Categories: BooksNon-fictions

[สรุปหนังสือ] The New Case for Gold

 

 

The New Case for Gold (2016)
by James Rickards

 

“The confidence of the entire global financial system rests on the U.S. dollar. Confidence in the dollar rests on the solvency of the Fed’s balance sheet. And that solvency rests on a thin sliver of . . . gold.”

 

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายคนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ทองคำ คือ “สิ่งล้าสมัย” และไม่มีทางที่ยุคแห่ง “มาตรฐานทองคำ” จะกลับมาอีกครั้งในโลกสมัยใหม่ที่ทุกอย่างกำลังถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล

James Rickards เจ้าของหนังสือการเงินขายดีอย่าง Currency Wars และ The Death of Money ได้ออกมาประกาศกร้าวว่า “ทองคำ” นั้นคือ “เงิน” และทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาความร่ำรวยในอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนข้างหน้า เขากล้าที่จะทำนายว่า ในอนาคตมนุษย์จะกลับมาพึ่งพิงกับทองคำและมาตรฐานทองคำอีกครั้ง ติดตามความคิดของเขาต่อได้ในสรุปหนังสือ The New Case for Gold ได้เลยครับ

 

James Rickards ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินโลก (ขอบคุณภาพจาก Physical Gold Fund)

 

ความเชื่อผิดๆของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อทองคำในมุมมองของ James Rickards ประกอบด้วย

  1. “ทองคำคือสิ่งล้าสมัย (Gold is a barbarous relic)” > ประโยคนี้เป็นการคัดลอกคำพูดที่ผิดๆของ John Maynard Keynes ที่จริงๆแล้วเขากล่าวถึงระบบมาตรฐานทองคำของประเทศอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ผูกค่าเงินปอนด์กับทองคำด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงเกินไปจนนำพามาสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
  2. “ทองคำเป็นจุดกำเนิดของ The Great Depression” > ความคิดนี้ผิดมหันต์ สาเหตุของภาวะเศรษฐกิจซบเซาครั้งใหญ่นั้นเกิดจากนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่กล้าให้กู้และลงทุน
  3. “ทองคำนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอในการสนับสนุนเศรษฐกิจในปัจจุบัน” > จริงๆแล้วสิ่งที่ไม่เพียงพอคือมูลค่าของทองคำที่อยู่ในภาวะ undervalued และหากมาตรฐานทองคำกลับคืนมา มูลค่าของมันจะพุ่งสูงขึ้นอีกหลายสิบเท่าตามปริมาณเงินที่ไหลเวียนทั้งหมดของโลก
  4. “การเติบโตของปริมาณทองคำไม่เพียงพอต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ” > ในช่วงปี 2009 ถึง 2014 ทองคำนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.6% แต่ GDP นั้นเติบโตประมาณ 2.9% ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดอ่อนๆซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการกวาดซื้อทองคำในภาคเอกชนที่มีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% … การเกิดเงินฝืดอ่อนๆก็ยังดีกว่าการที่ปริมาณเงินสำรองของสหรัฐนั้นเติบโตกว่าปีละ 22.5%
  5. “ทองคำไม่มีการปันผล” > ถูกต้อง เพราะทองคำคือ “เงิน” และทองคำไม่มีความเสี่ยง ตรงข้ามกับสินทรัพย์ต่างๆที่ถึงแม้จะมีการปันผลที่ดี แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่คู่กันเสมอ
  6. “ทองคำไม่มีมูลค่าที่แท้จริง” > ทองคำคือ “เงิน” ดังนั้นมูลค่าของทองคำจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้ใช้เงินไม่แตกต่างจากความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินต่างๆ … ถ้าทองคำไม่มีมูลค่าจริงๆ เหตุใดรัฐบาลทั่วโลกถึงต้องสร้างโกดังที่ได้รับการคุ้มครองอย่างแน่นหนาเพื่อเก็บสิ่งของไร้ค่าเหล่านี้

 

Chapter 1: Gold and the FED

งบการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED นั้นบ่งบอกว่า  FED มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนี้สินถึง 4.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐและส่วนของทุนเพียง 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น … ทรัพย์สินเกือบครึ่งของ FED คือพันธบัตรรัฐบาลซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น งบการเงินของ FED อาจจะติดลบและอยู่ในสภาวะล้มละลายได้ … แต่ลองเจาะข้อมูลลึกๆลงไปอีก จะพบว่า FED นั้นมีเอกสารสัญญาทองคำที่กระทรวงการคลังออกให้ FED หลังจากนโยบายยึดทองคำทั่วประเทศมาเก็บไว้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ซึ่งสัญญาทองคำนี้ถือเป็นทรัพย์สินแฝงที่หากปรับมูลค่าทองคำกับราคาตลาดปัจจุบันแล้วจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นกว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ … สถานะการเงินและความน่าเชื่อถือของ FED และเงินดอลลาร์นั้นขึ้นอยู่กับทองคำล้วนๆ

