Post Corona : From Crisis to Opportunity (2020)
by Scott Galloway
“Nothing can happen for decades, and then the decades can happen in weeks.”
Apple ใช้เวลา 42 ปีในการสร้างมูลค่าของบริษัท 1 ล้านล้านดอลลาร์แรกและใช้เวลาอีกเพียงแค่ 20 สัปดาห์ในการเพิ่มมูลค่าของบริษัทอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ ราคาหุ้นของ Tesla ก็ได้เติบโตแบบติดจรวดจนมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่ารวมของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดเดิมอย่าง Toyota, Volkswagen, Daimler และ Honda รวมกัน ทั้งๆที่ Tesla ขายรถยนต์ตลอดทั้งปีได้เพียงแค่ไม่ถึง 2% ของจำนวนรถยนต์ที่ทั้ง 4 บริษัทนี้ขายได้
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ครอบครัวชาวอเมริกันกว่าครึ่งกลับมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องตกงานหรือโดนลดเงินเดือน ตำแหน่งงานกว่า 40 ล้านตำแหน่งต้องสูญหายไปภายใน 10 สัปดาห์ ทั้งๆที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลานานกว่า 10 ปีเพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ได้เพียงแค่ 20 ล้านตำแหน่ง
ท่ามกลางความวุ่นวายของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและความปั่นป่วนจากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว มนุษยชาติในปี 2020 กลับต้องเผชิญวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายร้อยปีอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วไปทั่วทั้งโลกภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และแนวทางในการตอบโต้ด้วยการ lock down ของรัฐบาลในหลากหลายประเทศได้กลายมาเป็น “คันเร่งความเร็ว” ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้คนทั่วโลกในระดับที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Zoom (online video conference), Peloton (home fitness) และ Amazon (e-commerce) ต้องเผชิญหน้ากับความต้องการของลูกค้าที่มากล้นเกินจินตนาการ ในขณะที่ บริษัทในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมและสายการบินกลับต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายถึงชีวิต พร้อมกับการลุกฮือขึ้นของความขัดแย้งที่แพร่กระจายมากขึ้นระหว่างผู้คนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
แต่วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ก็ยังเต็มไปด้วย “โอกาส” อีกมากมาย
Post Corona คือ หนังสือเล่มล่าสุดของ Scott Galloway ศาสตราจารย์ด้านการตลาดชื่อดังแห่ง NYU’s Stern School of Business ที่พยายามทำความเข้าใจกับโลกในยุคแห่งความวุ่นวายจากวิกฤติครั้งนี้และฉายภาพของโลกธุรกิจในอนาคตแห่ง “ความปกติใหม่” ที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายสำหรับผู้ที่มองเห็นและมีกำลังมากพอในการไขว่คว้า พร้อมๆกับการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่กำลังมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆในโลกดิจิตอลที่ถูกเหยียบคันเร่ง
ขอเชิญทุกท่านอ่านสรุปหนังสือสุดมันส์เล่มนี้ได้เลยครับ
ผู้เขียน Scott Galloway (ขอบคุณภาพจาก Ted.com)
Chapter 1 : COVID & THE CULLING
วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ทำให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่กับกลุ่มบริษัทแบบดั้งเดิม สังเกตได้อย่างง่ายดายจากการพุ่งขึ้นของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook, Amazon และ Tesla ที่ขึ้นมาทำราคา all-time-high ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ท่ามกลางวิกฤติของธุรกิจในกลุ่ม BEACH (booking, entertainment, airlines, cruises and casinos, hotels) ที่ล้มตายลงเป็นจำนวนมากและประชากรโลกที่ต้องล้มป่วยและเสียชีวิตจากไวรัสเป็นจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เขียน Scott Galloway ได้ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่ผลักดันราคาหุ้นของธุรกิจเทคโนโลยีให้พุ่งพรวดอย่างรวดเร็วนี้เป็นเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นถึง “ความปกติใหม่” ที่ธุรกิจเทคโนโลยีเหล่านั้นจะขึ้นมาเป็นผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จในแต่ละอุตสาหกรรมที่พวกเขาเลือกอยู่ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน ทั้งจากปัจจัยด้านนวัตกรรมที่ได้รับการพิสูจน์ถึงศักยภาพแล้ว ฐานกำลังเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เฉียดตายจากการเอาชีวิตรอดในวิกฤติ และความพร้อมในการระดมทุนจากหุ้นที่นักลงทุนให้มูลค่าสูงลิ่วเพื่อวิจัยพัฒนาหรือซื้อคู่แข่งรายย่อยได้อย่างง่ายดาย… ผู้ชนะในปัจจุบันได้รับการคาดหวังให้เป็นผู้ชนะในอนาคตเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว
ความอยู่รอดของบริษัทที่ไม่ได้รับผลประโยชน์เหมือนกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานที่สุดของการทำธุรกิจนั่นก็คือ “เงินสด” ซึ่งบริษัทที่ดำเนินกิจการแบบอนุรักษ์นิยมและมีเงินสดเก็บไว้ในปริมาณมากจะมีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทที่มีเงินสดน้อยและมีภาระหนี้สินจำนวนมาก โดยผู้เขียนได้แนะนำแนวทางจัดการกับวิกฤติ (crisis management) สำคัญ 2 ประการที่องค์กรควรนำไปปฏิบัติในทันที ดังต่อไปนี้
- Overcorrect : การแก้ไขวิกฤติแบบ “เกินเหตุ” ที่ดีกว่าการแก้ปัญหาที่เบาเกินไปจนไม่ได้ผลจริงๆ เหมือนในกรณีของ Johnson & Johnson ที่เจอเข้ากับวิกฤติการวางยาพิษในยา Tylenol ในปี 1982 หลังจากที่ตัวยาถูกนำไปจำหน่ายนอกโรงงานแล้วโดยฝีมือของคนร้ายที่ยังจับตัวไม่ได้และไม่ใช่ความผิดของบริษัทแต่อย่างใด แต่บริษัท Johnson & Johnson ก็ออกนโยบายรับคืนยา Tylenol ทั้งหมด 31 ล้านกล่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ดังนั้น บริษัทที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเรื้อรังอย่าง COVID-19 จึงต้องรีบลงมือจัดการ “ลดต้นทุนอย่างเร่งด่วนที่สุด” ในทุกๆด้านอย่างละเอียดและสุดความสามารถ โดยคงความเป็นธรรมและผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่พนักงานที่ต้องโดนเชิญออกจากงาน
- Going on Offense : การใช้ประโยชน์จาก “โอกาส” ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติให้มากที่สุด อาทิ ผู้เขียนที่ขยายจำนวนนักเรียนในคอร์สเรียนของตัวเองที่แต่เดิมถูกจำกัดด้วยขนาดห้องเรียนให้ใหญ่ขึ้นได้เป็นเท่าตัวโดยการเรียนแบบออนไลน์ผ่าน Zoom ซึ่งองค์กรสามารถนำเอาแนวโน้มความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติสิ้นสุดลงมาใช้วางกลยุทธ์ในปัจจุบันได้ทันที อาทิ การกำหนดนโยบายแบบยืดหยุ่นให้พนักงานสามารถ work from home ได้แม้กระทั่งช่วง lock down ผ่านพ้นไปแล้วพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือพนักงานให้ทำงานที่บ้านอย่างสะดวกมากขึ้นเป็นจุดดึงดูดพนักงานใหม่ที่มีแนวโน้มชื่นชอบการทำงานที่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆให้เข้ามาร่วมงานกับบริษัท หรือ การลงทุนเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการขององค์กรให้เป็นแบบดิจิตอลมากยิ่งขึ้น
มองไปในอนาคตข้างหน้า ผู้เขียนยังเล็งเห็นแนวโน้มการแยกออกของแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบดิจิตอลเป็นสองฝั่งระหว่างกลุ่มธุรกิจแบบ “ให้บริการฟรี” ที่ใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นช่องทางการหารายได้หลักของบริษัท เช่น Facebook และ Google กับกลุ่มธุรกิจแบบ “พรีเมียม” ที่คิดค่าบริการกับผู้ใช้งานโดยตรงและมีนโยบายไม่นำเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปสร้างรายได้ เช่น LinkedIn และ Netflix… ซึ่งโลกในอนาคตนั้นยังมีโอกาสสร้างธุรกิจแบบพรีเมียมที่รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานได้อีกมาก อาทิ ระบบ search ที่ไม่จดจำข้อมูลการค้นหาในอดีตของผู้ใช้งานและไม่มีการขายโฆษณา [ผู้เขียนยังเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการผลักดันให้ Twitter ทดลองการทำ subscription model ที่เปลี่ยนแนวทางการหารายได้จากการขายโฆษณาเป็นหลักมาเป็นการคิดค่าบริการรายเดือนของผู้ใช้งานที่มียอด follower เยอะกว่า 2,000 คนขึ้นไปแทนโดยยกเลิกหรือลดจำนวนโฆษณาลง]
ราคาหุ้น Tesla ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่พุ่งขึ้นกว่า 8 เท่า !! (ขอบคุณภาพจาก Google)
Chapter 2 : THE FOUR
ท่ามกลางความโกลาหลของวิกฤติ COVID-19 และการพุ่งพรวดของราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงค์จากความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในอนาคตของนักลงทุนและปริมาณเงินสดที่ล้นตลาดจากนโยบายอัดฉีดเงินของธนาคารกลางทั่วโลก กลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ผู้เขียน Scott Galloway ตั้งชื่อว่าเป็นกลุ่ม The Four [มาจาก The Four Horsemen of the Apocalypse ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล] ที่ประกอบไปด้วย Amazon, Apple, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และ Facebook ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีแห่งเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นก็สามารถยืนหยัดในฐานอำนาจของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งและมีการเติบโตของราคาหุ้นแบบก้าวกระโดด [ผลตอบแทนทั้งปี 2020 ของหุ้นบริษัททั้งสี่เป็นดังต่อไปนี้ Apple +82%, Amazon +76%, Facebook +33%, Alphabet +31% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นรวมกันเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ !!]
