[สรุปหนังสือ] Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft’s Soul and Imagine a Better Future for Everyone (2017)
by Satya Nadella
“CEO is the Curator of an Organizational culture.”
Microsoft ในยุคของ Steve Balmer ผู้รับช่วงต่อจากมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Bill Gate นั้นถึงแม้จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลอย่างต่อเนื่อง แต่ภายในองค์กรนั้นกลับเต็มไปด้วยปัญหาการเมืองและวัฒนธรรมองค์กรที่นักวาดการ์ตูนชื่อดังได้บรรยายไว้เป็นภาพที่หน่วยงานต่างๆได้ “ถือปืน” หันหน้าเข้าหากันอยู่ตลอดเวลา ความหยิ่งผยองในความสำเร็จของ Windows และเครื่องมือต่างๆที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานทุกคนมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นได้กลับทำให้ Microsoft ไม่สามารถพัฒนา “นวัตกรรม” และในที่สุดก็ได้ถูกคู่แข่งอย่าง Apple, Google, Facebook และ Amazon ก้าวขึ้นมาแซงหน้าในหลายๆด้าน
Satya Nadella ก้าวขึ้นมารับหน้าที่เป็น CEO คนที่ 3 ของ Microsoft ในปี 2014 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถของเขาในบริษัทเทคโนโลยีที่กำลังหยุดนิ่ง แต่ Satya Nadella ก็ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีในการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าปรัชญาการทำงานของเขาที่เชื่อมั่นใน “empathy” หรือ “ความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น” สามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอายุกว่า 40 ปีให้กลับมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของโลกได้อีกครั้ง
Hit Refresh คือ บันทึกการเดินทางของ Satya Nadella ตั้งแต่ ชีวิตวัยเด็กในประเทศอินเดีย การเดินทางมาศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาจนถึงช่วงเวลาอันสำคัญในการกดปุ่ม “refresh” เพื่อพลิกฟื้น Microsoft พร้อมกับมุมมองของเขาต่ออนาคตของคลื่นเทคโนโลยีลูกใหม่ที่กำลังเริ่มเคลื่อนที่เข้ามาเยือน ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือเล่มนี้กันได้เลยครับ
Satya Nadella ซีอีโอคนใหม่ของ Microsoft (ขอบคุณภาพจาก Wired)
Chapter 1: From Hyberabad to Redmond
“How Karl Marx, a Sanskrit Scholar amd a Cricket Hero Shaped My Boyhood.”
ความขาดแคลน empathy เกือบเป็นสิ่งที่ทำให้ Satya Nadella ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานใน Microsoft ในปี 1992 หลังจากที่เขาตอบคำถาม “คุณจะทำอะไรเมื่อคุณเห็นเด็กน้อยนอนร้องไห้อยู่บนถนน” ด้วยคำตอบ “โทรเรียก 911” แทนที่จะเป็น “ผมจะเดินเข้าไปอุ้มเด็กคนนั้นแล้วปลอบให้เขาหยุดร้อง” ซึ่งต่อมา Satya Nadella ก็ได้เข้าใจหลักการของ empathy อย่างแจ้มชัดหลังจากที่ Zain ลูกชายของเขาเกิดมาในร่างที่พิการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มทำความเข้าใจถึงสถาณภาพของบุคคลอื่นและเริ่มศึกษาพุทธศาสนาที่เชื่อเรื่อง “อนิจจัง” และการหลุดพ้นจากทุกข์อย่างจริงจังมากขึ้น การยึดมั่นใน empathy ได้กลายมาเป็นหัวใจหลักในการทำงานของเขาและการพลิกฟื้น Microsoft
เด็กชาย Satya Nadella เติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีพ่อผู้ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการในยุคที่ประเทศอินเดียกำลังเริ่มสร้างประเทศขึ้นมาใหม่หลังจากการประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรและแม่ซึ่งเป็นครูสอนสันสกฤตผู้คอยผลักดันให้ Satya เข้าใจถึงความสมดุลระหว่างงานและความสุขอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ตลอดชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น Satya Nadella มีความฝันเพียงอย่างเดียวคือการเป็นนักกีฬาคริกเก็ตที่เขาชื่นชอบ จนกระทั่ง เขาได้มาค้นพบกับความอัศจรรย์ของคอมพิวเตอร์ที่พ่อของเขาซื้อมาให้ทดลองใช้งาน อันเป็นเหตุให้ Satya Nadella ตัดสินใจเลือกเรียนวิศกรรมไฟฟ้าซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์มากที่สุดในอินเดียสมัยนั้น
Satya Nadella สามารถพาตัวเองเดินทางออกจากเมือง Hyberabad ประเทศอินเดียไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการศึกษาต่อ Master of Computer Science ที่ University of Wisoncin ได้สำเร็จในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังเปิดประเทศรับแรงงานมากฝีมือจากต่างประเทศ พร้อมๆกับการเริ่มเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและอินเตอร์เน็ต หลังจากเรียนจบ Satya Nadella ก็ได้ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัท Sun Microsystems ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมา โทรศัพท์จากเมือง Redmond รัฐ Washington ก็ได้นำพาเขาเข้าสู่โลกของ Microsoft ในปี 1992 ด้วยตำแหน่งงานแรกอย่าง Evangelist หรือ เจ้าหน้าที่ผู้เผยแพร่ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ Windows NT ให้กับลูกค้าประเภทธุรกิจ พร้อมกันนั้น เขายังได้ตัดสินใจลงเรียน MBA แบบ part-time ที่ Chicago Booth ระหว่างทำงานจนสำเร็จการศึกษาภายใน 2 ปีอีกด้วย
Chapter 2: Learning to Lead
“Seeing the Cloud Through Our Windows.”
