News Ticker

[สรุปหนังสือ] Chip War : The Fight for the World’s Most Critical Technology

 

 

[สรุปหนังสือ] Chip War : The Fight for the World’s Most Critical Technology (2022)

by Chris Miller

 

“Most of the world’s GDP is produced with devices that rely on semiconductors.”

 

คำพูดที่ว่า “data is the new oil.” ที่มองว่าข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นเป็นดั่งทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงสุดในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นมีความจริงข้อหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป นั่นก็คือความจริงที่ว่า “ข้อมูลนั้นสามารถถูกสร้างขึ้นได้อย่างไม่จำกัดตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีขีดความสามารถในการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ (computing power) ที่มากพอ” และกระดูกสันหลังของโลกยุคใหม่ที่แท้จริงนั้นก็คือ “chip” หรือ “วงจรรวม (integrated circuit)” ซึ่งก็คือแผงวงจรสำหรับใช้ในการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นจาก “สารกึ่งตัวนำ (semiconductor)” อาทิ silicon ที่ภายในมี “สวิตช์ปิดเปิดกระแสไฟฟ้า (transistor)” จำนวนมหาศาลที่ล่าสุดนั้นสามารถมีขนาดที่เล็กกว่าเชื้อไวรัส COVID-19 เสียอีก !!

Chip War คือ หนังสือระดับเจ้าของรางวัล Financial Times Business Book of the Year แห่งปี 2022 โดยผู้เขียน Chris Miller อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Tufts University ที่หยิบเอาเรื่องราวของ “chip” มาตีแผ่ ตั้งแต่ จุดต้นกำเนิดของเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิด Silicon Valley ขึ้นมาในฟากฝั่งอเมริกาตะวันตก การเติบโตของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ข้ามทวีปมายังยุโรปและเอเชีย ไปจนถึง สงครามแก่งแย่งความเป็นใหญ่ในอุตสาหกรรมระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีไต้หวันที่เป็นสถานที่ตั้งของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ “TSMC” ที่ครอบครองเทคโนโลยีการผลิต chip ที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้ง

ขอเชิญทุกท่านที่สนใจในเศรษฐกิจมหภาค ประวัติศาสตร์ทางเทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกยุคใหม่อ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ

สั่งหนังสือ Chip War ภาษาไทย : https://s.lazada.co.th/s.ktZ4X?cc
สั่งหนังสือ Chip War ภาษาอังกฤษ : https://s.lazada.co.th/s.ktZ5K?cc

 


 

PART I : COLD WAR CHIPS

From Steel to Silicon : มหันตภัยร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เร่งให้กองทัพของประเทศมหาอำนาจต่างพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการทำสงคราม ซึ่งก็ทำให้เกิดแนวคิดของการสร้าง “คอมพิวเตอร์” ที่เป็นเครื่องมือในการคำนวณแทนที่ของมนุษย์ผ่านการคำนวณตัวเลขฐานสองอย่าง 0 และ 1 จำนวนมหาศาลที่สามารถนำมาโปรแกรมเป็นตัวเลขและสมการอะไรก็ได้… โดยเทคโนโลยีรุ่นแรกของคอมพิวเตอร์ก็คือ “หลอดสุญญากาศ (vacuum tube)” ที่เชื่อมต่อกับไฟฟ้าที่สามารถควบคุมให้เป็นค่า 1 ได้ด้วยการใส่กระแสไฟฟ้าเข้าไปและ 0 เมื่อไม่ใส่กระแสไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบหลอดสุญญากาศนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการคำนวณการทิ้งระเบิดและการถอดรหัสลับ แต่ก็มีข้อเสียเต็มๆคือขนาดที่ใหญ่มากของตัวหลอดสุญญากาศจนทำให้คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องกินพื้นที่ระดับห้องใหญ่ๆหนึ่งห้องและความเป็นหลอดไฟที่มักถูกแมลงตอมจนพังอยู่บ่อยๆ จนทำให้โปรแกรมเมอร์ต้องทำหน้าที่ “debug” หรือ “ทำความสะอาดแมลง” อยู่เสมอ… ดังนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีประโยชน์แบบเป็นวงกว้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “สวิตช์” ที่ควบคุม 0 และ 1 ต้องมีขนาดเล็กและประสิทธิภาพมากกว่านี้

 

ตัวอย่างหลอดสุญญากาศ (source: newatlas)

 

The Switch : ต้นแบบของ “สวิตช์” ที่ถูกใช้ในคอมพิวเตอร์อย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบันถือกำเนิดขึ้นในปี 1948 โดยฝีมือของ William Shockley แห่ง Bell Labs ผู้ต่อยอดการออกแบบอุปกรณ์ทางไฟฟ้าชื่อ “transistor” ของ John Bardeen และ Walter Brattain ที่เป็นอุปกรณ์ 3 ขาทำจาก “สารกึ่งตัวนำ (semiconductor)” อย่าง silicon หรือ germanium ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนในยามปกติแต่ก็สามารถทำหน้าที่นำไฟฟ้าได้เมื่ออยู่ในสนามไฟฟ้าที่เหมาะสม… ด้วยการปรับแต่งให้ transistor ที่มีคุณสมบัติเดิมในการเพิ่มความเข้มข้นของกระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว ให้สามารถทำการเปิดปิดกระแสไฟฟ้านั้นผ่านการยิงกระแสไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยเข้าไปยังใจกลางของแผ่น semiconductor ได้

 

ตัวอย่าง transistor รุ่นแรกโดย John Bardeen, Walter Brattain และ William Shockley (source: Nokia Bell Labs)

 

Noyce, Kilby and the Integrated Curcuit : พัฒนาการของ transistor เริ่มถึงจุดก้าวกระโดดหลังจากที่ Jack Kilby วิศวกรของบริษัท Texas Instruments เกิดไอเดียในการลดความซับซ้อนของการสร้าง transistor ลงด้วยการเริ่มสร้าง transistor หลายๆตัวลงบนแผ่น semiconductor ชิ้นเดียวกันที่ต่อมาถูกเรียกว่า “วงจรรวม (integrated circuit)” หรือ “ชิป (chip)” ที่มีชื่อมาจากกระบวนการเราะ (chip off) แผ่น silicon ออกมาจากแผ่น silicon ขนาดใหญ่… ต่อมา Bob Noyce ผู้ก่อตั้งบริษัท Fairchild Semiconductor ร่วมกับอดีตวิศวกรอีก 7 คนที่ลาออกจากบริษัทของ William Shockley ก็ได้คิดค้นกรรมวิธีการเคลือบและจัดวางวงจรไฟฟ้าเข้าไปในแผ่น semiconductor โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับสายไฟข้างนอกและไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นที่กลายมาเป็นต้นแบบของ chip ในปัจจุบัน โดย Bob Noyce และ Gordon Moore หัวหน้าฝ่าย R&D ได้มีความเห็นตรงกันว่ายิ่ง chip มีขนาดเล็กและใช้ไฟฟ้าน้อยเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีประโยชน์ในการใช้งานใหม่ๆและศักยภาพในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น

 

ตัวอย่าง integrated circuit รุ่นแรกของ Bob Noyce (source: EDN)

 

Liftoff : จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตลาดของ chip เติบโตอย่างรวดเร็วก็คือการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในสมรภูมิอวกาศช่วงสงครามเย็น โดยมี NASA เป็นผู้ซื้อหลักของ chip ของบริษัท Fairchild Semiconductor เพื่อใช้ประกอบเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับยานอวกาศโครงการ Apollo เพื่อส่งคนไปยังดวงจันทร์… ต่อมา กองทัพสหรัฐก็ได้กลายมาเป็นผู้ซื้อหลักของ chip ของบริษัท Texas Instruments เพื่อใช้ติดกับขีปนาวุธแบบนำวิถีเพื่อเตรียมถล่มโซเวียตเมื่อสงครามมาถึง… โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ chip กลายมาเป็นตัวเลือกหลักของภาครัฐในการประกอบคอมพิวเตอร์ก็คือขนาดที่เล็กลงกว่าเทคโนโลยีอื่นมากซึ่งก็ช่วยทั้งประหยัดพื้นที่และประหยัดกำลังไฟฟ้าที่ต้องใช้

