Fifty Things that Made the Modern Economy (2017)
by Tim Harford
“Real inventions don’t come in a glossy brochure: they shape our world whether we buy them or not.”
ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและ “ซับซ้อน” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มนุษยชาติได้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกันมาแล้วนับ “หมื่นล้านชิ้น” และพวกมันกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 15 ปี
จะเห็นได้ว่า “มนุษย์” เพียงคนเดียวนั้นแทงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ “เข้าใจ” ความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่สิ่งที่เราทำได้คือการพยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการที่ผลักดันเราในอดีตและจุดหมายปลายทางที่เรากำลังจะก้าวเดินไปในอนาคต
Fifty Things That Made The Modern Economy คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Tim Harford เจ้าของผลงาน “The Undercover Economist” ที่ได้รวบรวม “50 สิ่งประดิษฐ์” ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติตั้งแต่อดีตในยุคเริมต้นของเกษตรกรรมจนถึงยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อทำให้พวกเราเข้าเห็นภาพของระบบอันแสนซับซ้อนของโลกในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
Tim Hardford (ขอบคุณภาพจาก TED)
<<< ก่อนเริ่มอ่าน อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ของผมที่นี่ [CLICK] >>>
1st Thing : The Plough
การเริ่มต้นของสังคมมนุษย์เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติประมาณหมื่นปีก่อน เมื่อโลกร้อนขึ้น การออกล่าสัตว์หรือหาของป่าในธรรมชาติก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลอีกต่อไป มนุษย์เริ่มย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำและเปลี่ยนวิธีการหาอาหารมาเป็น “การเกษตรกรรม” โดยมีสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยเร่งการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพสูงอย่าง “คันไถนา” เป็นตัวช่วยสร้างผลิตผลในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นโลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคของ food oversupply ทีมนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากกว่าปริมาณที่ตัวเองต้องการหลายเท่าตัวจนนำมาสู่การเกิดขึ้นของ “อาชีพ” ที่นำพามาสู่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติในเวลาต่อมา
รูปวาดของเกษตรกรชาวอียิปต์และคันไถนาโบราณ (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)
2nd Thing : The Gramophone
เหตุใดนักร้องที่ดังที่สุดในปี 1800 อย่าง Elizabeth Billington ถึงทำรายได้เทียบเป็นเงินปัจจุบันได้เพียงแค่ 1% ของ Elton John ?? คำตอบคือ “จำนวนผู้ฟัง” นั่นเอง !! สิ่งประดิษฐ์ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพย์ดนตรี การแสดงหรือกีฬาของมนุษย์ คือ “เครื่องเล่นแผ่นเสียง” ที่ทำให้มนุษย์สามารถซื้อเพลงกลับมาฟังที่บ้านได้เป็นครั้งแรก จนนำมาสู่ยุคของ “Superstar Economy” ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับ “คนดัง” ในวงการต่างๆพร้อมๆกับการลดบทบาทของ “มือสมัครเล่น” ลงอย่างรุนแรง (ถ้าคุณสามารถฟังศิลปินในดวงใจในมือถือได้ ทำไมคุณต้องเสียเงินไปฟังเพลงสดจากศิลปินธรรมดาที่คุณไม่รู้จักหละ)
3rd Thing : Barbed Wire
อเมริกันชนในยุคของประธานาธิบดี Lincoln ต่างได้รับสิทธิ์ในการตั้งถิ่นฐานของตัวเองในพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการกำหนดอาณาเขตที่ดินทำกินของตัวเองเพื่อทั้งการรักษาทรัพย์สินและป้องกันการบุกรุกของสัตว์ป่า จนสุดท้าย นักประดิษฐ์สมองใสก็สามารถคิดค้น “รั้วลวดหนาม” ที่มีความคงทนแข็งแรงและสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แถมยังไม่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยแบบรั้วไม้อีกด้วย
4th Thing : Seller Feedback
ในยุคที่มนุษย์สามารถสั่งซื้อของบนโลกออนไลน์และแบ่งปันพื้นที่ว่างของที่พักหรือที่นั่งผู้โดยสารที่ไม่มีคนใช้ให้กับ “คนแปลกหน้า” ได้อย่างมั่นใจนั้น ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้า “ความเชื่อใจ” (trust) ระหว่างมนุษย์ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่เกิดขึ้น ระบบที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาข้อนี้ให้กับธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันก็คือ “feedback system” ที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถให้คะแนนกันและกันได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้บริการคนถัดๆไปสามารถทลายความรู้สึก “ไม่เชื่อใจคนแปลกหน้า” ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
