News Ticker

[สรุปหนังสือ] The Industries of The Future

 

 

The Industries of The Future (2016)
by Alec Ross

 

“The previous wave saw entire countries and societies lifted up economically. The next wave will take frontier economies and bring them into the economic mainstream while challenging the middle classes in the most developed economies.”

 

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกยุคอุตสาหกรรมในสมัย industrial revolution ได้ถูกคลื่นยักษ์แห่งยุคของ innovation และ globalization ซัดจนแตกกระเจิง การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ส่งผลในการให้กำเนิด “กลุ่มผู้ชนะ” ใน 2 มิติ ได้แก่ กลุ่มของนักนวัตกร นักลงทุนและผู้ชำนาญการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กับ กลุ่มของชนชั้นกลางที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆทั่วโลก ขณะเดียวกันโลกก็ต้องเผชิญกับการเกิดขึ้นของ “กลุ่มผู้แพ้” ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเงินเดือนสูงในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกแทนที่ด้วยการทำงานของเครื่องจักร หุ่นยนต์และแรงงานต้นทุนต่ำจากประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดียหรือแม็กซิโก คลื่นลูกถัดไปที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่และรุนแรงกว่าเดิม

The Industries of The Future คือตำราที่รวบรวม “6 อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต” ที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้านี้ โดยฝีมือของ Alec Ross อดีตที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรมให้กับ Hilary Clinton ผู้ซึ่งมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมนวัตกรรมจากทั่วทุกมุมโลก

 

Alec Ross (ขอบคุณภาพจาก Ted)

 


 

Here Come the Robots

การพัฒนาหุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันเป็นไปอย่างก้าวกระโดดหลังจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น การวัดระยะทางแบบ 3 มิติ ความสามารถในการพัฒนาความคิดผ่านการลองผิดลองถูก (machine learning) และการใช้ระบบ cloud เป็นศูนย์กลางด้านการเข้าถึงข้อมูลของหุ่นยนต์ที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น … พร้อมกันนั้น วัสดุในการทำหุ่นยนต์ก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ่น เช่น ซิลิโคนหรือโพลีเมอร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างผ่านกระแสไฟฟ้าได้ … มนุษย์ยังสามารถผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็กมากๆสำหรับใช้งานทางการรักษาโลกระดับเซลส์ได้อีกด้วย โดยเจ้าตลาดหุ่นยนต์ของโลกประกอบไปด้วย 5 ประเทศที่ครองส่วนแบ่งการผลิตหุ่นยนต์กว่า 70% ของโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และเยอรมนี

Humanizing Robot: ปัจจุบันการลงทุนในด้านการพัฒนา Artificial Intelligence (A.I.) นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากบริษัทเอกชนอย่าง Google และจากรัฐบาล … Singularity หรือจุดที่มนุษย์กับหุ่นยนต์มีความชาญฉลาดทัดเทียมกันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอีก 10 หรือ 20 ปี หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้องค์ประกอบหลักคงอยู่ที่การทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองและระบบประสาทมนุษย์อย่างละเอียด และหาก Singularity เกิดขึ้นจริง หุ่นยนต์ A.I. อาจจะกลายมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดหรือศัตรูตัวสุดท้ายของมนุษยชาติก็เป็นได้

Domestic Robots: ประเทศญี่ปุ่นคือประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุและอายุยืนมากที่สุดในโลก ซึ่งปัญหานี้นำมาสู่การลงทุนของรัฐบาลให้กับบริษัทเอกชนในการพัฒนาหุ่นยนต์ในด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมหุ่นยนต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นและกลายมาเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของญี่ปุ่นครั้งใหม่นี้กำลังเริ่มเกิดขึ้นแล้วทั้งหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย หุ่นยนต์เพื่อนและหุ่นยนต์ในรูปแบบของอุปกรณ์เสริมที่คอยช่วยให้ผู้สูงอายุขยับร่างกายได้รวดเร็วมากขึ้น

