากต่อปากจนเริ่มเชื่อแล้วพอเกิดเหตุเจ็บขึ้นจริง คนไข้เหล่านั้นก็จะให้น้ำหนักมากกว่าปกติ
Dr. Don Redelmeier ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Danny Kahnemen ในการยกกรณีตัวอย่างเรื่องการให้ความสำคัญกับความรู้สึกดีหรือเจ็บปวดของมนุษย์ โดย Danny ได้ยกตัวอย่างการทดลองที่เขาให้ผู้ทดลองกลุ่มหนึ่งจุ่มมือในน้ำเย็น 3 นาที ส่วนอีกกลุ่มทำแบบเดียวกันแต่ให้จุ่มมือนานขึ้นพร้อมๆกับค่อยๆปรับอุณหภูมิน้ำให้อุ่นขึ้น ผลปรากฏว่าผู้ทดลองชุดหลังกลับรู้สึกแย่น้อยกว่าชุดแรกทั้งๆที่พวกเขาต้องทนต่อความเจ็บปวดนานกว่า ซึ่ง Danny ได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่า Peak-end Rule ที่มนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกช่วงสุดท้ายมากกว่า (หนังดีมาทั้งเรื่องแต่จบแย่กลายเป็นหนังแย่) … Dr. Don Redelmeier ได้ทำการสนับสนุนความคิดของ Danny ด้วยการทดลองการสอดกล้องในทวารหนักของผู้ป่วยสองกลุ่มที่กลุ่มหนึ่งพอตรวจเสร็จก็ดึงสายออกทันทีและอีกกลุ่มที่ค่อยๆพักท่อแล้วดึงสายออกช้าๆ คนไข้กลุ่มที่สองรู้สึกดีกว่าคนไข้กลุ่มแรกและมีแนวโน้มจะกลับมาตรวจมากกว่า ทั้งๆที่พวกเขาต้องทนเจ็บมากกว่า
Chapter 9: Birth of the Warrior Psychologist
ความสัมพันธ์ของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen นั้นไม่มีใครสามารถอธิบายได้ แต่พวกเขาสองคนรับรู้กันว่านี่คือความสัมพันธ์ที่เป็นเหมือนความรักที่เข้มข้นกว่าการแต่งงานด้วยซ้ำ พวกเขาเชื่อมต่อกันทางปัญญาได้อย่างสมบุรณ์ที่สุด
ในปี 1973 สงครามครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง หลังจากกองทัพอิสราเอลถูกกองทัพอาหรับที่มีจำนวนมากกว่ามากโจมตีอย่างกระทันหัน Amos และ Danny ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศอิสราเอลทันทีเพื่อรับใช้ชาติอีกครั้งในหน่วยงานจิตวิทยาของกองทัพ โดยหน้าที่ของพวกเขาคือการช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารและคอยเพิ่มประสิทธิภาพทางการรบของอิสราเอล ตั้งแต่เรื่องเล็กๆอย่างการเปลี่ยนอาหารให้ถูกใจทหารมากที่สุดไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกซ้อมทหารมือใหม่
หลังจากสงครามสงบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอลที่เต็มไปด้วยซากศพและคราบน้ำตา Danny เริ่มรู้สึกถึงภัยอันตรายที่เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้นำเพียงกลุ่มเล็กๆของสังคม เหมือนกับที่อิสราเอลที่เชื่อมั่นว่ากองทัพอียิปต์และซีเรียไม่มีทางก่อสงครามอีกครั้งเพราะกองทัพอากาศของอิสราเอลนั้นมีแสนยานุภาพสูงกว่ามาก ทำให้เขาตัดสินใจรวบรวมงานวิจัยของ CIA ที่เข้าไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องโอกาสในการก่อสงครามครั้งถัดไปหากเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น (เช่น การเจรจาที่ล้มเหลวเพิ่มโอกาสการเกิดสงคราม 10%) และผลไปนำเสนอรัฐมนตรีต่างประเทศผู้ซึ่งปฏิเสธแนวคิดของ Danny ที่เขาคิดว่าเป็นเพียงตัวเลข กลุ่มผู้นำยังคงเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง
Amos Tversky และ Danny Kahnemen เริ่มหันมาสนใจกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ (decision-making) อย่างจริงจังหลังจากที่พวกเขาศึกษาถึงข้อผิดพลาดของการตัดสินของมนุษย์ (judgement) มาอย่างจริงจังแล้ว พวกเขาก็ต้องการศึกษาต่อว่าทำไมมนุษย์ถึงตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การซื้อหวยที่ค่า expected value ของการได้เงินรางวัลนั้นต่ำกว่าราคาหวยมาก การซื้อประกันที่ค่า expected value ของการได้รับเงินประกันนั้นก็ต่ำกว่าโอกาสในการเกิดเหตุการณ์มาก หรือการที่คนเลือกจะได้เงิน 9000 บาทแทนที่จะเสี่ยง 50:50 เพื่อโอกาสได้เงิน 20000 บาทที่มี expected value สูงกว่า
ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมในการอธิบายกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ในสมัยนั้นคือ Expected Utility Theory ของ Daniel Bernoulli ที่อธิบายไว้ว่ามนุษย์จะมองคุณค่าของเงินหรือปริมาณต่างๆโดยมีคุณค่าไม่เท่ากัน เงิน 1000 บาทแรกนั้นมีมูลค่า (utility) สูงกว่าเงิน 1000 บาทถัดมาและมนุษย์คือสัตว์ที่มักจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk avert) โดยพวกเขาจะตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ให้ utility สูงสุด
แต่ Danny นั้นมองเห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ที่แท้จริง นั่นก็คือ ความกลัวการเสียใจหรือเสียดาย (regret) ซึ่งสามารถอธิบายถึงการตัดสินใจที่ไร้เหตุผลของมนุษย์ได้ดีที่สุด อาทิ มนุษย์มักจะกลัวการเล่นพนันที่ต้องเสี่ยงในการสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขามีอยู่แล้ว (sure thing หรือ status quo) ยิ่งมนุษย์สามารถนึกถึงผลลัพธ์หากพวกเขาเลือกอีกทางที่ดีกว่าได้มากเท่าไหร่ การกลัวเสียใจก็จะมากขึ้นเท่านั้น (การแต่งงานหรือการเลือกงงานไม่ค่อยได้รับผลกระทบนี้เพราะมนุษย์นั้นไม่สามารถมั่นใจได้ว่าหากพวกเขาเลือกอีกทางหนึ่งผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร) และหากมนุษย์มองเห็นว่าตัวเองอยู่ใกล้กับทางเลือกที่ดีมากแค่ไหนหรือตัวเองมีความสามารถในการควบคุมการตัดสินใจของตัวเองมากเพียงใด ความเสียใจก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกลัวความเสียใจก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” … ถึงแม้ Jack กับ Jill จะมีเงิน 5 ล้านเท่ากันในวันนี้ แต่ถ้าเมื่อวาน Jack มีเงิน 1 ล้านและ Jill มีเงิน 5 ล้าน ยังไง Jack ก็จะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่า Jill มาก
Chapter 10: The Isolation Effect
แต่แล้ว Amos Tversky และ Danny Kahnemen ก็ได้ค้นพบว่าจริงๆแล้ว ความกลัวการเสียใจหรือเสียดาย (regret) นั้นไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การสูญเสีย (loss) ได้ หลังจากพวกเขาทดลองให้ผู้ทดลองเลือกระหว่างการต้องเสียเงิน 500 เหรียญแน่ๆกับการเสี่ยง 50:50 ระหว่างเสียเงิน 1000 เหรียญกับไม่เสียเงินเลย ผู้ทดลองส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะเสี่ยง ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาเลือกที่จะได้เงินแบบแน่นๆดีกว่าเสี่ยงที่จะมีโอกาส 50:50 ที่จะได้เงิน 2 เท่าหรือไม่ได้เงินเลย … พวกเขาค้นพบว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงเมื่อต้องพบเจอกับการสูญเสีย (loss) แต่มักจะเลือกไม่เสี่ยงเมื่อพวกเขาต้องเจอกับการได้มา (gain)