5th Thing : Google Search
การจัดการข้อมูลออนไลน์เป็นเรื่องที่วุ่นวายและไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเทพเจ้า Google ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้มอบของขวัญชิ้นโตให้กับมนุษยชาติอย่าง search engine algorithm ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์เข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว แน่นอนว่าผลิตภาพของประชากรทั่วโลกก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ว่าแต่ถ้าพระเจ้าเกิดโมโหขึ้น ใครจะช่วยมนุษย์ตัวเล็กๆอย่างพวกเรา (ตอนนี้ Google คุมตลาดอยู่ 90%)
6th Thing : Passports
ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มเล็กขนาด 15.5 cm x 10.5 cm ที่มีชื่อว่า passport จะเป็นตัวชี้ชะตากรรมของมนุษย์เชื้อชาติต่างๆว่าใครสามารถเดินทางไปที่ไหนได้บ้าง แต่เดิม passport นั้นมีเอาไว้ใช้สำหรับ “เบ่ง” ว่า “ข้าใหญ่ให้ข้าผ่านทางเข้าไป” เท่านั้น แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ประเทศต่างๆก็ได้ร่วมกันก่อตั้งระบบ passport ขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินเอาไว้ว่าหากโลกนี้ไม่มี passport และการเดินทางไปทำงานของคนทั่วโลกนั้นสามารถทำได้อย่างเสรี ขนาดเศรษฐกิจของทั้งโลกรวมกันน่าจะใหญ่กว่าปัจจุบันประมาณ 2 เท่า
Passport ของประเทศต่างๆ (ขอบคุณภาพจาก Atlas & Boots)
7th Thing : Robots
หุ่นยนต์ถูกเริ่มนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิตครั้งแรกในปี 1961 ในโรงงานรถยนต์ของ General Motors หลังจากนั้นหุ่นยนต์ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ผ่านมา หุ่นยนต์ประเภท Narrow AI สามารถเข้ามาทำงานแทน “สมอง” ของมนุษย์แบบเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ex. เล่นโกะ ตรวจจับใบหน้า หรือ ตรวจภาพเอ็กซเรย์) และแน่นอนว่าปัญหาหุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์จะต้องตามมา แต่กระนั้นการพัฒนาหุ่นยนต์ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก หุ่นยนต์ในปัจจุบันสามารถควบคุมการลงจอดของเครื่องบินได้แล้วแต่ยังไม่สามารถล้างห้องน้ำแทนมนุษย์ได้ ส่วนการพัฒนา General Artificial Intelligence ที่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้เหมือนมนุษย์นั้นก็คงต้องรอต่อไป (เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า AI จะสมบูรณ์ในอีก 20 ปี ส่วนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ก็คาดการณ์ไว้ในอีก 20 ปีเช่นกัน)
8th Thing : The Welfare State
ระบบสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นจากการเป็นระบบแจกเงินเพื่อให้ประชาชนไม่ออกมาประท้วงของรัฐบาลเยอรมันก่อนที่สหรัฐจะเริ่มนำระบบนี้มาใช้ในรูปแบบที่คล้ายๆกับปัจจุบันนั่นคือการเป็น “เบาะ” สำหรับคนที่กำลังล้ม แต่ระบบสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบันกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ อุตสาหกรรม gig economy อย่าง Uber ที่ไม่มีพนักงานประจำ การเกิดขึ้นของธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กจำนวนมาก ไปจนถึงการมาเยือนของ AI ที่กำลังจะทำให้คนตกงานมากขึ้นในเร็วๆนี้ ไม่แน่ อนาคตทุกคนอาจจะมีเงินเดือนประจำแบบฟรีๆไปเลยก็เป็นได้
9th Thing : Instant Formula
นมผงสำหรับทารกถือกำเนิดขึ้นในเยอรมันนีตั้งแต่ปี 1865 ซึ่งเจ้านวัตกรรมชิ้นนี้ก็ได้นำพาข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย ทั้งข้อดีในการเป็นนมสำหรับทารกที่ไม่มีนมแม่ (ในอดีตมีเยอะมาก) และการเปิดโอกาสให้แม่สามารถกลับมาทำงานได้เร็วขึ้น และข้อเสียอันมากมาย ตั้งแต่คุณภาพของนมผงที่ไม่เทียบเท่ากับนมแม่ (งานวิจัยพบว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่จะมี IQ ต่ำกว่าปกติ 3 จุด) และอันตรายจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน (จำข่าวสารปนเปื้อนในนมที่ประเทศจีนได้ไหม)
10th Thing : TV Dinners