ผู้เขียนได้ให้เหตุผลถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 กระบวนการที่ทำให้ The Four ยังคงความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบ “กึ่งผูกขาด” ได้แม้ในยามวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นวงกว้าง ดังต่อไปนี้
- Innovate : บริษัททั้งสี่เริ่มต้นจากการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น Amazon ที่ให้บริการสินค้าราคาถูกและจัดส่งได้อย่างรวดเร็ว, Apple ที่ขายสมาร์ทโฟนที่ดีกว่าคู่แข่งรายอื่นแบบไม่ติดฝุ่น, Google ที่มีระบบ search engine ที่ฉลาดที่สุดและ Facebook ที่สามารถสร้างเครือข่ายผู้ใช้งาน social network ได้เป็นจำนวนมาก
- Obfuscate : เมื่อนวัตกรรมเริ่มเบ่งบาน บริษัททั้งสี่ก็ใช้พลังอำนาจของพวกเขาไปกับการปกป้องความได้เปรียบด้วยการพยายามหลบซ่อนความเป็นผู้ผูกขาด (monopoly) ด้วยการล็อบบี้และการทำประชาสัมพันธ์ที่พยายามกลบเกลื่อนอำนาจอันมหาศาลของตัวเอง พร้อมๆกับการใช้เงินทุนอันมหาศาลที่นักลงทุนทั่วโลกพร้อมใจกันเทถวายเพื่อซื้อกิจการคู่แข่ง [เหมือนในกรณีของ Facebook ที่เข้าซื้อ Instagram และ WhatsApp] หรือการใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆในการขัดขวางคู่แข่งรายย่อยไม่ให้เติบโตต่อไปได้ [เหมือนกรณีที่ Facebook สามารถออก feature ใหม่อย่าง Story ใน Instagram เพื่อท้าชนกับ Snapchat]
- Exploit : เมื่อบริษัททั้งสี่สามารถผูกขาดการแข่งขันได้อย่างเบ็ดเสร็จและรอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องแบบแตกหักจากรัฐบาลทั่วโลกแล้ว [ซึ่งก็มีการฟ้องร้อง anti-trust อยู่เป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ได้ผลแบบเป็นชิ้นเป็นอันซักเท่าไหร่] พวกเขาก็สามารถใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆและเงินทุนราคาถูกในการขยายอาณาจักรและขีดความสามารถของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกระบวนการทั้ง 3 นี้ก็ได้ทำให้กลุ่มบริษัท The Four กลายมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหลากหลายอุตสาหกรรมด้วยการทำให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นกลายมาเป็นเพียง “feature” ของระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (ecosystem) ของตัวเอง อาทิ
- Delivery : Amazon ที่ขโมยส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมขนส่งของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง FedEx หรือ UPS มาเป็น feature การให้บริการ Amazon Prime delivery ของตัวเองได้อย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายการขนส่งของตัวเองที่ครอบคลุมร้านค้าจำนวนมากและเข้าถึงผู้ซื้อในทุกพื้นที่ของหลากหลายประเทศ
- Wearables : Apple ที่สามารถทะยายขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดในอุตสาหกรรมนาฬิกาและหูฟังด้วยผลิตภัณฑ์ wearable gadget อย่าง Apple Watch และ AirPod ที่สร้างรายได้มากกว่า Rolex, Tiffany & Co., Bose และ Sonos รวมกัน
- Advertising : Facebook และ Google ที่นำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาใช้ในการนำเสนอโฆษณาที่ตอบโจทย์พวกเขามากที่สุดแบบถูกที่และถูกเวลาจนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดของพื้นที่โฆษณาในโลกดิจิตอลรวมกันได้เกิน 60%
- Streaming : Amazon และ Apple ที่เข้ามาร่วมแจมในการผลิตภาพยนตร์และซีรี่ย์ใน video streaming platform ของตัวเองอย่าง Amazon Prime Video และ Apple TV+ เพื่อท้าชิงผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Netflix และ Disney… ซึ่งยุทธศาสตร์การมี content เป็นของตัวเองนั้นยังช่วยส่งเสริมธุรกิจหลักอย่าง e-commerce หรือ smart devices ด้วยการสร้าง “อารมณ์ร่วม” ระหว่างผู้ใช้งานกับแบรนด์ของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากคุณรักซีรี่ย์ The Boys หรือ Fleabag คุณก็จะมีแนวโน้มในการสั่งซื้อสินค้าผ่าน Amazon มากขึ้นกว่าเดิมหรืออย่างน้อยก็ยังคงรักษาสถานะสมาชิก Amazon Prime ต่อไปเรื่อยๆ หรือ การคัดเลือกซีรี่ย์คุณภาพดีเท่านั้นของ Apple TV+ ก็สามารถช่วยเสริมความหรูหราของแบรนด์ของ Apple ได้อีก [ผู้เขียนยังแนะนำให้ Netflix รีบสร้างความได้เปรียบของตัวเองด้วยการซื้อ Spotify ผู้ให้บริการ music streaming และ Sonos ผู้ผลิตเครื่องเสียงเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งเทคโนโลยีการเสพย์ content แบบครบวงจรเพื่อต่อกรกับอาณาจักรของ Amazon และ Apple]