Mass Production : ความก้าวหน้าครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม chip เกิดขึ้นที่ Texas Instruments โดยวิศวกรชื่อ Jay Lathrop ผู้คิดค้นกรรมวิธีในการผลิต transistor ให้มีขนาดเล็กลงไปได้อย่างมากที่เรียกว่า “photolithography” หรือ “การพิมพ์ด้วยแสง” ที่เริ่มจากการอาบแผ่น semiconductor ด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติ “photoresist” ที่จะเปลี่ยนสภาพไปเมื่อถูกแสงและทำการยิงแสงที่ย่อส่วนจนมีขนาดเล็กระดับไมโครเข้าไปพิมพ์ transistor และแผงวงจรระดับไมโครลงบนแผ่น chip ได้อย่างแม่นยำ… แต่จุดเปลี่ยนของกรรมวิธีการผลิตนี้ก็ต้องอาศัยความสามารถทางวิศวกรรมและการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อทำให้กระบวนการผลิต transistor ด้วยการพิมพ์ด้วยแสงสามารถทำได้ในปริมาณมหาศาล (mass production) โดย Texas Instruments ก็มีมือดีอย่าง Morris Chang วิศวกรเครื่องกลจาก MIT ผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นผู้นำการพัฒนากระบวนการผลิต ส่วน Fairchild Semiconductor ก็ได้ Andy Grove วิศวกรเคมีจาก Berkeley เป็นหัวเรือหลัก

“I Want to Get Rich” : Gordon Moore หัวหน้าทีม R&D ของ Fairchild Semiconductor ได้พยากรณ์ไว้ในปี 1965 ว่า “ปริมาณของ transistor ใน chip ที่มีขนาดเท่าเดิมนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆปีไปอย่างน้อยอีกหนึ่งทศวรรษ” หรือที่หลายคนเรียกคำพยากรณ์นี้ว่า “Moore’s Law” ที่แสดงให้เห็นว่าต้นทุนของ chip นั้นจะถูกลงเรื่อยๆและขีดความสามารถทางคอมพิวเตอร์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็วและ chip จะเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วๆไปมากยิ่งขึ้น… Bob Noyce ยังได้ตัดสินใจหั่นราคา chip ในตลาดลงเพื่อเร่งการเติบโตได้อย่างเห็นผล… ซึ่งสิ่งที่ Gordon Moore พยากรณ์ไว้ก็เป็นความจริงและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนเปลี่ยน Palo Alto ให้กลายมาเป็น Silicon Valley ที่เต็มไปด้วยบริษัท startup และกองทุน venture capital ที่ช่วยกันสร้างทั้งความมั่งคั่งและระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในโลกยุคสมัยใหม่… ต่อมา Bob Noyce และ Gordon Moore ก็ได้ตัดสินใจลาออกจาก Fairchild Semiconductor ที่หุ้นส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนมหาเศรษฐีมาเปิดบริษัทของพวกเขาเองที่มีชื่อว่า “Intel” หรือ “integrated electronics” ในปี 1968

 

Andy Grove, Bob Noyce และ Gordon Moore ในยุคแรกเริ่มของ Intel (source: EDN)

 


 

PART II : THE CIRCUITRY OF THE AMERICAN WORLD

Soviet Silicon Valley : ศึกสงครามแย่งชิงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี chip รอบแรกได้เริ่มขึ้นในยุคสงครามเย็นที่สหภาพโซเวียตได้ส่งสายลับเป็นจำนวนมากเข้ามาขโมยความลับทางเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเพื่อนำกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรม semiconductor และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Zelenograd ที่รวบรวมทั้งมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยพัฒนาที่ดูเหมือนจะล้ำหน้าไม่แพ้กับ Silicon Valley เสียอีก… แต่ความเป็นรัฐแบบคอมมิวนิสต์ที่รับฟังแต่คำสั่งจากเบื้องบนที่ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่กับภาครัฐและนโยบายที่เน้นการลอกเลียนแบบเทคโนโลยี chip จากฝั่งสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ก็ทำให้เทคโนโลยี chip ล้าหลังไปมากเพราะกว่าสหภาพโซเวียตจะคัดลอกเทคโนโลยีแบบเก่าได้สำเร็จ เทคโนโลยี chip แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าก็ได้เกิดขึ้นแล้วตามกฎของ Moore’s Law จนทำให้สหรัฐอเมริกามีระบบนิเวศน์ด้าน chip ที่แข็งแกร่งกว่าศัตรูสำคัญอย่างไม่ติดฝุ่น

The Transistor Salesman : แตกต่างจากสหภาพโซเวียตที่ทำได้เพียงตามหลังสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามกลับเฟื่องฟูขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วจากนโยบายการส่งเสริมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างให้ญี่ปุ่นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง… โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรุ่งโรจน์ก็คืออุตสาหกรรมๆการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ chip นำเข้าจากสหรัฐอเมริกามาต่อยอดเป็นสินค้าราคาประหยัดมากมาย อาทิ วิทยุทรานซิสเตอร์และเครื่องคิดเลขพกพา โดยมีพระเอกอย่าง Akio Morita ผู้ก่อตั้งบริษัท Sony เป็นผู้นำในการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้า chip จากสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาประหยัดกลับไปขายในตลาดของสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ซึ่งการเชื่อมโยงกันระหว่างสองประเทศก็ช่วยเร่งอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม semiconductor ขึ้นไปอีกขั้น

Supply Chain Statecraft : การผลิต chip ที่แต่เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มขยับขยายห่วงโซ่อุปทานไปสู่ระดับโลก โดยเริ่มจาก Fairchild Semiconductor ที่เข้าไปเปิดโรงงานประกอบ chip ที่เกาะฮ่องกงในปี 1963 ที่เต็มไปด้วยแรงงานหญิงที่มีค่าแรงถูกกว่าที่สหรัฐอเมริกาเกือบ 10 เท่า ก่อนที่บริษัทต่างๆจะเริ่มเปิดโรงงานในประเทศอื่นๆทั่วเอเชียตะวันออก อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์และเกาหลีใต้… โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรม semiconductor ในเวลาต่อมาเป็นอย่างมากก็คือการตั้งโรงงานผลิต chip ที่เกาะไต้หวันของ Texas Instruments ในปี 1968 ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการประสานระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของไต้หวันเข้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อให้เกิดทั้งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอันมหาศาลและยังช่วยยกระดับความปลอดภัยของไต้หวันจากการถูกรุกรานโดยประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่เริ่มมีอำนาจและกำลังทางการทหารที่แข็งแรงมากขึ้น