นวัตกรรมที่สามารถเข้ามาปลดแอกเวลาที่สูญเสียไปอย่างมากในแต่ละวันของมนุษย์ (โดยเฉพาะผู้หญิง) ก็คือ “นวัตกรรมด้านอาหาร” ที่เข้ามาช่วยให้มนุษย์ “อิ่มได้เร็วขึ้น” โดยมีสัญลักษณ์อย่าง “TV Dinners” ที่เป็นข้าวกล่องครบเซ็ตทั้งเนื้อ แป้งและผักที่ทำให้ครอบครัวสามารถอร่อยได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในเตาอบไมโครเวฟ ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์นั้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ การทานอาหารกึ่งสำเร็จรูปไปจนถึงการออกไปทานข้าวนอกบ้านกันซะเลย (อัตราการทานอาหารนอกบ้านพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ส่วนข้อเสียของความเร็วก็คือการที่มนุสามารถเลือกทานอาหารแคลอรี่สูง เช่น เฟรนช์ฟรายส์ ได้อย่างไม่ต้องคิดมากนั่นเอง
โฆษณาข้าวอบไมโครเวฟของ TV Dinner (ขอบคุณภาพจาก Legends Revealed)
11th Thing : The Pill
นวัตกรรมที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและความเท่าเทียมทางเพศให้กับผู้หญิงมากที่สุดก็คือ “ยาคุมกำเนิด” ซึ่งแต่เดิม ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์นั้นแทบจะไม่สามารถป้องกัน “ความเสี่ยง” ของการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้เลย การประกาศใช้ยาคุมกำเนิดนั้นส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากควบคุมเป้าหมายของตัวเองได้มากขึ้นซึ่งสังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้หญิงในสายงานผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์หรือทนายความ และผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการแต่งงานช้าลงและการมีลูกที่ช้าลงเช่นกัน
12 Thing : Video Games
คอมพิวเตอร์เคยเป็น “สิ่งที่น่ากลัว” มาก่อน จนกระทั่งการเกิดขึ้นของ “วิดิโอเกมส์” ที่เข้ามาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จากงานวิจัยในปัจจุบันพบว่าประชากรโลกกว่า 500 ล้านคนใช้เวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ต่อวันมากถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่ยอมเสียเวลาอันมีค่าในการทำงานไปใช้เล่นเกมส์เพื่อสร้างความสุขให้กับตนเองแทน (แน่นอนว่าหลายๆคนก็สามารถทำงานหาเงินจากการเล่นเกมส์ได้)
Pong วิดิโอเกมแรกของโลก (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)
13 Thing : Market Research
จุดสูงสุดของยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู คือ การผลิตรถยนต์ Model T ของ Henry Ford ที่ “ลูกค้าสามารถเลือกสีอะไรก็ได้ตราบเท่าที่สีนั้นคือสีดำ” ในเวลาไล่เลี่ยกันการเกิดขึ้นของ “การวิจัยตลาด” และ “ยุคของผู้บริโภค” ก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบๆโดย Charles Coolidge Parlin บิดาแห่งการวิจัยตลาด ที่ต่อมาได้นำพาให้เกิดการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างจริงจังมากขึ้นในปัจจุบันที่โลกนี้เต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก
14 Thing : Air Conditioning
ถึงแม้มนุษย์จะยังไม่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ แต่พวกเราก็สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้น “ภายใน” ได้ เริ่มตั้งแต่ยุคเมื่อ 200 ปีก่อนที่นักธุรกิจสมองสมัยในแถบ New England ได้ริเริ่มคิดค้นอุตสาหกรรมการขายน้ำแข็งจากทะเลสาบที่เป็นที่ต้องการมายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ จนกระทั่งในปี 1902 เครื่องปรับอากาศก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย Will Carrier วิศวกรหนุ่มที่ผลิตเครื่องนี้ขึ้นมาแก้ปัญหาความชื้นในโรงพิมพ์หมึกสี่สี (ความสามารถในการลดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศเกิดขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจ) ก่อนที่เขาจะเริ่มขายเครื่อง “weather-maker” นี้ไปยังลูกค้ากลุ่มเจ้าของโรงภาพยนต์และอาคารขนาดใหญ่ที่แต่เดิมแทบจะไม่สามารถสร้างรายได้ในฤดูร้อนได้เลย เครื่องปรับอากาศเข้ามามีบทบาทต่อมนุษยชาติอย่างมากมาย ตั้งแต่ เพิ่มการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังเขตเมืองที่ร้อนขึ้น การรักษาอุณหภูมิสิ่งของต่างๆ (ตั้งแต่อาหารไปจนถึงไมโครชิป) และการเพิ่ม “ประสิทธิภาพ” ของมนุษย์ (งานวิจัยพบว่าอุณหภูมิ 18-22 องศาเซลเซียสคืออุณหภูมิที่ดีที่สุดในการทำงานของสมอง) แต่แน่นอนว่าเครื่องปรับอากาศก็ทำหน้าที่เป็นดาบสองคมที่สร้างปัญหาโลกร้อนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
15th Thing : Department Stores
ห้างสรรพสินค้าที่รวบรวม “ทุกอย่าง” ไว้ในอาคารเดียวถือกำเนิดขึ้นมาเกิน 100 ปีมาแล้วในประเทศแถบยุโรป ซึ่งห้างเหล่านี้ก็ได้นำมนุษย์เข้าสู่ยุคประสบการณ์การช็อปปิ้งรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าได้ตามใจชอบ