 

Ford Know ศูนย์กักเก็บทองคำลับสุดยอดของอเมริกา (ขอบคุณภาพจาก Documentary Tube)

 

Chapter 2: Gold is Money

มนุษย์ไม่ได้หลงใหลในตัวของทองคำเพราะสีสันอันสดใสแวววาว แต่เพราะมนุษย์มองเห็นว่าทองคำ คือ “เงิน”

งานวิจัยฉบับหนึ่งได้พิจารณาธาตุทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกมนุษย์ว่า ธาตุชนิดไหนบ้างที่เหมาะแก่การถูกนำมาใช้เป็นเงิน หลังจากตัดธาตุที่มีคุณสมบัติเป็นของเหลวหรือก๊าซในอุณหภูมิห้อง ธาตุที่ละลายง่าย ธาตุที่เป็นกัมมันตรังสี ธาตุที่ผุกร่อนได้ง่ายและธาตุที่อ่อนเกินไปออกจนหมด จะเหลือเพียงธาตุโลหะหายากประมาณ 10 ชนิดเท่านั้น และมีเพียง 2 ชนิดที่มีปริมาณมากเพียงพอที่คนในสมัยโบราณจะนำมาใช้งานได้ นั่นคือ “เงิน” และ “ทองคำ” ซึ่งในธาตุโลหะทั้งหมด มีเพียงทองคำเท่านั้นที่มีสีสันสดใสสะท้อนแสงและทนทานต่อสภาพแวดล้อมทุกด้าน … เวลาผ่านไปจะกี่ปี ทองคำยังไงก็ยังเป็นทองคำ

หลายคนอาจจะมองว่าทองคำคือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่แท้จริงแล้วทองคำนั้นแทบไม่มีประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมเลย ส่วนทองคำในรูปแบบเครื่องประดับนั้นจริงๆก็เป็นเสมือนกับรูปแบบในการเก็บรักษามูลค่าของทองคำเท่านั้น ราคาตลาดของทองคำนั้นก็ยังมีความเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป

ทองคำที่สมบูรณ์นั้นต้องเป็นทองคำที่อยู่ในรูปของโลหะกายภาพที่จับต้องได้ ไม่ใช่ทองคำในลักษณะของสัญญาซื้อขายหรือรูปแบบดิจิตอลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียได้ตลอดเวลา หากเกิดภาวะวิกฤติครั้งใหญ่ทำให้เงินสูญเสียมูลค่าหรือเหตุการณ์ที่ธนาคารยกเลิกการถอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆออกจากระบบ ทองคำที่เรามีอยู่ในมือนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่นำมาซึ่งการปฏิรูประบบการเงินโลกใหม่นั้นจะเกิดขึ้นประมาณทุกๆ 30 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์วิกฤติช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงปี 1914 ที่จบลงด้วยระบบมาตรฐานทองคำแบบใหม่ … วิกฤติ The Great Depression ที่จบลงด้วยสัญญา Bretton Woods ในปี 1944… และวิกฤติเงินเฟ้อหลังจากเหตุการณ์ Nixon Shock ในปี 1971 ที่ได้รับการแก้ไขด้วยนโยบายขึ้นดอกเบี้ยเป็น 20% ของ FED และนโยบายลดภาษีของ Ronald Reagan ในปี 1981 จนนำมาซึ่งความเป็นใหญ่ของดอลลาร์ (Dollar Standard) ในตลาดโลก

หน้าที่ปัจจุบันของ IMF คือการให้กู้ยืมแก่ประเทศที่ประสบปัญหาต่างๆผ่านอำนาจตัดสินใจที่ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มประเทศ G20 และเงินที่ IMF ใช้ในปัจจุบันนั้นคือ Special Drawing Right (SDR) ซึ่งผูกค่าเงินกับตะกร้าสกลุเงินหลายๆสกุลตามสัดส่วนที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามมูลค่าและความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ … หากความเชื่อมั่นในสกุลเงินเหล่านี้สูญเสียไป ชะตากรรมของ SDR ก็คงไม่แตกต่างกัน