บริษัทในกลุ่ม The Four ที่ผู้เขียนการันตีถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้และน่าจะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าแตะหลัก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกก็คือ Amazon บริษัทเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง “ต้นทุน” ของตัวเองให้กลายมาเป็น “รายได้” ได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ การผันค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ data center ที่กำกับดูแลธุรกิจ e-commerce ของตัวเองมาเป็น Amazon Web Services ที่เปิดให้บริการ cloud แก่ธุรกิจทั่วโลก การเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการบริหารคลังและจัดส่งสินค้ามาเป็นธุรกิจ Amazon Fulfillment เพื่อให้บริการแก่ร้านค้าใน Amazon Marketplace และการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายการชำระเงินที่ต้องเสียให้กับผู้ให้บริการรายอื่นมาเป็นธุรกิจ Amazon Payments… นอกจากนั้น Amazon ยังถือเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤติ COVID-19 มากที่สุดจากนโยบาย lockdown ของรัฐบาลสหรัฐที่สั่งปิดร้านค้าคู่แข่งแบบ brick and mortar ทั้งหมดพร้อมๆกับการแจกเงินให้กับประชาชนที่มี Amazon เป็นทางเลือกหลักในการซื้อสินค้าจากบ้านที่พวกเขาต้องกักตัวอยู่
ในอนาคตอันใกล้ คงไม่แปลกที่เราจะได้เห็น Amazon ที่มียอดขายพุ่งกระฉูดและเงินทุนอันมหาศาลเริ่มบุกไปยังอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูงและ “มีโอกาสอีกมากในการถูก disrupt” ซึ่งสังเกตง่ายๆได้จากการลดลงของคุณค่าที่ผู้บริโภคได้รับเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง [อุตสาหกรรมที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดนไม่ได้มีนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง] ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมประกันที่บริษัทประกันแบบดั้งเดิมมีเป้าหมายในการรีดไถเงินจากลูกค้าให้ได้มากที่สุดโดยพยายามทำทุกวิถีทางให้ลูกค้ามาขอเงินเอาประกันคืนให้น้อยที่สุด [ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าในการซื้อสินค้าจากธุรกิจ e-commerce นั้นเปิดโอกาสให้ Amazon นำเสนอแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าข้อมูลที่บริษัทประกันแบบดั้งเดิมมีอย่างแน่นอน] และอุตสาหกรรม healthcare ที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ประสิทธิภาพของการรักษาโรคนั้นไม่ได้สูงขึ้นเท่ากับราคาที่คนไข้ต้องจ่าย [การ lockdown ได้เริ่มฝึกให้การตรวจรักษาโรคผ่านช่องทางออนไลน์แพร่หลายมากยิ่งขึ้น]
สรุปแบบสั้นๆ กลุ่มบริษัท The Four นั้นมีศักยภาพมากพอที่จะทนทานต่อวิกฤติไม่ว่าในรูปแบบไหนและวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กักตัวผู้คนให้อยู่ในบ้านพร้อมๆกับสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตของพวกเขาเองนั้น “ไม่ใช่วิกฤติ” ของบริษัทเหล่านี้ แต่กลับเป็น “คันเร่ง” ที่ช่วยเสริมให้บริษัททั้งสี่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าโลกได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น [ท่านใดสนใจเรื่องราวเพิ่มเติมของ The Four สามารถอ่านสรุปหนังสือ The Four : The Hidden DNA of Amazon, Apple, Facebook, and Google ของ Scott Galloway ต่อได้ที่นี่ครับ]
Amazon Pharmacy ธุรกิจใหม่ที่พึ่งเปิดตัวไปในช่วงปลายปี 2020 (ขอบคุณภาพจาก Amazon)
Chapter 3 : OTHER DISRUPTORS
ในยามที่เงินทุนไหลออกจากกลุ่มบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่กำลังอ่อนแอจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น “ผู้ชนะแห่งอนาคต” นั้นก่อให้เกิดกลุ่ม “ผู้ท้าชิง” รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเงินทุนราคาถูกและโอกาสที่จะยืนหยัดขึ้นมาอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กลุ่มบริษัท The Four ในการ disrupt อุตสาหกรรมที่พวกเขาเลือกที่จะท้าชน
โดยกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ต่างมีคุณสมบัติสำคัญที่ผู้เขียน Scott Galloway เรียกว่า “T algorithm” หรือ “กลไกในการสร้างธุรกิจล้านล้านดอลลาร์ (trillion)” อันประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญ 8 ประการ ดังต่อไปนี้