16th Thing : The Dynamo
กว่าที่พลังงานไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายก็ปาเข้าไปกว่า 50 ปีนับจากที่ Thomas Edison ประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรกได้สำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงจากเครื่องจักรไอน้ำไปเป็นไฟฟ้านั้นต้องใช้ทั้งต้นทุนก่อสร้างโรงงานใหม่เกือบทั้งหมดและยังต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของพนักงานที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าเดิม รวมถึงการรอต้นทุนที่ถูกลงของไฟฟ้าเองด้วย (คอมพิวเตอร์ก็พึ่งเริ่มมีบทบาทต่อผลิตภาพของโลกแบบชัดเจนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเอง)
17th Thing : The Shipping Container
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด globalization มากที่สุดไม่ใช่ “สนธิสัญญาการค้าเสรี” แต่กลับเป็นระบบขนส่งสินค้าผ่าน “ตู้คอนเทนเนอร์” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว (เริ่มได้รับความนิยมจากกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม-ขนสินค้าขากลับจากประเทศญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตอย่างสุดๆ) โดย Malcom McLean ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานของการจัดส่งสินค้าตั้งที่บรรจุในตู้ขนาด 8×8.5×40 ฟุตที่สามารถจัดการบรรจุ จัดการคลัง โหลดขึ้นเรือและขนส่งด้วยรถเทรลเลอร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (ประเมินว่าต้นทุนถูกลงกว่า 8-9 เท่า) อันนำพามาสู่ยุคของการตั้งโรงงานในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่างจีนและการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแทน แต่ข้อเสียก็มีเต็มๆตรงที่ระบบตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการจัดตั้งจนทำให้บางประเทศอย่างในทวีปแอฟริกาไม่สามารถใช้งานระบบนี้ได้ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาค่าขนส่งสูงตามมา
18th Thing : The Bar Code
บาร์โค้ดคืออีกหนึ่งนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการสินค้าที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา โดย “บาร์โค้ด” ได้เข้ามาช่วยให้การชำระเงินในร้านค้าต่างๆสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่กระนั้น เงินลงทุนที่ต้องใช้ก็สูงเหมือนกัน จนทำให้เกิดความได้เปรียบของร้านค้าขนาดใหญ่ที่ใช้ความสะดวกจากบาร์โค้ดเป็นตัวกระตุ้นให้ขยายกิจการและจำนวนสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
19th Thing : The Cold Chain
นวัตกรรมที่เข้ามาต่อยอด globalization ในห่วงโซ่อุปทานของ “อาหาร” ก็คือ “ระบบเย็น” ที่เริ่มตั้งแต่ ห้องเย็นสำหรับคนส่งทางเรือและรถบรรทุกไปจนถึงตู้เย็นในบ้านของผู้บริโภค ซึ่งระบบเย็นนี้เองคือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มความหลากหลายให้กับมื้ออาหาร (และยา) ของมนุษย์ได้อย่างดี แถมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแม่บ้านที่ไม่จำเป็นต้องออกไปจ่ายตลาดบ่อยๆอีกต่อไป
20th Thing : Tradable Debt and the Tally Stick
ชาวอังกฤษเมื่อกว่า 200 ปีก่อนได้คิดค้น “เงิน” รูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นจาก “หนี้” สิ่งประดิษฐ์นี้มีชื่อว่า Tally Stick ที่ประกอบไปด้วยกิ่งไม้พร้อมคำบันทึกการเป็นหนี้กันของคนทั้งสองฝ่ายก่อนที่กิ่งไม้จะถูกหักครึ่งเพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเจ้ากิ่งไม้ของเจ้าหนี้นั้นสามารถทำหน้าที่เป็น “เงิน” เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนได้อย่างเป็นที่ยอมรับ ในช่วงปี 1970 ที่ธนาคารของประเทศ Ireland ประกาศปิดตัวนานกว่า 6 เดือน ประชาชนชาวไอริชก็ได้สร้างเงินจากหนี้ในรูปของ “เช็ค” แทนเงินสดได้อย่างน่าทึ่ง (ยังไงก็ตามแต่ความน่าเชื่อถือของหนี้นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ)
Tally Stick (ขอบคุณภาพจาก Wikipedia)
21th Thing : Billy Bookcase
Billy Bookcase คือ ตู้หนังสือขายดีของ IKEA ที่มียอดขายรวมตลอด 40 ปีเกินกว่า 60 ล้านตู้ และเจ้าเฟอร์นิเจอร์ “ถอดประกอบได้” ชิ้นนี้ก็ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ “ประสิทธิภาพ” ที่แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่แปลกใหม่จนโลกตะลึง แต่นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการลดต้นทุนโดยที่คุณภาพของสิ่งนั้นยังคงเดิม