หากระบบการเงินเดิมจะล่มสลายจริงๆ อำนาจต่อรองของแต่ละประเทศคงตกมาอยู่ที่ปริมาณทองคำที่แต่ละประเทศเก็บไว้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เร็วๆนี้ ระบอบการเงินใหม่นั้นคงต้องอยู่ภายใต้อำนาจของอเมริกา เยอรมนี จีนและรัสเซียแน่นอน ส่วนประเทศที่มีทองคำในปริมาณน้อยอย่างญี่ปุ่น อังกฤษและแคนาดานั้นน่าจะต้องยอมรับชะตากรรมกับฐานะที่ตกต่ำลงอย่างไม่สามารถทำอะไรได้

 

Chapter 3: Gold is Insurance

ทองคำไม่ใช่ทั้งการลงทุน สินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์บนกระดาษหรือในโลกดิจิตอล ทองคำคือแร่ธาตุบริสุทธิ์ … เรียบง่าย … ซึ่งตรงข้ามกับสภาวะของโลกการเงินที่ปัจจุบันยิ่งมีความซับซ้อน (Complex) มากขึ้นเรื่อยๆ … แน่นอนว่าสินทรัพย์เรียบง่ายแบบทองนั้นถือเป็นการประกันมูลค่าชั้นดี

สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของโลกนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Complexity ที่พูดถึงสาเหตุของเหตุการณ์วิกฤติที่ไม่สามารถคาดการได้ (emergent property) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมของระบบอยู่ในสภาวะเสี่ยง (critical state) … เปรียบเสมือนเหตุการณ์หิมะถล่มที่จะเกิดขึ้นเมื่อหิมะก้อนใหม่ไหลลงมาทับถมกันเรื่อยๆจนไถลลงมาบริเวณพื้นที่ด้านล่างในที่สุด … การป้องกันเหตุการณ์วิกฤติในระบบ complex นั้นสามารถทำได้โดยการลดความซับซ้อนหรือขนาดของระบบลง เช่น การระเบิดกองหิมะบนยอดเขาก่อนเปิดให้นักสกีเข้ามาเล่นสกีได้

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเงินนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของ GDP สหรัฐ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆสำหรับอุตสาหกรรมที่ทำหน้าที่เพียงแค่ “ช่วย” อุตสาหกรรมอื่นๆโดยไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรเพิ่มเติมให้กับประเทศ

วงการเงินในโลกปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันสูงมาก ตั้งแต่ การออกสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูง (pseudo money) เช่น derivatives, option และ swap การที่ธนาคารขนาดใหญ่ซื้อขายสินทรัพย์ระหว่างกันและการเปิดการซื้อขายเสรีระหว่างประเทศจากเทคโนโลยีที่นับวันยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ … เหตุการณ์ Subprime crisis นั้นส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งๆที่สินทรัพย์หลายๆตัวไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลยด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุของเหตุการณ์เทขายครั้งรุนแรงนั้นเกิดจากสภาพคล่องของธนาคารและกองทุนต่างๆที่ไม่สามารถขาย Mortgage-backed security ได้ เลยจำเป็นต้องเทขายสินค้าอื่นๆเพื่อเก็บรักษาเงินสด

การทำลายความซับซ้อนของโลกการเงินปัจจุบันนั้นทำได้โดยการแบนสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนสูง (pseudo money) และการลดขนาดของธนาคารใหญ่ๆลงเพื่อลดผลกระทบหากธนาคารเหล่านั้นล้มเหมือน Lehman Brothers

The Federal Reserve หรือ FED นั้นแบ่งย่อยออกเป็นธนาคารกลางในกว่า 12 เมืองใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐซึ่งทั้งหมดนั้นมีธนาคารเอกชนเป็นเจ้าของ โดยที่กรรมการทั้งหมดของ FED นั้นถูกแต่งตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีและรัฐบาล

หน้าที่หลักของ FED คือการควบคุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยกระบวนการ open-market operation หรือการซื้อขายพันธบัตรเพื่อลดหรือเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ … Ben Bernanke อดีตประธาน FED ได้ริเริ่มนโยบาย quantitative easing (QE) หรือ การพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อนำมาซื้อพันธบัตรระยะยาวจากธนาคารต่างๆเพื่อเพิ่มปริมาณเงินและลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวโดยมีจุดประสงค์คือการกระตุ้นให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หุ้นและอสังหาริมทรัพย์แทน … FED ยังสามารถกำหนด forward guidance ที่ระบุนโยบายอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในอนาคตได้โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลง … ทั้งนี้ FED มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายมาแล้วทั้งหมด 15 ครั้งในระยะเวลาเพียง 8 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่กระทบกับความน่าเชื่อถือของ FED

