[สรุปหนังสือ] Time Smart : How to Reclaim Your Time and Live a Happier Life (2020)
by Ashley Whillans
“The secret to happier time is simple: prioritize time over money – one decision at a time.”
หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่มนุษย์ให้คุณค่าและพยายามไขว่คว้าหามาให้ได้มากที่สุด ?!?
คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้น “เวลา” และ “เงิน” อย่างแน่นอน
แต่อย่างที่พวกเราทราบกันดี มนุษย์ทุกคนได้เรียนรู้ตั้งแต่ในวัยเริ่มต้นของการทำงานว่า “เวลา” และ “เงิน” มักไม่ใช่สิ่งที่ได้มาพร้อมกัน พวกเราส่วนใหญ่มักต้องตัดสินใจเลือก (trade-off) ระหว่าง “เวลา” กับ “เงิน” อยู่เสมอ ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่นั้นให้ความสำคัญกับ “เงิน” มากกว่า “เวลา” ด้วยการยอมเสียสละเวลาอันมีค่าของเราเพื่อเงินที่มากขึ้น
มนุษย์กว่า 80% ในโลกยุคปัจจุบันนั้นกำลังเผชิญกับ “ความจนทางเวลา (time poverty)” อันนำมาสู่ปัญหาที่ตามมามากมาย ตั้งแต่ ความสุขที่หดหาย สุขภาพที่อ่อนแอ ผลิตภาพที่ลดลงและความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ ซึ่งล้วนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่กระทบต่อเงินในกระเป๋าในท้ายที่สุด
Time Smart: How to Reclaim Your Time and Live a Happier Life คือ คัมภีร์ที่ว่าด้วยศาสตร์ของการดึงเวลาที่คุณสูญเสียไปอย่างไม่จำเป็นคืนกลับมาโดยฝีมือของ Ashley Whillans ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่ง Harvard Business School ที่สังเคราะห์จากงานวิจัยอย่างโชกโชนของเธอจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อช่วยคุณวางกลยุทธ์ในการสร้าง “ความร่ำรวยทางเวลา (time affluence)” ที่จะทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีขึ้นและมีเวลาไปสร้างพลังบวกให้กับสังคมในภาพรวม
ขอเชิญ “คนจนทางเวลา” ทุกท่านมาร่วมกันสร้างความร่ำรวยทางเวลาไปกับสรุปหนังสือ Time Smart เล่มนี้กันได้เลยครับ !!
ผู้เขียน Ashley Whillans (source: TedxCambridge)
Chapter 1 | Time Traps and the Time Poverty Epidemic
มนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับ “กับดักทางเวลา” ที่นำมาสู่การแพร่ระบาดของความจนทางเวลาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆทั้งๆที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นใช้เวลาในการทำงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน [ชาวอเมริกันทำงานโดยเฉลี่ย 37.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 1950 แต่ใช้เวลาทำงานโดยเฉลี่ยเพียง 34.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2017] และยังไม่รวมถึงการที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีตัวช่วยในการประหยัดเวลาที่มากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ไมโครเวฟที่ใช้อุ่นอาหารให้โดยไม่ต้องเสียเวลาทำ การ video call ผ่าน Zoom โดยไม่ต้องเดินทางไปจนเจอหน้ากัน หรือ การบริการต่างๆจากบริษัท sharing economy ที่เข้าถึงได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว
ดังนั้น สาเหตุหลักๆที่ทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันรู้สึกจนทางเวลานั้นจึงไม่ใช้จำนวนเวลาการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแต่กลับเป็น “แนวคิด (mindset)” ที่มีต่อเวลาของพวกเราซึ่งมักถูกกดดันจาก “กับดักทางเวลา” สามัญ 6 ประการ ได้แก่
Time Trap 1 – Technology : มนุษย์ในโลกยุคปัจจุบันได้เชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบตลอดช่วงเวลาการตื่นนอนผ่านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆซึ่งสร้างผลิตภาพให้แก่พวกเรามากมาย แต่เทคโนโลยีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น อีเมล์ที่เด้งมาในช่วงเวลาที่กำลังทานข้าวกับครอบครัว หรือ ข้อความผ่าน Line ที่ทักมาคุยเรื่องงานระหว่างที่กำลังดูหนัง ก็คอยกวนใจพวกเราและทำให้ช่วงเวลาการพักผ่อนของเราถูกขัดจังหวะอยู่เป็นระยะๆ มากไปกว่านั้น มนุษย์ที่ถูกเตือนเรื่องงานระหว่างการพักผ่อนมักรู้สึกผิดจนต้องหันมาคิดถึงเรื่องงานทั้งๆที่ยังไม่จำเป็นต้องคิดถึงตอนนี้ จนเราไม่สามารถแยกเวลาพักกับเวลางานออกจากกันได้อย่างในยุคเมื่อ 10-20 ปีก่อนอีกต่อไป
Time Trap 2 – Money Focus : มนุษย์ในโลกทุนนิยมมักให้ความสำคัญกับการหาเงินเป็นหลักโดยเชื่อว่าเมื่อตัวเองหาเงินได้จนถึงจุดหนึ่งก็จะได้พักผ่อนและทำในสิ่งที่ใจต้องการได้ในที่สุด แต่เอาจริงๆแล้ว มนุษย์ที่หาเงินได้ยิ่งมากต่างก็คอยเปรียบเทียบกับคนที่ร่ำรวยกว่าและมักรู้สึกต้องการหาเงินเพิ่มมากขึ้นจนเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีวันจบ นอกจากนั้น ความเชื่อที่ว่าเงินจะคอยซื้อความสุขให้พวกเรานั้นก็ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด เงินมีผลอย่างมากในการช่วยบรรเทาความทุกข์ เช่น มีเงินเพียงพอที่จะซื้อข้าวหรือใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่เมื่อมนุษย์หาเงินได้มากพอในระดับประมาณ 1 แสนดอลลาร์ต่อปี เงินที่มากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยสร้างความสุขอีกต่อไป [งานวิจัยอันนี้เป็นค่าเฉลี่ยของคนทั้งโลก]
Time Trap 3 – Undervalued Time : มนุษย์ในโลกทุนนิยมมักให้ความสำคัญกับเวลาน้อยเกินควร พวกเรามักยอมแลกเวลาไปกับการหาเงินหรือประหยัดเงินเพียงไม่กี่บาทโดยหารู้ไม่ว่าการตัดสินใจเหล่านั้นมันช่างไม่คุ้มเอาซะเลย เช่น การยอมซื้อตั๋วเครื่องบินถูกลงแต่กลับต้องออกเดินทางไฟลต์เช้ามืดและใช้เวลานานกว่าเดิม หรือ การเสียเวลาเปรียบเทียบดีลเด็ดของสินค้าในเว็ปไซต์ e-commerce ต่างๆหลายชั่วโมงเพื่อประหยัดเงินไปไม่กี่บาท พวกเรามักไม่ค่อยได้คิดว่าเวลาที่เสียไปนั้นแปลเป็นเงินได้กี่บาทและมันคุ้มค่าที่จะทำเรื่องเหล่านั้นจริงๆรึเปล่า [เช่น คุณใช้เวลา 15 นาทีไปกับการหาดีลที่ประหยัดขึ้น 10 บาท เท่ากับว่าคุณให้มูลค่าเวลา 1 ชั่วโมงของคุณแค่ 40 บาทเท่านั้น !!]