Intel’s Revolutionaries : เพียง 2 ปีให้หลังจากการก่อตั้งบริษัท Intel ของ Bob Noyce และ Gordon Moore ในรูปแบบ startup รุ่นบุกเบิก วิศวกรของ Intel ก็ได้คิดค้นเทคโนโลยีสุดล้ำอีก 2 อย่าง… เริ่มจากการคิดค้น dynamic random access memory หรือ DRAM ในปี 1970 ที่เป็นแผ่น chip สำหรับเก็บความทรงจำที่เป็นการประกอบร่างกันระหว่าง transistor และตัวเก็บประจุ (capacitor) ที่สามารถเก็บความทรงจำ 0 และ 1 ได้อย่างประหยัดและเล็กกว่าเทคโนโลยีแบบเก่าอย่าง magnetic core ที่ประกอบด้วยวงแหวนโลหะเหนี่ยวนำแม่เหล็กที่ไม่สามารถลดขนาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าการผลิต chip… ก่อนที่จะต่อยอดความสามารถของ DRAM ที่เริ่มมีความจุมากพอในการเก็บความทรงจำของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้มาเป็นการพัฒนา microprocessor ในปี 1972 ที่เป็น chip เอนกประสงค์ที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทดแทนการสร้าง chip สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชิ้นโดยเฉพาะที่มักมีต้นทุนสูงมาเป็นการใช้งาน microprocessor แบบเอนกประสงค์ควบคู่กับการโปรแกรม DRAM เพิ่มเติมให้สามารถทำงานเฉพาะทางตามอุปกรณ์ที่ต้องการได้… โดยนวัตกรรมทั้ง 2 ของ Intel ที่มีความเป็นเอนกประสงค์นั้นก็ได้ทำให้ Intel สามารถผลิต DRAM และ microprocessor ได้แบบเป็นจำนวนมากที่ช่วยให้ราคาของ chip เริ่มถูกลงไปอีกและก่อให้เกิดยุครุ่งเรืองของคอมพิวเตอร์

 

Microprocessor รุ่นแรกและรุ่นล่าสุดของ Intel (source: Intel)

 

The Pentagon’s Offset Strategy : ความก้าวหน้าทางการทหารของสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงท้ายของสงครามเวียดนามในปี 1972 เมื่อ Texas Instruments ได้คิดค้น “ระเบิดนำวิถีแบบแม่นยำ” ที่กำกับทิศทางด้วย chip ติดเลเซอร์ที่ปีกของจรวด 4 ชิ้นที่คอยควบคุมการทรงตัวของจรวดให้ตกลงไปสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำด้วยต้นทุนที่ต่ำ… ให้หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามและการพัฒนาความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์และอาวุธของกองทัพสหภาพโซเวียต กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาที่ตึก Pentagon ก็ได้เล็งเห็นโอกาสเดียวในการพัฒนาความได้เปรียบของกองทัพสหรัฐอเมริกาด้วยการนำเอา chip ที่เป็นเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาล้ำหน้ากว่าสหภาพโซเวียตอยู่มาพัฒนาอาวุธแบบแม่นยำที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ระบบจรวดนำวิถีที่ยิงจากภาคพื้นดินขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศก่อนที่จะตกลงสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำจากการชี้เป้าจากระบบเลเซอร์ที่แยกจากกัน

 


 

PART III : LEADERSHIP LOST?

At War with Japan : ความเป็นผู้นำของสหรัฐจากความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี semiconductor ก็เริ่มถูกท้าทายอย่างเต็มรูปแบบในช่วงยุค 80s จากกองทัพบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นอย่าง Toshiba, Mitsubishi และ Hitachi ที่มีความได้เปรียบในหลายๆด้าน อาทิ ความสามารถในการผลิต chip ที่มีคุณภาพมากกว่าและมีของเสียน้อยกว่าบริษัทสัญชาติอเมริกัน ผลิตภาพของแรงงานที่ทุ่มเทให้กับบริษัทมากกว่าสิ่งอื่นใด เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ก็ไม่แพ้ฝั่งสหรัฐอเมริกา ไปจนถึง การเข้าถึงเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่ามากจากพฤติกรรมการเก็บออมเงินของคนญี่ปุ่น ผนวกกับกระบวนการลอกเลียนแบบและโจรกรรมข้อมูลความลับของบริษัทสัญชาติอเมริกันโดยบริษัทญี่ปุ่นที่ก็ทำกันเป็นอย่างขบวนการไม่แพ้บริษัทใน Silicon Valley ด้วยกันเอง… ด้วยประการทั้งปวง บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นก็ได้เริ่มกินส่วนแบ่งการตลาดของ chip ได้มากขึ้นเรื่อยๆด้วยจุดขายในด้านคุณภาพที่เหนือกว่าด้วยราคาที่เท่าเทียมกันจนทำให้คำว่า “Made in Japan” กลายเป็นสัญลักษณ์ของคุณภาพไม่ใช่ของราคาถูกอีกต่อไป… บริษัทญี่ปุ่นอย่าง Sony เองก็ได้สร้างนวัตกรรมด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆที่สามารถจับตลาดได้ทั่วโลก อาทิ Sony Walkman ที่ขายได้รวมกันกว่า 385 ล้านเครื่อง… ส่วนบริษัทผลิตเลนส์อย่าง Nikon ก็ยังสามารถแย่งความเป็นที่หนึ่งในเทคโนโลยี photolithography รูปแบบ stepper ที่ผลิต chip ทีละชิ้นด้วยความละเอียดที่สูงขึ้นได้จากบริษัทสัญชาติอเมริกันชื่อ GCA ด้วยการผลิตเครื่อง stepper ที่มีคุณภาพที่ดีกว่ามากแถมด้วยการบริการที่เหนือชั้นกว่า

 

Akio Morita และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Sony (source: Financial Times)

 

The Crude Oil of the 1980s : อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในยุค 80s ก็คือพันธสัญญากับสหรัฐอเมริกาที่ประเทศญี่ปุ่นจะไม่ทุ่มงบประมาณมาพัฒนากองทัพของตัวเองจนทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีงบประมาณส่วนเพิ่มมาลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่… เมื่อภัยอันตรายถึงฆาตได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว บริษัท chip สัญชาติอเมริกันชั้นนำอย่าง Intel, Texas Instruments และ AMD ก็ได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยเปรียบ semiconductor เป็นดั่งน้ำมันดิบที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียการควบคุมไปไม่ได้ ซึ่งแนวคิดนี้ก็มีกระทรวงกลาโหมที่ใช้งานเทคโนโลยี chip เป็นอาวุธหลักสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนรัฐบาลเริ่มเคลื่อนที่เพื่อสนับสนุน อาทิ การลดอัตราภาษีของบริษัทกลุ่มนี้ การเพิ่มความเข้มข้นของโทษในการโจรกรรมข้อมูลความลับของบริษัท ไปจนถึง การเจรจากับประเทศญี่ปุ่นในการยกเลิกภาษีนำเข้า chip จากสหรัฐอเมริกา… นอกจากนั้น Bob Noyce ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรชื่อ Sematech ที่มีเป้าประสงค์ในการเชื่อมโยงบริษัทสัญชาติอเมริกันในอุตสาหกรรมเข้าหากันเพื่อแลกเปลี่ยนและปิดดีลธุรกิจโดยไม่พึ่งบริษัทต่างชาติ… แต่ความพยายามทั้งหมดก็ไม่ได้ผลซักเท่าไหร่และเมื่อ Bob Noyce เสียชีวิตไปในปี 1990 บริษัทในอุตสาหกรรม semiconductor ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก รวมไปถึง GCA ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี photolithography เจ้าเดียวที่ยังเหลือรอดอยู่ของประเทศสหรัฐอเมริกา