ทั้งนี้นโยบายของ FED ในปัจจุบันนั้น มุ่งเน้นไปยังการสร้างภาวะเงินเฟ้อเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาหนี้ของประชาชน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนสินค้าลดลงและการลดลงของจำนวนประชากร … สหรัฐอเมริกานั้นมีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมาก หากภาวะเงินเฟ้อถือกำเนิดขึ้น ประเทศจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ในประเทศก็จะไม่สามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น มูลค่าสินค้าถูกลงและส่งผลให้คนยิ่งใช้จ่ายน้อยลงไปเรื่อยๆ

ทองคำคือสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าได้ดีที่สุดทั้งในภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด … ในภาวะเงินเฟ้อ ทองคำจะมีมูลค่าสูงขึ้นเทียบกับเงินสกุลต่างๆที่มีมูลค่าลดลง ภาวะเงินเฟ้อครั้งรุนแรงของสหรัฐในปีช่วงปี 1970s ทองคำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 34 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นถึง 800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในไม่ถึง 10 ปี … ส่วนในภาวะเงินฝืดนั้น ประเทศต่างๆจะทำการสร้าง “เงินเฟ้อ” มาต่อสู้กับเงินฝืด โดยการลดมูลค่าของเงินที่ได้ผลที่สุดในอดีตที่ผ่านมาคือการลดมูลค่าเงินต่อทองคำ เมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้น สินค้าอื่นๆก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ในช่วงปลายของ The Great Depression ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ลดมูลค่าของเงินดอลลาร์ด้วยการเพิ่มราคาทองคำจาก 20.67 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็น 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

Chapter 4: Gold is Constant

ทองคำมีมูลค่าคงที่เสมอ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาคือมูลค่าของสกุลเงินต่างๆที่ทำให้ “ราคา” ของทองคำมีความผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและการเก็งกำไร

สถานการณ์ของราคาทองคำโลกในปัจจุบันนั้นแปรตามปริมาณการซื้อขายของทองคำทั่วโลก … ณ ปัจจุบัน ความต้องการทองคำของรัฐบาลประเทศต่างๆนั้นพุ่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเทศจีน รัสเซีย อิหร่านและอีกมากมาย เริ่มกักเก็บทองคำอย่างหนัก เรียกว่าทองคำที่เหมืองทองผลิตได้นั้นถูกจองล่วงหน้าจนไม่พอขายตลอดเวลา

ถึงกระนั้น ราคาทองคำนั้นกลับไม่พุ่งสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการคงที่ของราคาทองคำหลักๆมีอยู่ 2 ปัจจัย

ข้อแรกคือ Paper Gold หรือตลาดของทองคำในลักษณะสัญญานานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น กองทุนทองคำ โกลด์ฟิวเจอร์ การซื้อทองแบบฝากไว้กับธนาคารและอีกมากมายที่ทำให้นักลงทุนสามารถ leverage ปริมาณทองคำที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ … ทั้งนี้ ทองคำก้อนจริงๆในตลาดนั้นกำลังลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศต่างๆได้กว้านซื้อทองคำไปเก็บในตู้เซฟของตัวเอง และในอนาคตอันใกล้นี้ อาจเกิดเหตุการณ์ทองคำขาดตลาดที่นำมาสู่การด้อยค่าของ Paper Gold ได้ในที่สุด

ข้อที่สองคือ Gold Manipulation หรือการเข้าแทรกแซงราคาทองคำอย่างต่อเนื่องของนานาชาติไม่ว่าจะเป็นการเทขายทองคำก้อนในตลาดและการชอร์ต paper gold อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเทขายทองคำของนักลงทุนและกองทุนต่างๆที่ตั้งจุด stop loss ไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาระดับราคาทองคำให้ไม่สูงจนเกินไป เช่น การเทขายทองคำของ IMF ในปี 2010