ความหลงใหลในกีฬา cricket และประสบการณ์ของการเป็นนักกีฬาทีมตัวแทนของโรงเรียนได้ส่งอิทธิพลต่อปรัชญาความเป็นผู้นำที่ดีให้กับ Satya Nadella ทั้งหมด 3 หลักการสำคัญ อันประกอบไปด้วย
หลักการที่ 1: to compete vigorously and with passion in the face of uncertainty and intimidation (จงอย่ากลัวและแข่งขันอย่างเต็มที่ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความกดดันจากคู่แข่งที่น่าเกรงขาม)
หลักการที่ 2: to put your team first (ทีมสำคัญกว่าปัจเจกบุคคล ผู้เล่นฝีมือดีที่ไม่ให้ความสำคัญกับทีมนั้นคือผู้ที่จะทำลายความเป็นทีมในอนาคต)
หลักการที่ 3: to bolster the confidence of the people you’re leading (ผู้นำที่ดีต้องมี emphaty และความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีม)
และในปี 2008 ความท้าทายครั้งใหญ่ก็ได้ตกมาถึงมือของ Satya Nadella เมื่อเทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์ของ Microsoft นั้นไม่สามารถไล่ตามนวัตกรรมและความสำเร็จของ Apple และ Google ได้ พร้อมกับสถานการณ์ด้านรายได้หลักของ Microsoft อย่างการขาย software นั้นไม่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง (ในปี 2014 สมาร์ทโฟนมียอดขายทั้งหมด 5 เท่าของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล) ระบบ cloud กลายมาเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของ Microdoft
ระบบ cloud ซึ่งก็คือ ระบบการให้บริการ server แบบไร้ตำแหน่งที่ตั้งทางกายภาพที่สามารถขยายขีดจำกัดได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตที่มีปริมาณ data เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการรวบรวมและกระจายกำลังของคอมพิวเตอร์จำนวนมากในศูนย์ data center (ผู้ใช้งานไม่ต้องมุ่งตรงไปยังเครื่อง server แห่งเดียวอีกต่อไป) และทำการปล่อยเช่าพื้นที่ในราคาต่อหน่วยที่ถูกกว่าการใช้งานเครื่อง server แบบดั้งเดิม โดยตลาดของระบบ cloud ในปี 2008 นั้นมี Amazon Web Service เป็นผู้นำตลาดอยู่เพียงเจ้าเดียวจากกลยุทธ์การต่อยอดระบบการให้บริการจากระบบ cloud ที่รองรับธุรกิจ e-commerce ของ Amazon แต่เดิมอยู่แล้ว
Satya Nadella ได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้บริการของทีมพัฒนา search engine (ต่อมาใช้ชื่อว่า Bing) ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบบริการตรงกับลูกค้า (customer-facing service) ผลิตภัณฑ์แรกของ Microsoft ที่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ การพัฒนาระบบ cloud infrastructure ที่พร้อมสำหรับการให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้จากทั่วโลก การพัฒนาวัฒนธรรมขององค์กรที่ต้องมีความรวดเร็ว (agility) ในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น การพัฒนาโมเดลธุรกิจในการขายโฆษณาผ่านระบบ auction ของ search engine และการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน machine learning ซึ่งต่อมา Satya Nadella ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาธุรกิจ cloud ของ Microsoft ในปี 2011 ซึ่งได้เปลี่ยนจากโมเดลการขาย Windows Server (ที่สมัยนั้นถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของ Microsoft) มาเป็นการให้บริการระบบ cloud พร้อมกับ machine learning ผ่าน Microsoft Azure และการพัฒนาระบบบริการอื่นๆ อาทิ Office365 ที่เป็นระบบ Windows ที่ให้บริการบนระบบ cloud ของ Microsoft
Chapter 3: New Mission, New Momentum
“Rediscovering the Soul of Microsoft.”