22th Thing : The Elevator
ระบบลิฟท์คือหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกซึ่งถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ (ระบบลูกรอก) ก่อนที่ระบบลิฟท์จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างดีในปัจจุบัน ระบบลิฟท์ร่วมยังช่วยให้การเดินทางภายในตึกสูงเสียดฟ้าสามารถทำงานได้และยังประหยัดพลังงานมากๆอีกด้วย (เทียบกับการหั่นตึกสูงออกเป็นเมืองขนาดย่อม)
23th Thing : Cuneiform
“คูนิฟอร์ม” หรือ “อักษรลิ่ม” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการ “เขียน” ของมนุษยชาติที่อารยธรรมเมโสโปเตเมียเมื่อกว่า 4,400 ปีก่อน ซึ่งตัวอักษรชนิดแรกของโลกนั้นถือกำเนิดขึ้นเพื่อใช้สร้าง “สัญญา” การกู้ยืมของระหว่างมนุษย์ อาทิ แกะและน้ำผึ้ง
ตัวอักษรคูนิฟอร์ม (ขอบคุณภาพจาก University of Oxford)
24th Thing : Public Key Cryptography
ความเป็นส่วนตัวในโลกอินเตอร์เน็ตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีระบบเข้ารหัสป้องกันข้อมูลอย่างดีที่สามารถเข้ารหัสเว็ปไซต์หรือข้อมูลต่างๆผ่านการไขกุญแจของโจทย์คณิตศาสตร์ที่ประกอบด้วยจำนวนเฉพาะขนาดใหญ่ที่ถูกนำมาคูณกัน 2 ตัว ซึ่งคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันนั้นจะต้องใช้เวลาและกำลังมหาศาลในการถอดรหัสชนิดที่ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากผู้ไขรหัสไม่รู้ตัวเลขจำนวนเฉพาะเหล่านั้น (ยกเว้น ความเร็วระดับควอนตัมคอมพิวเตอร์ในอนาคต)
25th Thing : Double-Entry Bookkeeping
ระบบบัญชี double-entry (บันทึกข้อมูล transaction ผ่าน 2 บัญชีที่ต้องมีความสมดุลกัน) ที่มนุษย์ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นถูกคิดค้นมาได้กว่า 700 ปีแล้ว และระบบนี้เองที่กลายมาเป็นโครงกระดูกหลักที่ช่วยให้องค์กรสามารถประกอบธุรกิจที่มีความซับซ้อนสูงได้
26th Thing : Limited Liability Company
ระบบบริษัทสมัยใหม่ที่แยก “เจ้าของ” ออกจาก “องค์กร” ถือกำเนิดขึ้นมาได้กว่า 400 ปีแล้วที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งระบบนี้เองถือเป็นกำลังหลักในการสร้างแรงจูงใจให้มนุษย์หันมาสร้างธุรกิจและนวัตกรรมมากขึ้นโดยมีความเสี่ยงที่จำกัด (ขาดทุนอย่างมากก็เสียแค่เงินส่วนที่ลงทุนไป) และนี่เองคือ “พื้นฐาน” ของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ (และปัจจุบันดูเหมือนบริษัทขนาดใหญ่จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองโลกมากขึ้นเรื่อยๆ)
27th Thing : Management Consulting
จุดเริ่มต้นของวงการที่ปรึกษาธุรกิจเกิดขึ้นในปี 1922 หลังจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาวของ James McKinsey ที่ต่อมาได้ก่อตั้งบริษัท McKinsey & Company ขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะผู้บริหารของบริษัทต่างๆ และในปัจจุบันมูลค่าของอุตสาหกรรม consulting นั้นก็ทะลุหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อย (ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะมีคำถามคาใจว่าพวกที่ปรึกษานั้นเอาจริงๆมีประโยชน์และคุ้มค่าจ้างมากน้อยแค่ไหน)
28th Thing : Intellectual Property
กฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้นเปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ที่หากไม่มีการป้องกันเลยก็อาจส่งกระทบต่อแรงจูงใจของนักนวัตกรรม ส่วนการปกป้องที่ยาวนานเกินไปนั้นสามารถสร้างการผูกขาดทางการตลาดและการหยุดนิ่งของพัฒนาการได้ (Tesla เปิดให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยความเชื่อที่คิดว่ากลยุทธ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาวมากกว่า)
29th Thing : The Compiler
คอมพิวเตอร์ในยุคแรกเริ่มนั้นประกอบไปด้วยสายไฟและสวิทซ์จำนวนมหาศาลที่ทำหน้าที่กำหนดกระแสไฟฟ้าให้กับหน่วยย่อยของคอมพิวเตอร์ (transistor) ขณะที่คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันนั้นมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาก (ถ้าเอาโค้ด 0/1 ของ Windows มาเขียนลงในกระดาษ A4 ทั้งหมดจะหนาประมาณ 4 กิโลเมตร) ทั้งนี้ก็เพราะนักประดิษฐ์หญิง Grace Hopper สามารถคิดค้น Compiler ซึ่งเป็นโปรแกรมในการแปลงภาษาคอมพิวเตอร์ อาทิ 01110101001 ให้กลายมาเป็นภาษาที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
Grace Hopper กับคอมพิวเตอร์สมัยก่อน (ขอบคุณภาพจาก The Business Journals)
30th Thing : The iPhone