Time Trap 4 – Busyness as Status : มนุษย์ในโลกทุนนิยมต่างมีความเชื่อว่า “การทำงานหนัก” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสถานะทางสังคมที่มักชื่นชมผู้ที่เข้างานเช้าเลิกงานดึกมากกว่าคนที่ทำงาน 9 โมงเช้ากลับ 5 โมงเย็น จนนำมาสู่แนวคิดของคนจำนวนมากที่เชื่อมโยงความหมายของชีวิตเข้ากับความสำเร็จทางด้านการงานที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลาในท้ายที่สุดไม่ว่าจะเพื่อตั้งใจทำงานจริงๆหรือเพียงเพื่อต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองทำงานหนักนะ
Time Trap 5 – Idleness Aversion : มนุษย์ในโลกทุนนิยมถูกพร่ำสอนตลอดเวลาว่าการปล่อยเวลาว่างไปให้ไม่เกิดประโยชน์อันใดนั้นคือความผิดที่ร้ายแรงจนทำให้พวกเราต้องเอาเวลาเหล่านั้นไปทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรมากมายแทนที่จะใช้ไปกับการพักผ่อน ทั้งๆที่งานวิจัยในศาสตร์ของ mindfulness อย่าง การนั่งสมาธิ ค้นพบข้อดีของการทำจิตใจให้ว่างสงบมากมาย
Time Trap 6 – The “Yes…Damn!” Effect : มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีกระบวนการคิดที่ไม่สมเหตุสมผลอยู่เป็นระยะ พวกเราจำนวนมากมักชอบตอบรับกับคำเชิญชวนต่างๆมากกว่าการปฏิเสธคำเชิญชวนเหล่านั้นเพื่อถนอมน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองและพวกเรายังมักมีความเชื่อที่ว่าเวลาในอนาคตนั้นยังมีเหลือเฟือ แต่เมื่อวันเวลานัดเหล่านั้นมาถึงจริง พวกเราจำนวนมากก็มักต้องเผชิญกับความรู้สึก “ไม่น่าเลย” เพราะการตอบรับของเราในอดีตนั้นทำให้เราไม่เหลือเวลาว่างอย่างที่คาดการณ์เอาไว้เป็นประจำ
Chapter 2 | Steps to Finding Time and Funding Time
เมื่อคุณเข้าใจ “กับดักทางเวลา” ที่ส่งผลต่อความจนทางเวลาของคุณแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มเติมความร่ำรวยทางเวลาผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
Step 1 – Know Your Default Setting : คุณต้องเข้าใจว่าสถานภาพของคุณในปัจจุบันนั้นเป็นคนที่ให้ความสำคัญระหว่างเวลาและเงินมากน้อยขนาดไหน โดยสังเกตจากการตัดสินใจ trade-off ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น คุณเลือกที่จะทำงานดึกดื่นหรือรีบกลับบ้านมาใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว หรือ คุณเลือกที่จะซื้อคอนโดราคาแพงใกล้ที่ทำงานหรือบ้านแถวชานเมืองที่ต้องใช้เวลาในท้องถนนนานเป็นชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคุณจะอยู่ในจุดไหนในปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับเวลาที่มากขึ้นกว่าเดิมก็มักเป็นเรื่องที่ดีเสมอ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวิถีชีวิตและความชอบส่วนตัวของคนแต่ละคน
Step 2 – Document Your Time : คุณควรทดลองบันทึกตารางการใช้เวลาของคุณในวันทำงาน เช่น วันอังคารที่เป็นวันที่ค่อนข้างปกติที่สุดของสัปดาห์ เพื่อประเมินว่ากิจกรรมที่คุณใช้เวลาไปนั้นเป็นกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมอะไรบ้างและสร้างความรู้สึกอย่างไรให้กับคุณ โดยกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความร่ำรวยทางเวลานั้นต้องเป็นกิจกรรมที่ productive (ให้ผลิตภาพทางการทำงานสูง), pleasurable (สร้างความรู้สึกที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ) และ meaningful (เติมเต็มความหมายและความสุขของชีวิต เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรัก การได้ช่วยเหลือคน หรือ การสร้างความสำเร็จทางด้านการงาน) ซึ่งคุณควรทำความเข้าใจตัวเองอยากลึกซึ้งว่ากิจกรรมแบบไหนบ้างที่คุณสามารถใช้เวลากับมันได้อย่างมีความสุขและกิจกรรมแบบไหนบ้างที่ทำให้ความสุขของคุณลดน้อยลงไปในแต่ละวัน