The Japan That Can Say No : เมื่อประเทศญี่ปุ่นเริ่มกลายมาเป็นผู้นำในการผลิต chip และเครื่อง photolithography ที่มีความล้ำสมัยที่สุด ดุลอำนาจของประเทศญี่ปุ่นต่อประเทศสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเปลี่ยนไปและก่อให้เกิดชาวญี่ปุ่นฝ่ายขวาจำนวนมากที่ต้องการออกจากระบอบรัฐธรรมนูญที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดและใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการสร้างระบบเศรษฐกิจของตัวเองในทวีปเอเชีย… โดย Akio Morita มหาเศรษฐีแห่งอาณาจักร Sony ได้สรุปสาเหตุที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตที่เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาไว้ว่าเป็นที่ “ระบบแบบญี่ปุ่น” ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในระยะยาวและการพัฒนาทรัพยากรคนในสายงานวิศวกรรมและเทคโนโลยี ในขณะที่ระบบของสหรัฐอเมริกากลับให้ความสำคัญแต่ผลกำไรระยะสั้นและทรัพยากรมนุษย์สายสังคมและกฎหมายแทน… นโยบายในการสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจให้กับพันธมิตรในแถบเอเชียเหมือนจะเป็นนโยบายที่ได้ผลดีในการป้องกันภัยคุกคามจากแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดในเกมนี้กลับเป็นประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลอเมริกันคาดไม่ถึงว่าจะสามารถช่วงชิงขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีไปจากอเมริกันชนไปได้และสายตาของผู้กุมชะตาประเทศก็เริ่มมองญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย

 


 

PART IV : AMERICA RESURGENT

The Potato Chip King : ชัยชนะครั้งแรกของอเมริกันชนหลังจากยุคทองของญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นที่ Silicon Valley แต่กลับเป็นที่เมือง Boise ในรัฐ Idaho โดยนักธุรกิจมันฝรั่งชื่อ Jack Simplot ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในบริษัท Micron ผู้ผลิต DRAM ท่ามกลางการปิดตัวลงของบริษัท DRAM อื่นๆที่ต่อสู้กับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นไม่ได้จนไร้คู่แข่งภายในประเทศ โดย Jack Simplot ได้ใช้วิธีคิดแบบธุรกิจมันฝรั่งที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เอาชนะกันด้วยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดมาใช้ในการตั้งโรงงานผลิต DRAM ในเมืองที่ไม่มีทางเลือกของงานมากนักจนได้ค่าแรงที่ต่ำและการพัฒนากระบวนการผลิตให้ต้นทุนต่ำลง อาทิ การลดขนาดของ chip ทั้งแผ่นลงแทนการลดแค่ขนาดของ transistor และการปรับแต่งเครื่องมือให้สามารถผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้ จนทำให้ Micron สามารถอยู่รอดและเริ่มแย่งส่วนแบ่งการตลาดกลับมาจากบริษัทญี่ปุ่นได้

Disrupting Intel : ชัยชนะครั้งใหญ่ลำดับถัดมาของประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นที่ Intel โดยการนำของ Andy Grove อดีตผู้คุมสายการผลิตสุดเข้มงวดที่อาศัยความวิตกจริตของตัวเองต่อการแข่งขันในการพลิกฟื้น Intel ที่สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาด DRAM ที่เป็นนวัตกรรมของตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนกลยุทธ์ไปโฟกัสที่ “microprocessor” ซึ่งเป็น chip เอนกประสงค์สำหรับใช้งานคู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและการใช้หลักการบริหารจัดการแบบเข้มงวดราวกับกองพันทหารที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องจนทำให้ chip ของ Intel สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับซอฟท์แวร์ Windows ของ Microsoft ที่ก็ถูกออกแบบมาใช้งานคู่กัน

The Rise of Korea : ในปี 1983 คู่แข่งในการผลิต chip ด้วยต้นทุนที่ต่ำของบริษัทญี่ปุ่นก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ Lee Byung-Chul มหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักร Samsung ได้ตัดสินใจลงทุนแข่งผลิต chip แบบต้นทุนต่ำโดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลเกาหลีใต้และยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต DRAM จากบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ต้องการสร้างศัตรูที่เท่าเทียมกันของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ก็ได้ใช้ประโยชน์จากค่าแรงที่ถูกกว่าญี่ปุ่นในการแย่งส่วนแบ่งการตลาด chip ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและปักธงให้ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของห่วงโซ่อุปทานของ chip ในปัจจุบัน

 

โรงงานผลิต chip ของ Samsung (source: Techcrunch)

 

This is the Future : ความก้าวหน้าของวงการ chip ในสหรัฐอเมริกาอีกหนึ่งขั้นเกิดขึ้นโดยสองนักวิทยาศาสตร์อย่าง Carver Mead และ Lynn Conway ผู้คิดค้นวิธีการออกแบบ chip รูปแบบใหม่ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถหยิบสลับองค์ประกอบแบบมาตรฐานมากมายมาประกอบรวมร่างกันเป็น chip ตามรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการออกแบบ chip ที่แต่เดิมต้องร่างแบบด้วยมืออย่างซับซ้อนทีละอันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดกำเนิดของมาตรฐานการออกแบบ chip ของ Carver Mead และ Lynn Conway นั้นก็เปรียบได้ดั่งจุดกำเนิดของเครื่องพิมพ์หนังสือของ Johannes Gutenberg ที่ทำให้เทคโนโลยี chip ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นและช่วยทำให้กฎ Moore’s Law ยังคงทำงานได้แม้ว่า chip หนึ่งแผ่นจะมี transistor นับล้านตัวแล้วก็ตาม

War Hero : ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี semiconductor ของสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนสมรภูมิสงครามจากการต่อสู้ด้วยกองทหารเป็นการต่อสู้ทางอากาศที่กองทัพสหรัฐอเมริกามีความได้เปรียบอย่างสูงจากขีปนาวุธนำวิถีที่ขับเคลื่อนโดย chip ที่นำหน้าอาวุธสงครามของคู่แข่งอย่างสหภาพโซเวียตไปแบบไม่ติดฝุ่นและสร้างผลงานด้วยการเอาชนะสงครามอ่าวเปอร์เซียเหนือกองทัพทหารอิรักที่สนับสนุนโดยสหภาพโซเวียตได้อย่างรวดเร็วในปี 1991… ต่อมาไม่นาน สหภาพโซเวียตโดยการนำของ Mikhail Gorbachev ก็ได้ตัดสินใจยุติสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกามีความได้เปรียบอย่างชัดเจนและหันมาสานสัมพันธ์ด้านการค้ากับสหรัฐอเมริกาไม่นานหลังจากการมาเยี่ยมบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley เจ้าของเทคโนโลยี semiconductor ที่เป็นดั่งวีรบุรุษของสงครามเย็นที่แท้จริง… นอกจากนั้น คู่แข่งทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอย่างประเทศญี่ปุ่นก็ยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการลงทุนเกินจำนวนและการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับประเทศในแถบเอเชียที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จนทำให้เศรษฐกิจพังทลายลงและตลาดหุ้นร่วงอย่างหนักตั้งแต่ปี 1990 อันเป็นการปิดฉากยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของแดนอาทิตย์อุทัยในสมรภูมิ semiconductor ไปในที่สุด

 


 

PART V : INTEGRATED CIRCUITS, INTEGRATED WORLD?