Bill Gates และ Paul Allen ร่วมกันก่อตั้ง Microsoft ขึ้นมาในปี 1975 เพื่อ “ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าไปอยู่บนโต๊ะของบ้านทุกหลัง” ซึ่งเป็นเสมือนการให้อิสรภาพแก่ประชาชนคนธรรมดาในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งยุคอย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
หลังจากภารกิจค้นหา CEO คนที่ 3 ของ Microsoft ได้สิ้นสุดลง Satya Nadella ก็ได้ถูกรับเลือกให้เป็นผู้รับไม้ต่อจาก Steve Ballmer ในปี 2014 เพื่อทำหน้าที่กดปุ่ม refresh ให้กับองค์กรที่กำลังหยุดนิ่งใหม่อีกครั้ง
ภารกิจแรกที่ Satya Nadella ใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติองค์กรครั้งใหญ่ก็คือ การตามหา “จิตวิญญาณ” ของ Microsoft ด้วยการตั้งคำถามถึงสาเหตุของการมีอยู่ของ Microsoft ในโลกมนุษย์และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโลกมนุษ์ในอนาคตหาก Microsoft หายจากไป หลังจากการออกตระเวนรับฟังความเห็นของพนักงานทั้งเล็กและใหญ่ Satya และทีมผู้บริหารชุดใหม่ที่เกิดขึ้นจากทั้งภายในและนอก Microsoft ก็ได้ค้นพบ “พันธกิจ” ที่แท้จริงของ Microsoft ในการ “เพิ่มขีดความสามารถให้กับมนุษย์และองค์กรทั้งหมดในโลก” (to empower every person and every organization on the planet to achieve more.) พร้อมๆกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่เพื่อทำให้การทำงานให้กับ Microsoft มีความหมายต่อตัวพนักงานอีกครั้ง
Satya Nadella ได้วางแนวทางในอนาคตของ Microsoft ไว้ทั้งหมด 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
Bill Gates, Satya Nadella และ Steve Ballmer ซีอีโอทั้ง 3 คนของ Microsoft (ขอบคุณภาพจาก International Software Systems)
Chapter 4: A Cultural Renaissance
“From Know-It-Alls to Learn-It-Alls.”
Peter Drucker ปรมาจารย์ด้านการบริหารเคยกล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy for breakfast.” ที่สื่อถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ต่างๆของบริษัท ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรของ Microsoft ในยุคเริ่มต้นของ Satya Nadella นั้นเต็มไปด้วยปัญหาการเมืองระหว่างหน่วยงานและความเอื่อยเฉื่อยขององค์กรขนาดใหญ่ที่หลงไหลในความสำเร็จในอดีต
Satya Nadella ตั้งใจเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้กลายมาเป็นการให้ความสำคัญของ Growth mindset หรือ หลักการคิดแบบก้าวหน้าที่กล้าท้าทายปัญหาต่างๆอย่างไม่ย่อท้อ โดยมีคุณสมบัติทั้งหมด 3 ประการ อันประกอบไปด้วย 1. Customer obsession (การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นที่ตั้ง) 2. Diversity and inclusion (การให้ความสำคัญต่อความแตกต่างและการเปิดกว้างทางความคิดที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในทุกระดับชั้น) และ 3. To be one company (การทะลายกำแพงระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกัน)
การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของ Microsoft นั้นได้รับการขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและถือเป็นภารกิจที่ Satya Nadella และทีมผู้บริหารในทุกระดับต้องทำอย่างต่อเนื่อง
วัฒนธรรมถือปืนเข้าหากันของ Microsoft ในยุคก่อน Satya Nadella (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)
Chapter 5: Friends or Frenemies?
“Build Partnerships Before You Need Them.”