Step 3 – Find Time : เมื่อคุณเข้าใจว่าเวลาส่วนใหญ่ของคุณนั้นใช้ไปกับกิจกรรมประเภทไหนบ้างแล้ว คุณก็ควรเริ่มเพิ่มพูนความร่ำรวยทางเวลาด้วยการเพิ่มสัดส่วนของกิจกรรมที่สร้างให้คุณมีความสุขผ่านเทคนิคดังต่อไปนี้
Step 4 – Fund Time : อีกแนวทางในการเสริมสร้างความร่ำรวยทางเวลาก็คือการใช้ “เงิน” ซื้อ (outsource) เวลาที่เราต้องเสียไปกับงานที่ไม่ได้สร้างความสุขให้แก่ชีวิตกลับคืนมา โดยคุณจะต้องเข้าใจก่อนว่ากิจกรรมไหนบ้างที่สร้างอารมณ์เชิงลบให้กับคุณในแต่ละวันและสามารถเอาเงินไปฟาดเพื่อเปลี่ยนให้กิจกรรมเหล่านั้นมีประสบการณ์ที่ดีขึ้น อาทิ การเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าที่แออัดไปเป็นการนั่ง Grab ที่มีคนขับขับให้อย่างสะดวกสบายและทำให้คุณสามารถใช้เวลาไปกับการพักผ่อนแทนได้ การใช้บริการแม่บ้านมาทำความสะอาดบ้านเป็นประจำในส่วนงานที่คุณไม่อยากทำมากๆ หรือ การเลือกซื้อสินค้าแบบเร็วๆโดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการตามหาดีลเด็ดนานจนเกินไป
ทั้งนี้ คุณต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น ถ้าคุณชอบการทำกับข้าวแต่ไม่ชอบการต้องไปซื้อวัตถุดิบเข้าบ้านเพื่อเตรียมให้พอดีกับกับเมนูที่จะทำ คุณก็สามารถใช้บริการจากธุรกิจ เช่น HelloFresh ที่บริการส่งวัตถุดิบในปริมาณที่พอดีมาให้คุณปรุงอาหารเองตามเมนูที่ต้องการได้ ดีกว่าการที่คุณตัดสินใจสั่งอาหารแบบ delivery เลยทั้งๆที่คุณก็ยังอยากทำอาหารอยู่
Step 5 – Reframe Time : แนวทางสุดท้ายในการสร้างความร่ำรวยทางเวลาในกิจกรรมที่คุณไม่สามารถตัดมันลงไปได้ก็คือการ “เปลี่ยนความคิด” ของตัวคุณเองต่อกิจกรรมเหล่านั้นให้เป็นเหมือนกิจกรรมที่สร้างความร่ำรวยทางเวลามากยิ่งขึ้น อาทิ การมองการทำงานที่ต้องเดินไปมาเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีได้ทุกวัน การมองช่วงเวลาการเดินทางไปทำงานเป็นการพักเบรคของสมอง ไปจนถึง การมองวันหยุดให้เป็นการพักผ่อนอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องงาน
กิจกรรมทั้ง 5 ขั้นตอนในการสร้างความร่ำรวยทางเวลาต้องอาศัยการเปลี่ยนแนวคิดการให้คุณค่าของเวลาของคุณซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์มักจะไม่ได้วัดและคำนึงถึงคุณค่าของเวลาเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนได้ทำการทดลองกับคนในสหรัฐอเมริกาจนค้นพบว่ากิจกรรมที่สร้างความร่ำรวยทางเวลานั้นสามารถสร้างความสุขได้เทียบเท่ากับการได้รับเงินเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล อาทิ การหาเวลาทำกิจกรรม active leisure วันละ 30 นาทีสามารถสร้างความสุขได้เทียบเท่ากับการมีเงินเพิ่ม 3,600 ดอลลาร์ต่อปีและการ outsource กิจกรรมที่คุณเกลียดที่จะต้องทำออกไปทั้งหมดนั้นจะสามารถสร้างความสุขได้เท่ากับเงินถึง 12,800 ดอลลาร์ต่อปี !!