ในปี 2007 ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างกำไรได้มากที่สุดในโลกอย่าง iPhone ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ Steve Jobs และ Apple ที่เข้ามาสร้างตลาด “สมาร์ตโฟน” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ iPhone และญาติๆนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง อาทิ อินเตอร์เน็ต จีพีเอส แบตเตอรี ไมโครชิปส์และหน้าจอสัมผัส ไม่ได้ถูกคิดค้นและสนับสนุนโดยรัฐบาล (ส่วนใหญ่คือรัฐบาลสหรัฐ)
Steve Jobs เปิดตัว iPhone (ขอบคุณภาพจาก Financial Times)
31th Thing : Diesel Engine
Rudolf Diesel คือ นักประดิษฐ์เครื่องยนต์สันดาปทรามีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องยนต์เบนซินเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซลนี้เองคือกลไกสำคัญในการพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศทางเรือและยังสามารถใช้งานกับน้ำมันหนัก (ที่ต่อมาเรียกว่าน้ำมันดีเซล) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
32th Thing : Clocks
ในสมัยโบราณ มนุษย์สามารถคำนวณเวลา วัน เดือน ปี ได้จากการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ก่อนที่พวกเราจะค้นพบว่าโลกไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลซะอีก ต่อมามนุษย์ก็ได้เริ่มที่จะคิดค้นเครื่องมือที่ใช้ในการบอกเวลาได้อย่างแม่นยำมากขึ้นสำหรับใช้งานในการบอกตำแหน่งทิศทางการเดินเรือที่ต้องอาศัยความแม่นยำเป็นอย่างมาก “นาฬิกา” ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันนาฬิกาที่แม่นยำที่สุดคือนาฬิกาอะตอมมิกที่ใช้การแช่แข็งและการเคลื่อนที่จองอะตอมของธาตุต่างๆเป็นตัวกำหนดเวลา ซึ่งนาฬิกาอะตอมมิกนี้ได้ถูกใช้งานในการเป็นนาฬิกาบอกเวลามาตรฐานกลางของโลก (UTC) และยังถูกบรรจุไว้ในดาวเทียมสำหรับส่งสัญญาณคำนวณพิกัด GPS อีกด้วย
33th Thing : The Haber-Bosch Process
นอกจากบทบาทการเป็นนักประดิษฐ์อาวุธเคมีของ Fritz Haber ให้กับกองทัพเยอรมันนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว เขายังได้คิดค้นกรรมวิธีในการตรึงแก๊สไนโตรเจนจากอากาศมาใช้ผลิตเป็นปุ๋ยเคมีได้สำเร็จ ซึ่งปุ๋ยเคมีนี้เองได้เข้ามาเติมเต็มอาหารให้กับคนทั่วโลกและเป็นตัวจุดประกายการเพิ่มจำนวนของประชากรในอัตราที่สูงขึ้น ส่วนผลเสียที่ตามมาก็คือแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและใช้งานปุ๋ยชนิดนี้
แผนภาพ The Haber-Bosch Process (ขอบคุณภาพจาก Phys.org)
34th Thing : Radar
จากการพยายามคิดค้นรังสีสังหารมนุษย์ Death Ray ของสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็น “เรดาร์” เทคโนโลยีตรวจจับเครื่องบินในระยะไกลกว่าที่สายตายะมองเห็นได้ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรและการจราจรทางอากาศของโลกในปัจจุบัน (เรดาร์ทำให้ท้องฟ้าสามารถมีเครื่องบินจำนวนมากขึ้นได้หลายเท่าตัวเลยทีเดียว)
35th Thing : Batteries
เมื่อ 200 กว่าปีก่อน Alexandro Volta สามารถประดิษฐ์ “แบตเตอรี่” ที่ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิดแรกได้สำเร็จ จากนั้นแบตเตอรี่ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากของเหลว เป็นแบบแห้ง จนมาเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (คิดค้นโดย Sony) ที่มีขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน และในอนาคตการพัฒนา “แบตเตอรี่” ให้มีราคาถูกลงจะเป็นตัวจุดประกายการใช้งานพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ
36th Thing : Plastic
ในปี 1907 นักประดิษฐ์นามว่า Leo Baekeland ได้ให้กำเนิดวัตถุดิบสังเคราะห์ชนิดใหม่จากปิโตรเลียมที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆของมนุษย์อย่างมากนั่นก็คือ “พลาสติก” วัตถุดิบที่มีทั้งความทนทาน กันไฟ สวยงามและราคาประหยัด ซึ่งในอนาคตปัญหา “พลาสติก” ล้นโลกก็ำลังจะได้รับการแก้ไขมากขึ้นเรื่อยๆทั้งจากเทคโนโลยีการรีไซเคิล นวัตกรรมพลาสติกชนิดใหม่และกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม
37th Thing : The Bank
ระบบธนาคารนั้นถือกำเนิดขึ้นมากว่าพันปีแล้วตั้งแต่ระบบการฝากเงินตามหัวเมืองต่างๆของจีนมนสมัยราชวงศ์ถัง ธนาคารของอัศวินเทมพลาร์ ไปจนถึงสมาคมพ่อค้าหนี้ในอิตาลี ซึ่งถึงแม้ระบบธนาคารจะเข้ามาช่วยเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการฝากและกู้ยืมเงินพร้อมกับการสร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจต่างๆ ปัจจุบันธนาคารขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มเชื่อมต่อถึงกันผ่านระบบหนี้ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นย่อมไม่เป็นผลดีต่อโลกแน่นอนหากระบบขนาดใหญ่นี้ล้มลง