2 ประเทศที่มีความประสงค์ในการกดดันราคาทองให้ต่ำในปัจจุบันคืออเมริกาและจีน โดยจีนนั้นต้องการที่จะสะสมทองให้มีปริมาณมากพอเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศและเป็นการ hedge กับเงินสำรองส่วนใหญ่ที่อยู่ในรูปของพันธบัตรสหรัฐ ส่วนสหรัฐก็ต้องการให้จีนสะสมทองให้ได้มากพอก่อนที่เงินเฟ้อครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นและส่งผลให้จีนเทขายพันธบัตรสหรัฐ … เมื่อสองประเทศบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ทองคำก็จะเข้าสู่ยุคก้าวกระโดด

 

Chapter 5: Gold is Resilient

ทองคำได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าไม่ว่าจะผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง มูลค่าของทองคำก็ยังยืนหยัดและเติบโตขึ้นเรื่อยๆอย่างเสมอๆ และทองคำก็จะยังคงความ “ยืดหยุ่น” แบบนี้ต่อไปไม่ว่าวิกฤติทางการเงินในอนาคตนั้นจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน

สงคราม Cyber-financial Wars นั้นมีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป้าหมายหลักของกลุ่มแฮ็คเกอร์ผู้โจมตีก็แน่นอนว่าคือตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าของสินทรัพย์มากที่สุดในโลก และเหตุการณ์โจมตีนี้อาจจะเคยเกิดขึ้นมาแล้วตลาด NASDAQ ในปี 2013 ที่ปิดตัวระยะสั้นๆไปโดยไม่บอกสาเหตุที่แน่ชัด … การป้องกันความเสี่ยงของการถูกแฮคข้อมูลทรัพย์สินทั้งหมดที่ดีที่สุดก็คือการซื้อทองคำเก็บไว้นั้นเอง

ต้นเหตุที่มีความเป็นไปได้สูงในการนำพาโลกเข้าสู่ยุควิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่รอบถัดไปคือ การล้มล้างความเป็นใหญ่ของสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดโลก (Dollar Hegemony) ที่มีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 … ทั้งนี้การเกิดขึ้นของ Dollar Hegemony นั้นส่วนหนึ่งมาจากตลาดสินทรัพย์ของสหรัฐที่มีขนาดใหญ่เพียงพอให้นานาชาติสามารถลงทุนเงินสำรองของประเทศในรูปของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากสนธิสัญญาของสหรัฐที่ทำกับหลายประเทศในการผลักดันให้การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศต้องอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น สนธิสัญญาที่ทำร่วมกับซาอุดิอาระเบียในการขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์เพื่อแลกกับการป้องกันประเทศของสหรัฐ … หลายๆประเทศเริ่มสัมผัสได้ถึงการเอารัดเอาเปรียบของสหรัฐทั้งจากนโยบายลดค่าเงินดอลลาร์และมาตรการคว่ำบาตรของชาติต่างๆ เช่น อิหร่านและรัสเซีย หากประเทศนั้นๆไม่ยอมทำตามการเจรจาของสหรัฐอเมริกา … ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มประเทศที่มีการซื้อขายเงินสกุลของกันและกันโดยไม่มีดอลลาร์เป็นตัวกลางมากยิ่งขึ้น เช่น การซื้อขายพลังงานระหว่างจีนกับรัสเซีย … ในอนาคตปัญหานี้ก็จะยิ่งรุกรามมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนอำนาจของเงินสกุลดอลลาร์ต้องจำยอมลดบทบาทลงในที่สุด … และสิ่งที่น่าจะเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์นั้นก็คือ ทองคำและสกุลเงินที่ยึดมูลค่าตามทองคำ เช่น Gold-backed SDR

หากวิกฤติการเงินเกิดขึ้นจริงๆ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการที่ธนาคารและหลักทรัพย์ต่างๆไม่สามารถชดใช้หนี้ได้และสุดท้ายภาระก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชนที่ต้องเฝ้ามองดูทรัพย์สินของตัวเองที่ฝากไว้สูญค่าไปในที่สุด … ยกเว้น พวกเขาจะเลือกซื้อทองคำเก็บไว้ในพอร์ตเป็นบางส่วนเพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้