ดังนั้น คุณควรเริ่มคิดว่าเวลาของคุณ 1 ชั่วโมงมีค่าเท่ากับกี่บาทและการที่คุณได้ทำกิจกรรมที่ดีนั้นจะช่วยให้คุณมีความสุขเทียบเท่ากับเงินจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นคุณก็จะสามารถทำบัญชีความสุขของคุณด้วยการ trade-off เงินกับเวลาได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
บริการ meal kit ของ HelloFresh (source: HelloFresh)
Chapter 3 | The Time-Affluence Habit
ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าใจแล้วว่าการสร้างความร่ำรวยทางเวลาต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง แต่สุดท้าย องค์ความคิดและทัศนคติของสังคมมนุษย์ก็มักจะผลักดันให้คุณคิดถึง “เงิน” ก่อน “เวลา” เสมอ ดังนั้น การทำให้คุณสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อให้ความสำคัญกับคุณค่าของเวลาที่มากขึ้นได้อย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเองก็แนะนำ 8 กลยุทธ์สำคัญในการสร้างพฤติกรรมแห่งความร่ำรวยทางเวลาไว้ดังต่อไปนี้
Strategy 1 – Address Your Why : เมื่อคุณเริ่มเสียเวลาไปกับกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างความร่ำรวยทางเวลาในระยะยาว เช่น การไถ social media ไปเรื่อยๆหรือเล่นเกมส์บนมือถือเพื่อฆ่าเวลา คุณควรต้องเริ่มสร้างความตระหนักรู้และถามตัวเองอยู่เสมอว่ากิจกรรมเหล่านั้นมันช่วยสร้างความสุขให้กับคุณได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ คุณก็อาจแค่ควบคุมเวลาให้ไม่เพลินจนเกินไป แต่ถ้าไม่ใช่ เช่น คุณมักอารมณ์เสียทีหลังหลังจากการเล่นเกมส์เป็นชั่วโมง คุณก็ควรพยายามเลิกกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อเอาเวลาไปทำกิจกรรมที่ดีกว่า
Strategy 2 – Allow (or Schedule) Slack Time : ถึงแม้ว่าการวางแผนการใช้เวลาของคุณไปกับกิจกรรมที่สร้างความร่ำรวยทางเวลานั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การวางแผนที่แน่นจนแทบไม่มีจังหวะหายใจมักจะให้ผลตรงกันข้ามเสมอไม่ว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะดีแค่ไหน เพราะคุณจะเริ่มมองกิจกรรมเหล่านั้นเป็นงานที่ต้องทำทุกอย่างให้ทันเวลา การเผื่อเวลาว่างระหว่างกิจกรรมบ้างจึงเป็นเรื่องที่ดี
Strategy 3 – Know Your Calendar Mindset : คุณควรเข้าใจตัวเองว่าคุณเป็นคนประเภทที่ต้องทำทุกอย่างให้ตรงตามเวลาเป้ะๆตามที่วางแผนไว้เสมอ (clock-time) หรือเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมแต่ละกิจกรรมโดยมีความยืดหยุ่นทางเวลาที่มากกว่า (event-base) เพราะเมื่อคุณเข้าใจแล้ว คุณจะได้วางแผนกิจกรรมเพื่อเติมความร่ำรวยทางเวลาได้เหมาะสมกับตัวเอง
Strategy 4 – Create Intentions : คุณควรตั้งเป้าหมายในการเติมความร่ำรวยทางเวลาและวางกลยุทธ์ในการทำตามเป้าหมายเหล่านั้นอย่างมุ่งมั่น อาทิ การประเมินผลการเติมความร่ำรวยทางเวลาของแต่ละสัปดาห์และดูว่าอะไรที่คุณสามารถทำเพิ่มเติมได้