Semiconductor Industry in Taiwan : จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ไต้หวันกลายมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ของห่วงโซ่อุปทาน semiconductor ของโลกเกิดขึ้นในปี 1987 เมื่อ Morris Chang อดีตผู้บริหารของ Texas Instruments ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างไม่อั้นจากรัฐบาลไต้หวันและมหาเศรษฐีชาวไต้หวันที่ถูกเชิญชวนแกมบังคับให้ร่วมกันลงทุนก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ที่บุกเบิกตลาดด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ในการ “ผลิต chip ตามคำสั่ง” ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถพัฒนา chip อันซับซ้อนของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องผลิตเองหรือฝากบริษัทคู่แข่งผลิตอีกต่อไป จนนำมาสู่ยุคบุกเบิกของบริษัท startup ชุดใหม่ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และ outsource กระบวนการผลิต chip ให้กับ TSMC ที่คุมตลาดอย่างเบ็ดเสร็จจากทั้งปริมาณของลูกค้าที่เหนือกว่าและสิทธิพิเศษทางภาษีโดยรัฐบาลไต้หวันจนทำให้ต้นทุนการผลิต chip แบบตามสั่งของ TSMC นั้นล้ำหน้าจนไม่มีคู่แข่งรายไหนสามารถท้าชิงได้เป็นระยะเวลานานจนถึงปัจจุบัน

 

ตัวอย่าง chip ที่ผลิตโดย TSMC (source: eetasia)

 

All People Must Make Semiconductors : ประเทศที่สูญเสียโอกาสในการเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรม semiconductor โลกอย่างรุนแรงที่สุดนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคือประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ในยุคการปกครองของเหมาเจ๋อตุงที่กดขี่องค์ความรู้และเทคโนโลยีอยู่เป็นระยะเวลายาวนานจนทำให้ความรู้ด้านการผลิต chip ของจีนนั้นล้าหลังบริษัทประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ TSMC ของไต้หวันและ Samsung ของเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก… โดยความหวังแรกที่เป็นจุดประกายเริ่มต้นของอุตสาหกรรม semiconductor ของจีนนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับจุดกำเนิดของ TSMC เลยก็คือการก่อตั้งบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC โดย Richard Chang อดีตผู้บริหารของ Texas Instruments ในปี 2000 ด้วยกลยุทธ์เดียวกันกับ TSMC ในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนำเข้าคนเก่งผู้เชี่ยวชาญจากไต้หวันและสหรัฐอเมริกา จนในปัจจุบัน SMIC เริ่มกลายมาเป็นคู่แข่งที่หายใจรดต้นคอของ TSMC ได้บ้างในไลน์การผลิต chip แบบพื้นฐาน

Lithography Wars : อีกหนึ่งบริษัทที่กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน semiconductor โลกในปัจจุบันก็คือ Advanced Semiconductor Materials Lithography หรือ ASML บริษัทผู้ผลิตเครื่อง photolithography สัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก Intel ในฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาในการผลิตเครื่อง photolithography รูปแบบใหม่ที่ใช้แสง EUV (extreme ultraviolet light) ที่มีความยาวคลื่นที่เล็กในระดับ 13.5 นาโนเมตรในการพิมพ์ transistor ให้เล็กลงไปกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่นเพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมอย่าง Canon และ Nikon ที่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่อเมริกามองว่าเป็นศัตรู ซึ่งต่อมา ASML ก็ได้ซื้อกิจการบริษัท photolithography ที่เหลือแห่งเดียวของอเมริกาในปี 2001 และกลายมาเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี EUV ที่เป็นอนาคตสำคัญของอุตสาหกรรม semiconductor แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีคู่แข่ง

 

เครื่อง EUV ของ ASML (source: ASML)

 

The Innovator’s Dilemma : กลยุทธ์ในการโฟกัสการพัฒนา microprocessor ของ Andy Grove ได้นำพาให้ Intel กลายมาเป็นบริษัทที่มีกำไรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงปี 2000s ด้วยการทำให้ x86 โครงสร้างพื้นฐานของ chip ของ Intel กลายมาเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครื่อง server ในศูนย์จัดเก็บข้อมูล (data center)… แต่ Intel ก็พลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่อย่าง RISC ที่มีความเรียบง่ายและกินพลังงานน้อยกว่าด้วยสาเหตุทางธุรกิจที่ต้องการทุ่มเททรัพยากรไปยังตลาดที่มีกำไรสูงและยังคงเติบโตได้ดีแบบไร้คู่แข่งอย่าง x86 แถมต่อมา Intel ก็ยังปฏิเสธสัญญาครั้งใหญ่ของ Apple ในการพัฒนา chip สำหรับโทรศัพท์ smartphone อย่าง iPhone ที่ CEO ในสมัยนั้นมองว่าคงไม่น่าครองส่วนแบ่งการตลาดได้สูงนัก… การให้ความสำคัญกับกำไรในระยะสั้นส่งผลให้ Intel สูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำในตลาด chip สำหรับ smartphone ให้กับ Arm บริษัทออกแบบ chip สัญชาติอังกฤษที่เป็นผู้นำในการสร้าง chip ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ RISC ที่เหมาะสำหรับใช้งานในอุปกรณ์พกพาทั้งโทรศัพท์มือถือและเครื่องเล่นเกมส์ไปอย่างน่าเสียดายและยังไม่มีวี่แววที่จะเอาชนะได้แม้ในปัจจุบัน

 


 

PART VI : OFFSHORING INNOVATION?

The Fabless Revolution : โมเดลธุรกิจของ TSMC ในการรับจ้างผลิต chip ตามคำสั่งได้ก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจ chip แบบ startup ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนระดับพันๆล้านดอลลาร์สหรัฐในการตั้งโรงงานผลิต chip และไม่จำเป็นต้องหมั่นพัฒนากระบวนการผลิตให้ก้าวกระโดดตาม Moore’s law อย่างต่อเนื่องอีกต่อไป ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจเหล่านั้นโฟกัสไปที่การออกแบบเทคโนโลยี chip รุ่นใหม่ที่นำพามาซึ่งนวัตกรรมมากมาย… หนึ่งในธุรกิจ startup ที่ส่งต่อให้ TSMC เป็นผู้ผลิต chip ให้ก็คือ Nvidia บริษัทผู้คิดค้นและออกแบบ graphics processor units (GPUs) ที่เป็น chip สำหรับประมวลผลภาพ graphics ในคอมพิวเตอร์ที่ต้องอาศัยการคำนวณแบบพร้อมๆกัน (parallel processing) ให้ pixel แต่ละตัวในหน้าจอสามารถแสดงผลเป็นภาพที่สอดคล้องกันได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่ง chip ของ Nvidia ที่มีความสามารถในการคำนวณแบบพร้อมกันนี้ยังได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวคำนวณหลักให้กับเทคโนโลยีใหม่อย่าง artificial intelligence (A.I.) ที่ทำให้ Nvidia ในปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทสูงกว่า Intel ประมาณ 8 เท่า… อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การผลิต chip ก็ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียฐานการผลิต chip แทบทั้งหมดที่เคยอยู่ในประเทศไปอยู่ในฝั่งทวีปเอเชียตะวันออกเป็นส่วนใหญ่และทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต้องเชื่อมโยงไปกับความเป็นอยู่ที่ดีของบริษัทผู้ผลิต chip เหล่านั้นที่ก็อยู่ใกล้กับศัตรูใหม่อย่างประเทศจีนเสียเหลือเกิน

 

ตัวอย่าง GPU สำหรับ A.I. โดยเฉพาะของ Nvidia (source: CNET)

 