ความเสี่ยงของการที่รัฐบาลของชาติต่างๆจะเข้ามายึดทรัพย์สินของประชาชนผ่านทางธนาคารนั้นก็ได้เพิ่มสูงขึ้นๆ … ยิ่งในช่วงนี้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากกฎการถอนเงินในปริมาณมากๆที่ต้องผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนอย่างละเอียดไม่ต่างกับว่าผู้ถอนเงินเหล่านั้นเป็นอาชญากรหรือพ่อค้ายาเสพติดเลยทีเดียว แถมการที่เงินทั้งหมดอยู่ในรูปดิจิตอลหรือเงินฝากธนาคารแล้วนั้นยังเป็นการง่ายต่อการประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยเงินฝากติดลบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายได้อีกด้วย … แต่โอกาสที่ทองคำแท่งจะถูกภาครัฐยึดคืนจากภาคเอกชนเหมือนกันในยุคของ Franklin D. Roosevelt นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ได้นับถือและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเหมือนแต่ก่อนแล้ว แตกต่างจากสกุลเงินหรือสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิตอลที่รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงควบคุมได้ตลอดเวลา

จากประวัติศาสตร์ของราคาทองคำที่ผ่านมา ไม่ว่าทองคำจะพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงแค่ไหน ในทุกๆช่วงเวลาหนึ่งราคาทองคำจะทำการ retracement หรือลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 50% ของราคาสูงสุดเสมอก่อนที่ทองคำจะกลับมาพุ่งไปทำลายสถิติ new high ในครั้งต่อไป และหากทองคำถูกนำกลับมาใช้เป็นสกุลเงินของโลก มูลค่าของทองคำจะต้องพุ่งขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์แน่นอน

 

Chapter 6: How to Acquire Gold

ตลาดทองคำโลกนั้นถือเป็นตลาดสินทรัพย์ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ในด้านหนึ่งสภาพคล่องในการซื้อขายทองคำนั้นมีอยู่อย่างท่วมท้น แต่ขณะเดียวกันปริมาณทองคำที่มีการซื้อขายกันทั่วโลกกลับมีสัดส่วนเพียงแค่หยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้อย่างดีโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ … ในสภาพเศรษฐกิจแบบปกติ นักลงทุนสามารถซื้อขายทองคำกันได้แบบตลอดเวลา แต่หากวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ถือกำเนิดขึ้นสภาพคล่องอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับปริมาณทองคำทั้งหมดที่มีอยู่คงสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว … สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดของนักลงทุนที่ต้องการรักษาความมั่งคั่ง (wealth) ของตัวเองในภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้คือการซื้อทองคำเก็บไว้ … ส่วนการเก็บทองคำที่ซื้อมานั้นควรนำไปเก็บที่บ้านหรือบริษัทที่รับจ้างเก็บทองคำอย่างดีที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือธนาคาร

จังหวะการขึ้นลงของราคาทองคำนั้นไม่ได้แปลผันการขึ้นลงของตลาดหุ้นแต่อย่างใด ทองคำและหุ้นอาจจะขึ้นพร้อมกันในภาวะเงินเฟ้อช่วงเริ่มต้น และอาจจะลงพร้อมกันในภาวะเงินฝืด แต่ทองคำนั้นน่าจะขึ้นสวนทางกับราคาหุ้นที่ตกลงมาหากเกิดภาวะตลาดมีความผันผวนรุนแรงจนนักลงทุนหมดความเชื่อมั่นในสินทรัพย์อื่นๆ และหุ้นก็อาจจะขึ้นสวนทางกับทองคำในภาวะที่ตลาดอยู่ในภาวะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก

เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการล่มสลายของระบอบการเงินในรูปแบบปัจจุบันและภาวะ panic แย่งกันซื้อขายทองคำจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ข่าวรั่วไหลว่ากองทุนทองคำไม่สามารถหาทองคำแท่งมาคืนให้กับนักลงทุนได้ ปัญหาการขาดแคลนทองคำแท่ง เหตุการณ์แย่งซื้อขายทองคำอย่างหนักหลังฟองสบู่ในประเทศจีนแตก หรือเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในภาคการเงินของ Wall street ที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนและขนาดที่มากกว่าในช่วงวิกฤติปี 2008 ด้วยซ้ำ

ผู้เขียนแนะนำให้นักลงทุนแบ่งเงิน 10% ของ portfolio มาใช้สะสมทองคำแท่ง (physical gold) ตั้งแต่ตอนนี้ (ก่อนที่ทองคำจะไม่มีให้ซื้อกันง่ายๆอีกต่อไป)

ถ้าหากทองคำมีความผันผวนและราคาลดต่ำลง นักลงทุนจะได้ไม่เจ็บตัวมากนัก แต่หากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนทำนายไว้ถูกต้อง ราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นจากราคาปัจจุบันอย่างต่ำๆก็ 500% !!

 

<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>

 

punksood

Recent Posts