Amos Tversky และ Danny Kahnemen สรุปว่าการตัดสินใจของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจากสถานะปัจจุบัน แนวทางการเลือกเสี่ยงของมนุษย์ที่แตกต่างกันตามเหตุการณ์ loss หรือ gain และข้อสุดท้ายคือการค้นพบว่ามนุษย์ให้น้ำหนักของความน่าจะเป็นไม่ตรงกับความจริง โดยมนุษย์จะให้น้ำหนักความน่าจะเป็นที่ต่ำมากๆมากกว่าความเป็นจริงและให้ความน่าจะเป็นที่สูงมากๆต่ำกว่าความเป็นจริง (พวกเขาเลยซื้อหวยหรือประกัน)
นอกจากนั้น Amos Tversky และ Danny Kahnemen ยังพบว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจจากสิงนั้นๆแต่พวกเขาตัดสินใจจาก “การบรรยาย” ของสิ่งนั้นๆและมนุษย์สามารถที่จะถูกชักจูงให้ตัดสินใจเปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนคำบรรยายเล็กๆน้อยๆได้ (เรียกว่าการ framing) เช่น การทดลองที่ให้ผู้ทดลองเลือกระหว่าง A. การช่วยชีวิตคน 200 คนแน่ๆจากคน 600 คน กับ B. เสี่ยง 1/3 ที่จะช่วยชีวิตคนได้ทั้งหมด 600 คน ผู้ทดลองจะเลือก A. เพื่อช่วยชีวิตคนแน่ๆบางส่วน (sure gain) แต่เมื่อถูกถามให้เลือกระหว่าง C. การปล่อยให้คน 400 คนตายแน่ๆ กับ D. เสี่ยง 2/3 ให้คน 600 คนตายทั้งหมด พวกเขากลับเลือกข้อ D. (กล้าเสี่ยงกับ loss มากกว่า)
Amos Tversky และ Danny Kahnemen ตั้งชื่อทฤษฎีของเขาว่า Value Theory ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Prospect Theory ที่แปลกตาและสร้างความสงสัยให้กับคนอื่นได้มากกว่า … Prospect Theory เปรียบเสมือนระเบิดที่ปาใส่ใจกลางของหลักการเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลโดยที่พวกเขาอาจจะมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้บ้างเป็นแบบ random ซึ่ง Prospect Theory ได้เสนอว่าการตัดสินใจของมนุษย์มีความผิดพลาดแฝงอยู่ตลอดเวลา (systematic error)
แผนผัง Prospect Theory (ขอบคุณภาพจาก Economics Help)
Chapter 11: The Rules of Undoing
ในปี 1977 Danny Kahnemen ตัดสินใจย้ายจากอิสราเอลมาประจำที่มหาวิทยา Univercity of New England ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี Amos Tversky ตามมาติดๆเพื่อประจำในมหาวิทยาลัย Stanford … ด้วยระยะทางที่ห่างกัน การทำงานร่วมกันของทั้งคู่เริ่มลงลง Danny เริ่มหลีกตัวหนีออกจากเงาที่เขามักจะถูกมองว่าเป็นผู้ช่วยของ Amos ผู้ได้รับการสรรเสริญจากบรรดาเหล่านักวิชาการทั่วโลก
หลังจากสูญเสียหลานชายจากเหตุเครื่องบืนตก Danny Kahnemen ตัดสินใจศึกษา “จินตนาการ” ของมนุษย์ระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วกับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น (unrealized possibility) ที่ซึ่งมนุษย์มักจะถามตัวเองเสมอด้วยคำว่า “ถ้าหาก (what if)” … Danny ได้ค้นพบข้อผิดพลาดของมนุษย์อีกข้อที่เขาเรียกว่า “the simulation heuristic” ที่ว่าด้วยการที่มนุษย์มักจะใช้จินตนาการของตัวเองในการสร้างเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วและเกิดความรู้สึกเสียใจในระดับที่รุนแรงต่างกันไป (เช่น การมาขึ้นเครื่องบินไม่ทัน 30 นาทีโดยที่เครื่องบินนั้นดีเลย์ 25 นาทีมักจะส่งผลรุนแรงกว่าการที่เครื่องบินไม่มีการดีเลย์เลยทั้งๆที่ผลลัพธ์เท่ากัน) และบ่อยครั้งที่มนุษย์มักจะลืมให้ความสำคัญกับโอกาสของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามหลักสถิติ (เช่น ชอบพูดว่าฮิตเลอร์อาจมีโอกาสตัดสินใจเป็นกวีแทน ทั้งๆที่โอกาสที่ฮิตเลอร์จะเกิดมาเป็นผู้หญิงนั้นมีสูงกว่ามาก)