- Appealing to human instinct : การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ “สัญชาติญาณ” ของมนุษย์ ตั้งแต่ สมอง [Google ช่วยตอบคำถามที่สงสัย], หัวใจ [Facebook ช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์], ท้อง [Amazon ช่วยเติมเต็มความต้องการบริโภคในราคาถูกและเร็ว] และสัญชาติญาณทางเพศ [Apple หรือ Ferrari ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้น่าดึงดูดใจ]
- Accelerant : การเป็น “สปริงบอร์ด” ให้กับพนักงานในการเติบโตในสายงานที่ตัวเองสนใจได้อย่างรวดเร็วเพื่อดึงดูดให้คนเก่งอยากเข้ามาทำงานด้วย
- Balancing growth and margins : องค์กรที่จะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้าต้องมีความสามารถในการสร้าง “กำไร” แบบถล่มทลายด้วยเช่นกัน ดังนั้น startup ที่ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ [หากพวกเขาต้องการเริ่มสร้างกำไรแล้ว] นั้นมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะหมดคุณค่าในอนาคต ดังเช่น กรณีของ WeWork ที่การเติบโตมากขึ้นนำพามาแต่การขาดทุนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
- Rundle หรือ “recurring revenue bundle” : การสร้างบริการแบบ subscription ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทของบริษัทให้แก่ลูกค้าเพื่อสร้างรายได้แบบ “กินรวบ” อย่างต่อเนื่อง เช่น ในอนาคต เราอาจจะได้เห็น Apple เปิดบริการ rundle ที่รวมบริการทั้งหมด เช่น Apple Music, Apple TV+ และบริการเปลี่ยน iPhone ใหม่ทุกปีให้แก่สาวก หรือ Disney ที่รวมเอา Disney+, สวนสนุกและเรือสำราญมาขายเป็นแพคเกจรายเดือน
- Vertical integration : ความสามารถในการควบคุมห่วงโซ่อุปทานและประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมมากที่สุด โดยมีแม่แบบอย่าง Apple ที่กำลังสร้างอาณาจักรของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ อย่าง การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไมโครชิปด้วยตัวเอง ไปจนถึงปลายน้ำ อย่าง การขายสินค้าเองผ่าน Apple Store และการเป็นเจ้าของ App Store ที่สามารถกินส่วนแบ่งจากผู้พัฒนา application ต่างๆได้อีกด้วย
- Benjamin Button products : การมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา โดยอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการสร้าง network effect อาทิ Spotify ที่มีการเพิ่มจำนวนศิลปินมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้งานสนใจมากยิ่งขึ้นและนำมาซึ่งการดึงดูดให้ศิลปินสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ platform มากขึ้นต่อไปเป็นทอดๆ
- Visionary storytelling : การมีวิสัยทัศน์ที่ทรงพลังที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน ลูกค้าและนักลงทุนได้ โดยต้องควบคู่ไปกับความสามารถในการทำให้วิสัยทัศน์เหล่านั้นเป็นจริงได้ด้วย
- Likability : การเป็นที่รักหรือการถูกมองในแง่บวกโดยรัฐบาล ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสร้างเกราะป้องกันต่อการตรวจสอบหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอยากสมัครเข้ามาทำงานด้วยและสร้างความน่าสนใจให้บริษัทคู่ค้าจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
ตัวอย่างของบริษัทเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตไปถึงระดับล้านล้านดอลลาร์ในอนาคตข้างหน้านอกเหนือจาก The Four ตามความเห็นของ Scott Galloway มีดังต่อไปนี้
- Airbnb : บริษัทผู้ให้บริการโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีโรงแรมและต้นทุน fixed cost เป็นของตัวเอง จนทำให้ Airbnb สามารถทนทานต่อวิกฤติ COVID-19 ได้ดีกว่าเครือโรงแรมและปรับตัวไปสู่ตลาด staycation ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งยิ่งทำให้ Airbnb มีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้อีกมากเมื่อการเดินทางกลับมาอีกครั้ง [ถึงแม้ว่าธุรกิจแบบ sharing economy ของ Airbnb จะคล้ายกับ Uber แต่เครือข่ายเจ้าของบ้านและผู้เช่าของ Airbnb นั้นเป็นระดับโลก แตกต่างจาก Uber ที่เป็นเพียงระดับเมือง จึงทำให้ Airbnb มี network effect ที่แข็งแกร่งกว่ามาก]