นอกจากการปฏิวัติทางความคิดของคนในองค์กรแล้ว Satya Nadella ยังเห็นถึงความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Microsoft กับคู่ธุรกิจต่างๆ ที่แต่เดิมนั้น Microsoft ถือได้ว่ามีความ “เคี่ยว” และความเป็นศัตรูที่พร้อมจะแข่งขันและบดขยี้คู่แข่งอยู่ตลอดเวลา ให้กลายมาเป็นการร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่ามากขึ้นผ่านการหลอมรวมความชำนาญของแต่ละบริษัทเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การร่วมพัฒนา software ของ Microsoft กับระบบปฏิบัติการณ์ iOS และ Android การร่วมออกแบบ Facebook ให้เหมาะสมต่อการใช้งานใน Windows ไปจนถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีกับ Samsung (หลังจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ Microsoft ประกาศซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของ Nokia)
Satya Nadella มีวิสัยทัศน์ในการทำให้ Microsoft กลายมาเป็น platform ที่เป็น “เพื่อนสนิท” ของทุกคน ผ่านการเปลี่ยนจากการทำสงคราม (การแข่งขันและการฟ้องร้อง) ให้กลายมาเป็นการร่วมกันสร้างคุณค่าและนวัตกรรมที่เหนือกว่าให้กับโลกมนุษย์ (การแข่งขันไม่ถือเป็น zero-sum game อีกต่อไป)
Satya Nadella นำเสนอ app ของ Microsoft ใน iPhone (ขอบคุณภาพจาก Business Insider)
Chapter 6: Beyond the Cloud
“Three Shifts: Mixed Reality, Artificial Intelligence and Quantum Computing.”
เชื่อหรือไม่ว่า Microsoft นั้นมีผลิตภัณฑ์ tablet และเครื่องอ่านหนังสือ e-book ก่อน iPad และ Kindle ตั้งหลายปี แต่ “นวัตกรรม” เหล่านั้นกลับไม่สามารถสร้างความสำเร็จให้กับ Microsoft ได้ ซึ่ง Satya Nadella ได้ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมานวัตกรรมของ Microsoft นั้นถูกประดิษฐ์อย่างครึ่งๆกลางๆทั้งจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากทีมผู้บริหาร (ปัญหาคลาสสิคที่บริษัทขนาดใหญ่กลัวนวัตกรรมจะเข้ามากินยอดขายของผลิตภัณฑ์หลักของตัวเอง) และกระบวนการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการตลาดที่มากเพียงพอ (tablet แบบไม่มี touchscreen)
ในการที่จะสร้าง “จิตวิญญาณ” แห่งนวัตกรรมครั้งใหม่ให้กับพนักงานของ Microsoft สิ่งที่ Satya Nadella เลือกที่จะทำคือการตั้งเป้าหมายอย่างอาจหาญที่แบ่งช่วงกลยุทธ์ของนวัตกรรมออกเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่ การพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์หลักให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีในระยะกลางที่พร้อมจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และการตั้งเป้าหมายในการสร้าง 3 กลยุทธ์หลักในระยะยาวอย่างการพัฒนา Mixed Reality, Artificial Intelligence และ Quantum Computer ซึ่ง Satya Nadella เชื่อมั่นว่าจะกลายมาเป็นธุรกิจหลักในอนาคตของ Microsoft
Mixed Reality หรือ การผสมผสานโลกทางกายภาพเข้ากับโลกของดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality (เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของโลกแห่งความจริง) และ Virtual Reality (เทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนจริง) ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่สมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง Microsoft ได้วางเป้าหมายในการสร้างความเป็นเสรีภาพให้กับเทคโนโลยี Mixed Reality ซึ่งปัจจุบันได้มี HoloLens เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สามารถสร้างประสบการณ์แบบ Mixed Reality ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และสามารถสร้างประโยชน์ในอุตสาหกรรมการศึกษา การแพทย์ การผลิตและอีกมากมาย โดยขีดจำกัดของ Mixed Reality นั้นจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความสามารถในการประมวลผล แสดงผล การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับสิ่งของในโลกเสมือนจริง ไปจนถึง การสร้างความรู้สึกให้กับผู้ใช้งานอย่างเสมือนจริง
Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ นั้นได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของมนุษย์ ผ่านการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล พลังคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงและ algorithm ชั้นสูง ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลข้อมูล รับรู้ข้อมูล (เสียงและรูปภาพ) และเรียนรู้ให้ได้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยี A.I. นั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่าง อาทิ Cortana ผู้ช่วยส่วนตัวของ Microsoft ที่สามารถเรียนรู้ผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลของผู้ใช้งานให้โปรแกรมมีความฉลาดมากยิ่งขึ้น หรือ AlphaGo ที่สามารถเล่นหมากกระดานได้อย่างเหนือชั้นกว่าเซียนระดับโลก (ในอนาคตมนุษย์อาจจะสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีความตระหนักรู้ หรือ Artificial General Intelligence ได้สำเร็จ)
Quantum Computer คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาปฏิวัติการใช้งานคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทั้งในแง่ของรูปแบบกายภาพและหลักการประมวลผลผ่านการใช้ความรู้ด้านควอนตัมฟิสิกส์ที่สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผลที่สูงกว่าคอมพิวเตอร์ในรูปแบบปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด ซึ่งในอนาคต หาก Microsoft สามารถประดิษฐ์ Quantum Computer ได้อย่างสำเร็จ คอมพิวเตอร์ในรูปแบบปัจจุบันจะสามารถเชื่อมต่อกับ Quantum Computer ผ่านระบบ cloud เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้และเมื่อนั้น ปัญหาของโลกมนุษย์จำนวนมากจะได้รับการแก้ไขภายในเสี้ยววินาที โลกดิจิตอลในรูปแบบปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
Three Key Technologies ของ Microsoft (ขอบคุณภาพจาก Microsoft)
Chapter 7: The Trust Equation
“Timeless Values in the Digital Age: Privacy, Security and Free Speech.”