TSMC’s Grand Alliance : ความท้าทายของ TSMC เองก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในการผลิต transistor ที่ต้องถูกลดขนาดให้เล็กลงเรื่อยๆจนเผชิญหน้ากับปัญหาระดับ “อะตอม” อาทิ สารเคลือบเคมีที่มีความบางระดับ 2 อะตอมจนทำให้อิเล็กตรอนหลุดเข้าออกได้ซึ่งส่งผลเสียต่อเสถียรภาพของ transistor… โดยนวัตกรรมใหม่ในช่วงกลางทศวรรษ 2000s ก็คือ FinFET ซึ่งเป็น transistor แบบ 3 มิติที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาของรุ่นแบบ 2 มิติเดิม ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องอาศัยกระบวนการผลิตใหม่ที่ซับซ้อนและละเอียดมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น… อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ส่งผลให้ตลาด semiconductor ซบเซาไปทั่วโลก วิสัยทัศน์ของ Morris Chang ที่เข้าสู่วัยเกือบ 80 ปีก็ได้เล็งเห็นว่า smartphone คือธุรกิจของอนาคตที่ TSMC ขาดไม่ได้และตัดสินใจลงทุนสร้างขีดความสามารถในการผลิตอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์การวางตัวเป็นพันธมิตรให้กับบริษัทเทคโนโลยีทุกแห่งจากการที่ TSMC นั้นไม่มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองที่ทำให้พันธมิตรไม่ต้องกังวลว่า TSMC จะนำแบบ chip ของพวกเขามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แข่งเหมือนที่บริษัทหลายแห่งกังวลใจไม่กล้าให้ Samsung ที่มีทั้ง smartphone และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นของตัวเองเป็นผู้ผลิต chip ให้ จนทำให้ TSMC และพันธมิตรกล้าที่จะลงทุนวิจัยพัฒนาร่วมกันจนล้ำหน้าและไม่มีบริษัทใดทลายกำแพงแห่งพันธมิตรนี้ได้เลย… โดยหนึ่งในพันธมิตรรายใหญ่ของ TSMC ในปัจจุบันก็คือ Apple ที่ออกแบบ chip สำหรับ iPhone และอุปกรณ์ต่างๆด้วยตัวเองโดยมีเพียง TSMC เท่านั้นที่สามารถผลิต chip ตามคำสั่งสุดล้ำนี้ได้

 

Morris Change ผู้นำสุดแกร่งของ TSMC (source: asiasociety)

 

EUV : อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของห่วงโซ่สัมปทานของ semiconductor ก็คือเครื่อง photolithography แบบ EUV (extreme ultraviolet) ของ ASML ที่มีมูลค่าต่อเครื่องสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเทคโนโลยีระดับสุดล้ำจากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ แสง EUV ที่มีกระบวนการผลิตสุดซับซ้อนด้วยการยิงแสงเลเซอร์ไปที่แร่ดีบุกลูกเล็กในสุญญากาศกว่า 50,000 ครั้งต่อวินาที กระจกที่สามารถสะท้อนแสงที่มีความยาวแสงระดับสิบนาโนเมตรที่ต้องมีผิวเรียบที่สุดในระดับที่หากเปรียบกระจกเป็นขนาดเท่าประเทศเยอรมนีจะมีรอยขรุขระไม่เกิน 0.1 มิลลิเมตร ไปจนถึง ซอฟท์แวร์สำหรับออกแบบการยิงแสง EUV ได้อย่างแม่นยำท่ามกลางความท้าทายของความไม่แน่นอนระดับอะตอม… ความซับซ้อนของกระบวนการผลิตเครื่อง EUV ทำให้ ASML กุมตลาดได้อย่างสมบูรณ์แบบและโลกไม่มีทางเลือกสำรองในการได้มาซึ่งเครื่อง photolithography สำหรับพิมพ์ transistor ที่มีขนาดเล็กที่สุดระดับหลักหน่วยนาโนเมตรเลยนอกจาก ASML ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

How Intel Forgot Innovation : ความเสื่อมถอยของ Intel ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการโฟกัสไปที่ผลกำไรระยะสั้นที่ให้ความสำคัญแค่การผลิต chip แบบ central processing units (CPUs) ที่เป็น chip เอนกประสงค์สำหรับสั่งการชุดคำสั่งที่หลากหลายแบบทีละคำสั่งซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครื่อง server ที่ Intel ครองตลาดอยู่… แต่ตลาดทั้งสองนั้นก็เริ่มประสบปัญหา ตั้งแต่ตลาดฝั่งคอมพิวเตอร์ที่มีการเติบโตที่ต่ำจากการที่ทุกคนเริ่มมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองและการถูกแทนที่ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ smartphone ที่ Intel ไม่มีส่วนร่วมและตลาดฝั่งเครื่อง server ที่เริ่มหันมานิยมใช้ GPUs ที่มี Nvidia เป็นเจ้าตลาดแทนในการประมวลผล A.I. ที่ต้องอาศัยการคำนวณแบบพร้อมๆกัน (parallel processing) เพื่อประมวลผลข้อมูลอันมหาศาลที่ chip แบบ CPUs ของ Intel ทำได้ไม่ดีนัก… นอกจากนั้น ความพยายามในการเปิดธุรกิจรับจ้างผลิตแบบเดียวกับ TSMC ของ Intel ก็ล้มเหลวและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้วยเครื่อง EUV ที่ Intel เป็นผู้สนับสนุนตั้งต้นของ ASML ก็ล่าช้าเกินกำหนด จนท้ายที่สุด Intel ก็ไม่สามารถที่จะผลิต chip แบบล้ำสมัยได้ในช่วงปลายทศวรรษ 2010s และทำให้โลกต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีการผลิตอันซับซ้อนจาก TSMC และ Samsung ในฝั่งทวีปเอเชียเพียงสองเจ้าเท่านั้น

 


 

PART VII : CHINA’S CHALLENGE

Made in China : การขึ้นครองอำนาจของประธานาธิบดี Xi Jinping ในปี 2013 คือจุดเริ่มต้นของสงคราม chip ครั้งใหม่ เมื่อ Xi Jinping เล็งเห็นถึงความสำคัญของ semiconductor ที่เป็นดั่งพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ประเทศจีนและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน อาทิ Alibaba และ Tencent ต่างเริ่มสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาทัดทานกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นคู่แข่งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อันดับหนึ่ง ซึ่ง Xi Jinping ได้ตั้งเป้าหมาย “Made in China 2025” ในการลดสัดส่วนการนำเข้า chip จากต่างประเทศกว่า 85% ในปี 2015 ให้เหลือเพียง 30% ภายในปี 2025… โดย Xi Jinping ยังได้เลือกนโยบายแนว “จู่โจมเพื่อเอาชนะ” แทนนโยบายที่จะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่สัมปทานของ semiconductor โลกที่ล้วนอยู่ในประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกากันทั้งสิ้น ซึ่งหาก Xi Jinping สามารถผลักดันอุตสาหกรรม semiconductor ภายในประเทศให้มีความล้ำสมัยและสามารถแข่งขันกับบริษัทชั้นนำอย่าง TSMC และ Samsung ได้สำเร็จก็หมายความว่าปริมาณการส่งออกของบริษัทในห่วงโซ่อุปทานเดิมจะลดลงไปอย่างมหาศาล เพราะในแต่ละปี ประเทศจีนนำเข้า chip ในมูลค่าที่มากกว่าประเทศซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันและประเทศเยอรมนีส่งออกรถยนต์เสียอีก

Technology Transfer : ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี semiconductor ของประเทศจีนเกิดขึ้นจากความเนื้อหอมของตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของชาวจีนที่ดึงดูดให้บริษัท chip ฝั่งตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรของตัวเองมากกว่าความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์หาทางที่จะทำสัญญาลงทุนเปิดตลาดในประเทศจีนที่บริษัทต่างชาติมักต้องขายหรือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีให้กับหุ้นส่วนบริษัทสัญชาติจีนที่หลายแห่งก็มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับภาครัฐ โดยการรั่วไหลของเทคโนโลยี semiconductor ครั้งใหญ่เกิดขึ้นอยู่ 3 หนโดยบริษัทชั้นนำอย่าง IBM, AMD และ Arm ที่ต่างก็ใช้วิธีการขาย license เทคโนโลยี chip ที่เป็นเบอร์รองในตลาดหรือขายกิจการในประเทศจีนให้กับบริษัทจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ทำตลาดในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก… นอกจากนั้น กองทุนจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนจำนวนมาก อาทิ Tsinghua Unigroup ต่างก็พยายามหาทางที่จะเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการของบริษัทเทคโนโลยี semiconductor จากทั้งฝั่งไต้หวันและตะวันตก โดยที่ความพยายามส่วนใหญ่ถูกตีตกโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศที่พยายามทุกวิถีทางในการกีดกันไม่ให้เทคโนโลยี chip ตกไปอยู่ในกำมือของรัฐบาลจีน