Strategy 5 – Implement Rewards and Punishments : คุณควรกำหนดรางวัลเมื่อคุณทำตามเป้าหมายได้สำเร็จและกำหนดบทลงโทษเมื่อคุณล้มเหลวอย่างจริงจัง โดยรางวัลที่ดีมักต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆและคาดเดาได้ยาก [เช่น ให้เพื่อนหารางวัลให้ หรือ สุ่มรางวัลเอา] เพื่อเพิ่มความสนุก ส่วนบทลงโทษนั้นก็มักได้ผลกว่าการให้รางวัล [เช่น หากทำไม่สำเร็จ คุณจะต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่คุณไม่ชอบ]
Strategy 6 – Engineer Defaults : คุณควรออกแบบสิ่งแวดล้อมของคุณให้เอื้อประโยชน์แก่การเสริมความร่ำรวยทางเวลา อาทิ การปิดระบบแจ้งเตือนของ application ทั้งหมดในมือถือ หรือ การกำหนดเงื่อนไขการทำงานของคุณให้กับบริษัทแต่เนิ่นๆ
Strategy 7 – Recognize and Fight Mere Urgency : คุณควรต้องระวังกิจกรรมที่เร่งแต่ไม่สำคัญโดยพยายามโยกกิจกรรมเหล่านั้นให้กับคนอื่นๆหรือไม่ต้องทำมันเลย เพื่อเอาเวลาที่มีค่าของคุณไปทำกิจกรรมที่ไม่เร่งแต่สำคัญซึ่งมักจะถูกละเลยอยู่เสมอ อาทิ การโทรศัพท์หาคนที่คุณไม่ได้คุยมานาน หรือ การวางแผนงานระยะยาวที่ต้องใช้เวลามากๆ โดยคุณควรแบ่งเวลาแต่ละสัปดาห์ให้กับกิจกรรมเหล่านี้โดยเฉพาะไปเลย
Strategy 8 – Make Leisure Leisurely : ปิดท้าย เมื่อคุณได้พักผ่อน คุณควรพยายามคิดถึงเรื่องงานหรือเงินที่ต้องเสียไประหว่างการพักผ่อนให้น้อยที่สุดและเปิดรับกับประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้าให้มากที่สุดเพื่อให้จิตใจของคุณได้พักอย่างแท้จริง
Chapter 4 | The Long View
เมื่อคุณเริ่มฝึกฝนนิสัยในการสร้างความร่ำรวยทางเวลาในชีวิตประจำวันแล้ว ก็ถึงคราวที่คุณต้องเริ่มสร้างนิสัยเพื่อเสริมความร่ำรวยทางเวลาในระยะยาวเพื่อใช้ในการตัดสินใจครั้งใหญ่ๆในชีวิตของคุณที่มักต้องมีการ trade-off ระหว่างเงินและเวลาโดยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งงาน การย้ายงานใหม่ การเลือกซื้อบ้าน การแต่งงานและการมีลูก โดยผู้เขียนได้แนะนำกลยุทธ์เพิ่มเติมอีก 5 ประการดังต่อไปนี้
Strategy 1 – Vary Your Activities : การที่คุณทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความร่ำรวยทางเวลาซ้ำๆไปนานๆอาจะส่งผลในแง่ลบเมื่อคุณเริ่มเบื่อและไม่ได้รับความสุขจากการใช้เวลาอันมีค่าเหล่านั้นเท่าเดิม ดังนั้น คุณควรต้องมองหากิจกรรมใหม่ๆและสลับสับเปลี่ยนเวลาอันมีค่าของคุณเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอ
Strategy 2 – Say No : คุณต้องเริ่มสร้างพฤติกรรมในการกล้า “ปฏิเสธ” คำเชิญชวนของคนอื่น โดยผู้เขียนแนะนำว่าคุณควรตอบตกลงเมื่อมีโอกาสในการได้พูดคุยกับคนหรือเรื่องใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้พบเจอหรือต่อยอดความสุขใหม่ๆทั้งในชีวิตและการงานของคุณ แต่คุณจะต้องกล้าปฏิเสธเมื่อเรื่องราวเหล่านั้นไม่คุ้มค่ากับเวลาของคุณอย่างรวดเร็วที่สุด
Strategy 3 – Ask for More Time : เมื่อคุณต้องทำงานอย่างหนักจากระยะเวลาที่กระชั้นชิดซึ่งมักลงเอยด้วยความเครียดและผลงานที่ก็ไม่ค่อยสู้ดีนัก คุณควรวางแผนการใช้เวลาทำงานของคุณล่วงหน้าและกล้าขอเพิ่มเวลาหรือขอหยุดพักผ่อนเพื่อให้คุณสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและได้ผลงานที่ดีโดยไม่ burnout ไปเสียก่อน จงอย่าคิดว่าหัวหน้าของคุณจะมองคุณเป็นคนขี้เกียจ จริงๆแล้ว หัวหน้าของคุณอาจจะไม่รู้ว่าคุณทำงานหนักขนาดนี้และเต็มใจช่วยเหลือเต็มที่ [ต้นทุนที่คุณลาออกจากงานมักสูงกว่าการยืด deadline หรือให้วันหยุดพักผ่อนชดเชยเพิ่มมาก]