Robotic Jeeves: กระแสการพัฒนาหุ่นยนต์ที่กำลังจะเริ่มส่งผลต่อมนุษย์ในเร็วๆนี้อีกด้านหนึ่งก็คือ Driver-less Car หรือรถยนต์ไร้คนขับที่มี Google และ Tesla  เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ … อุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้คือการยอมรับของมนุษย์ในการใช้งานรถยนต์ไร้คนขับและการยอมรับในโอกาสการเกิดอุบัติเหตุที่ถึงแม้จะตัดปัจจัยความประมาทของผู้คนในท้องถนนทิ้งไปทั้งหมด เหตุไม่คาดฝันก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี … และหาก Driver-less Car เกิดขึ้นจริง อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆเลยก็คืออุตสาหกรรมขนส่งมวลชน ผู้ผลิตรถยนต์รวมไปถึงผู้ให้บริการที่จอดรถซึ่งอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป

Robots and Jobs: การมาถึงของคลื่นหุ่นยนต์ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของมนุษย์ทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เช่น ผู้ช่วยนักกฎหมาย นักบัญชีและนักวิเคราะห์ งานในภาคบริการ เช่น เด็กเสิร์ฟและคนทำความสะอาด และงานในภาคการผลิตที่ปัจจุบันค่าแรงมีแต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆสวนทางกับต้นทุนของเครื่องจักรที่ต่ำลงอย่างต่อเนือง … หุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์องค์กรได้แทบทุกอย่างงทั้งการไม่ป่วย ไม่เรื่องมาก ไม่อู้งาน ไม่ประมาทและที่สำคัญคือไม่มีเงินเดือนราคาแพง !! … ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าชาวเอเชียมีความสนใจในการพัฒนาหุ่นยนต์และมีวัฒนธรรมความเชื่อที่มีส่วนช่วยให้พวกเขายอมรับหุ่นยนต์มาเป็นเครื่องมือหรือเพื่อนมากกว่าชาวตะวันตก เราอาจจะได้เห็นการเติบโตของสังคมหุ่นยนต์ยุคแรกในประเทศแถบเอเชีย

 

Boston Dynamics บริษัทที่ให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ (ขอบคุณภาพจาก Boston Dynamics)

 


 

The Future of the Human Machine

พัฒนาการทางการแพทย์กำลังก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็วและมนุษย์จะมีอายุขัยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆพร้อมๆกับความเข้าใจในกระบวนการทำงานของร่างกายที่มากขึ้น

Genomics: ปัจจุบันเทคโนโลยีทางพันธุกรรมและคอมพิวเตอร์เปิดทางให้มนุษย์สามารถนำ DNA และ RNA มาทำการวิเคราะห์เพื่อมองหาบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆโดยเฉพาะโรคมะเร็ง พร้อมๆกับการพัฒนายาและกรรมวิธีการรักษาโรคที่เข้าไปจัดการโรคร้ายได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบโรคมะเร็งระยะเริ่มต้นผ่านเลือดหรือไขสันหลังอย่างแม่นยำ ในอนาคต เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีราคาถูกลง และรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ … และผู้นำของเทคโนโลยี Genomics อาจจะไม่ใช่สหรัฐอเมริกาแต่กลายเป็นประเทศจีนที่ซึ่งรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมและการลงทุนศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง … อุตสาหกรรม Genomics จะกลายมาเป็น “The Next Internet”

Hacking The Brain: ถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวมาได้ค่อนข้างไกลแล้วในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถไขปริศนากระบวนการทำงานของสมองได้ทั้งหมด ศาสตร์ของ Genomics กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในด้านของการตรวจพบโรคทางจิตและประสาทซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าโรคทางด้านอื่นๆอยู่มาก เร็วๆนี้โลกอาจจะมียาที่ใช้สำหรับรักษาคนที่คิดฆ่าตัวตายให้หายขาดก็เป็นได้

Unintended Consequences: ในอนาคตศาสตร์ของ Genomics สามารถทำให้มนุษย์ตรวจ DNA ของตัวเองเพื่อมองหาข้อบกพร่อง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค เพื่อทราบและหาทางป้องกันล่วงหน้าได้ รวมไปถึงการตรวจจับเพศ ความฉลาด แนวโน้มด้านนิสัยของทารกแรกเกิดหรือแม้กระทั่งตัวอ่อนในครรภ์มารดาได้เช่นกัน โลกอาจจะเข้าสู่ยุคที่คนมีเงินสามารถพัฒนาตัวเองและลูกหลานให้มียีนส์ที่สมบูรณ์แบบ ขณะที่คนจนอาจจะต้องเกิดมาพร้อมกับความรู้ที่ว่าตัวเองปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