Bill Gates เคยกล่าวไว้ว่า “ความเชื่อมั่น” คือพื้นฐานสำคัญของโลกดิจิตอล หากความเชื่อมั่นนั้นสูญสลายไป เทคโนโลยีทั้งหมดที่มนุษย์พัฒนาขึ้นก็จะไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน ความก้าวหน้าของมนุษยชาติก็จะไม่เกิดขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นทาง “ความเป็นส่วนตัว” ในโลกอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้งานบริการต่างๆของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Google และ Facebook ต้องสูญเสียไปหลายครั้ง ทั้งจากการออกมาเปิดโปงการสอดแนมข้อมูลของ NSA โดย Edward Snowden การจู่โจม Sony โดยกองทัพแฮคเกอร์จากเกาหลีเหนือ รวมไปถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐต้องการข้อมูลลับของผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น ปัญหาหนีเสือปะจรเข้ของที่ด้านหนึ่งคือความเชื่อมั่นในความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานกับอีกด้านคือเรื่องความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติจึงกลายเป็นปัญหาที่ Satya Nadella มองว่าต้องได้รับจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปยังโลกแห่งเทคโนโลยีทำได้อย่างสมบูรณ์
แนวทางที่ Satya Nadella เสนอก็คือการสร้างความเชื่อมั่นผ่านความโปร่งใสของกระบวนการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของรัฐบาลที่ควรจะต้องเปิดเผยต่อประชาชนอย่างชัดเจนและต้องเกิดขึ้นในกรณีที่มีความจำเป็นขั้นสูงเท่านั้น ทางด้านเอกชนอย่าง Microsoft นั้นก็จะสร้างความเชื่อมั่นผ่านกระบวนการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ
Chapter 8: The Future of Humans and Machines
“Toward an Ethical Framework for AI Design.”
Satya Nadella เชื่อว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานในการร่วมมือพัฒนา Artificial Intelligence นั้นคือสิ่งที่สำคัญในการสร้างโลกที่มนุษย์และหุ่นยนต์สามารถอยู่รวมกันได้อย่างเกื้อกูลกัน (ซึ่งในปี 2016 ที่ผ่านมา Microsoft ก็ได้ทำสัญญาร่วมกับ Google, Facebook, Amazon และ IBM ในการร่วมวิจัย A.I. เพื่อผลประโยชน์ของสังคม)
โดย Satya Nadella ได้ให้ความเห็นถึงการออกแบบ A.I. ที่มีจริยธรรมนั้นควรประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
Chapter 9: Restoring Economic Growth for Everyone
“The Role of Companies in a Global Society.”
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในยุคดิจิตอลได้สร้างความกลัวถึงปรากฎการณ์ “ตกงาน” จากการโยกย้ายงานครั้งใหญ่เมื่อหุ่นยนต์สามารถทำหน้าที่ต่างๆได้มีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ คำถามที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ก็คือ “ทำอย่างไร เทคโนโลยีถึงจะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมนุษย์ในทุกระดับชั้นได้ (inclusive growth)”
Satya Nadella ให้ความเห็นไว้ว่าประเทศชาติต่างๆทั่วโลกนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่ทุกประเทศทั่วโลกควรพึงกระทำก็คือ “การรับเอาเทคโนโลยีมาใช้งานอย่างรวดเร็วและเข้มข้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ซึ่งตัวเขาเองได้สร้างสมการของการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคนี้ไว้ดังนี้ Economic Growth = (Education + Innovation) x Intensity of Technology Use ซึ่งควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
ประเภทอาหาร: Western Comfort Food คะแนนรีวิว: ★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Modern French คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
by Yuval Noah Harari [...]
ประเภทอาหาร: Modern European with Asian Accents คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Thai Seafood คะแนนรีวิว: ★★★ [...]
ประเภทอาหาร: Authentic Thai คะแนนรีวิว: ★★★★★ [...]