38th Thing : Razors and Blades
King Camp Gillette เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ชั้นยอดอย่าง “ที่โกนหนวด” พร้อม “มีดโกนแบบเปลี่ยนได้” คือผู้จุดประกายโมเดลธุรกิจการขายสินค้าแบบ 2 Parts Pricing อาทิ การขายเครื่องเล่นเกม PlayStation ในราคาขาดทุนเพื่อเอากำไรจากแผ่นเกมส์ หรือ การขายเครื่องทำการแฟ Nespresso พร้อมด้วยกาแฟแคปซูลกำไรสูง ความสำเร็จของกลยุทธ์การขายนี้นั้นเกิดจากสร้าง switching cost ที่สูงเพื่อบังคับให้ผู้ใช้งานยังคงเลือกใช้สินค้าของบริษัทต่อไป
มีดโกน Gillette รุ่นแรกๆ (ขอบคุณภาพจาก The Week)
39th Thing : Tax Havens
ในยุคที่โลกเข้าสู่ Globalization อย่างเต็มตัว องค์กรนานาชาติขนาดใหญ่ต่างพากันหา “ช่องว่าง” ทางกฎหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางภาษีให้มากที่สุด อันเป็นที่มาของ Tax Havens หรือกลุ่มประเทศฐานภาษีต่ำที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงเกาะเล็กๆที่ต้องการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น (ผ่านงานบัญชีและกฎหมาย) ซึ่งหมายความว่าเงินจำนวนมากของบริษัทข้ามชาติอาจไม่ได้ถูกหักภาษีเท่าที่ควร ส่วนสาเหตุที่ปัญหานี้ยังคงมีอยู่น่าจะเกิดจาก “ความซับซ้อนของระบบ” และ “ผลประโยชน์ของนักกฎหมาย” ที่ยังแก้กันไม่ได้ซักที
40th Thing : Leaded Petrol
ถึงแม้น้ำมันผสมสารตะกั่วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี แต่ผลร้ายที่ตามมานั้นรุนแรงนักทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ร่างกาย รวมไปถึงจิตใจของมนุษย์ ขนาดที่งานวิจัยหนึ่งตรวจพบว่าสารตะกั่วเป็นปัจจัยฟลักที่ส่งผลให้มนุษย์มีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมที่สูงขึ้น
41th Thing : Antibiotics in Farming
ยาปฏิชีวนะคือนวัตกรรมที่สำคัญในวงการแพทย์และการเกษตรกรรม แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ “การดื้อยา” ของเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเกิดขึ้นได้หากเชื้อได้รับยาในปริมาณที่ไม่รุนแรงมากพอ (ส่วนใหญ่เกิดในฟาร์มปศุสัตว์ที่ชาวนามักเลือกฉีดยาให้สัตว์ทุกตัวโดยไม่จำเป็น) นี่คือหนึ่งในกรณีศึกษาของ tragedy of the commons หรือ ปัญหาที่เกิดจากการพยายามสร้างผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่ได้พิจารณาผลประโยชน์โดยรวมของมนุษย์
42th Thing : M-Pesa
ในประเทศที่ระบบการเงินนั้นห่วยแตกและเข้าไม่ถึงคนรากหญ้าอย่างประเทศ Kenya กลับกลายเป็นจุดกำเนิดของสังคมการเงินผ่านมือถือ mobile banking ที่ทั้งธุรกรรมฝาก ถอน โอน ซื้อขาย สามารถจัดการได้อย่างเสร็จสรรพเพียงไม่กี่คลิก ซึ่งแน่นอนว่า mobile banking อย่างระบบ M-Pesa ที่กำลังเติบโตในประเทศกำลังพัฒนานั้นจะช่วยสร้างความสะดวกและปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานพร้อมๆกับการบันทึกรายได้เพื่อนำไปใช้หักภาษีให้กับรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (การพยายามหนีภาษีคือกำแพงสำคัญของระบบการเงินออนไลน์)
จุดให้บริการ M-PESA ที่ประเทศเคนย่า (ขอบคุณภาพจาก World Remit)
43th Thing : Property Registers
“สิทธิในการครอบครอบที่ดินและทรัพย์สิน” คือสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่ช่วยเอื้อให้เกิด “ความทะเยอทะยาน” ของประชาชนในการสร้างฐานะของตัวเองและเพิ่มอัตราการใช้งานทรัพย์สินให้เป็นประโยชน์ (ผลิตภาพทางการเกษตรของจีนในยุคของเหมาเจ๋อตุงต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นถึง 5 เท่า)
44th Thing : Paper
สิ่งประดิษฐ์ที่อยู่เบื้องหลังเครื่องพิมพ์ Gutenberg (เครื่องพิมพ์หนังสือที่จุดประกายยุคของการเผยแพร่ความรู้ในทวีปยุโรป) ก็คือ “กระดาษ” ซึ่งถูกคิดค้นโดยชาวจีนเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน ปัจจุบันกระดาษถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้ง หนังสือ จดหมาย กล่องพัสดุ ทิชชู่ ถุงชาและรูปถ่าย ถึงแม้ว่าแนวโน้มการใช้งานกระดาษของโลกจะเริ่มถดถอยลงจากการมาถึงของยุคดิจิตอล แต่กระดาษก็ยังคงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่จะอยู่คู่กับมนุษยชาติไปอีกนาน
45th Thing : Index Fund