Pig Lungs and Woolly Mammoth: ศาสตร์การตัดแต่งพันธุกรรมยังสามารถนำไปสู่การปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์ในตัวสัตว์โดยเฉพาะหมูได้ นอกจากนั้น องค์กรด้านพันธุกรรมสัตว์ยังริเริ่มทดลองคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วบางจำพวกผ่านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์สายพันธุ์ใกล้เคียงกัน

Innovation for Everybody: เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเตอร์เน็ตจะกลายมาเป็นช่องทางหลักในการตรวจวินิจฉัยโรคและการแพร่กระจายวัคซีนหรือความรู้ของประชาชนในประเทศโลกที่สาม

 

นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียกำลังวางแผนการ “คืนชีพช้างแมมมอธ” (ขอบคุณภาพจาก The Post Millenial)

 


 

The Code-ification of Money, Markets, and Trust

“เงิน” และ “การแลกเปลี่ยน” มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่มนุษย์คิดค้นการใช้เงินเหรียญและเงินธนบัตรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอย่างยาวนาน นวัตกรรมใหม่ๆก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้นทั้ง ตู้กดเงิน เช็ค บัตรเครดิตและล่าสุดกับเงินในรูปแบบดิจิตอล

Coded Money: นวัตกรรมการเงินในรูปแบบดิจิตอลและแบบโมบายล์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น PayPal, Square, Google Wallet, Apple Pay และ AliPay ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ส่งผลให้กระบวนการฝาก ถอน โอนหรือจ่ายเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกสบายและต้นทุนต่ำมากยิ่งขึ้น และนวัตกรรมเหล่านี้กำลังมีบทบาทอย่างมากในประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกาใต้ที่ประชากรกลุ่มใหญ่เลือกที่จะใช้บริการทางการเงินทั้งหมดผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

The Sharing Economy, Coded Markets of Trust: เมื่อความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอลส่งผลต่อตลาดและพฤติกรรมของมนุษย์ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือความเชื่อมั่นในระบบดิจิตอลซึ่งปัจจุบันโมเดลที่แพลตฟอร์มออนไลน์ใช้กันก็คือการ “รีวิว” ให้เรตติ้งของผู้ซื้อ ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ … เมื่อความเชื่อมั่นในระบบดิจิตอลเริ่มเกิดขึ้น เศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันทรัพยากร (Sharing Economy) กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเริ่มจาก Airbnb ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของบ้านเปิดให้เช่าพื้นที่นอนของตัวเองแก่นักท่องเที่ยว หรือ Uber ที่เปิดโอกาสให้คนขับรถนำรถมาเปิดใหบริการเป็นรถแท็กซี่ … ในอนาคต งานต่างๆของมนุษย์จะแปรสภาพจากงานประจำกับบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งกลายมาเป็นงานฟรีแลนซ์ให้กับหลายๆบริษัทพร้อมๆกันมากขึ้น แน่นอนว่าเทรนด์นี้จะส่งผลดีต่อผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง แต่งานในชนชั้นแรงงานอาจจะประสบปัญหาการแข่งขันมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Bitcoin: สกุลเงินดิจิตอลแบบเข้ารหัส (cryptocurrency) สกุลแรกที่ประสบความสำเร็จในโลกก็คือ Bitcoin … Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่เกิดขึ้นมาเพื่อท้าทายระบบการเงินในรูปแบบปัจจุบันที่เงินส่วนใหญ่ถูกบริหารผ่านธนาคารและองค์กรการเงิน รวมไปถึงถูกกลั่นกรองโดยรัฐบาลจากทุกประเทศในทั่วทุกมุมโลก … Bitcoin เป็นสกุลเงินแห่งแรกที่อยู่ในรูปแบบ decentralized หรือการอยู่อย่างไร้ศูนย์กลาง โดยที่ผู้ใช้งาน Bitcoin สามารถที่จะปกปิดตัวตนของตัวเองได้ด้วยการถือเงิน Bitcoin แบบเข้ารหัสพร้อมๆกับการถือ private key หรือกุญแจที่สามารถไขรหัสเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของของเงินได้ … Bitcoin นั้นยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับโลกได้มากมาย อาทิ การตัดค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารและบัตรเครดิตแบบเดิมๆทิ้งไป การใช้เป็นสกุลเงินหลักในประเทศที่ระบบการเงินไม่มีเสฐียรภาพหรือการสร้างกรรมวีธีการซื้อขายแบบ Micropayment ที่สามารถกำหนดเงินค่าบริการขั้นต่ำมากๆในการเข้าใช้บริการต่างๆ เช่น การเข้าไปอ่านเว็ปไซต์หนังสือพิมพ์หน้าละ 0.000001 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่สำคัญสำหรับผู้ซื้อแต่สามารถทำกำไรให้กับผู้ขาย content ต่างๆ รวมไปถึงการกำหนด่าใช้จ่ายขั้นต่ำมากๆในการส่งอีเมล์เพื่อกำจัดวงการ Spam … ความสามารถของ Bitcoin ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า Blockchain ที่เป็นการกระจายข้อมูล transaction ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโลกนี้ให้กับผู้ใช้งาน Bitcoin ทั่วโลกโดยที่เหล่าผู้เก็บข้อมูล Blockchain จะได้รับเงิน Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่เป็นการตอบแทนซึ่งถูกจำกัดในปริมาณเงินที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดเงินเฟ้อของ Bitcoin ระบบ Blockchain สามารถแก้ปัญหาเรื่องการแฮ็คข้อมูลของ Bitcoin ได้ทั้งหมดเนื่องจากระบบจะทำการตรวจสอบทุก transaction ที่เกิดขึ้นกับฐานข้อมูลใน Blockchain จากทั่วโลก … ในแง่ลบ Bitcoin สามารถช่วยปกป้องการทำงานของอาชญากรในตลาดมืดได้ … ถึงแม้ระบบของ Bitcoin นั้นไม่สามารถทำการแฮ็คได้ แต่บริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น บริการกระเป๋าเงินหรือตลาดแลกเปลี่ยนนั้นมีประวัติการถูกแฮ็คอย่างรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง

The Blockchain Protocol: ถึงแม้ว่า Bitcoin อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในอีกสิบปีข้างหน้า แต่โอกาสที่สกุลเงินดิจิตอลสกุลหนึ่งจะขึ้นมายืนบนเวทีการเงินโลกอย่างแข็งแรงนั้นมีสูงมากๆ การจะทำให้เงินสกุลดิจิตอลได้รับการตอบรับในทางที่ดีต่อรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่นั้นต้องอาศัยการเข้าควบคุมทางกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นและบริการต่างๆที่ต้องมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น … แต่สิ่งที่สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ให้กับโลกนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือ Blockchain ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ประยุกต์ในวงการการเงิน กฎหมาย บัญชีและอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมายเพื่อปลดแอกเหล่าตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เช่น บริษัทบัตรเครดิตและธนาคาร ออกพร้อมๆกับการเพิ่มความสามารถในการเติบโตด้วยการยื่นเทคโนโลยีให้กับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

 

Blockchain Ecosystem (ขอบคุณภาพจาก INTHEBLACK)

 


 

The Weaponization of Code 

หลังจากสงครามเย็นจบลง โลกก็เข้าสู่ยุคของสงครามไซเบอร์ … การจู่โจมทางโลกดิจิตอลมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการสร้างความเสียหายที่มีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในอนาคตข้างหน้าการพัฒนาความมั่นคงทางโลกไซเบอร์และการพัฒนาอาวุธจากโค้ดคอมพิวเตอร์จะกลายมาเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่สำคัญของหลากหลายประเทศทั่วโลก