The Rise of Huawei : บริษัทเทคโนโลยีด้าน hardware ที่เป็นความหวังสูงสุดของประเทศจีนเกิดขึ้นในปี 1987 โดยฝีมือของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัท Huawei ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Shenzhen เพื่อนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาขายต่อก่อนที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตัวเองโดยมีวิธีคิดแบบเดียวกับ Samsung ในการกล้าลงทุนทำ R&D อย่างมหาศาลร่วมกับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับโลกด้วยคุณภาพที่ดีและต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งต่อมา Huawei ก็สามารถตีตลาดโทรศัพท์ smartphone ที่ Huawei สามารถออกแบบ chip ได้ด้วยตัวเองและกลายมาเป็นลูกค้าอันดับ 2 ของ TSMC และมียอดขายเป็นรองแค่ Apple กับ Samsung เพียงเท่านั้น… แต่ผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่าโทรศัพท์ smartphone ของ Huawei ก็คือเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่าง “เครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์” ที่ทำหน้าที่หลักในการแปลงตัวเลข 0 กับ 1 และส่งผ่านคลื่นความถี่เป็นวงกว้างที่เชื่อมโยงกับสัญญาณที่ส่งกลับมาจากโทรศัพท์แต่ละเครื่อง โดยเทคโนโลยีโทรคมนาคมนี้มีพัฒนาการมาแล้ว 5 ขั้นตามความสามารถในการบีบอัดตัวเลข 0 และ 1 ลงไปยังคลื่นความถี่ ได้แก่ 1G ที่เป็นการรับสายพูดคุยแบบมาตรฐาน, 2G ที่เริ่มรับภาพได้, 3G ที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้สะดวกขึ้น, 4G ที่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นคอมพิวเตอร์อย่างสมบูรณ์แบบและล่าสุดกับ 5G ที่พัฒนาขีดความสามารถในการส่งตัวเลข 0 และ 1 ในคลื่นความถี่ได้มากขึ้นและมีกระบวนการส่งผ่านคลื่นแบบตรงเป้าหมาย (beamforming) ไปที่โทรศัพท์แต่ละเครื่องที่ช่วยลดสัญญาณรบกวนจนทำให้ 5G สามารถส่งข้อมูลได้อย่างมหาศาลกว่า 4G อีกหลายเท่าตัวที่เปิดโอกาสให้เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ รถยนต์ไร้คนขับและ Internet of Things สามารถทำงานได้… และปัญหาโลกแตกก็ได้เกิดขึ้นเมื่อ Huawei กลายมาเป็นบริษัทที่มีขีดความสามารถในการผลิตเทคโนโลยี 5G ได้ดีที่สุดเหนือคู่แข่งชาติตะวันตกอย่าง Ericsson ของสวีเดนและ Nokia ของฟินแลนด์ที่นำมาสู่ความกังวลต่อความมั่นคงของฟากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่มอง Huawei เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีน ในขณะเดียวกัน Huawei เองก็ยังต้องอาศัย chip จากบริษัทสัญชาติอเมริกันมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุปกรณ์ 5G และอาศัยผู้ผลิตอย่าง TSMC ในการผลิต chip ที่ Huawei ออกแบบเองจนเกิดเป็นห่วงโซ่สัมปทานที่ยังตัดขาดกันไม่ได้

 

ระบบ 5G ของ Huawei (source: Huawei)

 

The Next Offset : ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน A.I. และการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ผลักดันให้ประเทศจีนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านการทหารที่กองทัพของประเทศจีนนั้นมีกำลังอาวุธที่เพรียบพร้อมในการต่อกรกับอาสุธของกองทัพสหรัฐอเมริกา อาทิ จรวดนำวิถีสำหรับยิงกองเรือรบของสหรัฐอเมริกาได้อย่างแม่นยำ ขีปนาวุธระยะไกลที่สามารถยิงไปยังฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในแถบทะเลแปซิฟิกได้ ไปจนถึง อาวุธต่อต้านดาวเทียมที่สามารถทำลายระบบสื่อสารและ GPS ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสงครามที่ขับเคลื่อนด้วย chip ในปัจจุบัน… โดยองค์ประกอบที่จะตัดสินขีดความสามารถทางการทหารในอนาคตนั้นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธแบบไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วย A.I. ที่ติดตั้งระบบเซนเซอร์และเทคโนโลยีระบบป้องกันอาวุธ A.I. เหล่านั้นด้วยการครอบครองสนามแม่เหล็กที่เป็นตัวควบคุมการสื่อสารของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลเลข 0 และ 1 จำนวนมหาศาลระหว่างอาวุธ A.I. ที่หากถูกขัดจังหวะไปก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ… ซึ่งทั้งหมดคือการแข่งขันแย่งชิงขีดความสามารถในการพัฒนา chip ที่ปัจจุบันยังต้องอาศัย TSMC เป็นผู้ผลิตหลักอันเป็นเหตุให้ไต้หวันกลายมาเป็นจุดที่มีสิทธิ์สูงที่สุดในการเป็นสมรภูมิรบระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

 


 

PART VIII : THE CHIP CHOKE

Everything We’re Competing On : นโยบายที่ส่งเสริมการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ (globalization) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังเมื่อห่วงโซ่สัมปทานการผลิต chip ถูกผูกขาดเป็นส่วนๆโดยบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในทวีปเอเชียและยุโรป แถมด้วยปัญหาที่ว่าปริมาณความต้องการของ chip ก็ดันมีประเทศจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดอันเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาและบริษัทสัญชาติอเมริกันตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ต้องต่อกรกับศัตรูอันดับหนึ่งที่เป็นลูกค้าอันดับหนึ่งไปพร้อมๆกันและส่งผลให้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีถูกถ่ายทอดและขโมยไปสู่ประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ… ในขณะเดียวกัน การเติบโตของอุตสาหกรรม chip ในประเทศจีนก็ยังต้องอาศัยการนำเข้า chip ของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ผลิตในทวีปเอเชียอยู่เป็นหลัก อันเป็นเหตุให้ chip เริ่มถูกนำมาใช้เป็น “อาวุธ” ในสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นจากสมรภูมิด้านการค้าในสมัยประธานาธิบดี Donald Trump… หนึ่งในกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นกับบริษัท Fujian Jinhua ผู้ผลิต DRAM ที่ถูก Micron กล่าวหาว่าขโมยข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท แต่ Fujian Jinhua กลับได้รับการปกป้องจากศาลจีนที่หันมาลงโทษแบนการนำเข้าสินค้าของ Micron เข้าจีนแผ่นดินใหญ่ จนต่อมา รัฐบาลสหรัฐจึงได้ออกมาตรการแบนการนำเข้าเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต chip แบบล้ำสมัยที่มีเพียงบริษัทของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตเท่านั้น จน Fujian Jinhua ต้องหยุดสายการผลิต DRAM ที่ดีที่สุดในประเทศจีนไปในที่สุด