- Lemonade : บริษัทที่มีศักยภาพสูงสุดในการ disrupt อุตสาหกรรมการประกันแบบดั้งเดิมที่เริ่มจากการประกันที่อยู่อาศัยและสุขภาพสัตว์เลี้ยงด้วยโมเดลธุรกิจแบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่ การขอราคาแบบประกันผ่านชุดคำถามออนไลน์ ไปจนถึง การขอเงินเอาประกันผ่าน chatbot
- Netflix : บริษัทผู้ให้บริการ video streaming ที่นำเสนอ content มูลค่ารวมกันกว่าพันล้านดอลลาร์ต่อค่า subscription เพียง 1 เหรียญ [การดูหนังในโรงภาพยนตร์โดยเฉลี่ยจะได้มูลค่าเพียงประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ต่อเหรียญเท่านั้น] พร้อมกับกลยุทธ์การเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยกระบวนการผลิต content จากหลากหลายชาติด้วยคุณภาพระดับโลกในแบบที่ Hollywood ไม่เคยทำได้มาก่อน [สำนักงานของ Netflix ในเมือง Madrid ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนา content สำหรับผู้ใช้ภาษาสเปนที่มีอยู่จำนวนมากในทวีปอเมริกา]
- Shopify : บริษัทผู้ให้บริการ e-commerce แก่แบรนด์และร้านค้าต่างๆที่นำเสนอบริการขายและการบริหารจัดการสินค้าในรูปแบบเดียวกับ Amazon โดยปราศจากความชั่วร้ายของ Amazon ที่มักใช้ข้อมูลการขายมาเป็นประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ในปี 2020 ที่ผ่านมา หุ้นของ Shopify ราคาพุ่งขึ้นกว่า 5 เท่า !!
- Tesla : บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรุนแรงที่สุดในปี 2020 จากสิ่งที่ผู้เขียนลงความเห็นว่าเป็นการให้มูลค่าบริษัทจาก “เรื่องเล่า” ที่ทรงพลังที่สุด รถยนต์ของ Tesla [และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่อาจจะตามมาในอนาคต] คือสัญลักษณ์ของสถานะและรสนิยมขั้นสูงสุดที่บ่งบอกว่าเจ้าของรถทุกคนนั้นล้ำสมัย รักษ์โลกและรวย ซึ่งหาไม่ได้เลยจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากไปกว่านั้น วิกฤติ COVID-19 ยังช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของ Tesla ด้วยเงินทุนราคาถูกและการโจมตีคู่แข่งผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมที่อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว
Lemonade บริษัทประกันแบบดิจิตอล (ขอบคุณภาพจาก Lemonade)
Chapter 4 : HIGHER EDUCATION
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ “โคตรเฉื่อย” และมีโอกาสสูงที่จะถูก “disrupt” มากที่สุดในยุคหลัง COVID-19 ก็คือ “อุดมศึกษา” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของราคาเมื่อเทียบกับการพัฒนาของนวัตกรรมอย่างไม่สมเหตุสมผลที่สุดในโลก มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นราคาค่าเล่าเรียนกว่า 16 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา [ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 3 เท่า] โดยที่องค์ประกอบการเรียนการสอนเกือบทั้งหมดนั้นยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เว้นเพียงแค่ เนื้อหาที่อัพเดทมากขึ้นและการใช้งานเครื่องมือดิจิตอลแบบพื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์, Microsoft Office และ Zoom เท่านั้น
วิกฤติ COVID-19 ได้ทำให้หนึ่งในคุณค่าสูงสุดของระบบอุดมศึกษาอย่าง “ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย” กลายเป็นศูนย์และได้เปิดแผลขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยระดับกลางๆที่ไม่มีแรงดึงดูดที่มากเพียงพอให้กับนักเรียนที่ยอมจ่ายเงินแพงๆเพื่อเข้าเรียนแบบออนไลน์จากบ้านของตัวเอง ประกอบกับการเกิดขึ้นของช่องทางการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีมากขึ้น นโยบายการจ้างนักศึกษาต่างชาติจบใหม่ที่ยุ่งยากมากขึ้นและจำนวนนักเรียนที่ลดลงจากการที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard และ MIT ยอมรับนักเรียนที่อยู่ใน waiting list ในปริมาณที่มากขึ้นเนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมากยกเลิกหรือขอเลื่อนการเรียนออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ ผู้เขียน Scott Galloway เชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจำนวนมากจะต้องปิดตัวลงทั่วโลกภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ [ลองจินตนาการว่าถ้า Apple หรือ Amazon จับมือกับ Harvard และ MIT เพื่อเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ราคาถูกลง 50% และใช้เวลาเรียนสั้นลงโดยที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรในระดับเดียวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยจริง การศึกษาในอนาคตคงเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก มหาวิทยาลัยระดับกลางๆคงล้มละลายกันเป็นว่าเล่น]