Type of Cyber-attacks: การจู่โจมทางโลกไซเบอร์สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ 1. Confidentiality Attack หรือ การจู่โจมเพื่อล้วงข้อมูลลับต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการฝังโปรแกรมเข้าไปในระบบของเป้าหมาย เหตุการณ์ครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก็คือการห้าง Target ถูกแฮ็คข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าทั้งหมดและการแฮ็คบริษัท Sony ของประเทศเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้กับการสร้างหนังล้อเลียนคิมจองอิล …      2. Network’s Availability Attack หรือ denial-of-service (DOS) คือการจู่โจมกำลังของเซิฟเวอร์เป้าหมายด้วยการสร้างผู้เรียกใช้บริการปลอมๆจำนวนมากจนเซิฟเวอร์เป้าหมายล่ม … 3. Integrity Attack หรือการจู่โจมเพื่อทำลายข้อมูลและระบบปฏิบัติการณ์ของเป้าหมายให้ย่อยยับซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วกับบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในซาอุดิอาระเบียโดยแฮคเกอร์สัญชาติอิหร่านที่ทำขึ้นเพื่อต้อต้านการ sanction ของสหรัฐอเมริกา …. การจู่โจมยังสามารถทำได้ในรูปแบบผสม เช่น เหตุการณ์แฮ็ครหัสของเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์ AP เพื่อโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า Barack Obama ได้เสียชีวิตลงแล้วจากเหตุการณ์ระเบิดที่ทำเนียบขาวจนตลาดหุ้นล่วงระนาวภายในเวลาเพียง 2 นาที ซึ่งกลุ่มแฮคเกอร์สัญชาติซีเรียกระทำการได้โดยกระบวนการ phishing หรือหลอกล่อผู้ใช้งานให้กรอกข้อมูลผ่านเว็ปไซต์ที่ดูน่าเชื่อถือแล้วล่วงข้อมูลลับนั้นไปใช้งาน

Cyberspace Landscape: การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการสงครามในโลกไซเบอร์นั้นกลายมาเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของหลากหลายประเทศ โดยประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและอิสราเอลจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมที่สุด ขณะที่ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่ถูกกล่าวขานกันว่าเป็นเจ้าแห่งการขโมยความลับของบริษัท (corporate espionage) ของบริษัทชั้นนำทั่วโลกเพื่อนำไปคัดลอกและผลิตสินค้ามาขายกับเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ ส่วนบางประเทศ อาทิ เกาหลีเหนือและอิหร่าน ก็เลือกที่จะจู่โจมประเทศอื่นๆด้วยอาวุธไซเบอร์เหล่านี้ และผู้นำในการสร้างอาวุธทางโลกไซเบอร์ก็คือประเทศรัสเซียผู้ซึ้งเคยใช้อาวุธยุคดิจิตอลนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการยึดแคว้นไคเมียร์ การพยายามแก้ผลการเลือกตั้งของยูเครนและอีกมากมาย

Cyber-attacking Everything: เทรนด์ของ Internet of Thing (IoT) หรือสิ่งของในชีวิตประจำวันที่สามารถสื่อสารกับอินเตอร์เน็ตได้นั้นกำลังนำพาความเสี่ยงครั้งใหญ่ของการจารกรรมทางคอมพิวเตอร์รวมไปถึงการเกิดสงครามทางโลกไซเบอร์ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆอย่างการแฮ็คเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อนำเอา computing power ไปใช้ในการขุดเงิน Bitcoin หรือเพื่อตรวจสอบกิจวัตรประจำวันของเจ้าของบ้านของโจรยุคไฮเทค ไปจนถึงการแฮ็คเข้าระบบของ Driver-less Car ที่สามารถสร้างอาวุธความเร็วสูงจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ

The Rise of Cyber-security Industry: อุตสาหกรรมที่จะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตพร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ Cyber-security หรืออุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

 

ฉากการแฮครถยนต์ไร้คนขับในภาพยนตร์เรื่อง Fast 7 ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงๆก็ได้ในอนาคต (ขอบคุณภาพจาก Fast 7)

 


 

Data: the Raw Material of the Information Age

ทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของมนษย์ได้สร้าง digital footprint อยู่เกือบตลอดเวลา ตั้งแต่การตื่นขึ้นมาใช้งาน social network เล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ เติมเงินบัตรรถไฟฟ้า จ่ายเงินจากบัตรเครดิตไปจนถึงการบอกตำแหน่งที่ตั้งของตัวเองผ่านสัญญาณ GPS … ทุกการกระทำของมนุษย์กำลังจะถูกนำมาบันทึกเป็นข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ … ยุคของข้อมูลเริ่มต้นครั้งแรกจากนวัตกรรมเครื่องพิมพ์หมึกหนังสือ ตามด้วยเครื่องโทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต … ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์ทำให้ปัจจุบัน ข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลได้กลายมาเป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีต้นทุนถูกที่สุดและมีการเติบโตปีละกว่า 50% … ความเป็นเจ้าของของข้อมูลจะกลายมาเป็นทรัพย์สินที่สำคัญไม่แพ้ที่ดินในยุคเกษตรกรรมและโรงงานในยุคอุตสาหกรรม