The Assault on Huawei : การจู่โจมที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกาพุ่งเป้าไปที่ Huawei บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนที่เริ่มมีขีดความสามารถเหนือกว่าบริษัทสัญชาติตะวันตกและเกี่ยวพันกับความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ประธานาธิบดี Donald Trump และชาติพันธมิตร อาทิ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ต่างอ้างว่าเทคโนโลยี 5G ของ Huawei มีความสามารถในการล้วงความลับให้กับรัฐบาลจีนได้และแบนการใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Huawei ทั้งหมดในประเทศ… แต่หมัดที่สองของสหรัฐอเมริกาที่รุนแรงกว่าก็คือการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานของการผลิต chip แบบล้ำสมัยของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเป็น “อาวุธ” ที่แต่ละองค์ประกอบมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย อาทิ บริษัทซอฟท์แวร์ออกแบบ chip ที่ 3 รายใหญ่เป็นบริษัทอเมริกัน, บริษัทผู้ผลิตเครื่อง EUV ที่ ASML ครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว ไปจนถึง บริษัทผู้ผลิต chip แบบล้ำสมัยที่มีเพียง TSMC และ Samsung ที่ต่างก็อยู่ในประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา โดยการแบน Huawei ไม่ให้สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของบริษัทอเมริกันจนทำให้ Huawei สามารถซื้อ chip จากบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐอเมริกาได้แค่เกรดที่รองลงมาและช่วยยับยั้งความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของ Huawei ได้สำเร็จ

China’s Sputnik Moment : การที่รัฐบาลจีนต้องเห็น Huawei ถูกโจมตีโดยสหรัฐอเมริกานั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ให้พวกเขาตัดสินใจทุ่มเทกำลังเงินอย่างหนักในการสร้างอุตสาหกรรม semiconductor ในจีน เฉกเช่นเดียวกับกรณีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เห็นสหภาพโซเวียตปล่อยดาวเทียม Sputnik จนนำมาสู่การลงทุนด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างหนัก… แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนก็เล็งเห็นอย่างชัดเจนว่าการสร้างห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดภายในประเทศจีนที่ล้าหลังฟากฝั่งพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและยังต้องลงทุนแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันที่ลงทุนรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อันเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนเลือกลงทุนในสมรภูมิที่บริษัทจีนแข่งขันได้ อาทิ การรับจ้างผลิต chip แบบที่ไม่ได้ล้ำสมัยจนเกินไปของ SMIC ที่เริ่มมีประสิทธิภาพระดับโลก ไปจนถึง การพัฒนาวัตถุดิบ semiconductor รูปแบบใหม่ที่จีนพอมีความได้เปรียบแทน โดยรัฐบาลจีนยังเชื่อว่าฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนก็ยังจะดึงดูดให้บริษัทสัญชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนและเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น บริษัทสัญชาติจีนที่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้หนุนหลังทั้งหมดยังมีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติมากกว่าบริษัทตะวันตกที่มองผลกำไรเป็นที่ตั้ง

Shortages and Supply Chains : การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี 2020 ได้แสดงให้ชาวโลกเห็นถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน semiconductor เมื่อบริษัทหลายแห่งเกิดอาการ “chip หาย” จากการขาดตลาดของ chip ที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การเติบโตของความต้องการคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ทำงานแบบ work from home, การหยุดทำงานของโรงงานและท่าเรือบางแห่ง ไปจนถึง การตัดสินใจยกเลิกคำสั่งซื้อของกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ต้องอาศัย chip หลักร้อยหลักพันชิ้นต่อรถหนึ่งคันที่เมื่อความต้องการรถยนต์ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็วก็ไม่สามารถจัดหา chip ที่บริษัทผู้ผลิตได้ปรับสายการผลิตไปแล้วมาได้อย่างทันท่วงที… ปัญหาการขาดตลาดของ chip ทั่วโลกทำให้ประเทศต่างๆต้องมานั่งคิดยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรม chip ของตัวเองขึ้นมาใหม่ อาทิ ไต้หวันและเกาหลีใต้ที่ต่างก็เตรียมตัวสนับสนุน TSMC และ Samsung ที่มีแผนลงทุนระดับแสนๆล้านดอลลาร์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อคงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมการผลิต ประเทศในฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นที่ต่างก็พยายามดึงบริษัทผู้ผลิต chip มาเปิดโรงงานโดยเป็นแค่โรงงานผลิต chip แบบไม่ต้องล้ำสมัยมาก เช่น chip สำหรับรถยนต์ ก็ยังดี ไปจนถึง สหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดี Joe Biden ก็ต้องการผลักดันให้บริษัทอเมริกันกลับมาผลิต chip อีกครั้งโดยมีความหวังอยู่ที่ Intel และ CEO คนใหม่อย่าง Pat Gelsinger ที่เตรียมหันมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและรับจ้างผลิต chip แบบล้ำสมัยด้วยเครื่อง EUV รุ่นใหม่ล่าสุดของ ASML อีกครั้ง

The Taiwan Dilemma : ในปัจจุบัน TSMC คือบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลกและยังเป็นบริษัทที่เป็นดั่ง “จุดยุทธศาสตร์” ของสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน… ตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจ ประธานาธิบดี Xi Jinping ได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงนโยบาย “จีนเดียว” ที่ต้องการควบรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนจากทั้งปัจจัยด้านชาตินิยมและความหอมหวานทางเศรษฐกิจที่มีไข่มุกของอุตสาหกรรม semiconductor อย่าง TSMC เป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยให้ TSMC ตกอยู่ในมือของประเทศจีนนั้นก็เปรียบดั่งการถวายจุดยุทธศาสตร์สำคัญและอำนาจต่อรองของกระบวนการผลิต chip กว่า 37% ของโลกที่ล้วนเป็น chip ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดที่สหรัฐอเมริกาจะไม่มีวันยอมอย่างง่ายดายและเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาพร้อมออกมาปกป้องไต้หวันและ TSMC อย่างเต็มที่… ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกบนช่องแคบไต้หวันจึงเกิดขึ้น เมื่อประเทศจีนนั้นมีศักยภาพทางกองทัพและอาวุธที่สามารถถล่มไต้หวันได้ภายในไม่กี่นาทีแต่การทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบนั้นก็ไม่สามารถทำให้ประเทศจีนคว้าศักยภาพของ TSMC ได้เพราะ TSMC ยังต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทานจากตะวันตกทั้งบริษัทซอฟต์แวร์ของฝั่งสหรัฐอเมริกาและ ASML ของเนเธอร์แลนด์อยู่ดี ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาก็ไม่อยากที่จะเป็นคนเริ่มก่อสงครามที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของตัวเอง… การทำลาย TSMC นั้นก็ไม่ส่งผลดีต่อประเทศไหนเลยและจะทำให้เกิดการขาดแคลน chip จำนวนมากที่ทุกประเทศรวมถึงจีนก็ยังต้องใช้จนน่าจะเกิดเหตุการณ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขาดตลาดทั้งโลกและโครงสร้างพื้นฐาน 5G ต้องหยุดชะงักที่กว่าจะฟื้นกลับคืนมาได้ก็น่าจะต้องใช้เวลา 5 ปีเป็นอย่างต่ำ… อย่างไรก็ตาม การที่รัสเซียบุกทำสงครามกับยูเครนก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าความขาดแคลน chip ของรัสเซียจากการถูกแบนโดยชาติพันธมิตรของสหรัฐอเมริกานั้นจะทำให้กองทัพยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธที่ล้ำสมัยอย่างเต็มที่สามารถต่อกรกับกองทัพรัสเซียที่ chip ขาดได้จนถึงทุกวันนี้… ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อุตสาหกรรม chip ได้กลายมาเป็นทั้งแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ประเทศมหาอำนาจต่างพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาครอบครอง

 

รถถังแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกของกองทัพจีนที่สามารถเคลื่อนพลข้ามทะเลบุกไต้หวันได้ (source: China Military)

 

สั่งหนังสือ Chip War ภาษาไทย : https://s.lazada.co.th/s.ktZ4X?cc
สั่งหนังสือ Chip War ภาษาอังกฤษ : https://s.lazada.co.th/s.ktZ5K?cc




<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>

 

<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*