Strategy 4 – Remind Yourself of Opportunity Cost : คุณต้องหมั่นสร้างนิสัยในการคำนวณ “ค่าเสียโอกาส” จากการตัดสินใจใหญ่ๆของคุณอย่างครบถ้วนและสม่ำเสมอเพื่อให้คุณตัดสินใจได้อย่างสมดุลที่สุด อาทิ การเลือกที่อยู่อาศัยในเมืองที่สามารถเดินทางไปทำงานได้ภายใน 15 นาทีแทนการเลือกที่อยู่ชานเมืองที่ใหญ่กว่าแต่ต้องเดินทางขาละ 1 ชั่วโมงจะทำให้คุณประหยัดเวลาไปได้วันละ 1 ชั่วโมงครึ่งหรือปีละประมาณ 400 ชั่วโมงต่อปีเลยทีเดียว [อย่างกรณีของผมเอง ผมเลือกที่จะไม่ซื้อรถและใช้บริการ Grab Car เป็นหลักที่ทำให้ผมสามารถทำงานได้ระหว่างการเดินทางและยังสะดวกสบายต่อชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องกังวลถึงความเครียดจากการขับรถ การวุ่นวายหาที่จอดรถ การเสียเวลาซ่อมบำรุงและการเติมน้ำมัน]
Strategy 5 – Ask Yourself the Big Why : ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ คุณควรต้องทำความเข้าใจเป้าหมายในระยะยาวของคุณให้ดีที่สุดเพื่อให้คุณมีแรงบันดาลใจในการตัดสินใจเพิ่มพูนความร่ำรวยทางเวลาตามที่คุณคาดหวัง งานวิจัยของผู้เขียนพบว่าคนที่มีอายุมากมักจะมองเห็นความสำคัญของเวลาเมื่อเทียบกับเงินที่มากขึ้นเรื่อยๆเพราะพวกเขารู้ตัวแล้วว่าเวลาในโลกของพวกเขานั้นลดลงไปทุกวัน ดังนั้น คุณต้องเริ่มความเข้าใจเป้าหมายในชีวิตของคุณให้ดีที่สุด
บริการเรียกแม่บ้านของ Seekster ในประเทศไทย (source: Seekster)
Chapter 5 | Systemic Change
การเพิ่มพูนความร่ำรวยทางเวลานั้นสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาล เมื่ออัตราความสุขและเวลาอันมีค่าของประชากรในประเทศเพิ่มมากขึ้น พวกเขาก็มักจะมีผลิตภาพที่มากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น ช่วยเหลือสังคมมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญเลยก็คือเอาเงินมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ฟันเฟืองสำคัญของโลกในยุคปัจจุบันอย่างองค์กรเอกชนและรัฐบาลจึงต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มความร่ำรวยทางเวลาให้กับพนักงาน ลูกค้าและประชาชน
โดยองค์กรภาคเอกชนที่เป็นตัวการหลักในการดูดเวลาของประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่นั้นต้องเริ่มวางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเวลาและ work-life balance ของพนักงานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดอัตราการลาออกและสร้างแรงดึงดูดให้กับพนักงานกลุ่มใหม่ๆที่ให้ความสำคัญกับเวลาของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เขียนได้ยกตัวอย่างนโยบายดังต่อไปนี้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการสร้างความร่ำรวยทางเวลาให้กับประชากรอย่างยั่งยืนก็คือนโยบายของภาครัฐที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในวงกว้าง อาทิ
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเพื่อทวงคืนความสุขผ่านความร่ำรวยทางเวลาที่เราสูญเสียไปกลับมา !!
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]