ในโลกของการลงทุน กองทุนส่วนใหญ่นั้นแทบจะไม่สามารถ “เอาชนะ” ตลาดได้เลยในระยะยาว (ผลตอบแทนถูกหักด้วยค่าบริหารกองทุน) จึงไม่แปลกที่ Warren Buffett ถึงตัดสินใจเขียนจดหมายเทคนิคการลงทุนให้กับภรรยาของเขาไว้ง่ายๆว่าให้เธอเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในกองทุน Index Fund หรือ กองทุนที่ดำเนินการลงทุนตามดัชนีของตลาดหุ้นอย่างแพร่หลายที่ถึงแม้กำไรจะไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ แต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนที่ต่ำก็ส่งผลให้กำไรของกองทุนธรรมดาๆนี้ดีกว่ากองทุนส่วนใหญ่เลยทีเดียว (สังเกตได้จากกองทุนทั่วโลกที่มี Index fund มากถึง 40%)
46th Thing : The S-Bend
ระบบท่อระบาย “ของเสีย” แบบโค้งที่ใช้น้ำเป็นตัวป้องกัน “กลิ่น” อันไม่พึงประสงค์นั้นคือนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมสาธารณสุขให้กับสังคมมนุษย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม แต่กว่าระบบการบริหารของเสียผ่านระบบท่อน้ำจะได้รับความนิยม เมืองลอนดอนก็ต้องเจอปรากฎการณ์ Great Stink ที่แม่น้ำเทมส์ส่งกลิ่นเหม็นเน่ามาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการสร้างระบบระบายของเสียที่ดีนั้นเป็นการลดปัญหาของตัวผู้สร้างเอง แต่ถ้าสังคมส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะทิ้งของเสียตามที่สาธารณะอยู่ ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไปและยังเป็นการสนับสนุนให้คนในสังคมไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอีก (ลอนดอนแก้ปัญหาได้เร็วเพราะกลิ่นของเสียเหม็นเน่าเข้าจู่โจมสภาแบบเต็มๆ) และนี่คือสาเหตุหลักที่ปัจจุบันทั่วโลกนั้นยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขที่ดี (เทียบแล้วคนยังเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้มากกว่าอีก)
47th Thing : Paper Money
เงินตราในช่วงแรกเริ่มนั้นอยู่ในรูปของโลหะสีแวววาวอย่างทองคำและเงิน จนกระทั่งชาวจีนได้ริเริ่มคิดค้น “เงิน” ที่มีความสะดวกมากขึ้นสำหรับการใช้จ่ายนั่นก็คือ เงินกระดาษ (ที่เอาจริงๆคือทำจากเปลือกไม้) ที่เป็นเสมือนสัญญาหนี้ที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินโลหะได้ ซึ่งปัจจุบันเงินก็ได้เกิดการเปลี่ยนรูปอีกครั้งเข้าสู่ยุคของเงินดิจิตอลที่การพิมพ์เงินระดับล้านล้านเหรียญทำได้ด้วยการคลิกไม่กี่ครั้งเท่านั้น
ธนบัตรโบราณรุ่นแรกๆของประเทศจีน (ขอบคุณภาพจาก History Stack Exchange)
48th Thing : Concrete
“คอนกรีต” คือวัตถุดิบสำหรับงานก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมาหลายพันปีแล้ว ทั้งจากความคงทนแข็งแรงและต้นทุนที่ไม่ได้สูงมาก ซึ่งในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา คอนกรีตก็ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ คอนกรีตเสริมเหล็ก (นักประดิษฐ์บังเอิญพบว่าอัตราการขยายตัวจองเหล็กและคอนกรีตในความร้อนนั้นเท่ากัน) และคอนกรีตผสมแบคทีเรียที่ช่วยอุดรอยรั่วภายในได้ คอนกรีตยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนได้อีกด้วย (ทำความสะอาดง่ายและทำให้บ้านหรือถนนใช้งานได้ดีขึ้น)
49th Thing : Insurance
การประกันนั้นเกิดขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งงานวิจัยได้ค้นพบว่า “ประกัน” คือ ปัจจัยสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง (ทำให้คนกล้าลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงมากขึ้น) แต่ปัจจุบัน ระบบประกันนั้นเริ่มใกล้เคียงกับ “การพนัน” เข้าไปทุกทีโดยเฉพาะในภาคการเงินที่สถาบันต่างๆแห่ “พนัน” ตราสารอนุพันธ์มูลค่าสูงกันเป็นจำนวนมาก
50th Thing : The Light Bulb
ไม่แปลกเลยที่ “หลอดไฟ” จะสามารถกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “นวัตกรรม” ได้ ในสมัยก่อนกิจวัตรประจำวันของมนุษย์นั้นถูกกำหนดด้วย “แสงสว่าง” จากดวงอาทิตย์ จนกระทั่งมีผู้คิดค้นอุปกรณ์ผู้ผลิตแสงสว่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ เทียนไข พาราฟิน ตะเกียงน้ำมัน จนกระทั่ง Thomas Edison สามารถประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรกได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นหลอดไฟก็ยังได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่ยุคหลอดไฟ LED ประหยัดพลังงานในปัจจุบัน การพัฒนานวัตกรรมของแสงสว่างนั้นเริ่มต้นจากการเป็น “ของราคาแพง” ที่น้อยคนจะยอมเสียเงินซื้อจนกลายมาเป็นหลอดไฟราคาประหยัดประสิทธิภาพสูงที่แทบจะไม่มีคนสนใจมันอีกต่อไป
Thomas Edison (ขอบคุณภาพจาก Tree Hugger)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
Leave a Reply