อุตสาหกรรมอุดมศึกษาในโลกอนาคตนั้นยังมีโอกาสอีกมากในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อกระจายการศึกษาคุณภาพสูงไปสู่ผู้เรียนในจำนวนที่มากขึ้นผ่านช่องทางการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งคนหนุ่มสาวที่แต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำได้หรือคนวัยทำงานที่มีความจำเป็นในการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับบริษัทเทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องมือประกอบการสอนที่ตอบโจทย์การเรียนแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น [การเรียนผ่าน Zoom หรือ Microsoft Teams ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เช่น ผู้สอนไม่สามารถมองเห็นผู้เรียนได้ทั้งหมด, การออกความเห็นของนักเรียนยังทำได้ค่อนข้างยากและการสอบแบบออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้เกิดการโกงได้อยู่มาก] ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่าเราจะได้เห็นการเติบโตของเงินลงทุนและคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) อีกมหาศาลในอนาคต
วิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้กำลังสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในวงการการศึกษาแบบออนไลน์ เฉกเช่นเดียวกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ SARS ที่ทำให้ธุรกิจ e-commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด
Virtual classroom ของ Harvard Business School (ขอบคุณภาพจาก Financial Times)
Chapter 5 : THE COMMONWEALTH
วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ “เปิดโปง” ความเปราะบางของระบบทุนนิยมในรูปแบบปัจจุบันและ “เร่งเครื่อง” ผลลัพท์อันแสนเลวร้ายที่ถูกทับถมเป็นเวลาหลายสิบปีอย่าง “ความเหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจและสังคม ประชากรระดับบนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือลงทุนในตลาดหุ้นต่างเห็นผลตอบแทนพุ่งพรวดในขณะที่ประชากรชั้นล่างกลับขาดแคลนรายได้และต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ในลักษณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ที่มีแหล่งเงินทุนราคาถูกและสายป่านที่ยาวมากพอก็พร้อมที่จะยึดส่วนแบ่งทางการตลาดจากบริษัทขนาดเล็กที่กำลังล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก
“ระบบทุนนิยม” ที่อาศัย “ความเห็นแก่ตัว” ของมนุษย์ในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจผ่านการแข่งขันกันสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคจนทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากในระดับที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อนในอดีต นั้นเป็นดั่งดาบสองคมที่สามารถสร้างพิษร้ายต่อสังคมโลกได้อย่างมหาศาลหากไม่ได้รับการควบคุมให้ถูกวิธี ตั้งแต่ ความพยายามในการทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำที่สุดด้วยการปล่อยของเสียลงแม่น้ำและการใช้แรงงานเด็ก การผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ไปจนถึง การสร้างธุรกิจเทคโนโลยีที่ผูกขาดและทำลายล้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากบริษัท startup รุ่นใหม่ อันนำมาซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมดังต่อไปนี้
- Cronyism : การเกิดขึ้นของ “ระบบอุปถัมภ์” ที่เอื้อประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองและธุรกิจขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มักอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื้ออุ้มชูบริษัทขนาดใหญ่และกลุ่มผู้ถือหุ้นแทนที่จะนำเงินไปแจกให้ถึงมือประชากรระดับกลางและระดับล่างที่มีความจำเป็นในการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดและมีส่วนกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากที่สุด ระบบทุนนิยมที่แท้จริงควรปล่อยให้บริษัทที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ให้ล้มตายลงไปเพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆขึ้นมาแทนที่ รัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนพนักงานที่จะต้องตกงานมากกว่าการเอาเงินไปประเคนให้กับผู้ถือหุ้นและดันราคาหุ้นให้พุ่งกระฉูดเหมือนในปัจจุบัน