Big Data: Big Data ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ฐานข้อมูลปริมาณมหาศาล กับ ความสามารถในการวิเคราะห์และมองหา information จากข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นๆแบบ real-time ที่สามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างทันที … ตัวอย่างของการใช้งาน Big Data ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ กระบวนการ fundraising ของ Barack Obama ที่สามารถเรียกเงินช่วยเหลือได้มากกว่า Mitt Romney ถึง 4 เท่า ด้วยการทดลองส่งจดหมายให้ผู้บริจาคทั้งหมด 18 แบบเพื่อวัดดูว่าจดหมายแบบไหนได้รับเงินบริจาคมากที่สุด (และผู้ชนะคือจดหมายที่เขียนไว้ว่า “I will be outspent”)

How Many Language Do You Speak: ปัจจุบัน Google Translate สามารถแปลภาษาได้เกือบทุกภาษาอย่างแม่นยำในระดับหนึ่งแล้ว และด้วยปริมาณข้อมูล feedback ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและ algorithm ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้านี้ กำแพงของภาษาจะถูกทำลายออกไปจากโลกนี้ ไม่แน่มนุษย์อาจจะคิดค้นหูฟังที่คอยแปลภาษาพูดของคนต่างเชื้อชาติได้แบบ real time … และเมื่อกำแพงภาษาพังทลายลง Globalization และการทำธุรกิจระหว่างประเทศจะเข้ามาเติมเต็มทุกพื้นที่ของโลกได้อย่างรวดเร็ว

Precision Agriculture: ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรเริ่มแปรสภาพจากการเกษตรยุคอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเครื่องจักรและสารเคมีต่างๆมาสู่การเกษตรในยุคดิจิตอล ที่การตัดสินใจในการเพาะปลูกและพัฒนาผืนดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดถูกคิดค้นโดย algorithm ที่ประมวลผลข้อมูลจากเซนเซอร์ในผืนดินและข้อมูลสภาพอากาศ … ปัญหาการขาดแคลนอาหารของมนุษย์กำลังจะหมดลง

Fintech: ธนาคารชั้นนำส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันยังคงยึดถือระบบปฏิบัติการณ์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบเก่าซึ่งระบบรุ่นเก่านี้มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก … startup ใหม่หลายรายได้ให้ความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมธนาคารให้เกี่ยวกันโดยตรงกับ Big Data … Square บริการจ่ายเงินผ่านมือถือเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถกู้ยืมเงินแบบง่ายๆผ่าน algorithm ที่ตรวจวัดกระแสเงินสดของผู้ใช้งานคนนั้นๆแบบ real time โดยไม่ต้องใช้พนักงานมานั่งวิเคราะห์แต่อย่างใด ผลที่ได้คือการกู้เงินที่สะดวก แม่นยำและดอกเบี้ยต่ำ

All-Seeing Stones: พัฒนาการของ Big Data จะนำพามาสู่การเปลี่ยนข้อมูลมหาศาลกลายเป็นความรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกวัตถุประสงค์ … Palantir คือบริษัทชั้นนำที่ให้บริการในการสร้างโมเดลข้อมูล สรุปข้อมูลและสร้าง visualization ให้กับข้อมูล ปัจจุบัน Palantir ถูกใช้ในการวางแผนการรบของกองทัพสหรัฐอเมริกาและสำหรับ CIA ในการใช้ตรวจจับข้อมูลอาชญากรรมต่างๆ … ในอนาคต เทคโนโลยีจัดการข้อมูลจะถูกใช้งานมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าต้องมีกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่หวังดีเกิดขึ้น

Everybody will have a Scandal: ในโลกยุคไอที ข้อมูลส่วนบุคคลของมนุษย์จะถูกจัดเก็บ ประมวลผลและขายต่อมากยิ่งขึ้น ข้อมูลลับๆอย่างประวัติการใช้งานเว็ปหาคู่จะถูกนำมาใช้อย่างเปิดเผย ทุกสิ่งที่มนุษย์ได้ทำผิดพลาดไปจะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ตลอดกาล และแน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการจัดเก็บและขายข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงด้านการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญที่สุด เช่น genomics ของเราไว้ให้เป็นความลับให้ถึงที่สุด