Chapter 12: This Cloud of Possibility
ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกันของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen ก็มีนักจิตวิทยาฝ่ายตรงข้ามมากมายพยายามหาเหตุผลล้มล้างทฤษฎีและการทดลองของพวกเขาที่ว่าด้วยความไร้เหตุผลของมนุษย์ ซึ่ง Amos ก็พร้อมรับมือกับการโต้แย้งอย่างรุนแรงเสนอโดยพวกเขาได้ร่วมกันเขียนงานวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องการทดลองที่แสดงให้เห็นถึงความไร้เหตุผลทางสถิติและความน่าจะเป็นของมนุษย์อย่างชัดเจนที่สุด
การทดลองนี้ที่ต่อมาได้ชื่อว่า Linda Problem ได้บรรยายคุณสมบัติของ Linda ว่าเธอเรียนจบจิตวิทยาและเธอมีความสนใจในด้านการเหยียดเพศและความยุติธรรมของสังคมและเธอยังเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการใช้งานนิวเคลียร์ด้วย การทดลองนี้ให้ผู้ทดลองกำหนดความน่าจะเป็นว่า Linda มีโอกาสทำงานอาชีพอะไรมากที่สุด โดยมี 2 ตัวเลือกที่เขียนไว้ว่า Linda คือพนักงานธนาคาร กับ Linda คือพนักงานธนาคารผู้เข้าร่วมชุมนุมปกป้องสิทธิสตรี (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อแรก) … ผลปรากฏว่าผู้ร่วมทดลองส่วนใหญ่เลือกให้ความน่าจะเป็นของคำตอบข้อหลังมากกว่า … Danny ถึงกับอึ้งในผลการทดลอง แต่พอเขาได้ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมากมาย คำตอบก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม … พวกเขาได้สรุปไว้ว่ามนุษย์มักเลือกสิ่งที่มีรายละเอียดมากกว่าทั้งๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงน้อยกว่าเนื่องจากสิ่งนั้นแสดงความเป็น representativeness ได้มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าข้อผิดพลาดของมนุษย์ข้อนี้สามารถถูกนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ได้ อาทิ ทนายความบรรยายเรื่องราวด้วยรายละเอียดที่เห็นภาพมากๆเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม
หลังจากนั้น Amos Tversky และ Danny Kahnemen ก็แทบจะไม่ได้ร่วมงานกันอีกเลยจนกระทั้ง Amos Tversky เสียชีวิตในปี 1996
Epilogue
งานของ Amos Tversky และ Danny Kahnemen เป็นจุดเริ่นต้นของการบรรจบกันระหว่างจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Behavioural Science … ศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมนี้ได้รับการต่อยอดจากในแวดวงวิชาการไปสู่การใช้งานในโลกแห่งความจริงมากมาย ตั้งแต่วงการแพทย์ไปจนถึงวงการการเมืองและการออกนโยบายต่างๆ ด้วยการออกแบบโครงสร้างของทางเลือก (choice architecture) ของมนุษย์ที่เอื้อต่อการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือตัวพวกเขาเองมากขึ้น
งานวิจัยเรื่อง Prospect Theory ได้รับความนิยมอย่างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนกลายมาเป็นงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2010
Danny Kahnemen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002
ศาสตราจารย์ Danny Kahnemen (ขอบคุณภาพจาก TED)
ป.ล. สำหรับคนที่ต้องการศึกษาศาสตร์ Behavioral Economics ต่อนั้น ผมขอแนะนำ Thinking Fast and Slow คัมภีร์ของ Danny Kahnemen ที่แต่งไว้ในปี 2011 ครับ
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]