- The new caste system : การเกิดขึ้นของ “ระบบชนชั้น” ที่แบ่งแยกกลุ่มคนมีเงินที่เต็มไปด้วยสิทธิประโยชน์มากมายและกลุ่มคนจนที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก แม้กระทั่งในดินแดนแห่งความฝันอย่างสหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่มีผลต่อรายได้ในอนาคตมากที่สุดของประชาชนชาวอเมริกันก็คือฐานะของครอบครัว ไม่ใช่การทำงานหนักหรือความรู้ความสามารถอย่างที่วาดฝัน [สังเกตง่ายๆจากเจ้าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชายผิวขาวที่เกิดในบ้านฐานะดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Bill Gates, Jeff Bezos หรือ Mark Zuckerberg]
- Exploitation economy : การเกิดขึ้นของ “ระบบการเอาเปรียบ” ของธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต่อทั้งสังคม พนักงานและลูกค้า อาทิ Facebook ที่สร้างรายได้จากการทำให้ผู้ใช้งานเสพย์ติดสื่อออนไลน์แบบงอมแงมจนนำมาสู่ปัญหาทางสังคมมากมาย อย่าง การเพิ่มขึ้นของการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นที่ติด social network และปัญหา fake news ที่นำมาสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มหัวรุนแรงทั่วโลก, Uber ที่สร้างรายได้จากการเอาเปรียบคนขับรถที่ส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่ได้รับสวัสดิการอะไรเลย หรือ วายร้ายน้องใหม่อย่าง Robinhood ผู้ให้บริการ platform ซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินออนไลน์แบบไม่เสียค่าคอมมิชชั่นที่ออกแบบระบบการซื้อขายให้เป็นเหมือนเกม (gamification) ที่ทำให้ผู้ใช้งานที่เป็นนักลงทุนมือใหม่เข้ามาซื้อขายหุ้นเป็นำจวนมากโดยไม่มีความรู้ที่มากพอจนนำมาสู่เหตุสลดอย่างการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอายุเพียง 20 ปีจากการขาดทุนจากการซื้อ option ความเสี่ยงสูง
ผู้เขียน Scott Galloway มองว่าทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาเหล่านี้ก็คือ “การสร้างระบบการเมืองที่ดีที่สุด” ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนทุกควรออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงของตัวเองตามหลักการประชาธิปไตย [ส่วนหนึ่งที่นโยบายของสหรัฐอเมริกานั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาวนั้นก็เพราะว่ากลุ่มผู้สูงอายุออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเยอกว่าคนวัยหนุ่มสาวมากถึงเกือบสองเท่า !!] ในการเลือกตั้งตัวแทนนักการเมืองที่เข้าใจปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริงและตีตัวออกห่างจากระบบอุปถัมภ์ เพื่อสร้างนโยบายที่ยึดเอาประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันซึ่งตรงตามหลักการของทุนนิยมอย่างแท้จริง อาทิ การบังคับแยกบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ออกเป็นบริษัทย่อยๆเพื่อลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันระหว่างกันซึ่งก็มักนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นในระยะยาว
โลกหลัง COVID-19 อาจเป็นโลกที่แตกแยกและไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติขนาดใหญ่ มนุษยชาติรุ่นใหม่ที่รอดพ้นจากวิกฤติเหล่านั้นก็มักคว้า “โอกาส” ในการแก้ไขจุดบกพร่องที่ผ่านมาและสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆให้กับโลกได้อยู่เสมอ ชะตากรรมของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามการตัดสินใจของพวกเราทุกคน
การประท้วงในรัฐสภาสหรัฐของกลุ่มผู้สนับสนุนประธานธิบดี Donald Trump (ขอบคุณภาพจาก NBC)
<<< ติดตาม [สรุปหนังสือ] เล่มอื่นๆต่อได้ทางนี้เลยครับ [CLICK] >>>
<<< ที่สำคัญ อย่าลืมกดไลค์ Panasm’s Facebook Page เพื่อติดตามอัพเดทใหม่ๆของผมนะครับ [CLICK] >>>
<<< ปิดท้าย สิ่งที่ผมทำสรุปมานั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาส่วนที่ผมสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเพื่อนๆที่ถูกใจสรุปของหนังสือเล่มนี้ อย่าลืมซื้อหนังสือเล่มเต็มและอุดหนุนผู้เขียนกันด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามครับผม >>>
Leave a Reply