Our Quantified Selves: เมื่อการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น การตัดสินใจของมนุษย์ก็จะถูกแนะนำโดยคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบัน คนอเมริกันประมาณ 1 ใน 3 แต่งงานจากการเจอกันในเว็ปไซต์หาคู่ที่จับคู่เดทด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ปัญหาด้านการ bias และเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวกันจะมีมากขึ้นผ่านการประมวลผลของ algorithm ที่ไร้จิตใจ จิตวิญญาณของมนุษย์อาจลดต่ำลงกลายเป็นเพียงเครื่องจักรในร่างของคนเท่านั้น

 

Precision Farming หรือ ฟาร์มแห่งอนาคตที่จะมีผลิตภาพสูงมากยิ่งขึ้นผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เครื่องยนต์อัจฉริยะ โดรนวิเคราะห์ผืนดินและเซนเซอร์ที่ติดอยู่ในปศุสัตว์ (ขอบคุณภาพจาก NESTA.org)

 


 

The Geography of Future Markets

ในพื้นที่เล็กที่มีความยาว 30 ไมล์และความกว้าง 15 ไมล์ที่มีชื่อเรียกว่า Silicon Valley ได้กลายมาเป็น “อาณาจักรโรมัน” ขนาดย่อมๆที่ครอบครองความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในยุคของอินเตอร์เน็ตได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ปัจจัยหลักของความสำเร็จของ Silicon Valley นั้นได้แก่ องค์ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่อัดแน่นอย่างเต็มเปี่ยมผ่านบุคลากรและมหาวิทยาลัยชั้นนำ การแพร่กระจายความรู้อย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับบรรยากาศทางสังคมที่คอยอุ้มชูและเทิดทูนวิศวกรคอมพิมเตอร์ … สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น การแข่งขันในการเดินทางสู่ความเป็นเจ้าของแต่ละอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆของทั่วโลกกำลังจะมาเป็นตัวตัดสินอนาคตของประเทศที่จะกลายมาเป็นผู้นำของโลกในอนาคต

Domain Experience: ความชำนาญในศาสตร์ต่างๆของแต่ละประเทศนั้นมีไม่เหมือนกัน เมื่อเทคโนโลยี Big Data สามารถเข้าถึงกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เจ้าตลอดของอุตสาหกรรมย่อยๆแห่งโลกอนาคตก็สามารถเกิดขึ้นได้จากทั่วโลก … ปัจจุบัน นิวซีแลนด์เป็นเจ้าแห่งการนำเอา Big Data มาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงวัวด้วยการสแกนพื้นที่ของทุ่งหญ้าเพื่อจัดการให้เกษตรกรกระจายวัวไปยังพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด … เยอรมนีผู้พ่ายแพ้ต่อยุคอินเตอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิงกำลังพัฒนาตัวเองเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและโลจิสติกส์ผ่าน Big Data … หากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางศาสตร์นั้นๆไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ทันเวลา ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใน Silicon Valley อาจมีโอกาสที่จะเข้ามา disrupt ตลาดได้ อย่าง กรณี Uber และ AirBnB หรือกลุ่มบริษัท FinTech ที่มีอยู่ใน Silicon Valley มากกว่าเมืองศูนย์กลางทางการเงินอย่าง New York และ London อย่างขาดลอย

Cities as Innovation Hubs: ปฎิเสธไม่ได้ว่าความเป็นตัวเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นสามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับคนเก่งๆที่เตรียมจะมาสร้างนวัตกรรมล้ำๆจากทั่วทุกมุมโลก ปัจจัยแห่งความสำเร็จของเมืองอย่าง นิวยอร์ค ซานฟรานซิกโก ลอนดอน เซี่ยงไฮ้และโตเกียว ก็คือระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างเต็มที่ เช่น ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการขนส่ง ประกอบกับนโยบายแบบ “เปิด” ที่พร้อมน้อมรับนวัตกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ … ถึงกระนั้น โลกที่เชื่อมต่อกันได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในปัจจุบันนั้น ก็ยังสามารถสร้างนักนวัตกรรมตัวเล็กๆในเมืองเล็กๆ ได้ อย่าง หญิงชาวปากีสถานคนหนึ่งที่สร้างเครือข่ายสตรีชาวปากีสถานฟรีแลนซ์ที่รับงานด้านสื่อออนไลน์จากทั่วโลก และเมื่อเทคโนโลยี Big Data สามารถเข้าถึงทั่วทุกมุมโลกได้ เจ้าแห่งอุตสาหกรรมแห่งอนาคตก็สามารถเกิดขึ้นจากที่ใดในโลกนี้ก็ได้

Estonia Model: หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่นำพาเอาเศรษฐกิจของประเทศอดีตสมาชิกต้องสั่นคลอน ประเทศเกิดใหม่อย่าง Estonia ก็ได้ตัดสินใจเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อรับเอาการลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มเปี่ยมโดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน สัญญาณโทรศัพท์แบบดิจิตอลและสัญญาณอินเตอร์เน็ต รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาและอินเตอร์เน็ตอย่างครอบคลุมตั้งแต่ปี 2000 … ไม่กี่ปีต่อมา Estonia กลายมาเป็นประเทศที่มีความไฮเทคที่สุดในโลก บริษัท start-up ใหม่ๆเกิดขึ้นที่ประเทศนี้มากมาย รวมถึง Skype … ตรงกันข้ามกับอีกหลายประเทศ เช่น Belarus ที่เลือกปิดประเทศและดำเนินนโยบายแบบกึ่งเด็จการที่ปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีแต่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกไปลงเรื่อยๆ

2.5 Billion People: ประเทศจีนและอินเดียมีประชากรรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก … จีนกำลังมีนโยบายเปิดประเทศทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆประกอบกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างหุ่นยนต์และ Genomics … ส่วนอินเดียนั้นถึงแม้จะมีการปกครองแบบเปิดมากกว่า แต่รูปแบบการปกครองนั้นถูกแบ่งออกเป็นรัฐต่างๆซึ่งมีอิทธิพลสูงกว่ารัฐบาลกลาง ทำให้การดำเนินนโยบายเป็นเรื่องยาก สิ่งที่อินเดียพยายามทำอยู่ตอนนี้คือการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับสูงผ่านสถาบันการศึกษาชั้นสูง

Half of The World: ปัจจัยอีกอย่างที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือจำนวนประชากรผู้หญิงที่อยู่ในวงการทำงาน ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่เลือกที่จะแบนผู้หญิงไม่ให้ได้รับการศึกษาและไม่ต้องทำงานซึ่งเป็นเหมือนการลดปริมาณคนทำงานในประเทศลงถึงครึ่งหนึ่ง … ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมให้ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้านและไม่สามารถเข้าสังคมกับคนทำงานที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่ได้ วัฒนธรรมนี้ยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องย่ำอยู่กับที่ต่อไปเรื่อยๆ … ตรงกันข้ามกับประเทศจีนที่มีการส่งเสริมหญิงชาวจีนให้ทำงานอย่างเต็มที่ตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งประชากรหญิงวัยทำงานนี่เองเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้จีนก้าวมามีบทบาทในเวทีโลกอย่างรวดเร็ว

Digital Natives: คนรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคของอินเตอร์เน็ตนั้นมีความสามารถที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่าอยู่มากและนั่นทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีคุณค่าในการที่จะสร้างนวัตกรรมได้ไม่แพ้ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานสูง ประเทศที่สนับสนุนความทัดเทียมทางด้านอายุและไม่ส่งเสริมระบบอาวุโสย่อมมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีกว่าให้แก่ประเทศได้ และนี่คือข้อได้เปรียบข้อหนึ่งของอเมริกาและ Silicon Valley

The Great Leapfrog: ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วหลังจากหลายๆประเทศได้เปิดประเทศส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศเหล่านี้เลือกที่จะข้ามผ่านจากยุคเกษตรกรรมไปยังยุคของไอทีเลยโดยมองข้ามยุคอุตสาหกรรมไป โอกาสในการพัฒนาของแอฟริกานั้นยังมีอยู่อย่างล้นหลามตามเทรนด์อัตราการเกิดของประชากรและความเท่าเทียมกันทางสังคมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

แคมเปญ e-estonia ของประเทศ Estonia ที่ต้องการสร้างประเทศให้กลายมาเป็น “digital country” (ขอบคุณภาพจาก e-estonia.com)

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

1 Trackbacks & Pingbacks

  1. [สรุปหนังสือ] The Raging 2020s : Companies, Countries, People and the Fight for Our Future – Panasm's Blog

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*